PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : หลวงปู่กินรี จนฺทิโย วัดกันตศิลาวาส



DAO
11-14-2008, 01:48 PM
http://www.amulet.in.th/forums/images/1468.jpg


หลวงปู่กินรี จนฺทิโย วัดกันตศิลาวาส อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย กำเนิดในสกุล "จันศรีเมือง" เดิมท่านมีชื่อว่า "กลม" โยมบิดาชื่อ โพธิ์ โยมมารดาชื่อ วันดี เกิดเมื่อวันพุธที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๙ ตรงกับปีวอก แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ รศ. ๑๑๕ ณ บ้านหนองฮี ตำบลปลาปาก อำเภอหนองบึก (อำเภอเมือง) ปัจจุบัน เป็นตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม มีพี่น้อง ๗ คน หลวงปู่เป็นลูกหล้าน้องสุดท้อง ด้วยฐานะทางครอบครัวที่ประกอบอาชีพชาวนา และมีพี่น้องหลายคน แม้จะมีใจรักในการศึกษา แต่ก็ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ จึงได้รับการศึกษาสามัญเบื้องต้น

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

เมื่ออายุ ๑๐ ขวบ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดหนองฮี ได้ศึกษาหนังสือธรรม หนังสือผูก ทั้งภาษาขอม ภาษาไทยน้อยหรืออักษรธรรมและภาษาสมัยไทยปัจจุบัน เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทที่วัดเกาะแก้ว เขตอำเภอธาตุพนม ต่อมาด้วยความห่วงใยบิดา-มารดา และได้รับการขอร้องด้วยความเป็นบุตรคนเล็กท่านจึงลาสิกขาตามความต้องการของโยมพ่อและโยมแม่ ใช้ชีวิตฆราวาสไม่ราบรื่นและไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เป็นนายฮ้อยวัวควายก็ขาดทุนอย่างหนัก หลวงปู่เล่าว่า เพราะการกระทำของท่านพรากพ่อ-แม่-ลูก วัว ควาย ที่ขายไปถิ่นต่างๆ ย่อมเป็นบาปอย่างมหันต์ ผลกรรมจึงย้อนตอบสนองให้ต้องสูญเสียภรรยาหลังจากคลอดบุตรได้ไม่นาน และได้สูญเสียลูกอันเป็นสุดที่รักซ้ำอีก เพราะทารกน้อยขาดนมจากผู้เป็นแม่ ความสูญเสียอันใหญ่หลวงของท่านทำให้เป็นทุกขเวทนา ความอาลัย อาวรณ์ ความโศกเศร้า ทับถมเพิ่มทวีความทุกข์ยิ่งขึ้นด้วยความทุกข์เป็นกุศลปัจจัยผลักดัน และบันดาลใจให้ท่านก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์สู่ความเป็นบรรพชิตในบวรพุทธศาสนา อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดศรีบุญเรือง ตำบลกุดตาไก้ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ (อายุครบ ๒๕ ปี พอดี) โดยมีพระอาจารย์วงศ์ เป็นพระอุปชฌาย์ มีพระอาจารย์พิมพ์กับพระอาจารย์พรหมา เป็นพระคู่สวด ได้ชื่อใหม่ จากพระอุปัชฌาย์ จาก "กลม" เป็น "กินรี" ฉายาว่า "จนฺทิโย" หลังจากอุปสมบท หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหนองฮี ได้สงเคราะห์ญาติหลานๆ ด้วยการให้ความรู้เรื่องภาษาไทย อบรมสั่งสอนการอ่านเขียนภาษาไทย หลวงปู่เป็นตัวอย่างแห่งความมุ่งมั่นจริงจังและพากเพียร ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองฮี ท่านได้ขุดลอกสระน้ำขนาดใหญ่ ด้วยตัวของท่านเอง จนเป็นผลสำเร็จให้วัดและชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มีน้ำอุปโภคบริโภคมาจนทุกวันนี้

