PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ปรารภความเพียร พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ



**wan**
11-12-2008, 09:21 AM
http://www.eamulet.com/shop/p/pomja/img-lib/spd_20060730154147_b.jpg

ปรารภความเพียร

พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 006179
โดยคุณคุณ : mayrin [ 28 ส.ค. 2545]

เนื้อความ :

ในจำนวนพระภิกษุที่ได้น้อมนำเอาคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นไปประพฤติปฏิบัติ และน้อมนำเอาแบบฉบับของท่านพระอาจารย์มั่นมายึดถือว่าเป็นครูบาอาจารย์นั้น ก็มี พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ รูปหนึ่ง

ในการปฏิบัติของท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ นั้น ท่านได้ผ่านความลำบาก ในสถานที่อันทุรกันดารเป็นอย่างมาก หลายต่อหลายแห่งด้วยกันที่ท่านพระอาจารย์จวน ท่านได้ธุดงค์เดินผ่านไป หลายต่อหลายแห่งที่ท่านได้ไปพำนักอาศัยเพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนา ไม่ว่าจะเป็นป่าหรือบนเขาสูงก็ตามที ล้วนเป็นสถานที่อันทุรกันดารทั้งสิ้น

สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันถึงสภาวะจิตใจแห่งความเข้มแข็งกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของท่านได้เป็นอย่างดีและนอกจากนั้นแล้วจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีสภาพจิตอันอยู่ได้ด้วยความสันโดษและสมถะเท่านั้นจึงจะไปพำนักอาศัยอยู่ในสถานที่เช่นนั้นได้...

.หลังจากที่ท่านอาจารย์จวนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วก็ได้หัดท่องปาฏิโมกข์และเจ็ดตำนาน ท่านได้เพียรพยายามท่องจำไปทั้งกลางวันกลางคืนจนกระทั่ง ๑ เดือนผ่านไป ท่านก็สามารถท่องได้และจำได้อย่างแม่นยำ

ในระหว่างนั้นท่านพระอาจารย์จวนได้เร่งทำความเพียรอย่างขะมักเขม้น ทั้งเดินจงกรมและนั่งสมาธิ ส่วนการฉันนั้นบางวันท่านก็ไม่ฉัน บางวันท่านก็ฉันเพียงนิดเดียวสลับกันไป ท่านพระอาจารย์เกิ่งได้สังเกตเห็นว่าพระอาจารย์จวนออกจะซูบผอมไปมาก จึงตักเตือนให้ฉันอาหารเสียบ้าง

อยู่ต่อมาจนถึงวันเข้าพรรษาก็ปรากฏว่าที่ วัดป่าบ้านพอก หนองคอนทั้ง อำเภอเลิงนกทา ไม่มีพระที่จะสวดปาฏิโมกข์ได้ พระอาจารย์ยังได้ขอตัวพระอาจารย์จวนไปอยู่ที่วัดป่าบ้านพอก

และในพรรษานั้นโยมแม่ของท่านพระอาจารย์จวน ได้มาบวชเป็นชีอยู่ด้วย ได้อธิษฐานฉันเจ ไม่ฉันเนื้อสัตว์อดอาหารถึง ๔ วัน สลับกับการอดนอน ๔ คืนบ้าง บางวันก็อดอาหาร ๘ วันแล้วสลับกับการอดนอนอีก ๘ คืนบ้างเป็นอยู่เช่นนี้ ท่านพระอาจารย์จวนได้ออกบิณฑบาตมาเลี้ยงโยมแม่เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณ

ระหว่างในพรรษานั้น ขณะที่ท่านพระอาจารย์จวนได้นั่งทำสมาธิและฟังธรรมอยู่นั้น จิตของท่านได้สงบลงเกิดภาพนิมิตขึ้นในจิตปรากฏว่า ร่างกายของท่านได้เน่าเปื่อยเป็นอสุภะ ท่านได้เห็นขาของท่านเองนั้นเน่ามีน้ำเหลืองไหล เห็นได้ชัดเจนราวกับมองดูด้วยตาเปล่า ๆ อย่างนั้น

ดังนั้นเองท่านพระอาจารย์จวนจึงได้พิจารณาอสุภะนี้ขึ้นมาเป็นอารมณ์ ต่อไปเป็นประจำ ในพรรษานี้ได้มีภาพนิมิตแปลก ๆ เกิดขึ้นในขณะที่ทำความเพียรอยู่เสมอ ๆ

วันหนึ่ง ขณะที่ท่านพระอาจารย์จวนได้นั่งทำสมาธิอยู่นั้น ก่อนที่จะจิตจะรวมลงได้ปรากฏภาพนิมิตขึ้นมาว่า มีแม่ไก่ลายตัวหนึ่งมาจิกกินอุจจาระอยู่ตรงหน้า พระอาจารย์จวนได้กำหนดจิตถามว่า จิกกินอะไร ?

แม่ไก่ก็ตอบว่า จิกกินอุจจาระ

พระอาจารย์จวนได้กำหนดจิตถามไปอีกว่า แม่ไก่เป็นใคร ? แม่ไก่ก็ตอบมาว่า เป็นเทวดา

ท่านจึงกำหนดจิตถามต่อไปว่า เทวดาทำไมกินอุจจาระ ?

