PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : หลักการปฏิบัติธรรม พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี)



**wan**
11-05-2008, 04:29 PM
http://www.hinmarkpeng.org/Gallery/Gallery02/images/204.jpg

หลักการปฏิบัติธรรม
โดย พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี)
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
คัดจากหนังสือ ธรรมเทศนา ๒๕๒๖

คัดลอกจากจาก เวบ ธรรมเทศนาแนวปฏิบัติ ของหลวงปู่เทสก์
http://www.geocities.com/luangpu_thate/data/lesson06.HTM

“เราทำดีกันอยู่ทุกวันนี้มีหลักอะไรบ้าง พูดย่อ ๆ คือ มีการทำทาน มีการรักษาศีล มีการทำสมาธิ
แล้วก็เกิดปัญญา ทั้ง ๔ อย่างนี้แหละ”

การมาอยู่จำพรรษาที่วัดนี้ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสกและอุบาสิกา ที่มาจากที่อื่น หรืออยู่ในที่นี้ก็เหมือนกัน ได้อยู่จำพรรษาสิ้นไตรมาส (๓ เดือน) แล้ว วันนี้เป็นปวารณาออกพรรษา หลังจากนี้ต่างคนก็จะแยกย้ายกันไปทำมาหากินตามหน้าที่ธุระของตน ๆ แต่ละคนก็มีภาระต่าง ๆ กัน

คำว่า “พรรษา” ในที่นี้หมายเอาฤดูฝนสี่เดือน แต่แท้จริงนั้น วัสสา แปลว่า ฝน เฉย ๆ นี่แหละ ต่อมาก็เลยกลายเป็นวันสำคัญ พระเจ้าพระสงฆ์ได้บวชสามเดือน อุบาสกอุบาสิกาได้มาจำพรรษา เพื่อ มาปฏิบัติธรรม ถือเป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์ ในฤดูฝนสี่เดือนนั่นเลยเข้าใจว่าเป็นหนึ่งพรรษา ความเป็น จริงพรรษาหนึ่ง ๆ คือการนับอายุนั่นเอง พอถึงสิบสองเดือนจึงนับหนึ่งพรรษา ต่อมามันย่อลงเอาแค่ สั้น ๆ เพียงสามเดือน คือ นับจากเดือนแปดเพ็ญถึงเดือนสิบเอ็ดเพ็ญเป็นเวลาหนึ่งพรรษา ผู้ใดบวช เข้ามาถึง ๓ เดือนก็เลยเรียกว่าได้ หนึ่งพรรษา

อันเรื่องการนับพรรษาหนึ่ง หรือปีหนึ่งนี้ก็ไม่เป็นของสำคัญอะไร พูดให้ฟังเท่านั้น จะนับหรือ ไม่นับก็ตามใจไม่สำคัญอะไรนัก ที่สำคัญที่สุด คือ ที่เราได้มาอยู่จำพรรษาที่นี้ได้มาปฏิบัติธรรม ชำระ กิเลสอารมณ์ของตน ๆ ให้สะอาด ในเมื่อมีโอกาสเช่นนี้ พอออกพรรษาแล้วก็จะต้องแยกย้ายกันไป ทำมาหากินตามภารกิจ ของตน ๆ ขอให้ยึดมั่นในหลักธรรมที่เราได้ปฏิบัติมาแล้วตลอดพรรษา เราได้ปฏิบัติมาเช่นไร ให้ยึดมั่นในใจของตนว่า อันนี้แหละเป็นการถูกต้องแล้ว ให้จับหลักอันนั้นไว้ให้มั่น อันนั้นเป็นของสำคัญยิ่งนัก

เรามาปฏิบัติธรรมคล้ายกับว่าเรามาตรึกตรอง มาพินิจพิจารณาหาข้อเท็จจริงในหลักธรรมนั้น ๆ นี่คือการปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่าเรามาปฏิบัติธรรมได้พรรษาหนึ่งหรือหลายพรรษาแล้วก็ตาม แต่ที่ปฏิบัติมายังจับหลักไม่ได้ พินิจพิจารณาข้อธรรมไม่ได้สักอย่างเดียว การปฏิบัติเลยโลเล ไม่มั่น คง อันนั้นยังไม่มีหลัก ยังใชัไม่ได้ดี การที่จะให้ได้ดีแท้นั้นต้องมีหลักในการปฏิบัติธรรมให้มั่นคงในใจ ของตน โดยการพิจารณาหาข้อเท็จจริงในหลักธรรมนั้น ๆ ให้ชัดเจนด้วยตนเอง

