PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระโมคคัลลานเถระ



DAO
11-12-2008, 09:57 AM
พระโมคคัลลานเถระ

ชาติภูมิ
ท่านพระโมคคัลลานะ เป็นบุตรพราหมณ์ผู้เป็นนายบ้าน ชื่อว่า โกลิตะ มารดาชื่อว่านางโมคคัลลี เดิมท่านชื่อว่า โกลิตะ ตามโคตรแห่งบิดา อีกอย่างหนึ่งเขาเรียกตามความที่เป็นบุตรนางโมคคัลลีว่า โมคคัลลานะ ท่านเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว พวกสพรหมจารีกเรียกท่านว่า โมคคัลลานะทั้งนั้น ท่านเกิดในตำบลบ้านไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ ได้เป็นสหายที่รักใคร่กันกับอุปติสสมาณพ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะตระกูลทั้งสองนั้นเป็นสหายติดต่อกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ และเป็นตระกูลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารเสมอกัน ครั้นเจริญวัยขึ้นแล้วได้เล่าเรียนศิลปะด้วยกัน แม้จะไปไหนหรือทำอะไรก็ไปและทำด้วยกัน จนกระทั่งเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็บวชพร้อมกัน ต่างกันแต่ว่า ได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งแรกคนละคราว พึงทราบเรื่องราวตามที่กล่าวแล้วในประวัติของพระสารีบุตรเถระนั้น ในที่นี้จะกล่าวตั้งแต่อุปสมบทแล้วไปฯ



เรียนอุบายระงับความง่วง

จำเดิมแต่ท่านได้อุปสมบทในพระธรรมวินัยได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงมคธ อ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั้น ทรงสั่งสอนและแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วง มีประการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑. โมคคัลลานะ เมื่อท่านมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ ท่านควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มากฯ

๒. ท่านควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ได้ฟังแล้ว และได้เรียนแล้ว ด้วยใจของท่านเอง

๓. ท่านควรสาธยายธรรมตามที่ตัวได้ฟังแล้ว และได้เรียนแล้วโดยพิสดารฯ

๔. ท่านควรยอนหูทั้งสองข้าง และลูบด้วยฝ่ามือฯ

๕. ท่านควรลุกขึ้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักขัตรฤกษ์ฯ

๖. ท่านควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือ ความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิดฯ

๗. ท่านควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายว่า จักเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอกฯ

๘. ท่านควรสำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันที่จะลุกขึ้นไว้ในใจ พอท่านตื่นแล้ว ควรรีบลุกขึ้น



ครั้นตรัสสอนอุบายสำหรับระงับความง่วงอย่างนี้แล้ว ทรงสั่งสอนให้สำเหนียกในใจอีกต่อไปว่า เราจักไม่ชูงวง (คือถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล เราจักไม่พูดคำซึ่งเป็นเหตุให้เถียงกัน เข้าใจผิดต่อกัน และตรัสสอนให้ยินดีด้วยที่นอนที่นั่งอันเงียบสงัด และควรเป็นที่อยู่ตามสำพังสมณวิสัย เมื่อตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า โดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วนเกษมจากโยคธรรม เป็นพรหมจารีบุคคลยิ่งกว่าผู้อื่นที่มีสุดดีกว่าผู้อื่น ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับแล้วว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น เธอทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันวิเศษ ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้ เธอได้ประสบเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญา เป็นเครื่องหน่าย เป็นเครื่องดับ เป็นเครื่องสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ถือมั่นสิ่งอะไร ๆ ในโลก ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้ด้วยตนเอง และทราบชัดว่า ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จำจะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะทำอย่างนี้อีกมิได้มีว่าโดยย่อ ข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ท่านพระโมคคัลลานะ ปฏิบัติตามโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นฯ



เอตทัคคะ

ครั้นพระโมคคัลลานะ ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดา ในอันยังกิจที่พระบรมศาสดาทรงดำริไว้ให้สำเต็จ เพราะท่านเป็นผู้มีฤทธานุภาพมาก จึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์ และทรงยกย่องว่าเป็นคู่กันกับพระสารีบุตร ในอันอุปการะภิกษุผู้เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยดังกล่าวแล้วในประวัติท่านพระสารีบุตรว่า สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ยังบุตรให้เกิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำยกย่องพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย พระธรรมเทศนาของพระโมคคัลลานะไม่ค่อยจะมี ที่เป็นโอวาทให้แก่ภิกษุสงฆ์ก็มีเพียงแต่ อนุมานสูตร ซึ่งว่าด้วยธรรมอันทำให้คนเป็นผู้ว่ายากหรือว่าง่าย ส่วนที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้ในมัชฌิมนิกายกล่าวว่า ท่านพระโมคคัลลานะนั้นเข้าใจในการนวกรรมด้วย (นวกรรม – การก่อสร้าง) เพราะฉะนั้น เมื่อนางวิสาขา มหาอุบาสิกาสร้างบุพพารามในกรุงสาวัตถี พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านเป็นนวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ควบคุมการก่อสร้างฯ



