PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระปิงคิยเถระ



DAO
11-12-2008, 10:48 AM
พระปิงคิยเถระ


ชาติภูมิ

ท่านพระปิงคิยะ เกิดในสกุลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส ได้ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศล ออกจากตำแหน่งปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิล ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ปิงคิยมาณพได้ออกบวชติดตามด้วยและอยู่ในมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีได้ผูกปัญหาส่งไปให้ทูลถามพระบรมศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธฯ



ทูลถามปัญหา ๒ ข้อ

ปิงคิยมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนสุดท้ายว่า



ปัญหาข้อที่ ๑

ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนแก่แล้ว ไม่มีกำลัง มีผิวพรรณเหี่ยวย่นแล้ว ดวงตาของข้าพระพุทธเจ้าก็เห็นไม่ชัดนัก หูก็ฟังไม่ชัด ขอข้าพระพุทธเจ้าอย่าเป็นผู้หลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า



พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ท่านเห็นว่า ชนทั้งหลายประมาทแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละความพอใจในรูปเสีย จะได้ไม่เกิดอีก



ปัญหาข้อที่ ๒



ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ เป็นสิบทิศทั้งทิศเบื้องบนเบื้องต่ำ ที่พระองค์ไม่เคยเห็น ไม่เคยฟัง ไม่เคยทราบ ไม่ได้รู้แล้วแม้แต่น้อยหนึ่งมิได้มีในโลก ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติชราในชาตินี้เสีย



พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์อันตัณหาครอบงำ มีความเดือดร้อนเกิดขึ้น อันชราถึงรอบด้านแล้ว เหตุนั้น ท่านจงอย่าประมาท ละตัณหาเสีย จะได้ไม่เกิดอีก



ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ปิงคิยมาณพได้เพียงดวงตาเห็นธรรม คือได้บรรลุเพียงโลดาปัตติผล (ในโสฬสปัญหา ฉบับหอสมุด ท่านอ้างอรรถกถาว่า ท่านพระปิงคิยะ บรรลุธรรมจักษุ คือ อนาคามิมรรคญาณฯ) เพราะเวลาผังพยากรณ์ปัญหา มีจิตฟุ้งซ่านคิดถึงพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ว่า ลุงของเราหาได้ฟังธรรมเทศนาที่ไพเราะอย่างนี้ไม่ อาศัยโทษที่จิตฟุ้งซ่าน เพราะความรักใคร่ในอาจารย์ จึงไม่อาจทำจิตให้สิ้นจากอาสวะได้ฯ ในลำดับนั้น ปิงคิยมาณพพร้อมด้วยมาณพสิบห้าคนทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ครั้นท่านปิงคิยมาณพได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลลาพระบรมศาสดากลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์แล้ว แสดงธรรมเทศนาแก้ปัญหาสิบหกข้อนั้นให้ฟัง ภายหลังได้สดับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ได้บรรลุพระอรหัตผล ส่วนพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ได้บรรลุธรรมาภิสมัยแต่เพียงชั้นเสขภูมิ (อนาคามิผล) ท่านพระปิงคิยะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานฯ



ข้อควรกำหนด



หลักพิสูจน์ว่า มาณพ ๑๖ คนบรรลุพระอรหัตต์ มาณพ ๑๖ คนได้สำเร็จพระอรหัตผลตามลำดับ เพราะมีหลักพิสูจน์ว่า ตอนที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมเทศนาจบลง ทรงชี้แจงว่า เมื่อกาลเป็นที่จบลงแห่งธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง ๆ ของมาณพนั้น ๆ ต่างก็พากันได้บรรลุพระอรหัตต์ทุก ๆ ท่าน เว้นแต่ปิงคิยมาณพผู้เดียวเท่านั้น ได้เพียงธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรม



ความเลื่อมใสแห่งบุคคล ๔ จำพวก พระอรรถกถาจารย์พรรณาถึงบุคคล ๔ จำพวก อันจะพึงเลื่อมใสได้ด้วยอาการต่างกัน คือ



๑. รูปัปปมาณิกา ถือประมาณในรูป คือ พอใจในการดูการเห็นบุคคลจำพวกนี้ จะชักจูงให้เลื่อมใสได้ โดยการให้ได้เห็นการแสดงท่าทางต่าง ๆ อันเนื่องจากการทำพิธี อย่างมีแห่พระพุทธรูปเป็นต้น

๒. โฆสัปปมาณิกา ถือประมาณในเสียง คือ ชอบฟังเสียง บุคคลจำพวกนี้ จะชักจูงให้เลื่อมใสได้ โดยการให้ได้ฟังเสียงอันไพเราะ เช่นการเทศนาโดยทำนอง มีเทศน์มหาชาติเป็นต้น

๓. ลูขัปปมาณิกา ถือประมาณในของเศร้าหมอง ชอบการประพฤติปอน บุคคลจำพวกนี้จะชักจูงให้เลื่อมใสได้ โดยการให้ได้เห็นการประพฤติปอน มีการครองผ้าเก่าคร่ำคร่าเป็นต้น

๔. ธัมมัปปมาณิกา ถือประมาณในธรรม ชอบใจเฉพาะข้อปฏิบัติ บุคคลจำพวกนี้จะชักจูงให้เลื่อมใสได้ โดยการให้ได้ฟังธรรมอันมุ่งกล่าวเฉพาะข้อปฏิบัติ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab33.htm