แม่ไก่ก็ตอบว่า มนุษย์เราทุกชาติทุกภาษาต้องกินอุจจาระกันทั้งนั้น

ในวันนั้นท่านพระอาจารย์จวนได้น้อมเอานิมิตนั้นเข้ามาพิจารณาจนเห็นความจริงว่า มนุษย์เรานี้ก็ต้องกินอุจจาระกันทั้งสิ้น ทำให้จิตของท่านเกิดความสลดสังเวชเป็นอย่างยิ่ง ในพรรษานั้น

อยู่ต่อวันหนึ่งหลังจากฉันอาหารแล้ว ขณะที่จะเดินขึ้นไปบนกุฏิเพื่อเอาเครื่องบริขารไปเก็บ พระอาจารย์จวนได้แหงนหน้ามองขึ้นไปบนหน้าจั่วปรากฏเป็นภาพหญิงสาวคนหนึ่ง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าลาย ๆ คล้ายกับแม่ไก่ที่ได้มาปรากฏในนิมิต มายืนถือตระกร้าหมากอยู่บนหน้าจั่วเป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างสวยงามมาก

ในใจหนึ่งก็บอกว่า เป็นเทวดา แต่พระอาจารย์จวนก็ไม่สนใจเก็บเครื่องบริขารไปเรื่อย ๆ พอหันกลับมามองก็ยังเห็นหญิงสาวผู้นั้นยืนอยู่ที่เก่า ท่านก็เก็บเครื่องบริขารต่อไปอีกจนเรียบร้อย พอหันมามองดูใหม่ภาพที่ปรากฏนั้นก็ได้หายไปแล้ว

ขณะนั้นก็ได้เกิดความรู้สึกในจิตของท่านขึ้นมาว่า นี่ละหนอ พวกที่ภาวนาแล้วเห็นภาพนิมิตต่าง ๆ มาปรากฏ ก็พากันเข้าใจไปว่า ตนได้ญาณบรรลุมรรคผล ทำให้เกิดความหลงงมงาย ผลที่สุดก็เสื่อมไปโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากธรรมะเลย

พอออกพรรษาแล้วในปีนั้น โยมแม่ซึ่งได้บวชเป็นชี ก็ได้ลาสิกขาบท กลับไปอยู่บ้านกับลูกหลาน พอเสร็จจากเรื่องราวทั้งหลายแล้ว พระอาจารย์จวนมีความรู้สึกว่าอยากจะได้ออกเดินธุดงค์เป็นอย่างยิ่ง จึงมองหาเพื่อนที่จะร่วมทางไปด้วย ก็ได้สามเณรองค์หนึ่งมาร่วมทาง



+++++ ต่อตอน 2 +++++

**wan**
11-12-2008, 09:22 AM
ปรารภความเพียร 2

อาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย

ทั้งสององค์ได้ออกเดินทางจากวัดไปนมัสการพระธาตุพนม โดยผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ใช้เวลาเดินธุดงค์นานถึง ๗ วัน ๗ คืน จึงถึงองค์พระธาตุพนม หลังจากที่ได้นมัสการพระธาตุพนมแล้วก็ได้เดินทางต่อไปจนถึงเมืองเรณูนคร ได้ไปพักปฏิบัติภาวนาอยู่เป็นเวลานานถึง ๒ เดือน จึงเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี ขากลับท่านพระอาจารย์จวนมาเพียงองค์เดียว เณรนั้นไม่ได้กลับด้วย

ระหว่างทางเมื่อเดินผ่านพ้นดงมะอี่ ในเขตอำเภอเลิงนกทา ระหว่างเขตบ้านไร่กับบ้านหนองยางติดต่อกัน ท่านพระอาจารย์จวนได้กลิ่นเหม็นที่กลางดง จึงได้ออกเดินสำรวจดู ก็ได้พบซากศพคนตายอยู่ข้างทาง

ความที่จิตใจของท่านแต่ดั้งเดิม นั้นเคยเพ่งจนเห็นอสุภะปรากฏขึ้นที่ตัวของท่าน และความรู้สึกจากอารมณ์อสุภะนั้นยังประทับติดอยู่ในใจของท่านพระอาจารย์จวน ทำให้ท่านเกิดความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาพบซากศพของคนตายนี้

ศพนั้นร่างเน่าเปื่อยตับไตไส้พุงมีหนอนชอนไช ท่านพระอาจารย์จวนได้ยืนเพ่งมองอสุภะนั้น แล้วน้อมเข้ามาดูตัวของท่านเองว่า อีกหน่อยตัวของเราก็ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้พ้นไปได้...

เย็นวันนั้นท่านได้เดินทางไปถึง บ้านโพนหนามแท่ง ที่อำเภอ อำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้หยุดพักปักกลดสรงน้ำชำระร่างกาย ค่ำลงก็ได้ไหว้พระสวดมนต์ และน้อมเอาซากอสุภะที่ได้เห็นในตอนกลางวันนั้นเข้ามาหาตัว

พิจารณาในซากอสุภะนั้นเป็นอารมณ์ ปรากฏว่าจิตใจได้สงบรวมลง มีความสบายเยือกเย็นเป็นสุขมาก ได้นั่งภาวนาตั้งแต่หัวค่ำจนถึงตี ๒ ขณะนั้นเองได้เกิดลมพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก พระอาจารย์จวนจึงปลดมุ้งลงมา และพับออกพร้อมทั้งสังฆาฏิ เก็บไว้ในบาตรปิดฝา แล้วนั่งภาวนาต่อไปเรื่อย ๆ