นิพพาน

ท่านพระโมคคัลลานะ ปรินิพพานก่อนพระบรมศาสดา มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อท่านพำนักอยู่ ณ ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ พวกเดียรถีย์ปรึกษากันว่า บรรดาลาภสักการะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่พระบรมศาสดาในครั้งนั้น ด้วยอาศัยพระโมคคัลลานะ เพราะท่านสามารถไปนำข่าวในสวรรค์และนรกมาแจ้งแก่มนุษย์ ชักนำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใส ถ้าพวกเรากำจัดพระโมคคัลลานะเสียได้แล้ว ลัทธิของพวกเราก็จะรุ่งเรืองขึ้น เมื่อปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงจ้างโจรผู้ร้ายให้ลอบฆ่าพระโมคคัลลานะ ตามตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อโจรมา ท่านพระโมคคัลลานะทราบเหตุนั้นจึงหนีไปเสียสองครั้ง ครั้งที่สามท่านพิจารณาเห็นว่า กรรมตามทันจึงไม่หนี พวกโจรผู้ร้ายทุบตีจนร่างกายท่านแหลก ก็สำคัญว่าตายแล้ว จึงนำร่างกายของท่านไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วพากันหนีไป ท่านพระโมคคัลลานะยังไม่มรณะ เยียวยาอัตภาพให้หายด้วยกำลังญาณ แล้วเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ทูลลากลับมาปรินิพพาน ณ ที่เดิมในวันดับเดือน ๑๒ ภายหลังพระสารีบุตรปักษ์หนึ่ง (๑๕ วัน) พระศาสดาได้เสด็จไปทำฌาปนกิจแล้วรับสั่งให้นำอัฐิธาตุมาก่อนพระเจดีย์บรรจุไว้ ณ ที่ใกล้ประตูแห่งเวฬุวนารามฯ..



ข้อควรกำหนด

เวทนาปริคคหสูตร พระธรรมเทศนาที่พระศาสดาตรัสเทศนาแก่ทีฆนขปริพาชกได้ธรรมจักษุ และพระสารีบุตรได้สำเร็จพระอรหันต์นั้น ทีฆนขปริพาชกได้ทูลแสดงทิฐิของตนว่า “พระโคตมะ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด” พระศาสดาตรัสตอบว่า “อัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้นก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้น” ตรัสตอบฉะนี้แล้วทรงแสดงสมณพราหมณ์มีทิฐิ ๔ จำพวกว่า “อัคคิเวสนะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฐิว่าสิ่งทั้งปวงควรแก่เราเราชอบใจหมด พวกหนึ่งมีทิฐิว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจหมด พวกหนึ่งมีทิฐิว่า บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ บางอย่างไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกต้น ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ยินดีในสิ่งนั้น ๆ ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกที่ ๒ ใกล้ข้างความเกลียดชังนั้น ๆ ทิฐิพวกสมณพราหมณ์พวกที่ ๓ ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ในของบ้างสิ่ง ใกล้ข้างความเกลียดชังในของบางสิ่ง ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า เราจักถือมั่น ทิฐิอย่างหนึ่งอย่างใด กล่าวว่าสิ่งนี้แลจริง สิ่งเหล่าอื่นหาจริงไม่ ก็จะต้องถือผิดจากคน ๒ พวกที่มีทิฐิไม่เหมือนกับตน ครั้นความถือผิดกันเกิดมีขึ้น ความวิวาทเถียงกันก็มีขึ้น ความเบียดเบียนก็มีขึ้น ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้วย่อมละทิฐินั้นเสียได้ ไม่ทำทิฐิอื่นให้เกิดขึ้นด้วย ความละทิฐิ ๓ อย่างนี้ ย่อมมี ด้วยอุบายอย่างนั้น” ครั้นแสดงโทษแห่งความถือมั่นด้วยทิฐิ ๓ อย่างนั้นแล้ว ทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ยึดมั่นต่อไปว่า “อัคคิเวสนะ กาย คือ รูปประชุมมหาภูตรูปทั้ง ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นเพราะข้าวสุกและขนมสดนี้ ต้องอบรมกันกลิ่นเหม็นและขัดสีมลทินเป็นนิตย์ มีความแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา ควรพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อดทนได้ยาก เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร โดยความยากลำบาก ชำรุด ทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่าไม่ใช่ตน เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ ย่อมละความพอใจรักใคร่กระวนกระวายในกามเสียได้ อนึ่ง เวทนาเป็น ๓ อย่าง คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา คือไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข ในสมัยใดเสวยทุกข์ ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขและอุเบกขา ในสมัยใดเสวยสุข ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกข์และอุเบกขา ในสมัยใดเสวยอุเบกขา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขและทุกข์ สุข ทุกข์ อุเบกขา ทั้ง ๓ อย่างนี้ไม่เที่ยง ปัจจัยประชุมแต่งขึ้นอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดา อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งใน สุข ทุกข์ อุเบกขา เมื่อหน่ายก็ปราศจากกำหนัด เพราะปราศจากกำหนัด จิตก็พ้นจากถือมั่น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีภิกษุผู้พ้นแล้วอย่างนี้ ไม่วิวาทโต้เถียงกับผู้ใดด้วยทิฐิของตน โวหารใดเขาพูดกันอยู่ในโลก ก็พูดตามโวหารนั้น แต่ไม่ถือมั่นด้วยทิฐิ”ฯ..




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab15.htm