PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ยิ้มได้เมื่อภัยมา ไม่โศกาเมื่อมีภัย



*8q*
05-15-2009, 08:34 PM
ในอดีตกาลล่วงแล้วนาน ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพราหมณ์ชาวนา ตั้งบ้านอยู่แถบประตูเมืองพาราณสี มีบุตรชาย ๑ บุตรหญิง ๑ บุตรสะใภ้ ๑ ทาสี ๑ ภรรยา ๑ พระโพธิสัตว์สั่งสอนชนทั้ง ๕ ให้ข้อคิดมรณสติอยู่เป็นนิตย์ ชนทั้งห้าก็หมั่นพิจารณา มรณสติเป็นอารมณ์อยู่เสมอ
วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ออกไปไถนากับบุตร ส่วนบุตรขนหญ้าและมูลฝอยไปเผาไฟใกล้ที่อยู่อสรพิษ ควันไฟไปรมอสรพิษ ๆ โกรธออกมากัดล้มลงตายอยู่กับที่ พระโพธิสัตว์เห็นบุตรล้มก็วางไถวิ่งไปเห็นบุตรตายพิจารณาดูก็รู้ว่าอสรพิษกัดก็มิได้มีความเศร้าโศก เอาผ้าคลุมศพไว้แล้วก็กลับไปไถนา
เวลานั้นชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้เคียงเดินมาจะกลับบ้านพระโพธิสัตว์ก็สั่งให้ช่วยบอกกับภรรยา ว่าวันนี้ในนางทาสีนำอาหารมาส่งแต่ส่วนเดียว และให้นุ่งผ้าขาวถือเครื่องสักการะมาให้พร้อมกันทุกคนชายนั้นก็ไปบอกกับพราหมณีตามถ้อยคำพระโพธิสัตว์
นางพราหมณีได้ฟังก็ทราบทางนัยแห่งคำสั่ง รู้แน่ว่าบุตรนั้นตายก็มิได้มีความโศกอาลัย บอกหญิงสะใภ้กับธิดาและทาสีตามคำสั่งพระโพธิสัตว์แล้วก็พากันไปสู่สถานที่นา จะได้มีผู้ใดผู้หนึ่งร้องไห้ก็หาไม่
พระโพธิสัตว์ก็บริโภคอาหาร ครั้นอิ่มแล้วก็ช่วยกันหาฟืนมาลำดับเป็นเชิงตะกอน ยกศพ ขึ้นตั้งบูชาด้วยดอกไม้และของหอมแล้วก็ช่วยกันเผา
ขณะนั้น อาสน์ของพระอินทร์ก็บันดาลให้ร้อนด้วยอำนาจ สีลาทิคุณของชนทั้งปวงนั้น พระอินทร์จึงเล็งดูด้วยทิพยจักษุ ก็ทราบว่าชนทั้ง ๕ มีพระโพธิสัตว์เป็นต้น มิได้มีความเศร้าโศกต่างพากันกระทำฌาปนกิจ พระอินทร์คิดจะบูชาด้วยสมบัติทิพย์ จึงแปลงกายเป็นมนุษย์มายืน ณ ที่นั้นแล้วถามว่า ท่านทั้งปวงชวนกันทำอะไร ?
พระโพธิสัตว์บอกว่าเผาศพ พระอินทร์จึงแกล้งว่า เราสำคัญว่าท่านชวนกันย่างเนื้อ ธรรมดาคนทั้งหลายที่เผาศพย่อมมีความเศร้าโศกอาลัยถึงผู้ตาย นี่ทำอาการเหมือนนายพรานที่ยิงเนื้อ ได้และมีความยินดีช่วยกันอย่างเนื้อฉะนั้นแล้วจึงถามว่า ศพที่เผานั้นเป็นอะไรกับท่าน
พระโพธิสัตว์บอกว่าเป็นบุตร
พระอินทร์จึงแกล้งถามว่า บุตรที่ตายเห็นจะไม่เป็นที่รักของท่านหรืออย่างไร?
พระโพธิสัตว์บอกว่า เป็นบุตรที่รักใคร่ของข้าพเจ้าทีเดียว
พระอินทร์จึงถามว่า บุตรเป็นที่รัก เหตุใดท่านจึงไม่ร้องไห้เศร้าโศกเล่า ?
พระโพธิสัตว์ตอบว่า คนตายเหมือนงูลอกคราบได้ชาติใหม่ภพใหม่ก็ไม่อาลัยของเก่า เช่นงูไม่มีอาลัยต่อคราบฉะนั้น ถึงเราจะร้องไห้สักเท่าไร ๆ ก็ไม่มีประโยชน์แก่ผู้ที่ตายแล้ว ผู้ตายก็ไปตามยถากรรมของเขา
พระอินทร์จึงถามนางพราหมณีผู้เป็นมารดาว่า คนที่ตายเป็นอะไรกับท่าน
นางพราหมณีบอกว่า เป็นบุตรเกิดแต่อุทร
พระอินทร์จึงถามว่า ส่วนบิดาเป็นชายมีจิตใจเข้มแข็งไม่ร้องไห้ก็ตามที แต่ท่านเป็นสตรีใจอ่อน เหตุใดจึงไม่ร้องไห้
นางพราหมณีก็ตอบว่า ผู้ที่ตายแล้ว เวลาเมื่อจะมาเกิด ข้าพเจ้าก็ไม่ได้อ้อนวอนและเชื้อเชิญให้มาเกิด เมื่อเวลาจะตาย ข้าพเจ้าก็ไม่ได้อนุญาตและขับไล่ให้ตาย มาเกิดเองก็ตายไปเอง ข้าพเจ้าจะร้องไห้ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว
พระอินทร์จึงถามน้องหญิงว่า ท่านเป็นอะไรกับผู้ตาย
น้องสาวบอกว่า เป็นพี่ชาย
พระอินทร์ถามว่า ท่านไม่รักพี่หรือจึงไม่ร้องไห้
น้องสาวตอบว่า ถ้าข้าพเจ้าร้องไห้ก็จะซูบผอมเกิดโรคไม่มีความสบาย การร้องไห้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ตายก็หามิได้
พระอินทร์จึงถามภรรยาว่า ท่านเป็นอะไรกับผู้ตาย
ภรรยาบอกว่าเป็นสามี
พระอินทร์จึงถามว่า ธรรมเนียมสามีกับภรรยาย่อมเป็นที่เสน่หายิ่งนัก สามีตายเหตุไฉนท่านจึงไม่ร้องไห้
ภรรยาตอบว่า การร้องไห้ถึงคนตาย ก็เหมือนกับทารกร้องไห้ อยากได้พระอาทิตย์พระจันทร์ การร้องไห้ไม่มีประโยชน์ทั้งคนเป็นทั้งคนตาย
พระอินทร์จึงถามว่า ผู้ตายเห็นจะเคี่ยวเข็ญท่านนักหรือ ? ท่านจึงไม่มีความเสียดายอาลัยรัก
หญิงทาสีจึงตอบว่า คนตายก็เหมือนหม้อน้ำที่แตกจะกระทำให้คืนดีเป็นปรกติอย่างเดิมไม่ได้ การร้องไห้ถึงคนตายก็เหมือนร้องไห้อาลัยหม้อแตก การร้องไห้ไม่มีประโยชน์อันใด เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมิได้ร้องไห้

