PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : โรงเรียนกิเลสวิทยาคม โดย คนเดินทาง



**wan**
12-31-2009, 01:28 PM
http://www.yenta4.com/cutie/upload/843/843/46fa34b6a8922.jpg


โรงเรียนกิเลสวิทยาคม
โดย คนเดินทาง
--------------------------------------------------------------------------------

เป็นเรื่องปกติ...กิเลสนั้นครอบงำเรามานับชาติไม่ได้ เขารู้จักจิตใจเราไปเสียทุกอย่าง....

ด้วยเหตุนี้ บางท่านที่กำลังเริ่มอบรม “ ปัญญา ” ย่อมรู้สึกว่า ดีจริงหนอที่เราเป็นผู้มีปัญญา ไว้เป็นที่พึ่ง

ดูเอาเถิด เรื่องที่เคยทนไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็ทนได้...

เรื่องที่เคยเอาเรื่องเอาราว เดี๋ยวนี้ ก็ปล่อยได้...วางได้

ความพอใจใน “ ปัญญา ” ก็เกิดขึ้น ตัณหาก็เข้าอาศัย เกิดพออกพอใจในปัญญาที่ตนได้
ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

ความรู้สึกเปรมปรีด์นั้น เป็นเรื่องที่เจ้าตัว ต้องฝึกรู้ให้เท่าทัน “ ตัณหา ” ขึ้นมาบ้างโดยการรู้ตัว
ว่ากำลังยินดีพอใจอยู่

เป็นการเข้าสู่ขั้น “ ประถม ” ในโรงเรียนที่ชื่อว่า “ กิเลสวิทยาคม ”

เพราะ “ โทสะ ” นั้นหยาบกว่า รู้ง่าย ดังนั้น ปัญญาที่เกิดขึ้นช่วงแรกก็ต้องศึกษาจากอุปกรณ์
การศึกษา ที่เป็นกิเลสอย่างหยาบ รู้ง่ายนั้นเสียก่อน

นี้ ถือว่า เป็นขั้นอนุบาล.......

คราวนี้ พอเข้าสู่ขั้นประถม ซึ่งยากกว่าเดิมมากนัก เพราะกิเลสนั้นเนียนมาก ดูเหมือนกับว่าแยกไม่ออกจากความเป็น “ เรา ” ได้เลย แล้วเราก็ชอบเขาเสียด้วย เพราะเขาน่ารักน่าใคร่ อยู่กับเขาแล้วชุ่มชื่นหัวใจ มีชีวิตชีวา

พอขาด “ ตัณหา ” เราก็เหมือนจะตายไปเสียให้ได้ทีเดียว มันแห้งแล้ง รันทดและว้าเหว่
เหลือเกิน

แสนจะหดหู่..... อยู่หรือตายดีกว่ากันนะ.. ? บางคนอาจจะถึงขั้นนี้ได้

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกที่จะรู้จักกิเลสตัวใหม่นี้เสียบ้าง อย่ามัวเพลินกับเขา

เพลินแล้วลืมตัว ...เพราะเหตุที่แม้โลภะนั้น เจ้าโมหะก็เข้าประกอบด้วย จึงต้องให้
เกิดปัญญารู้ว่า กิเลสนั้นแยบยล และแยบคายที่สุด รู้ได้ยาก ละเอียดเป็นขั้นๆไป

กุศลที่เป็นทาน.....กิเลสก็เข้าอาศัยได้

กุศลที่เป็นศีล .......กิเลสก็เข้าอาศัยได้

กุศลที่เป็นสมาธิ....กิเลสยิ่งชอบ

กุศลจากการเรียนธรรมะ......กิเลสก็ยังอาศัยได้

เว้นเสียจากการปฏิบัติเจริญสติปัฏฐานสี่ให้ถูกต้อง จะเป็นปัจจัยให้ภาวนาปัญญาที่แท้จริง
เกิดขึ้นมารู้จัก “ กิเลส ” ระหว่างทางก็ได้ศึกษากิเลส ๑,๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ ไป ...จะศึกษาได้มากได้น้อย
ก็แล้วแต่วาสนาของใคร แต่ที่แน่ ๆ จะได้พบเจอแน่นอน แล้วก็จะได้พบเห็นแง่มุมอันแยบยลของ
กิเลสที่ยากเหลือเกินที่ปัญญาที่กำลังเกิด หรือเกิดแล้วจะเอาอยู่

