PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : กุศลจิตและโลภมูลจิต



chocobo
03-09-2010, 08:11 AM
คือว่า ช่วงนี้มีความสับสนสภาพธรรม ระหว่างกุศลจิต กับโลภมูลจิตแบบรู้สึกสบาย เช่น เวลานั่งในที่สบายๆ แล้วฟังธรรม ผมก็เริ่มสับสน เริ่มดูไม่ออกว่า ความสบายในจิตนั้น เป็นผลจากได้นั่งในที่สบายๆ หรือเป็นเพราะเกิดสมาธิเพราะฟังธรรมแล้วเกิดสุขเวทนา แต่ถ้านั่งไม่สบาย มันก็เกิดอาการกระสับกระส่าย ฟังธรรมไม่ค่อยรู้เรื่อง พอจะมีวิธีใดที่จะระลึกรู้ให้แยกออกได้หรือไม่ครับ แล้วก็ หลายครั้งที่ทำบุญ ฟังธรรม หรืออนุโมทนาบุญผู้อื่น แต่จิตกลับขุ่นมัว รู้สึกหนัก โดยส่วนตัวคิดว่าเพราะมีอกุศลจิตประเภทว่าแอบหวังผลในบุญเกิดแทรก จิตเลยขุ่น เพราะพักนี้ชอบอธิฐานหลังทำบุญว่า ให้ถึงนิพพานเร็วๆ พอไม่ได้อธิฐาน มันก็รู้สึกไม่สบายใจ กลัวว่าถ้าไม่อธิฐานจะไปไม่ถึง ครั้นอธิฐาน ก็รู้สึกหนัก

ยังมีบางทีที่ฟังธรรม แล้วจิตมีสุขเวทนาอยู่ แต่พอระลึกรู้เวทนานั้น จู่ๆมันก็เหมือนมีอะไรซู่ๆหนักๆไหลลงไปตรงหน้าอก แล้วสุขเวทนาก็หายไป รู้สึกอึดอัด ไม่ทราบมีท่านใดเคยเป็นเหมือนผม หรือทราบไหมครับว่าเป็นเพราะอะไร

แล้วก็มีอาการประเภทว่า ฟังธรรม ตอนฟังก็รู้สึกจิตอิ่มเอมดี แล้วพอฟังเสร็จ มันก็รู้สึกอิ่มๆนั่นแหละ แต่มันอึดอัดอย่างไรบอกไม่ถูก เหมือนมันอิ่มจนจุกแปลกๆ จนไม่อยากจะลุกไปไหนเลย อยากนั่งอยู่อย่างนั้น


อีกข้อครับ คือ ยังไม่จบเรื่องแมลงในห้องน้ำ มันยังอยู่ในห้องตรงที่อาบน้ำ แล้วทีนี้ ผมจะย้ายห้องกับพ่อ แต่พ่อไม่ทราบว่ามีแมลง ผมทราบอยู่ว่าถ้าย้ายไป เด๋วพ่อก็ต้องอาบน้ำแล้วแมลงก็อาจจะตายอยู่ดี แต่ก็กลัวว่าถ้าบอกไปจะกลายเป็นยิ่งทำให้พ่อบาป เพราะพ่อก็จะรู้ว่ามีแมลง แต่กระนั้นก็ยังอาบ สู้ไม่รู้จะดีกว่า จะได้ไม่บาป ผมจะบาปอะไรหรือเปล่าครับ


สาธุครับ

D E V
03-09-2010, 11:32 AM
อ่ะคับ สติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆอบรมสั่งสมไปทีละเล็กละน้อย...แต่บ่อยๆ เนืองๆ
จึงจะค่อยๆ ระลึกรู้ได้ตรงตามสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแก่สติสัมปชัญญะ
ค่อยๆ เห็นความต่างกันของสภาพธรรมแต่ละสภาพ
ซึ่งก็ไม่ได้เท่าทันกันตลอดอ่ะนะคับ
เพราะสภาพธรรมทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงสืบต่อกันไปอย่างเร็วทุกขณะ

