PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : เชิญอ่าน พุทธสุภาษิต ที่ไพเราะและมีประโยชน์



*8q*
11-01-2008, 08:17 PM
พุทธศาสนสุภาษิต

พุทธศาสนสุภาษิต มีอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นเนื้อความสั้น ๆ ที่ทรงคุณค่า ให้ข้อคิด ข้อเตือนใจ ให้ผู้ที่ได้ศึกษาแล้ว มีความรู้ความเข้าใจ และยึดถือเป็นหลักธรรมประจำใจ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ ในแนวทางที่ถูกที่ควร ตรงทาง อันจะนำไปสู่ความสุข ความเจริญงอกงามในชีวิตของตน แล้วยังเป็นการเสริมสร้างสันติสุข ในสังคมโลกอีกด้วย

• อัตตวรรค - หมวดตน
• ตนทำบาปเองย่อมเศร้าหมองเอง
• จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างตกหล่มถอนตนขึ้นฉะนั้น

• อัปปมาทวรรค - หมวดไม่ประมาท
• ปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อันประเสริฐสุด
• ผู้ไม่ประมาท ย่อมไม่ตาย
• ผู้ไม่ประมาทพินิจอยู่ ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์
• คนมีปัญญาดีไม่ประมาทในเมื่อผู้อื่นประมาท มักตื่นในเมื่อผู้อื่นหลับ
ย่อมละทิ้งคนนั้น เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว ทิ้งม้าไม่มีกำลังไป ฉะนั้น

• กัมมวรรค - หมวดกรรม
• กรรมชั่วของตนเอง ย่อมนำไปสู่ทุคคติ
• ความดี อันคนดีทำง่าย
• ความดี อันคนชั่วทำยาก
• ทำกรรมใดแล้วไม่ร้อนใจภายหลัง กรรมที่ทำนั้นแลเป็นดี
• ทำกรรมใดแล้วร้อนใจภายหลัง กรรมที่ทำแล้วนั้นไม่ดี
• สิ่งที่ทำแล้ว ทำคืนไม่ได้
• ทำกรรมใดแล้วร้อนใจภายหลัง กรรมที่ทำแล้วนั้นไม่ดี
• ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า
• บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น
ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว
• ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำดีกว่า
• เมื่อคนโง่มีปัญญาทราม ทำกรรมชั่วอยู่ก็ไม่รู้สึก
เขาเดือดร้อนเพราะกรรมของตน เหมือนถูกไฟไหม้
• ผู้ใดปรารถนาทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง
ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง ดุจมาณพ (ผู้ประมาทแล้วรีบ)หักไม้กุ่ม ฉะนั้น
• ถ้าประสบสุขทุกข์ เพราะบุญบาปที่ทำไว้ก่อนเป็นเหตุ
ชื่อว่าเปลื้องบาปเก่าที่ทำไว้ ดุจเปลื้องหนี้ ฉะนั้น
• สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน
ไม่เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข

• กิเลสวรรค - หมวดกิเลส
• บุคคลถูกลูกศรใดแทงแล้ว ย่อมแล่นไปทั่วทิศ ถอนลูกศรนั้นแล้ว ย่อมไม่แล่นและไม่จม
• ผู้มีความเพียรไม่พึงนอนมาก พึงเสพธรรมเครื่องตื่น พึงละความเกียจคร้าน มายา
ความร่าเริง การเล่น และเมถุนพร้อมทั้งเครื่องประดับเสีย
• พราหมณ์ พระอริยเจ้าย่อมสรรเสริญผู้ฆ่าความโกรธ ซึ่งมีโคนเป็นพิษ
ปลายหวาน เพราะคนตัดความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
• โลภะ โทสะ โมหะ เกิดจากตัวเอง ย่อมเบียดเบียนผู้มีใจชั่ว ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ฉะนั้น
• บุคคลพึงละความโกรธ พึงเลิกถือตัว พึงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง (เพราะ) ทุกข์ทั้งหลาย
ย่อมไม่ติดตามผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีกังวลนั้น
• โลกถูกความอยากผูกพันไว้ จะหลุดได้เพราะกำจัดความอยาก
เพราะละความอยากเสียได้ จึงชื่อว่าตัดเครื่องผูกทั้งปวงได้
• ความอยากย่อมชักลากนรชนไป ความอยากละได้ยากในโลก
สัตว์เป็นอันมากถูกความอยากผูกมัดไว้ ดุจนางนกถูกบ่วงรัดไว้ ฉะนั้น
• โลกถูกตัณหาก่อขึ้น ถูกชราล้อมไว้ ถูกมฤตยูปิดไว้ จึงตั้งอยู่ในความทุกข์
• ผู้ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ผู้เห็นความสงัดในผัสสะทั้งหลาย ย่อมไม่ถูกชักนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย
• ผู้ใดไม่กังวลว่า นี้ของเรา นี้ของผู้อื่น ผู้นั้น
เมื่อไม่ถือว่าเป็นของเรา จึงไม่เศร้าโศกว่าของเราไม่มี ดังนี้