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า กัลยาณมิตรนั้น เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ คือไม่ได้พบ
ก็ไม่ได้รู้ ....รู้แล้วก็ไม่ทันกิเลสเขาอีก..... กิเลสก็ติดตามไปจนกระทั้งเป็นพระอนาคามี กิเลสก็ยังตาม
ติดไปกับจิตใจ ยากที่จะถอดถอนหรือรู้ทันเขา ดังนั้นพึงเข้าหากัลยาณมิตรเนือง ๆ

เวลาเราประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ ให้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี เขาสอนให้
รู้ถึงความประมาท และความไม่ประมาท... เขาสอนให้เรารู้คุณของปัญญา ที่เราพึงแสวงหา .....
พึงเจริญให้ยิ่งๆขึ้น... สอนให้รู้ถึงสภาพธรรมของโลภะ ทิฏฐิและมานะ(ความถือตัวถือดี)

ขนาดเรายังอยู่ใกล้พระศาสนาอย่างนี้ ยังพอมีโอกาสได้พบได้ยินบ้าง พวกเรายังง่อนแง่น
อย่างนี้ ในอัตภาพต่อๆไปใครจะรู้ อาจจะไม่ได้พบได้เจออีกเลย..... แล้วกิเลสก็วิ่งนำลิ่ว พาเราไป
ตกนรกหมกไหม้เสียโงไม่ขึ้นเป็นแน่แท้ .....ควรหรือที่เราจะประมาท?

คุณความดีที่ไม่เคยได้ แล้วเกิดได้ ทำได้ขึ้นมา... หากไม่เข้าใจว่าเขาเป็นธรรมที่ไม่เที่ยง
ทั้งนั้น .....กิเลสก็ย่อมพาจิตใจเข้าไปยึด ....เห็นว่า.. เราดี... เราทำได้... เราทำเป็น... เรามีปัญญา...
แล้วก็สำคัญว่าเขาเที่ยง

ปัญญาก็ไม่เที่ยง เขาเป็นธรรมที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งเหมือนกัน หมดปัจจัย
เขาก็หมดไปเหมือนกัน.........

พอเห็นว่าอะไรๆดี ตัณหาก็เกิด พาอุปาทานเข้ามายึดเพราะสำคัญว่าดี สำคัญว่าเที่ยง....
ยิ่ง เห็นว่าดีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งยึดมากเท่านั้น ... เวลาแพ้ขึ้นมา ไม่เป็นไปดั่งใจเรา โทสะจำนวน
มหาศาลก็พรั่งพรูขึ้นมาทันที ตามกำลังของกิเลสที่เข้าไปยึดนั่นแหละ...

เหมือนกับคนอกหักนั่นเทียว เพราะปัญญาที่มีอยู่ ไม่สามารถพึงพาอะไรได้เหมือน
ที่เคยหลงประมาทไว้... เหมือนที่เคยหลงยึดถือไว้..... คราวนี้ทุกข์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นทวีคูณทีเดียว

ปกติธรรมดาถ้าพบเจอเรื่องอย่างนี้ ก็ยังไม่กระไร.... แต่พอเกิดยึดถือความดีขึ้นมา ก็เกิด
รังเกียจของที่ไม่ดีมากขึ้นเท่านั้น ... เหมือนคนสอบได้ที่หนึ่งมาตลอด แม้การได้ที่สองของเขา
ก็ก่อทุกข์เสียมากมายมหาศาลให้แก่เจ้าตัว

ถามว่า...เป็นเพราะเหตุใดกันเล่า? ...