หากจะเปรียบโลภมูลจิต กับกุศลจิต อย่างคร่าวๆ ก็คือ

โลภมูลจิต เป็นสภาพจิตที่พอใจใคร่ได้ ติดข้องต้องการในอารมณ์นั้นๆ
ติดในรูปที่น่าดู เสียงที่น่าฟัง กลิ่นที่น่าดม รสที่น่าลิ้ม สัมผัสที่น่าสบาย
และความรู้สึกนึกคิดที่บันเทิงเริงรมย์ต่างๆ
หวังที่จะได้รับผลดังที่ตนปรารถนา
ซึ่งเวทนาที่เกิดร่วมกับ โลภมูลจิต มีได้ทั้งสุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา
และเมื่อไม่ได้หรือไม่เป็นไปดังที่ต้องการ...ก็รู้สึกขัดเคือง ขุ่นใจ

กุศลจิต เป็นสภาพจิตที่ผ่องใส
ไม่ดิ้นรนเกาะเกี่ยวอารมณ์นั้นไว้ด้วยความติดข้องคาดหวังในผลดังใจ
ไม่หวั่นไหววุ่นวาย ติดยึดทะยานอยาก ไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
หรือฟุ้งไปกับความรู้สึกนึกคิดที่เพลิดเพลินพอใจ
แต่รับอารมณ์ต่างๆ ด้วยความสงบเบา อ่อนโยน
ซึ่งเวทนาที่เกิดร่วมกับ กุศลจิต มีได้ทั้งสุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา
และแม้จะได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี ก็ไม่นำมาซึ่งความขัดเคือง ขุ่นใจ
หรือแม้ได้รับอารมณ์ที่ดี ก็ไม่ติดยึดหวงแหน

อ่ะคับ เพียงอ่านแค่นี้
ก็อาจจะพอให้เห็นลักษณะที่ต่างกันของสภาพจิต
แต่ก็เป็นเพียงความเข้าใจโดยตัวหนังสือ โดยคำ โดยเรื่องราว
แต่ที่จะเข้าใจถึงสภาพนั้นจริงๆ
ต้องเป็นสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นระลึกรู้ได้บ่อยๆ เนืองๆ
จึงจะรู้จริง รู้ชัด ถึงลักษณะของสภาพจิตที่ต่างกันจริงๆ อ่ะคับ
ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าระลึกปุ๊บรู้ปั๊บ...สติเกิดประเดี๋ยวประด๋าวก็จะให้รู้ชัดรู้ทั่ว
แต่ต้อง บ่อยๆ เนืองๆ นี่จึงเรียกว่า ภาวนา
คืออบรมเจริญขึ้นในสิ่งที่ยังไม่มี ให้มี
หรือในสิ่งที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น อ่ะคับ

หากจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นชัดขึ้นอีกนิด
เหมือนเวลาเรากินอาหาร เพื่อรักษากายนี้ไว้ให้เป็นปกติ
กินอะไรก็ได้ที่เกิดประโยชน์หล่อเลี้ยงร่างกาย ไม่เป็นพิษโทษภัยต่อร่างกาย
เมื่อความหิวบรรเทาหายไป ก็หยุดกินได้อย่างเป็นปกติ
แต่ถ้ากินด้วยความติดข้องต้องการ
ก็ต้องเลือกล่ะ อยากกินอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเสาะแสวงหาของที่ชอบมากิน
กินอิ่มแล้วก็ยังเสียดาย อยากจะลิ้มรสนั้นอีก
เห็นความต่างกันของสภาพจิตทั้งสองนี้มั้ยคับ

หรือบางคนอาจจะอยากใส่บาตร
แต่เกิดมีเหตุให้ไม่ได้ใส่ ก็รู้สึกเสียดายหรือเสียใจ
อุตส่าห์ตั้งใจจะใส่บาตรแต่ก็ไม่ได้ใส่...เกรงว่าจะไม่ได้บุญ
กับอีกคนที่จะใส่บาตร แต่เมื่อมีเหตุให้ไม่ได้ใส่ในวันนั้น
ก็ไม่วุ่นวายใจหรือกลัวว่าจะไม่ได้บุญ
แต่ผ่องใสในเจตนาที่ตั้งขึ้นแล้ว
แม้ใส่บาตรไม่ได้ในวันนั้น
ก็มีจิตเมตตาเอาอาหารที่เตรียมไว้กระทำทานอื่นๆ ต่อไปได้

