PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : สมาธิ สติ สัมปชัญญะ



DAO
04-16-2009, 09:41 AM
สมาธิ สติ สัมปชัญญะ ต่างกันยังไงบ้างคะ และทำหน้าที่แบบไหนยังไงคะ ขอรบกวนท่านผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยนะคะhttp://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cheesy.gif

D E V
04-16-2009, 04:34 PM
สมาธิ คือ สภาพที่ตั้งมั่น

สติ คือ สภาพที่ระลึกรู้ ระลึกได้ (เป็นไปในกุศล)

สัมปชัญญะ คือ สภาพที่รู้ถูก รู้ชัด รู้ทั่วพร้อม รู้แจ้งตามจริงในสภาพธรรมที่ปรากฏ
(ในที่นี้กล่าวถึงอสัมโมหสัมปชัญญะ คือปัญญา...ซึ่งปัญญาก็มีหลายระดับ)




8) เดฟ

ปล. แถมให้เพิ่มเติม......
ความหมายของสัมปชัญญะ 4 นัยยะ
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%CA%D1%C1%BB%AA%D1%AD%AD%D0

D E V
04-16-2009, 04:37 PM
สำหรับสมาธิอันเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์
เกิดร่วมกับจิตทุกดวง ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตน่ะคับ
เช่น เวลายิงนก ขณะนั้นก็มีสมาธิ (มิจฉาสมาธิ)ในการตั้งมั่นจดจ้องเพ่งเล็งเพื่อจะยิง
หรือเวลาใส่บาตร ก็ต้องมีสมาธิ ในการที่จะหยิบจับสิ่งต่างๆ ใส่ลงในบาตร
การอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง รีดผ้า กวาดบ้าน อาบน้ำ กินข้าว ฯลฯ
ทุกๆ ขณะที่กำลังกระทำอันเป็นไปในชีวิตประจำวัน
ย่อมต้องประกอบด้วยสมาธิ แต่เป็นสมาธิที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้นๆ ชั่วขณะๆ...ทีละขณะไป (ขณิกสมาธิ)
แล้วก็เปลี่ยนไปตั้งมั่นในอารมณ์อื่นๆ สืบต่อกันไปอย่างรวดเร็ว
ลักษณะของความตั้งมั่นจึงไม่ปรากฏให้เห็นได้ชัด

แต่ถ้าเมื่อใดที่สมาธิตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์เดียวนานๆๆๆ...ไม่เปลี่ยนไปตั้งมั่นที่อารมณ์อื่น
เช่น เวลาที่นั่งสมาธิ มีความตั้งมั่นจดจ้องอยู่กับอารมณ์ที่เป็นกรรมฐาน ไม่ซัดส่ายว่อกแว่กไปอารมณ์อื่น
ลักษณะของความตั้งมั่นจึงปรากฏให้เห็นได้ชัด และหากยิ่งตั้งมั่นในอารมณ์นั้นยิ่งขึ้นๆๆๆ
ขณิกสมาธิที่เกิดขึ้นทีละขณะโดยจรดอยู่ที่อารมณ์เดียวนั้นเอง ก็มีกำลังขึ้นเป็นอุปจารสมาธิ
และถ้ายิ่งมั่นคงแนบแน่นจนไม่มีอารมณ์อื่นใดแทรกคั่นได้เลย ก็เป็นอัปปนาสมาธิ (ฌานจิต)

เวลาเราทำอะไรหลายๆ อย่าง หรือไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
อย่างเช่น เวลาเรียนหนังสือ ใจก็แว่บไปนึกคิดเรื่องอื่น ไม่ได้ฟังคำสอนของครูอย่างต่อเนื่อง
เราก็มักจะบอกว่า ไม่มีสมาธิเลย...ก็เป็นการพูดตามความเข้าใจของเราโดยปกติทั่วไป