รู้สึกว่ากายก็เย็น ฝนก็เย็น ลมก็เย็น จิตใจก็เยือกเย็นสบายดี ฝนได้ตกอยู่อย่างนั้นประมาณ ๑ ชั่วโมง ก็หายไป เมื่อท่านพระอาจารย์จวนลืมตาขึ้นมาอีกที ปรากฏว่าท่านได้นั่งตากฝนจนเปียกปอนไปหมดทั้งตัว

ในพรรษาต่อมาท่านพระอาจารย์จวนได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าบ้านนาจิก พรรษานี้พระอาจารย์จวนได้อธิฐานว่าจะทำความเพียรโดยไม่ยอมนอนและจะฉันอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ตลอดพรรษา

การอธิษฐานไม่นอนนี้ นอกจากจะไม่ยอมให้หลังแตะพื้นแล้ว จิตต้องทำความรู้สึกตัวตลอดเวลา ไม่ให้ตกภวังค์ แม้แต่สักขณะจิตเดียว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถ เดิน ยืน หรือนั่ง ระยะนั้นพระอาจารย์จวนยังใช้คำบริกรรมว่า พุทโธ เป็นพื้น มีการพิจารณาร่วมไปด้วย

พอมากลางพรรษาได้เกิดความวิปริตทางธาตุ ซึ่งท่านพระอาจารย์จวนได้กล่าวว่า คือมีน้ำมันสมองไหลออกมาทางจมูกเป็นน้ำเหลือง ท่านเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านนาจิก จึงได้ขอร้องให้พระอาจารย์จวนจำวัดพักผ่อนเสียบ้าง เพราะมิเช่นนั้นต่อไป ตาของท่านอาจจะบอดก็ได้

พระอาจารย์จวนก็จึงได้ยอมพักผ่อนแต่เพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังทำความเพียรอยู่อย่างกล้าแข็ง...

พอออกพรรษาได้ ๕ วัน ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะภาคได้มาตรวจงานทางภาคอีสานและได้แวะที่วัดป่าบ้านจิก พระอาจารย์จวนก็จึงได้ขอติดตามท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารไปด้วย จนกระทั่งได้ไปกราบพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร...

พระอาจารย์จวนได้ศึกษาอบรมอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นตั้งแต่ออกพรรษา จนกระทั่งในพรรษาต่อมาทั้งพรรษา ซึ่งตลอดเวลาพระอาจารย์มั่นจะแนะนำสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติให้เคร่งครัดต่อพระวินัย รวมทั้งธุดงควัตร

การภาวนานั้น ก็ให้พิจารณากาย ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเอง ถ้าจิตไม่สงบมีความฟุ้งซ่านก็ให้น้อมนึกเข้ามาด้วยความมีสติ ให้นึกภาวนา พุทโธ เมื่อจิตสงบแล้ว ก็ให้พักพุทโธไว้ให้อยู่ในความสงบ แต่มีสติ ฝึกให้ชำนาญแล้วให้นึกน้อมเข้ามาพิจารณากายของตนเองด้วยความมีสติมิให้พลั้งเผลอ

เมื่อจิตรวม ก็ให้มีสติรู้ว่าจิตรวม อย่าบังคับให้จิตรวม ให้มีสติอยู่ว่า จิตรวม อย่าถอนจิตที่รวมอยู่ ให้จิตนั้นถอนออกมาเอง พอจิตถอนให้น้อมเข้ามาพิจารณากายที่เคยพิจารณาอยู่ ให้มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา

ส่วนนิมิตที่เกิดขึ้นแสดงเป็นภาพภายนอกหรือนิมิตภายในก็ให้น้อมเข้ามาให้เห็นว่า เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งใดมีเกิด ก็ต้องมีดับ อย่าพลั้งเผลอลุ่มหลงไปตามนิมิตที่เกิดขึ้น

แล้วน้อมเข้ามาพิจารณากายให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ว่ามิใช่ของตน ให้พิจารณาอย่างมีสติ เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้วก็ให้พักอย่างสงบ เมื่อสงบพอสมควรแล้วก็ให้พิจารณาต่อไป พระอาจารย์มั่นท่านจะสอนเช่นนี้เป็นหลักอยู่เสมอ...

พระอาจารย์จวนได้มีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว ในการภาวนาทำความเพียรอย่างเต็มที่ คืนวันหนึ่ง ท่านได้อธิษฐาน นั่งในกลดและตั้งใจที่จะภาวนาโดยไม่นอนเลยตลอดทั้งคืน เมื่อจิตสงบลงได้เกิดนิมิตผุดขึ้นมาว่า ปททฺทา ปททฺโท



+++++ ต่อตอน 3 +++++

**wan**
11-12-2008, 09:23 AM
ปรารภความเพียร 3

อาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย

พระอาจารย์จวน ได้กำหนดจิตแปลอยู่ ๓ ครั้ง จึงได้ความหมายว่า อย่าท้อถอยไปในทางอื่น แล้วปรากฏว่า กายของท่านได้ไหวไปเลย จากนั้นจิตก็รวมลงสู่ภวังค์ คือจิตเดิมทีเดียว ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าจิตสู่ภวังค์ และจิตเดิมเป็นอย่างไร