ตอบว่า..เพราะว่ากำลังของตัณหา และอุปาทานมีมากเท่าไหร่...? ทุกข์หรือโทสะก็เกิดขึ้น
มากเท่านั้น เปรียบเหมือนนายคนจนเข็นใจ ได้รับการอุปาการะจากพระราชา ให้ได้รับอารมณ์ที่ดี ๆ ได้
อยู่ดี ได้เห็นดี อาหารก็ดี เสื้อผ้าดีๆ โอโฮ..อะไรๆก็ดีไปหมด กิเลสก็เกิดขึ้นยึดอารมณ์นั้นทันที...
โดยไม่เคยเฉลียวใจว่า แม้อารมณ์ที่ดีนั้นก็ต้องย่อยยับหมดไปเข้าสักคราวหนึ่ง ไม่ถาวรเลย....
ครั้นพอมหาดเล็กเข้ามาบอกว่า หมดเวลาที่ท่านจะออกจากวัง ท่านต้องกลับบ้านของท่านแล้วละ..
แล้วก็พานายคนจนเข็ญใจนั่นแหละออกจากวัง... คราวนี้เขาก็รู้สึกเหมือนหัวใจสลายทีเดียว...
ครั้นพอกลับมากระท่อมของตนที่แสนจะโกโรโกโส ... ..............ทั้งๆที่เมื่อก่อนก็อยู่ได้...
แต่คราวนี้กลายเป็นว่า เกิดความทุรนทุรายท่วมหัวใจขึ้นมา รังเกียจของเดิมของตน...ยากเหลือเกิน
ที่จะทำใจยอมรับได้....


พึงรู้ว่า.......ความทุกข์นั่นแหละเป็นเครื่องมือของเราที่จะพาเราให้พ้นทุกข์ ความทุกข์
เป็นของจริง เป็นสัจจะ.... ความสุขนั้นเป็นเพียงมายาชั่วขณะหนึ่งที่ทุกข์เกิดน้อยลงไปเท่านั้น
กิเลสเราต่างหากไปสำคัญหมายมั่นว่าเป็นสุข ก็เกิดประมาท ทำให้ไม่เห็นความพินาศของธรรม
ทั้งหลายที่มีอยู่ทุกขณะ จึงหลงผิดว่า เที่ยง ว่าดี ว่างาม อย่างนี้เป็นต้น...

พึงรู้ว่า....เขาต้องเป็นอย่างนั้นเอง เขากำลังประกาศความจริงอยู่ เพียงแต่ใจที่เคล้า
ตัณหาของเราไม่ยอมรับ เราเลือกจะรับแต่อารมณ์ที่ดีๆ ที่ไม่ดีก็ผลักออกไป...ทีนี้วิบากนั้น
เขาไม่ได้ส่งผลเพราะเหตุที่เราอยาก เราชอบ..เขาจึงส่ง

หรือเขาจะไม่ส่งผลเพราะเราไม่ชอบ เราไม่ต้องการ.....อย่างนี้จะมีมาแต่ไหน? .... เขามา
ตามเหตุตามปัจจัยเก่าของเขาที่เราเคยทำไว้ จะรังเกียจอะไรนักหนากันหนอ..?

ยิ่งรังเกียจ ยิ่งไม่ชอบ ยิ่งต่อต้าน ยิ่งเป็นทุกข์เหน็ดเหนื่อยและท้อแท้เสียจริงๆ

การยอมรับ จึงเป็นการงานของปัญญาโดยแท้ ปัญญาที่เขาเกิดเขาไม่ได้ไปเข่นฆ่ากิเลส
ทำลายกิเลสให้พินาศด้วยอาการโรมรันแม้แต่อย่างใด...เขาเพียงแค่รู้ความจริง แล้วยอมรับ
เพราะประจักษ์แก่ใจว่า หาสาระอะไรไม่ได้เลย.... ได้มาก็ต้องหมดไป..... เกิดมาแล้วก็ต้องตาย
แน่นอน มีสุขก็ประเดี๋ยวประด๋าว ส่วนทุกข์นั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา หากปัญญาเห็นความจริงแม้หยาบๆ
อย่างนี้...ควรหรือที่เราจะเกิดเยื่อใยผูกใจไว้กับสิ่งที่ต้องแตกทำลายลง..สิ่งที่ต้องหมดต้องสิ้นไป?....

