PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระมหากัจจายนเถระ



DAO
11-12-2008, 10:00 AM
พระมหากัจจายนเถระ


ชาติภูมิ
ท่านพระมาหกัจจายนะเป็นบุตรพราหมณ์ชื่อว่า กัญจนะ กัจจานโคตร หรือ กัจจายนโคตร ปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เรียนจบไตรเพท เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้วได้รับตำแหน่งเป็นปุโรหิตแทนบิดาฯ



มูลเหตุแห่งการออกบวช

ครั้นกาลต่อมาพระเจ้าจัณฑปัชโชต ได้ทรงทราบว่าสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จโปรดสั่งสอนประชาชนอยู่ ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น เป็นธรรมที่แท้จริง ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม มีพระราชประสงค์จะใคร่เชิญสมเด็จพระบรมศาสดาไปประกาศพระศาสนาที่กรุงอุชเชนี จึงตรัสสั่งกัจจายนะปุโรหิต ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เรียนจบไตรเพท ไปทูลเชิญเสด็จ กัจจายนะปุโรหิตทูลลาจะบวชด้วย ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยบริวารเจ็ดคน ครั้นมาถึงที่ประทับพระบรมศาสดาแล้ว พากันเข้าไปเฝ้า พระองค์ตรัสเทศนาสั่งสอน ในเวลาจบเทศนาได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๘ คน แล้วจึงทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ครั้นได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลเชิญอาราธนาพระองค์เสด็จไปกรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระบรมศาสดารับสั่งว่า ท่านไปเองเถิด เมื่อท่านไปแล้ว พระเจ้าจัณฑชัชโชตจักทรงเลื่อมใส ท่านจึงพร้อมด้วยบริวารเจ็ดองค์ กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมศาสดากลับไปสู่กรุงอุชเชนี ประกาศพระพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวพระนครเลื่อมใสแล้ว กลับมาสู่สำนักของพระบรมศาสดาอีกฯ



เทตคัคคะ

ท่านเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำย่อให้พิสดาร เช่นในครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อแล้ว เสด็จลุกเข้าไปสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลาย ไม่ได้โอกาสที่จะทูลถามเนื้อความที่พระองค์ตรัสโดยย่อ ให้เข้าใจกว้างขวาง เห็นความสามารถของท่านพระมหากัจจายนะ จึงได้อาราธนาขอให้ท่านอธิบายให้ฟัง ท่านก็อธิบายให้ฟังโดยพิสดาร แล้วจึงกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ตามความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลถามเนื้อความนั้นเถิด พระองค์ทรงแก้อย่างไรก็จงจำไว้อย่างนั้น ภิกษุเหล่านั้นลาท่านพระมหากัจจายนะกลับมา แล้วเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะว่า ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกะเรา แม้เราก็คงแก้เหมือนอย่างที่กัจจายนะแก้แล้วอย่างนั้น เนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้น เป็นอย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงจำไว้เถิด ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดารฯ



ทูลแก้ไขพุทธบัญญัติบางประการ

ท่านมหากัจจายนะ ท่านได้ทูลขอให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติบางข้อ ซึ่งขัดข้องต่อภูมิประเทศ เช่น เมื่อครั้งท่านพำนักอยู่ ณ ภูเขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท อุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านคนหนึ่ง ชื่อว่า โสณกุฏิกัณณะ มีความประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัย แต่ก็ได้เพียงบรรพชาเท่านั้น โดยล่วงไปสามปีแล้วจึงได้อุปสมบท เพราะในอวันตีทักขิณาปถชนบท หาภิกษุสงฆ์เป็นคณะปูรกะ (ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ ในที่นี้หมายถึง ๑๐ รูปขึ้นไป) ไม่ได้ เมื่อโสณกุฏิกัณณะได้อุปสมบทแล้ว มีความปรารถนาจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงไปลาท่านพระมหากัจจายนะผู้เป็นอุปัชฌายะ ท่านก็อนุญาต และสั่งให้ไปถวายบังคมทูลให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติ ซึ่งขัดต่ออวันตีทักขิณาปถชนบท ๕ ข้อ คือ

๑. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีภิกษุน้อย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พึงทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูป ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุ เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบทด้วยสงฆ์มีพระวินัยธรเป็นที่ห้า” (ด้วยสงฆ์ ๕ รูป)

๒. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีพื้นที่ขรุขระไม่สม่ำเสมอ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พึงทรงอนุญาตรองเท้าเป็นชั้น ๆ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าเป็นชั้น ๆ ในปัจจันตชนบท”

๓. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท พวกมนุษย์ต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอาบน้ำเป็นนิตย์ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ ในปัจจันตชนบท” (ในมัชฌิมประเทศ คือในเมือง ๑๕ วันภิกษุอาบน้ำได้ครั้งหนึ่ง)