รู้อยู่แต่ว่าขณะจิตรวมนั้น จิตใสบริสุทธิ์ หมดจดจนหาที่เปรียบได้ยากยิ่ง มีความรู้สึกสบายที่สุด จิตในขณะนั้นปราศจากอารมณ์ใด ๆ มาแผ้วพาน จิตได้รวมอยู่อย่างนั้น ตลอดคืนจนกระทั่งรุ่งเช้าจึงถอนออกมา และได้รับความเบิกบานปีติทั้งกายและใจ เหมือนลอยอยู่ในอากาศ กายเบาใจเบาเป็นที่สุด

เมื่อได้โอกาสพระอาจารย์จวน จึงได้กราบเรียนเล่าเรื่องที่เป็นมานั้น ให้พระอาจารย์มั่นฟัง พระอาจารย์มั่นได้พิจารณาดูจิตของท่านพระอาจารย์จวนแล้ว จึงบอกว่า "อ้อ จิตท่านจวนนี่รวมทีเดียวถึงฐีติจิต คือจิตเดิมเลยทีเดียว" แล้วหลังจากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้กล่าวว่า "ดีนักเพราะจะได้เป็นกำลังใหญ่ แต่ถ้าสติอ่อนกำลังก็จะไม่มี"

และหลังจากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นก็บอกว่า ให้ปฏิบัติต่อไปเพื่อจะได้เป็นสันทิฏฐิโก คือเป็นผู้รู้เองเห็นเอง"

เมื่อได้รับโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่นเช่นนั้น พระอาจารย์จวนก็ได้เร่งทำความเพียรตามสติปัญญา

ออกพรรษาแล้วพระอาจารย์มั่นได้สั่งให้พระอาจารย์จวนธุดงค์ไปทำความวิเวกที่ ถ้ำยาง บ้านลาดกะเฌอ จังหวัดสกลนคร บ้านลาดกะเฌอนี้เป็นหมู่บ้านของชาวป่าชาวเขา ตัวถ้ำยางนั้นอยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปราว ๆ ๒ กิโลเมตร พระอาจารย์จวนได้ทำความเพียรอยู่ที่นี้ ๗ วัน ๗ คืน โดยไม่ได้หลับนอนเลย

ในระยะนั้นจิตได้รวมโดยง่าย มีนิมิตทั้งภายนอกและนิมิตภายในเกิดขึ้นอยู่เสมอ เมื่อได้น้อมมาพิจารณาดูก็รู้ว่านิมิตนี้เกิดจากจิตที่ส่งส่ายออกไป ผู้ไม่มีสติก็จะทำให้ลุ่มหลงไปตามภาพนิมิต และสำคัญผิดว่า ตนเองนั้นได้ญาณจะเกิดทิฏฐิมานะ ว่าได้หูทิพย์ได้ตาทิพย์ ซึ่งอาจจะทำให้ธรรมะนี้แตกไปได้หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์จวนก็ได้ธุดงค์ไปทางแถบเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ได้ไปอยู่ที่บ้านห้วยหีบ และต่อจากนั้นก็เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่

ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้เคยไปเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั้น พระอาจารย์จวนได้ไปพักวิเวกที่วัดนี้อยู่ ๓ เดือน

คืนวันหนึ่ง ขณะที่นั่งภาวนาอยู่ในโบสถ์ก็ได้มีนิมิตเกิดขึ้นว่า มีพระเถระรูปหนึ่งมาให้โอวาทตักเตือนว่า "ท่านจวนถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่ ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ"

พระอาจารย์จวนก็ได้มาพิจารณาดูแผ่นดิน แปลว่า ให้มีความหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน เมื่อถูกกระทบกระเทือนจากอารมณ์ก็อย่าได้วอกแวก ให้ตั้งใจเป็นสมาธิไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่าน

พระอาจารย์จวนก็จึงได้เขียนจดหมายกราบเรียนถามพระอาจารย์มั่นว่า กราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคราพอย่างสูง เกล้ากระผมได้นั่งภาวนา แล้วเกิดนิมิตปรากฏมีพระเถระผู้ใหญ่มาตักเตือนว่า ท่านจวนถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ

ดังนี้เกล้ากระผมเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย ไม่สามารถจะรู้ว่าอะไรเป็นแผ่นดิน ขอนิมนต์พ่อแม่ครูอาจารย์โปรดประทานให้โอวาทตักเตือนด้วย

พระอาจารย์มั่นได้ตอบจดหมายไปว่า ถึงท่านอาจารย์จวนที่อาลัยยิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้แนะนำให้ท่านนั้น ขอให้ท่านตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามคำที่ผมแนะนำ อย่าได้ประมาท เพื่อจะได้เป็นเกียรติยศแก่พระพุทธศาสนาต่อไป

อยู่มาคืนหนึ่ง ขณะที่ท่านพระอาจารย์จวน ได้ไปพำนักวิเวกอยู่ที่วัดอุโมงค์ ใกล้สนามบินเชียงใหม่ คืนนั้นท่านได้นิมิตไปว่า ตัวท่านเองและพระอาจารย์มั่น ได้ทำหีบศพอยู่บนเจดีย์ และในขณะนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้เหาะลอยมาในอากาศ แล้วมาหยุดอยู่ที่ข้างหน้าท่านพร้อมกับให้โอวาทว่า ท่านจวน อุเปกขินทริยํ