การแสวงหาธรรมปฏิบัติได้เกิดขึ้น เป็นช่วงตอนปลายของทศวรรษแรกของการอุปสมบทด้วยการเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนพระกรรมฐานกับท่านพระอาจารย์หลวงพ่อทองรัตน์ กนฺตสีโล ที่สำนักบ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นจุดเกิดและเป็นก้าวแรกที่ท่านรับเอาพระกรรมฐานเข้าไว้ในจิตของท่าน หลวงปู่ได้ศึกษาการปฏิบัติ ภาวนากับครูอาจารย์ระยะหนึ่ง ท่านก็เดินทางกลับมาอยู่ที่วัดบ้านเกิดและไปกราบครู อาจารย์ร่วมธุดงค์ ไปมาหาสู่อยู่เสมอ ท่านได้นำเอาข้อปฏิบัติ พระธรรมกรรมฐานมาอบรมสั่งสอนชาวบ้านหนองฮี ได้สงเคราะห์โยมมารดาและญาติด้วยการบวชชี และได้จัดตั้งสำนักสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีในบ้านเกิด ชื่อว่า "สำนักสงฆ์เมธาวิเวก"

ในระหว่างที่หลวงปู่ไปมาหาสู่เพื่อคารวะ และปฏิบัติธรรมในสำนักของพระอาจารย์ทองรัตน์นั้น ท่านอาจารย์ทองรัตน์ได้พาหลวงปู่เดินทางไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสนากรรมฐานผู้มีชื่อเสียงและเกียรติคุณเลื่องลือโด่งดังมาก ในขณะที่หลวงปู่มั่นธรรมจารย์ผู้มีปรีชาสามารถ พำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เพื่อรับโอวาทจากท่าน หลวงปู่มั่นท่านได้อบรมสั่งสอนธรรมแก่หลวงปู่กินรี ถึงข้อปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้น ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่การกระทำศีล ให้สมบูรณ์บริบูรณ์พร้อมๆ ไปกับการเจริญ สมาธิ ภาวนา เพื่อจะทำจิตให้สงบระงับจากอารมณ์ทั้งปวง เพราะความที่จิตปลอดจากอกุศลว่างเว้นจากอารมณ์ อันเกิดจากการสัมผัสทางอายตนะ คือ ที่ตั้งแห่งการกระทบมี ๖ คู่ อันได้แก่ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับการสัมผัสทางกาย และใจที่กระทบกับอารมณ์ในภายในที่ทำให้เกิด เวทนาความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้ดี รู้ชั่ว รู้สวย รู้ไม่สวย รู้น่ารัก รู้ไม่น่ารัก ทั้งหลายแล้ว จิตใจก็ย่อมจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว อารมณ์นั้นก็ได้แก่พระกรรมฐาน หมายถึง การเอาพระกรรมฐานเข้ามาตั้งไว้ในใจความตั้งมั่นของจิตในลักษณะการเช่นนี้ ย่อมจะทำจิตให้สงบอย่างเดียว เป็นความสงบที่สะอาดและบริสุทธิ์ผุดผ่องใส

หลังจากนั้นแล้วจึงหันมาพิจารณาธาตุ ทั้ง ๔ อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม และพิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ให้รู้ว่าธาตุขันธ์และรูปนามทั้งหลายเหล่านี้ แท้จริงก็คือบ่อเกิดของความทุกข์โศกร่ำไรรำพันนานาประการทั้งปวงนั่นเอง

หลวงปู่มั่นท่านได้อบรมสั่งสอนข้อธรรมแก่หลวงปู่กินรีเป็นประจำ และเมื่อท่านพบหน้าหลวงปู่กินรี ท่านมักจะเอ่ยถามไปว่า

"กินรี ได้ ที่อยู่แล้วหรือยัง? "