การปฏิบัติธรรมตามพระพุทธศาสนา คือ ทำดี ทีนี้ที่เราทำดีกันอยู่ทุกวันนี้มีหลักอะไรบ้าง พูดย่อ ๆ คือ มีการทำทาน มีการรักษาศีล มีการทำสมาธิ แล้วก็เกิดปัญญา ทั้ง ๔ อย่างนี้แหละเรียกว่า หลักการทำดีของพระพุทธศาสนา ความดีที่ทำทั้งหมดนั้นไม่หนีจากหลัก ๔ ประการนี้เลย ทำที่ไหนก็ ตามเถิด ถ้าทำตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ต้องอยู่ในหลัก ๔ ประการนี้ทั้งนั้น

หลักที่ ๑ การทำทาน มีอะไรเป็นหลักเบื้องต้นที่เราจะต้องให้ยึดมั่น การทำทานต้องมี ความเชื่อ เป็นหลักมั่นคงเสียก่อน

เชื่ออะไร คือ เชื่อว่าทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป เชื่อมั่นอย่างนี้ เรียกว่า กมฺมสฺสกตา เชื่อมั่นใน กรรมในผลของกรรม เมื่อมีความเชื่อมั่นเช่นนี้แล้วทำทานลงไปย่อมไม่ผิดพลาด ได้ความสม ปรารถนาทุกอย่าง ที่ว่าไม่ผิดพลาดในที่นี้คืออย่างไร เมื่อมีความเชื่อมั่นแน่นแฟ้นในใจของตนเสีย ก่อนแล้วจึงทำทานลงไป ทานนั้นเป็นผลเลิศ ทานนั้นย่อมได้ผลแก่ตนเองไม่ผิดพลาด

ความหมายของ ทาน ท่านเทศนาไว้ว่า ทานวัตถุมี ๑๐ ประการ ดังนั้น ทาน จึงต้องมีวัตถุทาน คือ สิ่งของที่จะต้องให้ และต้องมีผู้รับทาน เรียกว่า ปฏิคาหก จะเป็นใครก็ได้ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา หรือแม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ได้ ต้องมีครบทั้งวัตถุทานและผู้รับทาน จึงจะเรียกว่า ทำทาน

ทานวัตถุ ๑๐ ประการมี ๑. ทานํ ให้ทานข้าว ๒. ปานํ ให้ให้ทานน้ำ ๓. วตฺถํ ให้ทานผ้า ๔. ยานํ ให้ทานยวดยานพาหนะ ๕. มาลา ให้ทานดอกไม้ธูปเทียน ๖. คนฺธํ ให้ทานของหอมกระแจะจันทน์ต่าง ๆ ๗. วิเลปนํ ให้ทานเครื่องลูบทาตัวทาตน ๘. เสยฺยํ ให้ทานที่นอนเครื่องลาดปู ๙. อาวาสถํ ให้ที่ อยู่อาศัยเสนาสนะ ๑๐. ปทีเปยฺยํ ให้ทานประทีปแสงสว่าง ทานวัตถุมี ๑๐ ประการนี้

ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า จาคะ ต่างจากทานวัตถุ ๑๐ ประการที่ว่ามานั้น จาคะ ได้แก่การ สละด้วยน้ำใจ ทั้งที่มีวัตถุและไม่มีวัตถุก็ได้ หรือจะเรียกว่ามีจาคะเสียก่อนแล้วจึงมีทานวัตถุก็ได้ จาคะนี้เป็นของสำคัญมาก ต้องเข้าถึงจิตถึงใจจริง ๆ จะมีผู้รับหรือไม่มี จาคะได้ทั้งนั้น เช่น จาคะสละ ความโลภ ความโกรธ ความหลงออกจากใจของตน ซึ่งไม่มีใครมารับก็สละได้ ใครจะมารับ ทุก ๆ คนก็ แบกเต็มบ่าอยู่แล้ว ความขุ่นมัวเกี่ยวข้องกังวลและทุกข์โศกทั้งปวง ใคร ๆ ก็เป็นทุกข์อยู่แล้ว เราสละ ออกไปให้ห่างไกลจากตัวของเรา ใครจะเอาเล่า

ความโลภ พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าไม่ดี ทรงจาคะสละหมด ความโลภเมื่อตกแก่พวกเราผู้มี ปัญญาทราม อยากได้โน่นอยากได้นี่ ชิงลาภ ชิงยศ ชิงดีชิงเด่นซึ่งกันและกัน เรียกว่าแย่งกัน เมื่อแย่ง กันก็เป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาท ทุ่มเถียง ฆ่าซึ่งกันและกัน

