PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : มโหสถบัณฑิต



8ocdj
07-05-2009, 08:18 PM
พระไตรปิฎก มหาวิตถารนัย ๕๐๐๐ กัณฑ์
โดย ปุ้ย แสงฉาย อนงคาราม
๕ พระมโหสถ ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
คัมภีร์ขุททกนิกาย มหานิบาตชาดก
ว่าด้วยเรื่องปัญญาของพระมโหสถ
ปัญฺจาโล สพฺเพ เสนายาติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อตฺตโน ปญฺญาปารมิ อารพฺภ กเถสิฯ เอกทิวสมฺหิ ภิขู ธมฺมสภายํ สนนิสินฺนา ตถาคตสฺส ปญฺญาปารมิ วณฺณยนฺตา มหาปญฺโญ อาวุโส ตถาคโต ปุถุปญฺโญ คมฺถีรปญฺโญ ภูริปญฺโญ ติกฺขปญฺโญ ชวนปญฺโญ นิพฺเพธิกปญฺโญ ปรปวาทโนติ.
ณ บัดนี้จะได้แสดงพระไตรปิฎกเทศนา มหาวิถารนัย ในคัมภีร์ขุทกนิกาย มหานิบาตชาดก ว่าด้วยเรื่องพระมโหสถชาดก เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน ในการที่จะได้สดับเรื่องพระปัญญาขอมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ในครั้งเมื่อพระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพระมโหสถบันฑิต โดยสมควร
ก็แลเรื่องพระมโหสถชาดกนี้ เป็นเรื่องพิสดารกว้างขวางมากจึงำม่สามารแสดงให้จบในตอนเดียวได้ ส่วนในตอนนี้จะแสดงเป็นตอนที่ ๑ ซึ่งมีเนื้อความสืบต่อไปตามวาระพระบาลีและอรรถกถาว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ประทับอยู่ในเชตะวันมหาวิหารใกล้กรุงสาวัตถีนั้น พระองค์ทรงปรารภซึ่งพระปัญญาบารมีของพระองค์เองให้เป็นต้นเหตุ จึงตรัสเทศนาพระมโหสถชาดกนี้ให้เป็นผล มีคำเริ่มต้นว่า ปญฺจาโล สพฺพเสนาย ดังนี้
มีเรื่องพิสดารสืบต่อไปว่า ในเวลาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้ประชุมสนทนากันในธรรมสภาพรรณนาซึ่งพระปัญญาบารมีของพระตถาคตเจ้าว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าเป็นผู้มีพระปัญญามาก มีพระปัญญาหนาแน่นเหมือนกับแผ่นพื้นพสุธา มีพระปัญญาทำให้เวไนยสัตว์ร่าเริง มีพระปัญญาลึกซึ้ง มีพระปัญญากว้างขวางเหมือนกับดินฟ้าอากาศ มีพระปัญญาเฉียบแหลม มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาทำลายเสียซึ่งกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทรงย่ำยีเสียซึ่งถ้อยคำของผู้อื่นได้ พระองค์ได้ทรมานฝึกฝนคนทั้งหลาย ให้หมดพยศอันร้ายกลายเป็นคนดีมากมายนัก จักนับไม่ถ้วนด้วยพระปัญญาของพระองค์ เป็นต้นว่า กูฏทันตพราหมณ์ และสัพพิยปริพาชก อาฬวกยักษ์ พระอินทร์ พระพรหม อังคุลิมาลโจร ดังนี้ฯ เมื่อสมเด็จพระชินศรีสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสดับคำสนทนาแห่งภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงเสด็จไปประทับที่ธรรมสภาทรงสอบถามให้ทรงทราบเนื้อความสนทนาอันนั้นแล้ว จึงถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่เราตถาคตจะมีปัญญาปรากฏแก่กล้า แต่ในเวลานี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในปางก่อน เราตถาคตก็มีปัญญาแก่กล้าเหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายใคร่จะทราบเรื่องอดีตของพระองค์ จึงทูลอาราธนาให้แสดงเรื่องในอดีตต่อไป พระองค์จึงทรงนำมาซึ่งเรื่องมโสถชาดกนี้ แสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
อตีเต ภิกฺขเว มิถิลายํ วิเทหรฏฺเฐ วิเทโห นามราชา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงแล้วมา มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิเทหราช เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงมิถิลา
อันเป็นประเทศวิเทหรัฐ พระเจ้าวิเทหราช พระเจ้าวิเทหราชนั้นมีนักปราชญ์สำหรับสั่งสอน อรรถธรรมอยู่ ๔ คนด้วยกัน คนหนึ่งชื่อ เสนกะ คนหนึ่งชื่อ ปุกกุสะ คนหนึ่งชื่อว่า กามินท์ คนหนึ่งชื่อ เทวินท์ ครั้นอยู่มาในเวลาที่พระมโหสถถือปฏิสนธินั้น พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงพระสุบินนิมิตอันแปลกประหลาด ในเวลาจวนใกล้รุ่งว่า มีกองเพลิงอยู่ ๔ กอง สูงเท่ากำแพงวัง เกิดขึ้นในมุมกำแพงวังทั้ง ๔ แต่มีกองเพลิงอีกกองหนึ่งเกิดในท่ามกลางแห่งกองเพลิงทั้ง ๔ นั้น บัดเดี๋ยวใจก็รุ่งโรจน์โชตนาการท่วมกองเพลิงทั้ง ๔ แล้วสูงขึ้นไปจนกระทั่ง ถึงอกนิฏพรหม สว่างไสวไปทั่วจักรวาล โดยที่สุดแม้เมล็ดพันธุ์ผักกาดอันตกลงไปในสถานที่ทั้งปวงก็ปรากฏสิ้น ในขณะนั้น แม้เทวดาและมหาชนในมนุษย์โลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก พากันเกลื่อนกล่นมาบูชาซึ่งกองเพลิงนั้น แล้วพากันเดินผ่านไปมาในระหว่างกองเพลิงนั้นได้ตามสบาย ไม่มีความร้อนรนแม้แต่ขุมขนหนึ่ง สิ้นพระสุบินนิมิคของพระเจ้าวิเทหราชแต่เพียงเท่านี้
ราช อิมํ สุปินํ ทิสฺวา ครั้นพระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินนิมิตดังนี้แล้ว ก็ทรงสะดุ้งพระทัยตื่นจากพระบรรทม ทรงดำริว่า จักมีเหตุผลดีร้ายประการใดหนอ ครั้นทรงพระดำริแล้ว ก็ประทับนั่งอยู่จนกระทั่งอรุณขึ้น จตฺตาโร ปณฺฑิตา ปาโตว อาคนฺตวา ครั้นรุ่งเช้านักปราชญ์ทั้ง ๔ ก็เข้าไปทูลถาม สุขไสยาจารวัตรว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า พรองค์ทรงบรรทมเป็นสุขหรือประการใด พระเจ้าข้า ตรัสตอบว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ทั้ง ๔ เราจะมีความสุขมาแต่ไหน เพราะเมื่อคืนนี้เราฝันเห็นสิ่งประหลาดนักหนา ลำดับนั้น เสนกะ กราบทูลว่า พระองค์ทรงสุบินเป็นประการใด ท้าวเธอจึงเล่าพระสุบินนิมิตนั้นให้ฟัง เสนกะ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอพระองค์จงอย่าได้ทรงหวันพระทัยเลย พระพุทธเจ้าข้าเพราะพระสุบินนิมิตนี้ เป็นมหามิ่งมงคลอันใหญ่หลวง จะนำสิริสวัสดิ์พิพัฒมงคลทั้งปวงมาให้แด่พระองค์ คือ พระองค์จะได้นักปราชญ์อีกคนหนึ่งเป็นคำรบ ๕ นักปราชญ์คนนั้นจะครอบงำเสียซึ่งปัญญาแห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ มีอุปมาเหมือนกับกองเพลิงอันน้อย ซึ่งมีรัศมีอันรุ่งโรจน์ยิ่งกว่ากองเพลิงทั้ง ๔ นั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ ซึ่งเป็นนักปราชญ์อยู่เวลานี้เปรียบเหมือนกองเพลิงทั้ง ๔ ที่เกิดขึ้นอยูในมุมกำแพงวังทั้ง ๔ ส่วนนักปราชญ์คนที่ ๕ ซึ่งจักเกิดมีขึ้นใหม่นั้น เปรียบเหมือนกองเพลิงอันน้อยซึ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในท่ามกลางกองเพลิงทั้ง ๔ นั้น นักปราชญ์คนใหม่นั้นจะหาผู้ใดเสมอมิได้ ทั้งในมนุษยโลกและเทวโลก ขอพระองค์จงทรงทราบผลแห่งพระสุบินนิมิตไว้ดังนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้าฯ
อิทานิ ปเนสํ กุหิ สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชจึงมีพระราชดำรัสถามว่า ดูก่อนอาจารย์ ก็บัดนี้นักปราชญ์คนใหม่นั้นอยู่ที่ไหน ท่านรู้ได้หรือไม่ หรือรู้แต่เพียงว่า จะได้นักปราชญ์คนใหม่เท่านั้นฯ มหาราช อชฺช ตสฺส ปฏิสนฺธิคหเณน วา /-ข้าแต่มหาราชเจ้า นักปราชญ์คนใหม่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจตามตำราทายพระสุบินนิมิตว่า ต้องถือปฏิสนธิในครรภ์มารดาในคืนวันที่พระองค์ทรงพระสุบินนิมิตนี้ หรือไม่อย่างนั้นก็จะประสูติจากครรภ์มารดาพร้อมกับในเวลาที่พระองค์ทรงสุบินนิมิตนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่แท้ การที่ เสนกะกราบทูลทำนายพระสุบินนิมิตนี้ คล้ายกับเห็นด้วยทิพพจักษุ ฉะนั้น
ราชา ตโต ปฏฺฐาย ตํ วจนํ อนุสฺสริ จำเดิมนั้นมา
โปรดรออ่านตอนต่อไป

piangfan
07-05-2009, 09:22 PM
สาธุ ค่ะ

8ocdj
07-06-2009, 08:31 PM
ราชา ตโต ปฏฺฐาย ตํ วจนํ อนุสฺสริ จำเดิมนั้นมา พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงระลึกถึงถ้อยคำที่ เสนกะ พยากรณ์นั้นอยู่เนืองๆ อันเมืองมิถิลามหานครนั้น มีหมู่บ้านใหญ่ๆ ที่ประตูนอกกำแพงพระนครมีบ้านอยู่ ๔ ตำบล คือ บ้านข้างประตูทิศใต้ มีหมู่บ้านตำบลหนึ่งชื่อว่า ทักขิณวยมัชฌคาม บ้านข้างประตูทิศตะวันตก ชื่อว่ามัชฌิมวยมัชฌคาม บ้านข้างประตูทางทิศเหนือ ชื่อว่า อุตตรวยมัชฌคาม บ้านข้างประตูทิศตะวันออกชื่อว่า ปาจีนวยมัชฌคาม ในบ้านปาจีนวยมัชฌคามนั้น มีเศรษฐีอยู่คนหนึ่งชื่อว่า สิริวัฒกเศรษฐี ภรรยาของเศรษฐีนั้นชื่อว่า สุมนเทวี มีเรื่องสืบต่อไปว่า ในขณะที่พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินนิมิตนั้น เป็นเวลาที่พระมหาโพธิสัตว์เจ้า จุติจากดาวดึงส์สวรรค์ลงมาปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางสุมนเทวี ส่วนเทพบุตรอีกหนึ่งพันองค์ ก็จุติจากดาวดึงส์สวรรค์ลงมาปฏิสนธิในครรภ์แห่งอนุภรรยาเศรษฐีในบ้านนั้นในเวลาเดียวกัน เมื่อนางสุมนเทวีได้ประคองครรภ์มาครบถ้วนทศมาส ๑๐ เดือนแล้ว ก็ประสูติบุตรอันมีผิวพรรณบริสุทธิผ่องใสเหมือนทองชมพูนุท
ตสฺมิ ขเณ สกฺโก เทวราชา ในขณะที่พระมหาโพธิสัตว์เจ้าประสูตินั้น ท้าวสักกเทวราชได้ทรงตรวจดูมนุษยโลก ทรงทราบว่า พระมหาโพธิสัตว์เจ้าได้ประสูติจากครรภ์พระมารดาแล้ว จึงทรงพระดำริว่า เราควรจะกระทำหน่อพุทธางกูรนี้ให้ปรากฏในมนุษยโลก เทวโลก ครั้นทรงพระดำริดังนี้แล้วก็เสด็จลงมาจากสวรรค์ไปวางแท่งทิพยโอสถแท่งหนึ่ง ไว้ในพระหัตถ์แห่งพระมหาโพธิสัตว์เจ้าโดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเห็น แล้วเสด็จกลับคืนสู่สวงสวรรค์ ส่วนพระมหาโพธิสัตว์เจ้า ก็ทรงกำไว้ซึ่งทิพยโอสถนั้น ส่วนพระมารดาจะได้มีความลำบากแม้แต่เล็กน้อยก็หามิได้ พระองค์ประสูติโดยสะดวกดุจดังเทน้ำออกจากกระบอกกรองน้ำฉะนั้น พอพระมารดาได้แลเห็นแท่งทิพยโอสถอยู่ในพระหัตถ์ของพระมหาโพธิสัตว์เจ้าดังนั้นจึงถามว่า
ลูกได้อะไรมาด้วย
ตอบมารดาว่า ได้ยามาด้วย แล้วจึงส่งแท่งยาอันเป็นทิพย์นั้นให้แก่มารดาแล้วบอกว่า จงใช้ยานี้แก่ผู้ที่เจ็บไข้ด้วยเถิด จักรักษาโรคได้ทุกชนิด
มารดาได้ฟังดังนั้นก็เกิดความร่าเริงบันเทิงใจ จึงบอกแก่สิริวัฒกเศรษฐีผู้เป็นสามีให้ทราบ
ก็แล สิริวัฒกเศรษฐี ผู้เป็นบิดาแห่งพระมหาโพธิสัตว์เจ้านั้น ได้เป็นโรคปวดศีรษะอยู่ถึง ๖ ปืมาแล้ว เมื่อได้แท่งยาทิพย์ก็มีความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งจึงดำริว่า
ลูกของเรานี้พอเกิดมาก็ถือยามาด้วย ทั้งพูดกับมารดาได้ด้วย แปลกประหลาดกว่ามนุษย์ทั้งหลาย เห็นจะต้องเป็นผู้มีบุญญาภินิหารอันยิ่งใหญ่แน่นอน ยาที่ผู้มีบุญญาภินิหารอันยิ่งใหญ่เช่นนี้จะต้องเป็นยาที่มีอานุภาพมากเป็นแน่แท้ ครั้นคิดแล้วจึงจับเอาแท่งยาไปฝนทาที่หน้าผากเล็กน้อย โรคปวดศีรษะอันนั้นก็หายไปเหมือนดังน้ำอันตกจากใบบัวฉะนั้น เศรษฐีนั้นมีความดีใจเป็นอย่างยิ่งว่า ยานี้เป็นยามีอานุภาพมาก แล้วก็มีความเล่าลือไปทุกแห่งหนว่า บุตรสิริวัฒกเศรษฐี ได้ถือแท่งยาทิพย์ติดมือออกมาจากครรภ์ด้วย ผู้ที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็ได้พากันไปขอยากับเศรษฐีๆ ก็ฝนยาให้คนละน้อยๆ พอคนทั้งหลายที่เป็นโรคภัยต่างๆ ได้ทายานั้นแล้วก็หายจากโรคภัย มีความสุขสบายทั่วกัน ฉะนั้นในการที่ตั้งชื่อพระมหาโพธิสัตว์เจ้านั้น เศรษฐีจึงได้ขนานนามตามนิมิตนั้นว่า มโหสถกุมาร ตามเหตุการณ์ที่ได้แท่งยาทิพย์ติดมือมาด้วย
ครั้นตั้งชื่อเสร็จแล้วจึงคิดว่า
กรุณารออ่านต่อ

8ocdj
07-07-2009, 09:03 PM
ครั้นท่านสิริวัฒกเศรษฐีตั้งชื่อเสร็จแล้วจึงคิดว่าเราได้เห็นอานุภาพของมโหสถกุมารบุตรชายของตนแล้ว เกิดความคิดขึ้นว่า “
โอ ลูกของเราช่างมีบุญมากจริงหนอ ธรรมดาว่าผู้มีบุญญาธิการเช่นนี้ จะไม่เกิดมาเพียงลำพังผู้เดียว แต่จะต้องมีบริวารผู้มีบุญติดตามมาเป็นแน่ ”
คิดดังนี้แล้ว จึงได้ใช้ให้ชนผู้เป็นบริวารไปเที่ยวสืบเสาะหาดู เพื่อให้แน่ใจว่า มีทารกคลอดในวันเดียวกันกับบุตรของตนบ้างหรือไม่ ในที่สุด เหล่าบริวารก็ได้กลับมารายงานว่า มีทารกถือกำเนิดในตระกูลของอนุเศรษฐีในวันเดียวกันถึง ๑ พันคนอย่างน่าอัศจรรย์
ท่านเศรษฐีได้ทราบดังนั้นก็ปลาบปลื้มใจยิ่งนัก คิดอยากจะได้กุมารเหล่านั้นมาเป็นเพื่อนเล่นกับมโหสถ จึงได้จัดส่งของกำนัลเป็นอาภรณ์และเครื่องประดับอย่างดีเลิศ ทั้งยังได้มอบนางนมให้ดูแลกุมารน้อยๆ เหล่านั้นอีกคนละนาง
มโหสถกุมารค่อยๆเจริญวัยขึ้นตามลำดับ โดยมีสหายกุมารพันคนรายล้อมรอบข้าง เป็นทั้งเพื่อนเล่นและบริวารติดตามไปทุกหนแห่ง จวบจนอายุได้ ๗ ปี รูปร่างของมโหสถกุมารก็ยิ่งสมบูรณ์งดงาม ผิวพรรณเปล่งปลั่งประหนึ่งหล่อด้วยทองคำ แลดูสง่าผ่าเผยกว่ากุมารอื่น ทั้งยังมีกำลังมากดุจช้างสาร

บัดนี้ มโหสถกุมารเป็นดุจมิ่งขวัญของชาวบ้าน เมื่อเอ่ยถึงมโหสถกุมารคราใด ผู้คนในหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคามอันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร ก็จะเกิดความบันเทิงหรรษา มักจะกล่าวถึงด้วยความภาคภูมิใจดุจเดียวกันว่า “ มโหสถกุมารของเรานี่น่ะ ช่างสง่างามเสียจริง ทั้งเฉลียวฉลาด และเก่งกาจสามารถ ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ”
ทุกหนทุกแห่งใน ปาจีนยวมัชฌคาม (ปา-จีน-ยะ-วะ-มัด-ชะ-คาม) จึงตลบอบอวลไปด้วยเสียงสรรเสริญเกียรติคุณของมโหสถกุมาร ร่ำลือกันไปปากต่อปาก ระบือไกลไปทั่วทุกทิศ
ไม่ว่าใครก็ตาม แม้เพียงได้แลเห็นกุมารน้อยเท่านั้น ที่จะไม่รักไม่เอ็นดูไม่เชิดชูมโหสถกุมารนั้นไม่มีเลย
วันหนึ่งขณะที่มโหสถกุมารกำลังวิ่งเล่นกับเหล่าสหาย ภายในสนามเด็กเล่นท่ามกลางหมู่บ้าน พลันมหาเมฆก็ตั้งเค้าทะมึน ไม่ช้าก็โปรยปรายละอองฝนลงมา สายฝนตกกระหน่ำถี่ขึ้นเป็นลำดับ จนเหล่ากุมารต้องรีบวิ่งหนีฝนกันอลหม่าน ต่างยื้อแย่งหาที่หลบฝนภายใต้ร่มไม้ชายคา วิ่งชนกันและกันหกล้มหกลุกคุกคลาน เข่าแตก แข้งแตก เท้าบวม ได้รับลำบากเป็นอันมาก
และบ่อยครั้งที่บริเวณลานสนามที่กุมารวิ่งเล่นกันนั้น มักถูกช้างและสัตว์ใหญ่ทั้งหลายบุกเข้ามาทำลายจนเสียหายยับเยิน แม้ชาวบ้านชาวเมืองที่เดินทางผ่านไปมาในบริเวณนั้น ก็ต้องกรำแดดกรำฝน ไม่ได้รับความสะดวกสบายเลย
มโหสถกุมารเห็นความเป็นไปเช่นนั้น ก็ให้นึกสมเพชเวทนา จึงคิดที่จะสร้างศาลาใหญ่สักหลังหนึ่งเพื่อเป็นสถานที่พักหลบแดดหลบฝนของพวกตนและสหาย อีกทั้งจะได้เป็นที่พักสำหรับบรรดานักบวช พ่อค้า คนเดินทาง และคนยากจนเข็ญใจที่แวะเวียนผ่านไปมา ให้ได้รับความสะดวกสบายตามสมควร จึงได้แจ้งข่าวดีนี้แก่บรรดากุมารผู้เป็นสหายว่า “
เพื่อนเอย พวกเราได้รับความลำบากมามากแล้ว ยามที่ฝนตกพวกเราก็เปียกปอน ยามที่แดดร้อนพวกเราก็ประดุจว่าถูกย่าง นับจากนี้ไปพวกเราจะไม่ลำบากอีกแล้ว เราจะสร้างศาลาขึ้นสักหลัง กะว่าจะให้ใหญ่พอไว้เป็นที่วิ่งเล่น เป็นที่นั่ง ที่นอนของพวกเราได้ เพื่อนๆ คิดว่าจะดีไหมละถ้าเราจะมีศาลาสักหลังหนึ่ง ” เหล่ากุมารทั้งหลาย เมื่อได้ยินมโหสถกล่าวเช่นนั้นก็ดีใจ พากันกล่าวเสริมว่า “ โอ ถ้าได้อย่างนั้นก็ดีนะซิ เพื่อน แต่ว่าเราจะได้เงินจากที่ไหนมาสร้างล่ะ ”
มโหสถกุมารเอ่ยขึ้นว่า “ เรื่องนั้นไม่หนักหนาอะไร ขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันบริจาคทรัพย์คนละกหาปณะ ส่วนนอกจากนั้น หากว่าเงินยังไม่พอ เราก็จะออกทรัพย์เอง ” ทุกคนต่างก็เห็นชอบด้วย จึงรับปากว่าจะช่วยกันออกเงินคนละหนึ่งกหาปณะ จึงได้ไปขอจากบิดามารดาของตน แล้วนำมามอบให้กับมโหสถด้วยความเต็มใจ
ครั้นรวบรวมทรัพย์ครบพันกหาปณะแล้ว มโหสถจึงได้เรียกนายช่างมาเจรจารับเหมาก่อสร้าง เมื่อได้ตกลงเรื่องค่าจ้างกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายช่างจึงเริ่มปรับพื้นดินให้เรียบเสมอ แล้วลงมือขึงเชือกเพื่อวัดระดับพื้นที่

มโหสถกุมารแม้อายุเพียง ๗ ขวบแต่เป็นผู้มีสติปัญญาเปี่ยมด้วยปฏิภาณ ได้สังเกตเห็นนาย"มโหสถกุมารแม้อายุเพียง ๗ ขวบแต่เป็นผู้มีสติปัญญาเปี่ยมด้วยปฏิภาณ"' ช่างขึงเชือกไม่ถูกแบบ ก็ตรงรี่เข้าไปใกล้ๆ เอ่ย
ขึ้นว่า “ นายช่าง ขอท่านจงหยุดก่อน ท่านขึงเชือกอย่างนี้ เห็นทีจะขึงผิดแบบเสียแล้ว ธรรมดาว่าการงานที่เริ่มต้นด้วยความผิดพลาด งานที่ทำต่อๆ ไปก็มีแต่จะผิดพลาดตามไปด้วย ฉะนั้น ขอท่านจงช่วยกันขึงเชือกใหม่เถิด
” นายช่างแม้ได้ยินคำทักท้วงอยู่เต็มสองหู แต่ก็หาได้ใส่ใจในคำพูดของมโหสถกุมาร ด้วยสำคัญว่าเป็นเพียงเด็กน้อย ทั้งหมดจึงยังคงก้มหน้าก้มตาขึงเชือกแบบเดิมของตนต่อไป มโหสถกุมารเห็นว่านายช่างไม่สนใจในคำพูดของตนเลย เมื่อการณ์เป็นดังนั้นแล้วท่านจะทำอย่างไร
โปรดติดตามตอนต่อไป

8ocdj
07-08-2009, 09:47 PM
นายช่างก็ไม่ได้ใส่ใจในคำพูดของมโหสถกุมาร ด้วยสำคัญว่าเป็นเพียงเด็กน้อย ทั้งหมดจึงยังคงก้มหน้าก้มตาขึงเชือกแบบเดิมของตนต่อไป
มโหสถกุมารเห็นนายช่างยังนิ่งเฉยอยู่ ก็พูดซ้ำเป็นคำรบสอง คราวนี้นายช่างนั้นเงยหน้าขึ้น ตอบมโหสถน้ำเสียงที่ทั้งเคารพทั้งเอ็นดูว่า นายท่าน เราได้ศึกษาศิลปะงานช่างนี้มาอย่างไร ก็เพียรก่อสร้างไปตามนั้น พวกเราจะทำจนสุดกำลังความสามารถของตน ขอท่านจงเชื่อมั่นเถิด
มโหสถกุมารค้านว่า แม้เพียงการขึงเชือกเท่านั้น พวกท่านก็ยังทำไม่ถูก แล้วท่านจะรับทรัพย์ของเรา สร้างศาลาได้อย่างไรกัน
พ่อหนูเอย พวกเราทำดีที่สุดแล้ว หากพ่อมโหสถต้องการจะให้ดียิ่งไปกว่านี้ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแล้วละ”นายช่างกล่าวตอบด้วยสีหน้าห่อเหี่ยว บ่งชัดว่าเริ่มท้อใจ
ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร ท่านจงส่งเชือกนั้นมาให้กระผม เดี๋ยวกระผมจะขึงให้เองกล่าวดังนี้แล้ว มโหสถก็รับเชือกจากมือนายช่างนำมาขึงเสียเอง
ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ เชือกที่ขึงนั้นก็เป็นประหนึ่งว่าท้าววิสสุกรรม เทพเจ้าแห่งศิลปะการก่อสร้างมาขึงให้ เกินกว่าวิสัยที่นายช่างทั่วไปจะสามารถทำได้ นายช่างเห็นดังนั้นก็พากันประหลาดใจ ที่เด็กตัวเล็กแค่นี้สามารถทำงานยากๆ ที่แสนซับซ้อนได้
นับแต่นั้นมา มโหสถกุมารจึงเป็นผู้วางแผนงาน และคอยควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเองในทุกขั้นตอน โดยจัดสรรศาลาออกเป็นส่วนๆ ภายในแบ่งเป็นห้องๆ ประกอบไปด้วยห้องสำหรับคนยากไร้ได้พักพิง ห้องสำหรับนักบวชอาคันตุกะที่จาริกมาจากแดนไกลได้พำนัก
ห้องสำหรับคนเดินทางแวะพักผ่อนให้หายเหนื่อยล้า ห้องเก็บสินค้าและสัมภาระสำหรับพ่อค้าวาณิชที่เดินทางมาค้าขาย รวมถึงห้องสำหรับหญิงอนาถาใช้คลอดบุตร
ห้องเหล่านี้ล้วนมีซุ้มประตูออกทางด้านหน้า ภายในศาลามีห้องโถงใหญ่ เป็นสนามเล่น มีโรงวินิจฉัยคดี และที่ประชุมดุจโรงธรรมสภา ภายในศาลายังได้ให้จิตรกรวาดจิตรกรรมที่ผนังรายรอบห้องทุกห้อง ล้วนเป็นยอดศิลปะที่วิจิตรอลังการชวนทอดทัศนา
โปกฺขรณี ขนาเปตวา ครั้นเมื่อได้สร้างศาลาสำเร็จแล้ว มโหสถบัณฑิตก็มาดำริว่า เพียงแต่ศาลาเท่านั้น ยังหางดงามไม่ แต่หากว่าศาลาหลังนี้มีสระโบกขรณีอยู่รายรอบ ความงามก็จักปรากฏเฉิดฉายขึ้น
คิดดังนี้แล้วจึงสั่งการให้ขุดสระโบกขรณีขนาดใหญ่ไว้รอบศาลา เป็นเวิ้งวุ้งคุ้งน้ำ คดเคี้ยวนับพันคุ้ง ทั้งยังให้ทำท่าน้ำถึง ๑๐๐ ท่า เพื่อให้มหาชนได้ลงอาบชำระกาย ล้วนดารดาษไปด้วยปทุมชาติหลากพันธุ์เต็มสระ รอบขอบสระก็ให้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างพันธุ์ และไม้ผลยืนต้นไว้ร่มครึ้มงามตา ไม้ดอกไม้ผลเหล่านั้นต่างชูดอกออกใบให้ผลสลับกันไม่ขาด ทั้งนี้เพราะมโหสถได้ขอทรัพย์เพิ่มเติมจากท่านสิริวัฒกเศรษฐีผู้เป็นบิดา ซึ่งก็ได้เพิ่มเติมจากบิดาอีกหลายพันกหาปณะ
ในที่สุดศาลาหลังนี้จึงปรากฏว่าสง่างามล้ำสมัย เปรียบได้กับสุธรรมาเทวสภาบนสรวงสวรรค์ ได้ชะลอมาสู่ภพมนุษย์
ด้วยเหตุที่มโหสถบัณฑิตได้จัดการทุกสิ่ง โดยมุ่งเพิ่มพูนบารมีของตนให้ยิ่งๆขึ้นไป ศาลาหลังนี้จึงได้ก่อประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก
ก็ปรากฏว่ามีประชาชนพากันมาพักค้างทุกวันมิได้ขาด แม้นผู้คนที่สัญจรไปมาต่างก็ได้รับความสะดวกสบายครบครัน ยิ่งกว่านั้นในบางคราวเมื่อถึงกาลอันเหมาะสม มโหสถบัณฑิตยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงข้ออรรถข้อธรรม ชักนำมหาชนที่มาพักค้างให้ตั้งอยู่ในกองการกุศลแนะนำในสิ่งอันเป็นกรณียกิจ คือ สิ่งที่ควรทำ เป็นความถูกต้องดีงาม เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ
ให้เว้นห่างจากอกรณียกิจ คือสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นความผิดความชั่ว ที่จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์โทษภัยและความเสื่อม
หมู่ชนที่ได้สดับรสอรรถรสธรรมที่แสดงเหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก ต่างอนุโมทนาสาธุการ กล่าวแซ่ซ้องสรรเสริญ จึงทำให้เกียรติคุณอันงดงามของพระโพธิสัตว์ฟุ้งเฟื่องระบือไกลไปทั่วทุกทิศานุทิศ
วิเทหิราชา ปน สตฺตวสฺสจฺจเยน ในเวลาที่มหาโพธิสัตว์เจ้ามีพระชนได้ ๗ ขวบนั้นพระเจ้าวิเทหราช ได้ทรงคำนึงถึงวันที่ท่านอาจารย์เสนกะได้ทำนายพระสุบินนิมิต พระองค์ก็ได้ปรารภถึงบัณฑิตน้อยผู้นั้นกับท่านเสนกะอยู่เนืองนิตย์
พระประสงค์ที่จะเสาะหาบัณฑิตคู่พระหฤทัยไว้ช่วยเหลือราชกิจ ก็ยังมั่นคงเช่นเดิม แม้บัดนี้จะล่วงเลยมานานถึง ๗ ปีแล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ยังทรงคิดคำนึงถึง และเฝ้ารอคอยการมาสู่ราชสำนักของมหาบัณฑิตผู้นั้นอยู่ตลอดเวลา
แต่เหตุการณ์เบื้องหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น กรุณาอ่านต่อพรุ่งนี้

8ocdj
07-09-2009, 08:24 PM
พระเจ้าวิเทหราช นับแต่วันที่ได้สดับคำทำนายพระสุบินนิมิต พระองค์ก็ได้ปรารภถึงบัณฑิตน้อยผู้นั้นกับท่านเสนกะอยู่บ่อยครั้ง แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง ๗ ปีแล้ว ก็ยังทรงคิดคำนึงถึง และเฝ้ารอคอยการมาสู่ราชสำนักของมหาบัณฑิตในฝันอยู่ตลอดเวลา
แล้ววันหนึ่งพระองค์ก็ทรงมีพระดำรัสกับท่านเสนกะว่า"
ท่านอาจารย์ นับจากวันที่ท่านได้ทำนายสุบินนิมิตให้แก่เรา จนถึงบัดนี้ก็ ๗ ปีแล้ว ถ้าถือเอาวันนั้นเป็นวันเกิดของบัณฑิตน้อย ป่านฉะนี้เขาก็คงเจริญวัยได้ ๗ ปีแล้ว ก็น่าจะปรากฏแววแห่งความเฉลียวฉลาดมาบ้างเป็นแน่ เห็นทีเราจักต้องให้อำมาตย์ออกไปเที่ยวสืบเสาะดูให้รู้แน่ชัด ท่านจะเห็นเป็นประการใด”
อาจารย์เสนกะเห็นชัดว่าพระราชาทรงใฝ่พระหฤทัยในเรื่องบัณฑิตน้อยมาก จึงปรารถนาจะให้ถูกพระอัธยาศัยของพระองค์ จึงรีบกราบทูลคล้อยตามพระดำรัสว่า “
ข้าแต่มหาราช นั่นเป็นพระดำริอันชอบยิ่งแล้วพระเจ้าข้า”
“ดีละ ท่านเสนกะ ถ้าเช่นนั้นเราจักสั่งให้อำมาตย์ไปสืบดูให้ทั่วนคร”
รับสั่งพลางเรียกอำมาตย์ ๔ คนมาเฝ้า แล้วตรัสสั่งให้แยกย้ายกันออกไปสืบหาให้ทั่วทั้ง ๔ ทิศ
บรรดาอำมาตย์เหล่านั้น มีเพียงอำมาตย์ผู้มุ่งตรงไปทางตะวันออกเท่านั้น ที่ได้ประสบกับสถานที่น่าอัศจรรย์ใจ เพราะเมื่อมาถึงหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม เขาได้เข้าไปนั่งพำนักอยู่ในศาลาอันโอ่โถงวิจิตรตระการ ตื่นตากับสระโบกขรณี และสวนไม้ดอกไม้ผล ดุจดังว่าได้นั่งชื่นชมทิพยสมบัติอันโอฬารอยู่ในเทวโลก ก็ดำริในใจว่า “ผู้ที่สร้างศาลาหลังนี้ต้องเป็นบัณฑิตผู้มีสติปัญญาอย่างยิ่งทีเดียว จึงสามารถกระทำศาลาให้ยิ่งใหญ่อลังการได้ถึงเพียงนี้”
เขาจึงเริ่มไต่ถามมหาชน จนได้ความว่า มโหสถกุมาร บุตรสิริวัฒกเศรษฐี บัณฑิตน้อยแห่งบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง
ยิ่งได้ฟังเสียงร่ำลือถึงกุมารผู้ปรีชาสามารถแล้ว กอปรกับวัยของกุมารก็มาพ้องตรงกันกับพระสุบินนิมิต ก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่า “มโหสถกุมารผู้นี้ เห็นทีว่าจะต้องเป็นบัณฑิตที่พระราชาทรงมีพระราชดำรัสให้สืบหาเป็นแน่”
อำมาตย์ผู้นั้นจึงได้ซักไซ้ไล่เลียงถามประวัติของบัณฑิตนั้นอย่างละเอียดลออ แล้วรีบทำรายงานถวายพระราชา โดยให้บุรุษคนสนิทเป็นทูตถือสารนั้นไปกราบทูลข่าวดีแด่พระองค์ ส่วนตนก็ยังคงรออยู่ในที่นั้นเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ต่อไป
ราชา ตํ สุตฺวา ตุฏฺฐตฺโต
ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช ครั้นทรงสดับคำกราบทูลของทูตแล้ว ก็ทรงปราโมทย์ยิ่งนัก พระพักตร์สดชื่นราวกับได้ทรงเสวยทิพยสุธาโภชน์อันเอมโอษฐ์
จึงตรัสเรียกท่านเสนกะมาเฝ้า รับสั่งว่า “เป็นอย่างไรเล่าท่านอาจารย์ ก็อำมาตย์เขามารายงานเช่นนี้ ท่านอาจารย์เห็นว่าเราควรจะนำบัณฑิตน้อยนั้นมาได้หรือยัง”
ท่านเสนกะเพิ่งจะได้ทราบข่าวนั้น ก็ตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง คิดว่า “โอ นี่หรือ ที่ควรจะเรียกว่าเป็นข่าวดี ก็แน่ละอาจเป็นข่าวดีสำหรับพระองค์ แต่สำหรับเราแล้ว สมควรจะเรียกว่าเป็นข่าวร้ายมากกว่า”
พระราชาทรงเห็นท่านเสนกะนิ่งเงียบไป ก็เข้าพระทัยว่าท่านอำมาตย์คงตรวจดูด้วยพยากรณ์ศาสตร์ จึงทรงยับยั้งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะตรัสถามซ้ำเป็นครั้งที่สอง
อาจารย์เสนกะจินตนาการไปไกลว่า “หากมโหสถกุมารนี้ได้เข้ามาอยู่ในราชสำนักเมื่อใด เราก็คงหมดความสำคัญ แม้พระราชาก็จักทรงลืมเราไปเสียสิ้น ไม่ช้าเราก็จะตกต่ำหมดรัศมี แม้ลาภ ยศ บริวาร และความเป็นใหญ่ก็จะพลอยสูญสิ้น จำเราจะต้องกราบทูลทัดทานไว้ก่อน”
อาจารย์เสนกะไม่ปรารถนาให้พระราชาตรัสถามเป็นครั้งที่ ๓ จึงรีบกราบทูลในขณะนั้นว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ เพียงแค่กุมารนี้สามารถสร้างศาลาได้ใหญ่โต ยังหาอัศจรรย์ไม่
บุคคลจะเป็นบัณฑิตเพียงเพราะการสร้างศาลา ข้อนี้ช่างเล็กน้อย ดูไม่สมแก่เหตุเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำของท่านเสนกะแล้ว ก็เห็นพ้องว่า หากพระองค์จะอาศัยเหตุเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ แล้วนำกุมารน้อยเข้ามาสู่ราชสำนัก ในฐานะราชบัณฑิตก็ดูกระไรอยู่ ยังมีข้อที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้าง อีกประการหนึ่ง ท่านอาจารย์เสนกะผู้พยากรณ์เรื่องนี้มาแต่ต้นก็ยังมากล่าวคัดค้านเช่นนี้ สมควรที่พระองค์จะทรงรับฟังคำของท่านเสนกะไว้ก่อน แต่เพราะเหตุที่ทรงใฝ่หายอดบัณฑิตนี้มานานถึง ๗ ปี จึงยากยิ่งที่จะทรงตัดพระหฤทัยได้ในทันที จึงทรงนิ่งครุ่นคิดอยู่
อาจารย์เสนกะเห็นพระองค์ทรงนิ่งแสดงท่าทีครุ่นคิดอยู่ ไม่ตรัสสิ่งใดออกมาเลย ก็ไม่รู้ว่าพระราชาทรงคิดอย่างไรอยู่ หากปล่อยให้นิ่งนานไป ก็หวั่นใจว่าพระราชาจะทรงกริ้วตน จึงรีบกราบทูลอธิบายเพื่อปกป้องตนเองว่า “ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าของชาววิเทหรัฐ ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลทัดทานเช่นนี้ เพราะตรองเห็นด้วยเกล้าว่า หากบัณฑิตที่พระองค์จะทรงโปรดเกล้าฯรับไว้ในฐานะราชบัณฑิตนั้น ด้วยเหตุเพียงการให้ช่างสร้างศาลาเท่านั้น เมื่อข่าวนี้แพร่ไปทั่วชมพูทวีป พระราชาต่างเมืองก็อาจทรงรำลึกถึงพระองค์ด้วยความดูแคลนก็เป็นได้ แต่ในทางกลับกัน หากพระราชาเหล่านั้นทราบว่า ผู้ที่จะมาเป็นราชบัณฑิตของพระองค์ จะต้องผ่านการทดสอบภูมิปัญญาอย่างเข้มงวด ไฉนเลยจะไม่กลัวเกรงในพระบารมี ขอพระองค์ทรงใคร่ครวญดูเถิด พระเจ้าข้า”
พระราชาทรงสดับคำของท่านอาจารย์เสนกะแล้ว ก็ทรงพอพระหฤทัย จึงมีพระดำรัสให้ทูตที่มากราบทูลไปแจ้งแก่อำมาตย์ผู้นั้นว่า “ขอให้ท่านอำมาตย์จงรออยู่ที่บ้านปาจีนยวมัชฌคามนั้นต่อไป และหากมีเหตุการณ์ใดที่เนื่องกับบัณฑิตผู้นั้น ก็จงนำความมากราบทูลเราทันที จนกว่าเราจะมั่นใจว่า มโหสถกุมารคือบัณฑิตที่เราตามหา เมื่อนั้นท่านจึงค่อยเดินทางกลับ”
ทูตนั้นเมื่อรับพระบรมราชโองการแล้ว ก็รีบนำพระราชสาสน์ไปแจ้งแก่อำมาตย์ผู้นั้นในทันที ดังนั้น มโหสถกุมารจึงอยู่ในการสอดแนมของพระราชาตลอดเวลา
โปรดรอ อ่านต่อพรุ่งนี้ครับ และช่วยกันตอบปัญหา

