PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระธรรมเทศนา พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก)



**wan**
11-05-2008, 05:04 PM
http://www.phrabat.com/Gallery/kruba/image006.jpg


พระธรรมเทศนา
พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก)
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

ข้อมูลจาก http://www.firstbuddha.com/Buddha/teach18.html


ถ้าจะว่าตามขั้นสมมติธรรมแล้ว คำว่า ตัวของเราก็ได้แก่ ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาผสมกัน ทั้งอากาศ ธาตุ และ วิญญาณธาตุ มีตัณหา อุปาทาน เข้ามายึดถือ ให้เกิดความสำคัญ มั่นหมาย และ บังคับให้เป็นไป มีประการต่าง ๆ ตามอำนาจของกิเลส อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ จนไม่มีที่สิ้นสุด

เป็นที่เราควรคิด แต่เดิมนั้น เราไม่ได้ยึดถือ ไม่ได้ติดข้อง อยู่ในสิ่งใดเลยสักอย่าง เดี๋ยวนี้เรายึดถือให้เกิด ความสำคัญมั่น หมาย และบังคับให้เป็นไปมีประการต่างๆ ตามอำนาจของกิเลส อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ จนไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสิ่งที่เราควรคิด ต่อไป
เราควรแก้ไข โดยอุบาย ที่ไม่ยึดถือ และไม่ติดข้อง อยู่ในสิ่งทั้งหลายหมด ทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเป็นการถูกต้อง ควรพิจารณาให้รู้ให้เห็น ตามที่จริง ความจริง ตามชั้นปรมัตถธรรมแล้ว ตัวเราไม่มี มีแค่รูปกับนาม เท่านั้น

ไม่ใช่ สัตว์ บุคคลตัวตน เรา เขา เป็นของว่างเปล่า ไม่ยึดมั่น ด้วยอุปทาน ก็จะได้กระทำ สิ่งที่สุดแห่งทุกข์ อันเป็นจุดหมาย ปลายทางของชีวิตโดยแท้

ผู้ปรารถนา จะเข้าสู่นิพพานอย่างแท้จริง ต้องสละละความอาลัยในโลก และสิ่งของสำหรับโลกนี้เสีย

เตรียมตัวพร้อม ยอมเป็นคนยากจน ไม่ต้องหวังพึ่งเพื่อนฝูง และญาติ พี่น้องผู้ใด คือ ให้สงัดกาย สงัดใจ วิเวกธรรม อดทน ต่อความ ติฉินนินทา ความเกลียดชัง และ ความหมิ่นประมาทของผู้อื่น อดทนต่อทุกข์ ภัยอันตรายต่าง ๆ ที่มาถึงตน แม้จะ ต้องเสียชีวิตก็ยอมสละเพื่อเห็นแก่ธรรม อุตส่าห์กระทำตามรีตรอย แห่งพระอริยะเจ้าทั้งหลาย ที่ปฏิบัติสืบสายกันมาแต่ปางก่อน โดยไม่ท้อถอย จึงเป็นการถูกชอบ และสมความมุ่งมาดปรารถนา

การอยู่ในโลกนี้ ให้เข้าเหมือนอยู่ในกองไฟ และเหมือนอยู่ในคุกตะราง ให้เร่งรีบแสวงหาทางออกเสมอ

อย่าได้นิ่งนอนใจ และหลงยินดีเพลิดเพลินอยู่ จงถือเอาศรัทธา ความเชื่อ เป็นทางเดินแห่งวิถีจิต

เอาสติ คือ ความระลึกรู้สึกตัว พร้อมเป็นเพื่อนพ้องเดินทาง

เอาวิริยะ คือ ความเพียรพยายามเป็นกำลังกาย

เอาขันติ ความอดทนเป็นอาวุธสำหรับป้องกันอันตราย

เอาปัญญา ความรอบรู้เป็นประทีปส่องทางไป

แล้วรีบเร่งเดินอย่าแวะซ้ายแวะขวา อย่าหยุดพักอยู่ในที่ใด ๆ ก็จะได้ถึงซึ่งที่สุดแห่งขันธ์โลกคือ พระนิพพานดังที่พระพุทธ องค์ทรงตรัสว่า