พระอาจารย์จวนจึงกำหนดจิต แปลดู ก็ได้ความว่า ให้วางตัวเป็นอุเบกขาต่ออินทรีย์ทั้ง ๖ คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ อย่าไปเอาใจใส่ลุ่มหลงในอารมณ์ที่มากระทบ

เมื่อท่านพระอาจารย์จวน ได้กำหนดจิตตามนิมิตนั้นก็ได้รู้ว่าในวันพรุ่งนี้จะต้องมีเหตุการณ์อะไร สักอย่างหนึ่งที่ร้ายแรงเกิดขึ้นแน่ ๆ

วันรุ่งขึ้น หลังจากที่ท่านฉันเสร็จแล้ว บรรดาหมู่พระได้พากันออกไปชมสถานที่ต่าง ๆ เหลือท่านพระอาจารย์จวนอยู่ในถ้ำ เพียงองค์เดียว ขณะนั้นได้มีหญิงสาวพากันมาเที่ยวเล่น และค้นหาพระอยู่ในบริเวณนั้น

ท่านพระอาจารย์จวนก็จึงหลบพวกผู้หญิงเหล่านั้น และปลดมุ้งกลดลงเสีย มีหญิงสาวคนหนึ่งใจกล้า มาเปิดมุ้งกลดของท่านออกและยิ้มให้ท่านพร้อมกับร้องเรียกเพื่อน ๆ ว่า "ตุ๊เจ้าอยู่นี่ ตุ๊เจ้าอยู่นี่" แล้วก็พากันเข้ามายืนมองดูท่าน ปรากฏว่าในขณะนั้นท่านพระอาจารย์จวน เมื่อได้เห็นหญิงสาวเหล่านั้นก็เกิดความรู้สึกวูบวาบในจิต



+++++ ต่อตอน 4 +++++

**wan**
11-12-2008, 09:24 AM
ปรารภความเพียร 4

อาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย

ท่านจึงได้คิดถึงโอวาทของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ที่มาปรากฏในนิมิตว่า อุเปกฺขินทริยํ จึงได้น้อมนำอุบายนี้ขึ้นมาพิจารณาจิตของท่านในขณะนั้นก็ได้คลายความกำหนัดลงและต่อมาภายหลังก็ได้มีบรรดาหญิงสาวต่าง ๆ มารบกวนท่านมากขึ้น เมื่อพระอาจารย์จวน ได้เห็นว่าในที่นั้นไม่สงบแล้ว ท่านก็จึงได้เดินทางหนีออกจากที่นั้นไป...

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒...

ในระหว่างพรรษานั้น บรรดาญาติโยมและลูกหลานได้พากันไปนิมนต์ขอให้ท่านพระอาจารย์ท่านลาสิกขาบทเสีย เพราะได้เห็นว่า ท่านต้องอยู่ในป่าในดง ได้รับแต่ความลำบากทุกข์ยากต่าง ๆ นานา ไม่มีเงินทองใช้สอย ไม่มีลูกไม่มีเมียที่จะอยู่ปรนนิบัติ แต่ท่านพระอาจารย์จวน ก็พยายามที่จะหาอุบายหลีกเลี่ยง จนในที่สุดก็ไม่มีใครสามารถที่จะชักนำให้ท่านลาสิกขาบทได้.......พอใกล้จะถึงวันเข้าพรรษาหลวงปู่ขาว ก็ได้สั่งให้พระอาจารย์จวนไปวิเวกอยู่ที่ ถ้ำพวง ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็คือ วัดถ้ำอภัยดำรงธรรมตอนบน นั่นเอง หลวงปู่ขาวได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่เชิงเขา ซึ่งเรียกบริเวณนี้ว่าหวายสะนอย อยู่ใกล้กับภูเหล็ก

ที่ถ้ำพวงนี้ พระอาจารย์มั่นท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เป็นถ้ำที่ศักดิ์สิทธิ์มาก มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อพระนรสีห์ ได้มานิพพานที่นี่ ใครจะเข้าไปที่นี่ต้องถอยถอดรองเท้าก่อน สมัยก่อนนั้นมีช่องลึกลงไปในใต้ภูเขา พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เคยไปวิเวกและพบว่า

ข้างล่างนั้นเป็นถ้ำที่พญานาคอาศัยอยู่ พระอาจารย์สิงห์ได้เอาก้อนหินมาปิดทางช่องนั้นไว้ ซึ่งขณะนี้เรียบไปหมดจนไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแล้ว

เมื่อขณะที่พระอาจารย์จวนได้วิเวกอยู่ที่ถ้ำพวงนี้ จิตสงบมาก เวลาภาวนาจิตก็รวมลงได้ดี บางทีจิตรวมถึงคืนละ ๓ ครั้งก็มี มีสิ่งแปลกประหลาดอยู่ประการหนึ่งก็คือ