8ocdj
07-10-2009, 09:55 PM
ตสฺส มํสนฺติ ฯ เอกทิวสํ โพธิสตฺโต กีฬามณฺฑลํ คจฺฉนฺโต เอโก เสโน สูนผลกโต มํสเปสิ คเหตฺวา อากาเสน ปกฺขนฺทิ ฯ ตํ ทิสฺวา ทารกา มํสเปสิ ฉฑฺฑาเปสฺสสามาติ เสนํ อนุพนฺธิ สูติ
ในระหว่างที่อำมาตย์ของพระเจ้าวิเทหราชคอยเฝ้าดูมโหสถกุมารอยู่อย่างใกล้ชิดนั้น ก็ได้ปรากฏเหตุมากมายหลายเรื่อง ซึ่งล้วนเป็นประจักษ์พยาน ยืนยันในความเป็นผู้มีปัญญาอันยอดยิ่ง
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น อำมาตย์ก็จะนำความนั้นขึ้นกราบทูลพระราชา โดยผ่านทูตผู้ทำหน้าที่ส่งสาสน์ทุกคราวไป ปรากฏเรื่องราวโดยพิสดาร ดังต่อไปนี้
ครั้งหนึ่ง มีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินผ่านโรงฆ่าสัตว์ เห็นชิ้นเนื้อขนาดฝ่ามือ ที่คนฆ่าสัตว์วางไว้บนเขียงเตรียมนำไปขาย ก็หวังจะได้ลิ้มลองรสชาดของเนื้อนั้นให้สมอยาก จึงเฝ้ารอทีเผลอ เมื่อเห็นคนฆ่าสัตว์ง่วนอยู่กับการลับมีด ก็รีบโฉบลงตรงชิ้นเนื้อโดยเร็ว ก็รีบบินหนีไป
ขณะนั้นเอง มโหสถกุมารกับสหายทั้ง ๑,
๐๐๐ คน พากันเล่นกันอยู่ในสนามกีฬา เห็นเหยี่ยวคาบชิ้นเนื้อกะร่องกะแร่งบินผ่านมาในบริเวณนั้น ก็พากันนึกสนุก อยากจะแย่งชิ้นเนื้อจากเหยี่ยว จึงตกลงกันว่า หากใครสามารถจะคว้าชิ้นเนื้อนั้นมาได้ ก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะ
ในที่สุดก็เลยถือเอาเหยี่ยวเป็นกีฬาไปเสียด้วย ว่าแล้วก็พากันวิ่งตามเหยี่ยวขู่ตวาดโห่ร้องเกรียวกราว เพื่อให้เหยี่ยวตกใจปล่อยชิ้นเนื้อลงมา ต่างคนต่างวิ่งไล่ตามกันสนุกสนาน แต่ก็พลอยได้รับความลำบากไปตามๆ กัน เพราะขณะที่วิ่งตามเหยี่ยวไป ก็แหงนดูตัวเหยี่ยวไปพลาง จึงสะดุดเข้ากับตอไม้ ตกหลุม ตกบ่อ ล้มลุกคลุกคลาน แข้งขาก็ถลอกปอกเปิก มีบาดแผลฟกช้ำดำเขียว สะบักสะบอมกันถ้วนหน้า
มโหสถกุมารเห็นเช่นนั้น ก็ร้องห้าม บอกให้พวกกุมารเหล่านั้นหยุดเสีย แล้วอาสาจะไล่ตามเหยี่ยวนั้นเอง หยุดก่อนๆ เราจะไล่กวดให้มันปล่อยชิ้นเนื้อนั้นให้ได้ เพื่อนๆ คอยดูให้ดีนะ
กล่าวดังนี้แล้ว มโหสถกุมารก็รีบวิ่งกวดไปโดยเร็วจนสุดกำลัง ราวกับลมพัดผ่านนภากาศ โดยไม่ต้องแหงนดูบนฟ้าเลย
กุมารเหล่านั้นเห็นมโหสถกุมารเอาจริง ก็พากันหยุดไล่ กล่าวขึ้นว่า พวกเราหลีกทางเถอะ ปล่อยให้มโหสถลองดูบ้าง แล้วก็หลีกให้พ้นทางวิ่ง
มโหสถกุมารไล่กวดเหยี่ยวนั้นในระยะกระชั้นชิด ไม่ช้าก็ทันเหยี่ยวได้ ตบมือผางผาง! ตวาดขึ้นไปด้วยเสียงดังสนั่น
เสียงนั้นได้ดังกึกก้องสะท้านสะเทือน ชวนให้เสียวสยอง ดุจผ่านเข้าแก้วหูไปคำรามคำรนอยู่ จนมันสะดุ้งตกใจด้วยความกลัว แม้จะมีความเสียดายชิ้นเนื้อนั้นสักปานใด ก็จำต้องทิ้งชิ้นเนื้อลงมา แล้วรีบโผบินหนีไปโดยเร็ว
มโหสถก็เอามือรองรับไว้มิทันให้ตกถึงดิน เหล่ากุมารที่เหลือเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้น ก็พากันเปล่งเสียงโห่ร้องอึงคะนึง ปรบมือกันเกรียวกราวด้วยความชื่นชม มิใช่เฉพาะเหล่าสหายของมโหสถกุมารเท่านั้น แม้แต่ฝูงชนที่ชุมนุมกัน ณ ที่นั้น ก็อดมิได้ที่จะแสดงอาการชื่นชมยินดี
อำมาตย์ซึ่งเฝ้าดูมโหสถอยู่อย่างไม่ละสายตาตามรับสั่งของพระราชา ก็เห็นแววความฉลาดเฉลียวของมโหสถกุมารในครั้งนั้นเช่นกัน
จึงเร่งส่งทูตไปกราบทูลเรื่องนี้แด่พระเจ้าวิเทหราช ท้าวเธอทรงสดับคำกราบบังคมทูลนั้นแล้ว ก็ทรงแย้มพระสรวลด้วยความโสมนัสยินดี ในขณะที่ท่านอาจารย์เสนกะกลับนั่งฟังนิ่งๆ ไม่ไหวติงดั่งถูกมนต์สะกด
ครั้นแล้วพระราชาจึงผินพระพักตร์มาทางอาจารย์เสนกะ ตรัสถามว่า
เป็นอย่างไรเล่าท่านอาจารย์ พ่อบัณฑิตน้อยนี่ธรรมดาเสียทีไหน ท่านอาจารย์ว่า เท่านี้จะเพียงพอหรือยังที่เราจะรับตัวมโหสถกุมารเข้ามาเสียที
ขอเดชะ พระบารมีปกเกล้าฯ
ขอพระองค์ทรงโปรดยับยั้งเรื่องนี้ไว้ก่อน เพราะเหตุเพียงเท่านี้ ช่างเล็กน้อยเหลือเกิน ข้าพระบาทว่า ทางที่ดีพระองค์น่าจะรอต่อไปอีกหน่อยเพื่อทดลองให้แน่พระหฤทัยก่อน พระพุทธเจ้าข้า ท่านเสนกะกราบทูล
พระราชาทรงฉงนพระหฤทัย ถึงกับตรัสว่า
อะไรกันท่านอาจารย์ บุคคลผู้สามารถเล็งเห็นได้ทั้งบนฟ้าและบนดินพร้อมกันเช่นนี้ ควรจะเรียกว่าผู้มีปรีชาญาณอันยอดเยี่ยมมิใช่หรือ
ไม่เป็นการยากอันใดดอก พระเจ้าข้า ท่านเสนกะกราบทูลยืนยัน เพียงแค่ใช้ความคิดเล็กน้อยเท่านั้น ก็อาจจะกระทำได้ ก็เรื่องนั้นมีเหตุให้ต้องคิด เนื่องด้วยมโหสถกุมารเห็นสหายพากันได้รับความลำบาก จึงได้คิดหาหนทางแก้ไข ดังนั้น จึงยังถือว่าเป็นความคิดที่มีเงื่อนไขให้คิด จึงหาใช่เรื่องยากที่จะคิดอ่านเช่นนั้น พระเจ้าข้า
ท้าวเธอทรงสดับคำอธิบายของอาจารย์เสนกะแล้ว ก็ทรงจำต้องยอมรับในเงื่อนไข ด้วยยังไม่อาจหาเหตุผลอื่นใดมากล่าวอ้างให้ยิ่งกว่านั้น จึงได้แต่ทรงนิ่งเสีย จากนั้นก็มีรับสั่งให้ทูตนำพระกระแสรับสั่งกลับไปบอกอำมาตย์ผู้นั้นให้ประจำอยู่ไปก่อน เพื่อคอยดูเหตุการณ์ต่อไป
ลองภูมิกันหน่อยไหมครับว่า มโสถกุมาร วิ่งไล่ตามเหยี่ยวถูกทิศทางได้อย่างไรโดยไม่ต้องแหงนหน้ามองเหยี่ยวที่บินอยู่บนฟ้า
ดังนั้นในตอนหน้า มโหสถกุมารจะแสดงอัจฉริยภาพ ในเรื่อง ขโมยลักโคแล้วตู่ ว่าเป็นของตน มโหสถกุมารจะมีวิธีพิสูจน์อย่างไรว่าใครคือเจ้าของโคที่แท้จริง โปรดติดตามอ่านพรุ่งนี้

8ocdj
07-11-2009, 09:24 PM
กาลต่อมา ครั้นย่างเข้าวสันตฤดู ฝนฟ้าเริ่มโปรยปรายสายธารา ทำพื้นดินให้ชุ่มชื่น ส่วนพื้นที่ลุ่มก็เจิ่งนองด้วยน้ำฝน ชาวนาชาวไร่พากันเริ่มงานไถเพื่อเตรียมหว่านข้าวกล้า
ชายหนุ่มคนหนึ่งในปาจีนยวมัชฌคามก็เช่นกัน เขาคิดว่าเมื่อฝนตกมากพอสมควรแล้ว เราจะได้เริ่มไถนาเสียที จึงไปซื้อโคจากตำบลอื่น นำมาเลี้ยงไว้ในบริเวณบ้านของตนรุ่งขึ้นก็พาออกไปกินหญ้าที่ชายทุ่งแต่เช้าตรู่ เขานั่งอยู่บนหลังโค พอเหน็ดเหนื่อย ก็ลงมานั่งใต้โคนไม้ ครั้นผิวกายปะทะลมพัดอ่อนๆ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์เย็นสบาย จึงผล็อยหลับไปครู่ใหญ่
ขณะที่กำลังนอนเฝ้าโคอยู่ใต้โคนต้นไม้นั่นเอง โจรคนหนึ่งผ่านมา เห็นเจ้าของโคหลับ จึง
ขโมยโคไป นึกกระหยิ่มใจว่า “เจ้าหนุ่มนี่ขี้เซาจริง เขาลักโคของตนก็ยังไม่รู้ ช่างเป็นลาภของเราหนอ ที่ได้โคมาเปล่าๆ นี่ถ้าเอาไปขายต่อ ก็คงจะได้กำไรงาม”
ว่าแล้วก็รีบจูงโคลัดเลาะไปตามแนวคันนาจนลับสายตาของชายหนุ่ม
ชายหนุ่มก็ตื่นขึ้นมาอย่างงัวเงีย แต่ครั้นมองไม่เห็นโคของตน ก็ลืมความง่วงไปเสียสิ้น ลนลานมองหาโคข้างโน้นข้างนี้ก็ไม่เห็นครั้นสังเกตเห็นรอยเท้าคนจูงโคก้าวเป็นทางยาวไปตามแนวคันนา ก็มั่นใจว่าต้องถูกโจรลักไปเป็นแน่ จึงตัดสินใจออกติดตาม เขาวิ่งไล่กวดอย่างไม่คิดชีวิต กระทั่งเห็นหลังโจรไวๆ ครั้นไปถึงตัวก็ขู่ตะคอกด้วยน้ำเสียงอันดังว่า
“เฮ้ย แกจะจูงโคของข้าไปไหน เอาโคของข้าคืนมานะ”
โจรแกล้งทำตีหน้าเซ่อ กล่าวตอบว่า “นี่แกพูดอะไร โคของข้า ข้าก็จะนำมันไปเลี้ยงสิ เอ็งเกี่ยวอะไรด้วย”
ชายเจ้าของโคไม่ยอม ยืนยันจะเอาโคของตนคืนให้ได้ จึงตะโกนด่าว่า “ไอ้หัวขโมย โคนี่ของข้าต่างหาก เอ็งมาตู่เอาเสียเฉยๆ อย่างนี้ เดี๋ยวจะต้องเห็นดีกัน”
ฝ่ายโจรแม้จะถูกเขาจะก่นด่าเช่นนั้น ก็ทำหน้าให้หนาเข้าไว้ตามวิสัยโจร ยังคงอ้างกรรมสิทธิ์ในโคตัวนั้นอย่างไม่ลดราวาศอก
เมื่อต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมกันและกัน ต่างก็อ้างว่าเป็นโคของตน ใช้ฝีปากเข้าห้ำหั่นบอกว่าตนเท่านั้นเป็นเจ้าของ จึงต้องเดินเถียงกันไปด้วยสีหน้าเคร่งเครียด จวนเจียนจะลงไม้ลงมือใส่กัน
มหาชนได้ยินเสียงชายทั้งสองวิวาทกัน ก็มายืนมุงดูกันจนแน่นขนัด มโหสถบัณฑิตได้ยินเสียงเอ็ดอึง จึงให้เรียกคนทั้งสองมาในศาลา พอได้เห็นหน้าตาและกิริยาของคนทั้งสองอย่างชัดเจน ก็รู้ทันทีว่า ใครเป็นโจร ใครเป็นเจ้าของโค แต่ต้องการจะสอบสวนให้กระจ่าง ทำความจริงให้ปรากฏแก่มหาชน จึงเริ่มถามว่า “ท่านทั้งสองวิวาทกันเรื่องอะไร”
บุรุษผู้เป็นเจ้าของโครีบกล่าวขึ้นว่า “นายท่าน กระผมซื้อโคตัวนี้มา แล้วนำไปเลี้ยงที่ชายทุ่งแต่เช้า ชายผู้นี้เห็นว่ากระผมเผลอหลับ จึงได้แอบลักโคของกระผมมา เมื่อตื่นขึ้นกระผมจึงไล่ตามชายคนนี้มา พอจับตัวได้ไล่ทันจึงขอคืน เขาก็ไม่ยอมให้ แถมยังตู่ว่าเป็นโคของเขาเสียอีก”
“ท่านแน่ใจหรือว่าเป็นโคของท่าน”
มโหสถถามทดลองปัญญาบุรุษผู้เป็นเจ้าของโค
“แน่ใจสิ เจ้าของโคคนเก่าที่กระผมซื้อมา ก็อาจเป็นพยานให้ได้ แม้ชาวบ้านใกล้เคียงต่างก็รู้ว่ากระผมซื้อโคตัวนี้มาขอรับ”
มโหสถนึกในใจว่า บุรุษผู้นี้นับว่ามีปัญญาใช้ได้ทีเดียว แต่คงไม่ต้องลำบากตามไปจนถึงเจ้าของโคคนเก่า เดี๋ยวเราจะตัดสินให้กระจ่างใสต่อหน้ามหาชนทีเดียว จึงหันไปถามชายอีกคนหนึ่งว่า “เขาหาว่าท่านลักโคของเขามา ท่านจะว่าอย่างไร”
ชายที่เป็นโจรตอบว่า“นายท่าน โคตัวนี้เป็นของกระผม เจ้านั่นโกหก ท่านอย่าหลงเชื่อคำของมันง่ายๆ นะ”
มโหสถบัณฑิตจึงถามชายทั้งสองว่า “หากเราจะวินิจฉัยความของท่านทั้งสองโดยยุติธรรม ท่านทั้งสองจะยอมฟังคำวินิจฉัยของเราหรือไม่”
ชายทั้งสองก็รับคำ
มโหสถคิดว่าการวินิจฉัยครั้งนี้จะต้องให้เป็นไปตามมติมหาชน จึงถามชายที่เป็นโจรก่อนว่า
ถ้าท่านเป็นมโหสถ ท่านจะมีวิธีพิจารณาอย่างไรจึงจะพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นเจ้าของโค
คอยอ่านต่อพรุ่งนี้ครับ ขอบคุณ
ตอบปัญหาที่ ๑ มโหสถวิ่งตามเหยี่ยวโดยไม่ต้องแหงนหน้ามองบ้นฟ้า เพราะวิ่งตามเงาเหยี่ยวที่ปรากฏบนพื้นดิน

8ocdj
07-12-2009, 09:35 PM
มโหสถบัณฑิตจึงถามชายที่เป็นโจรก่อนว่า ท่านให้โคของท่านกินและดื่มอะไร
กระผมให้โคดื่มยาคู ให้กินงา แป้ง และขนมสด ขอรับ โจรตอบ
แล้วจึงหันไปถามเจ้าของโคด้วยคำถามเดียวกัน
ชายเจ้าของโคตอบว่า กระผมให้กินหญ้าอย่างเดียวเท่านั้นล่ะ คนจนอย่างกระผม จะหายาคู งา แป้ง และขนมสด มาแต่ที่ไหน
มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำให้การของคนทั้งสองแล้ว ปรารถนาจะทำความจริงให้ประจักษ์ท่ามกลางมหาชน จึงให้คนใช้นำถาดพร้อมใบประยงค์มาด้วยกำหนึ่ง สั่งให้ตำในครกจนแหลก ขยำด้วยน้ำ แล้วกรอกน้ำนั้นใส่ปากโค
โคดื่มเข้าไปได้หน่อยหนึ่ง ก็สำรอกออกมาเต็มถาดนั้น ปรากฏว่ามีแต่ใบหญ้าล้วนๆ ไม่มีสิ่งใดเจือปนเลย มโหสถบัณฑิตจึงยกถาดนั้นขึ้น ชี้ให้มหาชนได้เห็นโดยทั่วกัน แล้วหันมาถามโจรว่า
เจ้าเป็นโจรลักโคเขามา ใช่หรือไม่
ฝ่ายโจรเมื่อเห็นความจริงปรากฏเช่นนั้น ก็ไม่อาจทำหน้าด้านปากแข็งอีกต่อไป จำต้องยอมรับความเป็นจริง ด้วยสีหน้าที่เหมือนกำลังแก้ผ้าอยู่ท่ามกลางมหาชนว่า
ใช่ครับ กระผมเป็นโจร
ทันทีที่โจรรับสารภาพ ฝูงชนที่เฝ้ามุงดูเหตุการณ์อยู่นั้น ต่างก็กลุ้มรุมกันเข้าไปทุบตีเตะต่อยโจรด้วยความเจ็บแค้นแทนเจ้าของโคอย่างไม่ปรานีปราศรัย จนโจรนั้นบอบช้ำไปทั้งตัว
มโหสถเห็นเช่นนั้น ก็เกรงเจ้าโจรร้ายจะมาตายคาสหบาทาของมหาชน จึงเข้าไปขอร้องให้ชาวประชาหยุดการลงประชาทัณฑ์ก่อน แล้วก็กล่าวสอนโจรด้วยจิตเมตตาว่า
เจ้าอย่าได้ทำอย่างนี้อีกนะ เจ้าได้รับโทษในคราวนี้เพียงเท่านี้ ก็หนักหนาสาหัสพอแก่กรรมของเจ้าแล้ว แต่ต่อไปภายหน้า หากเจ้ายังขืนทำผิดอีก เจ้าคงรู้ดีว่าจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ยิ่งกว่านี้สักเพียงไร
เมื่อเห็นว่าโจรได้สำนึกผิดแล้ว มหาชนจึงยินยอมปล่อยตัวโจรนั้นไปด้วยอาการสะบักสะบอม จากนั้นมโหสถได้ให้โอวาทต่อไปว่า
เจ้าเห็นทุกข์ของเจ้าในภพนี้แต่เพียงเท่านี้ แต่ในภพหน้า เจ้ายังจะต้องเสวยทุกข์ใหญ่ในนรก ต้องทนทุกข์ทรมานอีกยาวนานนับเท่าไม่ถ้วน แต่นี้ไปเจ้าจงละกรรมนี้เสีย แล้วจงรักษาศีลไว้ให้ดี เผื่อว่าทุกข์นั้นจะได้ลดหย่อนผ่อนเบาลง
โจรนั้นก็รับปากว่า ขอรับนายท่าน ต่อไปกระผมจักไม่ทำเช่นนี้อีก นับแต่นั้นมา เขาก็กลับตัวกลับใจ แล้วตั้งใจทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต
พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำรายงานที่มหาอำมาตย์ส่งมาถวายทั้งหมด ด้วยพระอาการเพลิดเพลิน ครั้นทูตนำสาส์นกราบทูลเรื่องนั้นจบลง พระองค์ก็ทรงพระสรวลด้วยความปราโมทย์ยินดีในการวินิจฉัยของมโหสถบัณฑิต
แม้ว่าจะทรงพอพระทัยในตัวบัณฑิตน้อยเป็นนักหนา แต่ก็ยังมิอาจตรัสชื่นชมมโหสถให้มากเกินไป ด้วยทรงมีพระประสงค์จะรับฟังความเห็นของท่านอาจารย์เสนกะเสียก่อน จึงรับสั่งถามอย่างไม่อ้อมค้อมว่า
ท่านอาจารย์ เราสมควรจะรับพ่อมโหสถบัณฑิตเข้ามาได้หรือยัง
ฝ่ายท่านเสนกะเห็นพระเจ้าวิเทหราชทรงใฝ่พระหฤทัยถึงมโหสถเป็นอันมาก ก็ยิ่งขุ่นเคืองใจ ทั้งเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่า
นี่ขนาดยังมิทันรับตัวมโหสถเข้ามา พระองค์ยังทรงชื่นชมโสมนัสถึงเพียงนี้ หากวันใดมโหสถได้เข้ามาเป็นราชบัณฑิตของพระองค์ละก็ วันนั้น เห็นทีว่าตนและสหายที่เหลือคงจะสิ้นความสำคัญเป็นแน่ ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไร ก็จักต้องหาทางทูลทัดทานไว้ให้จงได้
คิดดังนี้แล้ว จึงกราบทูลพระราชาอย่างตรงไปตรงมาเช่นกันว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ ขอได้ทรงโปรดยับยั้งเรื่องนั้นไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า
อย่างไรเล่าท่านอาจารย์ ท่านคิดว่ายังไม่สมควรหรือ พระองค์รับสั่งถามซ้ำอีก
พะยะค่ะ ข้าพระบาทเห็นว่า ข้อวินิจฉัยนี้ยังเป็นเหตุเล็กน้อยเกินไป ไม่สมควรแก่เหตุที่พระองค์จะทรงรับตัวมโหสถเข้ามาสู่พระราชมณเฑียรในฐานะราชบัณฑิตของพระองค์เลยพระเจ้าข้า ท่านเสนกะยืนยันหนักแน่นเช่นเดิม
อะไรกันท่านอาจารย์ มโหสถกุมารอายุเพียงน้อยนิด แต่สามารถตัดสินข้อพิพาทที่ยากถึงเพียงนี้ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านยังจะเห็นว่าเป็นเหตุเล็กน้อยอยู่อีกหรือ พระเจ้าวิเทหราชทรงซัก ด้วยหวังว่าจะได้ฟังคำตอบที่ทรงพอพระหฤทัย
ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่าเล็กน้อยนั้น เพราะคดีตู่อ้างความเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นเพียงคดีธรรมดาที่มิสู้จะมีเงื่อนงำที่เร้นลับแต่อย่างใด บัณฑิตอาศัยปัญญาเพียงเล็กน้อย ก็อาจวินิจฉัยได้ พระเจ้าข้า
เช่นนั้นหรือ ท่านอาจารย์
ใช่แล้วพะยะค่ะ จริงอยู่ มโหสถกุมารอาจเฉลียวฉลาดเกินกว่ากุมารทั่วไป แต่ก็หาได้มีปัญญามากไปกว่าบุรุษผู้เป็นบัณฑิตทั่วไปแต่อย่างใด ฉะนั้น มโหสถกุมารจึงยังไม่สมควรที่จะเรียกว่าเป็นยอดแห่งมหาบัณฑิต พระเจ้าข้า
อืมม..ท่านอาจารย์ ที่ท่านกล่าวมาก็มีเหตุผลอยู่ แล้วถ้าเช่นนั้นเราควรจะทำอย่างไรกันดีละ
คำทูลทัดทานของท่านเสนกะดูจะได้ผลดี พระสุรเสียงของพระองค์เริ่มอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด และมีทีท่าว่าทรงคล้อยตามคำของท่านเสนกะแล้ว
ขอเดชะ ข้าพระบาทเห็นด้วยเกล้าว่า ในเวลานี้ควรที่พระองค์จะต้องรอคอยต่อไปสักหน่อย จึงจะเป็นการดี ครั้นพระองค์ทรงพิจารณาใคร่ครวญ จนทราบแน่ชัดว่า มโหสถผู้นี้มีปรีชาญาณมากน้อยเพียงใด เมื่อนั้นก็สุดแล้วแต่พระองค์จะทรงตัดสินพระหฤทัย พระพุทธเจ้าข้า
ก็ดีเหมือนกัน ท่านอาจารย์ เป็นอันตกลงตามนั้น
รับสั่งเช่นนี้แล้ว ก็ให้ทูตนำพระกระแสรับสั่งกลับไปบอกอำมาตย์ผู้นั้นให้เฝ้าสังเกตดูเหตุการณ์ต่อไปอีก
เรื่องที่ว่าอาจารย์เสนกะจะยินยอมให้มโหสถบัณฑิตเข้ามาสู่พระราชวังโดยง่ายนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะเขารู้ดีว่า นั่นคือเหตุที่จะทำให้รัศมีของเขาและสหายอ่อนแรงโรยแสงลง
ส่วนเหตุการณ์ภายหน้าจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป

8ocdj
07-13-2009, 07:35 PM
ต่อมา ในหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคามนั่นเอง มีสตรีนางหนึ่ง เพิ่งจะคลอดบุตรคนแรกได้เพียงไม่กี่เดือน วันหนึ่งนางทราบข่าวว่ามีการสร้างศาลาหลังใหญ่ขึ้นกลางหมู่บ้าน ก็ปรารถนาจะไปเที่ยวชมให้เพลิดเพลินใจ นางจึงอุ้มลูกน้อยไว้แนบอก มุ่งหน้าไปยังศาลาหลังนั้น ไม่นานนัก ก็เดินทางมาถึงศาลาที่มโหสถดำริสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์แก่มหาชน นางเห็นร่มไม้จึงตรงรี่เข้าไปหาที่นั่งบริเวณใต้โคนไม้นั้นเพื่อนั่งพักให้หายเหนื่อย
นางอุ้มลูกน้อยพลางเย้าหยอกเล่นด้วยความเอ็นดู ครั้นแลเห็นสระโบกขรณีเบื้องหน้าที่เต็มด้วยน้ำใสสะอาด จึงตรงดิ่งเข้าไปใกล้ขอบสระ มือข้างหนึ่งประคองลูกน้อยอย่างระมัดระวัง อีกมือหนึ่งก็ค่อยๆ วักน้ำในสระ ขึ้นลูบตัวทารกน้อยพอให้เย็นสดชื่น จากนั้นนางจึงพับผ้าทำเป็นเบาะปูให้ลูกได้นั่งใต้ร่มไม้ ส่วนตนก็ผละไปล้างหน้าด้วยความสบายอกสบายใจ
ทันใดนั้นเอง ยักษิณีตนหนึ่งซึ่งสิงสถิตอยู่ในราวป่า ถูกความหิวบีบคั้นมานาน เฝ้ารอคอยโอกาสที่จะจับมนุษย์ผู้อ่อนแอกินเป็นอาหาร ครั้นเห็นหญิงนั้นอุ้มลูกน้อยผ่านมาทางที่อยู่ของตน ก็ปรารถนาจะกินทารกนั้นเป็นอาหารจึงติดตามมาจนถึงสระโบกขรณี จ้องหาโอกาสที่จะชิงทารกไป แต่ก็ยังไม่ได้โอกาส เพราะแม้หญิงผู้เป็นมารดาจะเดินไปล้างหน้า แต่สายตาก็ยังชำเลืองแลบุตรน้อยอยู่ตลอดเวลาด้วยความเป็นห่วง
นางยักษิณีจึงตัดสินใจแปลงกายเป็นหญิงชาวบ้าน ทำทีเดินผ่านเข้ามาใกล้ แล้วทักทายขึ้นว่า “โอ...หนูน้อยนี่ช่างน่ารักเสียจริง” พลางถามหญิงผู้เป็นมารดาว่า “นี่เป็นลูกเธอหรือจ๊ะ”
หญิงนั้นก็ตอบว่า “ลูกของฉันเองจ้ะ”
“ช่างเป็นบุญของเธอนะ ที่มีบุตรน่ารักอย่างนี้” นางยักษิณีกล่าวป้อยอ แล้วสาธยายความว่า
“ฉันเองก็เคยมีกับเขาเหมือนกันแหละจ้ะ แต่คงจะไร้วาสนา เพราะไม่ทันไรก็จำต้องพลัดพรากจากกัน ทั้งๆที่ลูกน้อยกำลังน่ารักน่าชมทีเดียว”
“อย่าเสียใจเลยจ้ะ ถึงอย่างไร เธอก็ยังไม่เกินวัยที่จะมีลูกได้อีก มิใช่หรือจ๊ะ” หญิงนั้นกล่าวปลอบใจ
“ก็ถูกของเธอแหละจ้ะ” นางยักษ์ตอบ “แต่ทุกวันนี้ ฉันก็จำต้องอยู่อย่างว้าเหว่ใจ”
นางยักษิณีแสร้งตีสีหน้าเศร้าคล้ายเก็บกดความทุกข์ไว้ในใจ
นิ่งเงียบครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะกล่าวต่อไปว่า “แหม...หนูน้อยนี่ ช่างน่ารักเหลือเกิน ผิวพรรณผุดผ่องเป็นยองใย เนื้อตัวก็อวบอูมแน่น น่าจับน่าอุ้มเสียจริง ขอฉันอุ้มหน่อยเถิดนะ ฉันจะให้แกดื่มนม ท่าจะหิวแล้วกระมัง”
“เชิญเถิดจ้ะ” มารดาเด็กกล่าวอนุญาตด้วยความซื่อ หารู้ไม่ว่าหญิงที่นางกำลังสนทนาอยู่ด้วยมิใช่หญิงธรรมดา แท้ที่จริงเป็นยักษิณีจำแลงมา
พอมารดาเด็กออกปากอนุญาตเท่านั้น นางยักษิณีก็รีบคว้าทารกด้วยมือทั้งสอง ชูทารกขึ้นจนสุดแขน เด็กน้อยเมื่อถูกยักษิณีอุ้มก็ร้องไห้งอแง เพราะร่างน้อยบอบบางเกินกว่าที่จะทานทนต่อพละกำลังของนางยักษิณีได้
หญิงผู้เป็นมารดายังมิทันเอะใจ เพราะคิดว่าเป็นธรรมดาของลูกที่ไม่คุ้นกับมือของหญิงอื่น นางจึงแค่หันมามองดูหน่อยหนึ่ง แล้วก็ลงไปในสระน้ำล้างหน้าล้างตาต่อไป
ยักษิณีหยอกเย้าทารกเล่นครู่หนึ่ง เห็นมารดาเด็กยังก้มหน้าก้มตาล้างหน้าอยู่ ก็รีบฉวยทารกนั้นวิ่งหนีไปโดยเร็ว
มารดาเด็กเห็นลูกน้อยถูกชิงไปต่อหน้าต่อตา ก็ตกใจสุดขีด ไม่รอช้ารีบขึ้นจากสระแล้ววิ่งกวดตามไปอย่างไม่คิดชีวิต
ในที่สุดก็คว้าผ้านุ่งของนางยักษิณีไว้ได้ พลางตวาดถามอย่างไม่เกรงใจว่า “เอ็งจะพาลูกข้าไปไหน ขอข้าอุ้ม ข้าก็ให้อุ้มเพราะเห็นใจ แล้วนี่ยังจะมาชิงลูกข้าไปอีก”
“แน่ะ หญิงถ่อย ดูซิหน้าไม่อาย อยู่ๆ ก็มาตู่เอาลูกเขาเสียอย่างนั้นแหละ ลูกของเอ็งที่ไหนกัน ลูกของข้าต่างหาก” นางยักษิณีตอบสวนทันควัน
“หน็อยแน่ะ นางขี้ตู่ จู่ๆก็มาว่าเป็นลูกของตัว แล้วยังมีหน้ามาว่าเจ้าของเขาอีก เอาลูกของข้ามานะ” มารดาเด็กเถียงไม่ลดละ
“ข้าไม่ให้! ลูกของข้าต่างหาก ลูกของแกเสียเมื่อไหร่ล่ะ” นางยักษ์จำแลงยืนกราน
ทั้งสองนางต่างทะเลาะโต้เถียงกัน ตะโกนด่าทอกันจนสุดเสียงตามประสาหญิง เดินติดตามยื้อยุดกันไปจนถึงประตูศาลา มโหสถบัณฑิตได้ยินเสียงหญิงทั้งสองทะเลาะกันมาแต่ไกล ก็ออกมาที่หน้าศาลาให้คนเรียกเข้ามา ถามว่า “เธอทั้งสองทะเลาะกันด้วยเรื่องอะไร”

มโหสถบัณฑิตจะตัดสินความอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

8ocdj
07-14-2009, 09:05 PM
ทั้งสองนางต่างทะเลาะโต้เถียงกันจนสุดเสียง เดินติดตามยื้อยุดกันไปจนถึงประตูศาลา มโหสถบัณฑิตได้ยินเสียงหญิงทั้งสองทะเลาะกันมาแต่ไกล ก็ออกมาที่หน้าศาลาให้คนเรียกเข้ามาถามว่า เธอทั้งสองทะเลาะกันด้วยเรื่องอะไร หญิงทั้งสองต่างแย่งกันตอบอย่างไม่ฟังเสียง
มโหสถกุมารจึงต้องห้ามปรามว่า ช้าก่อนนางผู้เจริญ ขอให้นางพูดทีละคนจะได้ไหม พวกเธอแย่งกันพูดอย่างนี้ เราจะรู้เรื่องได้อย่างไรละ
ครั้นแล้วก็ให้โอกาสนางยักษิณีกล่าวก่อน ให้หญิงผู้เป็นมารดาเด็กซึ่งอ่อนกว่ากล่าวทีหลัง
ทันทีที่ยักษิณีกล่าวจบ หญิงผู้เป็นมารดาได้ฟังคำให้การเท็จของยักษิณี ก็ให้แค้นใจยิ่งนัก สุดที่จะกลั้นน้ำตาไว้ได้ นางกล่าวตอบด้วยน้ำเสียงสะอึกสะอื้น เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจาก มโหสถ
ครั้นต่างฝ่ายต่างยืนยันว่าตนเป็นมารดาของเด็ก อีกฝ่ายหนึ่งก็ตู่ว่าเป็นลูกของตน มหาชนที่มาห้อมล้อมมุงดูกันอยู่ในที่นั้นก็ยิ่งเกิดความสงสัยและใคร่จะทราบคำตอบ
มโหสถได้ฟังความนั้นแล้ว จึงพิเคราะห์จากรูปการณ์ ก็พอจะทราบว่า หญิงใดเป็นมารดาของเด็ก หญิงใดเป็นผู้กล่าวตู่และครั้นพินิจดูนางยักษิณีในระยะใกล้ ก็เห็นว่ามีลักษณะผิดแผกจากคนธรรมดาทั่วไป คือ นางมีนัยน์ตาแดงก่ำ ไม่กระพริบ ไร้ซึ่งแววตา และปราศจากเงาตัว มโหสถจึงรู้ได้ทันทีว่า หญิงนี้เป็นนางยักษิณีจำแลงแปลงกายมาอย่างแน่นอน
แต่เพื่อจะทำความกระจ่างให้ปรากฏในที่นั้น จึงถามหญิงทั้งสองว่า
หากเราจะตัดสินให้ เจ้าทั้งสองจะยอมรับฟังคำวินิจฉัยของเราโดยดีหรือไม่
ทั้งคู่ต่างรับว่ายอม และจะตั้งอยู่ในคำวินิจฉัยของมโหสถทุกประการ
แต่เพื่อจะคลี่คลายข้อพิพาทนี้ให้มหาชนได้ประจักษ์ มโหสถจึงได้ให้คนขีดเส้นบนพื้น ให้วางทารกน้อยตรงกลางระหว่างเส้นนั้น แล้วให้นางยักษิณีจับด้านมือทั้งสองของเด็ก
ส่วนมารดานั้นให้จับเท้าทั้งสองเอาไว้ พลางบอกว่า
เจ้าทั้งสองจงฟัง เด็กน้อยนี้เป็นของกลาง ใครแย่งได้จงแย่งเอา หากใครดึงเด็กพ้นไปจากเส้นที่ขีดไว้ได้ แล้วเลื่อนเข้าไปทางฝ่ายตนได้มากกว่า จะถือว่าเด็กเป็นลูกของผู้นั้น และหญิงนั้นก็จะได้ลูกของตนไป
ครั้นแล้วก็ให้สัญญาณบอกเวลาเริ่มต้น หญิงทั้งสองต่างออกแรงดึงเด็กน้อยจนสุดกำลัง ฝ่ายหนึ่งดึงด้วยแรงปรารถนาจะกินเป็นอาหาร ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ยื้อไว้ด้วยแรงรักบุตรที่เกิดจากอุทร
ครั้นเด็กน้อยถูกชักเย่อไปมาเช่นนั้น ก็เป็นเหมือนตุ๊กตาที่แขน ขา และลำตัวกำลังจะหลุดขาดออกจากกัน จึงส่งเสียงร้องไห้จ้าเพราะทนความเจ็บปวดไม่ไหว
เสียงร้องของบุตรผู้เป็นที่รักดั่งดวงตาดวงใจ ช่างเป็นเสียงที่มีอำนาจยิ่งนัก ได้บีบคั้นหทัยของผู้เป็นมารดาจนแทบจะแหลกสลายลง มารดาของเด็ก เมื่อได้ยินเสียงร้องระงมของลูกน้อย จิตใจของนางก็อ่อนไหวเกินกว่าที่จะทนฟังเสียงร้องนั้นได้
นางจึงจำใจต้องหยุดดึง ยอมปล่อยให้ยักษิณีดึงลูกของตนไปฝ่ายเดียว แล้วก็ได้แต่ทอดถอนใจ ยืนร้องไห้ฟูมฟาย ปิ่มว่าจะขาดใจ
มโหสถถามฝูงชนที่มามุงดูกันอย่างเนืองแน่นว่า
ท่านทั้งหลาย ธรรมดาจิตใจของหญิงผู้เป็นมารดา กับหญิงผู้มิใช่มารดา ใครกันเล่าจะมีจิตอ่อนโยนโอนไหวไปตามอาการของลูก ของมารดาหรือของผู้มิใช่มารดา
ใจของมารดาสิ พ่อมโหสถ ถึงอย่างไร มารดาก็ย่อมจะอ่อนไหวไปตามอาการของลูกเสียงหนึ่งดังขึ้นท่ามกลางฝูงชน ทุกๆคนที่ห้อมล้อมอยู่ในที่นั้น ต่างก็รับพร้อมกันว่า ใช่ ใช่
มโหสถจึงกล่าวสรุปให้มหาชนได้ข้อคิด ว่า
ใช่แล้ว มารดาชื่อว่ารักบุตรอย่างสุดจิตสุดใจ ถึงคราวบุตรอยู่ดีมีสุข มารดาก็พลอยแช่มชื่นเบิกบานไปด้วย แต่ครั้นบุตรมาเจ็บไข้ได้ป่วย ใจของมารดาก็เป็นทุกข์ร้อน ไม่สบายกายไม่สบายใจไปด้วย และดูเหมือนว่าจะทุกข์ยิ่งกว่าที่บุตรได้รับเสียด้วยซ้ำ และยิ่งมารดามีความรักบุตรมากเพียงใด ก็ยิ่งจะทวีความเศร้าโศกให้เพิ่มมากขึ้นเพียงนั้น
เมื่อมโหสถเห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่นั้นเริ่มเข้าใจนัยยะแล้วจึงนำเข้าสู่ประเด็นของเรื่องเมื่อสักครู่
แล้วบัดนี้ ท่านทั้งหลาย เห็นปรากฏเป็นเช่นไร
มโหสถซัก
ท่านทั้งหลายเห็นว่า ใครควรจะเป็นแม่ที่แท้จริงของเด็กน้อยกันเล่า หญิงที่แย่งไปได้ หรือหญิงที่ปล่อยเด็กแล้วยืนร้องไห้ฟูมฟายอยู่นั่น
หญิงที่ปล่อยเด็กแล้วยืนร้องไห้นั่นแหละเป็นมารดาเด็ก ฝูงชนกล่าวตอบเป็นเสียงเดียวกัน
ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายทราบชัดแล้วหรือยังว่าหญิงที่ได้เด็กไปเป็นผู้อ้างสิทธิ์ในทารกนั้นอย่างเลื่อนลอย
ข้อนั้นไม่อาจทราบชัด พวกเรายังไม่อาจตัดสินเช่นนั้นได้ พวกเราทราบแต่เพียงว่า หญิงนั้น คงไม่ใช่มารดาของเด็กแน่นอน
แน่ละ นางคนนี้มิใช่หญิงมนุษย์ดอก นางจะเป็นมารดาของเด็กได้อย่างไรกัน
มโหสถพูดพลางชี้มือไปที่นางยักษ์จำแลง
เพราะนางเป็นยักษิณีจะแย่งชิงเอาเด็กน้อยไปกินเป็นอาหาร
นางยักษ์ได้ยินเข้าเช่นนั้นก็สะดุ้งเฮือก ลดสายลงต่ำมิอาจสบตากับผู้คนได้
แต่นางจะยินยอมคืนเด็กให้แต่โดยดีหรือไม่นั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