คำถามของหลวงปู่มั่นนั้นมิได้หมายถึงที่อยู่ในวัดปัจจุบัน แต่ท่านถามถึงส่วนลึกของใจว่ามีสติตั้งมั่นหรือยัง ถ้ายังท่านก็จะกล่าวอบรมต่อไป ซึ่งส่วนมากหลวงปู่มั่นท่านจะเน้นให้เห็นถึงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ เพราะเกิดจากอวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้งในความเป็นของไม่เที่ยง ในความเป็นของเสื่อมโทรมของธาตุขันธ์ทั้งหลาย เป็นเหตุ และเพราะความไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงวามันมิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่รู้จักความไม่เที่ยงไม่รู้จักความเป็นทุกข์และไม่รู้ความเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนตามความเป็นจริงแล้ว อาสวะกิเลส คือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ย่อมครอบงำจิตของคนๆ นั้นให้มืดมัว เร่าร้อนและเป็นทุกข์ได้ในที่สุด

หลวงปู่มั่นท่านอบรมสั่งสอนหลวงปู่กินรีต่อไปว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีรากฐานสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติศีลเป็นเบื้องต้น และทำ สมาธิ ในท่ามกลางเพื่อจะให้เกิดปัญญา ความรู้แจ้งแทงตลอดในธาตุขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ในที่สุด และเพื่อจะให้รู้ความจริงก็ต้องหมั่นพิจารณาว่าร่างกายของเราที่ปั้นปรุงขึ้นมาจากธาตุทั้ง ๔ นี้ ประกอบอยู่ด้วยธาตุอีกอย่างหนึ่งซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๔ อย่าง ได้แก่

เวทนา คือ ความรู้สุข รู้ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์

สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ในอายตนะทั้งหลายที่มากระทบแล้วรู้สึกแล้ว

สังขาร คือ ความไกลเวียนปรุงเปลี่ยนไม่หยุดอยู่ของนามธาตุนั้น

วิญญาณ คือ ความรู้สึกได้

รวมเป็น ๔ อย่างด้วยกัน เรียกว่า นามขันธ์

เมื่อรวมเข้ากับธาตุ ๔ คือ รูปขันธ์ด้วยแล้วจึงเป็นขันธ์ รวมย่อแล้วเรียกว่า กายกับใจนี้เป็นสิ่งที่ไม่ยืนยงคงที่ ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ร่างกายเนื้อหนังของเรานี้เป็นของไม่สวยไม่งาม สกปรกโสโครกโดยประการทั้งปวง การภาวนาที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปในลักษณะนี้ นักภาวนาเมื่อรู้เห็น ซึ่งสภาพตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมจะมีความสะดุ้งกลัวต่อภัยและความเป็นโทษทุกข์ของสังขาร ไม่อยากประสบพบเห็นกับควาทุกข์ทรมารเหล่านี้อีกแล้ว เมื่อนั้นจิตก็ย่อมจะคลายจากความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ย่อมคลายความกำหนัดรักใคร่ชอบใจ ในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่ชอบใจ เมื่อจิตมีความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดเช่นนี้แล้ว ทุกข์ทั้งปวงก็ย่อมดับลงได้โดยแท้ ข้อที่ว่าทุกข์ทั้งปวงดับลงนี้เป็นเพราะอวิชชา คือความไม่รู้ ความเป็นจริงในธรรมดับไปนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้รู้ความเห็นในธรรมที่เรียกว่า ปัญญา นั้น เจริญถึงที่สุด ผลที่ได้รับก็คือ "ปัญญาอันสงบระงับและแจ่มแจ้ง" หลวงปู่มั่นท่านกล่าวอบรมหลวงปู่กินรี

หลวงปู่กินรีท่านได้เล่าเรื่องราวของท่านสมัยที่ท่านไปฝึกอบรมกรรมฐานกับหลวงปู่มั่น ให้สานุศิษย์ทั้งหลายฟังอยู่เสมอว่า ในขณะที่ท่านนั่งสมาธิบริกรรมภาวนาอยู่นั้น ก็รู้สึกว่าจิตค่อยๆ สงบเข้าไปทีละน้อยๆ แล้วปรากฏว่า ทั้งร่างกายและเนื้อหนังของท่านนั้นได้เปื่อยหลุดออกจากกันจนเหลือแต่ซากของกระดูกอันเป็นโครร่างที่แท้จริงในกายของท่านเอง "สิ่งที่ปรากฏในอาการอย่างนั้นมันชวนให้น่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก" หลวงปู่ท่านกล่าว