๔. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีเครื่องลาด (ที่ปูนั่ง) ที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น บริบูรณ์ดีเหมือนมัชฌิมชนบท ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พึงทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะหนังแกะ เป็นต้น”

๕. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีภิกษุน้อย พวกมนุษย์ทั้งหลายย่อมถวายจีวรแก่ภิกษุผู้จาริกไปภายนอกสีมา ด้วยคำว่า “พวกข้าพเจ้าถวายจีวรผืนนี้ แก่ภิกษุชื่อนี้” เมื่อพวกเธอเหล่านั้นกลับมาแล้ว พวกภิกษุในวัดแจ้งความให้พวกเธอทราบ พวกเธอรังเกียจ ไม่ยินดีรับ ด้วยเข้าใจเสียว่าผ้านั้นเป็นสิสสัคคียะ (ผิดวินัยจำต้องสละเพราะล่วง ๑๐ ราตรีแล้ว) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงตรัสบอกการปฏิบัติในจีวรเช่นนั้น ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้ภิกษุยินดีรับจีวรที่ทายกถวายลับหลังนั้นได้ ผ้ายังไม่ถึงมือภิกษุตราบใด จะนับว่าเธอเป็นผู้มีสิทธิ์ในผ้านั้นเต็มที่ยังไม่ได้ตราบนั้น”



ท่านมหากัจจายนะนั้นเป็นผู้มีรูปงาม มีผิวเหลืองดุจทอง มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า บุตรเศรษฐีมีชื่อว่า โสเรยยะ ในโสเรยยนคร เห็นท่านเข้าแล้วนึกในใจว่า ถ้าเราได้ภรรยามีรูปร่างงดงามอย่างท่านนี้จักเป็นที่พอใจยิ่งนัก ด้วยอำนาจอกุศลจิตเพียงเท่านั้น เพศชายแห่งโสเรยยเศรษฐีบุตรนั้นกลับเป็นเพศสตรี ได้ความอับอายเป็นอย่างยิ่ง จึงหนีไปอยู่นครอื่นจนกระทั่งได้สามีมีบุตรด้วยกันสองคน ภายหลังได้ไปขอขมาให้ท่านงดโทษแล้ว เพศจึงกลับเป็นบุรุษตามเดิม



ตามความในมธุรสูตรว่า ท่านอยู่มาถึงภายหลัง แต่พุทธปรินิพพาน ใจความย่อในสูตรนั้นว่า เมื่อพระมหากัจจายนะอยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรเสด็จไปหา แล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านพระกัจจานะผู้เจริญ พวกพราหมณ์ถือว่า พวกเขาเป็นผู้ประเสริฐบริสุทธิ์เกิดจากพรหม ท่านเข้าใจว่าอย่างไร? ท่านพระมหากัจจายนะทูลตอบแล้ว แสดงวรรณะสี่เหล่าว่าไม่ต่างกัน ครั้นพระเจ้ามธุรราชได้สดับแล้วก็เกิดความเลื่อมใส แสดงพระองค์เป็นอุบาสก ถึงพระเถรเจ้ากับพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ พระเถระเจ้าทูลห้ามว่า อย่าถึงท่านเป็นสรณะเลย จงถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสรณะของอาตมภาพ เป็นสรณะเถิด พระเจ้ามธุรราชตรัสถามว่า เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน? ท่านทูลว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว พระเจ้ามธุรราชตรัสว่า ถ้าพระองค์ได้ทรงสดับว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่ใด แม้ใกล้ไกลเท่าใด พระองค์คงจักเสด็จไปเฝ้าให้จงได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว ข้าพระองค์ขอถึงผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานแล้ว กับพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่ง ข้อนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่าท่านพระมหากัจจายนะอยู่มาถึงภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ปรินิพพานฯ..