หากเห็นว่า ธรรมทั้งหลายเปรียบเหมือนฟองสบู่สวยงามล่องลอยชั่วครู่แล้วต้องแตกดับไป
เราจะเข้าไม่ยึดในอารมณ์ที่เป็นโทษนั่นเลย

ขั้นแรก ต้องรู้ว่า ปัญญาก็เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง พอปัจจัยหมดเขาก็หมดตามปัจจัย รู้อย่างนี้ก็
เพียงแต่เพียรสร้างเหตุใหม่เพื่อเป็นปัจจัยแก่เขาเท่านั้น..การใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาก็ขาดไม่ได้เลย บางคน อ่าน
แล้วอ่านอีก ฟังแล้วก็ฟังอีก..ปัญญาใหม่ก็เกิดขึ้นทุกครั้งที่ได้อ่านได้ฟังร่ำไป หาได้เกิดปัญญาเท่าเดิมไม่...

นี่เป็นเพียงแค่ชั้นประถมเท่านั้น.......ขั้นต่อไปเราก็ต้องเห็นคุณค่าการปฏิบัติวิปัสสนาขึ้นมาบ้างแล้ว
“ ปัญญา ” ก็ไม่เที่ยง แล้วธรรมอื่นๆ เช่น “ ความทุกข์ ” ของเราก็ย่อมไม่เที่ยงเหมือนกัน ที่
ทุกข์มากเพราะกิเลสยึดว่าของดีๆต้องเที่ยง ใจที่ขาดโยนิโสมนสิการก็ย่อม "ยึด" ว่า ความทุกข์
หรืออารมณ์ที่ไม่ดีนั้น "เที่ยง" เหมือนกัน ....

จิตใจจึงถูกโทสะบีบคั้นมากขึ้นเป็นหลายเท่า... ทุกข์ก็ไม่เที่ยง สุขก็ไม่เที่ยง เสมอกัน....

ที่ทุกข์เอาเสียมากมายอย่างนั้น เพราะใจนั้นปรารภผล หาได้ปรารถเหตุใหม่ในปัจจุบันนี้ไม่...
ปรารภผล ได้กิเลส ปรารภเหตุได้ปัญญา... ก็อกุศลวิบากเขาก็ไม่เที่ยง หมดปัจจัยเขาก็หมด
อำนาจลงเช่นเดียวกับกุศลวิบากนั่นแหละ...แต่เวลาได้อารมณ์ที่ดี เราก็ต้อนรับอารมณ์นั้นด้วย
“ ตัณหา ” ...

เราก็พออกพอใจเสียเหลือเกิน...อย่างนี้เหตุใหม่เราก็เสียอีกแล้ว ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น
เบียดเบียนให้อารมณ์ที่เป็นผลบุญนั้น อ่อนกำลังหรือหมดอำนาจลง...

ครั้นพอได้รับอารมณ์ไม่ดี...รู้ทั้งรู้ บอกทั้งบอกแก่ใจตัวเองว่า เป็นอกุศลวิบากนะ..แต่ใจที่
เจือตัณหาก็ยากที่จะยอมรับได้จริงๆ... "โทสะ" ก็เกิดขึ้น จึงพบว่าทุรนทุรายใจเสียเหลือเกิน...
คราวนี้เหตุใหม่เสียอีก อกุศลวิบากแต่ไหนๆก็จึงพากันไหลมาไม่หยุดหย่อนขาดสาย เพราะปัจจัยเสีย
เกิดขึ้นตลอดเวลา เราจึงมองเห็นคล้ายว่า ทุกข์นี้เที่ยงจริงหนอ คงจะไม่หมดไปแน่แท้... โยนิโสฯ
อย่างไรก็เอาไม่อยู่..เห็นหรือไม่ .. กิเลสเขารู้ทันปัญญา แต่ปัญญาไม่ได้รู้ทันกิเลสเลย...

