PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ผู้จะสอนใคร ต้องเป็นผู้ถูกสอนอย่างดีมาก่อน



DAO
10-27-2008, 11:50 AM
ผู้จะสอนใคร ต้องเป็นผู้ถูกสอนอย่างดีมาก่อน
รู้จักรับฟังด้วยใจเป็นกลาง มีศิลปะและปัญญา


ปุจฉา เรื่องของฌาน 4 กับญาณ 16

กระผมขอเรียนถามว่า ฌาน 4 กับ ญาณ 16 นั้นแตกต่างกัน หรือมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ขอบพระคุณขอรับ

วิสัชนา

คุณถามเหมือนจะได้ญาณกับเขาแล้ว ฌาน 4 ได้แก่ ปฐมฌาน มีลักษณะ 5 อย่างคือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตาทุติยฌาน มีลักษณะ 3 อย่างคือ ปีติ สุข เอกัคคตา ตติยฌาน มีลักษณะ 2 อย่างคือ สุข กับ เอกัคคตา จตุตฌาน มีลักษณะ 2 อย่างคือ อุเบกขา กับ เอกัคคตา ญาณ 16 ได้แก่วิปัสสนาญาณ 16 ขั้นจนถึงนิพพาน

1. ญาณกำหนดนามรูป เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ

2. ญาณกำหนดเหตุปัจจัยของนามรูป

3. ญาณพิจารณานามรูปด้วยหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

4. ญาณหยั่งรู้ความเกิดดับแห่งนามรูป

5. ญาณหยั่งเห็นชัดความดับ

6. ญาณมองเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว

7. ญาณเห็นโทษของสังขาร

8. ญาณเห็นความเบื่อหน่าย

9. ญาณเห็นความปรารถนาพ้นทุกข์

10. ญาณพิจารณาทบทวนหาทางพ้นทุกข์

11. ญาณวางเฉยต่อสังขารทั้งปวง

12. ญาณทำความเห็นให้สอดคล้องกับหลักอริยสัจ

13. ญาณทำให้พ้นภาวะปุถุชน

14. ญาณรู้แจ้งในอริยมรรค

15. ญาณรู้แจ้งในอริยผล

16. ญาณใคร่ครวญทบทวนรู้ชัดตามขั้นตอน

ปุจฉา
ผู้รู้

ลักษณะของผู้รู้เป็นอย่างไรครับ

วิสัชนา

ลักษณะของผู้รู้ ก็คือ ที่รู้แบบพระพุทธะ มันจะต้องคล้าย กับดาบที่อยู่ในฝัก ไม่ว่าจะชักหรือไม่ชัก ยังไงมันก็เป็นดาบที่คมของมันอยู่ในตัวมัน แต่ลักษณะของผู้ที่ไม่รู้นั้นส่วนใหญ่ มักจะผยอง เป็นช้างชูงวง ปูชูก้าม กิ้งก่าชูคอ นั่นคือลักษณะของผู้ไม่รู้หรือรู้น้อย หรือรู้ไม่จริง และอวดรู้อยากรู้อะไรอย่างนั้น แต่ลักษณะของผู้รู้จริงๆ เรามอง เขาไม่ออกหรอก เหมือนกับดาบ ที่จะคมหรือไม่คม มันอยู่ในฝัก เราไม่รู้หรอกว่ามันคมขนาดไหน บางทีชักออกมาแล้วเรานึกว่ามันยาวใหญ่ ที่ไหนได้สั้นและกุดด้วย มันอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่เขาก็ถือว่าเป็นผู้รู้

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้บอกเป็นคำนิยามที่จะให้สื่อความหมายได้ หลวงปู่เคยเขียนบทโศลกสอนลูกหลานว่า

ลูกรัก...

คุณธรรมและหัวใจสำคัญของอริยธรรม สัจธรรม ศีลธรรม วิมุตติธรรม พระบริสุทธิธรรมนั้นก็คือความอ่อนน้อมถ่อมตน

ถ้าหลวงปู่ถามพวกเราว่า ระหว่างหญ้ากับภูเขาพวกเราจะเลือกเป็นอะไร คนทั่วไปมองว่าภูเขามันดี เพราะมันใหญ่ อะไรจะมาสู้ภูเขาได้ แต่ว่าอะไรกันแน่ที่มันอยู่เหนือเขา หญ้าใช่ไหม ถ้าจะเอาภูเขากับหญ้ามาเปรียบเทียบผู้รู้กับผู้ไม่รู้ ควรจะเปรียบ อย่างไร หญ้าควรจะเปรียบกับ ผู้รู้ ภูเขาควรจะเปรียบกับผู้ไม่รู้ แล้วอวดรู้