" ชีวิตเป็นของน้อย ถูกชรารุกรานเงียบๆ อยู่เสมอ รุกรานไปสู่ความตาย ไม่มีอะไรต้านทานไว้ได้ ถ้าใครเพ่งเห็นภาวะที่น่ากลัวอันนั้น ในความตาย แล้วพึงรีบคืนคลาย ละโลกาสพอใจในนิพพาน "

ซึ่งเป็นถ้อยคำที่สูงและมีคุณค่ายิ่ง พุทธบริษัทผู้หวังปฏิบัติต่อโลกุตรธรรมพึงจำใส่ใจ แล้วพิจารณาคืนคลายละเสียซึ่งความสุข ความสนุกเพลิดเพลินในกามารมณ์ อันเป็นเหยื่อล่อของโลก แล้วตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติ ตามองค์แห่ง อัฏฐังคิกมรรค มี องค์ 8 ซึ่งย่อ เข้ามาได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดมีขึ้น ในสันดาน ก็จะได้ เป็นปัจจัยแก่ มรรคผล นิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายของผู้ปฏิบัติธรรมโดยแท้

"ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร พึงเจริญสมาธิ ให้เกิดมีขึ้นในสันดาน เมื่อจิตตั้งมั่น เป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง" ฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรม พึงบังเกิดศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และในสมาธิภาวนา พยายามหาโอกาสเวลาสละกิจการน้อยใหญ่ เข้าสู่ที่สงัด หรือห้องพระนั่งขัดสมาธิ หรือ พับเพียบ ตามควรแก่ภาวะของตน น้อมจิต เอากรรมฐาน บทใดบทหนึ่งเป็นอารมณ์ ตั้งสติคอยกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ไปช้า ๆ อย่ารีบด่วน ให้ทำด้วยใจเย็นๆ หายใจ เข้าออก ให้สม่ำเสมอ ให้ละเอียด อ่อนโยน

เพราะการภาวนาเป็นงานของจิตโดยเฉพาะ ค่อยรวมกำลังจิตดิ่งลงสู่จุดของอารมณ์กรรมฐานพร้อมกับให้มีสัมปชัญญะความรู้ตัว พิจารณาอารมณ์กรรมฐาน ให้เห็นประจักษ์แจ้งชัดขึ้นในใจ ค่อยกำหนดไปๆ ด้วยความวิริยะอุตสาหะและอดกลั้นบรรเทา ได้นานเท่าไร่ก็ยิ่งดี (ระวังอย่าง่วงนอนเป็นอันขาด) นานเข้าจิตก็จะติดแนบแน่น กับอารมณ์กรรมฐาน

ต่อจากนั้น ปิติ คือ ความอิ่มใจ ปราโมทย์ คือ ความร่าเริงบันเทิงใจ ก็จะเกิดขึ้น นามกายก็จะสงบระงับ ความสุขกายสุขใจ ก็จะเกิดขึ้น นามกาย ก็จะสงบระงับ ความสุขสุขใจ ก็จะเกิดขึ้น จะรู้สึกสบาย และ เยือกเย็น จากนั้นสมาธิ อันประกอบด้วย องค์ 3 คือ จิตบริสุทธิ์สะอาด จิตตั้งมั่น จิตคล่องแคล่ว ควรแก่การพิจารณา สภาวะธรรมที่จะเกิดขึ้น

อันดับต่อไป ก็ควรแก่การพิจารณา สภาวะธรรมคือ รูปนาม หรือขันธ์ 5 ให้รู้ตามความเป็นจริง โดยการเจริญ วิปัสสนาภาวนา ตามนัยแห่งสติปัฏฐาน 4

คือ ให้พิจารณาว่า กาย เวทนา จิต และ ธรรมนี้ ก็สักว่า เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตนของ เรา เขาเป็นของไม่จีรังยั่งยืน ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน เป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่เราไม่ ใช่ของเรา พิจารณา กำหนดไปๆ นานต่อนาน จนกว่าจิตใจ จะหลุดพ้น จากความเกาะเกี่ยวเหนียวแน่นจากกิเลส ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ ด้วยวิปัสสนาภาวนา เป็นอันดี ผู้ปฏิบัติธรรมถึงขั้นนี้เรียกว่า เป็นแก่นสาร ปิดประตูอบายภูมิทั้ง 4 มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เที่ยงแท้แน่นอน