ข้อควรกำหนด

ภัทเทกรัตตสูตร ที่ได้ชื่อเช่นนี้ เพราะกล่าวถึงบุคคลผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาทว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ เนื้อความในพระสูตรนี้มีว่า “วันหนึ่งพระศาสดาทรงแสดงธรรมว่า ผู้มีปัญญาไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรจะมุ่งหายสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะว่าสิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละเสียแล้ว สิ่งใดยังไม่มาถึงสิ่งนั้นก็ยังไม่ได้ไม่ถึง ผู้ใดเห็นแจ้งธรรมที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้าในที่นั้น ๆ ในกาลนั้น ๆ ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว พึงให้ธรรมนั้นเจริญเนือง ๆ ความเพียรควรทำเสียในวันนี้แล ใครเล่าจะพึงรู้ว่าความตายจักมีต่อพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดเพี้ยนต่อมัจจุราชที่มีเสนาใหญ่ไม่มีเลย ผู้รู้ที่เป็นคนสงบ ระงับย่อมกล่าวสรรเสริญผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้ว่าผู้มีราตรีเดียว ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เสด็จลุกเข้าไปสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ช่องเพื่อกราบทูลถามความแห่งคำที่ตรัสโดยย่อให้เข้าใจกว้างขวาง เห็นความสามารถของพระมหากัจจายนะ จึงไปหาอาราธนาท่านอธิบาย ท่านอธิบายให้ฟังว่าท่านผู้มีอายุ เรารู้ความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้ว โดยย่อนั้นตามความพิสดารว่า เมื่อบุคคลคิดว่า ในกาลล่วงแล้วตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย ใจกับอารมณ์ที่เกิดกับใจของเรามีแล้วอย่างนั้น ความกำหนัดพอใจในสิ่งเหล่านั้นก็ผูกพันวิญญาณ เพราะวิญญาณอันความกำหนัดพอใจผูกพันแล้ว ผู้นั้นก็เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ ชื่อว่าตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่คิดอย่างนั้นความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ก็ไม่ผูกพันวิญญาณได้ ผู้นั้นก็ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ ผู้ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ ชื่อว่าไม่ตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว บุคคลตั้งจิตไว้เพื่อหมายจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วว่า ในกาลไกลข้างหน้า นัยน์ตากับรูป เป็นต้นของเราจักเป็นอย่างนี้ เพราะความตั้งจิตอยางนั้นเป็นปัจจัย ผู้นั้นก็เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่ามุ่งหมายสิ่งที่ยังไม่มาถึง บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะหมายได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วอย่างนั้น ก็ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ไม่เพลินเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่มุ่งหมายสิ่งที่ยังไม่มาถึงแล้ว นัยน์ตากับรูปอย่างละสอง ๆ อันใด เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถ้าว่าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ผูกพันวิญญาณได้แล้ว บุคลก็เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ ผู้เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ ชื่อว่าง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดเฉพาะหน้า ถ้าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ไม่ผูกพันวิญญาณได้ บุคคลก็ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ตามความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ก็จงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามความนั้นเถิด พระองค์ทรงเล่าอย่างไร จงจำไว้อย่างนั้นเถิด ภิกษุเหล่านั้น ลาพระมหากัจจายนะกลับมาเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลความนั้นให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะว่า ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าท่านถามความนั้นกะเราแม้เราก็คงเล่าเหมือนกัจจายนะเล่าแล้วอย่างนั้น ความของธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้น อย่างนั้นแล ท่านทั้งปวงจำไว้เถิด”



มธุรสูตร ที่ได้ชื่อเช่นนั้น เพราะกล่าวถึง พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร มีใจความว่า “ครั้งหนึ่ง พระมหากัจจายนะอยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรเสด็จไปหา ตรัสว่า พวกพราหมณ์ถือว่า พวกเขาเป็นผู้ประเสริฐบริสุทธิ์เกิดจากพรหม ท่านเข้าใจว่าอย่างไร? พระมหากัจจายนะทูลตอบว่า นั่นเป็นแต่คำบันลือของเขา ท่านชักอุทาหรณ์มาแสดงเป็นข้อ ๆ ที่วรรณะ ๔ เหล่านั้นไม่ต่างอะไรกันดังนี้



๑. ในวรรณะ ๔ เหล่านี้ วรรณะเหล่าใดเป็นผู้มั่งคั่ง วรรณะเดียวกัน และวรรณะอื่น ย่อมเข้าเป็นสาวกของวรรณะนั้น

๒. วรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เบื้องหน้าแต่มรณะ วรรณะนั้นย่อมเข้าสู่อบายเสมอกันหมด ไม่มีพิเศษ

๓. วรรณะใดประพฤติกุศลกรรมบถ เบื้องหน้าแต่มรณะ วรรณะนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกันหมด

๔. วรรณะใดทำโจรกรรม ปรทาริกกรม วรรณะนั้นต้องรับอาชญาเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น

๕. วรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือ และได้รับบำรุงและได้รับคุ้มครองรักษาเสมอกันหมดฯ..




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab17.htm

Butsaya
06-01-2012, 08:36 PM
เอตทัคคะ หมวดภิกษุ - พระมหากัจจายนเถระ เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้



http://youtu.be/T7xskvi_8l0


ให้เสียงโดย : พระมหาธีรนาถ อคฺคธีโร


ขออนุโมทนาสาธุกับทุกท่านที่เข้ามารับชมรับฟังแล้วเกิดกุศลจิตทุกท่านค่ะ
ขอขอบคุณที่มาของการอัปโหลด :: โดย hiphoplanla