8ocdj
07-15-2009, 09:00 PM
“ใจของมารดาสิ พ่อมโหสถ ถึงอย่างไร มารดาก็ย่อมจะอ่อนไหวไปตามอาการของลูก”
เสียงหนึ่งดังขึ้นท่ามกลางฝูงชน ทุกๆคนในที่นั้น ต่างก็รับพร้อมกันว่าใช่ มโหสถจึงชี้มือไปที่นางยักษ์จำแลง แล้วเอ่ยถามนางยักษ์ตรงๆว่า
“เจ้าเป็นใคร”
“ฉันเป็นยักษิณี” นางยักษ์สารภาพตามความจริง เนื่องเพราะจำนนต่อเหตุผล
ฝูงชนที่พากันมารับฟังคำวินิจฉัยของมโหสถในที่นั้น ต่างพากันแตกตื่นแล้วซักถามกันดังเซ็งแซ่ “มโหสถ พ่อรู้ได้อย่างไรละ”
“ก็หญิงนี้มีลักษณะอาการบางอย่างผิดแปลกจากคนทั่วไป” "มโหสถตอบ"
"แตกต่างกันอย่างไรเล่า พ่อ”
“ดูซิ คนอะไรกัน ตาแข็งไม่กระพริบเลย นัยน์ตาเล่าก็สีแดงก่ำ ซ้ำยังไม่มีเงาตัวเสียอีก”
มโหสถอธิบาย
“มารดาที่ไหนเล่าจะมีจิตใจเหี้ยมโหดผิดมนุษย์ได้ถึงเพียงนี้”
นางยักษิณีรู้ว่าเขารู้ทันตนแล้ว ก็ตกใจนิ่งเฉย รอดูท่าทีว่ามโหสถจะกล่าวอย่างไรต่อไป
“ก็เจ้าจะเอาเด็กนี้ไปทำไม”
“ฉันจะเอาไปกินให้หายอยาก”
นางยักษ์ก้มหน้าตอบ
“โอ! เจ้านี่ช่างร้ายกาจมากทีเดียวนะ นางยักษ์อันธพาล” มโหสถกล่าวข่มให้นางยักษิณีได้คิด
เจ้าไม่เคยได้สำนึกตนบ้างเลยว่า เหตุใดเจ้าถึงต้องมาเกิดเป็นยักษิณีเช่นนี้ เจ้าไม่รู้เลยหรือว่า นี่เป็นเพราะผลแห่งบาปที่เจ้าได้กระทำไว้แต่ชาติปางก่อน บีบคั้นให้ต้องกระทำบาปอย่างไม่รู้จบสิ้น
นางยักษิณีเริ่มสงบนิ่ง กิริยาอาการเริ่มอ่อนลง ฟังมโหสถ
มโหสถเห็นนางนิ่งเงียบ ก็พูดเบาๆด้วยน้ำเสียงเมตตาว่า
“เจ้าก็รู้มิใช่หรือว่า ไม่ว่าใครก็ล้วนแต่รักชีวิตของตัว หวงแหนทรัพย์สมบัติของตัว นี้เป็นธรรมดา เจ้าพรากลูกจากอ้อมอกของนาง ก็เท่ากับพรากชีวิตนางไป เจ้าทำเช่นนี้ สมควรแล้วหรือ หากเจ้ายังคิดจะทำกรรมอันชั่วช้าต่อไปอีก เมื่อไรเล่า เจ้าจึงจะพ้นจากกำเนิดยักษิณีนี้ได้ เจ้าไม่รักตนเองบ้างเลยหรือ”
สิ้นเสียงของมโหสถ นางยักษิณีก็ตัดสินใจคืนเด็กน้อย ให้กับหญิงผู้เป็นมารดา แล้วยืนนิ่งเงียบอยู่ในที่นั้น นางปล่อยใจใคร่ครวญตามคำของมโหสถ ก็เห็นจริงตามนั้นทุกสิ่ง ครั้นยิ่งคิดก็ยิ่งละอายแก่ใจ เกิดความรันทดอดสูใจในการกระทำของตัวยิ่งนัก
มโหสถเห็นอาการเศร้าซึมของนาง ก็ทราบว่า นางคงรู้สำนึกขึ้นมาแล้ว จึงได้ให้โอวาทต่อไปว่า “ต่อแต่นี้ไป เจ้าจงสมาทานเบญจศีลเถิดนะ แล้วพึงตั้งใจรักษาให้บริสุทธิ์ไปจนตลอดชีวิต ขอให้เจ้าพึงสำเหนียกไว้ในใจเสมอว่า เราจักเว้นจากการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เจ้าจะทำได้ไหมล่ะ” มโหสถถามความตั้งใจของนาง
นางยักษิณีใคร่ครวญว่า “ชาติกำเนิดยักษิณีที่เป็นอยู่นี้ ก็ต่ำทรามมากพอแล้ว ไม่ควรเลยที่จะมาซ้ำเติมตนเองให้ตกต่ำในชาติต่อไปอีก”
เมื่อคิดดังนี้แล้ว ในที่สุด จึงตัดสินใจรับปากมโหสถว่า “ฉันจะทำล่ะพ่อ”
“ดีแล้ว ศีลนี้แหละจักพาให้เจ้าประสบแต่ความสุข จงรักษาไว้ให้มั่นคงเถิด”
ครั้นมโหสถได้ให้โอวาททิ้งท้ายแล้ว จึงได้ปล่อยตัวนางไป
ฝ่ายมารดาของเด็กครั้นได้ลูกน้อยกลับคืนมา ก็ดีใจอย่างที่สุด พร่ำรำพันถึงพระคุณของ มโหสถทั้งน้ำตา ราวกับว่าได้รับการชุบชีวิตลูกของนางให้กลับคืนมาอีกครั้ง เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย จึงได้พาลูกน้อยกลับสู่เรือนของตน
กล่าวถึงพระเจ้าวิเทหราช เมื่อทูตนำสารกราบทูลเรื่องจบลง พระองค์ถึงกับทรงเปล่งพระอุทานขึ้นว่า
“พ่อบัณฑิตน้อยของฉัน ช่างหลักแหลมเสียจริง ไยจึงสามารถขบคิดข้อวินิจฉัยที่ลึกซึ้งและแยบยลได้ถึงเพียงนี้ ควรแล้วที่เราจะรับตัวเจ้ามาเสียที”
ตรัสพระอุทานวาจาดังนี้แล้ว ก็ผินพระพักตร์มาทางท่านเสนกะ ท่านเสนกะทราบทันทีว่าพระองค์จะตรัสสิ่งใดต่อไป จึงคิดว่า
“...หากตนจะกราบทูลทัดทานอย่างเลื่อนลอย ก็จักเป็นเหตุให้ทรงขุ่นเคืองพระทัยได้ จึงคิดหาช่องทางที่แยบคายกว่านั้น เพื่อจะกราบทูลประวิงพระองค์ไว้ให้ได้”
จึงกราบทูลว่า
ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงรอก่อนเถิด พระพุทธเจ้าข้า
ท่านเสนกะรีบทัดทานไว้เพราะความตระหนี่ในลาภยศมาปิดบังใจ
ท่านว่าอย่างไรนะ ยังไม่ถึงเวลาอย่างนั้นหรือ
เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า ท่านเสนกะยืนยันหนักแน่น
ขอเดชะ ในเรื่องการสอบสวนคดีนางยักษิณีนั่น แม้จะเป็นคดีที่ซ่อนเงื่อนอยู่ก็จริง แต่เงื่อนสำคัญในการวินิจฉัย ไม่มีอะไรพิเศษเลย นอกจากจะดูว่าใครปล่อยเด็กก่อนถ้าสมมุติว่ายักษิณีนั้นมีปัญญาสักหน่อย หากนางแกล้งปล่อยเสียบ้าง แล้วคราวนี้จะเอาอะไรเป็นเงื่อนต่อไป แต่เพราะนางยักษิณีนั่น ไร้เสียซึ่งปฏิภาณ เพราะความหิวมาบีบคั้นจนบดบังดวงปัญญา ดังนั้นจึงตกเป็นเครื่องประกาศปัญญาของผู้มีปัญญามากกว่า ควรหรือที่พระองค์จะยกย่องว่าบุคคลนั้นมีปัญญามาก เพียงเพราะถือเอาคนโง่เป็นมาตรวัด พระเจ้าข้า
พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับเหตุผลของอาจารย์เสนกะแล้ว ก็ทรงเข้าพระทัยตามที่เขาประสงค์ พระองค์รู้ว่าอย่างไร ท่านเสนกะก็จะต้องทูลให้ทรงรอดูก่อน จึงตรัสกับทูตนำสารว่า
“เจ้าจงกลับไปบอกอำมาตย์ผู้นั้นให้เฝ้าดูเหตุการณ์ต่อไปเถิด”
วันนี้ไม่สบายมาก ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อเหมือนจะติดเชื้อหวัด 2009 ถ้าพรุ่งนี้อาการไม่ดีขึ้นคงต้องของดสักวันสองวัน ขออนุโมทนากับท่านที่ติดตามอ่าน /- ลุงโจ

8ocdj
07-16-2009, 08:31 PM
คิดว่าจะของดสักวันแต่พอมาเปิดดูเห็นว่าจำนวนผู้เข้าอ่านมาก ก็พยายามลงต่ออีก ประกอบกับอาการปวดหัวทุเลาลงมาก พอมีกำลังทำได้ และเชิญพบกับตอนต่อไป
ในกาลต่อมา มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อโคฬกาฬ เป็นคนรูปร่างต่ำเตี้ยคล้ายคนแคระ มีผิวดำดุจสีหมึก ซ้ำยังเป็นคนจนขัดสนทรัพย์เสียอีก
ชายหนุ่มถูกฤทธิ์รักกลุ้มรุมจิตไปตกหลุมรักสาวงามนางหนึ่งชื่อ ทีฆตาลา ซึ่งอันที่จริงควรกล่าวว่าเป็นเหวรักอันลึกเสียมากกว่า เนื่องด้วยความรักของนายโคฬกาฬเป็นรักข้างเดียว เพราะเป็นคนขี้เหร่ ไร้เสียซึ่งรูปสมบัติ
เมื่อเทียบกับนางทีฆตาลาแล้ว ก็ผิดกันราวฟ้ากับดิน เพราะนางเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความงามเฉกเช่นหญิงชนบทกัลยาณี แม้มิใช่ธิดามหาเศรษฐีแต่ก็เป็นหญิงมีตระกูล
อานุภาพแห่งรักนั้น อาจดลบันดาลได้ทุกอย่าง มีอำนาจกุมชะตาของบุรุษผู้ตกอยู่ในห้วงรัก ให้สามารถกระทำสิ่งใดก็ได้ เพื่อให้ได้ครอบครองหญิงที่ตนรัก
นายโคฬกาฬก็เช่นกัน ในยามที่ความรักงอกงามก็หอมกรุ่นดุจกุหลาบสีชมพูแรกแย้ม แต่ครั้นมองไม่เห็นทางที่จะได้ครอบครองนางทีฆตาลา จึงได้ยอมมอบกายถวายตัวให้กับบิดามารดาของนาง สุดแต่เขาจะใช้สอย งานหนักก็เอางานเบาก็สู้
ยิ่งนานวันความดีของนายโคฬกาฬก็เริ่มปรากฏให้ได้ชื่นชมผลแห่งความเพียร ในที่สุดเมื่อครบ ๗ ปี บิดามารดาของนางทีฆตาลาเมื่อยังมองไม่เห็นใครอื่นที่จะสามารถเลี้ยงดูบุตรสาวแทนตนได้ จึงตัดสินใจยกนางทีฆตาลาให้กับนายโคฬกาฬ
นางทีฆตาลาจึงอยู่ในภาวะจำยอม ต้องอยู่กินกับนายโคฬกาฬอย่างไม่สู้เต็มใจนัก
ครั้นนายโคฬกาฬได้นางทีฆตาลามาเป็นคู่ครองสมดังความปรารถนา ก็เฝ้าทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงนางด้วยดีดั่งไข่ในหิน ไม่ว่านางปรารถนาสิ่งใด ต่อให้ต้องลำบากสักเพียงใด นายโคฬกาฬก็จะต้องจัดหามาเพื่อนางเสมอมิได้ขาด
กระทั่งวันหนึ่ง นายโคฬกาฬเรียกภรรยามากล่าวว่า “ฉันจะไปเยี่ยมบิดามารดา”
นางก็กล่าวบ่ายเบี่ยงว่า“บิดามารดาของพี่ท่านไม่ได้เจ็บป่วยอะไรแล้วพี่จะไปหาท่านทำไม”
แต่ไม่ว่าภรรยาจะบ่ายเบี่ยงเลี่ยงความอย่างไร นายโคฬกาฬก็ยังคงประสงค์จะไปเยี่ยม บิดา/มารดาอยู่ดี เมื่อนางเตรียมสิ่งของเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายโคฬกาฬจึงถือเอาเสบียงและของฝากเดินทางไปกับภรรยา ในระหว่างทางได้เห็นแม่น้ำสายหนึ่ง ซึ่งมีกระแสน้ำไหลแต่ไม่ลึกนัก แต่สองสามีภรรยานั้นเป็นคนขลาด จึงไม่กล้าลงไป ได้แต่ยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ
เวลานั้น มีชายเข็ญใจคนหนึ่งชื่อทีฆปิฏฐิ (ที-ฆะ-ปิด-ฐิ) เดินเลียบมาตามฝั่งแม่น้ำมาถึงสถานที่นั้น สามีภรรยาเห็นชายนั้นจึงถามว่า แม่น้ำนี้ลึกหรือตื้นล่ะเพื่อน
ครั้นได้ฟังดังนั้นพร้อมทั้งได้เห็นท่าทางของเขาทั้งสอง นายทีฆปิฏฐิก็รู้ว่า สองสามีภรรยานั้นไม่กล้าลงน้ำ จึงตอบไปว่า แม่น้ำนี้ลึกเหลือเกิน และอาสาพาสองสามีภรรยาข้ามแม่น้ำไป
ลำดับนั้น สองสามีภรรยาจึงแบ่งอาหารและขนมให้แก่ชายคนนั้น เขาบริโภคอิ่มแล้วจึงถามว่า “เพื่อนจะให้เราพาใครไปก่อนละ”
นายโคฬกาฬตอบว่า “จงพาภรรยาฉันไปก่อนเถิด แล้วจึงค่อยกลับมาพาเราไปทีหลัง”
นายทีฆปิฏฐิรับคำแล้ว ก็ให้นางทีฆตาลาขึ้นขี่หลัง ถือเสบียงและของฝากทั้งหมดลงข้ามแม่น้ำ พอไปได้หน่อยหนึ่งก็แกล้งย่อตัวเพื่อแสดงให้นายโคฬกาฬเห็นว่าน้ำลึก แต่ครั้นพานางทีฆตาลาไปถึงกลางแม่น้ำ ก็พูดเกี้ยวว่า “ฉันจะเลี้ยงดูเธออย่างดี จะไม่ให้เธอต้องลำบากกายใจ ทั้งเสื้อผ้าและเครื่องประดับจะหาให้ จะมีทาสหญิงทาสชายคอยแวดล้อมรับใช้ นายโคฬกาฬตัวเตี้ยนั้น จะบำรุงเลี้ยงดูอะไรเธอได้ เธอมาอยู่กับฉันเถิด” นางทีฆตาลาได้ฟังคำหวานของนายทีฆปิฏฐินั้นไม่กี่คำ ก็ตัดรักจากสามีของตน เทคะแนนรักให้แก่นายทีฆปิฏฐิผู้ที่ตนเพิ่งเห็นได้เพียงครู่เดียว จึงกล่าวตอบไปว่า
“ถ้าพี่ไม่ทิ้งฉัน ฉันจะทำตามคำของพี่ทุกอย่าง”
นายทีฆปิฏฐิกล่าวว่า “เธอพูดอะไร ฉันจะเลี้ยงดูอย่างดี อย่ากังวลเลย”
เมื่อคนทั้งสองนั้นไปถึงฝั่งโน้น ก็แสดงความชื่นชมยินดีต่อกัน ละทิ้งนายโคฬกาฬเสีย พากันเคี้ยวกินขนมต่อหน้านายโคฬกาฬซึ่งชะเง้อคอรออยู่ที่ฝั่งนี้ด้วยหัวใจแสนรันทดหดหู่เมื่ออิ่ม หน่ำดีแล้วทั้งคู่ก็พากันเดินจากไป ฝ่ายนายโคฬกาฬเมื่อรู้ตัวว่า คราวนี้ตนถูกภรรยาทิ้งแน่ แล้ว
นายโคฬกาฬ เมื่อรู้ว่าตนถูกหลอกพาภรรยาหนีไปต่อหน้าต่อตาเช่นนั้น ก็เร่าร้อนใจตะโกนก้องว่า “พวกแกจะพากันหนีไปไหน คอยข้าด้วย กลับมารับข้าก่อน” ได้แต่วิ่งกลับไปกลับมาบนฝั่งอยู่อย่างนั้น
เมื่อนึกถึงภรรยาสุดที่รักที่กำลังถูกชิงตัวไป จึงรีบวิ่งลงไปในน้ำไปได้หน่อยหนึ่งก็กลับขึ้นมาอีกเพราะความกลัว ครั้นรวบรวมความกล้าได้อีกครั้ง ก็รีบวิ่งลงไปในแม่น้ำอีกหนด้วยความโกรธ กระโจนลงไปด้วยปลงใจว่าจะเป็นหรือตายก็ช่างเถิด ขอเพียงให้ได้ภรรยาคืนมา
เมื่อลงไปในแม่น้ำเข้าจริงๆ ถึงรู้ว่าน้ำตื้น จึงรีบวิ่งลุยตะกุยตะกายข้ามแม่น้ำติดตามไปโดยเร็ว พอทันคนทั้งสองเข้าจึงตะโกนด่าว่า “นี่แน่ะ อ้ายโจรร้าย แกจะพาเมียข้าไปไหน”
นายทีฆปิฏฐิกล่าวตอบว่า “แน่ะ อ้ายถ่อยแคระเตี้ย เมียแกที่ไหนเล่า เมียข้าต่างหาก”
กล่าวดังนี้แล้วก็เอามือผลักนายโคฬกาฬให้ล้มกลิ้งไป
นายโคฬกาฬรีบลุกขึ้นจับมือนางทีฆตาลาแล้วกล่าวว่า “เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวๆ นี่เธอจะไปไหน ฉันทำงานมาถึง ๗ ปี จึงได้เธอมาเป็นเมีย แล้วเธอจะมาหนีฉันไปดื้อๆ ทำอย่างนี้จะได้ไง”
ยื้อแย่งอยู่กับภรรยาของตน ทั้งเดินทะเลาะไปกับนายทีฆปิฏฐิ จนมาถึงที่ใกล้ศาลาของมโหสถบัณฑิต
มโหสถบัณฑิตจึงถามมหาชนที่มาประชุมกันฟังธรรมอยู่ในที่นั้นว่า “นั่นเสียงอะไรกัน”
สดับความนั้นแล้วจึงให้เรียกคนทั้งสองเข้ามา ได้ฟังวาจาที่โต้ตอบกันแล้ว จึงกล่าวว่า
“เราจะวินิจฉัยความให้ เจ้าทั้งสองจะตั้งอยู่ในคำตัดสินของเราหรือไม่”
อ่านต่อพรุ่งนี้ ครับ

8ocdj
07-18-2009, 09:44 PM
ขออภัยที่เว้นไปวันหนึ่ง ก็ไม่ค่อยจะสบายครับ
ครั้นคนทั้งสองแสดงความจำนงยอมรับการพิจารณาความ มโหสถบัณฑิตจึงเอ่ยถามนายทีฆปิฏฐิก่อนว่า “เจ้าชื่ออะไร”
“ข้าพเจ้าชื่อทีฆปิฏฐิ” เขาบอกชื่อของเขาตามความจริง
“ภรรยาของเจ้าชื่ออะไร” เมื่อยังไม่รู้จักชื่อของนาง นายทีฆปิฏฐิก็บอกชื่อที่ตนนึกขึ้นได้ในขณะนั้น
“พ่อแม่ของเจ้าชื่ออะไร” นายทีฆปิฏฐิก็บอกชื่อพ่อ/แม่ของตน
“พ่อแม่ของภรรยาของเจ้าละ ชื่ออะไร”
เมื่อยังไม่รู้จัก นายทีฆปิฏฐิก็บอกชื่อคนอื่นแทนเรื่อยไป
ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงให้คนของตนบันทึกถ้อยคำนั้นไว้ แล้วให้นายทีฆปิฏฐิออกไป ให้เรียกนายโคฬกาฬเข้ามา ถามชื่อของคนทั้งปวงโดยนัยก่อน
นายโคฬกาฬรู้จักคนทั้งหมดเป็นอย่างดี ก็บอกไปตามความเป็นจริง
ครั้นแล้ว มโหสถบัณฑิตก็ให้นายโคฬกาฬออกไป ให้เรียกนางทีฆตาลามาถามว่า เธอชื่ออะไร
“ฉันชื่อทีฆตาลา” เธอกล่าว
“สามีของเธอชื่ออะไร” เมื่อยังไม่รู้จัก นางทีฆตาลาจึงบอกชื่อคนอื่นแทน
“พ่อแม่ของเธอชื่ออะไร” นางทีฆตาลาก็บอกชื่อพ่อชื่อแม่ของเธอตามเป็นจริง
“พ่อแม่ของสามีของเธอละ ชื่ออะไร” เมื่อยังไม่รู้จักชื่อ นางทีฆตาลาก็บอกชื่อคนอื่นแทน
มโหสถบัณฑิตให้เรียกนายทีฆปิฏฐิและนายโคฬกาฬมาแล้วถามมหาชนว่า
“ถ้อยคำของนางทีฆตาลาตรงกันกับคำของนายทีฆปิฏฐิ หรือว่าตรงกับคำของนายโคฬกาฬ”
มหาชนตอบว่า “ถ้อยคำของนางทีฆตาลาตรงกับคำของนายโคฬกาฬ”
มโหสถบัณฑิตจึงกล่าวว่า “นายโคฬกาฬเป็นสามีของนางทีฆตาลา นายทีฆปิฏฐิเป็นโจร”
ครั้นแล้วจึงถามนายทีฆปิฏฐิว่า “เจ้าเป็นโจรใช่ไหม”
นายทีฆปิฏฐิจึงต้องรับสารภาพว่าตนเป็นโจร
นายโคฬกาฬเมื่อได้ภรรยาของตนกลับคืนมา ก็ดีใจเหมือนดังว่าได้นางแก้วกลับคืน เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของมโหสถบัณฑิตเป็นอย่างยิ่ง ได้กล่าวชื่นชมมโหสถบัณฑิตอย่างมากมาย แล้วก็พาภรรยากลับไป
จากนั้นมโหสถบัณฑิตก็ได้กล่าวเตือนนายทีฆปิฏฐิว่า “จำเดิมแต่นี้ไปเจ้าอย่าทำอย่างนี้อีก” ครั้นให้โอวาทเสร็จแล้วจึงปล่อยตัวไป
ฝ่ายอำมาตย์ผู้เฝ้าดูเหตุการณ์อยู่โดยตลอด ได้ให้ทูตส่งสาส์นทูลเรื่องนี้แด่พระราชาตามความเป็นจริง พระเจ้าวิเทหราชครั้นได้สดับเรื่องทั้งหมดแล้ว ก็ตรัสถามเสนกปุโรหิตว่า “ท่านอาจารย์เสนกะ เราควรนำบัณฑิตนั้นมาได้หรือยัง”
อาจารย์เสนกะทูลว่า “ข้าแต่มหาราช คดีเรื่องนายโคฬกาฬใคร ๆ ก็วินิจฉัยได้ บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขอให้ทรงรอไปก่อนเถิด”
อุปนิสัยแห่งความเป็นคนตระหนี่ อิจฉาริษยาเริ่มปรากฏอย่างชัดเจนกับอาจารย์เสนกะ
ช่วงแรกก็พรรณนาคุณของพระโพธิสัตว์มากมาย แต่ภายหลังเกรงว่าตนจะหมดความสำคัญ จึงคิดกีดกันพระโพธิสัตว์ไปเสียทุกเรื่อง
อุปนิสัยอิจฉาริษยานี้ มีวิบากกรรม คือเมื่อไปเกิดในชาติต่อไปจะทำให้เป็นคนอาภัพ อับวาสนา มียศศักดิ์น้อยด้อยราคาจะแก้ได้ก็ด้วยการแสดงมุทิตาพลอยยินดีกับผู้อื่นที่เขาได้ดีมีสุข จึงควรรีบแสดงความยินดีต่อผู้อื่นในทันทีที่เขาประสบความสำเร็จ อย่าทันให้ความริษยาเข้าครองใจ
นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแห่งการสร้างปัญญาบารมีของมโหสถบัณฑิตเท่านั้น ยังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงสติปัญญาอันชาญฉลาดของพระโพธิสัตว์ อีกทั้งความเป็นไปทั้งหมดก็อยู่ในสายพระเนตรของพระราชาตลอด
พระเจ้าวิเทหราชครั้นได้สดับเรื่องการตัดสินคดีความทั้งหมดแล้ว ก็ทรงปลื้มพระทัยตรัสถามเสนกะปุโรหิตว่า ท่านอาจารย์ เราควรนำบัณฑิตนั้นมาได้หรือยัง
อาจารย์เสนกะทูลว่า คดีเรื่องนายโคฬกาฬใครก็วินิจฉัยได้ บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขอให้ทรงรอไปก่อน
ในกาลต่อมา ท้าวสักกเทวาธิราช จอมเทพผู้เป็นใหญ่ในภพดาวดึงส์ ทรงตรวจตราดูโลกมนุษย์ด้วยทิพยเนตร ทราบว่า พระโพธิสัตว์ซึ่งมาบังเกิดเป็นกุมาร ในหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม แคว้นมิถิลา แห่งวิเทหรัฐในครั้งนั้น
เธอได้นามว่า มโหสถกุมาร บัดนี้เจริญวัยได้ ๗ ขวบแล้ว ท้าวเธอจึงดำริว่า“พระโพธิสัตว์พระองค์นี้เป็นผู้เปี่ยมด้วยบุญญาธิการไม่มีผู้เปรียบปาน แม้นพระปรีชาญาณของพระองค์ก็ล้ำเลิศสุดจะประมาณ บัดนี้เป็นโอกาสดียิ่ง สมควรที่เราจักได้ประกาศปัญญานุภาพของพระองค์ให้ปรากฏขจรขจายไปทั่วทุกทิศ”

8ocdj
07-19-2009, 08:22 PM
ก่อนที่จะเล่าถึงตอนท้าวสักกเทวาธิราชแปลงกายลงมาเป็นคนเข็ญใจเพื่อทดสอบปัญญาท่านมโหสถ ขอทำความเข้าใจก่อนว่า การแสดงปัญญาของมโหสถบัณฑิต เบื้องต้นนั้นมี ๑๙ เรื่อง และเป็นเหตุการณ์เมื่ออายุ ๗ ขวบนั้นมี ๗ เรื่องได้แก่ 1.เรื่องเนื้อ(การไล่เหยี่ยวคาบเนื้อโดยวิ่งตามเงา) 2.เรื่องโค(การทำให้โคสำรอกอาหารเพื่อพิสูจน์) 3.เรื่องเครื่องประดับ 4.เรื่องด้าย 5.เรื่องบุตร 6.เรื่องโคธบุรุษ และ ๗.เรื่องรถ(ท้าวสักกะเทวราชแปลงกายมาทดสอบปัญญา) จากนั้นจะเป็นการทดสอบปัญญาของพระเจ้าวิเทหราช อีก ๑๒ เรื่อง ถ้าจะนำมากล่าวโดยพิสดารทั้งหมด ก็ไม่แน่ใจว่าอายุของผมจะพอเล่าต่อจนจบหรือไม่ ฉนั้นเรื่องที่ตัดไปถ้าไม่เอามาเล่าเสียเลยเมื่อผู้รู้มาอ่านก็ย่อมรู้ว่าขาดไป จึงขอนำมาแสดงแบบย่นย่อพอสังเขปเพื่อให้ท่านได้อ่านเป็นกรณีย์ศึกษาก็แล้วกัน
เรื่องเครื่องประดับ อันแสดงให้เห็นปัญญาของมโหสถกุมาร คือ อยู่มาวันหนึ่ง มีหญิงขัดสนคนหนึ่ง ได้เปลื้องเครื่องประดับอันทำด้วยด้ายสีต่างๆ วางไว้ที่ริมสระโบกขรณีแล้วลงไปอาบน้ำในสระ มีหญิงสาวอีกคนหนึ่งมาพบเข้า ก็ขอหยิบขึ้นมาชมดู พอเจ้าของอนุญาตก็เอาสวมคอแล้วหนีไป ฝ่ายหญิงเจ้าของก็รีบขึ้นจากน้ำไล่ติดตามไปทันที สตรีสองคนนั้นได้โต้เถียงกันไปจนถึงศาลาของมโหสถ มโหสถจึงให้นำตัวเข้าซักถาม มโหสถถามว่า เครื่องประดับนี้อบด้วยเครื่องหอมชนิดใด หญิงโจรตอบว่า อบด้วยเครื่องหอมต่างๆ ฝ่ายหญิงเจ้าของตอบว่า อบด้วยกลิ่นดอกประยงค์อย่างเดียว มโหสถจึงให้เอาเครื่องประดับนั้นลงแช่ในถาดน้ำ แล้วให้คนที่รู้จักกลิ่นดมพิสูจน์น้ำนั้นดู คนที่ดมพิสูจน์ก็บอกให้รู้ว่า น้ำที่แช่เครื่องประดับ มีแต่กลิ่นดอกประยงค์อย่างเดียว มโหสถจึงประกาศให้คนทั้งหลายเป็นพยาน แล้วซักถามจนหญิงโจรนั้นรับสารภาพ และคืนเครื่องประดับให้แก่เจ้าของไป มโหสถให้โอวาทสั่งสอนแล้วจึงปล่อยตัวไป
เรื่องด้าย มีความว่า หญิงชาวไร่ฝ้ายคนหนึ่ง ถือกลุ่มด้ายมาจากไร่ของตน พอมาถึงสระโบกขรณีก็วางด้ายไว้ที่ริมฝั่งแล้วลงไปอาบน้ำ มีหญิงอีกคนหนึ่งเดินผ่านมาพบเข้าก็ฉวยเอากลุ่มด้ายนั้นไป หญิงเจ้าของก็รีบขึ้นจากสระไล่ติดตามไปจนถึงศาลามโหสถ มโหสถได้ถามว่ากลุ่มด้ายนั้นท่านได้เอาสิ่งใดใส่ไว้ข้างใน หญิงโจรตอบว่า เอาเมล็ดฝ้ายใส่ไว้ข้างใน ส่วนหญิงเจ้าของตอบว่า เอาเมล็ดมะพลับใส่ไว้ข้างใน มโหสถได้จดข้อความนั้นไว้แล้วให้คลี่กลุ่มด้ายนั้นออกก็ได้เห็นเมล็ดมะพลับอยู่ข้างใน จึงให้หญิงโจรนั้นคืนกลุ่มด้ายแก่เจ้าของไป
พรุ่งนีน๊ะครับ ท่านจะได้พบกับการทดสอบของท้าวสักกเทวราช

michinoma
07-20-2009, 03:08 PM
แค่เห็นชื่อก็อยากอ่านแล้วล่ะ ชอบเรื่องนี้มากคะ

8ocdj
07-20-2009, 08:44 PM
เมื่อท้าวสักกเทวาธิราช ดำริเช่นนี้แล้ว ท้าวเธอจึงเสด็จออกจากทิพยพิมาน จำแลงกายมาปรากฏในโลกมนุษย์ด้วยเพศแห่งบุรุษผู้ยากจนเข็ญใจ แล้วคิดหาอุบายขโมยรถม้าของชายผู้หนึ่ง โดยแสร้งมาจับท้ายรถม้าของชายหนุ่มไว้ ขณะที่เขากำลังแวะพักดื่มน้ำในสระโบกขรณี บริเวณหน้าศาลาหลังใหญ่ชายหนุ่มเจ้าของรถสังเกตเห็นความไม่ชอบมาพากล จึงร้องถามขึ้นด้วยความสงสัย “เจ้ามาจับท้ายรถเราไว้ ทำไมกัน”
“ข้าเป็นคนเข็ญใจ ไร้ญาติขาดมิตร อยากจะไปอยู่ด้วยเพื่อรับใช้ท่าน จะได้หรือไม่”
ท้าวสักกะแปลงในคราบของชายเข็ญใจตอบหยั่งเชิง
ชายหนุ่มยิ่งฉงนใจ จึงซักว่า “อย่างไรกัน อย่างเจ้าน่ะ จะช่วยอะไรเราได้”
“ข้ายินดีทำกิจแทนท่านได้ทุกอย่าง สุดแล้วแต่ท่านจะใช้สอยเถิด”ท้าวสักกะแปลงตอบ
“อย่างนั้นหรือ เจ้าไม่กลัวลำบากหรือ” ชายหนุ่มถามย้ำให้แน่ใจ
“ข้านี่แหละ เป็นสหายกับความลำบากมาตั้งแต่เกิด” ท้าวสักกะแปลงตอบน่าฟัง
“ดีล่ะ ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงไปกับเรา” ว่าแล้วเขาก็ให้ท้าวสักกะแปลงขึ้นนั่งบนรถม้า มอบหมายให้เขาทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถให้กับตน ส่วนตนก็นอนพักอยู่ในรถอย่างสบายใจ
ครั้นให้สารถีขับมาได้หน่อยหนึ่ง จู่ๆ ชายหนุ่มเจ้าของรถก็สั่งให้จอดรถกะทันหัน แล้วหันมาพูดกับสารถีว่า “เจ้าจงเฝ้ารถนี้ไว้ให้ดี เราขอตัวไปทำกิจส่วนตัวสักครู่”
กำชับกับสารถีดังนี้แล้ว ก็รีบเดินลัดเลาะแนวป่า เข้าสู่พุ่มไม้ข้างทางที่พอเหมาะเป็นที่กำบังก็เร่งทำธุระส่วนตัวทันที
ท้าวสักกะแปลงทรงรอหน่อยหนึ่ง เมื่อทรงเห็นเจ้าของรถทำธุระเสร็จแล้ว กำลังเดินกลับมา ก็ทรงแกล้งขับรถม้าหนีไปต่อหน้าในขณะนั้น
ฝ่ายหนุ่มเจ้าของรถม้าทำกิจของตนเสร็จ ก็รีบกลับมายังรถ มองเห็นสารถีขับรถหนีไปดื้อๆ อย่างนั้น ก็รู้ทันทีว่าชายหนุ่มนั้นเล่นไม่ซื่อเสียแล้ว ทั้งตกใจและแค้นใจ จึงรีบวิ่งไล่กวดตามไปทันที
ขณะนั้น มโหสถกุมารกำลังเล่นเพลิดเพลินอยู่กับเหล่าสหาย ก็แว่วได้ยินเสียงหนึ่งเอ็ดอึงมาแต่ไกล และทราบว่าเป็นเสียงเอะอะโวยวายคล้ายเสียงคนกำลังวิวาทกันด้วยเหตุสักอย่างหนึ่ง
“เฮ้ย หยุดก่อน เจ้าจะเอารถของข้าไปไหน เอารถข้าคืนมา” ชายเจ้าของรถวิ่งไปร้องตะโกนตามมาท่าทางเหนื่อยล้า
“นี่มันรถของข้าต่างหากละ ใช่รถแกที่ไหน รถของแกคันอื่น” ท้าวสักกะแปลงร้องสวนขึ้น พระหัตถ์ทั้งสองยังคงจับบังเหียนม้าไว้แกล้งขับรถม้าไปเรื่อยๆ
“รถข้าต่างหาก ไอ้หัวขโมย ไอ้คนโกหก หยุดเดี๋ยวนี้นะ เอารถข้าคืนมา”
ชายหนุ่มที่วิ่งตามมาร้องด่าไม่ลดละ พวกเด็กๆ เห็นเหตุการณ์นั้นแล้วต่างก็หยุดเล่น พากันมองดูชายทั้งสองด้วยความสงสัยว่าวิวาทกันเพราะเหตุใด
ฝ่ายมโหสถเห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว ก็ใคร่ครวญว่า “นี่เห็นที จะมีคดีเกิดขึ้นอีกเป็นแน่”
คิดดังนี้แล้ว ก็ไม่รอช้า ได้ให้คนใช้ไปเรียกชายทั้งสองมาเพื่อถามเรื่องราวทันที ครั้นคนทั้งสองเข้ามาสู่ศาลาแล้ว เมื่อพินิจดูก็ทราบทันทีว่า ชายเข็ญใจมิใช่คนธรรมดา
การที่มโหสถบัณฑิตรู้ได้ทันทีว่า ชายเข็ญใจมิใช่คนธรรมดา นั้น ก็เพราะภายในโรงวินิจฉัยคดีที่มโหสถสร้างขึ้น มีความสง่างามผนวกกับความวิจิตรของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ ซึ่งเป็นประดุจมนต์สะกดให้ผู้ที่ย่างกรายเข้าไป อาจเกิดอาการประหม่าได้ แต่มันก็มิได้ทำให้ชายเข็ญใจ เกิดความสะทกสะท้านแต่อย่างใด ทันทีที่ถูกบริวารของ มโหสถเรียกตัวเข้าไปพบ ก็เดินเข้าไปด้วยท่าทีองอาจ ต่างจากคนธรรมดา ครั้นชายทั้งสองมาหยุดอยู่ตรงเบื้องหน้าแท่นที่นั่งของมโหสถบัณฑิต ครั้งแรกที่ได้เห็น มโหสถบัณฑิตก็รู้สึกฉงนใจทันที เพราะเพียงแค่มองจากภายนอกก็พอจะรู้ว่า ชายเข็ญใจผู้นี้ จะต้องไม่ใช่มนุษย์อย่างแน่นอน
มโหสถจึงได้แต่นิ่งอยู่ชั่วครู่ ด้วยกำลังพิจารณาอยู่ว่า “... ชายเข็ญใจผู้นี้เป็นใครกันแน่ ตาก็ไม่กระพริบ แววตาช่างดูมีอำนาจ ซ้ำยังองอาจ มิได้ครั่นคร้ามต่อสิ่งใด ทั้งที่มายืนอยู่ท่ามกลางมหาชนมากมายถึงเพียงนี้”
ทันใดนั้นความคิดหนึ่งก็แวบขึ้นมา “.. หรือว่าชายผู้นี้ จะเป็นท้าวสักกเทวราช จอมเทพแห่งดาวดึงส์พิภพจำแลงมา... ”
แม้จะมั่นใจว่า ต้องใช่ท้าวสักกเทวราชเป็นแน่ แต่มโหสถก็ยังมีข้อแคลงใจว่า
“ในเมื่อโลกมนุษย์นี้ หาใช่สถานที่รื่นรมย์ของเหล่าทวยเทพแต่อย่างใดไม่ เพราะกลิ่นของมนุษย์นั้นย่อมเหม็นฟุ้งไปตลอดร้อยโยชน์สำหรับเทวดา เป็นเหตุให้หมู่เทวาทั้งหลายไม่ปรารถนาจะข้องเกี่ยวกับมนุษย์ ก็แล้วพระองค์เล่า จะเสด็จมาในที่นี้ทำไมกัน”
มโหสถใคร่ครวญถึงเหตุนั้น ก็ปักใจมั่นว่า ท้าวเธอคงมีความประสงค์จะทรงทดสอบปัญญาของตนเป็นแน่แท้ แต่แม้จะประจักษ์แจ้งแก่ใจเช่นนั้นแล้ว มโหสถก็ยังมิได้ประกาศความจริงให้มหาชนทราบในทันที ทั้งนี้เพราะคิดว่า “การที่เราจะชี้ตัวว่า ใครเป็นเจ้าของรถ ใครเป็นผู้ขโมยรถในเวลานี้ เป็นเรื่องไม่ยาก แต่เราจะทำให้มหาชนรู้ความจริงด้วยอุบายสักอย่างหนึ่ง”
คิดดังนี้แล้ว มโหสถจึงถามว่า “ท่านทั้งสอง มีเรื่องอันใดกันหรือ ถึงได้ทะเลาะวิวาทกันรุนแรงเช่นนี้”
“พ่อมหาบัณทิต ก็ชายคนนี้น่ะ อยู่ดีๆ ก็มาตู่เอารถของกระผม รถคันนี้กระผมได้มาด้วยความอุตสาหะ ต้องอดทนทำงานหนักอยู่นานหลายปีทีเดียวกว่าจะได้” ชายหนุ่มเจ้าของรถกล่าวฟ้องร้องขึ้นก่อน
“ท่านขอรับ ขอท่านอย่าได้หลงเชื่อถ้อยคำของเขาเป็นอันขาด รถคันนี้กว่ากระผมจะได้มา ต้องทำงานหนักเลือดตาแทบกระเด็น” ชายเข็ญใจกล่าวด้วยน้ำเสียงชวนให้สงสาร
มโหสถบัณฑิตฟังถ้อยคำของทั้งสองฝ่ายแล้ว จึงตรึกตรองอยู่ชั่วครู่ ก็นึกอุบายขึ้นมาได้ จึงถามชายทั้งสองว่า “หากเราจะวินิจฉัยความของท่านทั้งสองโดยยุติธรรม ท่านทั้งสองจะยอมฟังคำวินิจฉัยของเราหรือไม่”
“ได้ซินายท่าน ขอท่านจงตัดสินคดีนี้โดยยุติธรรมเถิด” ชายทั้งสองรับคำ
ได้ยินดังนั้น มโหสถจึงกล่าวต่อไปว่า “เอาล่ะ เมื่อท่านทั้งสองยินดีให้เราเป็นผู้วินิจฉัย ท่านก็จงกระทำตามคำของเรา”
จากนั้นมโหสถจึงได้ชี้แจงกติกาแก่ทั้งสองฝ่ายว่า “เราจะใช้ให้คนของเราขับรถม้าคันนี้ไป ส่วนท่านทั้งสองก็จงจับท้ายรถไว้ให้มั่น หากว่าผู้ใดสามารถวิ่งตามรถไปได้ โดยที่ไม่ปล่อยมือเลย แสดงว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของรถจริง”
กล่าวเช่นนั้นแล้ว มโหสถก็ใช้ให้คนขับรถไปโดยเร็ว โดยให้ชายทั้งสองจับท้ายรถคนละมุม ต่างคนต่างวิ่งตามรถนั้นไปเรื่อยๆ
ชายหนุ่มผู้เจ้าของรถ มีความปรารถนาอย่างยิ่งจะได้รถม้าของตนคืนมา จึงพยายามออกแรงวิ่งตามรถไปจนสุดกำลังความสามารถเมื่อวิ่งไปได้สักครู่ แรงคนก็สู้แรงม้าไม่ไหว รู้สึกเหนื่อยล้าเต็มที จึงจำใจต้องปล่อยรถนั้นไป ปล่อยให้คู่กรณีจับท้ายรถวิ่งไปเพียงลำพัง ส่วนตนก็หมดแรงหอบแฮ่กๆ ทรุดร่างลงกองอยู่ในระหว่างทาง
ส่วนชายเข็ญใจเหมือนมีกำลังพิเศษเกินกว่าที่ใครจะเทียบได้ เขาสามารถวิ่งจับท้ายรถนั้นไว้ได้ตลอดทาง โดยที่ไม่ได้ปล่อยมือเลย ซ้ำยังไม่แสดงอาการเหน็ดเหนื่อยแม้แต่น้อย
มโหสถเห็นดังนั้น ก็รำพึงในใจว่า “เอาล่ะ บัดนี้ ความจริงก็ปรากฏแล้ว”
จึงสั่งให้หยุดรถ แล้วเรียกให้นำรถกลับมายังที่เดิม
เมื่อมาถึง มโหสถจึงได้เริ่มแถลงข้อวินิจฉัย โดยประกาศขึ้นท่ามกลางมหาชนด้วยน้ำเสียงก้องกังวานว่า “ท่านทั้งหลายจงฟังเรา”
ทันทีที่มโหสถปรารภขึ้น มหาชนที่ส่งเสียงอื้ออึงด้วยความอัศจรรย์ใจในพละกำลังของชายแปลกหน้า ก็พากันเงียบกริบลงทันที มโหสถได้โอกาสจึงพูดต่อไปว่า
“ท่านทั้งหลายจงดูชายคนที่วิ่งตามรถไปได้ตลอด ทั้งขาไปและขากลับ อาการเหน็ดเหนื่อยสักนิดก็ไม่ปรากฏ เหงื่อสักหยดก็ไม่มี ลมหายใจเข้าหายใจออกก็ไม่มี เขาผู้นี้คือ ท้าวสักกเทวราช จอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์”
เมื่อได้ยินว่า ชายเข็ญใจที่ยืนอยู่เบื้องหน้าเป็นถึงท้าวสักกเทวราช มหาชนต่างพากันส่งเสียงดังสนั่นยิ่งกว่าเดิม “อะไรนะ ใช่ท้าวสักกเทวราช จริงๆหรือ” เสียงมหาชนต่างร้องขึ้นด้วยความตกใจ เหมือนไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นไปได้ เพื่อจะคลายความกังขาของมหาชน มโหสถจึงหันไปถามชายเข็ญใจด้วยน้ำเสียงนอบน้อมว่า
“ท่านผู้เจริญ เราใคร่ขอถามท่านว่า ท่านคือท้าวสักกเทวราช ใช่หรือไม่”
แม้จะถูกมโหสถถามตรงๆเช่นนั้น แต่ชายเข็ญใจก็มิได้มีอาการประหม่า ตกใจกลัว หรือมีท่าทีปิดบังซ่อนเร้นสิ่งใด แต่กลับยึดอกขึ้น ตอบมโหสถอย่างเปิดเผย ด้วยน้ำเสียงห้าวหาญว่า“
ถูกต้องแล้ว พ่อมโหสถ เรานี่แหละ ท้าวสักกเทวราช จอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์”
ครั้นมหาชนได้ยินคำยืนยันจากชายเข็ญใจโดยตรงว่าเป็นท้าวสักกเทวราชจริง ก็พากันส่งเสียงฮือฮาดังสนั่นทั่วโรงวินิจฉัยคดี บ้างก็แสดงอาการตื่นเต้นยินดีเพราะพ้องกับคำที่มโหสถกล่าวแต่ต้น บ้างก็ยังไม่ปักใจเชื่อในทันที แต่ก็สงวนท่าทีรอฟังอยู่ว่ามโหสถจะถามสิ่งใดต่อไป และชายเข็ญใจจะกล่าวตอบว่าอย่างไร
ฝ่ายมโหสถบัณฑิต แม้ว่าจะประจักษ์แจ้งแก่ใจเช่นนั้นแล้ว แต่เพื่อจะเปลื้องความสงสัยของมหาชนให้หมดสิ้นไป จึงได้ถามต่อไปว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นราชาแห่งเทพ ธรรมดาโลกมนุษย์นี้ หาใช่ที่รื่นรมย์ของเหล่าทวยเทพ ผู้เช่นกับด้วยพระองค์ เพราะธรรมดากลิ่นกายมนุษย์ย่อมปรากฏเป็นกลิ่นเหม็นฟุ้งไปตลอดร้อยโยชน์ แต่เพราะเหตุใดเล่า วันนี้พระองค์จึงทรงเสด็จมาถึงที่นี่เล่า”
“พ่อมโหสถ ก็ท่านคิดว่าเรามาปรากฏตัวในที่นี้ ทำไมกันเล่า” ท้าวสักกเทวราชในรูปของชายเข็ญใจกลับเป็นฝ่ายย้อนถาม
“ข้าแต่จอมเทพ พระองค์ทรงจำแลงมาในร่างของชายเข็ญใจ เพียงเพราะปรารถนาจะได้รถม้า ซึ่งมีค่าไม่ถึงเศษเสี้ยว เมื่อเทียบกับราชรถของพระองค์ ข้อนั้นไม่สมควรแก่เหตุเลย ชะรอยพระองค์จะเสด็จมาเพื่อข้าพระองค์เป็นแน่”
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชก็ตรัสรับรองว่า “เป็นเช่นนั้นล่ะพ่อ เรามาในที่นี้ ด้วยประสงค์สิ่งอื่นก็หาไม่ แต่เพราะปรารถนาที่จะยืนยันให้มหาชนได้ประจักษ์ถึงปัญญานุภาพอันยอดยิ่งของเธอ จึงได้มาปรากฏกายอยู่ ณ เบื้องหน้านี้”
“พระองค์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงเทพ หม่อมฉันกราบขอบพระทัยที่ทรงเมตตาต่อหม่อมฉันถึงเพียงนี้” มโหสถประนมมือทั้งสอง ถวายความนอบน้อมแด่พระองค์ พลางกล่าวขึ้นว่า
“แต่พระองค์ก็ทรงทราบมิใช่หรือ ว่าการกระทำของพระองค์ เป็นเหตุให้ชายผู้นี้ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ อย่างไรเสียเพื่อความผาสุกของปวงชน ขอพระองค์อย่าได้ทรงกระทำเช่นนี้อีกเลย”
ท้าวสักกเทวราชไม่ตรัสตอบสิ่งใด เมื่อความจริงได้ปรากฏ และบัดนี้มหาชนก็ได้ทราบแล้วว่าพระองค์เป็นใคร จึงทรงกลับร่างเป็นเทพราชา ผู้สง่างามด้วยทิพย์อาภรณ์มีรัศมีเฉิดฉาย ทรงเหาะทะยานขึ้นสู่เบื้องบนแล้วไปปรากฏพระองค์อยู่กลางนภากาศ ตรัสชื่นชมปัญญาบารมีของ มโหสถบัณฑิตด้วยพระสุรเสียงก้องกังวานว่า
“พ่อมโหสถ เธอวินิจฉัยความได้ดี ทั้งเปี่ยมด้วยมหากรุณาเช่นนี้ สมแล้วที่ใครๆ ต่างเรียกว่ามหาบัณฑิต ทั่วผืนปฐพีนี้ ผู้ที่จะมีปัญญานุภาพรุ่งเรืองยิ่งไปกว่าเธอ ไม่มีแล้ว” ตรัสทิ้งท้ายเช่นนี้แล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับคืนสู่เวชยันตปราสาท ทิพยวิมานอันโอฬารของพระองค์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ภาษิตที่ว่า ความลับไม่มีในโลกนั้น เป็นเรื่องจริง ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ทั้งทางดีและทางชั่ว ย่อมอยู่ในสายตาของเทวดาเสมอ แม้คนบางคนอาจทำเป็นมองไม่เห็น เพราะความริษยาเข้ามาบังใจ แต่ความดีที่เราทำไว้ย่อมไม่สูญเปล่า
เมื่อขณะทำความดี แม้เราคิดว่าคงไม่มีใครเห็น แต่ผู้ที่ทั้งรู้ทั้งเห็นเป็นคนแรกก็คือตัวเรานั่นเอง ความดีที่เราทำบ่อยๆ จะค่อยๆ สะสมเพิ่มมากขึ้นจนพัฒนาไปเป็นอุปนิสัย
เมื่อเราสั่งสมต่อไป จากอุปนิสัยก็จะกลายเป็นบุคลิกภาพที่ดี ทำให้เป็นที่คบหาของบัณฑิตนักปราชญ์ ชีวิตของผู้นั้นก็จะมีแต่เจริญรุ่งเรืองต่อไปไม่มีที่สุด ไม่ตกต่ำถอยหลังเลยและผู้ที่ตั้งใจสร้างความดี ดำรงตนไว้ในฐานเป็นที่พึ่งของมหาชนนั้น ย่อมจะมีเทวดาคอยช่วยเหลือให้ประสบความความสำเร็จ ให้มีชีวิตที่เจริญสูงขึ้นไป ตามสมควรแก่วาสนาบารมีของแต่ละบุคคล อย่างที่ท้าวสักกเทวราชทรงกระทำให้ปรากฏในครั้งนี้
มหาชนเมื่อได้ฟังพระดำรัสที่ท้าวสักกะตรัสชมเชยมโหสถจบลงแล้ว ก็ต่างพากันส่งเสียงสนั่นครื้นเครง แซ่ซ้องสาธุการต่อๆ กันไปด้วยความปีติยินดี
โปรดรอติดตามตอนต่อไป