การที่ พระพุทธศาสนา ทรงไว้ซึ่งความประเสริฐ ยิ่งกว่าศาสนาอื่นใด ในโลกทั้งหมด ก็เพราะ "วิปัสสนา ภาวนา" นี่แหละ เป็นแก่นแท้ และเป็นหลักใหญ่ บุคคลผู้ใดยังเข้าไม่ถึง คือยังไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา แล้วจะมาเข้าใจว่าตนเข้าถึงแก่น แห่งธรรม ว่าตนมีความรู้ซาบซึ้ง ในคำสอนของพระพุทธศาสนา อย่างถูกต้อง บุคคลผู้นั้นจะมาเข้าใจเอาเองอย่างนี้ยังใช้ไม่ได้เป็นอันขาด

การที่ วิปัสสนาภาวนา เป็นของผู้ประเสริฐ เป็นของวิเศษและสูงสุดนั้น ก็เพราะเป็นหลักปฏิบัติ ที่สามารถจะนำสัตว์ออก จากทุกข์ในวัฏฏสงสาร ได้โดยแท้จริง

ดังนั้นทาง ที่เป็นทางเอก ระงับดับทุกข์ เป็นทางให้ถึง ซึ่งพระนิพพาน ก็คือ "สติปัฏฐาน 4" นั้นเอง อันได้แก่ ความกำหนด พิจารณา เห็นกายของตน อันเป็นไป ในอิริยาบถ ทั้ง 4 คือ การเดิน ยืน นั่ง นอน การกำหนดพิจารณาเห็นเวทนา คือความ รู้สึกว่า เป็นสุข เป็นทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์ภายในตน กำหนด พิจารณา เห็นจิต คือ สิ่งที่ให้สำเร็จ ความนึก ความคิด และ สะสมอารมณ์ต่าง ๆ ไว้ กำหนดพิจารณา เห็นธรรมทั้งหลาย เป็นกุศล และ อกุศล ตลอดถึง นามรูปว่า สิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงนี้ เพียงแต่ เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต และ เป็นธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เราเขาเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และ ดับไปในที่สุด จนเกิด ความเบื่อ หน่าย คลายความกำหนัด กำจัดอวิชชา และโทมนัส คือ ความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ โดยอาศัยความเพียร อาศัยสติและสัมปชัญญะเป็นหลักใหญ่และสำคัญ ทำให้สามารถ แยกรูปและนาม ออกจากกันได้ โดยเด็ดขาด

เมื่อตั้งสติกำหนด พิจารณาต่อไปก็ไม่เห็นมีอะไร เห็นมีแต่รูปกับนามเท่านั้น

คำต่างๆ ที่ใช้ เรียกกัน เช่น บุคคล ตัวตน เราเขา เทวดา อินทร์ พรหม ยมยักษ์นั้น ความจริงก็ถูกตามขั้น ของสมติบัญญัติ ตามภาษาของตน แต่เมื่อพิจารณา ภาษาของปรมัตถ์ธรรมแล้ว ก็มีแต่ รูปกับนาม นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไร

ซึ่งแต่ก่อนที่ยังไม่ได้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เราย่อมไม่สามารถจะแยกรูปกับนามออกจากกันได้โดยเด็ดขาดเพราะถูก โมหะ และอวิชชาความหลง ปกปิดห่อหุ้มไว้ รูปนามซึ่งเป็นของที่มีอยู่ในตนแท้ๆ จึงยังไม่ปรากฏให้เห็น พึ่งมาปรากฏ เมื่อ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน และเมื่อผู้ปฏิบัติเห็นรูปนามตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะค้นหาสมุฏฐานของรูปนามว่า มีความเป็น มาอย่างไร จึงได้เป็นรูปนาม ดังที่ได้เป็นอยู่บัดนี้ เมื่อเป็นประการนี้แล้ว

การบริกรรมภาวนา ต้องทำให้ติดต่อกัน ทำแล้วทำอีกๆ แต่ว่าอย่าได้ปรารถนาอะไร ตอนที่วิปัสสนา ต้องพยายามปล่อยวาง การยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกู ของกู อะไรของกู ออกจากจิต จากใจ