ประสบการณ์ในธรรมโดยลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นกับท่านอีกครั้งหนึ่ง ในเวลาต่อมาแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าในขณะนั้นท่านพำนักอยู่ที่ใด ซึ่งครั้งนี้ท่านกล่าวว่า "ในขณะที่ภาวนาอยู่นั้น ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในตัว เปลวเพลิงได้ลุกลามพัดไหม้ทั่วร่าง ในที่สุดก็เหลืออยู่แต่ซากกระดูกที่ถูกเผา และคิดอยู่ที่นั้นว่าร่างกายคนเราจะสวยงามแค่ไหน ในที่สุดมันก็ต้องถูกเผาอย่างนี้เอง" หลวงปู่กินรีท่านได้อธิบายถึงการภาวนาว่ามีอยู่ ๓ ขั้นด้วยกัน กล่าวคือ

๑. บริกรรมภาวนา คือ การภาวนาที่กำหนดกรรมฐาน ๔๐ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ เพื่อจะทำจิตให้ตั้งมั่น ขั้นนี้ยังเป็นเพียงการกำหนดนึก ยังไม่เป็นอารมณ์ที่แน่นแฟ้นจริงจัง มีการภาวนา "พุทฺโธ" เป็นอาทิ ข้อนี้เป็นการภาวนาในระดับที่จะทำให้เกิดบริกรรมนิมิต อันเป็นนิมิตข้อต้นเท่านั้น

๒. อุปจารภาวนา คือ การภาวนาที่เริ่มจะทำจิตให้ตั้งมั่นดีกว่าข้อแรกขึ้นนิดหนึ่ง ข้อนี้อุคหนิมิตจะปรากฏขึ้นได้

๓. อัปนาภาวนา เป็นการภาวนาที่แน่วแน่ อาจทำให้เกิดปฏิภาคนิมิตได้

หลวงปู่กินรี ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กับ ท่านหลวงปู่มั่นเพียง ๒ ปี เท่านั้น ส่วนเวลานอกนั้นท่านมักจะอยู่ตามลำพัง เป็นตัวของตัวเองมากกว่า ส่วนผู้ที่หลวงปู่กินรีจะลืมเสียมิได้ถึงแม้จะมาอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่นก็ตาม ท่านคือ พระอาจารย์ทองรัตน์ เพราะท่านเป็นผู้ที่ให้วิชาความรู้ในการปฏิบัติแก่หลวงปู่ นับว่าเป็นองค์แรกที่เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กินรี ซึ่งท่านมักจะไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ อีกอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้หลวงปู่กินรีชอบอยู่อย่างสัดโดษแต่ผู้เดียวนั้น เนื่องจากไม่ได้ญัตติเป็นธรรมยุตเช่นพระทั้งหลายรูปอื่นๆ

ด้วยเอกลักษณ์พิเศษที่ท่านมีอุปนิสัยสมถะไม่นิยมในหมู่คณะมาก ชอบความเป็นคนผู้เดียวตามครูอาจารย์ที่สั่งสอนทั้งหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล ทำให้ท่านแยกตัวไปเฉพาะตนและธุดงค์เรื่อยไป ตามป่าเขา ถ้ำ หุบเหว รื่นเริงและห้าวหาญที่จะแสวงหาโมกขธรรมการมุ่งเข้าป่าหาที่วิเวกที่สัปปายะ จึงเป็นเอกนิสัยของท่าน แล้วกลับมากราบคารวะบูรพาจารย์เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติและตรวจสอบอารมณ์ธรรม แล้วจะแยกจากหมู่คณะเสพเสนาสนะตามธรรมชาติตามอุปนิสัยของท่าน ปฏิปทาของหลวงปู่จึงนับได้ว่าได้ดำเนินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนหลวงปู่ธุดงค์ในเขตอีสานเหนือ เป็นปกติและบางครั้งข้ามไปฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงสู่ประเทศลาว เช่น ครั้งหนึ่งท่านธุดงค์ไปยังฝั่งลาวตรงข้ามกับบ้านแพงพร้อมกับพระอาจารย์อวน อคุโณ เพื่อไปกราบหลวงปู่ทองรัตน์