ความโกรธ ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายท่านสละทิ้งหมด แต่คนเรานี่เรื่อง โกรธละชอบนัก ใครว่าอะไรผิดหูไม่ได้หรอก ชอบไปรับเอาเข้ามาใส่หูแล้วโกรธเอา ๆ บางทีผู้ที่เราโกรธ นั้นไม่รู้เสียด้วยซ้ำไป เราไปรับเอาความโกรธนั่นมากลุ้มใจอยู่คนเดียว

ความหลง มัวเมาในสิ่งต่าง ๆ เรื่องต่าง ๆ ก็เหมือนกันเป็นแบบเดียวกัน

จาคะ เป็นของดีอย่างนี้ ทำได้เสมอทุกเวลา วัตถุที่จะจาคะก็ไม่ต้องมี บุคคลที่จะรับก็ไม่ต้องมี แต่หากไม่อด คนที่มารับเอาจาคะ แม้แต่ตัวของเราก็อาจจะเป็นคนขอทาน รับของท่านที่สละแล้วซ้ำไป

ศรัทธา ก็เป็นของดีเหมือนกันเป็นของสำคัญ พระพุทธองค์ตรัสเทศนาไว้ว่า สทฺธายตรติโอฆํ ศรัทธาเป็นเครื่องนำให้ข้ามโอฆะได้ คือ หมายความว่ามีศรัทธาเชื่อมั่นแน่วแน่แล้วนั่นแหละ เป็น เครื่องให้ข้ามโอฆะ (โอฆะเปรียบเทียบห้วงน้ำ) ราคะ โทสะ โมหะ เป็นโอฆะแต่ละอย่าง ๆ

คนที่จะข้ามโอฆะได้ต้องมีศรัทธาเสียก่อน ถ้าไม่มีศรัทธาเสียอย่างเดียวก็หมดทางที่จะข้าม โอฆะได้ ศรัทธาจึงเป็นของสำคัญที่สุด เช่น เชื่อมั่นในกรรม เชื่อผลของกรรมดังที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ ว่าศรัทธาอันนั้นเป็นเบื้องต้นที่จะทำทาน ถ้ามีศรัทธาแล้วไม่อดเรื่องการทำทาน อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ทำมากก็ได้ ทำน้อยก็ได้ ไม่ต้องเลือกวัตถุในการทำทาน จะเป็นข้าว น้ำ อาหาร หมากพลู บุหรี่ ฯลฯ สารพัดสิ่งเป็นทานได้ทั้งหมด แม้แต่ใบไม้ ใบตอง ใบหญ้า ก็เป็นทานได้ เราทำด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่ง นี้ทำไปแล้วจะเป็นประโยชน์แก่ผู้นั้น ๆ ก็อิ่มอกอิ่มใจขึ้นมาก็เป็นบุญ นั่นแหละ ศรัทธา มันทำให้อิ่มอก อิ่มใจ ทำให้เกิดบุญซาบซึ้งถึงใจทุกอย่างไม่ลืมเลย อันนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ข้ามโอฆะ

หลักที่ ๒ การรักษาศีล ศีล คือ เจตนางดเว้นจากโทษนั้น ๆ เมื่องดเว้นจากโทษ ๕ ประการ เรียกว่า ศีล ๕ เกิดขึ้นแล้วในตัวของเรา เจตนางดเว้นจากโทษ ๘ ประการ เรียกว่า ศีล ๘ เกิดขึ้น แล้วในตัวของเรา งดเว้นจากโทษ ๑๐ ประการ เรียกว่า ศีล ๑๐ เกิดขึ้นแล้วในตัวของเรา งดเว้นจากโทษ ๒๒๗ ประการ เรียกว่า ศีล ๒๒๗ เกิดขึ้นในตัวของเรา

ศีลมีเจตนาเป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีเจตนาจะงดเว้นแล้ว ศีลทั้งหมดก็จะไม่มีในบุคคลผู้นั้นเลย เจตนาจะมีก็เพราะผู้นั้นเห็นโทษในข้อนั้น ๆ เสียก่อนจึงงดเว้น พระพุทธเจ้าตรัสเทศนา ว่าเจตนา ตัวเดียวเป็นศีล

ศีลเป็นของรักษาง่ายนิดเดียว ถ้าผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นว่า เราทำดีย่อมได้ดี มีผลให้เกิดความสุข ทำชั่วย่อมได้รับความชั่ว มีผลให้เกิดความทุกข์ คนเราเกิดมาย่อมปรารถนาความสุขด้วยกันมิใช่หรือ เมื่อปรารถนาความสุขก็ต้องรักษาศีล และรักษาศีลก็ไม่ต้องป่าวร้องคนอื่น คนเดียวหรืออยู่ที่ไหนก็ รักษาได้ และไม่ต้องมีวัตถุสิ่งของเหมือนกับทำทาน พอเจตนางดเว้นจากข้อนั้น ๆ เราก็เป็นผู้มีศีลขึ้น มาทันที และศีลไม่จำเป็นจะต้องมีถึงห้าข้อ แปดข้อเรื่อยไป เอาข้อเดียวก็ได้ เราผิดข้อไหนเรางดเว้น ข้อนั้น และงดเว้นให้จริง ๆ อย่าให้ขาดตกบกพร่องได้ ถ้ายังขาดตกบกพร่องอยู่ให้ตั้งใจรักษาใหม่ สามเดือน หกเดือน หนึ่งปี สองปี จนกว่าศีลจะสมบูรณ์บริบูรณ์ ดีกว่าผู้ไปสมาทานศีลทุกวันพระแล้ว รักษาไม่ได้สักตัวเดียว สมาทานศีลมาไม่ทราบกี่ปีแล้ว ศีลห้าข้อก็รักษาไม่ได้ รักษาศีลแบบรักษา ตัวเดียวนี้ สมมติว่า ข้อหนึ่ง รักษาปีหนึ่งจึงรักษาได้บริบูรณ์ ปีต่อไปรักษาข้อสอง ปีต่อไปรักษาข้อสาม ห้าปีก็รักษาได้ห้าข้อสมบูรณ์ ศีลนั้นได้ชื่อว่าเป็นของตัวแล้ว

คราวนี้เราไม่ต้องรักษาศีลแล้ว ศีลกลับมารักษาตัวเรา เราจะล่วงละเมิดศีลไม่ได้เด็ดขาด หากจะล่วงละเมิด ศีลต้องรักษาตัวเราไม่ให้ทำ เช่น เห็นสัตว์ควรที่จะฆ่า แล้วเกิดเมตตาสงสารเอ็นดู เหมือนกับเห็นลูกหลานของตนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก เห็นสิ่งของ ๆ คนอื่นเหมือนกับเห็นของ ๆ เรา เห็นบุตรภรรยาของคนอื่นก็เหมือนเห็นพ่อแม่ พี่น้อง แม่ป้า น้าอาของตน แล้วที่ไหนมันจะล่วงละเมิด ได้ คำพูดที่ควรจะโกหกหลอกลวงเขา ก็เห็นเหมือนกับเรากำลังจะอ้าปากคาบเอาของเลวทรามเอามา ไว้ในตน สุราเมรัยเครื่องดองของเมาต่าง ๆ ตลอดถึงยาเสพติดที่เราจะดื่มให้ล่วงละเมิดลำคอ ก็เหมือนกับเรากำลังจะกลืนยาพิษลงไปในลำคอ

หลักที่ ๓ การทำสมาธิ ผู้ฝึกหัดสมาธิมีอะไรเป็นหลัก ให้พิจารณาข้อเท็จจริงของการทำสมาธิ จะเห็นว่าการทำสมาธินี้มันเกี่ยวข้องถึงเรื่องตัวของเราเองทั้งนั้น เช่น พิจารณาว่า เราทำสมาธิทุกวันนี้ เพื่ออะไร ก็เพื่อหัดสละปล่อยวาง สละอะไร ก็สละสิ่งที่มาติดข้องมัวหมองอยู่ในจิตในใจของตนละซี เราจะต้องสละสิ่งเหล่านี้แหละ ต้องสละเปลื้องหมดทุกสิ่งทุกอย่าง หรือเรียกว่าจาคะ นี่คือหลักของ สมาธิ

เมื่อสละสิ่งมาข้องอยู่กับจิตกับใจแล้วลงปัจจุบันจึงจะเป็นสมาธิ อย่างที่ท่านอธิบายไว้ว่า ละ วิตก ละวิจาร ละปีติ ละสุข เป็นเอกัคคตา ที่เรียกว่า ฌานมีองค์ห้า ละก็คือสละนั่นเอง สละกับจาคะ ก็อันเดียวกัน เมื่อจาคะอารมณ์ที่มาติดข้องอยู่ในใจไปแล้ว จิตใจย่อมปลอดโปร่งผ่องใสสะอาดเป็น สมาธิ อันนี้ทุกคนทำได้แล้วต้องเห็นด้วยใจตนเอง ใครจะสละอะไรก็เห็นด้วยใจตนเองทั้งนั้น

ความโกรธ ความโลภ ความหลง ล้วนเป็นของเศร้าหมองทำใจให้มืดมิด ทำจิตใจให้ติดข้อง อยู่ในเรื่องนั้นไม่หายสักที คนที่ติดภพ ติดชาติ อยู่นาน ๆ ก็ติดอยู่ด้วยของเหล่านี้เอง การที่ติดภพ ติดชาติอยู่นาน ๆ มันเลยเป็นนิสัยให้ผูกพันกับของเหล่านี้แหละ

ฉะนั้น ในชาตินี้ ปัจจุบันนี้ เมื่อเรารู้สึกตัวแล้วจึงควรหัดละ หัดทิ้ง หัดถอน หัดปล่อยทอดธุระ ในสิ่งที่ไม่ดีเสีย ให้มันค่อยเบาบางลงไปบ้าง อย่างนี้จึงจะชื่อว่า หัดสมาธิ คือ หัดเพื่อละ สมาธิมีการละ มีการปล่อยวางเป็นหลัก

หลักที่ ๔ ปัญญา การที่พิจารณารอบรู้ในสิ่งต่าง ๆ จะรู้อะไรก็ตามแม้จะรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อยู่ ในขอบเขตของปัญญา ที่รู้สิ่งดีสิ่งชั่ว สิ่งหยาบละเอียด ก็อยู่ในขอบเขตของปัญญา เป็นปัญญาธรรมดา สามัญนี้เสียก่อน อย่าเพิ่งพูดถึงปัญญาขั้นสูงเลย ปัญญาที่เป็นฝ่ายโลกิยะ คือปัญญารู้จักทำมาหากิน โดยชอบประกอบกิจโดยสุจริต ไม่อิจฉาริษยาคนอื่น เป็นต้น ปัญญาที่เป็นฝ่ายธรรมะ นั้นคือ เมื่อ พิจารณาอะไรก็เป็นธรรมทั้งหมด เช่น ความโลภ หากพิจารณาให้เป็นธรรมแล้ว ความโลภมันก็ดี เหมือนกัน พิจารณาให้เห็นความโลภนี้แหละเป็นของดีมีประโยชน์ คือ ถ้ามันไม่โลภ เราก็ไม่มีโอกาส จะละความโลภ ความโกรธก็เหมือนกัน เพราะมีโกรธเราจึงมาหัดละความโกรธ ถ้าไม่มีโกรธเสียแล้ว จะเอาอะไรมาละ ความหลงก็เป็นของดีเช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีหลงก็ไม่ได้ละความหลง นี่แหละมันเป็น ธรรมอย่างนี้

ส่วนคนที่ไม่เห็นเป็นธรรม เวลามีโลภก็กลุ้มอกกลุ้มใจอยากจะได้ถ่ายเดียว ไม่มีทางปลด เปลื้องแก้ไขตนเองได้ เวลาโกรธก็เหมือนกัน ได้แต่กลุ้มอกกลุ้มใจด้วยความโกรธนั่นแหละ มันมืด มิดปิดหนทางไม่มีทางออก พิจารณาไปทางไหนปกปิดไปด้วยความโกรธทั้งนั้น ความหลงก็แบบเดียว กัน คนเราไม่เข้าใจว่านั่นเป็นธรรม เลยมีแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลงครอบงําอย่างเดียว อันนั้นเป็นโลกไม่เป็นธรรม

ครั้นถ้าพิจารณาจนเห็นโทษเห็นทุกข์ของมันแล้วนั่นแหละจึงค่อยเป็นธรรม เมื่อมันละได้แล้ว จะเห็นคุณค่าของเรื่องเหล่านั้น อันนี้เรียกว่า ปัญญา เป็นปัญญาสามัญในทางธรรม

ถ้าปัญญาสูงวิเศษขึ้นไปกว่านั้นก็เป็น ปัญญาวิปัสสนา ปัญญาชนิดนั้นมันเกิดเองเป็นเอง หรอก ใครจะสอนให้ใครจะแนะนำให้ก็ไม่ได้ สอนให้แต่ปัญญาขั้นต้นนี้แหละ เวลามันจะเกิด มันเกิด ขึ้นมาเองเวลาจิตใจปล่อยวางหมดทุกสิ่งทุกประการ แม้แต่ความคิดนึกในจิตใจที่อยากให้เป็นเช่นนั้น ก็ปล่อยวางหมด มันเกิดขึ้นมาในขณะนั้น เป็นความรู้ชัดขึ้นมา เห็นสิ่งทั้งปวงหมดในโลกเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพเดียวกันไปหมด อันนี้แหละเป็นที่สุดของโลก พระพุทธศาสนาสอนหมดแค่นั้น ใครจะภาวนาเห็นอะไรก็เห็นไปเถิด หากพอลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว มันก็หมดเรื่องเท่านั้นเอง

วันนี้อธิบายให้ฟังถึงเรื่อง หลักการทำความดี สรุปได้ว่า

ทำทาน ต้องมีหลัก คือ ศรัทธา เสียก่อน

รักษาศีล ก็มีหลัก คือ วิรัติเครื่องงดเว้น และ หิริ-โอตตัปปะ ความละอายบาป เกรงกลัว บาป เป็นเครื่องอยู่

ทำสมาธิ มีหลัก คือ จาคะ สละของที่มีในตัว คือ โลภ โกรธ หลง

ปัญญา ก็มีหลัก คือ ความรู้ความเข้าใจในการเห็นสิ่งทั้งปวงหมดเป็นธรรม รู้ผิดรู้ถูก รู้ดี รู้ชั่ว รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร แม้แต่ผู้จะทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิ ก็ต้องมีปัญญาเสียก่อนจึงทำได้

ปัญญาทางธรรม มี ๒ อย่าง อย่างแรกเป็น ปัญญาสามัญในทางธรรม เห็นโลกเป็นธรรม อย่างที่อธิบายมาแล้วว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นของที่ให้โทษให้ทุกข์แก่จิตใจ ก็เป็น ของดีเหมือนกัน ถ้าไม่มีโลภ โกรธ หลง ก็ไม่ได้ละโลภ โกรธ หลง

ปัญญาอีกอย่างหนึ่ง เป็นปัญญาที่สูงดีเด่นขึ้นไปกว่านั้นอีก เรียกว่า ปัญญาวิปัสสนา คือ เห็น สิ่งทั้งปวงหมดเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งเหล่านั้นเป็นของไร้สาระ เป็นโทษเป็นทุกข์เป็นภัย อันตรายแก่จิตใจ จึงปล่อยวางทอดธุระในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อันนี้เป็นปัญญาอันวิเศษสูงสุด เพราะ คนจะพ้นจากโลกได้ก็เพราะเห็นที่สุดของโลก คือ ได้แก่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง ไม่ใช่ เห็นโดยคิดคาดคะเนเอานะ ต้องเห็นแจ้งชัดด้วยใจของตนเอง สัมผัสด้วยใจของตนเองจริง ๆ ถ้าคิด นึกเอามันไม่ใช่วิปัสสนา มันเป็นวิปัสสนึก หมดความคิดนึกอันนั้นแล้วมันก็วกกลับคืนมาเล่นงาน เราอีก ถ้าเห็นแจ้งชัดด้วยใจของตนเองจริง ๆ ลงได้ถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ละได้หมดทุกสิ่ง ทุกอย่าง พระพุทธศาสนารวมยอดเข้ามาแค่นี้แหละ

เมื่ออกพรรษาแล้วต่างพากันแยกย้ายไปทำมาหากินตามหน้าที่ของตนทุก ๆ คน ให้พากัน จับหลักในการปฏิบัติธรรมให้ได้ อย่าให้เสียทีที่เรามาฝึกหัดปฏิบัติอบรมกัมมัฏฐาน ประเดี๋ยวเอาของ ไม่ดีไปเผยแพร่ก็ขายขี้หน้าตัวเอง คนทั้งหลายทั้งปวงต่างก็อยากได้ของดี พากันมาหาของดีอย่างที่ อธิบายมานี้ พอออกพรรษาแล้วกลับไปบ้าน เอาของดีนี้ไปฝากพี่ฝากน้อง ฝากเพื่อนฝูงญาติมิตร หมู่เพื่อนเห็นเข้าก็น่านิยมนับถือ อันนั้นเป็นการดีมาก ได้ชื่อว่าพวกเรารับเอาของดีไป นำของดี ๆ ไป ฝากเขา หมู่เพื่อนก็เลยพลอยดีไปตามด้วย

ทีนี้ถ้าหากเก็บเอาของไม่ดีไป ของไม่ดีก็คือของที่เขาสละละทิ้งแล้ว เรามาเก็บเอาใส่ถุงใส่ห่อ เต็มแล้วก็กลับบ้าน พอไปเปิดดูที่บ้านก็ไม่มีของดีอะไรเลย มีแต่ขยะที่เขาทิ้งแล้วทั้งนั้น ของขี้ขยะนั้น เปรียบได้กับเศษกระดาษและของเขาทิ้งแล้ว เปลือกผลไม้ต่าง ๆ เศษต่าง ๆ ใช้อะไรไม่ได้ทั้งนั้น เราเลยเก็บเอาใส่พกใส่ห่อไป อุปมาได้กับการปฏิบัติที่ไม่มีอะไรเป็นหลักเป็นเครื่องยึดถือที่ถูกต้อง มาปฏิบัติก็เสียเวลาเปล่า ๆ