8ocdj
07-22-2009, 08:52 PM
ต่อนี้ไป เรื่งอ มโหสถบัณฑิต จะขอย่นย่อลงอีกแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจบโดยเร็ว เพราะชาดกเรื่องนี้ได้รจนาไว้ค่อนข้างพิสดาร ไม่ทราบว่าชีวิตที่เหลือของผมจะพอนำมาลงให้ท่านอ่านจนจบหรือไม่ ชาดกเรื่องมโหสถฯ นี้ นาวาเอกแย้ม ประพัฒน์ทอง ได้เคยนำมาประพันธ์ และพิมพ์เป็นหนังสือขนาด ๔๘๒ หน้า เมื่อปี ๒๔๙๕ (พิมพ์ครั้งแรก)โดยพิมพ์ในชื่อเรื่องว่า มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร ซึ่งผมเองก็พยายามตามหาหนังสือเล่มนี้อยู่ ผู้ใดได้พบเห็นที่ไหนถ้าซื้อได้กรุณาแจ้งราคาติดต่อให้ผมทราบด้วยเพื่อจะได้จัดซื้อไว้อีกสักเล่ม อนึ่งหนังสือเล่มนี้จัดอยู่ใน หนังสือดีร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน และข้อความที่นำมาลงให้ท่านอ่านอยู่นี้ผมนำมาจากพระไตรปิฎก มหาวิตถารนัย ๕๐๐๐ กัณฑ์ โดย ปุ้ย แสงฉาย อนงคาราม จัดพิมพ์โดย สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี และบางทีก็คัดลอกมาจาก เวปเพจของ D.M.C.
หลังจากที่ท้าวสักกเทวราชได้ทดสอบปัญญาของ มโหสถกุมาร แล้วอำมาตย์ที่พระเจ้าวิเทหราชส่งมาเฝ้าสังเกตก็รายงานให้พระองค์ทราบ แต่พระเจ้าวิเทหราช ก็ยังได้รับการคัดค้านจากอำมาตย์เสนกะ อยู่ดี โดยมีเหตุผลว่า
การที่มโหสถเป็นผู้มีปัญญามากนั้น บัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์แล้ว แต่การรีบร้อนนำตัวมโหสถมาเข้าเฝ้านั้น ยังหาเป็นการสมควรไม่ ข้าพระบาทว่า อันที่จริงแล้ว มโหสถบัณฑิตก็อาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่แล้ว ถึงอย่างไรเสีย เขาก็ยังเป็นข้าบาทมูลของพระองค์อยู่นั่นเอง อีกทั้งระยะนี้เหตุการณ์บ้านเมืองก็ยังสงบ ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ล้วนอยู่เย็นเป็นสุข ด้วยเหตุที่ปราศจากอริราชศัตรูมาช้านาน ในยามนี้จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันใด ที่พระองค์จักต้องรีบร้อนนำมโหสถบัณฑิตมาสู่ราชสำนักของพระองค์ ฉะนั้น ขอทรงรอดูอีกสักพักเถิด พระเจ้าข้า
จากนี้จะเป็นการทดสอบปัญญาของมโหสถโดยพระเจ้าวิเทหราช ๑๒ เรื่อง
เรื่องที่ ๑ เรื่องท่อนไม้
อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช มีพระราชประสงค์จะใคร่ทดลองปัญญาแห่ง มโหสถกุมาร จึงโปรดให้ช่างกลึงไม้ตะเคียนท่อนหนึ่ง ยาวหนึ่งคืบ ให้มีขนาดเสมอทั้งต้นและปลาย แล้วโปรดให้ส่งออกไปถึงชาวบ้านปาจีณยวมัชฌคาม ให้ตอบว่าไม้ท่อนนี้ทางไหนต้นทางไหนปลาย ถ้าตอบไม่ได้จะปรับเป็นทรัพย์พันตำลึง
ชาวบ้านปาจีณยวมัชฌคาม ได้ประชุมกันพิจารณาดูแล้วต่างก็จนปัญญา เมื่อไม่มีใครรู้ จึงแจ้งแก่บิดาของท่านมโหสถกุมาร บิดาจึงให้ไปตามมโหสถมาจากสนามเล่น แล้วส่งท่อนไม้ตะเคียนให้ดู พอมโหสถจับชั่งดูด้วยมือก็รู้ได้ว่าข้างไหนต้นข้างไหนปลาย แต่เพื่อให้คนทั้งหลายเห็นประจักษ์กับตา จึงให้เอาเส้นด้ายผูกท่อนตะเคียนที่จุดกึ่งกลาง แล้วค่อยๆ หย่อนลงในถาดน้ำ ข้างต้นก็จมลงไปก่อน จึงถามคนทั้งหลายว่า ธรรมดาท่อนไม้ทั้งหลายข้างไหนหนักกว่ากัน คนทั้งหลายต่างตอบว่า ข้างต้นหนักกว่า มโหสถจึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายจงทำเครื่องหมายไว้แล้วส่งเข้าไปกราบทูลเถิด ว่าข้างนี้แหละเป็นข้างต้น ข้างนี้แหละเป็นข้างปลาย คนทั้งหลายก็ทำตามอุบายของ มโหสถ เมื่อพระเจ้าวิเทหราช ได้ทรงทราบก็ทรงซักถาม เมื่อได้ความว่าเป็นความคิดของมโหสถกุมาร ก็ทรงชื่นชมในพระราชหฤทัย
โปรดคอยติดตามตอนต่อไป

8ocdj
07-23-2009, 09:43 PM
เรื่องที่ ๒ เรื่องกะโหลกศีรษะ
เรื่องกะโหลกศีรษะนั้นมีอยู่ว่า อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช โปรดให้ส่งกะโหลกศีรษะของบุรุษและสตรีมา แล้วส่งกะโหลกทั้งสองไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามตัดสินว่า กะโหลกไหนเป็นของบุรุษ กะโหลกไหนเป็นของสตรี หากไม่มีใครรู้ ก็จะถูกปรับสินไหม ๑,
๐๐๐ กหาปณะชาวบ้านทุกคนพยายามคิดหาหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย แต่แล้วก็จนปัญญาเช่นเคย ยังมองไม่เห็นว่ากะโหลกทั้งสองจะแตกต่างกันตรงไหน จึงพากันไปปรึกษามโหสถ

ในที่สุดก็ได้รับคำตอบว่า กะโหลกที่มีรอยประสานตรงกลางเป็นแสก คือกะโหลกของบุรุษ ส่วนกะโหลกของสตรี จะสังเกตได้ว่ารอยแสกนั้นจะคด ไม่ตรงเหมือนอย่างกะโหลกบุรุษ
ส่วนพระเจ้าวิเทหราช เมื่อได้สดับคำตอบที่ถูกต้อง และมีหลักมีเกณฑ์เช่นนั้น ก็ทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก
เรื่องที่ ๓ เรื่องงู
ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงส่งงูไปอีก ๒ ตัว พร้อมกับมีพระดำรัสถามว่า งูตัวไหนตัวผู้ งูตัวไหนตัวเมีย ถ้าตอบไม่ได้ จะถูกปรับสินไหม ๑,
๐๐๐ ตำลึงอีกเช่นเคย
แต่ถึงกระนั้น มโหสถก็ยังสามารถแยกแยะได้อีกว่า งูตัวผู้หัวและตาโต หางใหญ่ มีลวดลายที่หัวต่อเนื่องกันเวียนรอบหัว ส่วนงูตัวเมียนั้น หัวและตาเล็กลำตัวเรียว หางเรียว นัยน์ตาเล็ก ลวดลายที่หัวขาด ไม่ต่อเนื่องกัน
จึงเป็นอันว่าชาวปาจีนยวมัชฌคามสามารถจะไขปัญหายากๆเหล่านั้นได้ เพราะอาศัยปัญญานุภาพของมโหสถนั่นเอง หลังจากผ่านพ้นปัญหาเรื่องงูไป
เรื่องที่ ๔ เรื่องไก่
เรื่องไก่นั้นมีอยู่ว่า อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช ก็มีรับสั่งออกไปว่าให้พวกชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ส่งโคเผือกเพศผู้ มีเขาที่เท้า มีโหนกที่ศีรษะ ร้องวันละ ๓ เวลา มาให้แก่พระองค์ ถ้าหามาไม่ได้จะปรับเป็นทรัพย์ พันตำลึง
มโหสถกุมาร ก็ได้ชี้แจงแก่ชาวบ้านอีกว่า ตามพระราชดำรัสของพระองค์นี้ ทรงหมายเอาไก่ขาว เพราะธรรมดาไก่ย่อมมีหงอนที่ศีรษะเหมือนโหนกโค มีเดือยที่ขาประดุจดังเขาโค และขันเป็นเวลา
ชาวบ้านก็ส่งไก่ขาวเข้าไปถวาย ก็เป็นอันถูกต้องตามพระราชประสงค์ และพระองค์ก็ทรงปลื้มพระหฤทัยมาก
เรื่องที่ ๕ เรื่องแก้วมณี
โปรดคอยติดตามตอนต่อไป

8ocdj
07-24-2009, 09:39 PM
เรื่องที่ ๕ เรื่องแก้วมณี
เรื่องแก้วมณีนั้นมีอยู่ว่า วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราช มีรับสั่งให้ส่งแก้วมณี ๘ คด ซึ่งมีเชือกร้อยอันเก่าได้ขาดออกไป พระองค์ประสงค์ให้ชาวบ้านนั้นเอาเชือกที่ร้อยอันเก่าออกแล้วร้อยเชือกใหม่เข้าแทนให้ได้ ถ้าไม่ได้จะปรับทรัพย์พันตำลึง
มโหสถก็รับอาสาทำ วิธีการก็คือ เอาด้ายที่จะร้อยใหม่นั้นจุ่มน้ำผึ้งข้างหนึ่ง แล้วแหย่เข้าในแท่งแก้วมณี ส่วนอีกด้านหนึ่งของแก้วมณีก็เอาน้ำผึ้งทาเช่นเดียวกัน แล้วเอาไปวางใกล้ๆ รังมดแดง มดแดงได้กลิ่นน้ำผึ้งก็คาบเชือกเก่าออก แล้วเข้าไปดึงเชือกใหม่มาตามช่องแก้ว เมื่อร้อยเชือกได้แล้วจึงให้คนทั้งหลายนำเข้าถวาย ก็ยิ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราชอีก
เรื่องที่ ๖ เรื่องให้โคตัวผู้คลอดลูก
เรื่องให้โคตัวผู้คลอดลูกเรื่องมีว่า วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราช ตรัสสั่งให้ราชบุรุษทั้งหลายเอาถั่วมาให้โคอุสุภราชกินจนท้องโต แล้วให้เอาน้ำมันทาเขา เอาขมิ้นทาตัว ทำอาการเหมือนมีท้องจะตกลูก แล้วจึงโปรดส่งออกไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม และรับสั่งว่า ให้ชาวบ้านช่วยกันทำคลอดโคนี้ให้ได้ แล้วส่งโคพร้อมลูกคืนแก่พระองค์ ถ้าทำไม่ได้จะปับพันตำลึง
ชาวบ้านก็พร้อมกันไปหา มโหสถ อีก มโหสถจัดหาคนที่มีปัญญา ฉลาดในการเจรจาแล้วให้การสั่งสอนว่า ท่านจงสยายผมแล้วร้องไห้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช กราบทูลว่า ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด เพราะบิดาของข้าพุทธเจ้า เจ็บท้องจะคลอดลูกมา ๗ วันแล้ว ยังคลอดไม่ได้เลย ขอพระองค์ได้โปรดพระราชทานหมอหลวงที่มีความสามารถช่วยทำคลอดให้บิดาข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด
เท่านี้พระเจ้าวิเทหราชก็เผลอลืมพระองค์ ทรงตรัสว่า แกนี่บ้าหรือดี การที่จะให้ผู้ชายคลอดบุตรนั้นไม่มีธรรมเนียม
คนที่มโหสถจัดไปจึงกราบทูลขึ้นว่า ถ้าอย่างนั้น พระองค์จะให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ทำให้โคเพศผู้คลอดลูกได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าวิเทหราชจึงซักถามว่า ใครเป็นผู้ออกอุบายนี้ เมื่อรู้ว่าเป็นอุบายของมโหสถก็ทรงชื่นชมในปัญญา
เรื่องที่ ๗ คือ เรื่องข้าวสุก
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป

8ocdj
07-25-2009, 09:27 PM
โอทนฺติฯ อปรสฺมี ทิวเส ปณฺฑิตํ วิมํสิสฺสามาติ จินฺเตตฺวา ปาจีนยวมชฺฌคามวาสิโน กิร ปณฺฑิตา อมหากํ อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ อมฺพิโลทนํ ปจิตฺวา เปเสนฺตุติ.
เรื่องที่ ๗ คือ เรื่องข้าวสุก
เรื่องข้าวสุกนั้นมีว่าอยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าวิเทหราช มีรับสั่งออกไปให้ชาวบ้านนั้นหุงข้าวเปรี้ยวประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เข้าไปถวายให้จงได้ ถ้าไม่ได้จะต้องถูกปรับเป็นทรัพย์พันตำลึง องค์ ๘ ประการ นั้น คือ ๑ ไม่ให้หุงด้วยข้าวสาร ๒ ไม่ให้หุงด้วยน้ำ ๓ ไม่ให้หุงด้วยหม้อ ๔ ไม่ให้หุงด้วยเตา ๕ ไม่ให้หุงด้วยไฟ ๖ ไม่ไห้หุงด้วยฟืน ๗ เมื่อหุงสุกแล้วหญิงก็อย่าให้นำไปถวาย ชายก็อย่าให้นำเข้าไปถวาย ๘ อย่าให้นำเข้าไปถวายตามหนทาง รวมเป็น องค์ ๘ ประการ ด้วยกัน ดังนี้
มโหสถกุมารก็ได้ชี้แจงให้ชาวบ้านนั้นทำอีก คือ ชี้แจงให้ฟังว่า ๑ ข้อที่หวงห้ามไม่ให้หุงด้วยข้าวสารนั้น โดยพระประสงค์จะให้หุงด้วยปลายข้าว ๒ ข้อที่ทรงห้ามไม่ให้หุงด้วยน้ำนั้น มีพระประสงค์จะให้หุงด้วยน้ำค้าง ๓ ที่ทรงห้ามไม่ให้หุงด้วยหม้อนั้น ทรงห้ามหม้อเก่า มีพระประสงค์จะให้หุงด้วยหม้อใหม่ ๔ ที่ทรงห้ามไม่ให้หุงด้วยเตานั้น มีพระประสงค์จะให้ขุดหลุมหุง ๕ ที่ทรงห้ามไม่ให้หุงด้วยไฟนั้น ทรงหมายไฟโดยปกติ มีพระประสงค์จะให้เอาไม้มาสีไฟ แล้วเอาไฟนั้นติดหุง ๖ ที่ทรงห้ามไม่ให้หุงด้วยฟืนนั้น มีพระประสงค์จะให้หุงด้วยใบไม้ ๗ ที่ทรงห้ามไม่ให้หญิงหรือชายนำไปนั้น มีพระประสงค์ว่าต้องให้คนกะเทยนำไป ๘ ที่ทรงห้ามไม่ให้นำไปในทางนั้น มีพระประสงค์จะให้เดินลัดไปตามป่า ให้หลีกทางใหญ่เสีย ส่วนหม้อนั้นให้เอาผ้าขาวผูกปากตีตราเสียให้ดี ท่านทั้งหลายจงทำอย่างนี้ ชาวบ้านนั้นก็กระทำตามคำแนะนำ ก็เป็นที่โปรดปรานของท้าวเธออีก
เรื่องที่ ๘ คือเรื่องเชือกทราย
เรื่องเชือกทรายนั้นว่า อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวเธอมีรับสั่งออกไปถึงพวกชาวบ้านนั้นว่า ให้เอาทรายฟั่นเป็นเชือกสำหรับผูกชิงช้าส่งเข้าไปถวายแทนเชือกทรายเก่าสำหรับผูกชิงช้าในพระราชวังให้จงได้ ถ้าไม่ได้จะปรับเป็นทรัพย์พันตำลึง มโหสถกุมารก็หาคนฉลาดพูดมา ๒-๓ คน แล้วสั่งว่าให้เข้าไปทูลพระเจ้าอยู่หัว ขอเชือกทรายเก่าออกไปเป็นตัวอย่างเพื่อให้ชาวบ้านนั้นได้กระทำให้ถูกตามประราชประสงค์ ถ้าตรัสว่า ของเก่าไม่มีจงกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้นจะให้ชาวบ้านนั้นทำเชือกทรายถวายใหม่อย่างไรได้ บุรุษนั้นก็กระทำตามที่ชี้แจง
เรื่องที่ ๙ คือเรื่อง สระ
อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวเธอมีรับสั่งออกไปยังชาวบ้านนั้นว่า ให้ส่งสระโบกขรณีอันมีดอกปทุม ๕ ประการ เข้าไปถวาย ถ้าไม่ได้ก็จะปรับพันตำลึง มโหสถกุมารจึงให้หาคนที่ฉลาดพูดมาได้หลายคนแล้วรับสั่งว่า พวกท่านจงพากันไปเล่นน้ำจนตาแดง แล้วนุ่งผ้าเปียกถือเชือกและไม้ค้อนก้อนดินเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว กราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าได้ฉุดสระโบกขรณีมาจวนถึงพระนครแล้ว แต่สระโบกขรณีนั้นกลัวบ้านเมือง จึงดิ้นจนเชือกขาดกลับไปอยู่ที่เก่าเสีย ขอพระองค์ได้โปรดส่งสระในพระนครออกไปต่อเข้ามาเถิด คนเหล่านั้นก็ทำตามคำแนะนำแก้ปริศนาของพระองค์ได้ถูกต้องตามพระราชประสงค์

8ocdj
07-28-2009, 08:35 PM
เรื่องที่ ๑๐ เรื่องสวน
นั้นว่า อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวเธอมีรับสั่งออกไปถึงชาวบ้านว่า ให้ส่งสวนดอกไม้เข้าไปถวาย มโหสถกุมารใช้พวกคนเข้าไปทูลแก้อุบายของพระองค์เหมือนกับให้ส่งสระนั้นอีก พระมหากษัตริย์ก็ทรงแน่พระหฤทัยว่า มโหสถกุมารเป็นนักปราชญ์ต้องตามพระสุบินนิมิตนั้นแล้ว จึงพร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จออกจากพระราชวัง เพื่อจะไปรับมโหสถกุมารเข้ามาอยู่ในราชสำนัก แต่บังเอิญเท้าม้าทรงมีเหตุแตกแพงในระหว่างทาง พระองค์จึงเสด็จกลับ ฝ่ายเสนกะ กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลห้ามพระองค์เป็นหลายครั้งแล้ว พระองค์ก็ไม่ทรงเชื่อ จึงพบอุบัติเหตุเช่นนี้ ขอพระงองค์จงทรงนิ่งดูต่อไปอีกเถิด พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงนิ่งอยู่ไม่ตรัสตอบแต่ประการใด
เรื่องที่ ๑๑ เรื่องลา
เอกทิวสํ อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงปรึกษากับ เสนกะ ว่าจะทำประการใดดีจึงจะได้ตัวมโหสถ เสนกะ กราบทูลว่า ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท หากว่าฝ่าพระบาทจะทรงรับมโหสถเข้ามาอยู่ในราชสำนักจริงๆ ก็อย่าพึงเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เองเลยพระเจ้าข้า เพียงแต่ทรงมีพระบรมราชโองการผ่านทูตไปเท่านั้น ก็นับว่าเหมาะสมแล้ว
ท้าวเธอได้สดับเช่นนั้น ก็ทรงพอพระทัย
ข้าพระองค์เห็นด้วยเกล้าว่า ในการส่งทูตเพื่ออัญเชิญพระบรมราชโองการไปในครั้งนี้ พระองค์ไม่ควรให้ไปเปล่า สมควรที่จะตั้งปัญหาสักข้อหนึ่งเพื่อทดสอบอีกครั้ง และข้อนี้แหละจึงจักเป็นที่สุดแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าข้า เสนกะกล่าวต่อ
พระเจ้าวิเทหราชทรงเห็นชอบด้วย จึงตรัสถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้น เราสมควรจะตั้งปัญหาอย่างไร
พระองค์ควรตั้งปัญหาไปว่า เมื่อวันก่อน พระองค์เสด็จด้วยม้าพระที่นั่งเพื่อจะรับตัวมโหสถเข้าวัง แต่เผอิญวันนั้นกีบเท้าม้าพระที่นั่งของพระองค์แตก ทำให้ม้าได้รับบาดเจ็บ
ไม่สามารถเสด็จต่อไปได้ จึงต้องการให้มโหสถส่งม้าอัสดรหรือม้าตัวประเสริฐมาให้ด้วย ถ้าเธอจักส่งม้าอัสดรมาถวาย เธอก็จงมาด้วย แม้นจะส่งม้าตัวประเสริฐมา ก็จงส่งบิดาของเธอมาด้วย
ท้าวเธอทรงสดับถ้อยคำกราบบังคมทูลนั้นแล้ว ก็ทรงเห็นชอบตามนั้นทุกประการ
จากนั้นจึงมีรับสั่งให้เรียกคณะทูตมาเข้าเฝ้า เพื่อรับพระบรมราชโองการไปแจ้งแก่มโหสถและบิดาของเขาทันที
ท่านเศรษฐีพอได้ทราบดังนั้น ก็พอจะเดาออกว่า ขบวนราชทูตนั้นต้องมาด้วยเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับมโหสถเป็นแน่ จึงได้เรียกมโหสถพร้อมเหล่าสหายมาเพื่อรอรับขบวนทูตนั้น จากนั้น คณะทูตก็ได้อัญเชิญพระบรมราชโองการนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ
ท่านสิริวัฒกเศรษฐีน้อมรับพระราชกระแสนั้นแล้ว ก็เข้าใจไปว่า พระราชาทรงมีพระประสงค์จะให้ส่งม้าพันธุ์ดีไปแทนม้าพระที่นั่ง จึงเริ่มเตรียมการสั่งให้บริวารไปคัดเลือกม้าเพื่อเตรียมนำไปถวาย
มโหสถเห็นเช่นนั้น ก็รีบห้ามบิดา ไว้แล้วกล่าวว่า ท่านพ่อขอรับ ท่านพ่ออย่าได้ลำบากไปเลย พระราชาทรงใคร่จะพบลูกและท่านพ่อเท่านั้นแหละ พระราชกระแสที่ว่า
ให้ส่งม้าอัสดรหรือม้าตัวประเสริฐมาให้ ถ้าจักส่งม้าอัสดรมาถวาย ก็จงมาเองด้วย แม้นจะส่งม้าตัวประเสริฐมา ก็จงส่งบิดามาด้วย อันที่จริงก็หมายความว่า ท้าวเธอทรงมีพระประสงค์ให้ตนและบิดาไปพบ หาได้มีพระประสงค์อย่างอื่นไม่ ท่านพ่ออย่าได้กังวลไปเลย เรื่องนี้ลูกจะจัดการเอง
ก็ดี ถ้าเช่นนั้น ลูกจงบอกมาเถิดว่าจะให้พ่อทำอย่างไร
มโหสถจึงได้ตกลงกับบิดาว่า ขอให้ท่านพ่อพร้อมด้วยอนุเศรษฐีพันหนึ่งเป็นบริวาร จงเดินทางล่วงหน้าไปเฝ้าเจ้าเหนือหัวก่อน
แต่ว่าเมื่อพระราชาตรัสปฏิสันถารกับพ่อแล้ว ก็จักตรัสเรียกให้นั่ง ท่านพ่อก็จงหาที่นั่งอันสมควรเถิด แต่เมื่อลูกตามไปเฝ้าภายหลัง พระราชาก็จักตรัสทักทาย แล้วจึงให้ลูกเลือกหาที่นั่งที่เหมาะสม พอถึงตอนนั้น ลูกก็จะชำเลืองแลดูท่านพ่อ เป็นสัญญาณที่หมายรู้กันเพียงเราสองคน ขอให้ท่านพ่อจงลุกจากที่นั่งนั้น แล้วพูดว่า แน่ะลูก เจ้าจงมานั่งตรงนี้เถิด เมื่อลูกได้นั่งลงบนที่นั่งนั้น เท่านี้เองปัญหาในวันนี้ก็จักถึงที่สุด
เนื่องจากญาติผู้ใหญ่ของผมได้เสียชีวิตลง จึงขอเวลาร่วมจัดการฌาปณกิจศพให้แล้วเสร็จก่อน
กรุณารออ่านต่อ วันที่ 1 สิงหาคม ครับ ขออภัยสำหรับทุกๆ ท่านด้วย

