PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ศรัทธา,ความเชื่อ หรือ การเห็น



*8q*
10-29-2008, 12:50 PM
ว่ากันตามนัยของท่านอสังคะ นักปรัชญาฝ่ายพุทธศาสนาผู้ยิ่งใหญ่แห่งสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๔ มีลักษณะ ๓ ประการคือ

๑. ความเชื่อมั่นอันเต็มเปี่ยมและมั่นคงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอยู่ เป็นอยู่จริง
๒. ความอิ่มใจอันแท้จริงในคุณสมบัติที่แท้จริง
๓. ความใฝ่ฝันหรือความปราถณาที่จะได้รับความสำเร็จตามความมุ่งหมาย

ท่านจะว่าอย่างไรก็ตาม “ ศรัทธา “ หรือ “ ความเชื่อ “ ที่เข้าใจกันในศาสนาต่างๆนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาน้อยมาก

ปัญหาเรื่องความเชื่อเกิดขึ้นในเมื่อไม่มีการเห็น คือการเห็นความหมายในทุกนัยของศัพท์ ทันทีที่ท่านเห็น ปัญหาเรื่องความเชื่อก็หมดสิ้นไป ถ้าข้าพเจ้าบอกท่านว่า ข้าพเจ้ามีแก้วมณีอยู่ในมือเม็ดหนึ่งซ่อนอยู่ในกำมือของข้าพเจ้า ปัญหาเรื่องความเชื่อจะเกิดขึ้น เพราะท่านมองไม่เห็นแก้วมณีเม็ดนั้นด้วยตาของท่านเอง แต่ถ้าข้าพเจ้าแบมือออกและให้ท่านดูแก้วมณี ทีนี้ท่านก็จะเห็นด้วยตาของท่านเอง ปัญหาเรื่องความเชื่อก็ไม่เกิดขึ้น ดังข้อความในคัมภีร์พุทธศาสนาแต่โบราณซึ่งมีความว่า “ เห็นแจ้งเหมือนดังบุคคลมองเห็นแก้วมณี(หรือผลมะขามป้อม)ในฝ่ามือ "

สาวกรูปหนึ่งของพระพุทธเจ้ามีนามว่า มุสีละ บอกแก่ภิกษุว่า “ ดูกรท่านสวิตถะ ผมรู้และทราบว่าความดับไปแห่งภพ คือนิพพาน โดยไม่ต้องมีความภักดี ศรัทธา หรือเชื่อ โดยไม่ต้องมีความชอบใจหรือเอนเอียงใจ โดยไม่ต้องบอกเล่าลือ หรือการนำสืบต่อกันมา โดยไม่ต้องพิจารณาหาเหตุผลที่ปรากฏ โดยไม่ต้องมีความพอใจในความคิดเห็นที่คาดคะเนเอา “ (รู้โดยไม่ต้องเชื่อตามหลักกาลามสูตร)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตกล่าวว่าการกำจัดกิเลสและอาสวะ ได้มุ่งหมายไว้สำหรับบุคคลผู้รู้เห็น หาได้มุ่งหมายไว้สำหรับบุคคลผู้ไม่รู้เห็นไม่ “

*8q*
10-29-2008, 12:51 PM
เรื่องของการรู้เห็นนี้เป็นปัญหาเสมอ แต่เรื่องความเชื่อหาเป็นปัญหาไม่ คำสอนของพระพุทธเจ้ามีลักษณะพิเศษ คือเป็น เอหิปสฺสิโก แปลว่าเชิญให้มาดู แต่ไม่ใช่ให้มาเชื่อ

ข้อความที่ท่านใช้ทุกหนแห่งในคัมภีร์พุทธศาสนา ซึ่งเอ่ยอ้างถึงบุคคลผู้กระทำให้แจ้งซึ่งสัจธรรม จะมีดังนี้ว่า “ ดวงตาเห็นธรรม ( ธมฺมจกฺขุ) อันปราศจากธุลี และปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแล้ว เขาได้เห็นแล้วซึ่งสัจธรรม ได้บรรลุสัจธรรม ได้รู้แจ้งสัจธรรม ได้แทงตลอดซึ่งสัจธรรม ได้ข้ามพ้นความสงสัย เป็นผู้ปราศจากความหวั่นไหว เขามองเห็นสัจธรรมตามความเป็นจริง(ยถาภูตํ) ด้วยปัญญาชอบอย่างนี้ “ เมื่อ้างถึงการตรัสรู้ของพระองค์เอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่าง(อโกละ)เกิดขึ้นแล้ว “ เป็นเรื่องการมองเห็นโดยญาณหรือปัญญา(ญาณทสฺสน) หาใช่การเชื่อโดยศรัทธาไม่

พระพุทธเจ้าได้ประทานคำแนะนำ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งว่า “ ไม่เป็นการสมควรสำหรับบัณฑิตผู้ธำรง(รักษา)สัจจะจะตัดสินลงไปว่า “ สิ่งนี้อย่างเดียวเท่านั้นจริง สิ่งอย่างอื่นนั้นเท็จทั้งสิ้น ” พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ บุคคลผู้หนึ่งมีความเชื่ออย่างหนึ่ง ถ้าเขากล่าวว่า “ นี่เป็นความเชื่อของข้าพเจ้า “ เพียงเท่านี้เชื่อว่าเขายังรักษาความสัตย์อยู่ แต่ด้วยความเชื่อนั้น เขาไม่สามารถสรุปเป็นเด็ดขาดว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเท็จทั้งนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า บุคคลอาจจะเชื่อสิ่งที่เขาชอบ และเขาอาจจะกล่าวได้อีกว่า “ ข้าพเจ้าเชื่อสิ่งนี้ “ เพียงเท่านั้น เขาก็ยังชื่อว่าเคารพสัจจะอยู่ เพียงเพราะความเชื่อหรือความศรัทธาของเขา เขาไม่ควรพูดว่าสิ่งที่เขาเชื่อเป็นจริงเท่านั้น และสิ่งอื่นเท็จทั้งนั้น “


พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ การยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง(ความเห็นอย่างหนึ่ง) และดูถูกเหยี่ยดหยามสิ่งอื่น(ความเห็นอย่างอื่น)ว่าเป็นของต่ำทราม การกระทำเช่นนี้บัณฑิตเรียกว่า เป็นสังโยชน์ (กิเลสซึ่งผูกใจสัตว์)อย่างหนึ่ง


http://board.agalico.com/showthread.php?t=23999