• โกธวรรค - หมวดโกรธ
• ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก
• ความโกรธก่อความพินาศ
• ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด ความมืดมนย่อมมีขึ้นเมื่อนั้น
• ความโกรธทำจิตให้กำเริบ
• ฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข
ความโกรธ คือ ความกราดเกรี้ยว ขุ่นมัว ฉุนเฉียว ที่เกิดขึ้นแก่จิต เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วหน้าตาทมึงตึง ย่อมจะเป็นคนดุร้าย ทำความพินาศให้แก่ตนเอง และผู้อื่น ทำให้เสื่อมลาภ ยศ และทรัพย์สิน ดังนั้น จงตัดมันเสียด้วยการเจริญขันติธรรม และเมตตาธรรม จึงจะอยู่เป็นสุข หน้าตาผ่องใส เป็นที่รักและเคารพของผู้อื่น เจริญยศ เจริญลาภ และทรัพย์สมบัติ ได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
• ผู้ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมละกุศลเสีย
• คนมักโกรธ ย่อมอยู่เป็นทุกข์
• ญาติมิตรและสหาย ย่อมหลีกเลี่ยงคนมักโกรธ
• ผู้โกรธ ย่อมไม่เห็นธรรม
• ภายหลังเมื่อความโกรธหายแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้
• พึงตัดความโกรธด้วยความข่มใจ

• ขันติวรรค - หมวดอดทน
• ผู้มีขันติ ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ ทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่น
ผู้มีขันติ ชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และนิพพาน
• ขันติ ย่อมตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้น
ผู้มีขันติชื่อว่าย่อมขุดรากแห่งความติเตียนและการทะ เลาะกันได้
• ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา
และผู้มีขันติ ชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยบูชาอันยิ่ง
• ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ
กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญเพราะขันติเท่านั้น
• ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ ขันติเป็นตบะของผู้พากเพียร
ขันติเป็นกำลังของนักพรต ขันตินำประโยชน์สุขมาให้
• ความบริสุทธิ์ก็ดี ผู้ที่จะประเสริฐล้วนก็ดี ขันติและโสรัจจะก็ดี
จะเป็นผู้เย็นสนิทก็ดี ย่อมไม่มีเพราะการชำระล้าง (ด้วยน้ำ)
• เสนาแม้หมู่ใหญ่ พร้อมด้วยพระราชารบอยู่ ไม่พึงได้ประโยชน์ที่สัตบุรุษผู้มีขันติพึงได้
(เพราะ) เวรทั้งหลายของผู้มีขันติเป็นกำลังนั้น ย่อมสงบระงับ

