PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : เรื่องดีสาม งามสี่ คงที่แปด



lek
07-02-2010, 04:42 AM
เรื่องดีสาม งามสี่ คงที่แปด เป็นธรรมะสำคัญ
และจำเป็นในการอยู่ร่วมโลกร่วมสังคมจะทำให้เกิด
ความหนักแน่นในจริตอัธยาศัยไม่หวั่นไหวต่ออำนาจ
ของโลกธรรมที่พัดกระพือเข้ามาสู่เราและจะทำให้เรา
ท่านทั้งหลายอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างาม ดีสาม นั้นคืออะไร
๑.รู้ดี ๒.สามารถดี ๓.ประพฤติดี
ทั้งสามดีเป็นดีที่ครบวงจรคนเราจะมีความรู้ดี
ก็ต้องอาศัยการศึกษาการสดับรับฟังการขบคิดพิจารณา
ถึงจะทำให้เกิดความรู้ดีแต่บางคนมีความรู้ดีแต่ถ้าความสามารถ
ไม่ดีความรู้ดีมันก็เป็นหมันอีกแต่ความสามารถดีจะเกิดขึ้นได้
ก็ต้องอาศัยการฝึกฝน การฝึกฝนจะทำให้คนมีคุณภาพ
ทนฺโตเสสโถมนุษย์เสสุ ในหมู่มนุษย์คนที่ฝึกฝนดีแล้ว
เป็นคนที่ประเสริฐที่สุดแม้แต่สิงห์สาลาสัตว์
ที่ฝึกดีแล้วมันก็ยังน่ารักเขาจึงบอกว่า

อันลิงข้างกลางป่าจับมาหัด สารพัดฝึกได้ดั่งใจหมาย
เกิดเป็นคนมาฝึกฝนแทบล้มตาย หากเอาดีไม่ได้ก็อายลิง

เพราะฉนั้นฝึกอะไร ฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกใจ
ของเราให้ดีงามขึ้นสามารถดีและประพฤติดี
คำว่าประพฤติดีนั้นหมายความว่าอย่างไร เราท่านทั้งหลาย
จะแสดงพฤติกรรมอย่างไรก็ตามไม่เป็นการขัดค่อง
ไม่เพื่อความขัดขวาง เพื่อไม่เป็นอุปสรรคขวางหนาม
ของผู้อื่นเป็นที่ชื่นชม ไม่เป็นที่ขื่นขมของผู้คนทั้งหลาย
เพราะฉนั้น รู้ดี สามารถดี ประพฤติดี จึงเป็นเรื่องสำคัญ
มีความรู้คือมีคุณวุฒิดีแล้วก็ต้องมีความสามารถดีแล้ว
ก็ต้องประพฤติดีมีคุณธรรม วิชาจรณสัมปันโณมีความรู้แล้ว
ก็ต้องมีความประพฤติที่ดีงามด้วยวิชาเป็นอำนาจ
มารยาทเป็นเสน่ห์ ที่ท่านบอกว่าความรู้ดีความสามารถดี
ความประพฤติดีนี่คือดีสาม ต่อมาก็งามสี่หมายถึงอะไร
กายงาม วาจางาม จิตใจงาม และน้ำใจงาม
งามให้ได้ทั้งสี่อย่างนี้ถือว่าเป็นยอดคน กายงาม
ก็คือประพฤติอยู่ในกายสุจริตทั้งสาม

วาจางาม ก็คือประพฤติอยู่ในวจีสุจริตทั้งสี่
จิตใจงามก็คือประพฤติอยู่ในมโนสุจริตทั้งสาม
เวลาที่ขอขมาลาโทษซึ่งกันและกัน กายกรรมสาม
วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม และน้ำใจงามอันนี้สำคัญมาก
ในการอยู่ร่วมกันในสังคมประเทศชาติจะเกิดความอบอุ่น
ไม่เกิดความอบอวน ไม่เกิดความอบอ้าว เพราะเรามีน้ำใจงาม
ชีวิตของคนเรานั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับน้ำใจตลอดคือ น้ำกิน
น้ำใช้ น้ำใจ น้ำคำ เป็นเรื่องสำคัญมาก น้ำกิน น้ำใช้ น้ำใจ น้ำคำ
แต่บรรดาน้ำทั้งหลายนั้นที่สำคัญที่สุดก็คือน้ำใจ โบราณจึงบอกว่า
น้ำบ่อ น้ำคลอง ยังเป็นรองน้ำใจ น้ำที่ไหน ๆ ก็สู้น้ำใจไม่ได้
เพราะว่าน้ำใจเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นน้ำที่มีฤทธิ์
ที่จะบันดารทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการได้ปรารถนาได้สารพัด
ในปัฐพีเอาน้ำใจไมตรีแลกได้ดั่งใจจง คำว่าน้ำใจ
คือน้ำที่หลั่งออกมาจากใจเกิดจากการเมตตากรุณาธรรม
ไม่มีใครบังคับมันเกิดขึ้นมาเอง

ล้นเกล้าราชกาลที่ ๖ จึงได้พระราชนิพนธ์ไว้ว่า

อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งออกมาเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน

ถามว่ายามไหนบ้างที่คนเราจะได้แสดงน้ำใจต่อกันและกัน
ที่สำคัญที่สุดก็มีอยู่สามยาม ยามจน ยามเจ็บ ยามจาก
สาม จ. นี้สำคัญมาก ยามจนขัดสนค้นแค้นใครเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บ้าง
ยามเจ็บไข้ได้ป่วยใครเยี่ยมยามถามข่าวสารทุกสุกดิบเราบ้าง
และยามจากใครหลั่งน้ำตาให้กับการจากไปเราบ้าง
แล้วจะรู้ว่าใครมีน้ำใจและไม่มีน้ำใจใครก็ตามเจ็บเยี่ยมไข้
ตายเยี่ยมผี มีช่วยเหลือ นั้นคือคนมีน้ำใจงามใครก็ตาม
เจ็บไม่เยี่ยมไข้ตายไม่เยี่ยมผี มีไม่ช่วยเหลือ นั้นคือคนที่แล้งน้ำใจ
เป็นคนที่โลกแคบที่สุด พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า
คนเรานั้นจะต้องเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนเจือจุนแบ่งบันซึ่งกันและกัน

เนกาสีลปเตสุขํ องค์พระพุทธเจ้าท่านตรัสชี้ว่า กินคนเดียวความสุขไม่มี
ถึงจะอ้วนพลีก็ไม่กี่วัน วัฒนธรรมไทยของเราแต่โบราณได้ยึดถือ
และปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาลนั้นคือ พริกเรือนเหนือ เกลือเรือนใต้
หมูไปไก่มา ยื่นโยนซึ่งกันและกัน มีอะไรก็เหลียวแลสอดส่องซึ่งกันและกัน
ดั่งคำที่ว่า คอยสอดคอยส่อง คอยมองคอยเมียง บ้านใกล้เรือนเคียง
คอยเรียกขาน ไต่ถามยามทุกข์ ข้าวสุกข้าวสาร ขาดเหลือเจือจาน กันด้วยน้ำใจ
เมตตาปราณี มีความเอื้อเฟื้อ พริกอยู่เรือนเหนือ เกลืออยู่เรือนใต้ พี่ให้ไก่มา
น้องเอาปลาไป วิสัยคนไทย ย่อมมีเมตตา นี้คือน้ำใจงาม ดีสาม งามสี่
คราวนี้คงที่คือแปด คำว่าคงที่คือไม่หวั่นไหว ไปตามอำนาจสิ่งที่มากระทบอารมณ์
ทุกอย่างที่มันมาประดังประดา เข้ามาหาเราท่านทั้งหลายนั้น

โดยสรุปก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ อารมณ์ชอบกับอารมณ์ชัง อารมณ์ชอบเรียกว่าอิฏฐาลม
อารมณ์ไม่ชอบเรียกว่าอนิฏฐาลม ชีวิตจะต้องประสบความดี ความไม่ดี
ความชอบ ความไม่ชอบ มีอยู่ ๒ อย่าง คือฝ่ายชื่นชมและฝ่ายขมขื่น มีสุขมีทุกข์
มีได้มีเสีย มีสมหวังมีผิดหวัง มีหัวเราะมีร้องให้ มีสรรเสริญมีนินทา
อย่างนี่เป็นต้นไม่มีอะไรข้างเดียวจะมาเป็นคู่ท่านจึงบอกว่า ในโลกนี้มีอะไรที่ไม่คู่
เห็นกันอยู่ทั่วถ้วนล้วนเป็นสอง แม้แต่พระจันทร์ยังต้องมีพระอาทิตย์หมายปอง
ได้พบพร้องกันบ้างเป็นครั้งครา ร้อนคู่เย็นเห็นชัดถนันแน่
เกิดแล้วแก่ตายรุมหนุ่มคือกับสาว หมาคู่กับแมว แจวคู่กับพาย สั้นคู่กับยาว
ดำคู่กับขาว บ่าวคู่กับนาย ตายคู่กับเป็น จนคู่กับมี ดีคู่กับชั่ว หัวคู่กับหาง หนาคู่กับบาง
สางคู่กับผี ชีคู่กับเถน ที่ไร้คู่อยู่เกะกะเขาว่ามีแต่พระกับเณร แสดงว่าทุกอย่างมันมีคู่
ถ้าเรารู้เท่าทันตามกระแสโลกแล้ว เอากระแสธรรมมานำกระแสโลก
เราก็จะยิ้มได้เมื่อภัยมา ไม่โสกาเมื่อทุกข์มี อะไรเกิดขึ้นก็มองเห็นเป็นธรรมชาติ
ไม่มีอะไรนอกเหนือจากธรรมดา เกิดก็ธรรมดา แก่ก็ธรรมดา เจ็บก็ธรรมดา
ตายก็ธรรมดา พลัดพรากจากคนรักของรักก็ธรรมดา หัวเราะก็ธรรมดา
ร้องให้ก็ธรรมดา ในธรรมจักรกัปวัตตนสูตรพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า
ยํกิญฺจิสมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํนิโรทธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากธรรมดา
ด้วยเหตุนี้คนที่เข้าถึงธรรมดาได้แล้วจะเป็นคนคงที่ไม่หวั่นไหวอะไรจะมากระทบ
ก็ยิ้มได้ ยิ้มได้เมื่อถูกเยาะ หัวเราะเมื่อถูกเย้ย วางเฉยเมื่อถูกชม
ไม่เต้นตามกระแสโลกของสังคมนี่คือเรื่อง ความดีความงาม
หรืออีกในหนึ่งคือ ดีสาม งามสี่ คงที่คือแปด





.....................................................

ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีดับเป็นธรรมดา





ผู้ให้การอนุโมทนาสาธุ คุณ วรานนท์ สำหรับตอบข้อความนี้:
taktay

ขอบพระคุณที่มาhttp://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=32942