PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : บัณฑิต



DAO
10-27-2008, 10:52 AM
บัณฑิต


ปัจจุบันในวงสนทนาทั่วๆ ไป มีอยู่เรื่องหนึ่งที่มักจะหยิบยกเอามาพูดคุยกันเสมอคือ "ปัญหาบัณฑิตตกงาน" ลักษณะการพูดคุยกันนั้นมีความกังวลใจถึงจำนวนบัณฑิตที่นับวันแต่จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานที่จะรองรับมีไม่เพียงพอ ทำให้การเป็นบัณฑิตนั้นไร้ค่าและจะกลายเป็นปัญหาของสังคมไทยขึ้นมาใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง

"บัณฑิต" ที่พูดถึงกันในวงสนทนานี้ กับในคำสอนที่ว่า"คบกับบัณฑิตเป็นมงคลชีวิตอันสูงส่ง" น่าจะมีความหมายแตกต่างกัน จึงควรจะได้ทำการศึกษาดู อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้าง

"บัณฑิต" แปลตามอักษรว่า"ผู้มีความรู้"เป็นคำที่มีใช้อยู่ในคำสอนทางศาสนามาแต่เดิม ต่อมานักวิชาการทางการศึกษาได้นำคำนี้มาใช้เป็นสิ่งวัดภูมิความรู้ของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา กล่าวคือ ถ้าสำเร็จปริญญาตรีก็เรียกว่า "บัณฑิต" จบปริญญาโทก็เรียก "มหาบัณฑิต" จบเป็นปริญญาเอกก็เรียก "ดุษฎีบัณฑิต" การเป็นบัณฑิตแบบนี้ดูได้ไม่ยากคือ ดูกันที่เปลือกนอก ดูที่ "ปริญญา" ผู้ใดมีปริญญา ผู้นั้นก็คือบัณฑิต และที่พูดถึงกันในวงสนทนาทั่วๆ ไป ดังกล่าวข้างต้น ก็หมายถึงบัณฑิตตามความหมายนี้

แต่คำว่า "บัณฑิต" ตามความหมายเดิมที่ท่านใช้อยู่ในคำสอนทางศาสนานั้น มิได้หมายเอาเพียงเป็นผู้มีความรู้อย่างเดียว แต่หมายถึง เป็นผู้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความรู้ การเป็นบัณฑิตจึงมิได้ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา ถึงแม้จะเรียนมากมีปริญญายืดยาว หากไม่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความรู้ก็หาเรียกว่า บัณฑิตไม่ อาจจะเข้าลักษณะความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดก็ได้

"การมีความรู้" กับ "การดำรงชีวิตอยู่ด้วยความรู้" นั้นแตกต่างกัน

การมีความรู้เกิดจากการศึกษา ตามตำรับตำรา หรือจากครูบาอาจารย์จนเข้าใจเนื้อหาวิชาการที่ศึกษานั้นอย่างแจ่มแจ้ง เมื่อถูกสอบถูกถามก็ตอบได้

ส่วนการดำรงชีวิตอยู่ด้วยความรู้ เกิดจากความสำนึกที่ซื่อสัตย์ต่อหลักการของวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา ใช้วิชาความรู้ให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและแก่ส่วนรวม ไม่มีวิชาการแขนงใดที่จะสอนให้คนเป็นคนใจแคบหรือให้นำวิชาความรู้ไปเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อสนองความอยากความมักได้ของตน

คนที่มีแต่ความรู้ หากไม่ดำรงชีวิตด้วยความรู้อาจจะเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมมากยิ่งขึ้นก็ได้ดังคำที่มักได้ยินอยู่เสมอๆ ว่า"ยิ่งรู้มากยิ่งโกงเก่งและโกงได้แนบเนียนดี"

การมีความรู้จึงเป็นการเพิ่มพูนเพียงคุณวุฒิเท่านั้น แต่การดำรงชีวิตอยู่ด้วยความรู้เป็นการเพิ่มพูนคุณธรรมบัณฑิตที่แท้จึงต้องมีทั้งคุณวุฒิและคุณธรรม

ความรู้ที่จะทำให้คนเป็นบัณฑิตที่แท้ได้ ก็ไม่มีมากมายเท่าใดนัก ตามคำสอนทางพุทธศาสนามีอยู่เพียง 3 ประการเท่านั้นคือ

1. รู้จักอะไรผิดอะไรถูก (ทิฏเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ) คำภาษาบาลีในวงเล็บถ้าแปลตามตัวอักษรต้องแปลว่า รู้จักสิ่งที่จะก่อประโยชน์ในปัจจุบัน ซึ่งฟังค่อนข้างเข้าใจยาก ความหมายที่แท้ก็คือ รู้อะไรผิดอะไรถูกนั่นเอง คนที่จะเป็นบัณฑิตทำอะไรต้องรู้ว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก มิใช่สักแต่ว่าก้มหน้าก้มตาทำโดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เห็นคนอื่นทำก็ทำตาม เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงทำ ก็ตอบไม่ได้ เข้าลักษณะโง่แต่ขยัน