การเดินธุดงค์ครั้งยิ่งใหญ่ของท่านก็คือ การเดินธุดงค์สู่ดินแดงพุทธภูมิ พร้อมศิษย์คือ พระภิกษุยศและพระภิกษุหลอด จากบ้านเกิดบ้านหนองฮี มุ่งหน้าสู่ท่าอุเทน และเลียบริมฝั่งโขงไปทางเหนือตามสายน้ำสู่ต้นน้ำ ผ่านอำเภอศรีสงคราม บ้านแพง บึงกาฬ แล้วข้ามโขงไปกราบนมัสการพระพุทธบาทโพนสันของลาว หลวงปู่เดินทวนกระแสน้ำ ผ่านโพนพิสัยท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ สังคมปากชม จนกระทั่งถึงอำเภอเชียงคาน การธุดงค์ด้วยระยะทางนี้ยาวไกล ต้องทั้งอดทั้งทนบางคราวต้องอดอาหารถึง ๗ วัน ก็ยังเคยมี จนเป็นสิ่งปกติ แม้จะทุกข์ยากลำบากทุกข์เวทนาเพียงใดหลวงปู่ยิ่งยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติเคร่งครัดหนักยิ่งขึ้นท่านอบรมสอนศิษย์ให้พากเพียรรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ระมัดระวังยิ่งนักขณะธุดงค์ทางไกล การปฏิบัติต้องทุกอิริยาบถ จะนั่ง จะยืน จะนอน จะทำสิ่งใดในขณะใดๆ ต้องมีสติทุกขณะลมหายใจเข้าออก

หลวงปู่นำคณะศิษย์ผ่านป่าดินแล้ง ป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา บุกป่าปีนเขาลูกแล้วลูกเล่าผจญสัตว์ป่า ไข้ป่าที่ชุกชุมและคุกคาม จากเชียงคานสู่เขตอำเภอท่าสี จังหวัดเลย แล้วเข้าสู่เมืองปากลาย เมืองบ่อแตน แขวงไชยบุรีของลาว ได้พบพระอลัชชี ป่าตองเหลือง ที่นุ่งห่มใบไม้ และคนป่าถักแถ่ แล้วหลวงปู่วกเข้าสู่บ้านห้วยหมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ หลวงปู่เคยจำพรรษาอยู่กับเผ่าแม้ว ตลอดพรรษาได้ฉันแต่ข้าวโพด เพราะไม่มีข้าว

ออกจากบ้านน้ำปาดมุ่งสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วต่อไปสรรคโลก จึงขึ้นรถยนต์ไปลงที่บ้านระแหง อำเภอเมืองตาก ต่อจากนั้นหลวงปู่ก็เดินธุดงค์เข้าสู่แม่สอด ข้ามเข้าสู่ประเทศพม่าโดยไม่ได้ใช้หนังสือเดินทางใดๆ พระยศกับพระหลอดหมดความอดทนที่จะเดินทางต่อไปด้วยห่างไกลบ้านมานาน หลวงปู่จึงส่งกลับเขตแดนไทย ส่วนหลวงปู่กับหลานลูกพี่ชายที่บ้านห้วยหมุ่น น้ำปาดได้เดินทางต่อสู่ย่างกุ้ง และได้พำนักอยู่วัดแห่งหนึ่งในย่างกุ้งต่อมาได้รับศรัทธาจากอุบาสกชาวพม่าจึงได้รับนิมนต์ให้ไปอยู่ "วัดกุลาจ่อง" ต่อมาหลวงปู่ได้พบกับพระภิกษุไทยรูปหนึ่งได้นำทางไปสู่แดนพุทธภูมิ เพื่อนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ หลัง จากนั้นหลวงปู่ได้นำคณะเดินทางกลับพม่าและหลวงปู่จำพรรษาอยู่ในพม่าถึง ๑๒ ปี ทำให้หลวงปู่พูดภาษาพม่าได้

