PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : โอวาท 4 ประการ ของท่านเหลี่ยวฝาน



*8q*
03-27-2009, 07:57 PM
สามัญชนคนธรรมดาเท่านั้น ที่ถูกกำหนดได้ตามวิชาโหราศาสตร์ แต่คนที่ทำแต่ความดีมาก ๆ แล้ว ชะตาชีวิตจักทำอะไรไม่ได้ ถึงแม้ชะตาชีวิตจะบ่งไว้ว่าไม่ดีอย่างไร แต่พลังแห่งกุศลกรรมนั้นใหญ่หลวงนัก สามารถพลิกความหมายของโหราศาสตร์ได้ ในทำนองเดียวกัน คนที่สร้างอกุศลธรรมอย่างหนักไว้ ชะตาชีวิตก็ไม่สามารถผูกมัดเขาไว้ได้เช่นกัน แม้จะถูกลิขิตมาว่าจะได้ดีมีสุขอย่างไร แต่พลังแห่งอกุศลนั้นใหญ่หลวงนักย่อมสามารถเปลี่ยนความสุขเป็นความทุกข์ ความมีลาภยศกลายเป็นหมดลาภยศ ความอายุยืนก็กลายเป็นอายุสั้นได้เช่นกัน
รีบเร่งสั่งสมคุณธรรมความดีงาม ไม่คอยแต่จับผิดผู้อื่น สามารถให้อภัยได้…….แม้ความผิดนั้นเทียบเท่าภูเขาก็ตาม มีขันติอดทนต่อความไม่พอใจ ไม่โกรธง่าย มีแต่ความเมตตา มีแต่กรุณาไม่พูดมาก ไม่ดื่มสุรา รักษาสุขภาพให้ดีทั้งกายและใจ
สิ่งที่แล้วมาแล้วก็ให้คิดว่าตายไปแล้วเมื่อวานนี้ แล้วเริ่มต้นสร้างสิ่งที่ดีงามขึ้นมาแทนที่เหมือนเกิดใหม่ในวันนี้ มีชีวิตใหม่เพื่อสร้างสมคุณธรรมที่ดีใหม่ ไม่ใช่ชีวิตเก่าที่มีแต่เลือดเนื้อของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ขันธ์ห้า สามารถพัฒนาตนเองให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง แล้วชีวิตก็จะมีคุณค่า ผิดแผกแตกต่างจากชะตาชีวิตที่ได้กำหนดไว้แล้วในคำพยากรณ์
ชะตาชีวิตนั้นเป็นสิ่งไม่แน่นอน อนาคตเราต้องสร้างของเราเอง คนทำดี – ชะตาก็ดี คนทำชั่ว – ชะตาก็ชั่ว เมื่อต้องการอนาคตดีก็ต้องทำดี ถ้าทำแต่ความไม่ดี แม้ชะตาจะดีก็กลายเป็นร้ายไปได้
จงรีบสร้างคุณธรรมความดีงาม เริ่มด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่เห็นแก่ตัว เสียสละเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังการตอบแทน อย่ามุ่งหวังแต่ชื่อเสียง ทำอย่างเงียบ ๆ การปิดทองหลังองค์พระปฏิมานั้นกลับได้บุญมากกว่า
การฝึกฝนตนเองให้รู้จักประกอบกรรมทีดีนั้น ย่อมเป็นการสั่งสมบุญบารมีโดยแท้ เราจะต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเราเอง มีสิ่งใดผิดพลาดก็พยายามแก้ไข เหมือนดั่งหมอที่พยายามรักษาคนไข้ให้หายจากโรคฉะนั้นการสั่งสมบุญบารมีต้องพยายามอยู่ทุกขณะจิต ค่อยทำค่อยไป ไม่หวังผลจนเกินกำลัง ไม่หย่อนยานจนไม่ก้าวหน้า เมื่อจิตได้รับการอบรมที่ดีบ่มจนได้ที่แล้วนั่นคือความสำเร็จที่จะได้รับในการประพฤติปฏิบัติธรรม
กุศลกรรมใดก็ตาม ถ้าทำด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทนเป็นส่วนตัวแล้วไซร้ แม้กระทำครั้งเดียวก็เท่ากับกระทำหมื่นครั้งได้ทีเดียว
แม้จะมีบุญวาสนาชะตาสูง ก็อย่ายึดมั่นว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป อาจจะมีวันที่ตกต่ำลงมาได้ ถ้าไม่รู้จักการระวังตัว ยามใดที่รู้สึกว่าชีวิตมีแต่ความราบรื่น ปลอดโปร่ง สะดวกสบายไปทุกสิ่ง ก็อย่ายึดมั่นว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป อาจจะมีวันที่ต้องประสบความยุ่งยากเดือดร้อน ถ้าไม่ตั้งตนอยู่ในศีลในธรรมอยู่เสมอ
ยามใดที่มีคนนิยมชมชอบ เคารพนบนอบ ก็จะต้องทำตนให้เป็นที่น่าเคารพยิ่งๆ ขึ้น ถ่อมเนื้อถ่อมตัวด้วยความจริงใจ มิใช่เสแสร้งแกล้งทำ ปากอย่างใจอย่างอวดดี วางอำนาจ ยามใดที่ได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์อันสูงส่ง ก็อย่ายึดมั่นในโลกธรรมนั้นว่าจะแน่นอนเสมอไป ต้องเตือนสติตนเองอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่ง…….ยศศักดิ์ ชื่อเสียง เงินทอง และความสุขทั้งมวลอาจจะพังพินาศไปในพริบตาเดียวก็ได้
ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่ยากไร้ให้ทันท่วงที ต้องมีจิตสำรวมระวังอินทรีย์อยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นทางกาย วาจา และใจ ต้องสำรวมตรวจข้อบกพร่องในตัวเองทุก ๆ วัน อย่าได้ขาด และจะต้องแก้ไขความผิดพลาดให้ทันท่วงทีทุก ๆ วันเช่นกัน วันใดที่ไม่เห็นความผิดพลาด ก็แสดงว่าการปฏิบัติธรรมไม่ได้ก้าวหน้าไปเลย
หากต้องการความสุขและห่างไกลจากความทุกข์ ต้องรู้จักวิธีแก้ไขความผิดพลาดของตนเองเสียก่อน ดังจะกล่าวต่อไปนี้
1. ต้องมีความละอายต่อการทำชั่ว ไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้าหรือลับหลังผู้คน อย่าทำอะไรที่ไม่สมควรทำ โดยคิดว่าผู้อื่นไม่ล่วงรู้ ต่อไปก็ยิ่งเหิมเกริม ทำผิดมากขึ้นทุกที โดยไม่มีความละอายต่อบาป ในโลกนี้จะมีอะไรที่น่าละอายไปกว่าที่ตนเองไม่รู้ดีรู้ชั่ว ความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปนั้นเป็นความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ในโลกนี้ ผู้ใดมีไว้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ ผู้ใดมิได้มีไว้ย่อมเหมือนสัตว์เดรัจฉาน
2. ต้องมีความเกรงกลัวต่อการทำชั่ว หากยังมีลมหายใจอยู่ แม้จะทำความผิดล้นฟ้า ก็ยังมีโอกาสแก้ตัวได้ ถ้าสำนึกในความผิดนั้นได้ทันท่วงที ฉะนั้นจงจำไว้ว่า ความผิดที่ถูกกระทำไว้นานแล้วหรือเพิ่งกระทำ ขอให้รู้สำนึกและแก้ไขเสียทันที จึงจะเอาตัวรอดได้ จะต้องจดจำไว้ให้ดีว่า แม้ความผิดนั้นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ก็อย่านอนใจที่จะทำผิดบ่อย ๆ อย่านึกว่าวันนี้เราทำผิดแค่นี้ไม่เป็นไร พรุ่งนี้เราจะแก้ไขไม่ทำอีกก็แล้วกัน ถ้าคิดเช่นนี้เป็นมโนกรรมที่มีโทษหนัก เพราะรู้ว่าผิดแล้วยังจงใจทำ แม้ตั้งใจจะแก้ไขในวันพรุ่งนี้ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว เพราะใครจะรับประกันได้ว่า เราจะมีชีวิตอยู่จนถึงวันพรุ่งนี้
3. ต้องมีความกล้าที่จะแก้ไขตนเอง ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เปรียบประดุจหนามตำอยู่ในเนื้อ ถ้ารีบบ่งหนามออกเสีย ก็จะหายเจ็บทันที หากเป็นความผิดใหญ่หลวง ก็เปรียบประดุจงูพิษที่ร้ายแรงขบกัดเอาที่นิ้ว ถ้าไม่ตัดนิ้วทิ้ง พิษก็จะลุกลามไปถึงหัวใจและตายได้ง่าย ๆ จึงต้องมีใจเด็ดเดี่ยว กล้าเผชิญความจริง รู้ตัวว่าผิดตรงไหนต้องแก้ตรงนั้นทันที อย่ารีรอลังเล จะเสียการในภายหลัง เมื่อมีความละอาย มีความเกรงกลัวต่อการกระทำผิดและมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ที่จะแก้ไขความผิดพลาดตนเองแล้วไซร้ ความผิดนั้นก็ย่อมจะลดน้อยลงจนหมดไปในที่สุด ความผิดพลาดของมนุษย์นั้นบางสิ่งต้องแก้ที่เหตุการณ์ บางสิ่งต้องแก้ที่เหตุผล บางสิ่งต้องแก้ที่ใจ วิธีการแก้ไขย่อมแตกต่างกันออกไป ผลก็ไม่เหมือนกัน การแก้ไขต้องแก้ก่อนที่จะมีการกระทำผิดเกิดขึ้น คือต้องรู้เหตุที่จะก่อให้เกิดความผิดได้เสียก่อน วิธีที่ดีที่สุดก็คือการแก้ที่ใจนั่นเอง จึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องได้อย่างแท้จริง เพียงเกิดความรู้สึกว่าจะทำผิด ก็รู้สึกตัวเสียก่อนแล้วด้วยสติสัมปชัญญะ ความผิดจึงเกิดขึ้นไม่ได้ นี่คือการยับยั้งชั่งใจที่ต้องอบรมบ่มเพาะ ให้สติประคองใจเราไว้ตลอดเวลา