หากแต่โดยความเป็นจริงแล้ว ขณะนั้นมีสมาธิ
แต่เป็นสมาธิที่หันไปจรดกับอารมณ์อื่นคือการนึกคิด
ไม่มีสมาธิจรดอยู่กับการฟังครู แต่มีสมาธิจรดอยู่กับการนึกคิดสิ่งอื่นแทน
หรือสมาธินั้นสลับไปมาระหว่างการฟังครู กับการนึกคิดสิ่งอื่น
สมาธิที่สลับไปมาในการจรดอารมณ์โน้นนิดนั้นหน่อยเลื่อนลอยไปเรื่อยไม่ต่อเนื่องกันนี้เอง
ลักษณะความตั้งมั่นจึงไม่ปรากฏ เราจึงเรียกว่าว่อกแว่กซัดส่ายไปนั่นเอง

เวลาที่เราประกอบกิจการงานต่างๆ
หรือแม้แต่จดจ่ออยู่กับการดูหนังหรืออ่านหนังสือได้จนจบ...รู้เรื่องรู้ความ (อย่างเช่นขณะที่กำลังอ่านกระทู้นี้)
ย่อมต้องมีสมาธิที่จรดอยู่กับสิ่งที่กระทำเป็นไปด้วยดี (มีสมาธิในการอ่านเป็นไปด้วยดี)
แต่กระนั้นในการประกอบกิจการงาน ดูหนังหรืออ่านหนังสือ
ก็ไม่อาจที่ขณิกสมาธินั้นจะตั้งมั่นคงขึ้นเป็นอุปจารสมาธิ หรืออัปนาสมาธิได้
เพราะแม้สมาธินั้นจะจรดอยู่กับการงานที่ทำ หรือหนังที่ดู หรือหนังสือที่อ่าน (หรือกระทู้ที่กำลังอ่านนี้)
ก็ยังมีการเปลี่ยนของอารมณ์สืบต่อเนื่องกันไปอยู่ตลอด
คือมีการกระทำ หรือพูด หรือนึกคิดต่างๆ ตามเรื่องราวที่กำลังทำหรือกำลังอ่าน
เพียงแต่อยู่ในเรื่องราวที่สอดคล้องกันไป ไม่ได้ว่อกแว่กออกไปในสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกัน
จึงต่างกับสมาธิที่จรดอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ใช้เป็นกรรมฐานเวลานั่งสมาธิ
ขณิกสมาธินั้นจะจรดอยู่กับอารมณ์เดียวไม่เปลี่ยน
อารมณ์กรรมฐานบางอารมณ์จึงสามารถที่ขณิกสมาธิจะเจริญขึ้นเป็นอุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิได้น่ะคับ



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
04-16-2009, 04:42 PM
สำหรับสติอันเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ระลึกได้ ที่เป็นไปในกุศล
สตินี้ก็มีหลายขั้น เช่น...

ขณะที่ให้ทาน...ขณะนั้นสติเกิดแล้ว จึงระลึกได้เป็นไปในทาน...จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

ขณะที่เว้นจากการกระทำทุจริตกรรมต่างๆ...ขณะนั้นสติเกิดแล้ว
จึงระลึกได้เป็นไปในการวิรัติทุจริตกรรมต่างๆ...จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

หากแต่สติปัฏฐาน เป็นสติที่เกิดร่วมกับสัมปชัญญะ
จึงระลึกได้ ระลึกรู้ ในสภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏ
โดยสตินั้นระลึกได้ ระลึกรู้ ในสภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ
สัมปชัญญะ รู้ถูก รู้ทั่ว รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นที่กำลังปรากฏ
ว่าเป็นเพียงสภาพธรรม (รูป/จิต/เจตสิก)หาใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล

ตัวอย่างเช่น สติปัฏฐานที่เนื่องด้วยกาย
มีการระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏอันเนื่องด้วยกายในขณะนั้น
เช่น ขณะที่นั่ง นอน ยืน เดิน เหยียด คู้ ฯลฯ
สติระลึกได้ในสภาพของรูปธาตุที่ปรากฏประชุมรวมกันเป็นกาย
สัมปชัญญะ รู้ชัดในลักษณะของรูปธาตุที่ปรากฏว่าเป็นเพียงรูปธาตุ...ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล

อย่างเช่นเวลาเดิน ขณะนั้นมีลักษณะที่ตึงหรือไหวปรากฏ (เคร่งตึง ไหว เป็นลักษณะของธาตุลม)
หรือมีลักษณะที่อ่อนแข็งปรากฏ (อ่อน แข็ง เป็นลักษณะของธาตุดิน)
หรือมีลักษณะที่เย็นร้อนปรากฏ (เย็น ร้อน เป็นลักษณะของธาตุไฟ)
ฯลฯ เป็นต้น
สติสัมปชัญญะระลึกได้ รู้ทั่วชัดในสภาพธรรมอันได้แก่ลักษณะของรูปธาตุต่างๆ ที่กำลังปรากฏ
ว่าเป็นเพียงรูปธาตุชนิดหนึ่ง หาใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล
จึงค่อยๆ ไถ่ถอนฆนสัญญา (ความทรงจำที่จดจำกายทั้งกายไว้เป็นกลุ่มก้อน)
แตกย่อยยิบออกเป็นเพียงรูปธาตุแต่ละรูปธาตุที่เพียงมาประชุมกัน
จึงละคลายความยึดมั่นกายทั้งกายว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล

ดังนั้น ที่ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล...แล้วเป็นอะไร?
ก็เป็นเพียงรูปธาตุต่างๆ ที่ประชุมกันนั่นเอง
ซึ่งสติสัมปชญญะที่สมบูรณ์พร้อม เจริญขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณ
จะประจักษ์ในสภาพของรูปธาตุต่างๆ ถูกตรงตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ

แต่หากยังรู้กายทั้งกายเป็นกลุ่มก้อนรวมกันอยู่ (ฆนสัญญา)
ก็รู้ว่าเดิน...ก็เป็นเราเดิน...ก็เดินไปๆๆ...ไปเรื่อยๆๆ...แล้วรู้อะไร?
ก็เป็นเพียงการนึกคิดเอา...ท่องเอา...ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล

การที่เห็นกายทั้งกายเดินไปแต่ละก้าว...แล้วกล่าวว่า นี่ไง เกิดดับ
ก้าวนี้ดับไป ก้าวใหม่เกิดขึ้น...นี่ไงเห็นกายเกิดดับแล้ว
จึงเป็นเพียงการอนุมานเอาจากเรื่องราวที่เปลี่ยนไป
แล้วก็คิดเอา ท่องเอา สรุปเอาว่าเกิดดับตามเรื่องราวที่เปลี่ยนไป
แต่ไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งชัด แทงตลอดในสภาพจริงๆ ของกาย
ที่แตกย่อยทำลายออกเป็นเพียงรูปธาตุแต่ละรูปธาตุ
ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่แท้จริงจึงปรากฏไตรลักษณ์ให้ประจักษ์น่ะคับ




http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
04-16-2009, 04:46 PM
หรืออีกตัวอย่างนึง
สติปัฏฐานที่เนื่องด้วยจิต
เป็นธรรมชาติของจิตที่ย่อมนึกคิดเป็นไปต่างๆ...คิดดีบ้าง คิดชั่วบ้าง
นึกคิดเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมายตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน

สติสัมปชัญญะระลึกรู้ในสภาพจิตขณะนั้น
รู้ชัด รู้ทั่ว ว่าจิตที่กำลังเป็นไปแต่ละขณะมีสภาพอย่างไร
คิดด้วยความติดข้องพอใจ คิดด้วยความขุ่นข้องเคืองใจ
คิดด้วยความฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป คิดด้วยความลังเลสงสัยไม่รู้ตามความเป็นจริง ฯลฯ
คิดด้วยความเมตตาอ่อนโยน คิดด้วยความปีติยินดี คิดด้วยความสละออกได้
คิดด้วยความเบื่อหน่ายท้อแท้ ฯลฯ เป็นต้น
สติสัมปชัญญะรู้ทั่วชัดตรงตามสภาพจิตที่เป็นจริง
ว่าเป็นเพียงสภาพจิตแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะๆ
ไม่ใช่ไปตามดูตามรู้ในเรื่องราวที่คิดไปเรื่อยๆ อันเป็นสมมุติบัญญัติ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าห้ามคิด หรือไม่ให้รู้ว่ากำลังคิดเรื่องอะไรอ่ะนะคับ
เพราะเป็นธรรมชาติของจิตเองเค้าย่อมคิด
และย่อมรู้อยู่แล้วว่าคิดเป็นเรื่องราวอะไรอยู่
หากแต่สติปัฏฐานอันมีสภาพจิตเป็นอารมณ์
ที่เกิดขึ้นแทรกสลับ ระลึกรู้ ระลึกได้นี้เอง
จึงเห็นถึงความต่างกันของขณะที่มีสภาพธรรมจริงแท้เป็นอารมณ์
คือสภาพจิตที่เป็นไปในขณะนั้น
ว่าต่างกันกับความนึกคิดอันมีสมมุติบัญญัติเป็นอารมณ์
คือนึกคิดเป็นเรื่องราว เป็นชื่อ เป็นคำเรียก เป็นความหมายต่างๆ
จึงแยกสภาพธรรมที่จริงแท้คือจิต กับ เรื่องราวอันเป็นสมมุติบัญญัติ ออกจากกันได้