ดังนั้น ลักษณะของผู้รู้ไม่จำเป็นต้องแสดง หลวงปู่เคยพูด อยู่เสมอว่า ถ้าไม่พูดก็ไม่มีใครรู้ว่าเราโง่หรือฉลาด คนโบราณจึงมีคำพูดไว้ว่า 'พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง'

เพราะฉะนั้น ลักษณะของผู้รู้นั้นก็ดูได้จากหญ้า จากอะไรๆ ที่มันดูเล็กๆ แต่จะยิ่งใหญ่ในหัวใจของอะไรๆ ได้ทันทีที่มันต้องการใหญ่ มันไม่ยาวไม่สั้น ไม่เล็กไม่ใหญ่ ไม่กว้างไม่แคบอะไรทั้งนั้น แต่มันเป็นได้ทุกอย่าง นั่นคือ ลักษณะของผู้รู้

ลูกรัก...

เจ้าจงจำไว้ว่าพหูสูตและบัณฑิตปราชญ์ที่แท้จริงนั้น ก่อนที่เขาจะเป็นผู้รู้ที่ดีต้องเริ่มต้นจากการเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน ถ้ายังเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ได้ก็จะรู้เรื่องดีๆ ของใครไม่ได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเหลวไหลอย่างไร เขาย่อมรู้จักเลือกในสิ่งที่เขาควรจะฟัง

ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าทรงยกพระอานนท์ว่าเป็นพหูสูตผู้เลิศในความทรงจำ และสรรพรู้ รอบรู้ทุกๆ สูตรที่พระองค์ทรงแสดง เหตุผลที่พระอานนท์ได้รับยกย่องอย่างนี้ก็เพราะว่า พระอานนท์มีคุณธรรมชนิดหนึ่งก็คือเป็น ผู้ฟังที่ดี จึงได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต เป็นปราชญ์ราชบัณฑิต

ไม่ว่าพ่อจะไปที่ไหน จะเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังเขาด่าก็ยังนั่งพนมมือฟังอย่างดี เป็นผู้ฟังที่ดีเสมอ ทั้งๆ ที่สิ่งที่เขาด่ามันไม่จริง แต่เมื่อใดที่ควรจะแสดง และพูด คนที่เขาพูดให้พ่อฟังเขาก็ต้องฟังเราได้ เพราะพ่อแสดงให้เขาดูว่าพ่อเคารพในเหตุผลที่เขาแสดงก่อน เมื่อใดที่พ่ออยากพูดออกมา เขาก็ต้องเคารพในเหตุผลของพ่อและยอมรับฟังด้วย แต่ถ้าพ่อทำตัวไม่เคารพในเหตุผลของใครก่อน ถึงพ่อจะมีเหตุผลที่ดี เขาจะมาฟังพ่อได้ยังไง นี่คือ หัวใจของปราชญ์ราชบัณฑิต จะสอนใครตัวเองต้องเป็นผู้โดนสอนอย่างดีมาก่อน คือต้องเป็นผู้รับฟังเรื่องต่างๆ ของชาวบ้านด้วยใจเป็นกลางและมีศิลปะและปัญญา

ก่อนที่พวกเจ้าจะเป็นปราชญ์เป็นครูสอนใคร เจ้าต้องเป็นผู้รับการสอนที่ดีก่อน เมื่อถึงเวลาที่จะแสดงต่อใครหรือแสดงต่อคนที่สอนเจ้า เขาก็จะฟังและเคารพเจ้าอย่างดี เหมือนที่เจ้าฟังและเคารพเขาและได้ประโยชน์จากการฟังของเขาด้วย

ฉะนั้นเจ้าจงจำไว้ คิดจะเป็นครูเขา เป็นบัณฑิตคิดจะสอน ใครเจ้าต้องยอมโดนอบโดนรมให้ได้ก่อน การที่พ่อสามารถรู้โรค ของเขา รู้ทุกข์ของเขา เพราะพ่อเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ใช่ฟังเฉพาะหู แต่รับฟังทั้งลูกตา จมูก หู บางสัมผัสและบางอิริยาบถของเขา พ่อจึงสามารถวิเคราะห์ใคร่ครวญ พิจารณาสิ่งที่เขาเป็นเขามี แล้วแก้ไขสิ่งที่เขาบกพร่อง ได้ วิชาอย่างนี้พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า อาเทสนาปาฏิหาริย์


ขอขอบคุณที่มาคะ http://manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9510000089376