การตั้งปณิธานอันแน่วแน่ที่จะแก้ไขความผิดพลาดของตนก็ดี การอธิษฐานจิตอยู่บ่อย ๆ ก็ดีล้วนแต่ช่วยกระชับความหนักแน่นให้ นอกจากนี้ยังต้องมีกัลยาณมิตรคอยช่วยเหลือตักเตือน จิตใจต้องเด็ดเดี่ยวแน่ ทั้งกลางวันกลางคืน ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจเข้าออก อย่างช้าไม่เกินสามเดือนย่อมปรากฎผลอย่างแน่นอน

วิธีสร้างความดีต่อตนเองและผู้อื่น
วิธีสร้างความดีต่อตนเอง
- การทำความดีโดยบริสุทธิ์ใด หรือแฝงด้วยเจตนาใด ๆ มิได้อาศัยที่ตาดู หูฟัง แต่ต้องเริ่มที่ใจของตนเอง เริ่มไตร่ตรอง สำรวจตนเองอย่างระแวดระวัง อาศัยกำลังใจของเราเองซักฟอกจิตใจให้ใสสะอาด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ให้คิดถึงประโยชน์สุขของผู้อื่นก่อน แล้วทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่แฝงไว้ด้วยเจตนาที่จะต้องการการตอบแทนจากใจ จึงจะเป็นความดีโดยบริสุทธิ์ หากเราทำความดีเพื่อเอาใจผู้อื่น ก็ไม่ใช่ความดีที่เกิดจากความบริสุทธิ์ใจแล้ว เป็นการเสแสร้งเพทุบายเพื่อหวังประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง เป็นเจตนาไม่บริสุทธิ์ จึงถือเป็นความดีแท้ไม่ได้
- การทำความดี มีผู้รู้เห็นมาก ก็กลายเป็นความดีทางโลกไป แต่ทำแล้วไม่มีผู้รู้เห็นเหมือนการปิดทองหลังพระ นี่เป็นความดีทางธรรม
ความดีทางธรรม ฟ้าดินย่อมประทานผลดีให้ ส่วนความดีทางโลก ก็จะได้รับแต่ชื่อเสียง เกียรติยศ ความมั่งคั่ง เป็นผลตอบแทน
- ความดีที่ทำผิดหรือทำถูก การทำความดีที่มีคนนำไปเป็นเยี่ยงอย่างให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ จึงจะเป็นความดีแท้ ส่วนการทำความดีที่กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป เป็นผลร้ายต่อส่วนรวมแล้วไซร้ ก็หาชื่อว่าเป็นความดีแท้ไม่ เพราะฉะนั้น บางครั้งการไม่ให้อภัยคนพาล ช่วยกันกำราบให้กลับตัวได้ กลับจะเป็นคนดีแท้
- การทำความดีด้วยความรู้เท่าถึงการณ์หรือไม่
- การสั่งสมความดี ความชั่วนั้น ดุจนำของบรรจุลงในภาชนะ ถ้าสั่งสมทุกวันก็จะเต็มเปี่ยม ถ้าสั่งสมบ้าง ไม่สั่งสมบ้าง หยุด ๆ ทำ ๆ บุญหรือบาปนั้นก็พร่องอยู่เสมอไม่มีวันเต็มได้เลย การทำความดีขึ้นอยู่จิตใจเราเท่านั้นทีจะทำจิตใจให้ว่างเปล่าจนสามารถบรรจุบุญกุศลได้เพียงใดต่างหาก
- การทำความดีแม้จะเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้ากระทำเพื่อชนหมู่ใหญ่แล้วไซร้ ความดีนั้นก็ใหญ่หลวงยิ่งนัก หากทำดีเพื่อตนเองแล้วไซร้ แม้จะทำดีขนาดไหน ก็ได้ผลเล็กน้อย
- ถ้าจะเอาชนะใจตนเองให้ได้ ต้องเริ่มจากจุดที่ข่มใจได้ยากที่สุดเสียก่อน ถ้าสามารถเอาชนะได้ จุดอื่น ๆ ก็ไม่สำคัญเสียแล้ว ย่อมจักเอาชนะได้โดยง่าย

วิธีสร้างความดีต่อผู้อื่น
1. ช่วยเหลือผู้อื่นทำความดี
2. รักและเคารพทุกคนอย่างเสมอหน้า
3. สนับสนุนผู้อื่นให้เป็นผู้มีความดีพร้อม
4. ชี้ทางให้ผู้อื่นทำความดี
5. ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในที่คับขัน
6. กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
7. หมั่นบริจาคทรัพย์
8. ธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม
9. เคารพผู้มีอาวุโสกว่า
10. รักชีวิตผู้อื่นดุจรักชีวิตตนเอง

แคทครับ <!-- / message --><!-- sig -->