PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระพากุลเถระ



DAO
11-12-2008, 12:43 PM
พระพากุลเถระ

ชาติภูมิ

ท่านพระพากุละ เป็นบุตรมหาเศรษฐี ในพระนครโกสัมพี ท่านมีนามว่า “พากุละ” ด้วยเหตุที่ท่านอยู่ในตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งสองหรืออีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้อันตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งสองชุบเลี้ยงฯ



เหตุที่ชื่อพากุละ

ดังมีเรื่องราวปรากฏในตำนานว่า เมื่อท่านเกิดได้ ๕ วัน มารดาบิดาพร้อมด้วยประยูรญาติจัดแจงทำการมงคลโกนผมไฟ และขนานนามท่าน พี่เลี้ยงนางนมได้พาท่านไปอาบน้ำชำระเกล้าที่แม่น้ำคงคา ในขณะนั้นมีปลาใหญ่ตัวหนึ่งแหวกว่ายมาตามกระแสน้ำ มาแลเห็นทารกนั้นเข้าสำคัญว่าเป็นอาหาร จึงได้ฮุบทารกนั้นกลืนเข้าไปในท้อง นัยว่าทารกนั้นเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก เมื่ออยู่ในท้องปลาไม่ได้รับอันตรายใด ๆ แม้ความลำบากเพียงเล็กน้อยก็ไม่มี นอนสบายเหมือนคนนอนบนที่นอนตามธรรมดา แต่อาศัยบุญญาธิการของทารก บังเอิญให้ปลานั้นบังเกิดความเดือดร้อนกระวนกระวาย เที่ยวกระเสือกกระสนแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำ เผอิญไปติดข่ายของชาวประมงชาวพระนครพาราณสี เมื่อชาวประมงนั้นปลดปลาออกจากข่าย ปลานั้นก็ถึงแก่ความตาย เขาจึงเอาปลานั้นไปเที่ยวเร่ขาย ตีราคาถึงพันกหาปณะ ในพระนครนั้นมีเศรษฐีคนหนึ่งมีทรัพย์มาก แต่เป็นคนไร้บุตรและธิดา พร้อมด้วยภรรยาได้ซื้อปลานั้นราคาพันกหาปณะ และได้แล่ปลานั้นออก จึงได้เห็นทารกนอนอยู่ในท้องปลา ครั้นได้แลเห็นทารกนั้นแล้วก็เกิดความรักใคร่ราวกะบุตร ได้เปล่งอุทานวาจาขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “เราได้ลูกในท้องปลา” ดังนี้ เศรษฐีและภรรยาได้เลี้ยงดูทารกนั้นไว้เป็นอย่างดี มิได้มีความรังเกียจเลย ครั้นกาลต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาทราบเรื่องราวนั้นเข้า จึงได้ไปสู่สำนักของพาราณสีเศรษฐี พอแลเห็นทารกนั้นจำได้ว่าเป็นบุตรของตน จึงขอทารกนั้นคืน แสดงเหตุผลตั้งแต่ต้นจนอวสานให้พาราณสีเศรษฐีนั้นทราบ พาราณสีเศรษฐีไม่ยอม เศรษฐีผู้เป็นบิดาเมื่อเห็นว่าจะไม่เป็นการตกลงกัน จึงได้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัยชี้ขาด พระองค์ได้ทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองช่วยกันอภิบาลรักษาชุบเลี้ยงทารกนั้น ไว้เป็นคนกลาง เศรษฐีทั้งสองนั้นได้ผลัดเปลี่ยนกัน รับทารกไปบำรุงเลี้ยงดูในตระกูลของตน ๆ มีกำหนดเวลาคนละ ๔ เดือน อาศัยเหตุตามเรื่องราวที่กล่าวมานี้ ทารกนั้นจึงมีนามปรากฏว่า “พากุละ” จำเดิมแต่กาลนั้นมาพากุลกุมาร ได้รับการอภิบาลเลี้ยงดูจากกระกูลเศรษฐีทั้งสองเป็นอย่างดี จนเจริญวัยขึ้น ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวไปประกาศพระศาสนาในพระนครพาราณสี พากุลกุมารพร้อมด้วยบริวารพากันเข้าไปเฝ้า เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้วก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์พยายามทำความเพียรเจริญสมณธรรม บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเพียง ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ตั้งแต่วันนั้นมา ท่านอุตส่าห์ประกอบกิจในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่า ตั้งแต่บวชมาในพระพุทธศาสนาประมาณได้ ๖๐ ปี ท่านไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย และเป็นผู้ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่ต้องทำการพยาบาลรักษาร่างกายด้วยเภสัชเลย โดยที่สุดผลสมอแม้ชิ้นหนึ่งท่านก็ไม่เคยฉัน ตามตำนานท่านกล่าวว่า การที่ท่านเป็นผู้มีโรคาพาธน้อยนั้นเป็นผลของบุญกุศลที่ท่านสร้างเวจกุฎี และให้ยาบำบัดโรคเป็นทานฯ



เอตทัคคะ

เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างผู้มีโรคาพาธน้อย กิจสำคัญที่ท่านได้ทำไว้ในพุทธศาสนามีปรากฏในตำนานว่า ท่านได้ทำให้อเจลกัสสปปริพาชกผู้เป็นสหายเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เข้ามาอุปสมบท จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหันต์ด้วยการกล่าวแก้ปัญหา พระพากุลเถระดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ก่อนแต่จะนิพพาน ท่านเข้าเตโชสมาบัติ นั่งนิพพาน ณ ท่ามกลางระหว่างภิกษุสงฆ์ เมื่อท่านนิพพานแล้ว เตโชธาตุก็บังเกิดเป็นไฟไหม้สรีระร่างกายของท่านให้หมดไป ณ ที่นั้นฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab68.htm