PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริงหรือไม่?



chai_kmutnb
10-23-2011, 09:41 AM
เรื่องนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง แต่ที่คนส่วนมากยังลังเล หรือเข้าใจผิดไปบ้างก็เพราะความสลับซับซ้อนของกรรมและการให้ผลของมัน
การได้ดีหรือได้ชั่วนั้นถ้าเอาวัตถุภายนอกเป็นเครื่องตัดสินก็ลำบากหน่อย ต้องรอคอย บางทีขณะที่กำลังรอคอยอยู่นั้น ผลของกรรมอื่นแทรกแซงเข้ามาเสียก่อน
ยิ่งทำให้ผู้ทำกรรมซึ่งกำลังรอคอยผลอยู่นั้นงงและไขว้เขวไปใหญ่
ผลภายนอกและผลภายในของกรรม
ผลภายนอก คือผลที่ตนเองและคนอื่นมองเห็นได้ง่ายอย่าง ธรรมดาสามัญ เพราะมันมาเป็นวัตถุสิ่งของหรือสิ่งสมมติ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ
ความเพลิดเพลิน ความมีหน้ามีตาในสังคมเพราะมีทรัพย์เกื้อหนุนให้เป็น หรือในทางตรงกันข้าม เช่น เสื่อมทรัพย์ อัปยศ ถูกนินทาติเตียน
มีความทุกข์ต่างๆ รุมสุมเข้ามา เช่น ความเจ็บป่วย ความต้องพลัดพรากจากปิยชน มีบุตร ภรรยา (สามี) เป็นต้น
ในฝ่ายเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ทุกข์ ก็มีนัยเดียวกันกับฝ่ายลาภ ยศ คืออาจเกิดขึ้นเพราะการทำดี หรือทำชั่วก็ได้
ตัวอย่างเช่น ผู้ทำความดีโดยการบริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณกุศลเป็นจำนวนล้าน ทรัพย์นั้นของเขาต้องลดจำนวนลง จะเรียกว่าเสื่อมลาภได้หรือไม่
คนทำความดีอาจถูกถอดยศก็ได้ เมื่อทำไม่ถูกใจของผู้มีอำนาจให้ยศหรือถอดยศ คนทำดีอาจถูกติเตียนก็ได้ ถ้าคนผู้ติเตียนมีใจไม่เป็นธรรม
หรืออคติจงใจใส่ร้ายเขา คนทำดีอาจต้องประสบทุกข์ก็ได้ เพราะต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำกาย และความเจ็บใจ
เช่นความลำบากกายลำบากใจในการเลี้ยงดูบุตรและสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดี ซึ่งท่านเรียกว่า ความทุกข์ ที่ต้องลงทุน (Pre-Payment)
ผลภายนอกเป็นของไม่แน่นอนอย่างนี้ ถ้าถือเอาผลภายนอกมาเป็นเครื่องตัดสินผลของกรรมย่อมทำให้สับสน
เพราะบางคราวผลที่เกิดขึ้น สมแก่กรรม แต่บางคราวไม่สมแก่กรรม เท่าที่บุคคลพอจะมองเห็นได้ในระยะสั้น

ส่วน ผลภายใน คือผลที่เกิดขึ้นแก่จิตใจของผู้ทำ เป็นผลที่แน่นอนกว่า คือคนทำความดี รู้สึกตนว่าได้ทำความดี
จิตใจย่อมผ่องใสขึ้น จิตสูงขึ้น ส่วนคนทำชั่ว รู้สึกตนว่าเป็นคนทำชั่ว จิตย่อมเศร้าหมองไป อาการที่จิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วนั่นเอง
เป็นผลโดยตรงของกรรมดี กรรมชั่ว สุข ทุกข์ของบุคคลอยู่ที่อาการเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วของดวงจิตมากกว่าอย่างอื่น ทรัพย์สินสมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ
จะได้มามากเพียงใดก็ตาม ถ้าใจเศร้าหมอง ทุรนทุรายอยู่ด้วยโลภ โกรธ หลงอยู่เสมอแล้ว สิ่งเหล่านั้นหาสามารถให้ความสุขแก่เจ้าของเท่าที่ควรไม่
ตรงกันข้ามกลับเป็นสิ่งให้ทุกข์เดือดร้อนเสียอีก ผู้มีใจผ่องแผ้วเต็มที่เช่นพระอรหันต์ แม้ไม่มีทรัพย์สมบัติภายนอกที่ชาวโลกกระหายใดๆ เลย แต่ท่านมีความสุขมาก
เป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยทุกข์