PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ตนแลเป็นที่พึ่งของตน



DAO
10-05-2009, 04:56 PM
ตนแลเป็นที่พึ่งของตน





๐ ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้
ผู้มีปัญญา เห็นค่าของตนที่ฝึกแล้ว ย่อมยินดีที่จะเผชิญความยาก ความยากแม้มากมายเพียงไรก็ตาม ย่อมให้ผลเป็นความมีค่าแห่งจิตใจตน เป็นความมีค่าแห่งตนเอง เป็นผลที่คุ้มกับความยากลำบาก ที่ต้องต่อสู้เพื่อให้การฝึกตนเป็นไปด้วยดี มีผลสำเร็จสมดังความมุ่งมาดปรารถนา “บัณฑิตหรือคนดีมีปัญญา ย่อมกล้า ย่อมพร้อม ที่จะรับความยากทั้งหลาย เพียงเพื่อได้มีโอกาสฝึกตน”

๐ ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสดงแสงสว่างของชีวิต
ผู้เป็นคนดี ย่อมสามารถนำตนไปสู่ความดีงามต่างๆได้ นำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ และสามารถนำผู้อื่นไปสู่ความดีงามต่างๆได้ นำผู้อื่นไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ด้วย ท่านจึงกล่าวว่า “ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นแสงสว่าง เป็นเครื่องส่องทาง เป็นเครื่องนำชีวิต เป็นเครื่องยังชีวิตให้สว่าง “ ถ้าต้องการเป็นแสงสว่างทั้งของตนเองและของผู้อื่น ก็ต้องฝึกตนให้เป็นคนดี หนีให้ไกลจากความโลภโกรธหลงให้มากที่สุด

๐ กิเลสเป็นเครื่องเศร้าหมองของชีวิต
กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเครื่องเศร้าหมอง มีอยู่ที่ใด ย่อมทำให้ที่นั้นเศร้าหมอง มีอยู่ใกล้ผู้ใดย่อมทำให้ผู้นั้นเศร้าหมอง เปรียบดังฝุ่นละออง จับต้องเข้าที่ใดสิ่งใด ย่อมทำที่นั้นสิ่งนั้นให้หมองมัวกิเลสจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกให้ไกล
๐ กิเลสจะปกคลุมจิตใจที่ไม่ได้รับการระวังรักษา
กระจกหน้าต่าง ประตู หรือกระจกเงาเป็นต้น ที่ใสสะอาดอยู่เดิม แต่ไม่ได้รับการเช็ดถูนานเข้า ฝุ่นละอองที่มีอยู่ทั่วไปแม้ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า จับมากขึ้นตามวันเวลาที่ล่วงไปย่อมทำให้กระจกหน้าต่าง ประตู หรือกระจกเงาเป็นต้นนั้นมีความสกปรกขุ่นมัวปกคลุมมากขึ้น จยปิดบังสภาพใสสะอาดเดิมได้ ฉันใด
กิเลสที่มีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง แม้ไม่อาจแลเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็จะปกคลุมจิตใจที่ไม่ได้รับการระวังรักษา ทำให้สภาพที่ใสบริสุทธ์ประภัสสรของจิตเดิมไม่อาจปรากฏได้ ฉันนั้น นึกภาพกระจกที่ฝุ่นจับหนา แล้วนึกถึงใจที่ไม่พยายามหนีให้ไกลจากกิเลส นี้เป็นเช่นเดียว

๐ จิตที่ปกคลุมอยู่ด้วยกิเลสย่อมเป็นเหตุแห่งความเดือนร้อน
จิตที่ความใสสะอาดบริสุทธิ์ประภัสสร ไม่อาจปรากฏได้เลย คือจิตของผู้ที่ยังเกลือใกล้กับกิเลสมากหลาย กิเลสยังปกคลุมหุ้มห่อจิตอยู่แน่นหนามาก มากทั้งโลภะ มากทั้งโทสะ มากทั้งโมหะ
ผู้มีจิตเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนนานาประการ ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น รวมเรียกได้ว่าแก่โลก จิตเช่นนั้นจึงเป็นที่รังเกียจ
“โลก” มิไดมีความหมายเพียงดาวดวงหนึ่งในจักรวาล แต่โลก หมายถึงทุกคนสัตว์ คือหมายถึงเรา หมายถึงเขานั่นเอง เราเดือดร้อน เขาเดือดร้อน นั่นก็กล่าวได้ว่าโลกเดือดร้อน จึงอย่าแยกเรา แยกเขา พึงถือเป็นโลกด้วยกัน
กิเลสเป็นเครื่องเศร้าหมอง ความเศร้าหมองไม่ทำให้ผู้ใดมีความสุข ทำให้มีความทุกข์ความร้อนเท่านั้น ที่ความร้อนยังมีอยู่ทั่วโลกทุกวันนี้ ก็เพราะคนยังยอมให้กิเลสครอบงำจิตใจอยู่อย่างหนาแน่น
ความทุกข์ความร้อนที่เกิดแก่โลกให้รู้ให้เห็นประจักษ์อยู่ คือกระจกส่องให้เห็นความหนาแน่นของกิเลส ที่เข้าห้อมล้อมจิตใจผู้คนทั้งหลาย


