PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ธรรมปฏิบัติ : ตัว‘มาร’ ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน



*8q*
07-03-2009, 09:14 PM
http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m2/Unit1/4.jpg
สรุปรวมความว่า มาร ๕ มีครบถ้วนอยู่ในกายในใจของเรานี้ทั้งหมด พอเกิดมาได้รูปได้นามแล้วก็ได้มาร ๕ มาพร้อมเลย เราจะรู้จะเห็นตัวของมันหรือไม่รู้ไม่เห็นก็ตาม ขันธมารและมัจจุมารมันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น ส่วนกิเลสมาร เทวบุตรมาร และอภิสังขารมารนั้น เมื่อรู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงของมันแล้ว จะไม่สามารถหลอกลวงให้ไปติดบ่วงมันได้เลย

ท่านจึงสอนอุบายทั้งหลายให้พวกเรา คือ อย่าไปหลงการหลอกลวงของจิต แล้วอย่าไปยินดีในวิสัยของมาร อย่างที่อธิบายในเบื้องต้น อย่าไปเชื่อจิตอย่างเดียว จิตของเราไปเชื่อไม่ได้หรอก เราต้องอาศัยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วจะไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักถูก ไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว ไม่รู้ว่าจิตหลอกลวง ของจริงก็ไม่รู้จัก ของเท็จของเทียมก็ไม่รู้จักทั้งนั้น เราต้องอาศัยปัญญาจึงจะรู้

ปัญญาเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความสงบ อาศัยการ ฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจ แล้วก็ทำความสงบจิตให้เข้าถึงสมาธิ จิตถึงสมาธิแล้วจะเห็นเรื่องการลวงของจิตด้วยตนเองชัดเจนทีเดียว จิตที่เป็นสมาธิแล้วไม่หลอกลวง

เป็นจิตตรงไปตรงมาเข้าถึงสัจธรรมเห็นทุกข์เป็นทุกข์จริงๆ เห็นความสงบเป็นสุขจริงๆ เห็นความทะเยอทะยานดิ้นรนเป็นความเดือดร้อนแท้ทีเดียว ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิแล้ว มันหลอกลวงเราอยู่ตลอดเวลา ให้เราลุ่มหลงมัวเมาไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักพอ ที่เรียกว่า ตัณหา ๓ นั่นเอง

เรื่องของตัณหานี้เราจะรู้ได้เมื่อจิตสงบเท่านั้น ถ้ายังไม่รู้เรื่องของตัณหาแล้ว กิเลสอื่นๆ ก็จะรู้ได้ยาก ความทะเยอทะยานที่เกิดขึ้นมาในตัวของเรานั่นแหละเป็นตัวกิเลส พยายามให้เห็นตัวของมัน เห็นโทษของมัน เราจึงจะละวางมันได้ เมื่อไม่มีการเบื่อหน่ายก็ไม่มีการพ้นจากมัน

เพราะกลับไปยินดีในตัณหาเสียอีก มันก็อยู่ในวิสัยของมาร ดังนั้นพระพุทธองค์จึงสอนให้เรารู้จักตัวมาร ไม่ให้ยินดีตามวิสัยของมาร ก็จะเป็นการชนะมารและพ้นจากกองทุกข์ เรามาทำทาน มารักษาศีล มาเจริญเมตตาภาวนา ทำกัมมัฏฐานก็ไม่ใช่อื่นไกลเลย เพราะต้องการละกิเลสมารตัวนี้แหละ
การทำทาน หมายถึง เราเป็นคนยอมสละออกไป ถ้ามีอยู่ปรากฏอยู่แล้วมันเป็นกังวลและห่วงในเรื่องเหล่านั้น ห่วงในการรักษาในการถือว่าของกูๆ พอสละปุ๊ปปั๊บลงไปแล้วหมดห่วง ยังเหลือแต่ผลของการสละคือความดีใจ ความอิ่มเอิบใจ ปีติว่าเราได้สละให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นแล้ว ผลของมันเป็นอย่างนี้

ตัวอย่างง่ายๆ เช่นเรามีเนื้อมีปลาอยู่สักกิโลสองกิโล ทีนี้เริ่มห่วงกังวลแล้ว จะเอาไว้ที่ใดก็กลัวหนูกลัวแมวจะเอาไปกิน ทิ้งไว้ก็กลัวจะบูดจะเน่า นั่นลองคิดดูซิ ถ้าหากเราสละเนื้อนั้นทำบุญทำทาน ที่เหลือเราก็กินเสีย

เท่านี้แหละความห่วงความกังวลก็หมดไป ไม่มีเหลือ กลับมีความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ทำบุญ วัตถุสิ่งของอื่นๆ ก็อย่างเดียวกัน ความห่วงย่อมเป็นไปตามฐานะของวัตถุนั้นๆ มีมากหรือวัตถุมีค่าก็ห่วงมาก ของน้อยหรือวัตถุมีค่าน้อยก็ห่วงน้อย

