PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ลักษณะแห่งพระวินัย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)



**wan**
10-29-2008, 10:42 AM
http://www.bloggang.com/data/all4u/picture/1195387031.jpg

ลักษณะแห่งพระวินัย
พระธรรมเทศนาโดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๑


พุทธบริษัทได้มาสันนิบาตพรักพร้อมกันในธรรมสวนมณฑลนี้ เพื่อประโยชน์จะฟังพระธรรมเทศนาและสมาทานอุโบสถศีลและเบญจวิรัติ ตามความสามารถของตน ๆ ให้สำเร็จเป็นปฏิบัติบูชาในพระพุทธเจ้า ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เมื่อได้พร้อมกันทำบุพกิจในเบื้องต้น คือ ไหว้พระ สวดมนต์ และสมาทานอุโบสถศีลและเบญจเวรวิรัติสำเร็จแล้ว เบื้องหน้าแต่นี้เป็นโอกาสที่จะฟังธรรมเทศนาต่อไป

ด้วยว่า การฟังพระธรรมเทศนา เป็นเหตุให้เกิดอานิสงส์โดยประการเป็นอันมาก เป็นต้นว่า ธรรมประเภทใดที่ตนยังไม่เคยฟังก็จักได้ฟัง ธรรมแระเภทใดที่ตนเคยฟังมาแล้ว ก็จักชำนาญดียิ่งขึ้นไปกว่าเก่า และจักได้รับความรู้ความฉลาดในอรรถธรรมเป็นข้อสำคัญ บรรดาผู้ปฏิบัติต้องอาศัยการฟังเป็นเบื้องต้น

การฟังพระธรรมเทศนานี้ ท่านพรรณนาคุณานิสงส์ไว้โดยประการเป็นอันมาก แม้ในโสดาปัตติยังคะ คือองคคุณที่จักให้สำเร็จเป็นองค์พระโสดาฯ ที่ท่านพรรณนาไว้ ๔ อย่าง คือ

สุปฺปุริสูปสํเสโว
การคบหาสมาคมกับท่านที่เป็นสัตบุรุษ ๑

สทฺธมฺมสฺสวนํ
ตั้งใจฟังคำสอนของท่านผู้เป็นสัตบุรุษ ๑

โยนิโสมนสิกาโร
ใช้อุบายแยบคาย คือตรวจตรองพิจารณาเหตุผลให้ได้ใจความในธรรมของสัตบุรุษ ๑

ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ
ตั้งใจประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรมตามที่ตนตรองเห็นแล้ว ๑


ธรรม ๔ ประการนี้ ถ้าผู้ใดบำรุงให้เกิดมีในตนได้เป็นองคคุณ อาจที่จักสำเร็จเป็นองค์พระโสดาฯ ได้ การฟังพระธรรมเทศนา มีคุณมีประโยชน์แก่พุทธบริษัททุกชั้น เช่นอย่างพวกยินดีเพียงบริจาคทาน หรือยินดีเพียงรักษาศีล ก็ได้รับผลคือการฉลาดในการให้ทาน ฉลาดในการรักษาศีล ถึงพวกเจริญสมถะและวิปัสสนา ถ้าอบรมการสดับตรับฟังไว้มาก ก็เป็นตุให้เดินตรงต่อทางมรรคและทางผล ถ้าขาดการสดับตรับฟังแล้ว ก็อาจจักเดินทางผิดก็ได้ เพราะสมาธิมีประเภทมากมีมิจฉาสมาธิก็มีอยู่ด้วย

ความจริงสมาธิเป็นเครื่องสงบใจ บรรดาคณาจารย์ทั่วโลกถ้าคุมพวกได้มาก ๆ ต้องมีวิธีสงบใจ ในพุทธศาสนาหรือนอกพุทธศาสนาก็เหมือนกันดังพวกฤษีชีไพรทั่วไป ย่อมมีวิธีทำความสงบใจด้วยกันทั้งนั้น และเล็งนิพพานด้วยกันทั้งนั้นเหมือนอย่างในครั้งพุทธกาล พวกอุรุเวลกัสสปเป็นต้นก็เล่นฌาน สำคัญว่าตนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น ถึงในพุทธบริษัทที่สำเร็จฌานสำคัญว่าตนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็มีโดยมาก ตามทางศาสนประวัติ