หรือ เวลาที่ฟังธรรม สนทนาธรรม
มีจิตน้อมไปในการฟัง การสนทนา ด้วยความอ่อนน้อมเคารพในพระธรรม
หรือฟังเพราะชอบเสียงไพเราะ เรื่องราวสนุกสนาน

หรือที่นั่งสบายๆ ก็ชอบ
แต่พอที่นั่งไม่สบายก็กระสับกระส่ายถึงกับฟังธรรมไม่รู้เรื่อง
แม้แต่การอธิษฐานให้ถึงพระนิพพาน
พอลืมอธิษฐานไปซักครั้งก็รู้สึกไม่สบายใจเกรงว่าจะไม่ได้นิพพาน
ต่างๆ เหล่านี้ ฯลฯ เป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต

ดังนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลจิต...ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต
ก็ต้องเข้าใจสภาพของจิตที่ต่างกันว่าอย่างไรเป็นกุศล อย่างไรเป็นอกุศล
และผู้นั้นต้องตอบด้วยตนเอง เมื่อสติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ได้ในขณะนั้นอ่ะคับ

สำหรับเรื่องแมลงในห้องน้ำ
ในเมื่อเราเองก็รู้อยู่แก่ใจแล้ว...ไม่ใช่ไม่รู้
และอยู่ในสถานะที่จะบอกกล่าวได้
ก็ควรจะบอกให้ท่านได้ระมัดระวังน่ะคับ
เพราะเราหลอกใจตนเองว่าไม่รู้...ก็ไม่ได้ จริงมั้ยคับ
เหมือนเราเห็นบ่อน้ำที่คนเค้าขุดไว้ใช้อาบกิน
แต่เผอิญไม่มีที่กั้นขอบบ่อ ทำให้เกิดอันตราย
คนหรือสัตว์ตกลงไปตายได้บ่อยและง่าย
เราก็ควรจะเตือนให้ผู้ที่มาใช้ได้รู้ตัวและระมัดระวัง...ใช่มั้ยคับ


อ้างอิงเรื่องแมลงที่สืบเนื่องจากกระทู้เก่า
http://www.watkoh.com/board/index.php?topic=2668.0





8) เดฟ

chocobo
03-09-2010, 05:02 PM
สาธุครับท่านเดฟ สรุปก็ต้องหมั่นดูจิตให้มากๆถึงจะเข้าใจจริงๆใช่ไหมครับ

ปล.เรื่องห้องน้ำมีความคิดว่า ไม่บอกจะดีกว่า เพราะถึงบอกไปอย่างไรคุณพ่อท่านก็คงไม่ได้ระมัดระวังมากขึ้น เลยคิดว่าไม่บอกเสียจะดีกว่า เพราะถึงบอกไปก็ไม่ได้ช่วยให้ท่านระวังมากขึ้น แต่รังจะเป็นการให้ท่านทำบาปได้ เพราะจะกลายเป็นว่าท่านรู้อยู่แก่ใจว่ามีแมลง แต่ก็อาบ สู้ไม่รู้ดีกว่าไหมคับ ท่านจะได้ไม่บาป เพราะไม่รู้ว่ามีแมลง

chocobo
03-10-2010, 10:11 AM
มีคำถามมาเรียนถามต่ออีกหน่อยคับท่านปู่เดฟ ;D

คือเหมือนจะเคยถามไปแล้ว แต่ลืมไปแล้วและยังไม่ค่อยกระจ่างเท่าไหร่ เลยขออนุญาตถามอีกรอบนะคับ แหะๆ

เรื่องว่า ถ้าบุคคลถูกสอนมาว่า การกระทำบาป ผิดศีล ฆ่าสัตว์ นั้นเป็นกุศล เอาตัวอย่างอย่างฆ่าสัตว์ว่า ถูกสอนให้เข้าใจผิดว่าถ้าฆ่าแล้วมันจะไปสุขคติ ก็เป็นการส่งให้สัตว์นั้นไปในที่ที่ดี ได้บุญ อะไรแบบนี้ เขาก็เลยมีจิตเมตตา อย่างให้สัตว์นั้นไปที่ดีๆ ก็เลยฆ่าเสีย อย่างนี้แล้ว ผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิ ก็ฆ่าสัตว์ด้วยมีจิตเมตตาน่ะสิ อย่างนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร จะได้กุศลหรือไม่ อย่างไร เพราะจิตผู้นั้นก็ไม่ได้มีเจตนาเบียดเบียน แต่กลับปราถนาให้สัตว์นั้นเป็นสุข