• จิตตวรรค - หมวดจิต
• จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้
• จิตที่คุ้มครองแล้วนำสุขมาให้
• ผู้ประพฤติตามอำนาจจิตย่อมลำบาก
• พึงรักษาจิตของตน เหมือนคนประคองบาตรที่เต็มด้วยน้ำมัน
• ก็บาปเกิดจากอารมณ์ใด ๆ พึงห้ามใจจากอารมณ์นั้น ๆ
• โจรกับโจรหรือไพรีกับไพรี พึงทำความพินาศให้แก่กัน
ส่วนจิตตั้งไว้ผิด พึงทำให้เขาเสียหายยิ่งกว่านั้น
• มารดาบิดาหรือญาติเหล่าอื่น ไม่พึงทำเหตุนั้นให้ได้
ส่วนจิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว พึงทำเขาให้ดีกว่านั้น
• ภูเขาหินแท่งทึบ ไม่สั่นสะเทือนเพราะลมฉันใด
บัณฑิตย่อมไม่หวั่นไหวในนินทาและสรรเสริญฉันนั้น
• โลกถูกจิตนำไป ถูกจิตชักไป
สัตว์ทั้งปวงไปสู่อำนาจแห่งจิตอย่างเดียว
• ผู้ใดทำกรรมชั่ว ล่อลวงเอาทรัพย์สมบัติพี่น้องพ่อแม่
ผู้นั้นมีจิตชั่วร้าย ย่อมไม่มีความเจริญ แม้เทวดาก็ไม่บูชาเขา

• ชยวรรค - หมวดชนะ
• ผู้ชนะย่อมก่อเวร
• การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง
• รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง
• ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
• ความสิ้นตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง
• ความชนะใดที่ชนะแล้วกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นไม่ดี
• พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ

• ทานวรรค - หมวดทาน
• เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ทักขิณาทานชื่อว่าน้อยย่อมไม่มี
• การเลือกให้ อันพระสุคตทรงสรรเสริญ
• คนพาลเท่านั้น ย่อมไม่สรรเสริญทาน
• ผู้ให้ ย่อมผูกไมตรีไว้ได้
• ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
• ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข
• ผู้ให้สิ่งประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ
• เมื่อให้ทานในวัตถุอันเลิศ บุญอันเลิศ อายุ
วรรณะ ยศ เกียรติ สุข และ กำลังอันเลิศ ก็เจริญ
• ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ให้สิ่งที่ดี ให้สิ่งที่ประเสริฐ
ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศ ในภพที่ตนเกิด
• ให้ทานเป็นต้นก่อน จึงได้สุขบัดนี้
เหมือนรดน้ำที่โคนให้ผลที่ปลาย
• ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง
ผู้ใดสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้อมตะ
• ผู้ให้ข้าวชื่อว่าให้กำลัง ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ
ผู้ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ผู้ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ
• ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ แต่ให้ทานในคนที่ควรให้
เมื่อประสบปัญหา ย่อมได้พบผู้ช่วยเหลือ

• ทุกขวรรค - หมวดทุกข์
• สังขาร เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
• ความจน เป็นทุกข์ในโลก
• การเป็นหนี้ เป็นทุกข์ในโลก
• คนไม่มีที่พึ่ง อยู่เป็นทุกข์
• ผู้แพ้ ย่อมอยู่เป็นทุกข์
• ทุกข์ ย่อมไม่ตกถึงผู้หมดกังวล
• การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์
• การพบเห็นสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
• ธัมมวรรค - หมวดธรรม
• ธรรมเหมือนห้วงน้ำไม่มีตม
• ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว นำสุขมาให้
• ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
• ผู้ประพฤติธรรม ไม่ไปสู่ทุคติ
• ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่ทำบาป
• พึงประพฤติธรรมให้สุจริต
• เมื่อพระพุทธเจ้าผู้ทำความสว่างเกิดขึ้นในโลก
พระองค์ย่อมประกาศธรรมสำหรับดับทุกข์นี้
• ชนใดประพฤติธรรม ในธรรมที่พระพุทธเจ้ากล่าวดีแล้ว
ชนเหล่านั้นจักข้ามแดนมฤตยูที่ข้ามได้ยาก
• ผู้ใดปรารถนาโภคทรัพย์ อายุ ยศ สุข อันเป็นทิพย์
ผู้นั้นพึงงดเว้นบาปทั้งหลาย แล้วประพฤติสุจริตธรรม ๓ อย่าง
• จงเด็ดเยื่อใยของตนเสีย เหมือนเอาฝ่ามือเด็ดบัวในฤดูแล้ง
จงเพิ่มพูนทางสงบ (ให้ถึง)พระนิพพานที่พระสุคตแสดงแล้ว
• ผู้ฉลาดนั้นเป็นผู้เพ่งพินิจ มีความเพียรติดต่อ บากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์
ย่อมถูกต้องพระนิพพาน อันปลอดจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้
• เรา (ตถาคต) ไม่เห็นความสวัสดีของสัตว์ทั้งหลาย
นอกจากปัญญา ความเพียร ความระวังตัว และการสละสิ่งทั้งปวง