เพราะเหตุนั้น พวกเราก็เป็นพุทธบริษัท ควรไต่สวนพระปริยัติธรรมซึ่งเป็นแบบแผนให้มาก เพื่อจะได้ป้องกันสัญญาวิปลาส เดินให้ตรงต่อมรรควิถี จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยสะดวก

บัดนี้ จะแสดงพระธรรมคุณ ยกธรรมในบทที่ว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม นั้นต่อไป เพราะคำที่ว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้วนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็คงย่นลงไปในปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม นั้นเอง

ส่วนปริยัติธรรมมีอาการเป็น ๓ คือเป็นพระสูตร, พระวินัย, พระปรมัตถ์ ตามนัยที่พระสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลายได้รวบรวมขึ้นไว้

วาระนี้จักยกพระวินัยมาแสดงพอให้เข้าใจลักษณะอาการของพระวินัยต่อไป วินโย แปลว่านำออกเสียให้พินาศ อธิบายว่า นำวิติกกมโทษที่โลกเขานิยมว่าชั่ว ออกจากตัวโดยหาเศษมิได้ คือโทษที่หยาบเกิดทางกาย ทางวาจา แม้โทษอย่างละเอียดโลกเขาไม่ได้ติเตียนเป็นโทษสำหรับเป็นข้าศึกแก่ตนอย่างเดียว ดังพระสูตรอันมีในตัวของเราเป็นต้น วินัยนี้ก็นำออกเสียสิ้น วินัยแยกเป็นสองตามควรแก่ผู้ปฏิบัติ คฤหัสถวินัย ๑ บรรพชิตวินัย ๑

คฤหัสถวินัย นั้นได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ กุศลกรรมบถ ๑๐ ศีล ๘ คือ อาชีวัฏฐมกศีล ในองค์อริยมรรคด้วย ส่วนนี้เป็นคฤหัสถวินัย พอควรแก่ผู้ครองเหย้าเรือนจะรักษาได้ ศีล ๕ นั้นคือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตัวเอง และไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ๑ เว้นจากการลักและโกงเอาข้าวของ ๆ ผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช้ผู้อื่นให้ลักปละโกงเอาข้างของ ๆ ผู้อื่น ๑ เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือกามส่วนที่มีผู้หวงแหน ๑ เว้นจากการกล่าวคำเท็จ ๑ เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย ๑

ศีล ๘ นั้นก็คือศีล ๕ นั้นแล แต่องค์ที่ ๓ ที่ว่าเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลายนั้น ยกเสีย เอา อพรหมจริยา มาลงแทน คือให้ประพฤติอย่างพรหม พรหมนั้นไม่มีอาการเป็นหญิงเป็นชาย ไม่มีเสพเมถุนกัน แล้วเพิ่มข้างปลายอีก ๓ วิกาลโภชน์ฯ ไม่ให้บริโภคอาหารนอกเวลาวิกาล ๑ นัจจคีต์ฯ ห้ามการฟ้อนรำขัดร้องและดูการเล่นต่าง ๆ และทัดทรงลูบทา ประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้และของหอม ๑ อุจจาสยนะฯ ห้ามการนั่งนอนที่อุจจาสน์ คือเตียงตั่งอันใหญ่ สูงเกินประมาณและฟูกเบาะอันยัดด้วยนุ่นและสำลี ๑

กุศลกรรมบถ ๑๐ นั้นคือ เว้นกายกรรม ๓ เหมือนกับศีล ๕ เว้นวจีกรรม ๔ คือเว้นการกล่าวคำเท็จ กล่าวแต่คำจริง ๑ เว้นกล่าวคำส่อเสียด กล่าวแต่คำสมานสามัคคี ๑ เว้นกล่าวคำหยาบ กล่าวแต่คำอ่อนโยนน่าจับใจ ๑ เว้นกล่าวคำไม่มีประโยชน์ กล่าวแต่คำที่เป็นไปกับด้วยประโยชน์ ๑ มโนกรรม ๓ เว้นการคิดละโมบ เพ่งอยากได้ของผู้อื่นโดยทางผิด ๑ เว้นพยาบาท การผูกใจเจ็บในผู้อื่น ซึ่งไม่ชอบใจของตน ๑ เว้นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดต่อคลองธรรม ให้เห็นชอบในคลองธรรม คือเห็นคามคลองกุศลกรรมบถ นี้แล ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิในกุศลกรรมบถนี้

ศีล ๘ ในองค์อริยมรรคนั้น คือสัมมาวาจามีองค์ ๔ เหมือนกุศลกรรมบถ กายกรรม ๓ เหมือนกุศลกรรมบถ เติมสัมมาอาชีโว ๑ เป็น ๘ ท่านให้ชื่อว่าอาชีวัฏฐมกศีล แปลว่า ศีลมีอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบเป็นองค์ที่ ๘ ต่างจากกุศลกรรมบถที่ไม่มีมโนกรรม ส่วนที่จัดเป็นอริยศีลก็ต่างกันกับกุศลกรรมบถ อริยศีลเป็นสมุทเฉทวิรัติ กุศลกรรมบถเป็นปกติวิรัติ

วินัยฝ่ายบรรพชิตคือศีล ๑๐ ของสามเณรเหมือนกันกับศีล ๘ ของอุบาสก อุสาสิกา แยก มาลาคันธวิเลปนะฯ ออกเป็น ๑ เพิ่ม ชาตรูปะฯ เข้า ๑ เป็น ๑๐ เป็นวินัยสำหรับสามเณร ส่วนของภิกษุ ต้องรักษาวินัย คือ พระปาฏิโมกข์ มี สิกขาบท ๒๒๗ มีเว้นเมถุนปาราชิก อทินาทานปาราชิก มนุสสวิคคหปาราชิก อุตตริมนุสสธรรมปาราชิกเป็นต้น ก็คือ พรหมจริยาฯ อทินนาฯ ปาณาฯ มุสาฯ นั่นเอง คงได้ใจความในศีลทุกประเภทว่า มี ปาณาฯ อทินนาฯ อพรหมจริยาฯ มุสาฯ เป็นพื้นยืนตัว เป็นแต่ศีล ๕ กุศลกรรมบถ ผ่อนลงมารักษาเพียง กาเมฯ เท่านั้น

ในศีลทุกประเภทที่ยกขึ้นมาแสดงนี้ชื่อว่าวินัย เพราะนำกิเลสอย่างหยาบที่โลกเขาติเตียน หรือที่นักปราชญ์ท่านติเตียน ได้แก่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เผล็ดออกมาทางกาย ทางวาจา ศีลมีอำนาจประหารเสียสิ้น หรือจักถือเอาความว่า ศีลนำกิเลสหยาบเหล่านั้น ออกจากกาย ออกจากวาจาเสียให้พินาศได้ ศีลเหล่านี้จึงชื่อว่า วินโย เป็นพุทธบัญญัติมี อาชญา ระวางโทษ หนักปละเบาตามบัญญัติ เหมือนกันกับพระราชบัญญัติของพระราชา ต้องระวางโทษหนักและเบา ตามโทษานุโทษ ให้พึงเข้าใจว่า ที่ต้องระวางโทษนั้น เพราะเกี่ยวด้วยกาย ด้วยวาจา เป็นกิเลสอย่างหยาบ

ส่วนสมาธินั้น ท่านแสดงไว้เป็น ๓ ประเภท คือ ขณิกสมาธิ ๑ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑

ขณิกสมาธินั้น ได้แก่สมาธิที่อ่อน คือจิตสงบได้เป็นขณะ ๆ ดังเรานั่งฟังเทศน์ หรือทำกิจการงานดันใดอยู่ จิตก็สงบอยู่กับการงานนั้น ๆ ชื่อว่า ขณิกสมาธิ

ส่วนอุปจารสมาธินั้น ได้แก่จิตสงบ ใกล้ต่ออัปปนา คือใกล้ต่อองค์ฌาน แต่ยังแนบสนิทอับองค์ฌานยังไม่ได้ แต่สงบได้นาน ๆ เหมือนกัน ชื่อว่า อุปจารสมาธิ เป็นบาทของวิปัสสนาก็ได้