ต้องปล่อยวาง ทำไปเรื่อย ๆ ติดต่อกันหนักเข้า ๆ จิตใจของเรา มันจะเชื่อง คุ้นเคยต่ออารมณ์กรรมฐาน สติของเรา ก็จะแก่กล้าขึ้น เราจะผูกมัดจิต ของเราได้ดี ความเพียรของเรา ก็จะแก่ขึ้นๆ สติของเรา ก็จะแก่ขึ้นทุกวัน ๆ เมื่อจิตของเราสูงขึ้น บริสุทธิ์ สะอาดขึ้น ตั้งมั่นดีแล้ว มันจะไม่นึกไม่คิดอะไร จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่นึกถึงอะไร ไม่นึกถึงใคร ไม่อาลัย แม้แต่ตัวเราเอง

จนถึงที่สุด จิตของเราจะมีแต่ความสุขใจ มีแต่อุเบกขา เอกัคคตา (ความเป็นอารมณ์เดียว) เป็นจิตที่สูงยิ่ง เป็นบาทของมรรคผลนิพพาน

การปฏิบัติต้องเอาจริงเอาจัง แม้แต่ชีวิตของเราก็ยอมเสียสละเอาชีวิตแลกซึ่งมรรคผลนิพพานทำไปๆจนจิตสะอาดบริสุทธิ์ ขึ้น ตั้งต้นด้วยบริกรรมภาวนาว่า คำของมันท่องคำของมัน มันไปจนจิตของเราตั้งมั่น เป็นสมาธิชั่วครั้งชั่วคราวจนหนักเข้า จิตของเราจะบริสุทธิ์สะอาดยิ่งขึ้น แนบแน่นไม่หวั่นไหวจะยุให้มันไปจะบังคับให้มันไปก็ไม่ได้ จิตมั่นสมาธิเป็นจิตที่บริสุทธิ์ สะอาด เรียกว่า จิตตั้งอยู่ในองค์ฌาน คือ มีแต่อุเบกขา กับเอกัคคตา คือ ความเฉย จิตเป็นหนึ่งอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ต่อ ไปจิตของเรา จะครองอยู่ในองค์ธรรม องค์ของธรรมจะทำให้เกิด ความรู้แจ้ง เห็นจริงในรูปในนามของเรา ซึ่งเรียกว่า " วิปัสสนาญาณ "

รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม แยกออกจากกัน ได้อย่างเด็ดขาด รูปก็อย่างหนึ่ง นามก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่อัน เดียวกัน

สูงขึ้นๆ จนถึงอุเบกขา คือ สังขารรูป สังขารอุเบกขาญาณ การวางเฉยจากสังขาร ไม่มีความยึดมั่น ถือมั่น ว่าตัวกู ของกูว่า สวยงามว่า ผู้หญิงผู้ชาย อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ได้ยึดถือ ใจสูงขึ้นพ้นจากความยึด ใจบริสุทธิ์ใจเป็นสุขที่สุด มีแต่ความ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มันสว่างไสวไปหมดแล้ว จะรู้สึกคล้ายกับไม่มีเรา รูปมีที่ใด นามมีที่ใด อะไรที่ไหนที่เกี่ยวกับกรรมฐาน จะปรากฏแจ้งชัดขึ้น ในจิตของเรา แล้วจิตของ เราจะหายตื่น หายอยาก หายจากความยึดมั่นถือมั่น ในรูปนาม เป็นสิ่งที่อยู่ เหนืออารมณ์ทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะรู้สึกสบายใจ เราไม่ตกเป็นข้าทาสของอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น เราไม่รักใคร เราไม่ ชังใคร เราเฉยจากทุกอย่าง จิตของเราจะเป็นอิสระ จะไม่มีโมโห อะไรกับเขา เป็นจิตที่เป็นแก่น เป็นสาร เป็นจิตที่ เราจะ หาไม่ได้ในภพที่เราเกิดในชาติที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราได้อบรมฝึกฝนจิตของเราดีแล้วจิตของเราจะเป็นจิตที่ประเสริฐ เป็นหลัก คือ ที่พึ่งของเราตั้งแต่ปัจจุบัน ช่วงที่เราหายใจนี้เป็นต้นไป เราพึ่งตนเองได้ในที่สุด เมื่อเราตายลงไปก็มีสุคติเป็น ที่ไปเที่ยงแท้แน่นอน