ทุกวันในตอนบ่าย ๓ โมง ขณะที่พระอาจารย์จวน จะออกมาเดินจงกรมนั้นได้มีกระต่ายน้อยตัวหนึ่งมานั่งนิ่งหลับตาอยู่ที่ข้างทางเดินจงกรม กระต่ายน้อยตัวนี้จะมานั่งอยู่ทุกวัน มีกิริยาอาการที่น่ารักมาก เหมือนกับจะมานั่งภาวนาไปด้วย พอท่านพระอาจารย์จวนเลิกจากการเดินจงกรมเข้าไปนั่งพักอยู่บนแคร่ กระต่ายน้อยตัวนี้ก็จะเข้าไปนั่งพักอยู่ที่ใต้แคร่นี้ด้วย แต่ถ้ามีคนเดินมากระต่ายน้อยตัวนี้ ก็จะวิ่งหนีเข้าป่าไปทันที

วันหนึ่ง ขณะที่ท่านพระอาจารย์จวน พำนักจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพวงนี้ได้นั่งสมาธิและเกิดนิมิตไปว่า ท่านได้นั่งภาวนาอยู่ในกุฏิเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ขณะกำลังนั่งเพ่งพิจารณากระดูกอยู่ มีเด็กคนหนึ่งถือดาบวิ่งเข้ามาจะแทงท่าน แต่ก็ไม่สามารถจะทำได้

เด็กคนนั้นก็จึงไปบอกให้พี่ชายมาทำร้ายท่านแทน พี่ชายของเด็กคนนั้นได้ถือดาบเข้ามาจะฆ่าท่านให้ตาย พระอาจารย์จวนได้ถามไปว่า "ท่านมีความผิดอะไรหรือจึงจะมาฆ่าท่านให้ตาย" ในนิมิตนั้นเป็นนิมิตที่ปรากฏออกมาว่า พระอาจารย์จวนเป็นเพศฆราวาส พี่ชายของเด็กคนนั้นไม่ยอมตอบคำถามของท่าน แต่ตรงเข้ามาจิกผมของท่านแล้วดึงขึ้นมา เอาดาบเถือที่คอ ตั้งใจหมายว่าจะฆ่าท่านให้ตาย แต่ถึงจะทำอย่างไร ๆ ก็ฟันไม่เข้า ไม่มีรอยแผลแม้แต่น้อย พระอาจารย์จวนได้บอกว่า "ท่านไม่มีความผิดจะฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย ท่านยึดถือในพระรัตนตรัยฆ่าไม่ตายหรอก" เขาจึงวางดาบลงแล้วประกาศว่า "ต่อไปนี้ขอเป็นเพื่อนเป็นมิตรกัน จะไม่อิจฉาพยาบาทกันเลย"

หลังจากนั้นต่อมาในเช้าอีกวันหนึ่ง พระอาจารย์จวนได้ออกไปบิณฑบาต มีสุนัขตัวหนึ่งมาวิ่งอยู่ที่หน้าถ้ำพวง สุนัขตัวนั้นได้วิ่งตรงเข้ามากัดท่าน แต่กัดไม่เข้า หลังจากนั้น อีก ๓ วันต่อมา ชาวบ้านได้มาบอกว่า สุนัขตัวที่กัดท่านครูบาจวนนั้นได้ตายลงเสียแล้ว พอออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์จวนได้กราบลาหลวงปู่ขาวไปวิเวกยังสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่อำเภอสว่างดินแดน อำเภอหนองบัว อำเภอผือ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แล้วได้ย้อนกลับมาพักวิเวกอยู่กับพระอาจารย์หล้า ซึ่งวิเวกอยู่องค์เดียวที่บนเขาภูพาน

พระอาจารย์หล้านี้ได้เคยติดตามไปอุปัฏฐาก ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโลอย่างใกล้ชิด เป็นเวลานานถึง ๙ พรรษาด้วยกันจนท่านพระอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพลง

พระอาจารย์จวนได้พำนักศึกษาธรรมะแล้วฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์หล้าเป็นเวลา ๑ เดือน ก็จึงได้กราบลาพระอาจารย์หล้าออกเดินทางธุดงค์... หลังจากนั้นพระอาจารย์จวน ได้เดินทางผ่านอำเภอวานรนิวาสไปทางดงหม้อทอง ได้ไปอาศัยที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๓ ครอบครัว เป็นผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาดีมาก ชาวบ้านที่นั้นได้ช่วยกันปลูกกระต๊อบเป็นเสนาสนะให้ท่านกับพระอาจารย์คำบุ พำนักกันอยู่องค์ละหลัง

ดงหม้อทอง นี้เป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยฝูงช้าง เสือ และหมี คืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี ๓ ของเดือนมิถุนายน ได้ปรากฏว่ามีฝูงช้างออกมาหากินในบริเวณใกล้ ๆ กันกับกุฏิพระ ตัวจ่าโขลงได้เดินมาหยุดยืนอยู่หน้ากระต๊อบห่างจากพระอาจารย์จวนไปประมาณสัก ๖ - ๗ เมตร ช้างเชือกนั้นสูงและใหญ่มาก ได้มาหยุดยืนนิ่งแล้วส่งเสียงร้องขึ้น

พระอาจารย์จวนซึ่งกำลังจำวัดอยู่นั้น เมื่อตื่นขึ้นมาเห็นช้างเข้า ในครั้งแรกตั้งสติไม่ทันได้เกิดความกลัวขึ้นมาลุกขึ้นจุดโคมไฟมือไม้สั่น ถือโคมออกมาข้างนอก ทั้ง ๆ ที่มือยังสั่นเพราะความกลัวอยู่