8ocdj
08-01-2009, 09:28 PM
ท่านสิริวัฒกเศรษฐีได้สั่งบริวารให้จัดเตรียมรถม้า และสิ่งของที่จะนำไปถวายพระราชา ครั้นพร้อมเพรียงกันแล้ว ก็ได้ออกเดินทางไปก่อน
ครั้นสิริวัฒกเศรษฐีไปถึง พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงปฏิสันถารกับท่านเศรษฐีด้วยพระอัธยาศัยอันดี แล้วก็มีพระราชดำรัสถามว่า พ่อมโหสถบุตรชายของท่านอยู่ไหนเล่าไม่ได้มาด้วยหรือ
ครั้นได้รับคำตอบว่า เธอจะตามมาในภายหลัง ก็ทรงเบิกบานพระหฤทัย ตรัสเชิญให้เศรษฐีนั่ง
เมื่อเศรษฐีนั่งได้ไม่นาน ขบวนรถม้าของมโหสถก็มาถึง มโหสถค่อยๆก้าวเดินนำหน้าเหล่าสหายบริวารขึ้นสู่พระที่นั่งมหาปราสาทด้วยท่วงทีองอาจผึ่งผาย
พระราชาได้สดับว่า มโหสถมาถึงแล้ว ก็ทรงโสมนัสยิ่งนักถึงกับเปล่งอุทานว่า พ่อมโหสถ ในที่สุดเจ้าก็มาถึงที่นี่จนได้
ขณะนั้นมโหสถกุมารห้อมล้อมด้วยสหายผู้เป็นบริวารนับพัน ค่อยๆก้าวเข้าสู่ท้องพระโรง เมื่อมาถึงเบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าวิเทหราช ก็ได้ถวายบังคมแด่พระราชาอย่างนอบน้อมแล้วยืนอยู่ ณ ที่อันสมควร
พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรมโหสถซึ่งมายืนอยู่เบื้องพระพักตร์ ก็ทรงพระปราโมทย์ยิ่งนัก ตรัสปฏิสันถารว่า นี่หรือมโหสถบัณฑิต เราได้ยินชื่อเจ้ามานาน เอาเถอะ เจ้าจงเลือกที่นั่งอันสมควรเถิด
หลังจากที่พระราชาเชื้อเชิญให้นั่ง มโหสถก็หันหน้าชำเลืองดูสิริวัฒกเศรษฐีผู้เป็นบิดา ซึ่งนั่งอยู่บนอาสนะทางขวามือของตน
ท่านเศรษฐีคอยกำหนดดูสัญญาณของมโหสถอยู่แล้ว พอเห็นมโหสถชำเลืองดูเท่านั้น ก็รู้ทันทีว่ามโหสถได้ให้สัญญาณตามที่ตกลงกันไว้ ทันใดนั้นท่านเศรษฐีก็ลุกขึ้นจากอาสนะ ยื่นมือชี้มาทางอาสนะของตน พลางกล่าวว่า แน่ะลูก เจ้าจงมานั่งตรงนี้เถิด
เหล่าข้าราชบริพารซึ่งยืนห้อมล้อมอยู่แน่นท้องพระโรง พากันแปลกใจว่า เหตุใดท่านสิริวัฒกเศรษฐีถึงต้องทำเช่นนั้น ทุกคนจึงต่างเฝ้ารอดูอยู่ว่ามโหสถจะทำเช่นไร แต่ปรากฏว่า แทนที่มโหสถจะหาที่นั่งอื่น เขากลับนั่งแทนที่บิดาของตน เป็นเหตุให้บิดาต้องเลื่อนมานั่งบนอาสนะที่ต่ำกว่า
ปุโรหิตาจารย์ทั้ง ๔ ซึ่งกำลังเฝ้าดูมโหสถอยู่ในที่นั้น ต่างพากันส่งเสียงฮือฮาขึ้นเมื่อเห็นมโหสถประพฤติเยี่ยงเด็กไร้เดียงสาเช่นนั้น ก็พากันหัวเราะเยาะหยันไปตามๆ กัน ซ้ำยังพูดเปรียบเปรยขึ้นอีกด้วยว่า คนทั้งหลายต่างพากันเรียกว่าเป็นบัณฑิต อ้อ.บัณฑิตผู้มีปัญญาเขาทำกันอย่างนี้นะ ที่ของบิดาแต่บุตรกลับมานั่งเสียเอง สมเป็นบัณฑิตแท้ละหรือ
แม้แต่พระเจ้าวิเทหราชเอง ก็ทรงเสียพระทัยอย่างหนัก พระพักตร์แต่เดิมที่ทรงแจ่มใสผุดผ่อง มาบัดนี้ก็พลันเปลี่ยนสี กลับกลายเป็นเศร้าหมองอย่างเห็นได้ชัด
มโหสถเห็นการณ์เป็นไปตามคาดหมาย ก็สมใจยิ่งนัก คิดว่า คราวนี้ล่ะ เราจักสำแดงให้เห็นปรีชาของเราบ้าง
ครั้นแล้วจึงทูลถามพระเจ้าวิเทหราชว่า ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า ข้าพระองค์สังเกตว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระพักตร์เผือดไป ก็พระองค์ทรงเสียพระทัยหรือ พระเจ้าข้า
ท้าวเธอก็ทรงรับว่า อือ...เราเสียใจ ไม่คิดเลยว่าเธอจะทำอย่างนี้
มโหสถรู้ดีแต่ก็แสร้งถามพระองค์ว่า พระองค์ทรงเสียพระทัยเรื่องอะไรหรือ พระเจ้าข้า
ท้าวเธอจึงตรัสตอบว่า ก่อนนั้นเราได้ฟังกิตติศัพท์ของเธอแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส ยิ่งได้เห็นท่วงทีกิริยาวาจาของเธอ ก็ดูน่ารักน่าชื่นใจไปเสียทั้งหมด แต่ครั้นได้เห็นการกระทำของเธอเมื่อสักครู่ ความชื่นใจที่เคยมี ก็พลันสิ้นไปชั่วพริบตา บอกตามตรงว่า เราทั้งเสียใจและผิดหวังในตัวเธอมาก
พระองค์ทรงผิดหวังเพราะเหตุไรหรือ พระพุทธเจ้าข้า มโหสถซักพระราชาอย่างซื่อๆ
จะอะไรอีกเล่า ก็เธอนั่งแทนที่บิดาซึ่งนั่งอยู่ก่อน เป็นเหตุให้บิดาต้องเลื่อนมานั่งบนที่นั่งที่ต่ำกว่า อย่างนี้จะชื่อว่าทำกิจที่สมควรหรือ ก็บุคคลผู้มีปัญญาแต่ขาดความเคารพ ดูหมิ่นแม้กระทั่งบิดาของตนต่อหน้ามหาชนเช่นนี้ จะสมควรเรียกว่าเป็นบัณฑิตอย่างไรเล่า
ลำดับนั้น มโหสถจึงทูลถามพระองค์อีกว่า ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า ข้าพระบาทขอพระราชทานโอกาส เพื่อจะทูลถามพระองค์สักอย่างหนึ่ง จะได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า
ครั้นได้รับพระราชาทานพระราชวโรกาสแล้ว มโหสถบัณฑิตจึงได้กราบทูลถามในสิ่งที่ตนได้ไตร่ตรองเอาไว้ มโหสถจึงกราบทูลว่า พระองค์ทรงสำคัญมั่นในพระหฤทัยว่า บิดาเท่านั้นประเสริฐกว่าบุตรในที่ทั้งปวง บิดาเท่านั้นสูงส่งกว่าบุตร ไม่ว่าในฐานะไหนๆ อย่างนั้นหรือ พระพุทธเจ้าข้า
ท้าวเธอก็ทรงตอบยืนยันหนักแน่นว่า แน่นอนสิ บิดาย่อมอุดมกว่าบุตรในทุกที่ทุกสถาน บุตรจะดีไปกว่าบิดาได้อย่างไร ข้อนี้เราเข้าใจไม่ผิดแน่
มโหสถจึงกราบทูลต่อไปว่า ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ยังทรงรำลึกได้หรือไม่ว่า พระองค์มีพระบรมราชโองการไปยังข้าพระพุทธเจ้า รับสั่งให้ข้าพระบาทส่งม้าอัสดร หรือมิฉะนั้นก็ให้ส่งม้าตัวประเสริฐกว่าม้าสามัญมาถวายพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า
อือ แน่นอน เราจำได้ล่ะ พระองค์รับสั่งยืนยัน
มโหสถฟังพระดำรัสนั้นจบลง จึงเข้าไปหาบริวารที่ติดตามมา แล้วสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงนำเครื่องบรรณาการพิเศษเข้ามายังท้องพระโรงเถิด
บริวารของมโหสถ ๔ คน ก็ได้ช่วยกันแบกหามเครื่องบรรณาการที่ว่า มาวางลงหน้าพระราชบัลลังก์ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นเสื่อลำแพนนั้นแล้ว ก็ยิ่งทรงสนพระทัยเต็มที่ว่า ภายในเสื่อลำแพนนั้นบรรจุสิ่งใดมา พระองค์จึงทรงรับสั่งถามมโหสถทันทีว่า นี่อะไรกันหรือ
มโหสถยังสั่งให้บริวารค่อยๆช่วยกันคลี่เสื่อลำแพนนั้นออก ก็ปรากฏ เป็นลาตัวที่จับมาได้ในระหว่างทาง มโหสถจึงกราบทูลว่า นี้เป็นลามหัศจรรย์ พระพุทธเจ้า
ครั้นทรงสดับว่าลามหัศจรรย์ ท้าวเธอก็ยิ่งทรงฉงนพระทัย จึงตรัสถามว่า เหตุใด เธอถึงเรียกว่าลามหัศจรรย์เล่า
มโหสถจึงกราบทูลว่า ลาตัวนี้แหละ จักทำความสงสัยของพระองค์ ให้ถึงที่สุด พระพุทธเจ้าข้า แล้วจึงรีบตัดบท ทูลถามขึ้นทันทีว่า ขอพระองค์โปรดตีราคาลาตัวนี้ ว่ามีราคาสักเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า
พระราชาทรงใคร่ครวญจึงมีพระดำรัสตอบมโหสถไปว่า ราคามันก็เพียง ๘ กหาปณะเป็นอย่างมาก
มโหสถได้ฟังดังนั้น ก็ทูลถามย้ำว่า ค่าของลาตัวนี้ เพียง ๘ กหาปณะเท่านั้นหรือพระเจ้าข้าc
และถ้าเช่นนั้น จักเป็นไปได้หรือไม่ พระเจ้าข้า ที่ลาตัวนี้อาจได้สมสู่กับแม่ม้าอาชาไนย
ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ล่ะ เมื่อพ่อลาสืบสมกับแม่ม้าอาชาไนย ก็จักให้กำเนิดลูกเป็นม้าอัสดร อย่างไรเล่า ท้าวเธอทรงรับรอง
โหสถจึงถือเอาพระดำรัสของท้าวเธอ เป็นเงื่อนสำคัญเพื่อทูลถามพระองค์ต่อไปว่า หากแม้นเหตุการณ์เป็นไปเช่นนั้นจริง ม้าอัสดรที่ถือกำเนิดจากท้องของแม่ม้าอาชาไนย โดยมีลาตัวนี้เป็นพ่อ จักมีราคาสักเท่าไร พระเจ้าข้า
เมื่อท้าวเธอถูกมโหสถทูลถามเช่นนี้ จึงตรัสตอบในทันทีว่า หาค่ามิได้เลย เจ้าบัณฑิตน้อย
มโหสถปรารถนาจะทราบเหตุผลของพระองค์จึงทูลถามว่า เพราะเหตุใดพระองค์จึงตรัสว่าหาค่ามิได้เล่า พระเจ้าข้า
ท้าวเธอก็ตรัสตอบอย่างน่าฟังว่า ในบรรดาสัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะทั้งหลาย ม้าอัสดรชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ดุจเดียวกับม้าสินธพและพญาช้างกุญชร เพราะเหตุที่เป็นสัตว์ซึ่งสามารถอดทนต่อการฝึกของนายสารถีได้อย่างยอดเยี่ยม อีกประการหนึ่งม้าอัสดรทั้งหลายเป็นม้าฝีเท้าดี สีสวย ลำตัวใหญ่ เปี่ยมไปด้วยพละกำลัง เมื่อได้รับการฝึกแล้วย่อมเหนือกว่าม้าสามัญโดยทั่วไป ด้วยเหตุนี้แหละ เราจึงกล่าวว่า ม้าอัสดรย่อมจะหาค่ามิได้ แม้นผู้ใดได้ครอบครองแล้ว มีหรือที่จักไม่ยินดีเราจึงกล่าวว่า ม้าอัสดรนั้นหาค่ามิได้
มโหสถจึงทูลถามพระองค์ว่า ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า ก็เมื่อสักครู่ก่อนหน้านี้ พระองค์ทรงยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรในที่ทุกสถานมิใช่หรือ พระเจ้าข้า มโหสถเห็นว่าเป็นโอกาสของตน จึงทูลแย้งขึ้นว่า ถ้าพระดำรัสของพระองค์เป็นเช่นนั้นจริง พระองค์ก็ควรจะตีราคาม้าอัสดรไว้เพียง 2-3
กหาปณะเท่านั้น ไม่พึงให้เกินกึ่งหนึ่งของราคาลาตัวนี้ เพราะม้าอัสดรเป็นเพียงลูกของลา จักดีกว่าพ่อมิได้ ข้าพระองค์ไม่เข้าใจว่า เหตุไฉนพระองค์จึงกลับทรงตีราคาม้าอัสดรสูงลิบลิ่วกระทั่งหาค่ามิได้ พระดำรัสของพระองค์จะไม่ขัดแย้งกันดอกหรือ พระเจ้าข้า
ท้าวเธอทรงจำนนต่อเหตุผลที่มโหสถกล่าวมา จึงทรงนิ่งไปชั่วขณะ มโหสถจึงอาศัยช่วงโอกาสนั้น กราบทูลต่อไปอีกว่า
ข้าแต่สมมติเทพ หากพระองค์จะทรงสำคัญว่า บิดาย่อมประเสริฐกว่าบุตรในที่ทั้งปวง นั่นก็หมายความว่า พ่อลาตัวนี้ย่อมประเสริฐกว่าลูกม้าอัสดร ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์โปรดทรงรับลาตัวนี้ไว้เถิด ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมถวาย แต่หากว่าพระองค์จะทรงสำคัญว่า บุตรอาจประเสริฐกว่าบิดาได้บ้างในบางกรณี เมื่อเป็นเช่นนั้น ม้าอัสดรก็ควรค่าที่พระองค์จะทรงรับไว้แทนลาตัวนี้ ทั้งหมดที่ข้าพระองค์กราบทูลมานี้ ก็สุดแล้วแต่พระองค์จะทรงพระดำริเลือกเอาระหว่างลากับม้าอัสดรเถิดพระเจ้าข้า
สิ้นคำกราบบังคมทูลของมโหสถ พระองค์จึงทรงโสมนัสยิ่งนัก เพราะยิ่งทรงดำริตามคำทูลของมโหสถ ก็เห็นว่าเป็นจริงตามนั้นโดยมิอาจปฏิเสธได้ พระพักตร์ที่โศกสลดอยู่ บัดนี้ก็กลับเปล่งปลั่งขึ้นอย่างเช่นได้ชัด
ข้าราชบริพารทั้งปวงในที่นั้น ได้ฟังวาทะย้อนปัญหาของมโหสถแล้ว ก็ปีติยินดี
มาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจนึกแคลงใจว่า ธรรมดาพระโพธิสัตว์ย่อมจะรู้อุปการะคุณของบิดามารดา มีความเคารพในบิดามารดาอย่างยิ่งมิใช่หรือ เมื่อเป็นดังนี้ การที่มโหสถบัณฑิตนั่งในที่สูงกว่าบิดา และกราบทูลพระราชาเช่นนั้น จะถือว่าเป็นดูหมิ่นบิดาของตนหรือไม่
ข้อนี้ถือว่าไม่เป็นการดูหมิ่นบิดาของตนแต่อย่างใด เหตุที่มโหสถต้องกราบทูลไปเช่นนั้น เพราะปัญหาที่อาจารย์เสนกะผูกขึ้นครั้งนี้ ได้แฝงเงื่อนงำที่ซับซ้อนอยู่ไม่น้อย จำต้องแก้ปมปัญหาให้ตรงตามวิถีแห่งปัญหานั้น มิได้ประสงค์จะดูหมิ่นบิดาของตนแต่อย่างใด[/URL]
การที่ผู้ใดจะสามารถคลายปมปัญหาให้กระจ่างในท่ามกลางมหาสมาคมนั้น มิใช่ว่าจะกระทำกันได้ง่ายๆ ด้วยเหตุนี้เอง มโหสถจึงจำเป็นต้องคิดหาอุบายที่แยบคาย เพื่อจะคลี่คลายปัญหานั้นให้กระจ่าง
ในเวลานั้น พระเจ้าวิเทหราชทรงมีพระราชหฤทัยโสมนัสเป็นที่ยิ่ง ถึงกับตรัสเรียกท่านสิริวัฒกเศรษฐีเข้ามาเฝ้า ณ ที่ใกล้ ทรงจับพระสุวรรณภิงคารคือพระเต้าทองคำอันเต็มด้วยน้ำหอม แล้วหลั่งรินลงในมือของสิริวัฒกเศรษฐี พร้อมมีพระบรมราชโองการว่า สิริวัฒกเศรษฐีผู้เป็นศรีสง่าของชาวปาจีนยวมัชฌคาม ขอท่านจงปกครองบ้านปาจีนยวมัชฌคามเยี่ยงพระราชาเถิด แม้เหล่าอนุเศรษฐีทั้งหลายในปาจีนยวมัชฌคาม ก็จงเป็นข้าเฝ้าของท่านแต่เพียงผู้เดียวเถิด
ตรัสดังนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเครื่องประดับอันงดงาม สมควรเป็นเครื่องประดับของพระเทวี โดยรับสั่งให้เจ้าพนักงานจัดส่งไปพระราชทานแก่นางสุมนาเทวีผู้เป็นมารดาของมโหสถถึงปาจีนยวมัชฌคามในทันที และเพราะเหตุที่ทรงพอพระทัยใน[URL=http://www.dmc.tv/images/dhamma_for_people/mahosathapandita/41/mahosathapandita41-05.jpg] (http://www.dmc.tv/images/dhamma_for_people/mahosathapandita/41/mahosathapandita41-03.jpg)
ตัวมโหสถยิ่งนัก พระราชาจึงมีรับสั่งกับท่านเศรษฐีว่า ท่านคฤหบดี ขอท่านจงให้มโหสถแก่เราเถิด เราปรารถนาจะรับเธอไว้ในฐานะราชกุมารของเราเลยทีเดียว












กรุณารออ่านตอนต่อไป ครับ

8ocdj
08-02-2009, 09:28 PM
ขอได้ทรงทราบเถิดว่าบิดาไม่ดีกว่าบุตรเสมอไป หรือถ้าพระองค์ยังทรงเห็นว่าบิดายังดีกว่าบุตรเสมอไปแล้ว จงโปรดรับบิดาของข้าพระบาทไว้แล้ว อนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้ากลับไปเถิด พอพระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำแก้ไขอันนี้ พระองค์ก็ทรงปลื้มพระหฤทัย ตรัสว่า เมื่อกี้นี้เราหลงเข้าใจผิดตามคำของนักปราชญ์ทั้ง ๔ ตรัสดังนี้แล้ว ได้ทรงขอมโหสถไว้เป็นพระราชบุตรบุญธรรม จากสิริวัฒกเศรษฐีผู้เป็นบิดา แล้วโปรดให้อยู่เป็นข้าเฝ้ารับราชการต่อไป แต่มโหสถกุมารได้ทูลขอออกเป็นข้าเฝ้าเรือนนอก คือ ขอไปสู่อยู่นอกพระราชวัง
เรื่องที่ ๑๙ คือเรื่องแก้วมณี
เรื่องแก้วมณีนั้นว่า อยู่มาวันหนึ่ง มีคนได้เห็นเงาแก้วมณีในสระโบกขรณีในที่ใกล้ประตูพระนครข้างทิศทักษิณ จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่ามีแก้วมณีดวงใหญ่อยู่ที่สระโบกขรณีนั้น พระเจ้าวิเทหราชก็โปรดให้เสนาไปพิจารณาดู เสนาก็เข้าใจว่า แก้วมณีนั้นอยู่ใต้น้ำจึงให้คนทั้งหลายช่วยกันวิดน้ำในสระโบกขรณีนั้นเสีย คนทั้งหลายก็กระทำตาม เมื่อไม่พบแก้วมณีดวงนั้นก็กลับไป ในเวลาน้ำเต็มสระโบกขรณีนั้นก็แลเห็นเงาแก้วมณีดวงนั้นอีก เสนาก็เกณฑ์ให้ผู้คนช่วยกันวิดน้ำค้นดูอีก ทำอยู่อย่างนี้เป็นหลายครั้ง พระเจ้าวิเทหราชจึงรับสั่งให้มโหสถกุมารออกไปพิจารณาดู พอมโหสถกุมารไปแลเห็นเงาแก้วมณีนั้นก็เข้าใจว่าแก้วมณีนั้นไม่ได้อยู่ใต้น้ำ ต้องอยู่บนยอดตาลแน่นอน แต่เพื่อจะให้คนทั้งหลายรู้เห็นตามตนด้วยจึงให้คนยกถาดน้ำไปวางลงตรงแก้วมณีนั้น แล้วจึงชี้ให้คนทั้งหลายดูว่าท่านทั้งหลายจงดูเถิดถ้าแก้วมณีมีอยู่ใต้น้ำแล้ว คงไม่มีเงาปรากฏอยู่ในถาดน้ำนี้ แก้วมณีนี้ต้องอยู่บนยอดตาลเป็นแน่ ว่าแล้วก็ให้คนขึ้นไปดู ก็ได้แก้วมณีที่รังกาลงมา คนทั้งหลายก็พร้อมกันแช่งด่าเสนาว่า ทำให้พวกคนลำบาก ส่วนมโหสถก็ได้นำแก้วมณีดวงนั้นเข้าไปถวาย สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงโปรดปราน ได้พระราชทานแก้วมุกดาหารเครื่องประดับพระศอแก่มโหสถกุมาร และให้พระราชทานแก้วมุกดาหาร อันเป็นเครื่องประดับอื่นแก่บริวารของมโหสถกุมารอีกจนครบทั้งพันคน ตรัสสั่งว่า ในเวลาจะเข้าเฝ้าเราจงให้พากันลงเครื่องประดับนี้เข้ามาทุกครั้งไป เมื่อพระราชทานรางวัลเสร็จแล้ว ก็ทรงตั้งมโหสถกุมารให้เป็นเสนาบดีต่อไป
ต่อนี้ไปเป็นเรื่องแสดงปัญญาบารมีของมโหสถในตอนที่เป็นเสนาบดีแล้ว อีกหลายเรื่อง มีว่ามาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชเสด็จออกไปประพาสพระราชอุทยานพร้อมกับมโหสถกุมาร มีกิ้งก่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่ปลายเสาใต้ริมประตูพระราชอุทยาน พอกิ้งก่าตัวนั้นได้เห็นพระมหากษัตริย์เสด็จมาก็ลงจากปลายเสาได้หมอบอยู่กับพื้นดิน พอพระภูมินทราธิบดีได้ทอดพระเนตรเห็นกิริยากิ้งก่านั้นแล้วจึงตรัสถามพระมโหสถว่า ดูก่อนบัณฑิต กิ้งก่านั้นมันทำอะไร พระมโหสถกราบทูลว่า อันธรรมดาสัตว์ดิรัจฉานย่อมไม่ต้องการสมบัติพัสฐาน มันต้องการแต่เพียงของกินเท่านั้น จึงตรัสถามว่า ก็ธรรมดากิ้งก่ามันกินอะไรเล่า กราบทูลว่ามันกินเนื้อพระเจ้าข้า จึงตรัสสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะให้ทรัพย์เป็นค่าเนื้อแก่กิ้งก่าวันละกิ่งมาสก ครั้นสั่งแล้วก็ทรงตั้งบุรุษหนึ่งไว้สำหรับให้เป็นคนซื้อเนื้อสัตว์ให้กิ้งก่าตัวนั้นทุกวันไป อยู่มาวันหนึ่งเป็นวันอุโบสถไม่มีผู้ใดฆ่าเนื้อและปลาไปขายในตลาด บุรุษผู้นั้นก็ไม่สามารถที่จะหาซื้อเนื้อไปให้กิ้งก่านั้นได้ ครั้นจะเก็บค่าเนื้อไว้ก็เกรงพระราชอาญา ยักยอกของหลวง จึงเอาทรัพย์กิ่งมาสกนั้นไปผูกคอกิ้งก่าไว้ เช้าขึ้นสมเด็จพระเจ้าวเทหราชก็เสด็จออกประพาสพระราชอุทยานอีก พอกิ้งก่าตัวนั้นแลเห็นก็ไม่ลงไปถวายบังคมด้วยมีมานะว่าเราก็มีทรัพย์เหมือนกับพระมหากษัตริย์ ได้แต่ชูศรีษะผงกอยู่บนเสา
พระมหากษัตริย์ได้ทอดพระเนตรเห็นกิริยากิ้งก่านั้นแล้ว จึงตรัสถามพระมโหสถว่า อย่างไรมโหสถกิ้งก่าตัวนี้จึงไม่ลงมาถวายบังคมเราเหมือนเมื่อก่อนเล่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะกิ้งก่าตัวนี้เป็นชาติต่ำช้า คงมีมานะขึ้นด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ครั้นกราบทูลแล้วจึงพิจารณาดู ก็เห็นทรัพย์กิ่งมาสกผูกติดอยู่กับคอกิ้งก่า จึงกราบทูลให้ทรงทราบ พระมหากษัตริย์ก็กริ้วว่า กิ้งก่าตัวนี้อหังการจงให้ประหารมันเสีย พระมโหสถจึงกราบทูลคัดค้านว่า ขอพระราชทานธรรมดาสัตว์ดิรัจฉานย่อมไม่รู้สึกผิดถูก หนักเบา ขออย่าได้ลงพระราชอาญาแก่มันเลย เพียงแต่โปรดให้งดจ่ายพระราชทรัพย์ให้เป็นค่าเนื้อแก่มันเท่านั้นก็พอ พระมหากษัตริย์เจ้าก็ทรงอนุมัติตาม โปรดให้ตัดค่าอาหารของกิ้งก่านั้นเสีย จบเรื่องกิ้งก่าแต่เท่านี้ อันนี้แหละที่โบราณได้ผูกเป็นสุภาษิตไว้ว่า กิ้งก่าได้ทอง
อเลโก มิลิลวาสี ปิงคฺตฺตโร นาม มาณโว ต่อไปนี้เป็นเรื่องนางอุทุมพร จักใด้เป็นอัครมเหสีของจอมอดิสรวิเทหราช มีเรื่องว่า
โปรดติดตามอ่านต่อตอนต่อไปครับ

8ocdj
08-07-2009, 08:47 PM
ห้องกระทู้คงโดนกระทู้จึงได้ชำรุดซ่ะหลายวัน อ่านต่อครับ
อเถโก มิถิลวาสี ปิงฺคุตฺตโร นาม มาณโว ต่อไปนี้เป็นเรื่องนางอุทุมพร จักได้เป็นอัครมเหสีของจอมอดิสรวิเทหราช มีเรื่องมาว่าครั้นต่อมามีมาณพคนหนึ่งชื่อว่า ปิงคุตตรมาณพ(อ่าน ปิง-คุด-ตะ-ระ-มา-นบ) ซึ่งเป็นชาวเมืองมิถิลา ได้ไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักทิศาปาโมกขอาจารย์ เมืองตักกสิลา ได้เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของอาจารย์นั้นด้วย ครั้นสำเร็จการศึกษาแล้ว ทิศาปาโมกขอาจารย์ก็ยกธิดาผู้ใหญ่ของตน ให้เป็นภรรยาแห่งปิงคุตตรมาณพนั้นตามธรรมเนียมของทิศาปาโมกข์อาจารย์ คือ ธรรมเนียมของทิศาปาโมกขอาจารย์นั้นมีอยู่ว่า ถ้ามีธิดาแล้วต้องยกให้เป็นภรรยาแห่งศิษย์ผู้ใหญ่นั้นเสมอไป ก็ธิดาแห่งทิศาปาโมกข์คนนั้น เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ จรรยาสมบัติ พระบุญญาภินิหารอันได้สะสมอบรมมาเป็นอันมาก ส่วนปิงคุตตรมาณพนั้นเป็นแต่ผู้มีศิลปวิทยาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้มีบุญวาสนามาก เพราะฉะนั้นนับแต่เวลาที่อาจารย์ยกลูกสาวให้เป็นภรรยาแล้ว ก็ให้เกลียดนางนั้นยิ่งนัก ในเวลาจะเข้านอนก็ไม่ร่วมกับนาง ถ้านางขึ้นไปนอนบนเตียง มาณพนั้นก็เลี่ยงลงมานอนเสียข้างล่าง ครั้นนางตามลงมาข้างล่าง ก็เลี่ยงขึ้นไปเสียบนเตียง เมื่อนางตามขึ้นไปบนเตียง ก็เลี่ยงลงมาเสียข้างล่าง เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดถึง 7 วัน ครั้นครบ 7 วันแล้ว มาณพนั้นก็อำลาอาจารย์พานางนั้นออกจากเมืองตักกสิลา เพื่อจักกลับมายังเมืองมิถิลา อันเป็นบ้านเมืองของตน ในเวลาที่เดินทางมาซึ่งกินเวลาหลายวันหลายคืนนั้นมาณพนั้นจะได้พูดจากับนางนั้นแม้แต่สักคำหนึ่งก็หามิได้ แต่ที่รับมาด้วยนั้น ก็เพราะเกรงกลัวอาจารย์ ครั้นมาถึงใกล้เมืองมิถิลาได้เห็นต้นมะเดื่อซึ่งมีผลอันสุกอยู่ต้นหนึ่ง จึงขึ้นไปเก็บกินมะเดื่อตามสบาย ฝ่ายนางก็ร้องขอขึ้นไปว่า ขอจงทิ้งมะเดื่อลงมาให้ดิฉันรับประทานบ้างเถิด ข้างบุรุษนั้นก็ตอบลงมาว่า มือเท้าของแกไม่มีหรือ จึงไม่ขึ้นมาเก็บกินเอง นางนั้นก็ขัดใจขึ้นมา จึงพยายามปีนป่ายขึ้นไปบนต้นมะเดื่อ เมื่อมาณพนั้นได้ช่อง จึงค่อยๆย่องลงมาแล้วหาเรียวหนามมาสะโคนต้นมะเดื่อเสีย เพื่อไม่ให้นางลงมาได้ จึงร้องตะโกนออกไปว่า ที่นี้เราพ้นทุกพ้นร้อนแล้ว ว่าแล้วก็เดินหนีไปโดยเร็วพลัน ฝ่ายนางนั้นก็นั่งร้องไห้อยู่บนต้นมะเดื่อน่าเวทนา ด้วยจะลงมาก็ลงไม่ได้เพราะติดเรียวหนาม
ตํ ทิวสํ ราชา อุยฺยานํ คจฺฉนฺโต ในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าวิเทหราช เสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ได้เสด็จผ่านมาทางนั้น พอได้ทอดพระเนตรเห็นนางนั้น ก็ทรงเสน่หารักใคร่ จึงตรัสใช้อำมาตย์ไปซักถามตามพระราชโองการ ทราบข่าวว่ามีสามีแล้วแต่สามีทิ้งเสีย ท้าวเธอจึงโปรดให้จัดการรับลงมาจากต้นมะเดื่อ แล้วรับขึ้นลูช้างพระที่นั่งนำเข้าไปตั้งไว้เป็นอัครมเหสี พระราชทานพระนามตามที่ทรงได้ที่ต้นมะเดื่อว่า พระนางอุทุมพรราชเทวี อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้ทรงรถพระที่นั่งคันเดียวกันกับพระนางอุทุมพรราชเทวี มีเสนาอำมาตย์ราชปุโรหิตแวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ปิงคุตตรมาณพแผ้วถางทาง คือ ปิงคุตตรมาณพได้ถูกเกณฑ์ไปถางทางรับเสด็จ เวลาเสด็จถึงที่นั้น มาณพกำลังนุ่งผ้าเหน็บรั้งถกเขมนเป็นเกลียวถางหญ้าอยู่ที่ริมมรรคา พอพระนางอุทุมพรราชเทวีได้ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงจำได้ จึงทรงพระดำริว่า บุรุษคนนี้เราเข้าใจว่าเป็นคนใหญ่คนโต ไม่รู้เลยว่าเป็นคนกุลีเช่นนี้ ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้วก็ทรงพระสรวล สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้ทอดพระเนตรเห็นจึงทรงตรัสถามว่า เหตุไรเจ้าจึงหัวเราะ พระนางกราบทูลว่า เพราะเหตุหม่อมฉันได้เห็นบุรุษผู้เป็นสามีเก่าซึ่งทิ้งหม่อมฉันไว้ที่ต้นมะเดื่อแล้วหนีมาแผ้วถางหนทางอยู่นี้ หม่อมฉันจึงนึกว่า บุรุษเป็นคนกาลกัณณี จึงไม่อาจจะรับเราซึ่งเป็นคนมีสิริไว้ได้ ไม่ใช่หัวเราะด้วยเหตุอื่นเลยพระเจ้าข้า
ฝ่ายพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเชื่อว่า เหตุไรบุรุษผู้หนุ่มแน่นเช่นนี้ จึงจะทิ้งผู้หญิงอันกำลังสาวสวยเช่นนี้ไปได้ ชะรอยเจ้าจะหัวเราะด้วยเหตุอื่น เจ้าจงบอกเราไปตามความจริง ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงชักพระขรรค์ออกเงื้อง่าว่า เมื่อเจ้าไม่บอกตามความจริง เราจักตัดคอเจ้าในเดี๋ยวนี้ เมื่อพระนางเจ้าได้ทรงเห็นพระอาการเช่นนี้ ก็ทรงตกพระทัยยิ่งนัก จึงกราบทูลขึ้นว่า ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า ถ้าไม่ทรงเชื่อว่า หม่อมฉันหัวเราะคนกาลกัณณีแล้ว ขอได้โปรดถามนักปราชญ์ดูเถิด
ลำดับนั้น พระมหากษัตริย์จึงผินพระพักตร์ไปตรัสถามเสนกว่า ดูก่อนเสนก ถ้อยคำที่นางนี้ทูลเล่าว่า ได้หัวเราะคนกาลกัณณี ซึ่งเป็นสามีเก่าของตน ดังนี้ เสนกเชื่อหรือไม่ว่า อันชายหนุ่มจะทิ้งหญิงซึ่งมีรูปร่างอันสวยงามเช่นนี้ได้โดยง่าย เราเข้าใจว่า นางหัวเราะเยาะเราด้วยเหตุอื่นต่างหาก
เสนกจึงกราบทูลขึ้นว่า ข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยเลย ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจว่า อันธรรมชายหนุ่มหญิงสาวเมื่อได้กันเป็นสามีภรรยาแล้วใหม่ๆ ย่อมไม่ทิ้งกันไปโดยง่ายๆ ยิ่งเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ด้วยรูปลักษณะ และกิริยามรรยาทอันดีงามเหมือนกับพระอัครมเหสีนี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งยากนักที่บุรุษจะทิ้งไปได้โดยง่าย
เมื่อเสนกกราบทูลดังนี้แล้วจึงทรงพระดำริว่า ควรจะถามมโหสถบัณฑิตดูจึงจะรู้แน่ว่า จะเท็จจริงประการใด จะเชื่อถือตามถ้อยคำของเสนกนี้ผู้เดียวไม่ได้ ครั้นทรงพระดำริแล้ว จึงตรัสถามมโหสถว่า
ดูก่อนพ่อมโหสถ เจ้าจะเห็นเป็นประการใด
มโหสถกราบทูล ขอพระราชทาน อันตัวข้าพระองค์นี้เชื่อถือว่า เป็นจริงตามถ้อยคำของพระนางเจ้า เพราะธรรมดามีอยู่ว่า สิริกับกาลกิณี ย่อมไกลกันเหมือนฟ้ากับดิน เหมือนฝั่งสมุทรข้างโน้นกับฝั่งสมุทรบ้างนี้ ถ้าข้างบุรุษเป็นคนกาลกัณณี ข้างสตรีเป็นคนมีสิริ หรือข้างสตรีเป็นคนกาลกิณี ข้างบุรุษเป็นคนมีสิริแล้ว ย่อมไม่อาจที่จะใกล้เคียงกันได้เลย โดยเหตุนี้ ข้าพระองค์จึงเชื่อแน่ว่า มาณพนี้เป็นคนกาลกิณี ส่วนพระนางเจ้าเป็นคนมีสิริ จึงจำเป็นต้องทิ้งพระนางเสีย เมื่อพระนาง ทอดพระเนตรเห็นเขากำลังถางทางอยู่เช่นนี้ จึงได้ทรงหัวเราะขึ้น โดยเป็นธรรมดาของสตรีทั้งหลาย เมื่อได้ดีกว่าผัวแล้วย่อมเยาะเย้ยผัวเก่าไม่เข้าการ แต่เป็นนิสัยของผู้หญิงทั้งหลาย มักมีอย่างนี้เสมอไป ขอพระองค์ได้โปรดพระราชทานอภัยให้แก่พระนางด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับรองว่า ไม่ใช่พระนางจะทรงหัวเราะเยาะพระองค์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเลย หรือไม่ใช่พระนางจะทรงหัวเราะเยาะกับชายใดชายหนึ่ง โดยพระนางทรงสิเน่หารักใคร่เป็นอันขาด
เมื่อสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับถ้อยคำของมโหสถดังนี้แล้ว ก็ทรงเห็นด้วย จึงทรงพระราชทานอภัยให้แก่พระนางอุทุมพรราชเทวี
พระนางอุทุมพรราชเทวีก็แสนที่จะชอบใจพระมโหสถ จึงกราบบทูลว่า ขอเดชะ หม่อมฉันได้พ้นจากความตายในครั้งนี้ก็เพราะมโหสถบัณฑิต โดยเหตุนี้ หม่อมฉันขอรับมโหสถบัณฑิตไว้เป็นน้องชายเหมือนกับว่าร่วมอุทรกันมา นับแต่นี้เป็นต้นไป ท้าวเธอก็ทรงอนุญาต // แล้วพระนางจึงทูลขอพระพรอีกต่อไปว่า นับแต่วันนี้ไป ขอให้มโหสถบัณพิตเข้าวังได้ทุกเวลา และขอให้หม่อมฉันได้ส่งของกินอันมีรสอร่อย ๆ ไปให้มโหสถได้ทุกเวลา อย่าให้นายประตูห้ามปรามเป็นอันขาด ฉะนี้ เพื่อหม่อมฉันจะได้ตอบแทนบุญคุณมโหสถบัณฑิต ท้าวเธอก็ทรงพระราชทานให้ ตามที่พระนางทูลขอ สิ้นเนื้อความในตอนพระนางอุทุมพร ซึ่งเรียกว่า สิริกาลกิณีปัญหาเพียงเท่านี้
เรื่องนี้แม้ในตำนานอื่นก็เคยมีว่า เมื่อครั้งทศกัณฑ์ได้รับพรจากพระอิศวรให้ขอพรได้ประการหนึ่ง ทศกัณฑ์ก็ขอพระนางอุมา พระอิศวรก็ประทานให้ ก็เลยเป็นกรรมของทศกัณฑ์ เพราะตนเองเป็นกาลกิณี คู่กับพระนางอุมา จึงเข้าใกล้พระนางก็ไม่ได้ให้ร้อนรนทนไม่ได้ จะพาพระนางอุมาไปแห่งใดก็ต้องทูนไว้เหนือหัวจึงจะพาไปได้ (ผู้โพส-8ocdj)
อปรสฺมี ทิวเส ราชา กตปาตราโส ปาสาทสฺส ฑฆนฺตเร จงฺกมนฺโต วาสปานนฺตเรน โอโลเกนฺโต เอกํ เอฬกญฺจ สุนขญฺจ มิตฺตสนฺถวํ กโรนฺโต อททส โส กิร เอฬโก ทตฺถีสาลาบ หตฺถิสฺส ปุรโต ขิตตํ อยนามฏจํ ติณํ ขาทีติ
ดำเนินความว่า ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชเสด็จพระราชดำเนินไปๆ มาๆ อยู่ที่หน้ามุขแห่งพระมหาปราสาท ได้ทอดพระเนตรเห็นแพะกับสุนัขทำไมตรีแลกอาหารกัน

8ocdj
08-09-2009, 09:22 PM
ดำเนินความว่า ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชเสด็จพระราชดำเนินไปๆ มาๆ อยู่ที่หน้ามุขแห่งพระมหาปราสาท ได้ทอดพระเนตรเห็นแพะกับสุนัขทำไมตรีแลกอาหารกัน คือ แพะเข้าไปคาบเอาเนื้อและปลาในโรงครัวมาให้สุนัข ฝ่ายสนัขก็ได้เข้าไปคาบเอาหญ้าในโรงช้างมาให้แพะกิน การที่เป็นดังนี้ มีต้นเหตุว่า เมื่อก่อนแพะได้เข้าไปขโมยหญ้ากินในโรงช้าง ถูกควาญช้างตีให้ได้รับทุกเวทนา ส่วนสุนัขเข้าไปลักเนื้อปลากินในโรงครัว ก็ถูกพวกพ่อครัวตี ได้รับความเจ็บปวดอย่างสาหัส สัตว์ทั้งสองวิ่งหลังแอ่นไปพบกันที่ข้างหลังปราสาทแล้วไต่ถามถึงต้นเหตุซึ่งกันและกัน เมื่อได้ทราบความแล้วจึงทำเป็นมิตรกัน ไปหาอาหารแลกกันกิน ดังที่พระมหากษัตริย์ได้ทอดพระเนตรเห็นนั้น ครั้นพระมหากษัตริย์ได้ทอดพระเนตรเห็นแล้วก็ทรงรู้สึกแปลกพระหฤทัยว่าเหตุไรหนอ สัตว์ทั้งสองซึ่งไม่เคยถูกกันเลยจึงมาถูกกันเช่นนี้ได้ จำเราจะต้องผูกเป็นปัญหาไต่ถามนักปราชญ์ ถ้าใครแก้ไม่ได้ก็จะเนรเทศเสีย ถ้าใครแก้ได้ก็จะชุบเลี้ยงต่อไป ในเวลารุ่งเช้าขึ้น เมื่อนักปราชญ์ทั้ง ๕ เข้าเฝ้า จึงตรัสถามว่า ดูก่อนนักปราชญ์ทั้งหลาย สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมิตรกันเลยไม่เคยเดินตามกันเลยแม้แต่เพียงก้าวเดียว บัดนี้ สัตว์ทั้งสองนั้นได้มาเกิดเป็นมิตรไมตรีกันขึ้น จะได้แก่สัตว์จำพวกไหนหนอขอท่านทั้งหลายจงชี้แจงไป ถ้าผู้ใดขี้แจงไม่ได้เราก็จะเนรเทศผู้นั้นเสีย ถ้าผู้ใดชี้แจงได้ เราก็จักชุบเลี้ยงต่อไป
ครั้นได้ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ในขณะนั้น นักปราชญ์ทั้งสอง คือ เสนกกับมโหสถต่างก็ตรองเห็นพ้องกันว่า ถ้าได้โอกาสสักวันหนึ่งหรือสองวัน ก็อาจคิดค้นหาเหตุผลมากราบทูลถวายได้ ฝ่ายเสนกจึงมองดูตามโหสถ ๆ ก็รู้ความประสงค์ของเสนก จึงกราบทูลขึ้นว่า ขอพระราชทาน อันปัญหานี้เป็นปัญหาที่ลึกซึ้งลี้ลับ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่อาจกราบทูลในเวลานี้ได้ ถ้าจะทรงพระกรุณาพระราชทานโอกาสสักวันหนึ่งก่อนก็อาจจะกราบทูลได้ จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเราให้เวลาแก่ท่านทั้งหลาย ๑ วัน ถ้าพรุ่งนี้เช้าผู้ใดแก้ไขไม่ได้เราก็ตะเนรเทศผู้นั้นแน่นอน ตรัสฉะนี้แล้วก็เสด็จเข้าที่ประทับ ฝ่ายนักปราชญ์ทั้ง ๕ ก็พากันกลับออกจากที่เฝ้า ส่วนมโหสถเมื่อออกจากที่เฝ้าแล้วได้ย้อนเข้าไปเฝ้าพระนามอุทุมพรราชเทวี กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระเจ้าพี่ เมื่อวันก่อนๆ ก็ดี เมื่อวันนี้ก็ดี พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปที่ไหนบ้าง พระนางตรัสตอบว่า เมื่อวานนี้ เห็นเสด็จเดินไปมาอยู่ที่หนึ่งหน้ามุขปราสาทนาน ไม่ทราบว่าจะมีเหตุการณ์ประการใด มโหสถจึงคิดว่า พระมหากษัตริย์คงได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งในที่นั้นเป็นแน่ ครั้นคิดแล้วจึงรีบเดินไปตรวจดู ก็ได้เห็นแพะกับสุนัขแสดงอาการเป็นไมตรีต่อกันแลกอาหารกันกินดังที่แสดงมาแล้วนั้น จึงคิดว่า อ้อ ? พระมหากษัตริย์เจ้าได้ทรงเห็นเหตุอันนี้เอง จึงได้ทรงเก็บเอาไปตั้งเป็นปัญหาไต่ถามพวกเรา พรุ่งนี้เช้าเราจะกราบทูลให้ทรงทราบตามที่เป็นจริง ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงกลับไปสู่เคหสถาน อาบน้ำชำระกายแล้วบริโภคอาหารโดยผาสุกสำราญ
อิตเรปิ ตโย จินฺเตตวา กิญจิ อทิสวา ฝ่ายนักปราชญ์ทั้ง ๓ คือ ปุกกุส กามินฑ์ เทวินท์ เมื่อกลับไปถึงบ้านเรือนนั่งคิดนอนคิดก็ไม่เป็นเหตุผลต้นปลาย แล้วจึงพากันไปหาเสนกผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ ไต่ถามว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ปัญหาที่ตรัสถามนั้นท่านอาจารย์คิดได้แล้วหรือยังประการใด เสนกจึงตอบ เราจะคิดได้ที่ไหน เพราะปัญหานี้เป็นของเหลือวิสัยของพวกเรา
นักปราชญ์ทั้ง ๓ จึงกล่าวขึ้นว่า ถ้าอย่างนั้นพวกเราก็จะต้องถูกเนรเทศเป็นแน่นอน ควรพวกเราจะไปฟังดูมโหสถว่าจักคิดได้แล้วหรือยังเสนกจึงกำชับว่า ถ้าอย่างนั้นพวกเราจะต้องทำเป็นรู้แล้ว เพื่อหลอกถามมโหสถ ไม่อย่างนั้นหากมโหสถคิดได้ก็จักดูถูกพวกเรา ว่าแล้วเสนกก็พานักปราชญ์ทั้ง ๓ ไปที่บ้านมโหสถ สนทนาปราศรัยพอสมควรแล้วจึงกล่าวขึ้นว่า ดูก่อนมโหสถ พวกเรามาเยี่ยมท่านด้วยนึกสงสารท่านว่า พรุ่งนี้อาจถูกเนรเทศโดยเหตุที่แก้ปัญหาถวายพระมหากษัตริย์ไม่ได้
ฝ่ายมโหสถจึงกล่าวขึ้นว่า ขอบพระคุณท่านทั้ง ๔ ที่ได้มีความกรุณาแก่ข้าพเจ้าเช่นนี้ แต่ข้าพเจ้าขอถามว่า ท่านทั้ง ๔ เล่า คิดได้แล้วหรือยัง เสนกจึงตอบว่า พวกเราคิดไม่ได้ใครเล่าจะคิดได้ ส่วนท่านมโหสถเล่าคิดได้แล้วหรือยัง มโหสถจึงตอบว่า ข้าพเจ้ก็คิดได้แล้วเหมือนกัน ดูก่อนมโหสถ ถ้าอย่างนั้นท่านจงว่าไปดูทีว่าจะถูกต้องดีหรือหาไม่ ถ้าไม่ถูกต้องเราก้จะกรุณาบอกให้ ดูก่อนเสนก เราจะว่าเวลานี้ไม่ได้ เพราะไม่มีประโยชน์อันใด ต่อเมื่อเข้าสู่ที่เฝ้าแล้วเราจึงจะกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวทีเดียว ถ้าจะให้ดีแล้วก็ควรที่ท่านที่ง ๔ จะว่าไปให้เราฟังเพื่อเราจะได้ช่วยชี้แจงให้เห็นว่าผิดหรือถูกประการใด ในเวลานั้น เสนกก็อิดเอื้อนไม่รู้ที่จะตอประการใด ได้แต่นั่งมองตากันกับนักปราชญ์ทั้ง ๓ นักปราชญ์ทั้ง ๓ จึงพูดขึ้นตามความเป็นจริงว่า ข้าแต่อาจารย์ ปัญหาข้อนี้เป็นอันจนใจพวกเราอยู่แล้ว ถ้ากระไรแล้วขออาจารย์จงขอเรียนกับมโหสถเสียเถิด ไม่อย่างนั้นพวกเราก็จะต้องถูกเนรเทศ ขอท่านอาจารย์จงตรึกตรองตามเหตุผลให้ดีเถิด ฝ่ายเสนกผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ก็จนใจที่จะนิ่งอยู่ จึงบอกแก่มโหสถตามความจริงว่า ข้าแต่เจ้าปราชญ์ ข้าพเจ้าทั้ง ๔ นี้จนใจแล้ว ขอท่านกรุณาบอกให้แก่ข้าพเจ้าทั้ง ๔ ด้วยเถิด
เมื่อพระมโหสถบรมโพธิสัตว์แจ้งชัดว่า นักปราชญ์ทั้ง ๔ คิดปริศนานี้ไม่ได้แล้ว จึงคิดว่า ถ้าเราไม่กรุณาบอกให้ คนอันธพาลทั้ง ๔ นี้ก็จะถึงซึ่งความพินาศเสียเปล่าจำเราจะต้องช่วยในคราวนี้
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปครับ

8ocdj
08-10-2009, 09:14 PM
เมื่อพระมโหสถบรมโพธิสัตว์แจ้งชัดว่า นักปราชญ์ทั้ง ๔ คิดปริศนานี้ไม่ได้แล้ว จึงคิดว่า ถ้าเราไม่กรุณาบอกให้ คนอันธพาลทั้ง ๔ นี้ก็จะถึงซึ่งความพินาศเสียเปล่าจำเราจะต้องช่วยในคราวนี้ ครั้นคิดแล้วจึงกล่าวว่า ดูก่อนท่านทั้ง ๔ ถ้าอย่างนั้นเราก็จะช่วยบอกให้ ในลำดับนั้น นักปราชญ์ทั้ง ๔ ก็ถอยลงนั่งในอาสนะอันต่ำ ประณมมือขึ้นคอยจดจำตามถ้อยคำที่พระมโหสถจะบอกให้ พระมโหสถก็บอกแต่เพียงเผินๆ เท่านั้น ไม่บอกให้แจ่มแจ้งเหมือนกับที่ตัวได้เห็นมา คือ บอกให้เป็นปัญหาคนละอย่างๆ ไป บอกเสนกะว่า อันธรรมดาเนื้อแพะย่อมเป็นที่พอใจของอำมาตย์และลูกหลวงทั้งปวง ส่วนเนื้อสุนัขนั้นจะได้เป็นที่พอใจของลูกอำมาตย์และลูกหลวงทั้งปวงนั้นหามิได้ บัดนี้แพะกับสุนัขได้เป็นมิตรกันแล้ว ดังนี้ฯ บอกให้ปุกกุสว่า ธรรมดาหนังแพะย่อมใช้เป็นเครื่องลาดหลังช้างหลังม้าได้ ส่วนหนังสุนัขนั้นย่อมไม่มีใครใช้เป็นเครื่องลาด บัดนี้แพะกับสุนัขได้เป็นมิตรสหายกันแล้วฯ บอกให้กามินท์ว่า ธรรมดาแพะย่อมมีเขาไปไปล่แปล้ไปข้างหลัง และกินหญ้าเป็นอาหาร ส่วนสุนัขย่อมไม่มีเขาและกินเนื้อปลาเป็นอาหาร บัดนี้แพะกับสุนัขได้เป็นมิตรสหายกันแล้วฯ บอกให้เทวินท์ว่า ตามธรรมดาแพะย่อมกินแต่หญ้าและใบไม้เป็นอาหาร ส่วนสุนัขจะได้กินหญ้าและใบไม้หามิได้ กินแต่กระต่ายหรือแมวเป็นอาหาร บัดนี้แพะกับสุนัขได้เป็นมิตรสหายกันแล้วฯ เมื่อมโหสถบอกให้แต่เพียงเท่านี้แล้วก็ส่งนักปราชญ์ทั้ง ๔ นั้นกลับไป
พอถึงวันรุ่งเช้าขึ้น ก็พากันเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชตามเวลาอันเคย สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชจึงตรัสถามเสนกะขึ้นก่อนว่า ดูก่อนเสนกะ ปัญหานั้นท่านคิดได้แล้วหรือยังประการใด เสนกะกราบทูลขึ้นว่า ขอพระราชทานถ้ากระหม่อมฉันคิดไม่ได้แล้ว ใครเล่าในโลกนี้จักคิดได้ ดูก่อนอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นจงว่าไปให้เราฟังเถิด เสนกก็ว่าถวาย ตามี่เรียนมาเฉพาะใจความย่อๆ จากมโหสถนั้น แต่พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงเข้าพระทัยว่าเสนกะได้รู้แจ่มแจ้งกว้างขวางด้วยปัญญาของตน จึงทรงตรัสซักถามปุกกุส กามินฑ์ เทวินท์ ต่อไปตามลำดับ นักปราชญ์ทั้ง ๓ นั้นก็ถวายแต่โดยย่อตามที่ตนได้เรียนมา
พระราชาก็ทรงเข้าพระทัยว่า นักปราชญ์ทั้ง ๓ นั้น ก็เก่งเหมือนกันกับเสนก แล้วจึงผินพระพักตร์ไปตรัสถามพระบรมโพธิสัตว์เจ้าว่า
ดูก่อนมโหสถ ปัญหานั้นเจ้าคิดได้แล้วหรือประการใด มโหสถจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน ผู้อื่นซึ่งมีอยู่ในโลกนี้นอกจากข้าพระองค์แล้วยากที่จะคิดได้ ถ้าอย่างนั้นขอเจ้าจงว่าไปให้เราฟังเถิด ขอพระราชทาน ขอพระองค์ได้โปรดทรงวินิจฉัยตามถ้อยคำที่ข้าพระองค์จะกราบทูลไปในบัดนี้ เมื่อกราบทูลอย่างนี้แล้วจึงกราบทูลขึ้นว่า ธรรมดาแพะย่อมมีเท้าได้ ๔ เท้า ก็กีบเท้าได้ ๘ กีบ แพะนั้นได้ไปลอบลักเอาเนื้อและปลามาให้แก่สุนัขกิน ส่วนสุนัขได้ไปคาบเอาหญ้ามาให้แพะกิน พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งสอง คือ แพะกับสุนัข อันเป็นมิตรกันด้วยอาการอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อพระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำก้ำไขของปราชญ์ทั้ง ๕ ดังนี้ แล้วก็ทรงปลื้มพระทัยว่า นักปราชญ์ทั้ง ๕ นั้น ล้วนแต่คิดได้ด้วยปัญญาของตน จึงทรงดีพระทัยว่าเราได้คนมีปัญญาไว้ถึง ๕ คน เป็นเครื่องอุ่นใจของเรามาก แล้วท้าวเธอก็ได้พระราชทานรางวัล คือรถอันเทียมด้วยม้าอัสดร ให้แก่นักปราชญ์ทั้ง ๕ นั้นคนละคันๆ ได้พระราชทานบ้านส่วยให้คนละพันๆ แล้วนักปราชญ์ทั้ง ๕ ก็ถวายบังคมลาออกจากที่เฝ้ากลับสู่ที่อยู่ของตนๆ เมื่อพระนางอุทุมพรราชเทวีได้ทรงทราบ ดังนั้น จึงเสด็จไปต่อว่าพระมหากษัตริย์ว่า พระองค์ไม่ควรพระราชทานรางวัลแก่นักปราชญ์ทั้ง ๕ คนนั้นเสมอกัน ควรจะให้มโหสถบัณฑิตนั้นมากกว่าเพราะนักปราชญ์ทั้ง ๔ แก้ปริศนาได้ด้วยอาศัยมโหสถบอกให้ทั้งนั้น จึงตรัสว่าถ้าอย่างนั้นเราผิดไปเสียแล้ว แต่ช่างเถิดเราจะแก้ไขให้ในวันหลัง ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งหาโอกาสที่จะยกย่องมโหสถบัณฑิตอยู่เป็นนิตยกาล จบเรื่องมโหสถตอบมณฑกปัญหา คือ คือปัญหาว่าด้วยแพะกับสุนัขเพียงเท่านี้
เบื้องหน้าแต่นี้จะแสดงตอนว่าด้วย สิริเมณฑกปัญหาคือ ตอนว่าด้วยปัญญากับทรัพย์สืบต่อไป

8ocdj
08-11-2009, 08:19 PM
แต่นี้จะแสดงตอนว่าด้วย สิริเมณฑกปัญหาคือ ตอนว่าด้วยปัญญากับทรัพย์สืบต่อไปอันมีเนื้อความว่า ครั้นอยู่มาวันหนึ่งสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชทรงพระดำริว่า เราจะต้องถามเรื่องปัญญาและทรัพย์แก่นักปราชญ์ทั้ง ๕ เพื่อจะได้มีโอกาสพระราชทานรางวัลแก่มโหสถกุมาร ให้ยิ่งกว่าปราชญ์ทั้ง ๔ ครั้นทรงพระดำริดังนี้แล้ว เวลานักปราชญ์ทั้ง ๕ เข้าเฝ้าจึงตรัสแก่เสนกะ อาจารย์ว่า ดูก่อนอาจารย์ เราประสงค์จะถามปัญหาแก่ท่านสักข้อหนึ่ง ท่านจะแก้ไขได้หรือไม่ประการใด เสนกะกราบทูลว่าขอพระราชทาน ได้โปรดถามตามพระราชประสงค์เถิดพระพุทธเจ้าข้า
ลำดับนั้น สมเด็จพระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสถามว่า ดูก่อนเสนกะ คนทั้งสองจำพวก คือจำพวกหนึ่งมีปัญญาอย่างเดียวไม่มีทรัพย์เลย จำพวกหนึ่งมีแต่ทรัพย์อย่างเดียวไม่ปัญญาเลย คน ๒ จำพวกนี้ท่านอาจารย์เห็นจำพวกไหนดีกว่ากัน
อยญฺจ ปญฺโห เสนกสฺส วํสานุคโต ก็แลปัญหานี้เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากวงศ์ตระกูลของเสนกะ เพราะฉะนั้น เสนกะจึงแก้ไขได้รวดเร็วว่า พระพุทธเจ้าข้า อันคนในโลกนี้เป็นนักปราชญ์ก็ตาม เป็นคนพาลก็ตาม เป็นคนมีศิลปวิทยาหรือไม่ก็ตาม เป็นคนตระกูลสูงหรือตระกูลต่ำก็ตามถ้าไม่มีทรัพย์แล้วก็ต้องเป็นทาสช่วงใช้ของคนมีทรัพย์ ส่วนคนที่มีทรัพย์นั้นจะเป็นคนโง่ ไม่มีศิลปวิทยา เป็นคนตระกูลต่ำต้อยสักปานใดก็ตาม ย่อมได้เป็นนายของคนที่ไม่มีทรัพย์ทั้งนั้น โดยเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นด้วยเกล้าฯว่า คนมีทรัพย์ดีกว่าคนที่มีปัญญา พระพุทธเจ้าข้า
ราชา ตสฺส วจนํ สุตวา ครั้นพระเจ้าวิเทหราช ได้ทรงสดับคำแก้ไขของเสนกะดังนี้แล้ว จึงถามนักปราชญ์ทั้งสามอันนั้งอยู่ ในลำดับแห่งเสนก ล่วงเลยตรัสถามมโหสถกุมารอันนั่งอยู่ในที่สุดแถว เหมือนกับพระบวชใหม่ว่า ดูก่อนมโหสถ เรื่องนี้จะเห็นอย่างไร มโหสถจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน อันธรรมดาคนที่มีแต่ทรัพย์อย่างเดียว ไม่มีปัญญาประกอบด้วยนั้น ย่อมเห็นแต่ได้ในปัจจุบันเท่านั้น ไม่เห็นโทษในอนาคตเลย ย่อมทำแต่สิ่งที่เป็นโทษทั้งนั้นในปัจจุบันและอนาคต ส่วนคนที่มีปัญญานั้นเล็งเห็นสิ่งที่เป็นโทษและเป็นคุณ แล้วแต่สิ่งที่เป็นคุณทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นว่า คนที่มีปัญญาอย่างเดียวดีกว่าคนที่มีทรัพย์อย่างเดียว พระพุทธเจ้าข้าฯ
พระเจ้าวิเทหราชจึงหันพระพักตร์ไปตรัสถามเสนกะว่า อย่างไรเสนกะ ฝ่ายมโหสถเขาว่า คนมีปัญญาดีกว่าคนมีทรัพย์ เสนกะจึงกราบทูลว่า ขอพระองค์อย่าได้เชื่อฟังถ้อยคำของ มโหสถ เลย เพราะเหตุว่ามโหสถยังเป็นเด็กอยู่มาก ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม ขอได้โปรดฟังถ้อยคำของข้าพระพุทธเจ้าเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอชี้แจงแต่ใกล้ๆ คือ โควินทกะเศรษฐีซึ่งอยู่ในเมืองนี้ เป็นตัวอย่างเถิดเศรษฐีคนนี้ไม่มีวิชาความรู้อะไร ทั้งลูกหญิงลูกชายแกก็มีรูปร่างเลวทรามต่ำช้า เวลาอ้าปากก็มีน้ำลายไหลมาอาบคาง แต่แกมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ ก็มีคนนับถือเกรงกลัว มีสตรีรูปงามๆ ดังนางฟ้าถือดอกบัวรองรับน้ำลายของแกอยู่ข้างละคน เมื่อรับน้ำลายของแกด้วยดอกบัวแล้วก็โยทิ้งไปทางหน้าต่าง พวกนักเลงสุราพากันเก็บเอาดอกบัวนั้นไปล้างน้ำแล้วทัดหูไปที่โรงสุรา พวกขายสุราเข้าใจว่าเป็นคนใช้ของโควินทกเศรษฐี ก็ตักสุราให้กินตามปรารถนา ด้วยเกรงบารมีของโควินทกเศรษฐี ด้วยเหตุนี้แหละ ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นว่า คนมีทรัพย์ดีกว่าคนมีปัญญา
พระเจ้าวิเทหราชจึงมีพระราชดำรัสถามมโหสถว่าพ่อมโหสถจะเห็นประการใดบทูลว่า พระมโหสถกราบทูลว่า ขอพระราชทาน อันคนที่ไม่มีปัญญานั้น ย่อมไม่รู้จัก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เมื่อมีทรัพย์ขึ้นแล้ว ย่อมมัวเมาแต่ในเบญจกามคุณ มีสันดานหมกมุ่นอยู่แต่ในสิ่งที่หาประโยชน์มิได้ เมื่อมีทุกขภัยเกิดขึ้นแก่ตนก็ย่อมมีแต่ดิ้นรนไม่รู้จักอุบายแก้ไข มีแต่ขัดแค้นในใจ ส่วนคนที่มีปัญญานั้นย่อมรู้จัก อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา ย่อมไม่มัวเมาในเบญจกามคุณ ไม่ทำสิ่งที่หาประโยชน์มิได้ เมื่อมีภัยเกิดแก่ตนก็ไม่ดิ้นรนหวั่นไหว รู้จักอุบายแก้ไขให้พ้นภัย โดยเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ขอกราบทูลว่า คนมีปัญญานั้นแหละดีกว่าคนมีทรัพย์ พระพุทธเจ้าข้าฯ
พระเจ้าวิเทหราชจึงหันไปตรัสถามเสนกะว่า ท่านเห็นประการใด เสนกะกราบทูลว่า ขออย่าเชื่อฟังมโหสถเลยพระพุทธเจ้าข้าฯ อันมโหสถนี้ว่าอ้อมค้อมไปเปล่าๆ ข้าพระพุทธเจ้าจะขออุปมาถวาย คือ ธรรมดาต้นไม้ที่มีผลบริบูรณ์ย่อมเป็นที่อาศัยแห่งนกทั้งหลายฉันใด ส่วนคนที่มีทรัพย์ก็ย่อมเป็นที่อาศัยแห่งคนทั้งหลายฉันนั้น อันคนมีปัญญานั้น ย่อมเหมือนกับต้นไม้ไม่มีผล โดยเหตุนี้ขอพระองค์ทรงเข้าพระทัยเถิดว่า คนที่มีทรัพย์นั้นแหละดีกว่ามีปัญญาพระพุทธเจ้าข้า ฯ
พระเจ้าวิเทหราชจึงหันไปตรัสถามมโหสถว่า พ่อจะเห็นประการใด มโหสถกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้าฯ อันคนที่มีแต่ทรัพย์ไม่มีปัญญานั้น เปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่มีผลเป็นพิษธรรมดาต้นไม้มีผลเป็นพิษนี้ ย่อมทำให้นกที่กินถึงแก่ความตายฉันใด ส่วนคนที่มีแต่ทรัพย์ไม่มีปัญญาก็ทำให้คนที่คบหาถึงซึ่งความพินาศ ด้วยเหตุต่าง ๆเป็นต้นว่า ใช้ให้ไปทำบาป มีการฆ่ารันฟันแทงผู้อื่นเป็นต้นฉะนั้น ส่วนคนมีปัญญานั้นย่อมมีแต่แนะนำให้คนอื่นละความชั่วทำแต่ความดี โดยเหตุนี้ขอพระองค์จงเข้าพระทัยเถิดว่า คนมีปัญญาดีกว่าคนมีทรัพย์พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าวิเทหราชจึงหันไปถามเสนกะว่า ท่านจะเห็นประการใด เสนกะจึงกราบทูลเฉลยไขด้วยอุปมาอย่างอื่นต่อไปว่า ขอพระราชทานธรรมดาน้ำในแม่น้ำทั้งหลายย่อมไหลไปสู่แม่น้ำคงคา แล้วไหลลงไปสู่มหาสมุทรเมื่อตกถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมหมดชื่อว่าเป็นน้ำในแม่น้ำนั้นแม่น้ำนี้ และหมดสีหมดรสเดิมของตนสิ้นฉันใด คนที่มีปัญญาอย่างเดียวเมื่อเข้าไปหาผู้มีทรัพย์แล้วย่อมอับเฉาไม่ออกหน้าออกตาฉันนั้น โดยเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นว่า คนมีทรัพย์ดีกว่าคนมีปัญญา ฯ
พระเจ้าวิเทหราชจึงหันไปตรัสถามมโหสถว่า เสนกะเขาว่าอย่างนี้ มโหสถจะเห็นเป็นประการใด มโหสถจึงกราบทูลว่า อันถ้อยคำเสนกะนั้นย่อมไม่ถูกตามความเป็นจริง คือธรรมดาน้ำในมหาสมุทรถึงจะมากสักเท่าใดก็ดี จะมีคลื่นมากกว่าหมื่นแสนก็ดี ก็ย่อมไม่ล้นฝั่งมหาสมุทรไปได้ฉันใด อันคนมีทรัพย์นั้น ถึงจะมีทรัพย์มากสักเท่าใดก็ดี ก็ย่อมไม่ล่วงพ้นคนที่มีปํญญาไปได้ฉันนั้น คือเมื่อเหตุอันสำคัญเกิดขึ้นแล้ว ทรัพย์เหล่านั้นย่อมจะช่วยคิดอ่านไม่ได้ จำต้องวิ่งไปหาคนที่มีปัญญา โดยเหตุนี้ คนมีปัญญาจึงจัดว่าดีกว่าคนมีทรัพย์ พระพุทธเจ้าข้าฯ
พระมหากษัริตย์จึงหันไปตรัสถามเสนกะอีกว่า ท่านจะเห็นเป็นประการใด ตามถ้อยคำของ มโหสถนั้น เราเห็นว่าเข้าทีอยู่แล้ว เสนกะจึงกราบทูลว่า จะเข้าทีอะไรได้ พระพุทธเจ้าข้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าจะกราบทูลให้พระองค์เห็นจริงในบัดนี้ คือ คนมีทรัพย์นั้น ถึงจะตัดสินถ้อยความไม่เป็นยุติธรรมก็ดี จะกินสินบนก็ดี จะพูดผิดๆ ถูกๆ ก็ดีย่อมไม่มีใครกล้าคัดค้านได้ ส่วนคนที่มีปัญญาถึงจะทำถูก พูดถูก คิดถูก ก็ย่อมไม่มีใครเชื่อถือเอาเป็นประมาณ เพราะเขาเห็นว่าเป็นคนจนเป็นอันได้ความว่า คำพูดของคนมีทรัพย์ย่อมมีค่า ส่วนคำพูดของคนจนย่อมเป็นของไม่มีค่า เพราะฉะนั้น ขอจงทรงเห็นเถิดว่า คนมีทรัพย์ดีกว่าคนมีปัญญา พระพุทธเจ้าข้าฯ
มีต่อพรุ่งนี้ครับ

8ocdj
08-12-2009, 09:26 PM
พระมหากษัตริย์จึงหันพระพักตร์ไปตรัสถามมโหสถว่า พ่อจะเห็นเป็นประการใด
มโหสถกราบทูลว่า ขอพระองค์อย่าทรงเห็นตามเสนกะเลย เพราะเสนกะแลเห็นแต่ใกล้ๆ เท่านั้น ไม่แลเห็นกาลไกลเลย แกยกขึ้นอ้างว่าคนมีทรัพย์ถึงจะตัดสินความไม่ยุติธรรมก็ตาม จะกินสินบาดคาดสินบนก็ตาม จะพูดผิดๆ ถูกๆ ก็ตาม ก็ย่อมไม่มีผู้กล้าคัดค้านโต้เถียงนั้นย่อมมีแต่ผู้ติเตียนเกลียดชัง ทั้งต่อหน้าลับหลังทั้งในเวลาเป็นและเวลาตาย ส่วนผู้มีปัญญาถึงจะตัดสินความหรือจะทำอะไรก็เป็นยุติธรรมเสมอ มีแต่ผู้เชยชมสรรเสริญ ทั้งในเวลาต่อหน้าและลับหลัง ทั้งในเวลาเป็นและในเวลาตาย โดยเหตุนี้ ขอจงเข้าพระทัยเถิดว่าคนที่มีปัญญานั้นแหละดีกว่าคนที่มีทรัพย์ พระพุทธเจ้าข้าฯ
พระมหากษัตริย์จึงหันไปถามเสนกอีก เสนกะกราบทูลขึ้นว่า อันคนที่มีทรัพย์ย่อมเป็นที่ออกหน้าออกตาในประชาชน ส่วนคนจนซึ่งมีแต่ปัญญาย่อมไม่ออกหน้าออกตาเหมือนคนมีทรัพย์ ถ้าเข้าไปในสำนักผู้มีทรัพย์แล้วย่อมอับเฉา เหมือนกับหิ่งห้อยอันหมองแสงในเวลากลางวันฉะนั้นเพราะฉะนั้น จึงจัดว่าคนมีทรัพย์ดีกว่าคนที่มีปัญญา พระพุทธเจ้าข้าฯ
พระมหากษัตริย์ จึงหันไปตรัสถามมโหสถอีก มโหสถจึงกราบทูลว่า เสนกะนี้แลเห็นแต่ใกล้เท่านั้น ไม่มองเห็นกาลไกลเลย ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลให้ทราบว่า ธรรมดาคนที่มีปัญญาเท่ากับดวงไฟอันใหญ่ หรือดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อันรุ่งโรจน์ในเวลากลางคืนและกลางวันฉะนั้น เมื่อคนมีปัญญาอยู่ในที่ใด ก็มีสง่าผ่าเผยยิ่งกว่าคนโง่หลายร้อยเท่า คนทั้งหลายย่อมพอใจคบหาสมาคมนับถือในที่ทั่วไป เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงเข้าพระทัยเถิดว่า คนมีปัญญาดีกว่ามีทรัพย์ พระพุทธเจ้าข้าฯ
พระมหากษัตริย์ก็หันไปตรัสถามเสนกะอีก เสนกะกราบทูลว่า อันคนมีทรัพย์ย่อมสมบูรณ์ไปด้วย ช้าง ม้า โค กระบือ รถลาพาหนะ เครื่องใช้สอยบ่าวไพร่ บริวารทั้งปวง ส่วนคนที่มีปัญญานั้นจะหาอะไรก็ไม่ได้ โดยเหตุนี้แหละ คนที่มีทรัพย์จึงนับว่าดีกว่าคนที่มีปัญญา พระพุทธเจ้าข้าฯ
พระมหากษัตรย์จึงหันไปตรัสถามมโหสถอีก มโหสถจึงกราบทูลว่า คนที่ไม่มีปัญญาย่อมรักษาทรัพย์ไว้ไม่ได้ ทรัพย์ย่อมไม่อยู่กับคนโง่ เหมือนงูซึ่งทิ้งคราบไปฉะนั้น ส่วนคนที่มีปัญญานั้นย่อมรักษาทรัพย์ไว้ได้ และย่อมรู้จักทางหาทรัพย์ รู้จักทางจ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ โดยเหตุนี้แหละ จึงจัดว่าคนที่มีปัญญาดีกว่าคนมีทรัพย์ พระพุทธเจ้าข้าฯ
พระมหากษัตรย์จึงหันไปตรัสถามเสนกะอีก
เสนกะจึงคิดว่า เราจะต้องทำให้มโหสถหมดปัญญาในคราวนี้จงได้ ครั้นคิดแล้วจึงกราบทูลขึ้นว่า พระพุทธเจ้าข้า อันข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ นี้ ล้วนแต่จัดว่าเป็นคนมีปัญญาทั้งนั้น ถ้ามโหสถถือว่าคนมีปัญญาดีกว่าคนมีทรัพย์แล้ว เหตุไรจึงมาเป็นข้าเฝ้าของพระองค์ผู้มีทรัพย์เช่นนี้เล่า ขอพระองค์จงเข้าพระทัยเถิดว่า คนที่มีทรัพย์นั่นแหละดีกว่าคนที่มีปัญญา พระพุทธเจ้าข้าฯ
พระมหากษัตริย์จึงหันไปตรัสถามมโหสถอีกว่า พ่อมโหสถจะเห็นเป็นประการใด
มโหสถกราบทูลขึ้นว่า พระพุทธเจ้าข้า เสนกะนี้เป็นคนไม่รู้จักคุณของปัญญา ข้าพระพุทธเจ้าจะกราบทูลชี้แจงซึ่งคุณของปัญญาให้ทรงทราบดังนี้ คือ อันคนที่ไม่มีปัญญาถึงจะมีทรัพย์มากสักเท่าใดก็ตาม ก็เปรียบเหมือนกับคนใช้ของคนมีปัญญา อีกประการหนึ่ง คนที่ไม่มีปัญญาย่อมได้พึ่งผู้มีปัญญาในเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ส่วนคนที่มีปัญญา เวลาจะต้องการทรัพย์ก็คิดหาได้โดยง่าย เวลามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นก็ไม่ต้องหันหน้าไปหาใคร ใช้แต่ปัญญาของตัวก็เพียงพอ อีกประการหนึ่ง คนที่มีปัญญาย่อมไม่ติดอยู่ในเบญจกามคุณ คนที่มีปัญญา ย่อมถือผิดถูกดีชั่วเป็นประมาณ จะทำการสิ่งใดก็ทำได้ถูกต้องดี คนทั้งหลายย่อมนิยมนับถือปัญญาทั้งนั้น เพราะปัญญาให้สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง สิ่งทั้งสิ้นซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ ก็ล้วนแต่เกิดขึ้นด้วยปัญญาทั้งนั้น ทรัพย์สมบัติก็เกิดขึ้นด้วยปัญญาทั้งนั้น เช่น แร่ต่าง ๆ จะมาเป็นเงินเป็นทองได้ก็ด้วยปัญญาทั้งนั้น แก้วต่าง ๆ บุคคลก็ได้มาด้วยปัญญา ปัญญาเป็นมูลเหตุรากเหง้าที่จะให้เกิดทรัพย์สมบัติ และสิ่งต่าง ๆ ทั้งนั้น โดยเหตุนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิดว่า คนที่มีปัญญาดีกว่าคนมีทรัพย์ พระพุทธเจ้าข้า
พระมหากษัตริย์จึงหันไปตรัสถามเสนกะอีก แต่คราวนี้ เสนกะจนปัญญาไม่รู้จะแก้ไขประการใด จึงนั่งก้มหน้าอยู่ ถ้าเสนกะยังสามารถจะแก้ไขไปได้ มโหสถก็ยังจะแก้ไขให้ยิ่งกว่านี้อีก แต่เมื่อเห็นเสนกะจนปัญญาแล้ว มโหสถจึงได้นิ่งอยู่
ฝ่ายพระมหากษัตริย์ผู้ทรงนามบัญญัติว่าวิเทหราช จึงตรัสชมเชยมโหสถกุมาร ด้วยถ้อยคำมีประการต่าง ๆ แล้วพระราชทานซึ่งรางวัลเป็นอันมาก คือ โคพันหนึ่ง มีโคอุสุภราชเป็นนายฝูงกับช้างเชือกหนึ่ง รถอันเทียมด้วยม้าอาชาไชย ๑๐ รถ บ้านส่วย ๑๖ตำบล จบเรื่องสิริเมณฑกปัญหา อันว่าด้วยปัญญากับทรัพย์แต่เท่านี้
เมื่อมโหสถกุมารมีพระชนม์พรรษาได้ ๑๖ ปีแล้ว สมเด็จพระนางอุทุมพรราชเทวีจึงทรงพระดำริว่า เราควรจะจัดหานางกุมารีมาแต่งตั้งให้เป็นชายาแห่งน้องชายของเราในเวลาน ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงกราบทูลแก่พระมหากษัตริย์ให้ทรงทราบ
อ่านต่อพรุ่งนี้ ครับ
ด้วยมีผู้ให้ความเห็นว่า อยากให้พิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายแก่ญาติธรรมผู้สนใจ แล้วท่านละคิดอย่างไร // 8ocdj

8ocdj
08-13-2009, 09:43 PM
ดำเนินความว่า จำเดิมแต่มโหสถกุมารแก้สิริเมณฑกปัญหาถวายพระเจ้าวิเทหราช แล้ว ก็มีอิสริยศและบริวารมากขึ้นโดยลำดับ พระนางอุทุมพรราชเทวีได้เป็นธุระในการดูแลทรัพย์สมบัติทั้งปวง ตลอดถึงบ่าวไพร่บริวารของมโหสถกุมาร ซึ่งได้รับพระราชทานไว้นั้น ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง เมื่อมโหสถกุมารมีพระชนม์พรรษาได้ ๑๖ ปีแล้ว สมเด็จพระนางอุทุมพรราชเทวีจึงทรงพระดำริว่า เราควรจะจัดหานางกุมารีมาแต่งตั้งให้เป็นชายาแห่งน้องชายของเราในเวลาน ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงกราบทูลแก่พระมหากษัตริย์ให้ทรงทราบ พระมหากษัตริย์จึงตรัสว่า การที่เธอคิดนี้ก็เป็นการดีอยู่แล้ว แต่ควรจะบอกให้เจ้าตัวของเขาทราบเสียก่อนจะเป็นการดี พระนางเจ้าก็ถวายบังคมลาออกไปชี้แจงแก่มโหสถ ฝ่ายมโหสถจึงคิดว่า นางกุมารีที่พระราชเทวีจะจัดให้นั้น บางทีจะไม่เป็นที่ชอบใจของเราก็ได้ จำเราจักต้องหาด้วยตนเอง ครั้นคิดดังนี้แล้วจึงกราบทูลขึ้นว่า ข้าแต่พระราชเทวี โปรดรอสัก ๒-๓ วันก่อน อย่าเพิ่งทูลความสิ่งหนึ่งสิ่งใดแด่พระมหากษัตริย์เลย หม่อมฉันจะไปเที่ยวแสวงหานางกุมารีเอง เมื่อแสวงหามาได้แล้วจึงจะกราบทูลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นาง ครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมลากลับไปสั่งพวกบริวารเสร็จแล้ว ก็ปลอมตัวเป็นช่างชุนผ้า ออกจากพระนครทางประตูด้านทิศอุดรไปแต่คนเดียว เที่ยวไปจนตราบเท่าถึงบ้านอุตตรวยมัชฌคาม(อ่าน อุด-ตะ-ระ-วะ-ยะ-มัด-ชะ-คาม)
ตทา ปน ตตฺถ เอกํ ปุราณเสฏฺฐิกุลํ ปริชณฺณํ อโหสิ ในคราวนั้น มีตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่งซึ่งเป็นตระกูลตกยาก ตระกูลนั้นมีธิดาอยู่คนหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างอันโสภา มีผิวพรรณวิไลลักษณ์ ดวงพักตร์ผุดผ่องเพียงจันทร์เพ็ญ ทรงโฉมแช่มช้อยเฉิดฉันท์แม้นเหมือนอัปสรสวรรค์
เทวีนั้น พอต้มข้าวยาคูสุกแล้วก็หาบไปส่งบิดา ซึ่งไปไถนาอยู่นอกบ้านในเวลาเช้า เมื่อเดินไปตามทางก็ได้ประสบกับมโหสถกุมารซึ่งเป็นช่างชุนผ้าเดินสวนทางมา พอมโหสถกุมารได้แลเห็นก็คิดว่า นางนี้สมบูรณ์ด้วยอิตถีลักษณะทุกประการ ถ้ายังไม่มีสามีก็จะรับเลี้ยงเป็นภรรยา ฝ่ายว่าเทวีก็คิดว่า ถ้าเราได้เป็นชายาของบุรุษนี้ก็อาจตั้งตัวได้ดี
ในลำดับนั้นมโหสถกุมารจึงคิดจะทดลองดูว่า นางจะมีสามีแล้วหรือยัง และนางจะเป็นคนโง่เขลาหรือฉลาดประการใด ครั้นคิดแล้วก็ยืนอยู่ดังเดิม จึงกำมือชูขึ้นให้นางเห็น
ฝ่ายกุมารีก็รู้เท่าความประสงค์ จึงแบมือออกรับ
มโหสถกุมารก็เข้าใจว่านางยังไม่มีสามี จึงเดินเข้าไปใกล้แล้วไต่ถามว่า ดูก่อนน้องหญิงผู้มีพักตร์อันงามผุดผ่อง ตัวของน้องชื่อว่าอย่างไร
ฝ่ายกุมารีก็ตอบว่า สิ่งใดไม่มีในอดีต อนาคต ปัจจุบัน สิ่งนั้นแหละเป็นชื่อของข้าพเจ้า
ถ้าอย่างนั้นชื่อของเธอว่าอมรซิ (เพราะเหตุว่า คำว่า อมรนี้แปลว่าไม่ตาย คือธรรมดาความไม่ตายย่อมไม่มีในอดีต อนาคต ปัจจุบัน) ชื่อที่ว่านี้ถูกหรือไม่เล่า
นางก็ตอบว่าถูกแล้ว
จึงถามต่อไปว่า ก็เวลานี้แม่อมรจะไปไหน
นางตอบว่า ข้าพเจ้าจะไปส่งข้าวยาคูแก่บุพพเทวดา
อ้อ จะไปส่งข้าวแก่บิดาของน้องหรือ (เพราะมารดาบิดาจัดเป็นบุพพเทวดา)
นางก็ตอบว่าถูกแล้ว
จึงถามต่อไปว่า บิดาของน้องไปทำอะไร
นางตอบว่าไปพลิกแผ่นดิน
อ้อ บิดาของน้องไปไถนาหรือ
นางตอบว่า ถูกแล้ว
ก็บิดาของน้องไปไถนาอยู่ที่ไหน
ไปไถนาอยู่ที่คนไปแล้วไม่กลับ
ก็คนที่ไปไม่กลับนั้นพี่เห็นว่ามีอยู่แต่ป่าช้าเท่านั้น ถ้าอย่างนั้น บิดาของน้องไปไถนาอยู่ในที่ใกล้ป่าช้าหรือ
ถูกแล้วเจ้าข้า
ก็บิดาของน้องจักกลับเมื่อไรเล่า
นางตอบว่า ถ้าเขามาบิดาก็ไม่กลับ ถ้าเขาไม่มาบิดาจึงจะกลับ
อ้อ ถ้าอย่างนั้นนานั้นต้องอยู่ฟากแม่น้ำซิ เพราะถ้าน้ำป่ามาบิดาของน้องก็กลับไม่ได้ ถูกหรือไม่ประการใด
เมื่อนางตอบว่าถูกแล้ว นางก็วางหาบข้าวยาคูลง ด้วยคิดจะแบ่งข้าวให้มโหสถรับประทาน
ฝ่ายมโหสถกุมารก็คิดว่า ถ้านางนี้แบ่งข้าวให้โดยไม่ล้างภาชนะและล้างมือเสียก่อน จะตักข้าวยาคูมาให้เรารับประทานนั้น เราจะไม่รับเป็นอันขาด ทั้งเราจะไม่ติดตามต่อไปอีกด้วย แต่นางอมรกุมารีนั้น เมื่อวางหาบลงแล้วก็จัดแจงล้างภาชนะ และมือให้สะอาดเรียบร้อยแล้ว จึงตักข้าวยาคูใส่ภาชนะยกไปวางลงบนใบไม้ที่ปูไว้ แล้วเชื้อเชิญให้รับประทาน
มโหสถกุมารก็รับประทานแต่พอสมควร ครั้นแล้ว จึงไต่ถามถึงบ้านเรือนของนางว่า อยู่ที่ไหน
นางก็ตอบเป็นปริศนาว่า ตลาดขายข้าวสัตตูและขายน้ำส้มผะอูม และต้นทองหลางใบมน มีอยู่ในที่ใด ในที่นั้นเป็นทางไปบ้านของข้าพเจ้าละ ข้าพเจ้าบอกทางด้วยมือที่ถือข้าวยาคู ขอท่านจงรู้เอาเองเถิด ว่าแล้วก็ยกหาบขึ้นใส่บ่าออกเดินไป
โสปิ ตาย กถิตมคฺเคน ฝ่ายมโหสถกุมารก็คิดว่า ทางไปบ้านของนางอมรนี้ จะต้องพบตลาดขายข้าวสัตตูก่อน แล้วเดินต่อไปอีกจึงจะพบตลาดขายน้ำส้มผะอูม เลยไปอีกจึงจะพบต้นทองหลางใบมน จะพบหนทาง ๒ แพร่ง ทางข้างขวาเป็นทางไปบ้านนาง เพราะนางกล่าวว่า นางบอกหนทางให้เราด้วยมือข้างที่ถือข้าวยาคู ครั้นคิดได้ดังนี้แล้ว ก็ออกเดินทางไปจนกระทั่งถึงบ้านนางอมรกุมารี พอมารดาของนางอมรแลเห็นก็ให้นึกเมตตากรุณาเป็นอย่างยิ่ง จึงเชื้อเชิญให้นั่งตามอัธยาศัย แล้วก็จัดแจงหาข้าวยาคูให้รับประทาน แต่มโหสถกุมารบอกว่า นางอมรให้ลูกรับประทานมาบ้างแล้ว มารดาของนางอมรก็ทราบว่า บุรุษผู้นี้มาเพื่อต้องการธิดาของเรา จึงนิ่งอยู่
ฝ่ายมโหสถกุมารเห็นว่า มารดาบิดาของนางอมรเป็นคนยากจนเข็ญใจ จึงบอกว่า ข้าพเจ้านี้เป็นช่างชุนผ้า ถ้ามีผ้าขาดจงนำมาให้ข้าพเจ้าชุนเถิด มารดานางอมรก็เก็บผ้ามาให้มโหสถกุมารชุนจนสิ้น มโหสถกุมารให้ไปเที่ยวป่าวร้องชาวบ้านให้มาชุนผ้า ชาวบ้านก็พากันแตกตื่นเอาผ้ามาจ้างให้ชุนกันเนืองแน่น มโหสถกุมารทำการชุนผ้าอย่างรวดเร็วอยู่จนตลอดวัน ได้ค่าจ้างชุนถึงพันตำลึง พอเวลาเย็นก็ส่งเงินให้มารดานางอมรไปซื้อกับข้าว มารดาของนางอมรก็รับเอาเงินนั้นไปซื้อจ่ายกับข้าวมาทำอย่างสมบูรณ์ พอเวลาเย็น นางอมรกับบิดาก็กลับมาจากนา แล้วคนทั้ง ๔ ก็พากันบริโภคอาหาร เมื่อบริโภคจนอิ่มหนำสำราญแล้ว มโหสถกุมารก็ออกปากขอนางอมรกุมารี ต่อบิดามารดาทั้ง ๒ ก็พร้อมกันยกให้ด้วยความยินดี ครั้นมโหสถกุมารได้อยู่กับนางอมรมาได้ ๒-๓ วันจึงคิดว่า เราควรลองกำลังใจของนาง ด้วยการจู้จี้จุกจิกต่าง ๆ
คิดแล้วก็ส่งข้าวสารกึ่งทะนานให้แก่นางอมร แล้วกล่าวว่า เจ้าจงนำข้าวสารนี้ไปต้มเป็นข้าวยาคูบ้าง ไปหุงเป็นข้าวสวยบ้าง ไปทำเป็นขนมบ้าง นางอมรก็รับไปตามคำสั่ง คือนางได้เลือกเอาแต่ข้าวที่เป็นเมล็ดดีที่หนึ่งไปต้มเป็นข้าวยาคู เอาข้าวที่ ๒ ไปหุงเป็นข้าวสวย ข้าวที่ ๓ ซึ่งเป็นปลายข้าวไปทำเป็นขนม พอทำเสร็จแล้วก็ยกไปให้มโหสถ
พอมโหสถดื่มไปนิดหน่อย ก็รู้สึกว่าโอชาซาบซ่านไปทั่วตัว แต่แกล้งกล่าวติเตียนว่า เธอต้มข้าวยาคูไม่เป็น เสียข้าวสารของเราเปล่าๆ เป็นหญิงอะไรเช่นนี้ เพียงแต่ข้าวยาคูก็ต้มกินไม่เป็น พูดแล้วก็ชำเลืองดูเพื่อทดลองว่านางอมรจะเป็นคนขี้โกรธหุนหันหรือไม่
แต่นางอมรก็ไม่โกรธ นางได้ยกข้าวยาคูไปเสีย แล้วยกขนมเข้าไปแทน พร้อมกับกล่าวอีกว่า เมื่อข้าวยาคูไม่ดี ไม่ถูกปาก ก็จงรับประทานขนมเถิด
มโหสถก็หยิบขนมใส่ปากหน่อยหนึ่งแล้วก็ถ่มเสียกล่าวว่า เสียข้าวสารของเราเปล่าๆ ต้มข้าวกินก็ไม่เป็น ทำขนมกินก็ไม่เป็น
ฝ่ายนางอมรก็นิ่งเสีย แล้วยกข้าวสวยและกับข้าวไปให้อีก พลางกล่าวว่า เมื่อขนมไม่ดีแล้วก็จงรับประทานข้าวสวยเถิด
พอมโหสถหยิบข้าวสวยใส่ปากได้คำหนึ่งก็รับถ่มทิ้งเสียอีก แล้วลุกขึ้นด้วยอาการหุนหัน เอาข้าวต้ม ขนม และข้าวสวยปนกันเข้าแล้วเอาขยี้ทั่วตัวนางอมรตั้งแต่ศรีษะลงมา พลางกล่าวาจาหยาบคายว่า เจ้านี้เป็นหญิงอะไร ทำอะไรไม่เป็นเสียเลย จงออกไปนั่งอยู่ที่ประตูเรือนเดี๋ยวนี้
อ่านต่อพรุ่งนี้ครับ