และเมื่อจิตไม่ใช่เรา...แล้วจิตคืออะไร?
จึงไม่ใช่เพียงการท่องเอาว่าจิตไม่ใช่เรา
แต่ก็ยัง (มีตัวตน) ที่พยายามจะไปสั่ง บังคับ ว่าอย่าโกรธ อย่าโลภ อย่าฟุ้ง อย่าเบื่อ ฯลฯ
หรือนึกคิดเอาว่าโกรธไม่ใช่เรา (แต่ก็โกรธต่อไป)
ชอบไม่เรา (แล้วก็ชอบต่อไป)
ฟุ้งไม่ใช่เรา (แล้วก็ฟุ้งต่อไป)
เบื่อไม่ใช่เรา (แล้วก็เบื่อต่อไป)
...ฯลฯ

หากแต่ปัญญาประจักษ์ชัดในสภาพธรรมที่จริงแท้อันได้แก่จิตที่มีสภาพนึกคิด
ส่วนเรื่องราวที่จิตกำลังนึกคิดนั้นเป็นบัญญัติธรรม
จึงมีเพียงจิตอันเป็นนามธาตุ กับ เรื่องราวอันเป็นสมมุติบัญญัติขึ้นมา...จึงหาใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล

เพราะปัญญาประจักษ์ชัดถึงสภาพความเป็นจริงของจิต
ว่าเป็นเพียงนามธาตุซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ ตามเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตนั้นมีสภาพอย่างไร
เป็นสภาพจิตต่างๆ ที่ดีงามเป็นกุศลจิตบ้าง หรือสภาพจิตที่ไม่ดีงามเป็นอกุศลจิตบ้าง
ปัญญาซึ่งเจริญขึ้นสมบูรณ์พร้อมเป็นวิปัสสนาญาณที่แทงตลอดในสภาพธรรมทั้งหลายนั้นเอง
จึงละคลายอกุศลจิตซึ่งเป็นโทษ...กุศลจิตซึ่งเป็นคุณจึงเจริญขึ้นแทน
โดยไม่ใช่มีตัวตน ตัวเรา ที่ไปสั่งหรือบังคับ
เพราะคลายวางจากสภาพที่ยึดถือจิตอันเป็นเพียงนามธาตุว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
04-16-2009, 04:56 PM
สรุปว่า...

สมาธินั้น ย่อมเกิดร่วมกับจิตทุกดวง ทุกขณะ
แล้วแต่ว่าลักษณะของความตั้งมั่นนั้นจะปรากฏให้รู้ชัดหรือไม่
และหากเกิดกับกุศลจิต ก็เป็นสัมมาสมาธิ
หากเกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

ขณะใดที่สมาธิเกิดร่วมกับอกุศลจิต
จะไม่มี สติ ไม่มี สัมปชัญญะ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

ขณะใดที่สมาธิเกิดร่วมกับกุศลจิต
จะมีสติเกิดร่วมด้วย แต่อาจไม่มีสัมปชัญญะเกิดร่วมก็ได้

แต่ถ้าเป็นกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยปัญญา (มหากุศลญาณสัมปยุตต์)
เช่น ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน
ขณะนั้นประกอบด้วย สมาธิ สติ และ สัมปชัญญะ น่ะคับ