+++++ ต่อตอน 5 +++++

**wan**
11-12-2008, 09:24 AM
ปรารภความเพียร 5

อาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย

ท่านเล่าว่า เป็นเพราะครั้งแรกนั้นท่านตั้งสติไม่ทันนั่นเอง คิดว่าถ้าช้างเข้ามาจะกระโดดหนีขึ้นต้นไม้ แต่อีกใจหนึ่งก็มาคิดว่า เราเป็นพระกรรมฐานจะกลัวช้างไปทำไม ช้างยังไม่กลัวเราเลย เราเป็นพระธุดงค์ เป็นผู้เสียสละในชีวิตแล้ว แล้วเรายังจะไปกลัวช้างอยู่ทำไม เราเป็นพระเป็นมนุษย์ ช้างมันเป็นสัตว์ ช้างมันยังไม่กลัวเรา แล้วก็มาระลึกถึงคำที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้สั่งสอนเอาไว้ว่า

ภิกษุที่เกิดความกลัวไปอยู่ป่า หรือป่าช้าก็ดี เมื่อเกิดความรู้สึกขนพองสยองเกล้า ให้รำลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เมื่อระลึกถึงเราตถาคตอย่างนี้ ความกลัวนั้นก็จะหายไปเอง

พอท่านเตือนสติตัวเองขึ้นมาได้ ก็รำลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้ว ความรู้สึกกลัวนั้นก็ได้คลายไป และก็ได้มาพิจารณาถึงความตายต่อไปว่า

กลัวก็ตาย ไม่กลัวก็ตาย อยู่ที่ไหนก็ต้องตาย ความตายนั้นไม่มีใครผ่านพ้นไปได้ ไม่ว่าจะตายด้วยอะไรก็ตาม

พอพิจารณาถึงความตายอย่างนั้นแล้ว จิตก็ค่อยสงบลงเป็นลำดับ ไม่มีความกลัวตายเหลืออยู่ในจิตเลย ช้างก็ไม่กลัว ความตายก็ไม่กลัว จิตได้สงบเยือกเย็นลง เป็นจิตที่กล้าหาญ ไม่สะทกสะท้าน

พระอาจารย์จวนได้เพ่งจิตที่สงบลงนั้นย้อนไปพิจารณาดูช้างว่า ช้างเชือกนั้นมันกำลังคิดอะไรอยู่ กระแสจิตที่สงบแล้วของท่านคงจะมีความรุนแรงมาก ปรากฏว่า ช้างเชือกนั้นส่งเสียงร้องขึ้นมาอย่างตกใจก้องป่า แล้วก็วิ่งหนีเข้าป่าไป

และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ไม่มีใครได้เห็นโขลงช้างหรือช้างตัวใดเข้ามาที่ในบริเวณที่พระอาจารย์จวนท่านพำนักอยู่นั้นอีกเลยพอใกล้จะถึงวันเข้าพรรษา พระอาจารย์คำบุ ก็ไปพำนักอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย จึงเหลือท่านพระอาจารย์จวน อยู่จำพรรษาที่ชายป่าดงหม้อทองนั้น เพียงองค์เดียว

มาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พรรษานี้เป็นพรรษาที่ ๑๐ ของท่านพระอาจารย์จวน ท่านยังคงอยู่จำพรรษาที่ดงหม้อทอง...

ท่านพระอาจารย์จวนได้พำนักจำพรรษาอยู่ที่บ้านดงหม้อทองนั้นเป็นเวลา ๓ พรรษาด้วยกัน ที่ดงหม้อทองมีความสงบสงัดเพราะมีสภาพเป็นป่าดงดิบที่หนาทึบเต็มไปด้วยไม้ใหญ่ มีถ้ำมีเงื้อมหินและพลาญหิน และนอกจากนี้แล้วมีสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องช่วยป้องกันมิให้มีผู้คนจะลุกล้ำเข้าไปรบกวนในการบำเพ็ญภาวนาของท่านได้ก็คือสัตว์ในป่าอันดุร้ายนั่นเอง

ในระยะพรรษาแรกที่เข้าไปพักอยู่ที่นั้น หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ให้คนไปส่งข่าวกับท่านพระอาจารย์จวนว่า ให้ไปรับท่านด้วยเพราะท่านจะออกมาอยู่วิเวกพำนักภาวนาด้วย ท่านพระอาจารย์จวนก็จึงได้เตรียมเสนาสนะสำหรับหลวงปู่และพระที่จะติดตามมาด้วย หลวงปู่ขาว ท่านได้มาพำนักบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่บ้านดงหม้อทองกับท่านพระอาจารย์จวนก็รู้สึกมีความพออกพอใจในความสงบสงัดและ เงื้อมถ้ำ ตลอดจนพลาญหินที่ดงหม้อทองเป็นอันมาก ได้อยู่ต่อไปจนเข้าพรรษาที่ ๒

ในพรรษานี้ต่างองค์ก็ได้พากันปรารภความเพียรกันอย่างเต็มความสามารถ และก็ไดมีโอกาสฟังเทศน์ฟังธรรมรับการอบรมจากหลวงปู่ขาวด้วย บางวันขณะที่ท่านพระอาจารย์จวนนั่งอยู่บนกุฏิ ก็มีโอกาสได้เห็นโขลงช้างพากันมากินน้ำที่หนองน้ำ ตรงโคนก้อนหินที่ท่านนั่งอยู่นั้น แต่โขลงช้างนั้นก็ไม่ทำอันตรายแก่ผู้ใด