ส่วนอัปปนาสมาธินั้น จิตเข้าแนบกังองค์ฌานได้สนิท คือยกจิตขึ้นสู่อารมณ์เป็นวิตก พิจารณาอารมณ์เป็นวิจาร เกิดปีติ สุข เอกัคคตา จิตเดินแนบอยู่กับองค์ ๕ นี้เพียงปฐมฌาน ก็ชื่อว่า อัปปนาสมาธิ

สมาธินี้ มีอำนาจกำจัดกิเลสอย่างกลาง คือ กามฉันทะ ได้แก่การพอใจผู้พันในกามารมณ์คือตัวโลภะนั้นเอง พยาบาท ความมุ่งร้ายผูกใจเจ็บในสัตว์อื่น คือตัวโทสะนั้นเอง ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความลังเลไม่แน่นอน คือตัวโมหะ นั่นเอง ถ้าสมาธิเกิดขึ้นแล้ว กิเลสเหล่านี้ตั้งอยู่ไม่ได้ คือว่า สมาธินำกิเลสอย่างกลางออกเสียให้พินาศ ถ้าถือเอาเนื้อความอย่างนี้ สมาธิจะเรียกว่าวินัยก็ควร แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติ เพราะเป็นทางใจ แต่เป็นปฏิบัติธรรมเหมือนกันกับศีล

ส่วนปัญญานั้น มีลักษณะอาการกว้างขวางมาก ยากที่จะนำมาแสดงให้เป็นตัวอย่าง แต่ว่าอยู่ในประเภทแห่งไตรสิกขา เป็นของจะต้องศึกษาอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน เหตุนั้นจะต้องนำเอาวิปัสสนาปัญญา ตามทางอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงดำเนินมาแล้ว

ตามในพุทธประวัติปฐมสมโพธิ มีใจความว่า ในวันที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ในเบื้องต้น พระองค์เจริญพระอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังฌานทั้ง ๔ ให้เกิด ชำระมลทินของใจให้สะอาดแล้ว น้อมพระทัยลงสู่วิปัสสนาปัญญา ยกชาติ ชรา มรณะขึ้นวินิจฉัย เห็นชัดว่า ชรา มรณะ มาแต่ชาติ ชาติมาแต่ภพ คือกรรมภพ อุปปัตติภพ กรรมภพ ได้แก่ใจ อุปปัตติภพ ได้แก่ร่างกายนี้เอง ภพมาแต่อุปาทานทั้ง ๔ คือกามุปาทาน สีลพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ทิฏฐุปาทานนี้เอง อุปาทานมาจากตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้เอง ตัณหามาแต่เวทนา ๓ คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา นี้เอง เวทนามาจากผัสสะทั้ง ๖ มีจักขุสัมผัสสะ เป็นต้นนี้เอง ผัสสะมาแต่อายตนะ ๖ มีจักขวายตนะเป็นต้นนี้เอง อายตนะมาแต่นามรูปนี้เอง นามรูปมาแต่วิญญาณ ๖ มี จักขุวิญญาณ เป็นต้น นี้เอง วิญญาณมาแต่สังขารนี้เอง ในสังขารมาแต่อวิชชานี้เอง อวิชชาเป็นเงื่อนที่สุดโลกในเบื้องต้น

ในพุทธประวัติแสดงว่า พระองค์ยกปัจจยาการ ๑๒ นี้ขึ้นสู่ทางวินิจฉัยเป็นอนุโลมตามลำดับ และปฏิโลมถอยกลับอย่างนี้ตลอดราตรี ในที่สุกแห่งปัจฉิมยามวันวิสาขปุณณมีนั้น ญาณจักขุ ปัญญา วิชชาความรู้แจ้งแสงสว่าง อาสวักขยญาณก็บังเกิดขึ้นในพระองค์ เป็น วิสุทฺธธมฺมสนฺตาโน มีพระสันดานเป็นธรรมอันบริสุทธิ์ จึงทรงพระนามว่า สัมมาสัมพุทโธ ปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้