อีกข้อคับ คืออยากทราบวิถีจิต 7 หรือ 17 ขณะนั้นมีจิตอะไรบ้างอ่ะคับ แล้วแต่ละขณะทำหน้าที่อะไรบ้างครับ


สาธุ สาธุ สาธุ

D E V
03-10-2010, 02:24 PM
อ่ะคับ เรื่องของความเชื่อ เราจะเชื่ออย่างไรก็ได้
แต่การกระทำและผลของการกระทำมันก็ฟ้องอยู่ในตัวใช่มั้ยคับ

อย่างการฆ่าทำลายชีวิตผู้อื่น
แม้เราจะเชื่อว่าเป็นการช่วยส่งให้ผู้นั้นไปเกิดในที่ดี
แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าเค้าไปเกิดในที่ดีจริงๆ
เพราะแต่ละคนจะเกิดในที่ดีหรือไม่ดี
ก็ย่อมเป็นไปตามกรรมของผู้นั้นเอง...ไม่ใช่มีใครจะไปช่วยส่งให้ได้

และจิตขณะที่ฆ่าทำลายชีวิตด้วยความเชื่อที่ผิด...และคิดว่าจะได้บุญ
ดูเผินๆ เหมือนว่าเป็นเมตตานะคับ
แต่จริงๆ สามารถที่จะเป็นไปด้วยโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์
คือเป็นจิตที่ยินดีพอใจในการกระทำอย่างนั้นอันประกอบด้วยความเห็นผิด

ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ จะไม่มีการฆ่าทำลาย ตัดรอนชีวิตผู้อื่นเลย
มีแต่จะช่วยเหลือประคับประคองให้เค้าอยู่รอด
แล้วถ้าลองนึกย้อนกลับกัน หากมีใครมาเมตตาเค้าแบบนั้นบ้าง
มาช่วยส่งเค้าให้ไปในที่ดีบ้าง...เค้าจะโอเชมั้ยคับ อิอิ


***********************************************************************

สำหรับเรื่องของวิถีจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด...มีรายละเอียดมาก
ขอกล่าวอย่างย่นย่อพอสังเขปละกันอ่ะคับ
ไว้ถ้าสงสัยตรงไหนก็ค่อยสอบถามเพิ่มเติมละกันนะคับ

กล่าวเฉพาะวิถีจิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์หนึ่งๆ ทางปัญจทวาร (ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย)
ในกรณีปกติธรรมดาจะมีจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์สืบต่อกันไป 17 ดวง

ยกตัวอย่างเช่น
การที่ได้ยินเสียง 1 เสียง (โดยที่ยังไม่รู้ความหมายของเสียงนั้นเลยด้วยซ้ำ)
จะมีจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ (เสียง 1 เสียง) สืบต่อกันดังนี้

อตีตภวังค์
ภวังคจลนะ
ภวังคุปัจเฉทะ
ปัญจทวาราวัชชนจิต (โสตทวาราวัชชนจิต)
ทวิปัญจวิญญาณจิต (โสตวิญญาณ)
สัมปฏิจฉันนจิต
สันตีรณจิต
โวฏฐัพพนจิต
ชวนจิต
ชวนจิต
ชวนจิต
ชวนจิต
ชวนจิต
ชวนจิต
ชวนจิต
ตทาลัมพนจิต
ตทาลัมพนจิต

ก็คือ......
1. อตีตภวังค์ เป็นภวังคจิตดวงที่เริ่มมีเสียงมากระทบ
2. ภวังคจลนะ เป็นภวังคจิตที่ไหวรับอารมณ์ต่อจากอตีตภวังค์
3. ภวังคุปัจเฉทะ เป็นภวังคจิตที่ตัดกระแสภวังค์

ทั้ง 3 นี้ ยังไม่ขึ้นสู่วิถีจิตนะคับ
พอภวังคุปัจเฉทจิตดับไป จึงขึ้นสู่วิถีจิต (ตั้งแต่ 4 -17)

4. ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่ขึ้นสู่วิถีจิต รับอารมณ์ต่อจากภวังคุปัจเฉทะ
ในกรณีนี้เป็นเสียง จึงเป็นโสตทวาราวัชชนจิต
เกิดขึ้นรู้ว่ามีอารมณ์ปรากฏทางโสตทวาร (แต่ยังไม่ได้ยิน)

5. ทวิปัญจวิญญาณ เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร
ในกรณนี้เป็นเสียง จึงเป็นโสตวิญญาณจิต เกิดขึ้นรู้เสียงนั้น (ได้ยิน)

6. สัมปฏิจฉันนจิต เป็นจิตที่รับอารมณ์ต่อจากโสตวิญญาณ

7. สันตีรณจิต เป็นจิตที่ไต่สวนคือพิจารณาอารมณ์นั้น
คำว่าไต่สวนหรือพิจารณาในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึงเวลาเรานึกคิดเป็นเรื่องราวนะคับ
แต่เป็นธรรมชาติของจิตดวงนี้ที่ทำกิจอย่างไวเพียง 1 ขณะจิตแล้วก็ดับไป

8. โวฏฐัพพนจิต เป็นจิตที่ตัดสินหรือส่งให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดในลำดับต่อไป (สำหรับปุถุชน)

9. - 15. ชวนจิต เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตนั่นเอง (สำหรับปุถุชน)
ซึ่งในกรณีปกติธรรมดาจะเกิดขึ้นสืบต่อกันไป 7 ดวง

16. - 17. ตทาลัมพนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากชวนจิต


จะเห็นได้ว่า จิตเกิดดับไปแล้วถึง 17 ดวง
ตั้งแต่เสียง 1 เสียง เริ่มกระทบ อตีตภวังค์ ไปจนถึง ตทาลัมพนจิต...เสียง 1 เสียงนั้นถึงได้ดับไป
ดังนั้น เสียงซึ่งเป็นรูปธาตุชนิดนึง รวมทั้งรูปธาตุชนิดอื่นๆ ด้วย
จึงมีอายุของรูป = 17 ขณะจิต นั่นเองคับ


อ่ะคับ คำศัพท์บาลี ชื่อยากๆ ยาวๆ ทั้งนั้น อิอิ
อันไหนที่เลี่ยงได้ก็พยายามจะเลี่ยงให้นะคับ
แต่บางอย่างก็จำเป็นต้องใช้อ่ะคับ
ถ้างง หรือ จำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรนะคับ
เอาแค่พอเข้าใจคร่าวๆ ก่อนก็ได้คับ
ขอกล่าวอย่างย่อๆ เพียงเท่านี้ก่อนละกันนะคับ




8) เดฟ

ปล. อ่านอย่างนี้แล้ว
เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ไม่ใช่จะไปพยายามระลึกรู้จิตดวงนั้นดวงนี้ดังที่กล่าวมา 17 ดวงนะคับ
เพราะไม่ใช่วิสัยที่จะกระทำได้

ตามปกติแล้ว ขณะที่ระลึกได้ว่ากำลังคิดดีหรือคิดชั่ว
คือขณะที่เป็นชวนวิถีนั่นเองคับ
เพราะชวนจิตเกิดดับสืบต่อซ้ำๆ กันไปถึง 7 ขณะ
กระนั้นก็เป็นชวนวิถีที่เกิดขึ้นในวาระหลังๆ แล้ว...ด้วยซ้ำไปน่ะคับ

Butsaya
03-10-2010, 03:35 PM
อนุโมทนาสาธุกับพี่เดฟและคุณchocobo ด้วยนะค่ะ ;D
บุษขอเอาลิงค์ที่มีแล้วในวัดเกาะฯ นี้มาสมทบนะค่ะ :D
พอดีเคยไปอ่านเจอมาเลยขอเอามาแจมด้วยคนนะค่ะ อิอิ.... เรื่องวิถีจิต :D

http://www.watkoh.com/board/index.php?topic=1659.0

http://www.watkoh.com/board/index.php?topic=1661.msg5009#msg5009

chocobo
03-10-2010, 05:20 PM
สาธุ สาธุ สาธุ

ขอบคุณท่านปู่เดฟและคุณบุษฯมากๆเลยคับผม ;D

อนุโมทนาบุญด้วยครับ :D

*8q*
03-14-2010, 07:34 PM
สาธุ ;D