เมื่อพระอินทร์ได้สดับถ้อยคำของชนทั้งห้าแล้ว ก็มีความเลื่อมใสปรารถนาจะบูชา จึงมีสุนทรวาจาอันเป็นที่ยินดีว่าตั้งแต่นี้ต่อไปท่านทั้งหลายอย่าพึงกระทำการหว่านไถให้ลำบากเลย จงตั้งใจกระทำแต่กองการกุศลเถิด เราคือองค์อัมรินทราธิราช เราจะให้ทิพยสมบัติแก่ท่านทั้งปวง ครั้นพระอินทร์มีวาจาดังนี้แล้วก็บันดาลให้ทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ในเคหสถานของพราหมณ์มีแก้วเจ็ดประการเป็นต้น แล้วก็กลับไปสู่ทิพยพิมานแห่งตน






http://www.dhammathai.org/dhammastory/story40.php

lek
06-22-2009, 09:11 AM
สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็น [HR]


http://thummada.com/php_upload3/a13-11-2.jpg


ในอดีตนานมาแล้ว นักปราชญ์ท่านหนึ่งเดินทางท่องเที่ยวแสวงหาความรู้
กับลูกศิษย์กลุ่มหนึ่ง ขณะที่เดินทางผ่านแคว้นๆหนึ่ง ซึ่งกำลังเกิดสงคราม
จึงทำให้เกิดข้าวยากหมากแพง หาเสบียงอาหารไม่ค่อยจะได้