บางคืนก็ยังมีเสือมาหยอกเล่นกัดกันอยู่ในขณะที่พระท่านสวดปาติโมกข์อย่างนี้ก็มี จนออกพรรษาแล้วพระอาจารย์จวนก็ได้ออกเดินธุดงค์ไปวิเวกอยู่ที่ภูวัว ส่วนหลวงปู่ขาวก็ได้กลับไปอยู่วัดป่าแก้วที่บ้านชุมพลนั้นเอง

ท่านพระอาจารย์จวนได้ไปวิเวกอยู่ที่ภูวัวระยะหนึ่ง แล้วก็ได้กลับมาพำนักจำพรรษาอยู่ที่ดงหม้อทองอีกและจนกระทั่งออกพรรษาแล้ว หลังจากนั้น ท่านพระอาจารย์จวนก็ได้ไปรับหลวงปู่ขาวไปพำนักจำพรรษาเพื่อปฏิบัติภาวนาที่ภูวัวด้วย ภูวัวนี้เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน บนหลังเขาเป็นที่ราบบริเวณกว้าง มีโขดหินและมีน้ำตกแอ่งน้ำสวยงามมาก เป็นสถานที่ที่ครูบาอาจารย์ เช่น พระอาจารย์เสาร์ กันตะสีโล พระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ทองสุข สุจิตโต และพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ได้เคยมาวิเวกทำความเพียรกันแล้วหลายรูป ด้วยกัน

สมัยนั้นภูวัวยังมีสัตว์ป่าที่ดุร้าย อยู่นานาชนิด บางวัน มีทั้งช้าง มีทั้งหมี มีทั้งเสือเป็นจำนวนมาก และนอกจากนี้แล้ว บนตาดปอนั้น ก็ยังมีภูตผีปีศาจ ที่มาคอยรบกวนพระเณรอยู่เสมอ มีพระเณรได้ล้มเจ็บป่วยกัน เป็นจำนวนมาก หลวงปู่ขาวก็ได้ให้ท่านพระอาจารย์จวนนำเรื่องนี้ไปกำหนดพิจารณา เมื่อพระอาจารย์จวนพิจารณาแล้ว ก็ได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า

"เยสนฺตา" ซึ่งหมายความได้ว่า ผู้สงบไม่เดือดร้อนไม่มีความทุกข์ใด ๆ จะเกิดแก่ผู้สงบ

หลวงปู่ขาวก็บอกว่า จริงถูกทีเดียว และได้กล่าวต่อไปอีกว่า "นตถิ สนติ ปรํสุขํ" ความสุขใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี ผู้มีความสงบแล้วไม่ความทุกข์ ความเดือดร้อนอะไร

ท่านพระอาจารย์จวนก็ได้กำชับให้ พระเณรทุกองค์พากันเร่งทำความสงบ และภายหลังต่อมา อาการเจ็บไข้ได้ป่วยของพระเณรทั้งหลายก็ได้หมดไป...

ในพรรษาต่อมาท่านพระอาจารย์จวน ได้เดินทางจากภูวัวไปพำนักบำเพ็ญภาวนา อยู่ที่ดงหม้อทองกับท่านพระอาจารย์สอนอีกครั้งหนึ่ง ในพรรษานี้ได้พากันอธิฐานไม่ยอมนอนเป็นเวลา ๒ เดือน ตั้งใจกันว่าจะทำความเพียรกันอย่างเด็ดเดี่ยว การภาวนาในระยะนี้ จิตสงบรวมลงดีมาก

พรรษานั้น พระอาจารย์จวนเกิดอาพาธหนักจากไข้ป่า หมอได้มาฉีดยารักษาให้ก็ไม่ถูกโรคกันเอาเสียเลย อาเจียนเป็นขนานใหญ่ รู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงแทบประดาตาย ท่านว่าไว้เช่นนั้น ได้เกิดธาตุวิปริตตามืดตามัววิงเวียนศรีษะ

ท่านเล่าว่าถึงขนาดที่พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ภาษาเอาเสียเลย เป็นอยู่อย่างนั้นถึง ๙ วัน แต่ท่านพระอาจารย์จวน ก็มีวิธีรักษาโรคของท่าน โดยท่านเอาปิ๊บมา ๒ ใบไปตั้งบนหลังพลาญหินแล้วใช้กระดานปูไว้ ๒ แผ่น วางบนปากปิ๊บ หลังจากนั้นท่านได้นั่งพิจารณาความตายอยู่บนกระดานนั้น

ท่านพระอาจารย์สอนและพระเณรก็ได้พากันมาคอยพลัดเวรกันเฝ้าด้วยความเป็นห่วง เป็นอยู่เช่นนั้น ๙ วัน อาการของโรคจึงสงบลงและหายขาดไปในที่สุด ออกพรรษาแล้วพระอาจารย์จวนได้กลับไปนมัสการหลวงปู่ขาว ไปฟังธรรมและรับการอบรมสั่งสอนจากหลวงปู่ขาวเหมือนเดิม...

คัดตัดตอนในเรื่องที่เกี่ยวกับการปรารภความเพียรและอุบายการภาวนาจาก : โพธิญาณฉบับที่ ๑ ปีที่ ๖ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๐ ธงชัย แดนธรรม



ôôôôôôôôôôôôôôôô