เหตุนั้น การทำทานจึงเป็นการสละความตระหนี่หวงแหน ความห่วงกังวล ไม่ให้มันหลงไปตามวิสัยของมาร ไม่ให้จิตมันหลอกลวง จึงจะพ้นจากบ่วงของมาร


http://www.agalico.com/board/images/statusicon/wol_error.gifรูปนี้ถูกลดขนาดลง กดที่เเถบนี้เพื่อดูขนาดเดิม ขนาดเดิมของรูป: 544x411 ขนาดของไฟล์: 35KBhttp://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m2/Unit1/XOOM.JPG

การรักษาศีล ก็เช่นเดียวกัน ความชั่วต่างๆ ที่เราพากันทำอยู่ทุกวันนี้ เช่นฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดมิจฉาจาร ด่าทอเขา มุสาเขา ดื่มสุรายาเมา เหล่านี้ทำแล้วมันร้อนขึ้นมาภายในจิตใจของเรา ทำให้ไม่สบายใจ ถ้าหากว่าเรามาเห็นเรื่องทั้งหลายนี้ว่ามันเป็นโทษ ไม่ดีไม่งาม เราก็ละทิ้งมันได้ เมื่อละทิ้งได้แล้วก็หมดความร้อนใจ มีความสบายใจเย็นใจ นี่เรียกว่าเรารู้จักหน้าตาของมัน เห็นโทษของมันแล้วเบื่อหน่ายจึงละทิ้งได้
ถ้าหากเรายังเสียดายหวงแหนอาลัยความชั่วอยู่ความร้อนความไม่สบายใจมันก็ยังมีอยู่นั่นเอง เพราะเรายังหวงเก็บเอาไว้ แต่นี่เราต้องการความสบายใจ ต้องการความเย็นใจ แล้วเราจะเอาความร้อนไว้ทำไม หากมีความคิดนึกอย่างนี้ก็จะละทิ้งความชั่วเสียได้ ดังนั้น การรักษาศีลจึงเป็นการระวังไม่ให้หลงตามวิสัยของมาร อัน นี้ก็เป็นการรักษาจิตไปในตัว

การภาวนา คือการอบรมจิตใจให้มีความสงบ เป็นการชำระจิตใจให้สงบจากอารมณ์ต่างๆ ยิ่งเป็นการละเอียดไปกว่าการรักษาศีลอีก จิตของเราถ้ายังไม่สงบตราบ ใดแล้ว มันก็จะต้องยุ่งวุ่นวายอยู่ตราบนั้น เมื่อมาฝึกหัด ภาวนา เห็นโทษเห็นภัยของความยุ่งความไม่สงบด้วยตนเองแล้ว เราก็จะพยายามทุกวิถีทางที่จะละความไม่สงบ

เมื่อสิ่งใดที่ละได้แล้ว อารมณ์ใดที่วางได้แล้ว เราก็จะต้องรักษาไม่ให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นมาอีก ไม่ใช่ว่าเราละได้แล้วก็แล้วไปเลยไม่ต้องคำนึงถึงมันอีก อย่างนั้นไม่ ถูกต้อง เพราะมันอาจสามารถที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีก ถ้ามันเกิดมาทีหลังจะยิ่งร้ายกว่าเก่า


พระพุทธจ้าตรัสเทศนาไว้ว่า “เสขบุคคล ผู้ไม่คำนึงถึงจิตที่ละได้แล้ว และยังไม่ละ ขี้เกียจขี้คร้านทำความเพียรให้ติดต่อ คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ประกอบความยินดีกับการงาน มันก็จะเสื่อมได้เหมือนกัน”

เหตุนั้น เมื่อเราละได้มากน้อยเท่าใดก็อย่าทอดทิ้งเคยพิจารณาอย่างนี้ ดำเนินได้อย่างนี้ก็อย่าลืม ดำเนินอยู่อย่างนั้น พิจารณาอยู่อย่างนั้น สิ่งที่ละได้แล้วก็จะต้องนำมาปรารภ นำมาพิจารณาอีกอยู่ตลอดเวลา ให้เห็นโทษเห็นภัยของมัน เห็นเป็นของน่าเบื่อหน่ายอยู่เช่นนั้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทแลไม่มีการเสื่อม

นี่แหละเรื่องจิตหลอกลวงสัตว์คือตัวของเราเอง มีนัยตามที่ได้อธิบายมาโดยลำดับดังนี้ มันหลอกลวงเรา เราเลยไปยินดีกับมัน ติดในความลวงของมัน ชอบใจในความหลอกของมัน เลยเป็นเหตุให้เกิดแล้วตาย เกิดแล้วตาย วนเวียนอยู่นับภพนับชาติไม่ถ้วน

เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เรามีสติ การที่จะละกิเลสได้หรือรู้จักตัวของกิเลสได้ก็ต้องมีความสงบของจิตเสีย ก่อน เมื่อใจสงบแล้วก็จะเห็นตัวมารและเห็นวิธีการหลอกลวงของมัน เห็นแล้วเราก็จะไม่หลงตามวิสัยของมันอีก

จะเห็นทางเป็นไปเพื่อพ้นจากทุกข์

http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m2/Unit1/DSCN1769.JPG

*8q*
07-03-2009, 09:14 PM
คำว่า “มาร” ในพระพุทธศาสนา หมายถึง สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากคุณความดี สิ่งที่ล้างผลาญคุณความดีหรือเป็นผู้กำจัด ขัดขวางบุคคลมิให้บรรลุผลสำเร็จอันดีงาม ประกอบด้วย

1. กิเลสมาร หมายถึง การที่ยั่วยุให้คิดในกามคุณ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ซึ่งมีได้ทั้งด้านที่จิตใจไปคิดในกามคุณ และการตกแต่งวัตถุเนื้อหนังให้สวยงามจนเกิดความหลงติดใจ

2. ขันธมาร หมายถึง หมายถึง มารคือขันธ์ 5 เป็นความหลงในสภาพที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เช่น หลงตนเอง หรือการไปทำศัลยกรรมตกแต่งร่างกายตนเอง ทำให้ตัดโอกาสมิให้บุคคลทำกิจหน้าที่บำเพ็ญคุณความดีได้เต็มปรารถนา หรืออาจพลาดโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง

3. อภิสังขารมาร หมายถึง มารที่ขัดขวางมิให้หลุดพ้นจากสังสารวัฎ มีเจตนาชั่ว

4. เทวปุตตมาร หมายถึง มารคือเทพบุตร คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนอำนาจครอบงำของตน โดยชักนำให้ห่วงพะวงในกามสุข ไม่อาจหายเสียสละออกไปบำเพ็ญคุณความดีที่ยิ่งใหญ่

5. มัจจุมาร หมายถึง มารคือ ความตาย เพราะความตายเป็นตัวการตัดโอกาสที่จำให้ทำความดีงามทั้งหลายได้ มารมีวิธีปฏิบัติการสำคัญ 2 อย่าง ได้แก่ การล่อลวงและการจองจำเป้าหมายก็คือ การล่อลวงหรือจองจำจิตวิญาณของมนุษย์ให้ลุ่มหลงมัวเมา ตกเป็นทาสของมารในที่สุด


ดังนั้น มารที่พระพุทธองค์ได้พบ สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เกิดขึ้นมาจากมารทั้ง 4 ข้อแรก คือ กิเลสมาร ขันธมารอภิสังขารมารและเทวปุตตมาร แต่มารที่ทำ หน้าที่เด่นที่สุด คือ กิเลสมารที่เกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์ ซึ่งจะเป็นตัวขัดขวางมิให้พระองค์ตรัสรู้ได้

อันได้แก่ การต่อสู้ทางความคิดของพระองค์ระหว่างกิเลสกับธรรมะด้านหนึ่งมุ่งบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกด้านหนึ่งยังคิดถึงความสะดวกสบายในอดีตกาลและความทุกข์ทรมานในการบำเพ็ญเพียร กิเลสมารทั้ง 2 ด้าน คือ

ด้านที่เป็นอารมณ์น่าปรารถนา (อิฎฐารมณ์)ได้แก่ความยินดีความลุ่มหลงเพลิดเพลินอยู่กับความสุขสบายในขณะที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นต้น

อีกด้านหนึ่งคืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา(อนิฎฐารมณ์) ได้แก่ ความไม่สบายใจ ความขัดเคืองใจ ความย่อท้อ ความทุกข์ยากลำบากในการบำเพ็ญเพียรมาต่างๆ

นอกจากนั้นพระองค์ต้องเผชิญกับกิเลสมารจากธิดามารทั้ง 3 คือ นางราคา(มีลักษณะยั่วยวน) นางตัณหา(มีลักษณะสาวพราวเสน่ห์)และนางอรดี(มีลักษณะสาวอารมณ์ร้อน) ดังนั้นจะเห็นว่าพระองค์จะต้องต่อสู้กับจิตใจของพระองค์เองในการให้วิธีปฏิบัติการของมารจากการล่อลวง ไม่หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง


ดังนั้นการชนะมารของพระองค์เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือชัยชนะที่มีต่อความคิดของตนเองจนถึงขั้นหลุดพ้น เป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวงและบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุดพระพุทธองค์แสดงเป็นตัวอย่างได้เห็นว่า

“มนุษย์สามารถเอาชนะกิเลสที่เกิดขึ้นในใจของตนได้”
ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะ
อันยิ่งใหญ่


http://board.agalico.com/showthread.php?t=31247