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

DAO
04-16-2009, 05:11 PM
http://www.watkoh.org/chat/uploaddir/03DSC_6302-2-w2_12398784241334849298.jpg
ขอขอบคุณคุณเดฟมากๆคะ แจกแจงได้ละเอียดและเข้าใจได้ดีมากเลยคะ ขออนุโมทนาด้วยคะ
แต่ทำไมเวลาไปปฏิบัติธรรมนั้นท่านจะใช้คำว่าฝึกสติละคะ ทำไมไม่ใช้คำว่าฝึกสมาธิ ให้ฝึกสติทุกอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน คู้เหยียด เพระการปฏิบตินั้นก็เป็นไปแบบรู้ตัวมั่งไม่รู้ตัวมั่ง บางครั้งจิตไม่ได้อยู่ในกุศลเสมอไปนะคะ ในเมื่อคำว่าสติคือ สภาพที่ระลึกรู้ ระลึกได้ (เป็นไปในกุศล) หรือเพราะว่าท่านอยากจะให้เราฝึกจิตให้อยู่ในกุศลให้มากที่สุดคะhttp://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cheesy.gif

*8q*
04-16-2009, 06:51 PM
ขณะใดที่สมาธิเกิดร่วมกับอกุศลจิต
จะไม่มี สติ ไม่มี สัมปชัญญะ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

ขณะใดที่สมาธิเกิดร่วมกับกุศลจิต
จะมีสติเกิดร่วมด้วย แต่อาจไม่มีสัมปชัญญะเกิดร่วมก็ได้

แต่ถ้าเป็นกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยปัญญา (มหากุศลญาณสัมปยุตต์)
เช่น ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน
ขณะนั้นประกอบด้วย สมาธิ สติ และ สัมปชัญญะ น่ะคับ


สาธุครับจารย์

D E V
04-16-2009, 09:48 PM
อนุโมทนาคับ

การเจริญสติ
ขณะนั้นก็ต้องประกอบด้วยสมาธิที่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันอารมณ์
จึงสามารถระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบันขณะ
และการเจริญสตินั้น เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ สั่งสมไปทีละเล็กละน้อย
แรกๆ ก็จะยังไม่ชัด ไม่คม ไม่ไว
เป็นธรรมดาที่อาจจะคลาดเคลื่อน ไม่ตรงสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏ
แต่ไปติดอยู่กับเรื่องราว ท่าทาง จึงปิดบังสภาพธรรมแท้ตามความเป็นจริงไว้
หรือบางครั้งในเริ่มต้น ด้วยความที่สมาธิมักจะซัดส่ายว่อกแว่ก
แม้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สติก็ไม่เกิดระลึก...หลงลืมสติ
ก็เลยเริ่มฝึกด้วยการประคองสมาธิให้อยู่กับท่าทาง...ไม่ว่อกแว่กไปไหน
แต่บางคนสมาธิไม่ว่อกแว่ก สิ่งใดปรากฏชัดสติก็ระลึกรู้ชัดในสิ่งนั้น
ไม่ว่าจะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
(ทีละทางนะคับ ไม่ใช่อยากให้สติเกิดมากๆ พยายามจะไปรู้พร้อมกันทุกทาง)
(สติระลึกรู้ทีละทาง ทีละขณะ แต่อาจสลับสืบต่อกันได้ แล้วแต่สภาพธรรมนั้นๆ ปรากฏชัดทางใด)


ทั้งนี้ทั้งนั้น จึงต้องมีความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐาน
ซึ่งมีสภาพธรรมแท้จริงเป็นอารมณ์
ดังนั้น กาย เวทนา จิต ธรรม แม้จะแยกเป็น 4 หมวด
แต่ก็ประมวลลงใน รูป จิต เจตสิก (หรือรูปกับนาม) ทั้งหมดไม่พ้นไปเลย
สติปัฏฐานที่มีสภาพธรรมแท้จริง (รูปนาม) เป็นอารมณ์นี้เอง
เมื่อเจริญขึ้นจนสมบูรณ์พร้อมจึงเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ
ประจักษ์ชัดแจ้ง แทงตลอด ในสภาพธรรมทั้งหลายไปตามลำดับขั้น...จนถึงประหารกิเลสในที่สุด

ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้ชื่อเรียกว่าฝึกอะไรก็ตาม
ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะไม่สับสนอ่ะคับ