ในคืนหนึ่ง หลังจากที่หลวงปู่ภาวนา ... ได้จำวัดพักผ่อนและเกิดนิมิตรว่า โยมมารดาของท่านซึ่งบวชชี มานอนขวาง หลวงปู่รู้สึกแปลกใจในนิมิตร คิดว่าคงจะมีเหตุการณ์เกินขึ้นกับโยมมารดา ท่านจึงต้องเดินทางกลับบ้าน ทั้งที่ไม่คิดที่จะเดินทางกลับ คาดว่าหลวงปู่กลับโดยพาหนะรถยนต์ ระยะนั้นหลวงปู่มั่น จำพรรษาที่บ้านตองโขบ บ้านนามน พอหลวงปู่ทราบได้เข้าไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่นได้ถามว่า กินรี ได้ที่อยู่แล้วหรือยัง หลวงปู่ตอบว่า "ได้แล้วครับ" หลังจากนั้นหลวงปู่กินรี ได้เดินทางไปกลับบ้านหนองฮี ผ่านป่าช้าของหมู่บ้าน พบแต่เถ้าถ่านกองฟอนที่เผามารดา ท่านจึงนำคณะญาติพี่น้องทำบุญเก็บอัฐิของโยมมารดา ด้วยการทำบุญให้เป็นบุญ คือห้ามมิให้ฆ่าสัตว์ และไม่ให้ดื่มสุรา หลังจากนั้นหลวงปู่ได้ธุดงค์กลับไปยังพม่า ผ่านบ้านลานสาง จังหวัดตาก ได้จำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านมูเซอ ระหว่างนี้ท่านอาพาธด้วยโรคหัวใจ ฉันไม่ได้อยู่ประมาณ ๓ เดือน ซึ่งท่านเล่าว่า "ความเจ็บไข้ทางกายนี้ เมื่อเป็นหนักเข้ามันก็เป็นอุปสรรคต่อการภาวนาอยู่มากเหมือนกัน เป็นที่ตั้งแห่งนิวรณ์ ความฟุ้งซ่าน รำคาญทั้งหลาย บางครั้งก็ทำให้เกิดความเครียด ความสงสัยเคลือบแคลงลังเลใจ ไม่แน่ใจไปเสียทุกอย่าง สงสัยอาบติที่มีแก่ตัวสงสัยอย่างอื่นจนทำให้การภาวนาไม่สบาย ที่ทรงไว้ได้ดีก็คือศีล แต่ในที่สุดอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็สงบลง เพราะทางแพ่งพิจารณาอยู่ในอารมณ์" หลวงปู่ได้ยาพระโบราณบอกด้วยการจัดหาตามคำบอกของชาวเขา ทำให้หลวงปู่หายจากอาพาธอย่างน่าอัศจรรย์ท่านจึงตัดสินใจเปลี่ยนใจที่จะละสังขารที่พม่ากลับมาสู่มาตุภูมิ

ธรรมโอวาท

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย กลับมาพำนักอยู่สำนักสงฆ์เมธาวิเวก แล้วต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วัดกันตศิลาวาส แม้ว่าปฏิปทานของหลวงปู่จะไม่นิยมและเผยแพร่ศาสนาด้วยการเทศนาเชิงโวหารหรือคำพูด หลวงปู่เป็นตัวอย่างของการทำให้ดูปฏิบัติให้เห็นมากกว่าแต่อุบายธรรมคำสั่งสอนของท่านทรงปัญญาและลุ่มลึกมาก เช่น

- เตือนและให้สติหลวงปู่ชา ผู้เป็นลูกศิษย์ที่จะขอลากลับสู่บ้านเกิดว่า "ระวังให้ดีถ้าท่านรักใครคิดถึงใครเป็นห่วงใครผู้นั้นจะให้โทษแก่ท่าน"

- ให้รักษาศีลให้ดี ทำความเพียรให้มาก มันก็จะรู้เองเห็นเอง เป็นคำสอนที่หลวงปู่บอกกับลูกศิษย์เสมอ