หลังจากที่ขาดอาหารผ่านไปถึงเจ็ดวัน ลูกศิษย์คนหนึ่งซื้อข้าวสารมาได้บ้าง
จึงรีบนำข้าวสารไปหุง ขณะที่ข้าวกำลังจะสุก นักปราชญ์ท่านนั้นเห็นลูกศิษย์
เปิดฝาแล้วหยิบข้าวใส่ปาก ท่านแกล้งทำเป็นไม่เห็น และไม่ถามอะไร

เมื่อข้าวสุกแล้ว ลูกศิษย์จึงเรียกนักปราชญ์นั้นไปทานข้าว ท่านพูดขึ้นว่า

"เมื่อกี้ ข้าฝันเห็นปรมาจารย์มาหา ข้าอยากจะนำข้าวที่ยังไม่มีใครได้กินก่อน
มาเซ่นไหว้ท่านสักถ้วย"

"ไม่ได้ ข้าวหม้อนี้เมื่อกี้ข้าพเจ้ากินไปหนึ่งคำ นำมาเซ่นไหว้ไม่ได้แล้ว"

"ทำไมล่ะ?" นักปราชญ์ถาม

"เมื่อกี้ขณะที่ข้าวกำลังจะสุก เผลอทำขี้เถ้าหล่นลงไปหน่อย จะตักทิ้งก็
เสียดาย ก็เลยตักกิน ไม่ได้มีเจตนาที่จะกินเองก่อน" ลูกศิษย์ตอบ

นักปราชญ์ท่านนั้นรู้สึกเสียใจที่เข้าใจลูกศิษย์ผิด และรู้สึกละอายใจ พร้อมกับ
เอ่ยขอโทษว่า "ปกติข้าเคยไว้ใจเจ้ามากที่สุด แต่ก็ยังคงคลางแคลงใจเจ้า
แสดงว่าในใจข้าไม่มั่นคง ตัดสินใจแค่จากความคิดของตนเอง แล้วบางทียังผิดพลาด

พวกเจ้าต้องจำไว้
การจะเข้าใจคนๆหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ เมื่อพบกับเรื่องใดๆ
ควรจะพิจารณาไตร่ตรองหลายๆด้านให้รอบคอบ มุมมองของตนเองเป็นเพียง
ด้านใดด้านหนึ่ง เป็นความจริงเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น การจะตัดสินเรื่องใดเพียง
ด้านเดียว ไม่สามารถตัดสินเรื่องทั้งหมดได้"

lek
08-01-2009, 04:41 PM
ชายตาบอด 4 คน


มีชายตาบอดคนหนึ่งกำลังจะออกจากบ้านเพื่อนเพื่อเดินทางกลับบ้าน ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน เพื่อนผู้หวังดีของเขาแนะนำให้ชายตาบอดนำโคมไฟติดตัวไปด้วย แต่ ยังไม่ทันที่เพื่อนของเขาจะพูดจบ ชายตาบอดกลับหัวเราะออกมาและพูดสวนกลับมาว่า

“ ทำไมฉันต้องเอาโคมไฟนี่ไปด้วยล่ะ ฉันน่ะรู้ทางไปบ้านของฉันดี ไม่จำเป็นหรอก ”

แต่เพื่อสนองความหวังดีของเพื่อนเขาจึงจำต้องเอาโคมไฟนั้นมาด้วย และเมื่อเขาเดินทางไปได้สักพัก ก็มีคนเดินมาชนเขาเข้า ทำให้เขาตกใจ และรู้สึกโกรธขึ้นมาตงิดๆ แล้วเขาก็ตะโกนขึ้นมาว่า