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

DAO
04-17-2009, 09:59 AM
อ้อ...เจ้าคะ สรุปแล้วเราต้องมีความเห็นที่ถูกต้องก่อน เราแต่ละคนควรที่จะเรียนรู้เรื่องปริยัติให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งก่อน แล้วถึงไปลงมือปฏิบัติเพื่อการปฏิบัตินั้นจะได้ไม่ต้องเสียเวลามากมายใช่ไม่คะ

ขอขอบคุณคุณเดฟนะคะและขออนุโมทนาบุญด้วยเจ้าคะ http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cheesy.gif

Butsaya
04-17-2009, 11:09 AM
http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/Happy/18.gif
แอบมาอ่าน แล้ว โดนใจมากเลยอะค่ะ http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/Happy/1.gif
ขออนุโมทนากับ พี่ดาว พี่เดฟ พี่แปดคิว ด้วยคะ

D E V
04-17-2009, 11:29 AM
ปริยัติ หมายถึง พุทธพจน์หรือพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้
เพื่อให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ศึกษาเรียนรู้พระสัทธรรม
และน้อมนำมาประพฤติปฎิบัติตามหนทางที่ทรงแสดงไว้
ไม่ให้เข้าใจผิดคลาดเคลื่อนหลงทางไป

อย่างไรก็ตาม
หากวางใจไว้ผิด ก็เหมือนจับงูพิษ
ได้แสดงเปรียบเทียบไว้ 3 ประการคือ

อลคัททูปมาปริยัติ
ได้แก่การเล่าเรียนศึกษาปริยัติเหมือนจับงูพิษ
คือยิ่งเรียนมากก็ยิ่งฟุ้งมาก หรือยิ่งรู้มากก็ยิ่งยกตนโอ้อวดว่าเก่ง ว่ารู้กว่าคนอื่น
หรือ เรียนเพื่อให้ได้ลาภสักการะ เพื่อคนอื่นได้ยกย่องนับถือว่าเก่ง ฯลฯ เป็นต้น

นิสสรณัตถปริยัติ
ได้แก่ศึกษาเล่าเรียนแล้วน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ
เป็นประโยชน์สมความมุ่งหมาย
เกิดผลจริงจากการประพฤติปฏิบัติตาม จนดับทุกข์สิ้น

ภัณฑาคาริกปริยัติ
ได้แก่การเล่าเรียนปริยัติเพื่อประโยชน์ในการสงเคราะห์หมู่ชน
คือสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว การเล่าเรียนก็เป็นไปเพื่อสืบทอดรักษาพระธรรมคำสอน
และแสดงพระธรรมนั้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่หมู่ชน



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
04-17-2009, 11:35 AM
คัดความบางตอนจาก
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พรหมชาลสูตร
สุมังคลวิลาสินี
อรรถกถาทีฆนิกาย สีลขันธวรรค


จริงอยู่ การเล่าเรียนมี ๓ อย่าง คือ
อลคัททูปมาปริยัติ การเล่าเรียนเหมือนจับงูข้างหาง
นิสสรณัตถปริยัติ การเล่าเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อออกไป
ภัณฑาคาริกปริยัติ การเล่าเรียนของพระอรหันต์เปรียบด้วยขุนคลัง.

ในปริยัติ ๓ ประเภทนั้น
ปริยัติใดที่บุคคลเรียนผิดทาง คือเรียนเพราะเหตุมีติเตียนผู้อื่นเป็นต้น
ปริยัตินี้ ชื่ออลคัททูปมา
ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งหมายตรัสไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการงู แสวงหางู เที่ยวค้นหางู
เขาพึงพบงูใหญ่ พึงจับขนด หรือจับหางงูนั่นนั้น
งูนั้นพึงเลี้ยวกลับมากัดมือหรือแขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่ที่ใดที่หนึ่งของบุรุษนั้น
บุรุษนั้นพึงถึงตายหรือทุกข์ปางตาย เพราะการถูกงูกัดนั้นเป็นเหตุ.
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นเป็นเพราะเขาจับงูผิดวิธี

ส่วนปริยัติใด ที่บุคคลเรียนถูกทาง
คือหวังความบริบูรณ์แห่งคุณมีสีลขันธ์เป็นต้นเท่านั้น
เรียนแล้ว มิได้เรียนเพราะเหตุมีการติเตียนผู้อื่นเป็นต้น นี้ชื่อนิสสรณัตถปริยัติ
ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งหมายตรัสไว้ว่า
ธรรมเหล่านั้นที่บุคคลเหล่านั้นเรียนถูกทาง
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน.
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะธรรมทั้งหลายบุคคลเหล่านั้นเรียนถูกทาง.