๐ ความทุกข์ความร้อน ตั้งต้นที่ใจของตนเอง
การจะทำความทุกข์ความร้อนให้บรรเทาเบาบาง ห่างจากโลกไป จึงอยู่ที่ต้องทำใจตนเองของแต่ละคน ให้มีกิเลสเข้าครอบคลุมน้อยที่สุด บางเบาที่สุด
ผู้ที่มีกิเลสครอบคลุมใจมาก ก่อความร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นมาก เป็นที่เข้าใจกันว่า ผู้นั้นเป็นคนไม่ดี แม้ตัวเองจะคิดว่าตนเป็นคนดี แต่ความจริงหาเป็นคนดีไม่
คนมีกิเลสห่อหุ้มใจมาก จะเป็นคนดีไม่ได้ พึงสึกนึกในความจริงข้อนี้ และรู้จักตนเองให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ปรับปรุงตนเองให้เป็นคนดีให้ได้
ไม่มีใครชอบคนไม่ดี ไม่มีใครปรารถนาจะเป็นคนไม่ดี เพียงแต่ไม่ทุกคนที่มีความเห็นชอบ จึงไม่ทุกคนที่นะรู้ตัวว่าตนเป็นคนไม่ดี ทั้งๆ ที่ก่อความเดือดร้อนให้แก่โลกอยู่ ด้วยถูกกิเลสครอบงำชักจูงไป

๐ ทุกคนต้องมีที่พึ่ง การมีคนดีเป็นมิตร จึงจำเป็นอย่างยิ่ง
คนดีหรือไม่ดี มีความเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง คือชอบคนอื่นที่ดี จึงชอบจะเลี้ยงดูบุตรหลานให้เป็นคนดี ให้คบคนดี มีสังคมที่ดี และตนเองก็ภูมิใจที่จะมีคนดีเป็นมิตรสหาย ภูมิใจที่จะได้อยู่ในสังคมคนดี โดยที่จะลืมความจริงที่สำคัญไปคือ คนดีนั้นย่อมไม่ปรารถนาจะมีคนไม่ดีอยู่ร่วม คนดีย่อมหลีกเลี่ยงคนไม่ดีเพราะคนดีย่อมรู้ว่า คนไม่ดี ย่อมนำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายต่างๆนานา
ดังนั้น แม้ปรารถนาจะมีสังคมที่ดี จึงต้องอบรมตนเองให้เป็นคนดี ให้กิเลสอยู่ใกล้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ คนไม่ดีเป็นคนให้ความทุกข์ความร้อน คนไม่ดีจึงเป็นที่พึ่งของใครไม่ได้ คนดีเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ ทุกคนจำเป็นต้องมีที่พึ่งในเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง การมีคนดีเป็นมิตร จึงจำเป็นอย่างยิ่ง

๐ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คือทำตนให้เป็นคนดี
ผู้ที่จะยอมเป็นที่พึ่งของผู้ใดผู้หนึ่ง คือจะให้ผู้ใดพึ่ง จะต้องเห็น สมควร นั่นก็คือจะต้องว่าผู้ที่ตนจะให้พึ่ง ให้ความช่วยเหลือนั้น มีความเหมาะสมที่จะได้รับความช่วยเหลือในเรื่องใดหรือไม่ ถ้าไม่เห็นความสมควรก็คงจะไม่ช่วย นี้คือที่พุทธศาสนาสุภาษิตนี้ จึงตั้งใจทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนคือทำตนให้เป็นคนดีนั่นแหละเป็นประการสำคัญ

๐ คนดีเป็นผู้ที่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
คนดีนั้นท่านกล่าวว่า เป็นผู้ที่ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ นี่มิใช่เรื่องอภินิหาร ถ้อยคำที่ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องของอภินิหารนั้น ความจริงมีความหมายธรรมดา แต่ความหมายนั้นแอบแฝงอยู่เบื้องหลังเท่านั้น
ผู้ที่ตกน้ำไม่ไหล คือน้ำไม่พัดพาไปถึงให้ได้รับอันตราย ก็ไม่ได้หมายความว่าน้ำหยุดไหล แต่ความหายว่ามีผู้ช่วยนำขึ้นให้พ้นน้ำได้
ผู้ที่ตกไฟไม่ไหม้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ไฟไม่ไหม้เนื้อหนังร่างกายจริงๆ แต่หมายความว่ามีผู้ช่วยให้พ้นจากไฟ หรือช่วยดับไฟให้ ตนจึงพ้นจากภัยอันเกิดจากไฟนั้น
ความหมายที่แท้จริงของตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ก็คือถึงคราวตกทุกข์ได้ยาก มีอันตราย ก็จะมีผู้ช่วย หรือมีเหตุการณ์มาทำให้สวัสดีได้

๐ ต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน ก่อนจะหวังพึ่งผู้อื่น
ผู้ที่มีความดีเพียงพอจะเป็นที่พึ่งของตนเองได้ ย่อมสามารถมีผู้อื่นเป็นที่พึ่งได้ ผู้ไม่มีผู้อื่นเป็นที่พึ่ง คือผู้ที่ไม่ได้มีความดีเพียงพอที่ผู้อื่นจะแลเห็นความดีนั้น ไม่แลเห็นความสมควรที่จะพึงให้ความช่วยเหลือ
เมื่อผู้ไม่มีความดีเพียงพอนั้น ได้รับความเดือดร้อนด้วยเรื่องใดก็ย่อมไม่มีผู้ยินดีช่วยเหลือ ถ้าอย่างหนักแม้ถึงตาย ก็ย่อมขาดผู้ยื่นมือเข้าช่วย เปรียบดังตกน้ำก็ไหล ตกไฟก็ไหม้ หมายความว่า เมื่อมีอันตรายก็ไม่มีผู้ช่วย ดังนั้นจึงต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน ก่อนที่จะหวังพึ่งผู้อื่น ไม่ว่าในเรื่องใดทั้งสิ้น