“ เฮ้ย !!! นี่คุณไม่ได้ตาบอดซะหน่อย ช่วยหลีกทางให้คนตาบอดเดินหน่อยไม่ได้รึไงกัน ”

แล้วชายตาบอกก็เดินทางต่อไป แต่แล้วก็มีคนอื่นเดินมาชนเขาอีกครั้ง คราวนี้ความโกรธของเขาทวีความรุนแรงขึ้น เขาตะโกนถามคนที่เพิ่งเดินชนเขาว่า

“ นี่ คุณตาบอดรึไงกัน ไม่เห็นแสงโคมไฟของผมหรอ ผมอุตส่าห์ถือมันมาเพื่อให้คุณมองเห็นผมนะเนี่ย ”

ชายแปลกหน้าตอบชายตาบอดว่า “ นี่คุณตาบอดหรือนี่ คุณไม่เห็นหรอว่าโคมไฟของคุณน่ะมันดับไปแล้ว”

ชายตาบอดชะงักกับคำตอบที่ได้ไปครู่หนึ่ง แล้วชายแปลกหน้าคนนั้นก็ขอโทษชายตาบอด

“ ขอโทษทีครับ ผมก็เป็นคนตาบอดเหมือนกัน ผมมองไม่เห็นว่าคุณก็ตาบอดเหมือนกับผม ” –

“ ไม่หรอกครับ ผมต่างหากเป็นฝ่ายที่ต้องขอโทษที่ผมหยาบคายกับคุณ ”

ชายตาบอดทั้งสองรู้สึกอายเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้นชายตาบอดยังคงเดินทางต่อไป และแล้วเขาก็ถูกชนอีกครั้ง ครั้งนี้เขาระวังมากขึ้น เขาถามคนที่เดินชนเขาอย่างสุภาพว่า
“ ขอโทษครับ ไม่ทราบว่าโคมไฟของผมดับรึเปล่าครับ ”

ชายแปลกหน้าคนที่สองตอบว่า

“ เอ้ !! แปลกจริงๆ นั่นมันเป็นคำถามที่ผมต้องถามคุณนี่นา โคมไฟผมดับหรือครับ ”

ชายทั้งสองหยุดเงียบไปครู่หนึ่งก่อนที่จะถามกันและกันว่า

“ คุณตาบอดรึเปล่า ?” –

“ ใช่ !!! ”

ชายทั้งสองคนตอบพร้อมกัน แล้วชายตาบอดทั้งสองคนก็ระเบิดเสียงหัวเราะออกมาเพราะคำตอบของพวกเขาเอง จากนั้นชายตาบอดทั้งสองก็คลำไปที่โคมไฟเพื่อพยายามจะจุดมันขึ้นมาใหม่ ขณะนั้นเองก็มีคนเดินผ่านมา เขาเห็นชายทั้งสองยืนอยู่จึงเดินเลี่ยงไปอีกทางหนึ่งเพื่อจได้ไม่เดินชนกัน เขาคนนั้นไม่ทราบหรอกว่าชายทั้งที่ยืนอยู่นั้นเป็นคนตาบอด และเมื่อเขาเดินผ่านไปเขายังนึกในใจว่า

“ บางที ถ้าเราเอาโคมไฟมาด้วยก็คงจะดี จะได้เห็นทางได้ชัดขึ้น และคนอื่นก็จะได้พลอยเห็นทางไปด้วย ”

โดยไม่มีใครทราบเพื่อนผู้หวังดีของชายตาบอดคนแรกได้ถือโคมไฟเดินทางตามมาอย่างเงียบๆ เพื่อเขาจะได้แน่ใจว่าชายตาบอดเพื่อนของเขาจะเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย เขายิ้มกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น และเขาก็หวังว่าเพื่อนของเขาคงได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ชายตาบอดได้เจอในครั้งนี้ด้วยตัวของเขาเอง

หากท่านอ่านนิทานเรื่องนี้แล้วเข้าใจ กรุณาบอกหน่อยเถอะครับ ว่านิทานเรื่องนี้สอนใจเราว่าอย่างไร