• ปัญญาวรรค - หมวดปัญญา
• ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
• ปราชญ์กล่าวชีวิตของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐ สุด
• คนย่อมเห็นเนื้อความด้วยปัญญา
• คนมีปัญญาทราม ได้ยศแล้วย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน
ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียน ทั้งตนและผู้อื่น

• ปาปวรรค - หมวดบาป
• ผู้ทำบาป ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ ละไปแล้วก็เศร้าโศก ชื่อว่าเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
เขาเห็นกรรมอันเศร้าหมองของตน จึงเศร้าโศกและเดือดร้อน
• แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำฉันใด
คนเขลาสั่งสมบาปแม้ทีละน้อย ๆ ก็เต็มด้วยบาปฉันนั้น
• ถ้าฝ่ามือไม่มีแผล ก็พึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้
ยาพิษซึมเข้าฝ่ามือไม่มีแผลไม่ได้ฉันใด บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำฉันนั้น
• ควรงดเว้นบาปเสีย เหมือนพ่อค้ามีพวกน้อยมีทรัพย์มาก
เว้นหนทางที่มีภัย และเหมือนผู้รักชีวิตเว้นยาพิษเสียฉะนั้น

• ปุญญวรรค - หมวดบุญ
• บุญอันโจรนำไปไม่ได้
• บุญนำสุขมาให้ในเวลาสิ้นชีวิต
• ความสั่งสมบุญ นำสุขมาให้
• บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า
• ผู้ทำบุญแล้วย่อมยินดีในโลกนี้
ตายแล้วย่อมยินดีชื่อว่ายินดีในโลกทั้งสอง
เขาย่อมยินดีว่าเราทำบุญไว้แล้ว ไปสู่สุคติย่อมยินดียิ่งขึ้น
• ถ้าบุรุษจะพึงทำบุญ ควรทำบุญนั้นบ่อย ๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้น การสั่งสมบุญนำความสุขมาให้
• ไม่ควรดูหมิ่นต่อบุญว่ามีประมาณน้อยจักไม่มีมาถึง
แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด
ผู้มีปัญญาสั่งสมบูญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มได้ด้วยบุญ ฉันนั้น

• ปุคคลวรรค - หมวดบุคคล
• ชื่อว่าบัณฑิต ย่อมทำประโยชน์ให้สำเร็จได้แล
• บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมรุ่งเรืองเหมือนไฟสว่าง
• บัณฑิตย่อมเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
• ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกตนแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด
• คนฉลาดย่อมละบาป
• คนมีปัญญา ย่อมแนะนำทางที่ควรแนะนำ
• ผู้ใดไม่พูดเป็นธรรม ผู้นั้นไม่ใช่สัตบุรุษ
• สัตบุรุษยินดีในการเกื้อกูลสัตว์
• สัตบุรุษมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
• กลิ่นของสัตบุรุษย่อมหอมทวนลมได้
• คนซึ่งรู้สึกตนว่าโง่ จะเป็นผู้ฉลาดเพราะเหตุนั้นได้บ้าง
• อสัตบุรุษย่อมไปนรก
• ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ
• ผู้เคารพย่อมมีผู้เคารพตอบ
• ผู้ไหว้ย่อมได้รับไหว้ตอบ
• ผู้กินคนเดียวไม่ได้ความสุข
• คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก
• คนแข็งกระด้างก็มีเวร
• มารดาบิดาเป็นที่นับถือของบุตร
• มารดาบิดาท่านว่าเป็นบูรพาจารย์(ของบุตร)
• สามีเป็นเครื่องปรากฏของสตรี
• บรรดาภริยาทั้งหลาย ภริยาผู้เชื่อฟัง เป็นผู้ประเสริฐ
• บรรดาบุตรทั้งหลาย บุตรผู้เชื่อฟังเป็นผู้ประเสริฐ
• ผู้มีความดี จงรักษาความดีของตนไว้
• เมื่อเขาขอโทษ ถ้าผู้ใดมีความขุ่นเคือง
โกรธจัด ไม่ยอมรับ ผู้นั้นชื่อว่า หมกเวรไว้
• ผู้ที่มีมารดาบิดาเลี้ยงมาได้โดยยากอย่างนี้
ไม่บำรุงมารดาบิดา ประพฤติผิดในมารดาบิดา ย่อมเข้าถึงนรก
• ผู้มีปรีชาได้โภคะแล้ว ย่อมสงเคราะห์หมู่ญาติ
เพราะการสงเคราะห์นั้น เขาย่อมได้เกียรติ ละไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
• ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน
แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น
• ผู้ใดทำกรรมชั่วแล้ว ละเสียได้ด้วยกรรมดี
ผู้นั้นย่อมยังโลกให้สว่าง เหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆ
• บุคคลนั่งหรือนอน (อาศัย) ที่ร่มเงาต้นไม้ใด
ไม่ควรรานกิ่งต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม
• ผู้ใดย่อมเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม
บัณฑิตย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้ เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

