PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระโพธิสัตว์.....พิจารณาทานบารมีของท่านอย่างไร?



were
06-24-2009, 01:57 PM
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

๑. ไทยธรรมมี ผู้ขอมี.......แต่ไม่ให้
เพราะเมื่อก่อน......เราไม่ได้สะสมเรื่องการให้

หากพระโพธิสัตว์ท่านเจอยาจก ผู้ขอ จิตคิดไม่ให้เกิดขึ้น ท่านจึงพิจารณาว่าเพราะ
เมื่อก่อน......เราไม่ได้สะสมเรื่องการให้เป็นแน่ ดังนั้นบัดนี้เราจะสละวัตถุจะน้อยหรือ
มากก็ตาม เราจะสละ สะสมการให้ให้เกิดขึ้น

๒. ไทยธรรมมีน้อย
เพราะเมื่อก่อน......เราไม่เป็นผู้ให้ จึงขาดแคลนไทยธรรม

พระโพธิสัตว์เมื่อรู้ว่าของที่ให้มีน้อยและไม่ดี ท่านย่อมพิจารณาว่าเพราะท่านไม่ได้ให้
ในกาลก่อนเป็นแน่ พระโพธิสัตว์จึงพิจารณาด้วยปัญญา จึงบริจาควัตถุ จะน้อยหรือ
มาก แม้จะเบียดเบียนตนเองก็ตามท่านก็บริจาคครับ

๓. เสียดายไทยธรรม
ก็จงคิดว่า.......เราปรารถนาการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมหรือการสะสมวัตถุ

ทรัพย์สมบัติติดตัวไปไม่ได้เลย และทรัพย์สมบัติไม่สามารถทำให้สิ้นกิเลสและสิ้น
ทุกข์ได้ พระโพธิสัตว์จึงพิจารณาว่าโพธิญาณคือการตรัสรู้นั้นประเสริฐสูงสุด หากท่าน
เสียดายของที่จะให้ ไม่สละแล้วจะถึงการตรัสรู้ได้อย่างไร ท่านจึงสละ มีมือสะอาด ให้
กับผู้ขอ เป็นต้น

๔. เห็นความสิ้นเปลืองแห่งไทยธรรมเพราะการให้

ก็จงคิดว่า.......แม้ไทยธรรมนั้นก็ย่อมสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา แม้ไม่ให้
พระโพธิสัตว์หากเกิดความคิดที่จะไม่ให้เพราะกลัวของจะหมด ท่านย่อมพิจารณาว่า
ตามธรรมดา สภาพธรรมทั้งหลายมีความเกิดขึ้นและดับไป เสื่อมไป เป็นธรรมดา แม้
ทรัพย์ สมบัติก็มีความเสื่อม หมดไปเป็นธรรมดา แม้จะให้หรือไม่ให้ก็ตาม คนผู้มีทรัพย์
เองก็ต้องจากทรัพย์สมบัติไปเช่นกัน และทรัพย์สมบัติถึงความหมดไปเพราะการไม่ให้
เช่นกัน เพราะฉะนั้น เราจะให้แม้มีน้อยก็ตาม ท่านจึงสละความคิดของการที่จะไม่ให้
เพราะกลัวของจะหมดได้ครับ

จะเห็นได้ว่า พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมี ท่านก็มีจิตคิดไม่ให้เกิดขึ้นในบางครั้ง
หากแต่ว่าท่านสะสมปัญญามา จึงพิจารณาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ควรจะให้หรือไม่
ให้ จึงเป็นเรื่องของปัญญา บารมี 10 มีปัญญาเป็นหัวหน้าเป็นประธาน ขาดปัญญาไม่
ได้เลย หากไม่มีปัญญาก็ต้องเป็นเรื่องยากในการคิดที่จะให้ ให้โดยไม่ได้หวังลาภ
สักการะ หรือให้เพื่อเป็นที่รัก แต่ให้เพื่อเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสจึงเป็นทานบารมี
ดังเช่นพระโพธิสัตว์ จึงเป็นเรื่องของปัญญาอย่างแท้จริงครับ อาศัยการฟังพระธรรม
ด้วยความแยบคาย เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลประการต่างๆก็เจริญขึ้น รวมทั้งกุศลขั้น
ทานด้วยครับ พระโพธิสัตว์ผู้มีปัญญาย่อมให้โดยไม่เลือกว่าเป็นบุคคลใด ไม่เลือก
กว่าคนนี้เราให้ คนนี้เราไม่ให้ คนนี้ให้น้อย คนนี้ให้มากเพราะนั่นเป็นความเศร้าหมอง
ของทานบารมีและไม่เลือกของที่จะให้ด้วยครับ จึงเป็นเรื่องของปัญญาอันเกิดจากการ
ฟังพระธรรมนั่นเอง ยากไม่ยากจึงเป็นเรื่องของปัญญาครับ ปัญญาน้อยก็ยาก ปัญญา
มากก็ไม่ยากครับ

ข้อความจาก


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 658

แม้ว่าการบำเพ็ญทานของเราจะไม่เท่ากับพระโพธิสัตว์ก็ตาม แต่ท่านเริ่มที่จะสละ ละคลาย

ในโลภะที่ยังยึดติดในไทยธรรม หรือทรัพย์สินเงินทองบ้างหรือยัง

ถ้ายัง ก็แสดงว่ายังอยู่ห่างไกลจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนัก

เจริญในธรรมครับ