สรุปในหลักปฏิบัติ ก็คือ หนทางที่จะดับทุกข์ได้มีทางเดียวเท่านั้น คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งก็คือ กรรมฐาน ที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้ง เห็นจริงในสภาวธรรม คือ รูปนาม

รูป ก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ คือ ช่องว่างของตัวเรานี้ ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า รูป คือเป็นสิ่งที่ รู้แตก รู้ดับ รู้สลาย ส่วนนาม นั้น ได้แก่ เวทนาอันเดียวกับจิต ได้แก่ ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุข ไม่ทุกข์ เรียกว่า เวทนา

สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ ตาเห็นอะไร หูเราได้ยิน เสียงอะไรมา เราก็จำไว้

สังขาร คือ ความปรุงแต่งของจิต เป็นทางบุญก็มี เป็นทางบาปก็มี มิใช่บุญ มิใช่บาปก็มี จิตปรุงขึ้นต่างๆ

วิญญาณ ก็คือ ความรู้แจ้งในอารมณ์ทั้ง 6

รูป และ นาม ทั้ง 2 ประการนี้ มาอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วก็ให้เป็นไป เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า " ขันธ์ 5 " ที่ประกอบด้วย รูปกับนาม ดังที่กล่าวแล้ว ถ้าพิจารณาแล้ว ทั้ง 5 ประการนี้เป็นสิ่งที่ เกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ หรือ แปรปรวนไปในท่ามกลาง แตกสลายไปในอวสานกาลเป็นที่สุด ไม่จีรังยั่งยืน วิปัสสนาญาณกรรมฐานที่จะใช้ ในการปฏิบัติก็ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 อันมี

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี้ก็ให้เอาสติไปกำหนดที่กายหรือรูป เป็นอารมณ์ รูปได้แก่ตัวของเราทั้งหมด ให้กำหนดในอิริ ยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน ซึ่งมีทั้งอิริยาบถใหญ่ และอิริยาบถย่อย ให้เอาสติไปกำหนดตลอดจนถึงลมหายใจเข้า ออก ซึ่งก็เป็นกายหรือเป็นรูป นี่เป็นเรื่องของการกำหนด กำหนดไปๆ ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจขึ้นว่า กายนี้สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เป็นการ ตามรู้ ตามเห็น เรื่องกายของตนเอง และกายของผู้อื่น

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้เอาสติไปกำหนดเรื่องเวทนาขณะเมื่อเป็นสุขก็ให้กำหนดรู้ว่าสุข เป็นทุกข์ก็ให้รู้เป็นความไม่สุข ไม่ทุกข์ก็ให้รู้ เอาสติติดตามดังนี้ ให้เกิดความรู้ ความเห็นขึ้นว่า เวทนานี้ก็สักแต่ว่า เวทนาเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวเราเขา

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้กำหนดถึง เรื่องจิต สิ่งที่ให้สำเร็จ ความนึกคิด สิ่งที่สะสมอารมณ์ ให้มีทั้งดีก็มี ไม่ดีก็มี แต่ ที่นี้ท่านให้กำหนดเฉพาะกิริยาของจิตที่มันเคลื่อนไหวไป มันอยู่ในร่องในรอย ขณะเมื่อกำหนด ก็ให้เอาสติติดตาม จนกว่า จะเกิดความรู้ความเห็นขึ้นว่า จิตนี้สักแต่ว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวเรา เขา

ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน ให้กำหนดถึงรูปธรรม คำว่า ธรรมะ ที่มีความกว้างเป็นที่สุดครอบไปทั้งโลก อะไรๆก็เป็นธรรมะ ทั้งนั้น แยกออกไปดังกล่าว เป็นชิ้นเป็นอัน ออกไปรวมกันเข้าก็เป็นธรรมะ ไม่ใช่บาป ไม่ใช่บุญ ก็เป็นธรรมะทั้งนั้น รูป ก็เป็นธรรมะ ไม่ใช่บาป ไม่ใช่บุญ ก็เป็นธรรมะทั้งนั้น รูปก็เป็น ธรรมะ นาม ก็เป็นธรรมะ

แต่ที่ท่านจำกัดเอาว่า ขณะเมื่อจิตของเรา มันแสดงออก ซึ่งความนึกคิด ไปในทางบาปหรือทางบุญก็ตาม ก็ให้กำหนดรู้ให้ มีสติ ไปกำหนดจิตของเรา ให้กลับตื่นมาสู่ อารมณ์ของกรรมฐาน แม้แต่จิตคิดเฉยๆ ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่งก็เช่นกัน

เมื่อรู้ที่มาของทุกข์และวิธีปฏิบัติ เพื่อดับทุกข์พอสังเขปแล้ว เราก็จะเข้าใจในที่สุดว่า ต้นปลายเหตุ แห่งชีวิตของเรา เราจะ ศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจ ซึ่งจิตใจของเรา ว่าเป็นมาอย่างไร เป็นมาไม่ดีเป็นทุกข์ทั้งนั้น

เป็นทุกข์เพราะเหตุใด ก็เพราะ ตัณหา คือ ความอยาก ความอยากนี้ มันเกิดมาจากที่ไหน ก็เกิดมา อวิชชา คือ ความไม่รู้ อวิชชา ก็ดี ตัณหา ก็ดี มาปัจจุบัน ทันด่วนนี้ ที่เราเห็นได้ใกล้ที่สุด เห็นต่อหน้าต่อตา ก็เกิดมาจาก อายตนะภายในและภายนอก มาติดต่อกัน แล้วทำให้เกิดความรักความชังอะไร ๆ ขึ้นมาสารพัดอย่าง ซึ่งเป็น สิ่งที่นำมาซึ่ง ความทุกข์ ความลำบากยากเข็ญแก่ชีวิตจิตใจของเรา เป็นอย่างนี้มาเรื่อย ๆ

เดี๋ยวนี้เรารู้สึกตัวแล้ว ทุกท่านจงพยายามแก้ไขความทุกข์ การที่จะแก้ไขความทุกข์ ก็ต้องแก้ที่สาเหตุ ของความทุกข์เสียก่อน นั้นคือ ความอยาก ให้มันเบาบาง ถึงกับจางหายไป จากจิตใจของเราเป็นที่สุด ให้เป็นผู้มีสติ ให้ เป็นผู้มีปัญญา ที่จะสามารถต้านทาน หรือป้องกันอารมณ์ที่ไม่ดี ที่จะมาครอบงำจิตใจของเราและเป็นเหตุ เป็นปัจจัยอย่าง ที่กล่าวแล้วว่า เราสร้างดวงประทีป เพื่อให้ได้ กำจัดเสียซึ่งความมืดที่อยู่ภายในจิตใจของเรา คือ อวิชชา ความมืดบอด ให้มันจางหายไป จากจิตใจของเรา

เมื่อเราสร้าง สติปัญญาของเรา ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา แล้วสติปัญญานี้ จะมากำจัดเสีย ซึ่งกระแสแห่งความอยาก คือ ตัณหา และความมืดบอด ที่ปิดบังสติปัญญาของเรา ไว้มิให้เห็นซึ่งมรรคผลนิพพานให้มัน สว่างไสวขึ้นในจิตใจของเรา ต่อ ไปเราก็จะได้อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยการที่เราได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถึงแม้ว่า สติปัญญาของเรา ยังไม่ถึงสุดยอด คือ สติปัญญาของเรายังอ่อนอยู่ ก็ไม่เสียทีที่เราได้ประพฤติปฏิบัติแล้ว สติปัญญาของเราก็จะเป็นตัวเหตุ ตัวปัจจัย ส่งเสริมไปให้ ได้สติปัญญาที่แก่กล้าขึ้น ในวันข้างหน้า ไม่วันใดวันหนึ่งเที่ยงแท้แน่นอนไม่ต้องสงสัย



คัดจากหนังสือ ตอบปัญหาศีล สมาธิ ปัญญา
และหนังสืออนุสรณ์ ในงานพระราชทาน เพลิงศพ พระสุพรหมยานเถร วัดพุทธบาทตากผ้า