• มัจจุวรรค - หมวดมฤตยู
• ชีวิตของสัตว์เหมือนภาชนะดิน ซึ่งล้วนมีความสลายเป็นที่สุด
• ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้
• ทั้งคนมีคนจน ล้วนมีแต่ความตายเป็นเบื้องหน้า
• ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเขลา ทั้งฉลาด
ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า
• ผู้เลี้ยงโคย่อมต้อนฝูงโค ไปสู่ที่หากินด้วยพลองฉันใด
ความแก่และความตาย ย่อมต้อนอายุของสัตว์มีชีวิตไปฉันนั้น
• ห้วงน้ำที่เต็มฝั่ง พึงพัดต้นไม้ซึ่งเกิดที่ตลิ่งไปฉันใด
สัตว์มีชีวิตทั้งปวง ย่อมถูกความแก่และความตายพัดไปฉันนั้น
• กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป
ผู้เล็งเห็นภัยในมรณะนั้น พึงทำบุญอันนำความสุขมาให้

• มิตตวรรค - หมวดมิตร
• มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน
• สหายเป็นมิตรของผู้มีความต้องการเกิดขึ้นเนือง ๆ
• ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมมีผู้บูชาในที่ทั้งปวง
• ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวแท้
• ภรรยาเป็นเพื่อนสนิท
• ความเป็นสหายไม่มีในคนพาล
• ถ้าได้สหายผู้รอบคอบ พึงพอใจมีสติเที่ยวไปกับเขา

• วาจาวรรค - หมวดวาจา
• เปล่งวาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ
• วาจาเช่นเดียวกับใจ
• คนเปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน
• คนโกรธมีวาจาหยาบ
• ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ
• ควรกล่าวแต่วาจาที่ไม่ยังตนให้เดือดร้อน
• ผู้ใดสรรเสริญคนควรติ หรือติคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นย่อมเก็บโทษด้วยปาก เขาไม่ได้สุขเพราะโทษนั้น

• วิริยวรรค - หมวดความเพียร
• คนขยันย่อมไม่พร่าประโยชน์ชั่วตามกาล
• คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
• ประโยชน์ย่อมไม่สำเร็จโดยชอบแก่ผู้ทำโดยเบื่อหน่าย
• คนที่ผลัดวันประกันพรุ่งย่อมเสื่อม ยิ่งว่ามะรืนนี้ยิ่งเสื่อม
• ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรเลว พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี
ส่วนผู้ปรารภความเพียรมั่นคง มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวก็ประเสริฐกว่า
• ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านเป็นภัย
และเห็นการปรารภความเพียรเป็นความปลอดภัย
แล้วปรารภความเพียรเถิด นี้เป็นพุทธานุศาสนี
• ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล มีปัญญา มีใจมั่นคงดีแล้ว
ปรารภความเพียรตั้งตนไว้ในกาลทุกเมื่อ ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก

• สีลวรรค - หมวดศีล
• ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา
• ศีลพึงรู้ได้เพราะอยู่ร่วมกัน
• ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย
เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้นควรชำระศีลให้บริสุทธิ์
• ศีลเป็นกำลังไม่มีที่เปรียบ ศีลเป็นอาวุธสูงสุด
ศีลเป็นเครื่องประดับอย่างประเสริฐสุด ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์
• ศีลเป็นสะพานอันสำคัญ ศีลเป็นกลิ่นที่ไม่มีกลิ่นอื่นยิ่งกว่า
ศีลเป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐสุด เพราะศีล (มีกลิ่น)ขจรไปทั่วทุกทิศ

• สุขวรรค - หมวดสุข
• ละเหตุทุกข์ได้เป็นสุขในที่ทั้งปวง
• ความไม่เบียดเบียนเป็นสุขในโลก
• ความสุข (อื่น) ยิ่งกว่าความสงบไม่มี
• นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
• จะพึงมีความสุขเป็นนิตย์ ก็เพราะไม่พบเห็นคนพาล
• ผู้เจริญเมตตาดีแล้วย่อมหลับและตื่นเป็นสุข
• ความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนำสุขมาให้

• เสวนาวรรค - หมวดคบหา
• เพราะความไว้ใจภัยจึงตามมา
• เพราะอยู่ด้วยกันนานเกินไป คนที่รักกันก็มักหน่าย
• คบคนใดก็เป็นเช่นคนนั้น
• อยู่ร่วมกับคนพาลนำทุกข์มาให้เสมอไป เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู
• ผู้คบคนเลวย่อมเลวลง
• สมาคมกับคนพาลนำทุกข์มาให้
• สมาคมกับสัตบุรุษนำสุขมาให้
• ผู้ไม่คบคนชั่ว ย่อมได้รับสุขส่วนเดียว
• ควรระแวงในศัตรู
• แม้ในมิตรก็ไม่ควรไว้ใจ
• ไม่ควรไว้ใจคนทำบาป
• ไม่ควรไว้ใจคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว
• คนห่อกฤษณาด้วยใบไม้
แม้ใบไม้ก็หอมไปด้วยฉันใด การคบกับนักปราชญ์ก็ฉันนั้น
• คนห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา
แม้หญ้าคาก็พลอยเหม็นเน่าไปด้วยฉันใด การคบคนพาลก็ฉันนั้น
• บัณฑิตพึงทำความเป็นเพื่อนกับคนมีศรัทธา มีศีลเป็นที่รัก
มีปัญญาและเป็นพหุสูต เพราะการสมาคมกับคนดี เป็นความเจริญ
• บุคคลควรคบผู้เลื่อมใสเท่านั้น ควรเว้นผู้ไม่เลื่อมใส
ควรเข้าไปนั่งใกล้ผู้เลื่อมใส เหมือนผู้ต้องการน้ำเข้าไปหาห้วงน้ำฉะนั้น

• ปกิณณกวรรค - หมวดเบ็ดเตล็ด
• ความริษยาเป็นเหตุทำโลกให้ฉิบหาย
• ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง
• กาลเวลา ย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง
• โภคทรัพย์ ย่อมฆ่าคนมีปัญญาทราม
• ชื่อว่าที่ลับของผู้ทำบาปกรรม ไม่มีในโลก
• ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
• ไม่ควรหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
• เมื่อรากยังมั่นคงไม่มีอันตราย ต้นไม้แม้ถูกตัด แล้วย่อมงอกได้อีกฉันใด
เมื่อตัณหานุสัยยังไม่ถูกกำจัดแล้ว ทุกข์นี้ย่อมเกิดร่ำไปฉันนั้น
• การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขอขอบพระคุณ K.KASIN 2 มา ณ.ที่นี้ด้วยค่ะ

CREDIT BY http://www.larnbuddhism.com/webboard...ead.php?t=1135

http://board.agalico.com/showthread.php?t=24100

piangfan
11-05-2008, 08:09 PM
โมทนา สาธุ คะ พี่แปดคิว[/color


[color=red]ตะวันส่องแสงธรรมนำ มิตรภาพไร้พรมแดน