2. รู้จักว่าควรหรือไม่ควร (โย จตฺโถ สมฺปรายิโน) เพียงแต่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกยังไม่พอ ต้องรู้อีกว่าสิ่งที่ถูกหรือผิดนั้น สมควรหรือไม่สมควรเพียงใด ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับสถานที่กาลเวลา บุคคล ฯลฯ ก็ได้ สิ่งที่ถูกต้องนั้นมิใช่ว่าจะเหมาะสมเสมอไปเช่น ยารักษาโรคขนานเดียวกัน แต่มิใช่ว่าจะใช้ได้กับคนไข้ทุกคน ต้องพิจารณาถึงภูมิต้านทานหรือโรคแทรกซ้อนของคนไข้แต่ละรายด้วย มิฉะนั้นยาที่ให้ไปแทนที่จะช่วยให้หายจากโรค อาจจะทำให้ตายเร็วเข้าก็ได้ ในทำนองเดียวกัน การทำงานทุกประเภท นอกจากจะยึดถือความถูกต้องแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ความเหมาะสมต่อสถานการณ์แวดล้อมด้วย ความรู้แบบนี้ภาษาทางศาสนาท่านใช้คำว่า รู้จักสิ่งที่จะเกิดติดตามมาในภายหน้า ดังคำบาลีที่อยู่ในวงเล็บ

3. รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ (อตฺถาถิสมยาธีโร) เมื่อรู้ว่าสิ่งที่จะทำนั้นถูกต้อง เหมาะสม จะต้องพิจารณาด้วยว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าหรือไม่เพียงใด สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นสำหรับคนกลุ่มใด ถ้าเกิดประโยชน์สำหรับคนส่วนน้อยหรือเพียงบางคนก็ใช้ไม่ได้หรือเกิดประโยชน์แต่ไม่ประหยัดก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน สิ่งที่จะถือว่าเป็นประโยชน์จึงต้องเป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ภาษาทางศาสนาท่านใช้คำว่าประโยชน์อย่างยิ่ง

ความรู้ทั้ง 3 ประการนี้ เราดูกันไม่ได้ในภายนอก ไม่มีเครื่องหมายใดๆ มาใส่กรอบติดข้างฝาให้เรามองเห็นได้เหมือนบัณฑิตทางวิชาการดังกล่าวข้างต้น แต่เราก็สามารถดูได้จากลักษณะของผู้ที่เป็นบัณฑิตนั่นเอง บัณฑิตมีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการ คือ

1. มีปกติคิดแต่ในสิ่งที่ดี (สุจินฺติตฺจินฺตี) คือ คิดแต่ในทางสร้างสรรค์ คิดถึงแต่สิ่งที่จะให้คุณประโยชน์แก่คนส่วนรวม พูดง่ายๆ ก็คือไม่เคยมีความชั่วผ่านเข้ามาในสมอง

2. มีปกติพูดแต่ในสิ่งที่ดี (สุภาสิตภาสี) ไม่เป็นคนปากเสีย ถึงจะพูดตำหนิก็พูดด้วยวาจาสุภาพ จะชมใครก็ไม่ชมจนเกินความจริง

3. มีปกติทำแต่ความดี (สุกตกมฺมการี) ทำอะไรต้องรอบคอบ ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม ถึงแม้จะยากจนขัดสนสักปานใด ก็จะไม่ยอมทำในสิ่งที่ผิดเพื่อแก้ความยากจนนั้น พร้อมที่จะอยู่อย่างยาจก จะไม่ยอมให้ใครประณามว่าเป็นโจรโดยเด็ดขาด

นักปกครอง ซึ่งมีภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขและต้องปฏิบัติหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่จะนำบริการของรัฐไปสู่ประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเป็นบัณฑิตให้เกิดขึ้นในตน โดยมีคุณธรรมเป็นฐานและมีคุณวุฒิเป็นเครื่องประดับคุณวุฒิจะเสริมสร้างความมีสง่าราศีเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป คุณธรรมจะเสริมสร้างบารมีให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน

คุณวุฒิเราสามารถจะหาได้ด้วยการศึกษาจากมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งกรมการปกครองก็ส่งเสริมให้ข้าราชการฝ่ายปกครองได้เพิ่มพูนความรู้อยู่แล้ว ส่วนคุณธรรมทุกคนสามารถที่จะสร้างให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองได้ โดยสำนึกรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบรู้ผิดรู้ถูก ควรไม่ควร ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ในที่สุดความเป็นบัณฑิตก็จะเกิดขึ้นและศรัทธาของประชาชนก็จะติดตามมาเอง

ความเป็นบัณฑิตจึงเป็นสิ่งพึงปรารถนาของสังคมอยู่เสมอ


ขอขอบคุณที่มาคะ http://manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=1918748915194