ส่วนพระอรหันต์ผู้มีขันธ์อันกำหนดรู้แล้ว
มีกิเลสอันละได้แล้ว มีมรรคอันอบรมแล้ว มีพระอรหัตตผลอันแทงตลอดแล้ว
มีนิโรธอันทำให้แจ้งแล้ว ย่อมเรียนซึ่งปริยัติใด เพื่อต้องการรักษาประเพณี
เพื่อต้องการอนุรักษ์พุทธวงศ์โดยเฉพาะ นี้ชื่อภัณฑาคาริกปริยัติ.



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
04-17-2009, 11:40 AM
คัดความบางตอนจาก
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
อลคัททูปมสูตร ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยอสรพิษ


จริงอยู่ ปริยัติมี ๓ คือ
อลคัททปริยัติ นิตถรณปริยัติ ภัณฑาคาริกปริยัติ.

บรรดาปริยัติทั้ง ๓ นั้น
ภิกษุใดเล่าเรียนพุทธวจนะ เหตุปรารภลาภสักการะว่า
เราจักได้จีวรเป็นต้นหรือคนทั้งหลายจักรู้จักเราในท่ามกลางบริษัท ๔ อย่างนี้
ปริยัตินั้นของภิกษุนั้น ชื่อว่าอลคัททปริยัติ.
จริงอยู่ การไม่เล่าเรียนพุทธวจนะ แล้วนอนหลับเสีย ยังดีกว่าการเล่าเรียนอย่างนี้.

ส่วนภิกษุใดเล่าเรียนด้วยคิดว่า
เล่าเรียนพุทธวจนะ บำเพ็ญศีลในฐานะที่ศีลมาถึงเข้า
ให้ถือเอาห้องสมาธิในฐานะที่สมาธิมาถึงเข้า
เริ่มตั้งวิปัสสนาในฐานะที่วิปัสสนามาถึงเข้า
ทำมรรคให้เกิด ทำให้แจ้งผล ในฐานะที่มรรคผลมาแล้ว
ปริยัตินั้นของภิกษุนั้น ชื่อว่านิตถรณปริยัติ.

ปริยัติของพระขีณาสพ ชื่อว่าภัณฑาคาริกปริยัติ.
จริงอยู่ ทุกขสัจที่ยังไม่กำหนดรู้ สมุทัยสัจที่ยังละไม่ได้ มรรคสัจที่ยังไม่ได้เจริญ
หรือนิโรธสัจที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพนั้น
ด้วยว่า พระขีณาสพนั้นกำหนดรู้ขันธ์แล้ว ละกิเลสได้แล้ว เจริญมรรคแล้ว ทำให้แจ้งผลแล้ว
เพราะฉะนั้น ท่านเล่าเรียนพุทธวจนะ จึงเล่าเรียนเป็นผู้ทรงแบบแผน
รักษาประเพณี อนุรักษ์วงศ์ ดังนั้น ปริยัตินั้นของท่านจึงชื่อว่าภัณฑาคาริกปริยัติ.



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

DAO
04-17-2009, 12:38 PM
สาธุเจ้าคะ ขอขอบพระคุณคุณเดฟมากๆเลยเจ้าคะที่ให้ความกระจ่างจนแจ่มแจ้ง หากแม้นว่าลืมดาวและเพื่อนๆก็จะแวะเวียนมาอ่านใหม่ได้เรื่อยๆเจ้าคะ (เหตุผลที่กลับมาตั้งกระทู้เจ้าคะ) http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cheesy.gif

*8q*
04-17-2009, 06:50 PM
อนุโมทนาครับ

noppakorn
04-17-2009, 07:13 PM
สาธุ ๆๆ อนุโมทามิ