จะอธิบายทางไต่สวนพระปริยัติธรรมไว้ พอเป็นทางดำริของพระโยคาพจรผู้มุ่งแต่ของจริง ที่ว่า วิปัสสนานี้ต้องดูปัจจุบันธรรม คือให้ดูที่ตัวนี้อย่างเดียว ถ้าเพ่งอดีตอนาคต ผิดทางสติปัฏฐาน พึงเข้าใจความว่า สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ๑๒ ประการนี้เป็นคุณธรรม ถ้าพูดลอย ๆ อย่างนั้นเป็นธัมมาธิษฐาน เป็นปรมัตถธรรม ถ้ายกขึ้นสู่ตนของเราเป็นพระสูตร

ธรรม ๑๒ ประการนี้เป็นชื่อโลกเขาสมมติรวมอยู่เต็มตัวของเรา คือเป็นชื่อของสกลกายอันนี้ เพราะสกลกายอันนี้ยังเป็นตัวอวิชชาอยู่จึงเป็นปัจจัยแก่อาการนั้น ๆ ให้เป็นปัจจัยต่อ ๆ กันไป เพ่งดูให้เห็นเป็นปัจจุบันทั้ง ๑๒ ประการ จะได้รู้ว่า ล้วนแต่เป็นตัวสัญญาอดีตทั้งนั้น เป็นชาติสมุทัย เป็นสังขารธรรมด้วยกันทั้ง ๑๒ ประการ เมื่อญาณจักขุตัววิปัสสนาญาณ อันอาศัยสมาธิเป็นบาทเกิดขึ้นแล้ว เรียกว่าวิชชา กำจัดอวิชชาคือความไม่รู้เท่าสังขารเหล่านั้นดับไปหมด ยังเหลืออยู่แต่อสังขตธรรม หรือจะเรียกว่าวิสังขารก็ได้ แต่ก่อนตัวของเราเป็นอวิชชา ครั้นอวิชชาดับ เกิดวิชชาขึ้น ก็คือตัวเรานั่นแหละเป็นวิชชา ถ้าเป็นวิชชาก็คือเป็นวิมุตตินั้นเอง แสดงทางปัญญาไว้เพียงนี้ พอเป็นอุทธาหรณ์ ตัวอาการของอวิชชาทั้ง ๑๒ ประการนั้นล้วนเป็นอุปธิกิเลสทั้งสิ้น

ปัญญานำอุปธิกิเลสออกเสียได้ จะเรียกว่าวินัยก็ควร ปัญญานี้ก็เป็นปฏิบัติธรรมเหมือนกันกับ ศีล สมาธิ สมาธิกับปัญญา ท่านไม่ให้ชื่อว่าวินัยก็เพราะเกี่ยวแต่ทางใจ แต่ถ้าเล็งเนื้อความก็เป็นมรรคภาวนาเหมือนกัน

วินัยทั้งสิ้นดังที่แสดงมานี้ ถ้าอยู่ในผูกคัมภีร์เป็นวินัยภายนอก เป็นปริยัติธรรมภายนอก ถ้าท่องบ่นจำทรงไว้ได้เป็นปริยัติธรรมภายใน ถ้าปฏิบัติให้เกิดให้มีในตน เป็นวินัยภายใน คือ กาย วาจา ใจของเราเอง พระวินัยทั้งสิ้นก็เป็น สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้ว และเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นด้วยตัวเอง เป็น อกาลิโก ไม่ต้องอ้างกาล เพราะเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก ผู้ปฏิบัติอาจท้าทายร้องเรียกผู้อื่นให้มาดูได้ เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก อาจน้อมเข้ามาสู่ตนได้ และเป็น ปจฺจตฺตํ ผู้รู้ทั้งหลาย คือผู้ปฏิบัติจะพึงรู้แจ้งจำเพาะที่ตน ไม่ต้องไปถามผู้อื่น

เมื่อพุทธบริษัทได้สดับวินัยปิฎกทั้งภายนอกและภายใน ที่ยกมาแสดงพอเป็นสังเขปนี้ พึงตั้งใจตรวจตรองแล้วปฏิบัติตาม ก็จักได้ผลคือความสุข ความสำราญ และความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา โดยนัยดังวิสัชนามา ด้วยประการฉะนี้


++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อมูลจาก http://www.dharma-gateway.com/