PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร



DAO
11-05-2008, 11:04 AM
http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/pic31/thepsirintrawas.jpg



วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร
พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร



วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ( วัดเทพศิรินทร์ ) ตั้งอยู่ใกล้สะพานกษัตริย์ศึกและสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลถวาย สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีผู้เป็นพระราชชนนี และใน พ.ศ. ๒๔๓๙ โปรดเกล้าฯให้สร้างสุสานหลวงไว้ในวัด ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็นฌาปนสถานสำหรับพระราชวงศ์ซึ่งไม่ได้สร้างพระเมรุฯ ที่ท้องสนามหลวงและสำหรับชนทุกชั้น นับเป็นเรื่องพิเศษ เนื่องจากโดยปกติแล้วจะไม่มีฌาปนสถานในพระอารามหลวง

ด้านหนึ่งของวัดเป็น " โรงเรียนเทพศิรินทร์ " อันมีชื่อเสียง อีกด้านหนึ่งเป็นเขตสังฆาวาสมีเมรุหลวงสำหรับพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและบุคคลสำคัญ

สถาปัตยกรรมสำคัญได้แก่ พระอุโบสถของวัดเทพศิรินทราวาส มีขนาดใหญ่และตกแต่งอย่างงดงาม ด้วยลายรดน้ำและซุ้มประตูหน้าต่าง เพดานสลักรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ เช่น พระนิรันตรายซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ ๔ ซึ่งอันเชิญมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ ตามพระราชประสงค์รัชกาลที่ ๔

นอกจากนี้ยังมีพลับพลาอิศริยาภรณ์ ซึ่งรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นที่ตั้งพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ในการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ สุสานหลวงเป็นรายแรก ศาลานี้ใช้เป็นพลับพลาที่ประทับเมื่อเสด็จพระราชทานเพลิงสืบมาจนถึงปัจจุบัน


สมเด็จพระญาณวโรดม - เจ้าอาวาส


http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/pic/yanwarodom.jpg


สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ.๙)

ชาติภูมิ
นามเดิม ประยูร นามสกุล พยุงธรรม บิดาชื่อ ธูป มารดาชื่อ ทองหยิบ เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๕๙ (ถ้าเป็นในปัจจุบันจะเป็นปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐) ที่บ้านท่าเรือ ต.ประจันตะคาม อ.ประจันตะคาม จ.ปราจีนบุรี เป็นลูกคนสุดท้อง มีพี่ ๗ คน ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก ๓ คน เหลือ ๔ คน
บรรพชา-อุปสมบท
ได้มาอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๘) โดยมิเคยย้ายไปอยู่ที่ไหนเลย ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พัทธสีมาวัดเทพศิรินทราวาส ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณ (อินทร อคฺคิทตฺตเถร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยธรเพ็ชร (ปภงฺกรเถร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มี หม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานิศรานุวัติวงศ์ ทรงเป็นอุปัฏฐากเจ้าภาพบวช ณ พัทธสีมา วัดเทพศิรินทราวาส ได้ฉายาว่า "สนฺตงฺกุโร" ซึ่งแปลว่า หน่อหรือเชื้อสายหรือทายาทของผู้สงบ (ฉายานี้ได้มาตั้งแต่เป็นสามเณรพรรษาแรก) และได้จำพรรษาที่วัดนี้ตลอดมา จนบัดนี้มิได้ไปจำพรรษาที่อื่นเลย

วิทยฐานะ

ด้านสามัญศึกษา
สอบ ป.๕ ได้เป็นคนแรกที่โรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอประจันตะคาม โดยสอบคนเดียว ได้คนเดียว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ครั้งนั้นชั้น ป.๕ เป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาในอำเภอนั้น เริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุราว ๖ ขวบ โดยบิดาเป็นครูสอน ต่อมาได้เข้าโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ในชั้น ป.๑

ด้านปริยัติศึกษา แผนกนักธรรม
ได้นักธรรมชั้นเอก แผนกบาลี ได้ ป.ธ.๙

สมณศักดิ์
พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธญาณ,
พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสุมนต์มุนี,
พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพกวี,
พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมธัชมุนี,
พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏ ที่พระญาณวโรดม

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ ทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระญาณวโรดม

ตำแหน่งหน้าที่การงาน และ ผลงาน มีมากมายเหลือคณานับ เป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ในคณะสงฆ์กว่า ๑๐๐ โครงการ รวมทั้งงานเผยแผ่พระศาสนา การเดินทางไปต่างประเทศจนครบ ๖ ทวีป ๔๕ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น

ทางด้านวรรณกรรม ได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือเรียน หนังสือธรรมะ หนังสือท่องเที่ยวอิงธรรมะ (แบบใหม่ อ่านเข้าใจ สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ) หนังสืออ่านสำหรับวัยรุ่น รวมทั้งผู้เฒ่า กว่า ๓๐ เล่ม บางเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศก็มี นับว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้คงแก่เรียน และเป็นนักเขียนฝีมือดีท่านหนึ่งก็ว่าได้



วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
ตั้งอยู่ใกล้สะพานกษัตริย์ศึกและสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)
แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐


ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watthepsirin.php