8ocdj
08-14-2009, 08:54 PM
พอมโหสถหยิบข้าวสวยใส่ปากได้คำหนึ่งก็รับถ่มทิ้งเสียอีก แล้วลุกขึ้นด้วยอาการหุนหัน เอาข้าวต้ม ขนม และข้าวสวยปนกันเข้าแล้วเอาขยี้ทั่วตัวนางอมรตั้งแต่ศรีษะลงมา พลางกล่าววาจาหยาบคายว่า เจ้านี้เป็นหญิงอะไร ทำอะไรไม่เป็นเสียเลย จงออกไปนั่งอยู่ที่ประตูเรือนเดี๋ยวนี้
ฝ่ายนางอมรก็ไม่แสดงอาการโกรธเคืองประการใด ได้ออกไปนั่งที่ประตูเรือนโดยเร็ว ฝ่าย มโหสถเห็นว่า นางอมรไม่ใช่คนขี้โกรธ จึงเรียกให้กลับเข้าไปนั่งในเรือนอีก นางอมรก็กลับเข้าไป ด้วยคำเรียกเพียงคำเดียว มโหสถก็แน่ใจว่านางอมรเป็นคนว่าง่าย จึงหยิบเอาผ้ากัมพลออกมาจากชะลอมของตนมาส่งให้นางแล้วกล่าวว่า เจ้าผู้มีพักตร์อันผ่องใส จงไปอาบน้ำชำระกายเสียให้ดี แล้วนุ่งห่มผ้าผืนนี้มา นางอมรก็ทำตามคำสั่ง แล้วมโหสถก็มอบทรัพย์พันตำลึงที่ได้มาด้วยการรับจ้างชุนผ้า พร้อมกับทรัพย์อีกพันตำลึง ที่เอาใส่ชะลอมมาจากบ้านให้มารดาบิดาของนาง แล้วกล่าวคำอำลามารดาบิดาของนางอมรออกจากบ้านเพื่อจะกลับเข้าสู่กรุง
ก่อนจะออกเดินทางพร้อมด้วยนางอมรนั้น มโหสถกุมารได้จัดหาเครื่องแต่งกาย เป็นต้นว่า ร่มและรองเท้าให้นางพอสมควรแล้วก็ออกเดินทางไป แต่ในระหว่างเดินไปตามทางนั้น นางอมรไม่ได้กั้นร่มหรือสวมรองเท้า แต่เมื่อเดินเข้าป่านางจึงกั้นร่ม เวลาเดินข้ามน้ำนางจึงสวมรองเท้า ครั้นพ้นป่าและน้ำไปแล้ว นางจึงหุบร่มและถอดรองเท้าเสีย ฝ่ายมโหสถจึงถามว่า เหตุไรเจ้าจึงกระทำเช่นนี้ นางก็ชี้แจงว่า
ที่ทำดังนี้เพราะเหตุว่า เวลาเดินไปตามป่า อาจจะมีผลไม้และกิ่งไม้ตกหล่นลงมาถูกศรีษะได้ เวลาเดินในน้ำข้ามคลองอาจจะเหยียบเสี้ยนหนามที่ไม่เห็นก็ได้ ข้าพเจ้าจึงได้กั้นร่มและสวมรองเท้าป้องกันอันตรายนั้น เมื่อมโหสถได้ฟังคำอธิบายดังนี้ ก็เกิดความโสมนัสยินดีในนางยิ่งนัก จึงดำริว่า นางนี้เป็นผู้มีความคิดหลักแหลมดี เมื่อพากันเดินต่อไปก็ถึงที่แห่งหนึ่ง ได้เห็นต้นพุดซาอันกำลังมีผลสุกเต็มต้น มโหสถก็พานางอมรแวะเข้าไป แล้วให้นางขึ้นเก็บพุดซา เมื่อนางขึ้นไปแล้วจึงบอกให้ทิ้งพุดซามาให้กินบ้าง
นางอมรจึงร้องถามลงมาว่า จะกินพุดซาเย็นหรือร้อน เมื่อมโหสถร้องตอบขึ้นไปว่า ต้องการจะกินพุดซาร้อน นางอมรก็ทิ้งพุดซาลงมาในที่มีฝุ่นมีทรายอบความร้อนไว้ มโหสถต้องเก็บพุดซาขึ้นมาเป่าทราย และความร้อนแล้วจึงกิน เมื่อร้องบอกขึ้นไปว่า ต้องการจะกินพุดซาเย็น นางก็ทิ้งผลพุดซาลงบนที่มีหญ้าเขียวสด ไม่ต้องเก็บขึ้นมาเป่ากินเหมือนกับที่ทิ้งลงบนฝุ่นและในทราย มโหสถก็เห็นว่า นางอมรเป็นคนมีปัญญามาก ก็รู้สึกดีใจ จึงเรียกให้นางลงจากต้นพุดซาแล้วพากันเดินไปกระทั่งถึงกรุงมิถิลา แล้วนำนางไปฝากไว้ที่บ้านนายประตู ส่วนมโหสถได้หลบหนีเข้าไปในกรุงแต่ผู้เดียว แล้วเที่ยวเลือกหาบุรุษที่ฉลาดในเชิงเกี้ยวผู้หญิงเป็นหลายคน บอกว่า เราได้พาผู้หญิงคนหนึ่ง มาฝากไว้ที่บ้านนายประตู พวกท่านจงพากันไปเกี้ยวดู จนเต็มความสามารถว่า หญิงนั้นจะเป็นอย่างไร แล้วนำมาชี้แจงแก่เรา พวกนักเลงชายเหล่านั้น ก็พากันไปเกี้ยวนางอมรด้วยกลอุบายต่าง ๆฝ่ายนางอมรก็มิได้เอื้อเฟื้อในถ้อยคำของชายเหล่านั้น ด้วยคิดว่า ชายเหล่านี้ไม่เท่าฝุ่นละอองแห่งเท้าของสามีเรา เจ้าชู้เหล่านั้นก็พากันกลับไปแจ้งแก่มโหสถๆ ก็ใช้ไปเกี้ยวอีกจนถึง ๓ ครั้ง เมื่อเห็นว่านางอมรมีใจมั่นคงดีอยู่ ในครั้งที่ ๔ จึงบอกพวกนั้นให้ฉุดตัวมา พวกเหล่านั้นก็พากันไปฉุดตัวนางอมรมาจนถึงนิเวศน์ของมโหสถ เวลานั้นมโหสถได้แต่งตัวเต็มยศยืนอยู่ที่หน้าพระแกลปราสาท พอนางอมรแลเห็นก็จำไม่ได้ จึงหัวเราะแล้วร้องไห้ ร้องไห้แล้วหัวเราะ มโหสถจึงถามอีกว่า
ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เจ้าหัวเราะและร้องไห้ดังนี้เป็นด้วยเหตุไร นางอมรตอบว่า การที่ข้าพเจ้าหัวเราะนี้ เพราะนึกถึงบุญบารมีที่ท่านทำมาจนได้สมบัติเห็นปานฉะนี้ ส่วนที่ร้องไห้นั้น เป็นเพราะนึกสงสารว่า ท่านทำกาเมสุมิจฉาจารแล้วท่านจะต้องไปตกนรก เมื่อมโหสถได้ฟังดังนั้น ก็เห็นว่านางอมรเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์จึงบอกใบ้ใส้สัญญาแก่พวกบุรุษเจ้าชู้ ให้นำนางกลับไปไว้ที่บ้านนายประตูคนเก่า แล้วมโหสถจึงแต่งตัวเป็นช่างชุนกลับออกไปหานางอีก พอรุ่งเช้ามโหสถก็เข้าไปกราบทูล แด่พระนางอุทุมพรราชเทวี เล่าเรื่องที่ตนได้ไปแสวงหานางกุมารีได้มาแล้ว
พระนางอุทุมพรราชเทวีก็กราบทูลแด่พระมหากษัตริย์ให้ทรงทราบ แล้วพระนางเจ้าก็ได้พระราชทานซึ่งเครื่องอลังการทั้งปวง กับทั้งวอทองออกไปรับนางอมร มีขบวนแห่ และมหรสพออกไปรับนางอมรเข้ามาสู่พระราชวัง แล้วได้ทำการอาวาหมงคลอย่างมโหฬารก็มีขึ้นในครั้งนั้น คนทั้งหลายมีพระมหากษัตริย์และพระอัครมเหสีเป็นประธาน ต่างก็มีความชื่นบานยินดีส่งเครื่องบรรณาการไปให้แก่มโหสถเป็นอเนกนานาประการ นางอมรก็จัดแจงแบ่งเครื่องบรรณาการออกเป็นสองส่วน เอาไว้ส่วนหนึ่ง ส่งกลับคืนไปให้แก่เจ้าของส่วนหนึ่ง จำเดิมแต่นั้นมา นางอมรและมโหสถก็อยู่ด้วยกันโดยความผาสุกสำราญ ไม่มีการทะเลาะวิวาทบาดหมางกันแต่ประการใด สิ้นเนื้อความใน อมรเทวีปริเยสนกัณฑ์ คือ ตอนว่าด้วยมโหสถเที่ยวแสวงหาภรรยาแต่เท่านี้
เอกทิวสํ เสนโก อิตเร ตโย อตฺตโน สนฺติกํ อาคเต ทิสฺวา ต่อนี้ไป ว่าด้วยเรื่องตอนนักปราชญ์ทั้ง ๔ คิดขโมยแก้วมณีของพระมหากษัตริย์ไปไว้ที่บ้านพระมโหสถ เพื่อหาเรื่องให้มโหสถถูกลงพระราชอาญาด้วยความริษยา
อ่านต่อพรุ่งนี้ ครับ

Butsaya
08-15-2009, 02:15 PM
http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/Word_Positive/3.gif http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/Word_Positive/2.gif
อิอิ ... มาแอบอ่านค่ะ พี่โจ แต่ยังอ่านม่ะจบ ยาวมากอะค่ะ อิอิ ไว้มาอ่านต่อนะค่ะ อนุโมทนาด้วยค่ะพี่โจ ที่เอาเรื่องดี ๆ แบบนี้มาลงอะค่ะ

http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/Word_Positive/7.gif http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/Word_Positive/8.gif

8ocdj
08-15-2009, 09:20 PM
ขอบใจผู้อ่านที่ตอบแสดงความคิดเห็น
มโหสถภาคหนึ่งใกล้จบแล้ว การพิมพ์รวมเล่ม แสดงความคิดเห็นมาบ้างก็จะดี
เอกทิวสํ เสนโก อิตเร ตโย อตฺตโน สนฺติกํ อาคเต ทิสฺวา ต่อนี้ไป ว่าด้วยเรื่องตอนนักปราชญ์ทั้ง ๔ คิดขโมยแก้วมณีของพระมหากษัตริย์ไปไว้ที่บ้านพระมโหสถ เพื่อหาเรื่องให้มโหสถถูกลงพระราชอาญาด้วยความริษยา
อยู่มาวันหนึ่ง เสนกได้เห็นนักปราชญ์ทั้ง ๓ มาสู่สำนักของตน จึงกล่าวว่า ท่านทั้ง ๓ บัดนี้มโหสถดีกว่าพวกเรามากแล้ว มีทั้งยศศักดิ์ทรัพย์สิน และบริวารมากมาย ทั้งภรรยาก็เฉลียวฉลาดมีปัญญาหลักแหลม เราจะคิดประการใด จึงจะให้พระมหากษัตริย์เห็นว่า มโหสถเป็นกบฏได้ นักปราชญ์ทั้ง ๓ จึงกล่าวว่า แล้วแต่ท่านอาจารย์
เสนกจึงว่าถ้าอย่างนั้นท่านทั้ง ๓ คน จงพากันทำตามอุบายของเรา คือ ให้ปุกฺกสไปลักเอาดอกไม้ทอง ให้กามินท์ไปลักเอาผ้ากัมพล ให้เทวินท์ไปลักเอาฉลองพระบาททอง ส่วนตัวของเราจะไปลักเอาแก้วมณี เมื่อเราทั้ง ๔ ลักของพระมหากษัตริย์ได้มาแล้ว จงช่วยกันคิดอ่านให้ของทั้ง ๔ นั้น ตกไปอยู่ในบ้านของมโหสถให้จงได้ เมื่อสำเร็จดังนี้แล้วให้พวกเราช่วยกันกราบทูลว่า พระมโหสถเป็นกบฏ เมื่อตกลงกันแล้วก็พากันไปลักของทั้ง ๔ นั้นมา ส่วนเสนกได้เอาแก้วมณีใส่ลงในหม้อเปรียงให้ทาสีเอาไปเร่ขายที่หน้าบ้านมโหสถ แล้วสั่งสอนว่าอย่าขายให้คนอื่นเป็นอันขาด จงขายให้เฉพาะคนในบ้านของมโหสถ และอย่าเอาราคาเลย เมื่อทาสีรับคำสั่งแล้ว ก็หิ้วหม้อน้ำมันเปรียงไปเที่ยวเร่ขายอยู่ที่หน้าบ้านของมโหสถ เดินกลับไปกลับมาอยู่ในที่นั้น พอนางอมรแลเห็นก็นึกแปลกใจว่า เหตุไรทาสีคนนี้จึงไม่ไปเที่ยวเร่ขายในที่อื่น มาเดินวนเวียนอยู่แต่ที่หน้าบ้านเราเท่านั้น ชะรอยจะมีเหตุร้ายดีอยู่ในตัวทาสีนี้เป็นแน่ จึงเรียกทาสีนั้นเข้าไปบอกว่า เราจะซื้อเปรียงของเจ้า พอทาสีนั้นเข้าไปถึงแล้ว นางอมรก็พยักหน้าให้อาณัติสัญญาแก่สาวใช้ ให้พากันหลีกออกไปจากที่นั้นให้หมด สักครู่หนึ่ง นางก็ทำเป็นเรียกให้ออกมาอีก แต่สาวใช้ได้พากันเฉยอยู่ไม่ออกมา
นางจึงวานทาสีคนนั้นให้ช่วยไปเรียกสาวใช้ พอทาสีคนนั้นลับตาไป นางจึงล้วงมือลงไปในหม้อน้ำมันเปรียงนั้น ก็ปรากฏว่ามีแก้วจุฬามณีอยู่ภายใน จึงหยิบขึ้นมาดู ก็รู้ว่าเป็นแก้วประดับพระพระเศียรของพระมหากษัตริย์ จึงวางลงในหม้ออีก ก็พอดีทาสีคนนั้นไปเรียกสาวใช้กลับมาพอดี นางอมรก็ถามว่า เจ้ามาจากไหน มารดาและตัวเจ้ามีชื่ออย่างไร ทาสีนั้นก็ตอบว่ามาจากสำนักท่านเสนก และบอกชื่อมารดาบิดาของตัวให้เสร็จ นางอมรจึงถามว่า หม้อเปรียงนี้เจ้าจะขายเท่าไร ทาสีนั้นตอบว่า จะแลกข้าวเปลือก ๔ ทะนาน แต่ถ้าพระแม่เจ้าจะซื้อก็ยินดีถวายเปล่า ว่าแล้วก็มอบหม้อเปรียงให้แก่นางอมรแล้วกลับไป ได้ไปแจ้งเรื่องนี้แก่ เสนก เสนก ก็ดีใจว่า สมความมุ่งหมายของตนแล้ว ฝ่ายนางอมรก็จดวันเดือนปีขึ้นแรมและพวกทาสี มารดาบิดาทาสีนั้นไว้ถี่ถ้วนทุกประการ
ฝ่ายปุกกุสได้ไปลักเอาดอกไม้ทองมาแล้ว ก็ใส่ลงในพวงดอกมะลิให้ทาสีไปเที่ยวเร่ขายที่หน้าบ้านของมโหสถอีก ส่วนกามินท์ก็ไปลักเอาผ้ากัมพล ได้มาแล้วก็ใส่ลงในกระเช้าผ้า เอาผ้าปิดข้างบนแล้วก็ส่งให้ทาสีนำไปเที่ยวเร่ขายที่หน้าบ้านของมโหสถอีกเหมือนกัน เทวินท์ก็ไปลักเอาฉลองพระบาททองมาใส่ลงในฟ่อนข้าว แล้วก็ส่งให้ทาสีไปเที่ยวเร่ขายที่หน้าบ้านมโหสถอีกเหมือนกัน นางอมรก็รับซื้อเอาของนั้นไว้ แล้วจดเวลา วัน เดือน ปี ชื่อทาสีและมารดาบิดาของทาสีทั้ง ๔ คนนั้นไว้ แล้วแจ้งให้มโหสถทราบ
ฝ่ายนักปราชญ์ทั้ง ๔ ก็ชวนกันไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชแล้วกราบทูลถามว่า เหตุไรพระองค์จึงไม่ทรงประดับประดาพระจุฬามณี พระองค์ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นจงนำมาเถิด นักปราชญ์ทั้ง ๔ ก็ทำเป็นค้นหา สักครู่หนึ่งแล้ว ก็กลับออกไปกราบทูลว่า พระจุฬามณีนั้นหายเสียแล้ว ใช่จะหายแต่พระจุฬามณีเท่านั้นก็หาไม่ ดอกไม้ทอง ผ้ากัมพล ฉลองพระบาททองก็พลอยหายไปด้วย
พระองค์จึงตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายเข้าใจว่าของทั้ง ๔ นั้นหายไปอย่างไร จึงพร้อมกันกราบทูลว่า ข้าพระบาททั้ง ๔ นี้สงสัยว่า ของเหล่านี้คงตกอยู่ในบ้านของมโหสถแน่นอน เพราะสังเกตเห็นกิริยามโหสถเป็นคนใหญ่ใฝ่สูงขึ้นเป็นลำดับ ท่วงทีจะคิดชิงเอาราชสมบัติของพระองค์ก็ได้ เมื่อนักปราชญ์ทั้ง ๔ กราบทูลปรักปรำมโหสถอย่างนี้แล้ว คนสอดแนมของ มโหสถก็รีบกลับไปแจ้งแก่มโหสถ
มโหสถ จึงคิดว่า จะต้องไปเฝ้าในบัดนี้ แล้วก็รีบแต่งตัวเข้าสู่พระราชวัง แต่พระมหากษัตริย์ได้ซ่อนพระองค์เสีย ก็หาได้เฝ้าไม่ จึงคิดว่า เราจะขืนอยู่ไปในที่นี้ไม่เป็นการสมควร เพราะอาจจะเป็นอันตรายแก่เรา ครั้นคิดแล้ว จึงรีบกลับออกจากที่เฝ้ากลับไปสู่บ้านของตนเสีย ฝ่ายพระมหากษัตริย์จึงเสด็จออกจากที่ซ่อน แล้วตรัสสั่งนักปราชญ์ว่า ท่านทั้ง ๔ จงพากันไปจับมโหสถในบัดนี้ ในขณะนั้น พวกสอดแนมก็รีบออกไปแจ้งแก่มโหสถโดยด่วน มโหสถจึงคิดว่า เวลานี้เราควรจะหลบหนีเสียก่อน เพื่อผ่อนหาอุบายต่อภายหลัง ครั้นคิดแล้วจึงให้อาณัติสัญญาแก่นางอมร และกำชับสั่งสอนเป็นความลับเสร็จแล้ว จึงรีบแต่งตัวเป็นคนขอทานออกจากพระนครไป ตั้งหน้าไปอาศัยช่างหม้อ

8ocdj
08-16-2009, 09:03 PM
มโหสถจึงรีบแต่งตัวเป็นคนขอทานออกจากพระนครไป ตั้งหน้าไปอาศัยช่างปั้นหม้ออยู่ที่บ้านทักขิณเวยมัชฌคาม ขอเป็นลูกมือปั้นหม้ออยู่กับช่างหม้ออยู่ในตำบลนั้น
ในเวลานั้น ก็ได้เกิดเล่าลือกันไปทั่วทั้งพระนครว่า บัดนี้มโหสถได้หนีไปแล้ว ฝ่ายนักปราชญ์ทั้ง ๔ ต่างก็ดีใจว่า สมประสงค์ของตนแล้ว จึงกล่าวว่า บัดนี้พวกเราจะวิตกอะไรเล่า เมื่อมโหสถหนีไปแล้วเช่นนี้ เมียของมโหสถก็จะต้องเป็นเมียของพวกเรา ว่าแล้วต่างก็กำชับซึ่งกันและกัน ให้พยายามออกอุบายติดพันกับนางอมรให้จนได้ ในไม่ช้านักปราชญ์ทั้ง ๔ นั้น ต่างก็มีจดหมายถึงนางอมร ว่าด้วยความรักมีประการต่างๆ
นางอมรจึงคิดว่า นักปราชญ์ทั้ง ๔ นี้ชั่วช้าลามกหนักหนา มีแต่ริษยาผู้อื่นเท่านั้น คราวนี้เราจะทำให้นักปราชญ์ทั้ง ๔ นี้ได้รับความอับอายขายหน้าให้สมใจ ครั้นคิดแล้วก็ตอบไปว่า ให้ท่านมาหาข้าพเจ้าในเวลานั้นๆ คือ นางนัดนักปราชญ์ทั้ง ๔ ให้มาคนละเวลา แล้วนางอมรได้ให้พวกทาสีขุดหลุมให้ใหญ่ลึก ทำรั้วให้รอบมิดชิด ให้ตักมูตรและคูถเทลงไปในหลุมให้เต็ม ที่ปากหลุมนั้นให้ทำเป็นกระดานยนต์ ปิดไว้ด้วยเสื่อลำแพนทำเป็นเหมือนกับห้องน้ำ ประดับประดาด้วยดอกไม้ และของหอมไว้ให้สร็จแต่ในเวลากลางวัน พอตกถึงเวลาพลบค่ำเสนกก็รีบตกแต่งร่างกายไปที่บ้านของนางอมร นางอมรก็ให้สาวใช้เชิญเข้าไปแล้วบอกว่า ขอให้ท่านไปอาบน้ำเสียก่อน จึงค่อยมาหลับนอนต่อภายหลัง แล้วพาเสนกเข้าไปในห้องน้ำ พอเห็นได้ทีก็เหยียบกระดานยนต์ให้เสนกตกลงในหลุมคูถ ส่วนนางอมรก็มานั่งคอยรับนักปราชญ์คนอื่นอีก เมื่อปุกกุส กามินท์ เทวินท์ มาเป็นลำดับ ๒-๓-๔ นางอมรก็ลวงเข้าไปตกลงในหลุมคูถทั้งหมด แล้วให้ปิดปากหลุมและประตูไว้คืนยังรุ่ง
เวลาเช้านางจึงให้พวกบ่าวไพร่ฉุดตัวขึ้นมาจากหลุม ให้ใช้แปรงกาบมะพร้าวขูดถูร่างกายจนคูถและมูตรออกหมดแล้ว ให้ถอนผมด้วยเสี้ยนตาล แล้วให้เอาน้ำมันชะโลมตัว เอานุ่นโรยให้ทั่วตัวขาวเหมือนลิงเผือกเรียบร้อยแล้ว จึงให้พันตัวด้วยเสื่อลำแพนคนละผืนๆ แล้วให้บ่าวไพร่หามตามหลังเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช พอถึงแล้วกราบทูลว่า กระหม่อมฉันได้ลิงเผือกมาถวายพระองค์ ๔ ตัว ว่าแล้วก็ให้แก้เสื่อลำแพนออกทีละผืนๆ ในเวลานั้น พวกนักปราชญ์ทั้ง ๔ ต่างก็นั่งก้มหน้าซบเซาด้วยความอดสูพ้นที่จะประมาณ
ท้าวเธอจึงมีพระราชโองการดำรัสถามนางอมรว่า แม่อมรเรื่องนี้เป็นมาอย่างไรกัน
นางอมรก็ทูลเล่าเรื่องถวายพระเจ้าวิเทหราช เริ่มแต่นักปราชญ์ทั้ง ๔ ใช้ให้ทาสีนำของทั้ง ๔ อย่างไปขายในบ้านของตน มาจนตลอดถึงนักปราชญ์ทั้ง ๔ ได้พากันไปตกหลุมให้ทรงทราบ โดยละเอียดถี่ถ้วนทุกประการ แล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์ทรงรับโจรทั้ง ๔ นี้ไว้เถิด กราบทูลแล้วก็ถวายบังคมลากลับไปสู่บ้านของตน ส่วนจอมมหิดลวิเทหราช ก็โปรดให้นักปราชญ์ทั้ง ๔ นั้น กลับไปสู่บ้านเรือนแห่งตน หาได้ลงโทษประการใดไม่ พราะทรงกริ่งพระทัยอยู่ว่า เวลานี้มโหสถก็หนีไปแล้ว เรายังไม่รู้ว่ามโหสถจะไปคิดอ่านประการใด
จบเรื่องมโหสถตอนนักปราชญ์ทั้ง ๔ ลักของหลวง มีแก้วมณีเป็นต้น ไปขายให้ที่บ้านของ มโหสถ ซึ่งเรียกว่ารัตนโจรกัณฑ์แต่เพียงเท่านี้
อถ รญฺโญ ฉตฺเตปิ อธิวตฺถา เทวตา โพธิสตฺตสฺส ธมฺมเทสนํ อสุณนฺตา กินุโขการณนฺติ อาวชฺ ชมานา ตํ การณํ ญตฺวา หนฺทาหํ ปณฺฑิตสฺส อายนาการณํ กริสฺสามีติ จิตฺเตตฺวา รตฺติภาเค ฉตฺตปณฺฑิกํ วิวเรตฺวา ราชานนฺติ
ดำเนินความว่า เมื่อพระมโหสถหนีไปจากพระนครแล้ว เทพยาดาตนหนึ่ง ซึ่งสิงอยู่ที่กัมพูฉัตรของพระเจ้าวิเทหราช ก็ขาดจากการสดับ พระธรรมเทศนาของพระมโหสถ
โปรดอ่านต่อพรุ่งนี้ ครับ (8ocdj อ่านว่าคนแก่ ครับ)

8ocdj
08-17-2009, 08:30 PM
ดำเนินความว่า เมื่อพระมโหสถหนีไปจากพระนครแล้ว เทพยาดาตนหนึ่ง ซึ่งสิงอยู่ที่กัมพูฉัตรของพระเจ้าวิเทหราช ก็ขาดจากการสดับ พระธรรมเทศนาของพระมโหสถ จึงคิดว่า มีเหตุผลประการใดหนอ ครั้นคิดไปก็ทราบเหตุว่า บัดนี้พระมโหสถได้หนีไปเสียแล้ว เราควรจะทำให้พระเจ้าวิเทหราชอัญเชิญพระมโหสถกลับมาอีก
พอถึงเวลาราตรีจึงเผยออกซึ่งกัมพูฉัตร สำแดงกายให้ปรากฏชัดแก่พระมหากษัตริย์ แล้วถามปัญหา ๔ ข้อว่า ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลมีอยู่ ๔ จำพวก คือจำพวกหนึ่งยิ่งชกยิ่งเตะ ยิ่งต่อยตีก็ยิ่งเป็นที่รัก จะได้แก่บุคคลจำพวกใด อีกจำพวกหนึ่งยิ่งด่าว่าแช่งชักก็ยิ่งเกิดความรักใคร่เอ็นดู จะได้แก่บุคคลจำพวกใด อีกจำพวกหนึ่ง ยิ่งกล่าวร้ายใส่โทษแก่กัน ก็ยิ่งเป็นที่รักของกันและกัน จะได้แก่บุคคลจำพวกใด อีกจำพวกหนึ่ง ยิ่งขนเอาของไปยิ่งเป็นที่รักใคร่แห่งเจ้าของ จะได้แก่บุคคลจำพวกใด
พระมหากษัตริย์จึงพิจารณาดูจนสุดพระปัญญาของพระองค์แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะแก้ได้ จึงตรัสว่า ดูก่อนเทพยดา สุดปัญญาของข้าพเจ้าเสียแล้ว ข้าพเจ้าไม่อาจจะแก้ไขได้ ก็แต่ว่าข้าพเจ้าจะไต่ถามนักปราชญ์ทั้งปวงดูก่อน ขอท่านจงรอฟังสักวันหนึ่งก่อนเถิด เทพยดานั้นก็อนุญาตให้แล้วก็หายวับไป ในเวลารุ่งเช้า พระมหากษัตริย์เจ้าก็มีรับสั่งให้นักปราชญ์ทั้ง ๔ นั้นเข้าเฝ้า นักปราชญ์ทั้ง ๔ ให้คนเข้าไปกราบทูลว่า เวลานี้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังมีศรีษะโล้นอยู่ จะเดินไปตามทางนั้นให้รู้สึกมีความละอายแก่คนทั้งหลายเป็นกำลัง พระมหากษัตริย์จึงทรงพระราชทานหมวกสานด้วยใบมะพร้าว ๔ ใบ มีสัณฐานดังทะนานตวงข้าว ออกไปให้แก่นักปราชญ์ทั้ง ๔ นั้นว่า ให้นักปราชญ์ทั้ง ๔ สวมหมวกเหล่านี้เข้ามาเถิด นักปราชญ์ทั้ง ๔ ก็สวมหมวกนั้นเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมแล้วก็นั่งคอยพระราชโองการอยู่ พระมหากษัตริย์จึงตรัสถามเสนกว่า
ดูก่อนเสนก เมื่อเพลาเที่ยงคืนๆนี้ เทพยาดาอันสิงอยู่ในกัมพูฉัตรได้ถามปัญหาเรา ๔ ข้อ เราไม่อาจจะแก้ไขได้ ได้รับคำเทวดาไว้ว่า จะถามพวกท่านดูก่อน แล้วจึงจะแก้ให้ฟัง ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงยกปัญหา ๔ ข้อนั้นขึ้น ไต่ถามนักปราชญ์ทั้ง ๔ ก็ไม่มีผู้ใดจะแก้ได้ นั่งอั้นอ้นจนปัญญาไปด้วยกันทั้งนั้น ส่วนเสนกนั้นได้แต่พูดพึมพำว่า ใครดีใครอยู่เท่านั้น ส่วนนักปราชญ์ทั้ง ๓ นั้นให้รู้สึกมืดเหมือนกับปิดตาทีเดียว
พระมหากษัตริย์ก็ทรงร้อนพระทัยเป็นอันมาก พอถึงเวลาราตรีเข้าปัจฉิมยาม เทวดานั้นก็มาถามอีก พระมหากษัตริย์ก็ตรัสตอบว่า ข้าพเจ้าแก้ไม่ได้ นักปราชญ์ทั้ง ๔ ก็แก้ไม่ได้ เป็นอันจนใจเสียแล้ว
เทพยดาจึงกล่าวว่า นักปราชญ์ทั้ง ๔ นั้นก็ดี คนอื่นๆ ก็ดี ย่อมไม่มีใครสามารถที่จะแก้ปัญหาทั้ง ๔ นี้ได้ เว้นแต่มโหสถผู้เดียวเท่านั้น พระองค์จงให้คนไปเที่ยวหามโหสถมาเถิด ถ้าไม่ได้มโหสถมา เราจะตีศีรษะของพระองค์ด้วยค้อนเหล็กอันลุกเป็นเปลวเพลิงให้แตกทำลายไป นี่แน่ะพระองค์ผู้เป็นพระมหากษัตริย์ อาการของพระองค์นี้เหมือนกับอาการของบุคคลผู้ต้องการไฟ แต่ไปหาใบไม้ใบหญ้ามาก่อที่ก้นหิ่งห้อย ด้วยเข้าใจว่าจะได้ไฟ จะได้ไฟมาแต่ไหนหรือเหมือนกับบุคคลผู้ต้องการน้ำนมโค แต่ไปรีดที่เขาโค จะได้น้ำนมโคมาแต่ไหน หรือไม่อย่างนั้นเปรียบเหมือนบุคคลต้องการชั่งสิ่งของทั้งปวงแล้วทิ้งตาชั่งเสีย เอาฝ่ามือเข้าชั่งแทน จะได้ความเที่ยงตรงแต่ที่ไหน นี่แน่ะมหาบพิตร อันท้าวพระยามหากษัตริย์แต่โบราณ ซึ่งปราบปรามข้าศึกศัตรูได้นั้น ล้วนแต่ชุบเลี้ยงแต่คนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดไว้ให้เป็นหัวหน้าแห่งเสนาทั้งปวง และทรงบำรุงรักษาซึ่งพวกพลพาหนะไว้เป็นอันดี แต่นี่พระองค์ไม่ทรงทำอย่างนั้น ได้ทิ้งมโหสถผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมเสีย เลี้ยงแต่คนโง่เง่าเต่าตุ่นไว้ เราขอบอกว่า ถ้าพระองค์แก้ปริศนาของเราไม่ได้ เราจักไม่ไว้ชีวิตเลย ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็อันตรธานหายไปจากที่นั้น
สิ้นเรื่องในตอนขัชโชปนกปัญหาเพียงเท่านี้ ราชา มรณภยชฺชิโต ต่อนี้ไปว่าด้วยเรื่องในตอนภูริปัญหา สืบต่อไปมีเนื้อความว่า อ่านต่อพรุ่งนี้ ครับ

8ocdj
08-19-2009, 09:41 PM
ราชา มรณภยชฺชิโต ต่อนี้ไปว่าด้วยเรื่องในตอนภูริปัญหา สืบต่อไปมีเนื้อความว่า เมื่อพระเจ้าวิเทหราช ได้ทรงสดับคำตวาดคุกคามของเทพยดานั้นแล้ว ก็สะดุ้งกลัวต่อมรณภัยยิ่งนัก พอรุ่งเช้าขึ้นก็โปรดให้อำมาตย์ทั้ง ๔ ขึ้นรถคนละคันพร้อมกับให้ถือทรัพย์ไปคนละพันตำลึง ให้ไปเที่ยวติดตามมโหสถทั้ง ๔ ทิศ ตรัสสั่งว่าพบมโหสถในที่ใด จงบูชาด้วยทรัพย์พันตำลึง แล้วอัญเชิญมาหาเราโดยเร็ว อำมาตย์ทั้ง ๔ นั้นก็กระทำตามพระราชโองการ
ส่วนนักปราชญ์คนหนึ่งซึ่งออกไปทางประตูทิศทักษิณนั้น ได้ขับรถไปจวนจะถึงใกล้บ้าน มโหสถอาศัยอยู่
ในเวลานั้น มโหสถกำลังนั่งหันจักรปั้นหม้อให้ช่างหม้ออยู่ และไปขนเอาดินมาวางลงบนกองกระดานสำหรับปั้นหม้อบ้าง พอได้เห็นอำมาตย์นั้นแต่ไกล จึงคิดว่า ลาภยศของเราจักคงคืนเป็นปกติในวันนี้แล้ว เราจักกลับไปบริโภคอาหารอันมีโอชาที่แม่อมรตกแต่งอีกแล้ว ครั้นดำริอย่างนี้แล้วก็นั่งดูอำมาตย์นั้นอยู่
อำมาตย์พวกนั้นเป็นพวกของเสนก ซึ่งถือว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญา พอได้เห็นมโหสถทำการตรากตรำอยู่อย่างนั้น จึงกล่าวขึ้นว่า ข้าแต่เจ้าปราชญ์ ถ้อยคำที่เสนกกล่าวว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญานั้นท่านควรจะจำไว้เป็นคติ ดูแต่ท่านนี้เถิด เมื่อไม่มีทรัพย์แล้วก็ต้องมาลำบากตรากตรำอยู่อย่างนี้ ถึงมีปัญญาก็มีเสียเปล่า ไม่เห็นช่วยท่านให้มีความสุขได้
ฝ่ายมโหสถจึงตอบว่า ดูก่อนอำมาตย์ตาบอด การที่เราทำงานตรากตรำอยู่อย่างนี้ ก็ด้วยปัญญาของเราที่จะทำให้สิริสมบัติทั้งสิ้นคงคืนแก่เราเป็นปกติ เราเห็นว่าเวลานี้เป็นเวลาที่พระมหากษัตริย์ทรงพระพิโรธ จึงสมควรจะละอิสริยยศ และบริวารออกมาทำการตรากตรำอยู่เช่นนี้แต่ผู้เดียว เพื่อไม่ให้พระมหากษัตริย์ทรงระแวงสงสัยเรา เราจักรู้เวลาอันควรและไม่ควร เวลาใดควรทำอย่างไร เราก็จักทำอย่างนั้น เวลาควรถ่อมเราก็ถ่อม เวลาควรองอาจเราก็องอาจไม่ช้าท่านก็จักเห็นเราองอาจปานดังพญาราชสีห์
ลำดับนั้น อำมาตย์ผู้นั้นจึงแจ้งเหตุว่า ข้าแต่เจ้าปราชญ์ บัดนี้เทพยดาที่สิงอยู่ในกัมพูฉัตร ได้ถามอรรถปริศนา ๔ ข้อ ต่พระมหากษัตริย์ ๆ และนักปราชญ์ทั้ง ๔ ไม่สามารถจะชี้แจงแก้ไขได้ จึงตรัสใช้ข้าพเจ้าให้ออกมาอัญเชิญท่านไปในเวลานี้
มโหสถจึงตอบไปทันทีว่า นี่แน่ะอำมาตย์ เห็นหรือยังเล่าว่าปัญญาดีกว่าทรัพย์ ถ้าท่านเห็นว่าทรัพย์ดีกว่าปัญญาแล้ว พระมหากษัตริย์ก็มีทรัพย์เป็นนักเป็นหนา เหตุไรจึงไม่เอาทรัพย์มาแก้ปริศนาเล่า ต้องมาเที่ยวหาเราผู้มีปัญญาทำไม ยศและบริวารทั้งปวงทำไมจึงไม่ช่วยแก้ปัญหาเล่า นี่แนะอำมาตย์ผู้โง่เขลา จงเข้าใจไว้เถิดว่า ปัญญานี้แหละย่อมเป็นที่พึ่งในเวลามีเหตุเภทภัย
ในลำดับนั้น อำมาตย์ผู้นั้นจึงน้อมเอาถุงทรัพย์พันตำลึงเข้าไปมอบไว้แก่พระมโหสถ
ในขณะนั้น นายช่างหม้อที่เป็นอาจารย์ก็ตกใจว่า เราไม่รู้เลยวานี่คือพระมโหสถ เราได้ใช้สอยให้หยิบนั่นหยิบนี่เสียเป็นหนักหนา
พอพระมโหสถเห็นกิริยาช่างหม้อตระหนกตกใจดังนั้น จึงโลมเล้าเอาใจว่า ขอท่านอาจารย์อย่ากลัวเลย เพราะท่านอาจารย์มีคุณแก่ข้าพเจ้ามาก ได้เลี้ยงดูข้าพเจ้ามาหลายวันแล้ว ว่าแล้วก็ยกทรัพย์พันตำลึงนั้นให้แก่ช่างหม้อว่า ข้าพเจ้าขอตอบแทนคุณท่านด้วยทรัพย์พันตำลึงนี้
ว่าแล้วก็ลุกขึ้นไปสู่รถด้วยร่างกายอันแปดเปื้อนมอมแมมเข้าไปสู่พระนคร เมื่อไปถึงพระราชวังแล้ว อำมาตย์ผู้นั้นจึงให้พระมโหสถรออยู่ข้างนอกก่อน ส่วนตนได้เข้าไปเฝ้ากราบทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ตัวพระมโหสถมาแล้วพระพุทธเจ้าข้าฯ
พระมหากษัตริย์จึงตรัสถามว่า ท่านไปพบมโหสถที่ไหน
ขอพระราชทานข้าพระพุทธเจ้าได้ไปพบที่บ้านช่างปั้นหม้อ ตำบลทักขิณวยมัชฌคาม มโหสถ กำลังนั่งปั้นหม้ออยู่กับช่างหม้อมีตัวขมุกขะมอม พอได้ยินว่ามีพระราชโองการให้หา ก็รีบมาฉับพลันทันหาได้อาบน้ำชำร่างกายไม่ มีร่างกายแปดเปื้อนด้วยโคลนและดินอยู่
เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงสดับดังนี้ ก็ทรงสิ้นสงสัยเข้าพระทัยแน่ว่ามโหสถไม่ได้เป็นกบฏ โดยทรงพระราชดำริว่า ถ้ามโหสถเป็นกบฏแล้ว ก็จะต้องไปส้องสุมพรรคพวกทำตนให้มียศและบริวารขึ้น ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งว่า จงไปบอกให้ลูกของเรากลับบ้านเรือน อาบน้ำชำระกายให้สบาย แล้วจึงเข้ามาเฝ้าเหมือนอย่างเคย
อำมาตย์ผู้นั้นขับรถกลับไปส่งถึงบ้าน อาบน้ำชำระกายเสร็จแล้ว จึงเข้าสู่ที่เฝ้าถวายบังคมแล้วก็เฝ้ายืนอยู่ในที่สมควรข้างหนึ่ง
พระมหากษัตริย์จึงตรัสถามลองใจพระบรมโพธิสัตว์เจ้าว่า ดูก่อนพ่อมโหสถ อันคนเรามีหลายจำพวก คือบางจำพวกเห็นว่าตัวเป็นสุข อยู่แล้วจึงไม่กระทำความชั่ว บางจำพวกไม่กระทำความชั่วเพราะกลัวเขาติฉินนินทา บางจำพวกไม่ทำความชั่วเพราะไม่มีปัญญา ก็ตัวเจ้านี้มีปัญญามากนัก อาจคิดชิงเอาราชสมบัติในชมพูทวีปได้ทั้งสิ้น แต่เหตุใดจึงเพิกเฉยไม่คิดอ่านทำการประทุษร้ายแก่เราเล่า
พระบรมโพธิสัตว์เจ้าจึงกราบทูลว่าขอพระราชทาน ธรรมดานักปราชญ์ จะได้ทำความชั่วเพราะจะหาความสุขให้แก่ตนย่อมไม่มี ถึงจะตกทุกข์ได้ยากอย่างไรก็ตาม นักปราชญ์ก็ไม่ทำความชั่วเลย ทำแต่สิ่งที่เป็นสุจริตเท่านั้น ไม่ลำเอียงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเลย
เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงสดับคำกราบทูลของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า อย่างนี้แล้ว จึงตรัสด้วยขัตติยมายาว่า ดูก่อนเจ้าปราชญ์ ธรรมดาคนที่มีปัญญาในโลกนี้ เมื่อตัวตกทุกข์ได้ยากต้องคิดเอาตัวรอด ถึงจะต้องทำความชั่วอันเป็นทุจริตผิดทางธรรมก็ดี คิดว่าเมื่อได้ดีมีความสุขแล้ว เราจึงค่อยทำความดีอันเป็นสุจริตธรรมต่อภายหลัง
ขอพระราชทาน การที่ทำอย่างนี้ไม่ใช่วิสัยของนักปราชญ์ ผู้เป็นนักปราชญ์อย่างข้าพระพุทธเจ้านี้ถึงจักตกทุกข์ได้ยากอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ทำความชั่วเลย เมื่อท่านผู้ใดมีบุญคุณแก่ตนแล้ว มีแต่คิดจะตอแทนบุญคุณเท่านั้น ไม่ได้คิดที่จะทำร้ายท่านผู้มีพระคุณเลย โดยที่สุดแต่ต้นไม้ที่ได้เข้าไปอาศัยร่มเงาแม้แต่เพียงครั้งเดียว ผู้เป็นนักปราชญ์เหมือนดังข้าพระพุทธเจ้านี้ ย่อมไม่คิดทีจะหักกิ่งก้านรานใจเลย เพราะเหตุว่า การประทุษร้ายต่อผู้มีคุณย่อมเป็นโทษอันใหญ่หลวง ขอพระราชทาน อันธรรมดาผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ถ้าได้รู้อรรถธรรมในสำนักผู้ใดแล้ว ไม่ควรที่จะละเมิดเพิกเฉยต่อผู้นั้นฯ บุคคลผู้เป็นคฤหัสถ์เกียจคร้าน 1 บรรพชิตไม่สำรวม 1 พระมหากษัตริย์ขาดการพิจารณา 1 นักปราชญ์ขี้โกรธ 1 ทั้ง 4 จำพวกนี้ไม่ดีเลย พระพุทธเจ้าข้า ธรรมดาพระมหากษัตริย์ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน จึงค่อยกระทำต่อภายหลัง ความเจริญทั้งสิ้นย่อมเกิดมีแก่กษัตริย์ ผู้ที่ใช้ความพิจารณาให้ถี่ถ้วน ขอพระองค์จงทรงทราบด้วยประการฉะนี้เถิด
เอวํ วุตฺเต ราชา ต่อไปนี้ว่าด้วยเรื่องตอนเทวปัญหาว่า เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้ากราบทูลพระมหากษัตริย์ดังที่แสดงมาแล้วนี้ พระมหากษัตริย์จึงอัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์เจ้าให้ขึ้นนั่งบนบัลลังก์
โปรดติดตามตอนต่อไป

8ocdj
08-21-2009, 10:03 PM
เอวํ วุตฺเต ราชา
ต่อไปนี้ว่าด้วยเรื่องตอนเทวปัญหาว่า เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้ากราบทูลพระมหากษัตริย์ดังที่แสดงมาแล้วนี้ พระมหากษัตริย์จึงอัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์เจ้าให้ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ อันกางกั้นไว้ด้วยเศวตฉัตรดูวิจิตรบรรจง ส่วนพระองค์ได้นั่งบนอาสนะอันต่ำ แล้วจึงทรงยกปัญหา 4 ข้อนั้นขึ้น จึงตรัสถามว่า ดูก่อนพ่อมโหสถ บัดนี้เทพยดาอันสิงอยู่ในกัมพูฉัตรของเรา ได้ถามปัญหา 4 ข้อ ไม่มีผู้ใดจักแก้ไขได้ ขอพ่อจงช่วยแก้ไขให้เราฟัง ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงว่าปัญหาให้ฟัง
พระโพธิสัตว์เจ้าก็แก้ไขถวายเป็นข้อๆ ไป คือ
ข้อที่ 1 ว่า คนจำพวกหนึ่งว่า ยิ่งชกยิ่งเตะยิ่งต่อยยิ่งตี ยิ่งเป็นที่รักนั้น ได้แก่ทารกน้อยๆ อันนอนอยู่บนตักของมารดา ชื่นชมกับมารดา แล้วเตะทุบตีมารดาด้วยมือและเท้าของตนบ้างถอนผมมารดาด้วยปากของตนเองบ้าง ตบปากมารดาด้วยกำปั้นบ้าง มารดาก็ยิ่งรักมากขึ้นฯ
ข้อที่ 2 ว่า บุคคลจำพวกหนึ่ง ยิ่งด่าแช่งชักก็ยิ่งเกิดเมตตากรุณานั้น ได้แก่มารดาอันด่าแช่งชักบุตรของตนซึ่งมีอายุได้ 6-7 ขวบ คือธรรมดามารดา เมื่อใช้สอยว่ากล่าวบุตรน้อยๆ ของตนไม่ได้อย่างไรแล้ว ก็ย่อมด่าว่าแช่งชักด้วยถ้อยคำต่างๆ เมื่อด่าว่าไปแล้วก็เกิดความเมตตากรุณาขึ้นฯ
ข้อที่ 3 ว่า บุคคลจำพวกหนึ่งใส่โทษแห่งกันและกันด้วยความไม่จริงแล้วเกิดความรักกันขึ้นนั้น ได้แก่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันใหม่ๆ คือ ธรรมดาสามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันใหม่ๆนั้น เมื่ออยู่ด้วยกันในที่สงัดแล้วย่อมใส่โทษกันด้วยคำไม่จริง ข้างหนึ่งว่า เจ้าหารักเราไม่ ใจของเจ้าอยู่เสียข้างนอก อีกข้างหนึ่งว่า เจ้านั่นแหละไม่รักเรา ใจของเจ้ามัวเมาอยู่กับผู้อื่น เสียดังนี้เป็นต้นฯ
ข้อที่ 4 ว่า บุคคลจำพวกหนึ่งยิ่งขนเอาสิ่งของไปก็ยิ่งเป็นที่รักแห่งเจ้าของนั้น ได้แก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีล ซึ่งนำเอาปัจจัย 4 ของชาวบ้านไป คือ ธรรมดาชาวบ้านที่ยินดีถวายทานแก่สมณพราหมณ์นั้น เมื่อเห็นสมณพราหมณ์รับเอาปัจจัย 4 ของตนไป ก็ยิ่งดีอกดีใจว่า ท่านยินดีรับไทยทานของตน ดังนี้ฯ
เมื่อเวลาพระโพธิสัตว์เจ้าแก้ปัญหาจบลงแต่ละข้อๆ เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ที่กัมพูฉัตรนั้น ก็แสดงกายให้ปรากฏกึ่งหนึ่งแล้ว ซ้องสาธุการด้วยเสียงอันไพเราะ ปัญหาข้อนี้พระมโหสถ กล่าวแก้ถูกต้องเป็นอันดีแล้ว แล้วบูชาพระมโหสถด้วยดอกไม้ทิพย์ อันใส่เต็มในผอบแก้ว ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงบูชาด้วยดอกไม้ต่างๆ ทุกครั้งไป ในข้อสุดท้ายเทพยดานั้นได้ทิ้งผอบทองอันเต็มไปด้วยแก้ว 7 ประการ ลงบูชาพระบรมโพธิสิตว์เจ้าแล้วก็อันตรธานหายไป ส่วนพระมหากษัตริย์ได้ทรงเพิ่มอิสริยยศ ให้แก่พระมโหสถยิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน จบตอนว่าด้วยเทวปัญหา คือปัญหาของเทวดาแต่เพียงเท่านี้
ปุน เต จตฺตาโร ปณฺฑิตา ต่อไปนี้ว่าด้วยตอนนักปราชญ์ทั้ง 4 คิดริษยาพระมโหสถอีก ซึ่งเรียกว่า ปัญจปัณฑิตปัญหา
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป

8ocdj
08-22-2009, 09:25 PM
ปุน เต จตฺตาโร ปณฺฑิตา
ต่อไปนี้ว่าด้วยตอนนักปราชญ์ทั้ง 4 คิดริษยาพระมโหสถอีก ซึ่งเรียกว่า ปัญจปัณฑิตปัญหา คือเป็นตอนว่าด้วยปัญหาที่นักปราชญ์ทั้ง 4 คิดเป็นอุบายขึ้น เพื่อให้พระเจ้าวิเทหราช ทรงซักถาม เพื่อให้พระเจ้าวิเทหราชทรงเข้าพระทัยว่า พระมโหสถเป็นกบฏในตอนนี้ว่า นักปราชญ์ทั้ง 4 นั้นได้เริ่มต้นริษยามโหสถอีกว่า
บัดนี้มโหสถเป็นใหญ่ยิ่งกว่าพวกเราแล้ว พวกเราจะทำประการใด เสนกจึงพูดขึ้นว่า ข้อที่มโหสถได้เป็นคนใหญ่คนโตขึ้นแล้วนี้ เราไม่เห็นแปลกอะไรนักหนา เรามีอุบายอยู่อย่างหนึ่งที่จะทำลายมโหสถได้โดยง่าย คือพวกเราจงพร้อมกันไปถามมโหสถ ทำเป็นเหมือนรักใครแล้วไต่ถามว่า ผู้ที่เป็นนักปราชญ์สมควรจะให้ความลับแก่ผู้ใด มโหสถคงตอบว่า ไม่สมควรจะให้ความลับแก่ผู้ใด เมื่อมโหสถกล่าวอย่างนี้แล้วพวกเราจึงพร้อมกันไปเฝ้าพระมหากษัตริย์กราบทูลว่า บัดนี้ มโหสถเป็นกบฏขึ้นแล้ว ถ้าท้าวเธอไม่ทรงเชื่อ เราทั้ง 4 จึงพร้อมกันกราบทูลว่า ขอให้พระองค์ทรงซักถามดูว่า อันความลับบุคคลจะให้แก่ผู้ใด ให้ถามเรียงตัวไป เริ่มแต่เราเป็นต้นจนกระทั่งถึงมโหสถ เมื่อมโหสถทูลว่า เขาไม่ให้ความลับแก่ใคร ท้าวเธอก็จะทรงเข้าใจว่า มโหสถเป็นกบฏจริงตามถ้อยคำของเราทั้ง 4
ครั้นสเนกกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงพานักปราชญ์ทั้ง 4 ไปสนทนาปราศรัยกับพระมโหสถ แล้วไต่ถามมโหสถขึ้นว่า ข้าแต่นักปราชญ์ ธรรมดาคนที่เกิดมาในโลกนี้ ควรจะต้องอยู่ในธรรมข้อไหนจึงจะเป็นการดี
มโหสถจึงตอบว่า ดูก่อนท่านทั้ง 4 คนที่เกิดมาในโลกนี้ ควรตั้งอยู่ใน สัจจธรรมคือ ความ ซื่อสัตย์จึงจะเป็นการดี
ข้าแต่นักปราชญ์ เมื่อตั้งอยู่ในสัจจธรรมแล้วควรจะทำสิ่งใดต่อไป
ควรจะขวนขวายหาทรัพย์สินเงินทองให้มากขึ้น
ข้าแต่เจ้าปราชญ์ เมื่อหาทรัพย์ได้มากแล้วควรจะทำสิ่งใดต่อไป
ควรจะหาความคิดอันสำคัญต่อไป
เมื่อได้ความคิดอันสำคัญแล้ว ควรจะทำสิ่งใดต่อไปเล่า
เมื่อได้ความคิดอันสำคัญแล้ว ควรจะปกปิดไว้อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งรู้
เมื่อมโหสถกล่าวอย่างนี้แล้ว นักปราชญฺทั้ง 4 นั้นก็พากันดีอกดีใจว่า สมกับความคิดของตนแล้ว จึงพากันลากลับไปสู่เคหสถาน
รุ่งเช้าขึ้นได้พร้อมกันเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ก่อนพระบรมโพธิสัตว์เจ้า กราบทูลใส่โทษว่ามโหสถคิดการเป็นกบฏแล้วพระเจ้าข้า
พระเจ้าวิเทหราชก็ตรัสว่า เราไม่เชื่อ
จึงพร้อมกันกราบทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อ ก็ขอได้โปรดถามปัญหาต่อข้าพเจ้าทั้ง 4 กับมโหสถดูว่า ควรไว้ความลับแก่ใคร ถ้ามโหสถไม่เป็นกบฏก็จักกราบทูลว่า ไม่มีความลับจะปกปิด ให้เปิดเผยความลับแก่ผู้นั้นผู้นี้เสมอ แต่ถ้ามโหสถเป็นกบฏจริง เขาก็จักกราบทูลว่าความลับของเขา เขาไม่ได้บอกแก่ใคร
เมื่อเสนกกราบทูลอย่างนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงเห็นชอบด้วยอุบาย
เมื่อมโหสถเข้าเฝ้าพร้อมหน้าแล้ว จึงทรงตั้งปัญหาไต่ถามว่า ดูก่อนนักปราชญ์ทั้ง 4 ความลับที่ควรติเตียนหรือสรรเสริญก็ดี บุคคลควรจะบอกแก่ใคร
เสนกจึงย้อนทูลถามขึ้นว่า ขอให้พระองค์ได้ทรงแก้ไขก่อนเถิด แล้วข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะแก้ถวายต่อภายหลัง
จึงตรัสว่า นักปราชญ์ทั้ง 5 เราพิจารณาเห็นว่าภรรยาคนใดเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อสามี เราเห็นว่า บุรุษควรจะบอกความลับแก่ภรรยาคนนั้น ก็เสนกเล่าเห็นว่า ควรจะบอกความลับแก่ผู้ใด
ขอพระราชทาน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า ควรบอกความลับแก่สหายอันรักใคร่กันจริงๆ เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากกันจริงๆ
ครั้นเสนกกราบทูลอย่างนี้แล้วจึงตรัสถามปุกกุส กามินท์ เทวินท์อีกต่อไป
ปุกกุสกราบทูลว่า ควรจะบอกความลับแก่พี่ชายหรือน้องชายที่มีศีลวัตรอันดี
กามินท์กราบทูลว่า ควรจะบอกความลับแก่ลูกชาย ซึ่งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอน
เทวินท์กราบทูลว่าควรจะบอกความลับแก่มารดา
ครั้นแล้วจึงตรัสถามพระมโหสถอีกต่อไป
พระมโหสถกราบทูลว่า อันธรรมดาความลับแล้วย่อมไม่สมควรจะบอกแก่ผู้ใด
เมื่อพระมโหสถกราบทูลอย่างนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงน้อยพระทัยว่า พระมโหสถเป็นกบฏจริง ดังถ้อยคำของนักปราชญ์ทั้ง 4 จึงทอดพระเนตรไปดูเสนกฯ ก็ทอดจักษุดูตอบพระมหากษัตริย์ เป็นเชิงอาณัติสัญญาแก่กันและกัน
ฝ่ายพระมโหสถได้เห็นกิริยา ก็เข้าใจทันทีว่านักปราชญ์ทั้ง 4 นี้ ได้ทูลยุยงพระมหากษัตริย์ว่า เราเป็นกบฏเสียแล้ว พระมหากษัตริย์จึงได้ตรัสถามปัญหาเช่นนี้ เพื่อจะทดลองว่า เราจะเป็นกบฏจริงหรือไม่ เวลานี้ก็เป็นเวลาค่ำมืดแล้ว เราไม่ควรจะอยู่ให้ชักช้าเพราะเหตุว่า พระราชฐานเป็นของไม่ควรดูเบา ใครเล่าจักรู้ได้ว่า จักมีอะไรเกิดขึ้น เราควรจะรีบกลับออกไปโดยเร็ว ครั้นคิดแล้วก็ลุกขึ้นถวายบังคม ลาออกจากที่เฝ้าโดยทันใด เมื่อออกจากที่เฝ้าแล้วจึงนึกสงสัยว่า การที่นักปราชญ์ทั้ง 4 ได้กราบทูลว่า ตนได้บอกความลับแก่คนนั้นคนนี้ ข้อนี้จักเป็นอย่างไรหนอ ความลับเหล่านั้น เขาจักได้รู้มาหรือได้เห็นมา หรือได้ทำเองเป็นประการใด เราจักต้องให้รู้จักในวันนี้จงได้ ครั้นคิดดังนี้แล้วก็เดินออกไปซ่อนอยู่ในถังที่ใส่ข้าวริมประตูพระราชวัง อันนักปราชญ์ทั้ง 4 เคยไปนั่งสนทนากันทุกวันในเวลาออกจากที่เฝ้า
คือมโหสถได้บอกให้บริวารของพระองค์ช่วยกันยกถังใส่ข้าวใบนั้นขึ้น แล้วเข้าไปซ่อนอยู่ข้างใน ให้พวกบริวารพากันหลบไปซ่อนอยู่เสียในที่อื่น โดยสั่งไว้ว่า เมื่อนักปราชญ์ทั้ง 4 มานั่งสนทนากันในที่นี้ ลุกแล้วไป พวกเจ้าจงมาเปิดให้เราออกเถิด ดังนี้ พวกบริวารก็ทำตามคำสั่งของมโหสถทุกประการ
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป ครับ

8ocdj
08-23-2009, 11:04 PM
เสนโกปิ ราชานํ อาห มหาราช ตุมฺเห อมฺหากํ น สทฺทหถ อิทานิ กึ ทิสนิติ ฯ เภทกานํ วจนํ สุตฺวา อิทานิ กึ กโรม เสนกปณฺฑิตาติ ปุจฺฉิ มหาราช ปปญฺจ อกตฺวา กิญฺจิ อชานาเปตฺวา คหปติปุตฺตํ มาเรตุ วฏฺฏตีติ.
ดำเนินความว่า เมื่อพระมโหสถออกจากที่เฝ้าแล้ว เสนกจึงกราบทูลพระเจ้าวิเทหราชขึ้นว่า ขอพระราชทาน เมื่อก่อนพระองค์ไม่เชื่อข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มาบัดนี้ ทรงเห็นจริงแล้วหรือยังประการใด
ในครั้งนั้นพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงเชื่อถือว่า มโหสถเป็นกบฏจริง จึงตกพระทัยกลัว ตรัสปรึกษากับเสนกว่า จะทำอย่างไรดี
เสนกจึงกราบทูลว่า สมควรจะฆ่ามโหสถเสียโดยเร็ว อย่าทันให้ผู้หนึ่งผู้ใดรู้ สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงเห็นชอบด้วย อย่าทันให้ผู้หนึ่งผู้ใดรู้
สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงพระราชทานพระขรรค์อาญาสิทธิ์ให้ว่า ท่านอาจารย์จงคอยดักฆ่ามโหสถเสียที่ประตูวังในเวลาพรุ่งนี้เช้าให้จงได้
เสนกก็รับเอาพระขรรค์แล้วกราบทูลว่า เรื่องนี้ไว้เป็นธุระของข้าพระพุทธเจ้า กราบทูลแล้วก็พร้อมกันถวายบังคมออกจากที่เฝ้า แล้วเดินพูดกันต่อไปว่า ที่นี้เราจะได้เห็นหลังข้าศึกแล้ว พอออกไปถึงประตูวัง ก็พากันนั่งลงบนถังใสข้าวแล้วสนทนากันไป
ฝ่ายเสนกจึงพูดขึ้นว่า พรุ่งนี้ใครจะเป็นผู้ฆ่ามโหสถนักปราชญ์ทั้ง 3 ตอบว่า ขอให้ท่านอาจารย์เป็นผู้ฆ่าเถิด เพราะข้าพเจ้าทั้ง 2 ไม่กล้าหายแข็งแรงเหมือนท่านอาจารย์ เสนกจึงตอบว่า ถ้าไม่มีใครกล้าเราลงมือเอง
แล้วเหลียวมาถามนักปราชญ์ทั้ง 3 ว่า ข้อที่ท่านทั้ง 3 กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า ให้บอกความลับแก่น้องบ้าง แก่บุตรบ้าง แก่มารดาบ้างนั้น มีเรื่องมาอย่างไร
นักปราชญ์ทั้ง 3 จึงย้อนถามเสนกว่า ก็ข้อที่ท่านอาจารย์ได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า ให้บอกความลับแก่สหายนั้น เป็นอย่างไร
เสนกจึงเคาะถังข้าวด้วยมือแล้วกล่าวว่า บางทีมโหสถแอบอยู่ใต้ถังข้าวนี้ก็ไม่รู้ ถ้ามโหสถรู้เรื่องนี้แล้ว เป็นต้องตายทีเดียว เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก
นักปราชญ์ทั้ง 3 จึงกล่าวว่า ป่านนี้มิมัวเมาอยู่กับบุตร ภรรยาที่บ้านแล้วหรือ ที่ไหนจะมาแอบอยู่ที่นี่ ขออาจารย์จงเล่าไปเถิด อย่าได้กลัวเลย
เสนกจึงเล่าให้ฟังว่า เราได้พาหญิงนครโสเภณีคนหนึ่งมีชื่อว่าอย่างนั้นในเมืองนี้ ไปร่วมอภิรมย์ที่สาลวโนทยาน แล้วก็ฆ่าเอาเครื่องประดับเสีย เวลานี้เครื่องประดับนั้น เราได้เอาไปแขวนไว้ที่ปลายเท้าในห้องเรือนของเรา เราได้บอกเรื่องนี้แก่สหายของเราคนเดียวเท่านั้น โดยเหตุนี้เราจึงกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า บุคคลควรบอกความลับแก่สหายที่รักของตน ก็ท่านทั้ง 3 เล่า มีเรื่องเป็นมาอย่างไร จึงได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวอย่างนั้น จงเล่าไปให้ฟังดูที
ปุกกุสจึงเล่าให้ฟังว่า ข้าพเจ้าเป็นโรคเรื้อนที่ขา ทุกๆ เวลาเช้า ข้าพเจ้าให้น้องชายของข้าพเจ้าชำระแผลและทายาให้พันไว้ด้วยผ้าเก่า แล้วข้าพเจ้าก็นุ่งผ้าใหม่ปิดเสีย เรื่องนี้รู้แต่น้องชายของข้าพเจ้าคนเดียวเท่านั้น เวลาเข้าไปสู่ที่เฝ้า พระเจ้าอยู่หัวชอบตรัสเรียกให้ข้าพเจ้าเข้าไปนั่งในที่ใกล้ แล้วเอนพระองค์ลงบนขาของข้าพเจ้าเนืองๆ ตรัสชมว่า ขาของข้าพเจ้าอ่อนนุ่มดี เพราะผ้าขี้ริ้วพันแผลนั้นเอไม่ใช่อื่นไกลเลย ถ้าเรื่องนี้ทรงทราบถึงพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องตายเหมือนกันกับอาจารย์
กามินท์จึงเล่าต่อไปว่า ข้าพเจ้าเป็นบ้าผีสิงทุกเดือนดับ คือมีผีตนหนึ่ง ชื่อว่านรเทวยักษ์ เข้าสิงข้าพเจ้าในเวลาเดือนดับแล้วข้าพเจ้าก็ร้องเป็นเสียงสุนัขบ้า เรื่องนี้รู้แต่บุตรของข้าพเจ้าคนเดียวเท่านั้น คือ ทุกเวลาที่ผีสิงข้าพเจ้าแล้ว บุตรของข้าพเจ้าก็ให้ข้าพเจ้าเข้าไปอยู่ในห้องนอน แล้วให้ดีดสีตีเป่าครึกครื้นจนกลบเสียงข้าพเจ้าหมด
เทวินท์จึงเล่าว่า ข้าพเจ้าได้ขโมยเอาแก้วมณีอันชื่อว่า สิริปเวสมงคลที่พระอินทร์ได้ประทานแก่พระเจ้ากุสราช ซึ่งเป็นพระอัยยกาของพระมหากษัตริย์เอาไปไว้ในบ้าน เวลาจะเข้าเฝ้าข้าพเจ้าได้ซ่อนแก้วมณีนั้นเรียกสิริให้เข้าไปในตัวก่อนแล้วจึงเข้าเฝ้า ด้วยอำนาจแก้วนี้แหละพระมหากษัตริย์จึงชอบตรัสกับข้าพเจ้าก่อนท่านทั้งปวง แล้วพระราชทานทรัพย์ให้แก่ข้าพเจ้าวันละ 3 กหาปณะบ้าง 16 กหาปณะบ้าง 32 กหาปณะบ้าง ทุกวันไป เรื่องนี้รู้แต่มารดาของข้าพเจ้าเท่านั้น โดยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่า บุคคลควรบอกความลับแก่มารดา
เมื่อนักปราชญ์ทั้ง 4 บอกความลับแก่กัน ดังนี้แล้ว จึงกำชับกันให้มาแต่เช้ามืด เพื่อดักฆ่ามโหสถที่ประตูพระราชวังแล้วก็พากันลุกไป
ฝ่ายบริวารทั้งหลาย พอนักปราชญ์ทั้ง 4 ลับตาไปแล้วจึงพากันไปเปิดถังข้าวให้พระโพธิสัตว์เจ้าฯ
โปรดรออ่านต่อตอนต่อไป

8ocdj
08-25-2009, 10:17 PM
ฝ่ายบริวารทั้งหลาย พอนักปราชญ์ทั้ง 4 ลับตาไปแล้วจึงพากันไปเปิดถังข้าวให้พระโพธิสัตว์เจ้าฯ เมื่อออกจากถังข้าแล้วก็กลับสู่เคหสถาน อาบน้ำชำระกายด้วยน้ำหอม แล้วก็แต่งตัวออกบริโภคอาหาร ครั้นเสร็จการบริโภคแล้วก็คิดว่า คืนวันนี้สมเด็จพระนางอุทุมพรราชเทวี คงจะส่งข่าวอันใดอันหนึ่งมาให้เราทราบเป็นแน่นอน จึงสั่งพวกคนใช้ว่าถ้ามีผู้ใดออกมาจากพระราชวัง จงนำผู้นั้นเข้าไปหาโดยเร็ว ครั้นสั่งแล้วก็เข้าที่บรรทม
ตสฺมึ ขเณ ราชา ในขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้เสด็จเข้าที่บรรทมแล้วทรงระลึกถึงความดีของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งได้มีแก่พระองค์มาแล้วเป็นอันมาก ก็ทรงสลดพระหฤทัยว่า มโหสถนี้ได้ติดตามเป็นข้าเฝ้าของเรามา เริ่มแต่เมื่ออายุได้ 7 ขวบ จนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่มีความผิดสิ่งใดเลย เวลาเทวดาถามปัญหาต่อเรานั้น ถ้าเราไม่ได้มโหสถนั้นช่วยแก้ไขก็ไม่รอดชีวิตอยู่ได้จนบัดนี้ เรารู้อยู่แต่เดิมทีแล้วว่า นักปราชญ์ทั้ง 4 เป็นข้าศึกกันกับมโหสถ ควรแล้วหรือเรามาด่วนเชื่อถ้อยคำของนักปราชญ์ทั้ง 4 ถึงกับส่งพระขรรค์ให้ไปฆ่าเสียเช่นนี้ เรานี้ทำสิ่งมิบังควรนักหนา อนิจจามโหสถเอ๋ย จำเดิมแต่นี้ไปที่จะได้เห็นหน้ามโหสถอีกนั้นหามิได้แล้ว พรุ่งนี้เช้านักปราชญ์ทั้ง 4 ก็จะฆ่ามโหสถเสียที่ประตูวัง เมื่อท้าวเธอทรงสลดพระหฤทัยดังนี้แล้ว ก็ทรงกระสับกระส่ายจนถึงกับพระเสโทไหลโซมพระองค์
ขณะนั้น สมเด็จพระนางอุทุมพรราชเทวี ได้เสด็จบรรทมร่วมพระที่กับองค์พระมหากษัตริย์ เมื่อทรงเห็นพระอาการแปลกประหลาดดังนั้น ก็ทรงแปลกพระทัย จึงกราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์เป็นอย่างไรจึงได้มีพระอาการเช่นนี้ หรือกระหม่อมฉันมีโทษผิดสิ่งใด
จึงตรัสตอบว่า แม่อุทุมพรเอ๋ย เจ้าจะมีความผิดสิ่งใดก็หามิได้ พี่ไม่สบายใจด้วยเหตุที่พี่ได้หลงเชื่อคำยุยงของนักปราชญ์ทั้ง 4 ว่า มโหสถเป็นกบฏ แล้วพี่ได้ส่งพระขรรค์ให้นักปราชญ์ทั้ง 4 ไปคอยดักฆ่ามโหสถอยู่ที่ประตูพระราชวังในเวลาพรุ่งนี้เช้า ครั้นพี่มาระลึกถึงความดีของ มโหสถก็เกิดสลดใจ จึงไม่สบายใจเช่นนี้
พระนางอุทุมพรเป็นผู้ฉลาดในอุบายจึงกราบทูลขึ้นว่า ขอพระองค์อย่าทรงเป็นทุกข์ไปเลย เพราะพระองค์ได้ทรงชุบเลี้ยงมโหสถมาตลอดกาลนานแล้ว ควรละหรือ ที่มโหสถจะคิดกบฏต่อพระองค์ การที่พระองค์มีรังสั่งให้ฆ่าเสียนั้น เป็นการสมควรอยู่แล้วพระพุทธเจ้าข้าฯ
เมื่อสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้สดับคำเล้าโลมของพระนางอุทุมพรราชเทวีดังนี้แล้ว ก็ทรงคลายจากความเศร้าโศกเสียพระหฤทัยจนบรรทมหลับไป
ฝ่ายพระนางอุทุมพรราชเทวี ก็รีบเสด็จไปทรงพระอักษรเป็นเรื่องราวว่า ดูก่อนมโหสถ บัดนี้พวกนักปราชญ์ทั้ง 4 ได้กราบทูลยุยงพระมหากษัตริย์ว่า เจ้าปรารถนาจะริบเอาราชสมบัติ พระองค์ไม่ทันทรงพิจารณา จึงรับสั่งให้นักปราชญ์ทั้ง 4 คน คอยฆ่าท่านเสียที่ประตูพระราชวังในเวลาพรุ่งนี้เช้า เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะเข้ามาเฝ้าในเวลาพรุ่งนี้แล้วจงระวังตัวให้ดี จงทำชาวพระนครทั้งสิ้นให้อยู่ในเงื้อมมือของเจ้าเสียก่อนจึงเข้ามา ครั้นทรงพระอักษรเสร็จแล้ว จึงสอดเข้าไปในห่อข้าวต้มใส่ลงในภาชนะ ห่อตีตราประจำติดครั่งให้ดี ทรงส่งให้ทาสีนำออกไปให้มโหสถในเพลาราตรี
พอพาสีไปถึงประตูบ้านมโหสถ บุรุษที่มโหสถให้คอยดูอยู่นั้น ก็รีบพาทาสีเข้าไปหามโหสถทันที มโหสถรับเอาห่อข้าวต้มแล้วก็ให้ทาสีกลับไป แล้วแก้ห่อข้าต้มออกดูก็รู้ความลับใน สุภอักษร พระองค์จึงทรงจัดการสิ่งที่ควรกระทำให้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไปบรรทมต่อไป พอถึงเวลาเช้ามืด นักปราชญ์ทั้ง 4 ก็พากันไปดักอยู่ที่ประตูพระราชวังจนกระทั่งเกินเวลาเข้าเฝ้า เมื่อไม่เห็นมโหสถมา จึงพากันเข้าเฝ้า
ตอนต่อไปจบภาค-1 โปรดติดตามอ่าน

8ocdj
08-27-2009, 06:58 PM
พอถึงเวลาเช้ามืด นักปราชญ์ทั้ง 4 ก็พากันไปดักอยู่ที่ประตูพระราชวังจนกระทั่งเกินเวลาเข้าเฝ้า เมื่อไม่เห็นมโหสถมา จึงพากันเข้าเฝ้า
พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามว่า ท่านทั้ง 4 ได้ฆ่ามโหสถแล้วหรือ
นักปราชญ์ทั้ง 4 จึงกราบทูลถึงเหตุการณ์ที่มีมาให้ทรงทราบ
ฝ่ายมโหสถเมื่ออาบน้ำชำระกายบริโภคอาหารเรียบร้อยดีแล้ว จึงกระทำชาวพระนครทั้งสิ้นให้อยู่ในเงื้อมมือ ให้ชาวพระนครกับมหาชาตโยธาอีกพันหนึ่ง ขึ้นรถตามไปสู่พระราชวัง
เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้ทอดพระเนตรอยู่ที่ช่องพระแกล
พอมโหสถแลเห็นก็ลงจากรถถวายบังคมแล้วยืนนิ่งอยู่
พระเจ้าวิเทหราชจึงทรงดำริว่า มโหสถนี้ไม่เป็นกบฏแน่ เพราะถ้าเป็นกบฏแล้วที่ไหนเลยจะถวายบังคมเรา ครั้นทรงดำริแล้วจึงตรัสเรียกให้มโหสถขึ้นเฝ้า
มโหสถก็ขึ้นเฝ้าตามพระราชประสงค์
องค์พระมหากษัตริย์จึงตรัสถามว่า เหตุไรมโหสถจึงมาหาเราผิดเวลาเช่นนี้ ทั้งเมื่อวานนี้ก็กลับออกไปแต่วัน และได้เข้ามาด้วยบริวารยศเป็นอันมาก มีเหตุผลเป็นประการใด
มโหสถจึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน เพราะเมื่อวานนี้พระองค์ได้ทรงส่งพระขรรค์ให้นักปราชญ์ทั้ง 4 ไปคอยดักฆ่าข้าพระพุทธเจ้า ที่ประตูพระราชวังเวลาเสด็จเข้าบรรทมก็ทรงเล่าให้พระราชเทวีฟัง โดยเหตุนี้ข้าพระพุทธเจ้าจึงมาผิดเวลา พร้อมกับบริวารเป็นอันมากเช่นนี้
เมื่อสมเด็จพระนราธิบดีได้ทรงสดับดังนี้ ก็ทรงขัดเคืองพระหฤทัย ผินพระพักตร์ไปทอดพระเนตรพระนางอุทุมพรราชเทวี
มโหสถก็รู้ทีว่าพระมหากษัตริย์ทรงพระพิโรธแก่พระราชเทวี จึงกราบทูลว่า ขอพระราชทาน พระองค์อย่าทรงพระพิโรธแก่พระราชเทวีเลย เพราะข้าพระพุทธเจ้านี้เป็นผู้รู้จักเหตุผลใน อดีต อนาคต ปัจจุบัน ขอให้พระองค์ทรงนึกดูเถิดว่า ปัญหาที่เทวดาไต่ถามนั้นใครบอกข้าพระพุทธเจ้าๆ จึงได้รู้ ส่วนความลับของนักปราชญ์ทั้ง 4 นี้มีอยู่อย่างไร ข้าพระพุทธเจ้าก็รู้หมด ขอพระราชทาน นักปราชญ์ทั้ง 4 นี้ล้วนแต่เป็นคนไม่ดีทั้งนั้น คือ
เสนกฆ่าหญิงแพศยาในสาลวโนทยานแล้วเอาเครื่องประดับของหญิงแพศยาห่อผ้า ไปแขวนไว้ในที่ไม้นาคทันต์ในห้องนอนของตน ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อถ้อยคำของข้าพระพุทธเจ้า ก็ขอได้โปรดตรัสถามดูเถิด
สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชก็ตรัสถามเสนกว่า ข้อนี้จริงหรือไม่ เสนกกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระมหากษัตริย์ตรัสสั่งให้ราชบุรุษจับตัวเสนกไปจองจำไว้ทันที
มโหสถจึงกราบทูลเรื่องไม่ดีของนักปราชญ์ทั้ง 3 ต่อไปว่า พระพุทธเจ้าข้าฯ
ปุกกุสนี้เป็นโรคเรื้อนที่ลำขา
กามินท์ก็เป็นบ้าผีสิง
เทวินท์ก็เป็นโจรลักแก้วมณีอันมีชื่อว่า สิริปเวสนมงคลของพระองค์ไป
พวกนี้ล้วนแต่มีความผิด ไม่สมควรที่จะมาเป็นครูท้าวพระยามหากษัตริย์ได้
สมเด็จพระเจ้าวิเทหราชก็ซักถาม เมื่อได้ความจริงแล้ว ก็ตรัสสั่งให้นำนักปราชญ์ทั้ง 3 ไปขังไว้ในเรือนจำเหมือนกันกับเสนก
มโหสถจึงยกข้อธรรมขึ้นแสดง เพื่อแก้ความเข้าใจผิดของพระมหากษัตริย์ในวันก่อนว่า
ขอพระราชทาน ธรรมดาความลับแล้วนักปราชญ์ย่อมปกปิด นักปราชญ์ย่อมติเตียนความเปิดเผยความลับ และสรรเสริญการปกปิดความลับ เมื่อนักปราชญ์คิดสิ่งใดได้แล้ว ก็เก็บสิ่งนั้นไว้ จนกว่าจะทำสิ่งนั้นสำเร็จดังความคิดแล้วจึงเปิดเผยภายหลัง ถ้าเปิดเผยความลับเสียก่อนแล้ว อาจทำการไม่สำเร็จดังที่คิดไว้ อีกประการหนึ่งเมื่อนักปราชญ์เห็นว่า ผู้ใดรู้ความลับของตนแล้ว ก็กลัวผู้นั้นยิ่งกว่าบุคคลอื่นๆทั้งหมด ถึงผู้นั้นด่าว่า เฆี่ยนตี ก็ยอมตัวเหมือนกับเป็นทาส ธรรมดานักปราชญ์แล้ว ย่อมรักษาความลับไม่ให้แพร่งพราย ถ้านักปราชญ์จะปรึกษาความลับกับเพื่อนนักปราชญ์ด้วยกัน ก็ต้องปรึกษากันในที่แจ้ง
เมื่อสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับดังนี้ ก็ทรงโปรดปรานมโหสถมาก จึงโปรดสั่งให้ประหารชีวิตนักปราชญ์ทั้ง 4 นั้นเสีย พวกราชบุรุษก็นำนักปราชญ์ทั้ง 4 นั้น ออกมาโบยหลังคนละ 100 ที แล้วนำไปใส่ตะแลงแกง
แต่มโหสถได้ทูลขอพระราชทานชีวิตให้ทันที
พระมหากษัตริย์จึงตรัสสั่งว่าถ้าอย่างนั้น มโหสถจงเอาอ้ายคนพาลทั้ง 4 คน ไปไว้เป็นข้าช่วงใช้ในบ้านเสีย
มโหสถได้กราบทูลขอให้ตั้งพวกทั้ง 4 คนนี้ไว้เป็นนักปราชญ์เหมือนแต่ก่อนอีก
พระมหากษัตริย์ก็ทรงอนุมัติตาม เรื่องนี้ทำให้พระมหากษัตริย์เข้าพระทัยแน่ว่า มโหสถไม่เป็นกบฏแท้ทีเดียว เพราะเหตุว่า มโหสถเป็นคนมากไปด้วยเมตตากรุณา อย่าว่าแต่คนอื่นๆ หรือตัวเราผู้มีพระคุณเลย จนชั้นแต่นักปราชญ์ทั้ง 4 ซึ่งเป็นข้าศึกของมโหสถๆ ก็ยังมีเมตตากรุณา เมื่อสมเด็จพระเจ้าวิเทหราชทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ยิ่งโปรดปราน มโหสถขึ้นอีกมาก ฝ่ายนักปราชญ์ทั้ง 4 นั้น ก็หมดพยศอันร้ายเหมือนกับอสรพิษอันบุคคลถอนเขี้ยวเสียหมดแล้ว ไม่อาจจะเพ็ดทูลว่ากล่าวใส่ร้าย มโหสถแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งเลย
จบเรื่องมโหสถตอนที่นักปราชญ์ทั้ง 4 กล่าวโทษว่า เป็นกบฏแต่เพียงเท่านี้
และขอแบ่งตอนเรื่อง มโหสถบัณฑิต เป็นอันจบภาคที่ -1 ไว้แต่เพียงเท่านี้
โปรดคอยติดตามอ่าน มโหสถบัณฑิตภาค-2 อันเป็นเหตุการสำคัญ ว่าด้วยการศึกสงครามระหว่าง พระเจ้าวิเทหราชกับพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ซึ่งมีเกวัฏฏพราหมณ์ผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม และเสนกะ เอาใจออกห่างไปเป็นไส้ศึกให้พระเจ้าจุลนีพรหมทัต อีกด้วย มโหสถ จะคุ้มครองพระเจ้าวิเทหราชไว้ได้อย่างไร ขอพักเหนื่อยสักสองสัปดาห์ นะครับ

NNN
08-28-2009, 02:25 PM
แอบเข้ามาอ่านแล้วนะคะ พี่โจ อย่าลืมลงภาคต่อไปเร็วๆนะคะ ยังมีอีกหลายท่านติดตามอ่านค่ะ

Butsaya
09-06-2009, 02:37 PM
http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/Thinking/1.gif




อืม .....ม มาแอบอ่านอะค่ะ ช่วงนี้พักนานจังนะค่ะ พี่โจ

พักนาน ๆ วัยรุ่นเซ็งนะค่ะ อิอิ.....(แอบมาแซว) กำลังสนุกดีค่ะ




http://www.watkoh.com/board/richedit/upload/2ke22d3964a1.jpg