ฉะนั้น อย่าให้มันเสียประโยชน์ในการที่ได้เกิดมามีชีวิต มีโอกาสฝึกฝนอบรมปฏิบัติธรรม จง ทำตนของตนให้มีประโยชน์มีคุณค่า จงสอนจงอบรมตนให้เข้าใจถึงเรื่องตัวของเรา ที่เรามาอยู่จะต้อง เอาอะไรไปบ้าง เลือกเอาสิ่งที่ดีมีคุณค่าที่ควรจะติดไม้ติดมือไป อย่าไปเอาของเศษ ๆ ของเลอะเทอะ พวกนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย หมู่เพื่อนเขามาละความโกรธ ความโลภ ความหลง สิ่งที่เขาทิ้งแล้ว เอาไปเป็นสมบัติของตน ไม่ดีเลย เอวํ.

นั่งสมาธิ

ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน

วันนี้เป็นวันสุดท้ายแห่งวันอยู่พรรษาแล้ว เราต้องนั่งสมาธิภาวนาเพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย อันความเจ็บปวดทั้งหลาย ปวดขา ปวดเอว เจ็บหลัง เจ็บในที่ต่าง ๆ บูชาหมด อย่าให้เป็นของตัว ความขี้เกียจขี้คร้าน ความเหน็ดเหนื่อย สัญญาอารมณ์ที่แผ้วพานในจิตในใจของตน ๆ ทำให้กระวน กระวายอยู่นั้น วันนี้ต้องสละให้หมดสิ้น เพราะเป็นวันสุดท้ายที่ได้มาจำพรรษา จะต้องบูชา ถ้าไม่บูชา วันนี้มันจะติดตามตัวเราไป แล้วก็ออกแม่ออกลูก แพร่ลูกขยายกว้างขวางออกไปอีก เหตุนั้นจึงตั้งใจ ทำการบูชาพระรัตนตรัยเสียให้หมดสิ้น

การทำสมาธิมีหลักอย่างที่อธิบายมาแล้วข้างต้น คือ การสละปล่อยวางทุกสิ่งทุกประการใน ขณะที่นั่งภาวนา ไม่เสียประโยชน์อะไรเลย สิ่งที่มีมันก็มีอยู่อย่างนั้นแหละ ทรัพย์สินสิ่งของเงินทอง บ้านเรือนมันไม่ได้หายไปไหนในเวลาที่เรานั่ง แต่เรายอมสละโดยไม่ต้องไปคิดห่วงกังวลด้วยของ พรรค์นั้น

การภาวนาเบื้องต้น เราต้องเอาคำบริกรรมเป็นหลัก จะเอาพุทโธหรืออานาปานสติก็ได้ ให้ เลือกเอาอันเดียว ถ้าไม่มีคำบริกรรมก็ไม่ทราบว่าจิตจะไปอยู่ได้อย่างไร เพราะจิตไม่มีตนมีตัว มันต้อง มีคำบริกรรม มันจึงจะมีเครื่องอยู่ ครั้นเอาคำบริกรรมมาตั้งไว้ จิตก็ไปยึดเอาคำบริกรรมนั้น จิตมันก็ จดจ้องในสิ่งนั้น จิตไม่มีหลายอย่างหลายอัน จิตมีอันเดียว ถึงจดจ้องอยู่เช่นนั้นแล้วมันไม่กังวลถึง เรื่องอื่นไกล มันนิ่งแน่วอยู่อันเดียว พอสละปล่อยวางความคิดอ่านแล้ว ยังแต่จิตอันเดียว มันก็เป็น สมาธิเท่านั้นเอง พากันมาฝึกหัดปฏิบัติก็ต้องการให้เป็นสมาธิทั้งนั้น

เมื่อเป็นสมาธิแล้ว คราวนี้ ให้รักษาสมาธินั้นไว้ให้ชำนาญ จะรักษาได้นานเท่าใด จะเป็นปีหรือ เป็นสิบ ๆ ปีก็ให้รักษาไว้เสียก่อน อย่าไปอยากรู้อยากเห็นอะไรอื่น ถ้าไปอยาก สมาธิมันไม่ชำนาญ มันกลับมาวุ่นวายอีกเหมือนเดิม มันกลับเป็นหลายอย่างหลายจิตหลายใจไปอีกแล้ว มันก็ไม่เป็น สมาธิ