เอาความทุกข์มาเป็นปัจจัยให้กุศลเกิด กิเลสนั้นไหลท่วมท้นใจทั้งวันทั้งคืน เราสร้าง
ปัจจัยให้ปัญญาเพียงน้อยนิดก็ไปคิดว่าจะสู้กิเลสได้...เทียบกันไม่ได้เลย ปัญญานั้นเราสั่งสมไว้
เพียงแสงอันริบหรี่ แต่กิเลสยิ่งใหญ่และได้อาหารเสริมให้แข็งแรงตลอดเวลา...จะสู้กันได้อย่างไร..?

แต่ไม่สู้ก็ต้องสู้ หยุดไม่ได้ เพราะเห็นความหายนะรออยู่ ใจจึงหยุดขวนขวายสร้างปัจจัย
แห่งปัญญาไม่ได้เลย..ครั้นกิเลสมากล่อมเราว่า .". พักเสียเถิด เราเหนื่อยแล้ว เราก็ทำกุศลไว้มาก
กว่าคนอื่นแล้ว ดูซิเรา...ทำไมไม่พักเสียหน่อย คนอื่นๆเขายังไม่เห็นจะต้องทำต้องขวนขวายอย่าง
เราเลย เราก็ควรจะหยุดเสียบ้างเถิดนะ.."

เห็นหรือไม่ว่า กิเลสเอื้ออาทร เสียเหลือเกิน ช่างร้ายนักร้าย ... แล้วเราก็หลงเชื่อเขาอีก
ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เคยพ้นอำนาจเขาได้เลยไม่รู้กี่แสนล้านชาติแล้ว...

เพราะเขาเป็นเพื่อนที่แสนดีเอาอกเอาใจเราทุกอย่าง เราก็ประมาท มองไม่เห็นโทษของเขาเลย....

รู้อย่างนี้ จึงรู้โทษของกิเลส รู้คุณของปัญญา..

รู้โทษของบาป รู้คุณของกุศล..

ที่รู้ยิ่งกว่านั้น...... คือ......ทั้งกิเลส ทั้งปัญญา ทั้งกุศล ทั้งอกุศล......ล้วนไม่เที่ยง ล้วนเป็นทุกข์ตั้งอยู่
ไม่ได้ และรู้ว่าไม่ใช่อำนาจของเราที่จะบังคับบัญชาได้เลย...เมื่อจิตใจเริ่มตระหนักอย่างนี้ และเสริม
ไว้ด้วยการฟังธรรม ขาดไม่ได้แม้แต่วันแม้แต่คืนที่ผ่านไป เราจำเป็นต้องเสริมกำลังให้ปัญญาเขา
ได้เกิดบ่อยๆจะได้แข็งแรงขึ้น

การพบพบกำแพงที่หนาทึบยากที่จะฟันฝ่าไปได้นั้น...เป็นเพียงสภาพธรรมที่บอกเราว่า
ปัญญาต้องแข็งแรงกว่านี้ แข็งแรงกว่าที่เป็นอยู่เราถึงจะข้ามพ้นไปได้...

กำแพงหิน กำแพงปูนจริงๆเสียอีก เราเหน็ดเราเหนื่อยแค่ไหน เราก็สามารถเดิน ปีนข้ามได้...

แต่การข้ามใจที่เป็นทุกข์ วางใจให้ถูกต้องเพียงลัดนิ้วมือเดียวนั้น ช่างแสนยากเสียจริง ๆ ..


ที่มา http://www.raksa-dhamma.com/topic_37.php

piangfan
01-01-2010, 09:00 PM
http://61.19.248.235/uploads/5bfbbc2bbd.gif http://61.19.248.235/uploads/5bfbbc2bbd.gif

สาธุค่ะ คุณป้าวรรณ

ไอคอนอาจารย์ดาวค่ะ ความหมายดีค่ะ เลยนำมาฝากคุณป้าวรรณ ค่ะ
ขอบคุณค่ะ อาจารย์ดาว