ผู้จะฝึกหัดสมาธิต้องรู้จักจิตของตนเสียก่อน จิต คือ ผู้คิดผู้นึกส่งส่ายไปมาแต่ไหนแต่ไร มาแล้ว ถ้าไม่เห็นโทษเห็นทุกข์ของการคิดนึกส่งส่าย จึงไม่เข้าถึงสมาธิสักที เราฝึกหัดต้องการจะให้ เป็นสมาธิ เหตุนั้นจึงพิจารณาให้เห็นโทษในการที่จิตส่งส่ายวุ่นวาย เบื่อหน่ายจึงยอมสละ ยังเหลือแต่ ตัวจิตอันเดียวเท่านั้น เรารู้ว่าจิตคือผู้คิดผู้นึก แต่อย่าไปเอาการคิดนึกมาเป็นอารมณ์ ให้จับผู้ที่คิด ผู้ที่นึก ผู้มันส่งส่ายนั้น เมื่อจับเอาผู้นั้นแล้วจะหยุดส่งส่าย มันจะรวมเข้ามาเป็น ใจ คือ ผู้รู้ จิต กับ ใจ มันต่างกันอย่างนี้ จิต คือ ผู้คิดผู้นึก ผู้ส่งส่ายปรุงแต่ง ครั้นไม่คิดไม่นึก ไม่ส่งส่ายอยู่เฉย ๆ แล้วก็เป็น ใจ ใจ คือ ผู้รู้ นั่นแหละจึงจะเป็นสมาธิได้

ถ้าเราจะสังเกตให้รู้ตัว ใจ ต้องทำอย่างนี้คือ กลั้นลมหายใจสักพักหนึ่ง ขณะกลั้นลมหายใจ ความคิดนึกไม่มีหรอก มันเฉยทีเดียว แต่รู้จักว่าเฉย ๆ อยู่ ผู้เฉย ๆ นั่นแหละเป็นตัว ใจ นั่นเป็นข้อ สังเกตที่จับตัว ใจ เมื่อทดสอบได้อย่างนี้แล้ว ครั้นระบายลมหายใจออกไป มันก็ฟุ้งซ่านส่งส่ายไป ตามเรื่อง มันก็กลับเป็น จิต ใจ ก็คือผู้เป็นกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว สมมติว่าดีเป็นทางซ้าย ชั่วเป็นทางขวา ใจ ก็ตกอยู่ตรงกลาง คือ ผู้อยู่กลาง ๆ นั่นแหละคือ ใจแท้ สิ่งทั้งปวงที่เป็นกลางเขาเรียกว่า ใจ เช่น ใจมือ ใจไม้ ใจคน ก็ชี้ท่ามกลางอก ถ้าจะรู้ ใจ ต้องเข้าใจอย่างนี้จึงจะค้นหา ใจ ได้ถูก

เราฝึกหัดปฏิบัติภาวนากัมมัฏฐานก็เพราะต้องการอบรมจิต (ไม่ต้องการอบรมใจ) ด้วยการตั้ง สติควบคุมจิตอันนี้แหละ จะยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดก็ดี เราดูจิตมันจะคิดนึกส่งส่ายก็เห็นอยู่ จะเป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็เอาเถิด มันก็เป็นสมาธิอยู่ในตัวแล้ว

การฝึกหัดอบรมภาวนามีเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรมาก ต้องการให้เห็นจิตเท่านั้น มันจะไปไหน ก็ตาม มันจะเข้าจะออก จะหยุดจะนิ่งอะไรต่าง ๆ เราเห็นตัวมันอยู่ตลอดเวลา ครั้นเราเห็นมันอยู่อย่าง นั้นแล้ว จิตมันหากมีโอกาสเวลาหนึ่ง มันจะรวมมาเป็นใจ อย่างที่อธิบายให้ฟังมาแล้ว ที่มันมารวมลง นั้นก็ไม่รู้สึกว่าอยู่ที่ไหนหรอก แม้แต่ความคิดว่าเราอยากรวมหรือไม่ก็ไม่มี มันมีความรู้สึกเฉพาะตัว เฉยอยู่ไม่ได้คิดนึก ตัวนั้นแหละที่ผู้ฝึกหัดสมาธิต้องการ เอาละภาวนาหาใจกันเถอะ.



++++++++++++++++++++++++++++++++++++