- สตินี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราทราบระเบียบวินัยที่มีอยู่มากมายอย่างละเอียดรอบครอบแล้ว และตามรักษาได้อย่างครบถ้วน สติของเราก็จะต่อเนื่องกัน จิตใจก็จักจดจ่ออยู่แน่ในข้อวัตรปฏิบัติของตน ไม่มีโอกาสที่จะแส่ส่ายไปภายนอก ถ้าขาดสติ โอกาสที่จิตใจจะวิ่งไปตามอารมณ์ภายนอกมันก็มีมากขึ้น และอารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมครอบงำจิตให้หลงไหลมัวเมาได้ง่ายขึ้น

- ไม่ควรคลุกคลี ให้อยู่คนเดียวมากๆ สาธยายด้วยตัวเองให้มาก มีจิตใจกำหนดจดจ่ออยู่ในพระธรรมให้มากนี้เป็นการดีที่สุด

- สังขาร คือ ร่างกาย จิตใจนี้ เป็นของไม่เที่ยง และจะหาสาระแก่สารอะไรมิได้ โดยประการทั้งปวง

- จะให้ลูกเป็นคนดี ต้องทำดีให้ลูกดู

- บุรุษพึงพยายามไปกว่าจะสำเร็จประโยชน์

- ผู้ขยันในหน้าที่ การงานไม่ประมาทเข้าใจการเลี้ยงชีวิต ตามสมควรจึงรักษาทรัพย์ที่หามาได้

- คนโกรธที่วาจาหยาบ

- วาจา เช่น เดียวกับใจ

- ธรรมเป็นของแน่นอน แต่รูปเป็นของไม่แน่นอน

- กิเลสคือตัวมารอันร้ายกาจ แม่น้ำเสมอด้วยความอยากไม่มี

- ความอยากไม่มีขอบเขต ความอยากย่อมผลักดันให้คนวิ่งวุ่น

- โลกถูกความอยากนำไป ความอยากเป็นแดนเกิดของความทุกข์

ปัจฉิมบท

หลวงปู่พระอาจารย์กินรี จนฺทิโย ได้ยึดมั่นถือปฏิบัติตามบูรพาจารย์ใหญ่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล ที่อยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ไม่เปิดเผยตน เก็บตัว ไม่ชอบคนหมู่มาก ไม่มักมากไม่ต้องการความมีชื่อเสียง พูดน้อย ไม่ชอบเทศน์ถ้าไม่นิมนต์ให้เทศน์ หลวงปู่อยู่อย่างสงบๆ เหมือนพระผู้เฒ่าไม่มีอะไรดี

การปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่กินรี เพียงวิธีการสังเกตดูกิริยาภายนอกนั้นอยากที่จะเข้าใจ เพราะกิริยาพฤติกรรมที่แสดงออกกับภูมิจิต ภูมิธรรมภายในนั้นเป็นคนละเรื่อง ดังคำปรารถของพระอาจาย์ชา สุภทฺโท ครั้นปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่ ทั้งก่อนและหลังที่เดินธุดงค์สู่ภูลังกา นครพนม ได้กล่าวว่า ท่านเองทำความเพียรอย่างสาหัส เดินจงกรมทั้งวัน ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออกจนแผ่นดินทรุดทางเดินเป็นร่องลึกหลายต่อหลายร่องปฏิบัติมิได้หยุดหย่อน ยังไม่รู้ไม่เป็นอะไรแล้วท่านอาจารย์ปฏิบัติเพียงเดินจงกรมก็ไม่เคยเดินจะนั่งสมาธินานๆ ก็ไม่เห็นนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่แล้วจะไปถึงไหนกันแล้วหลวงปู่ชา ได้กล่าวภายหลังว่า เรามันคิดผิดไปท่านพระอาจารย์ทำความเพียรขั้นอุกฤกษ์มากต่อมากหลายต่อหลายปี รู้อะไรมากกว่าเราเป็นไหนๆ คำเตือนสั้นๆ ห้วนๆ แม้จะนานๆ ครั้ง แต่ก็เป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิด ไม่เคยเห็นมาก่อน อุปมาเหมือนแสงจันทร์กับแสงเทียน การปฏิบัติแท้ๆ นั้นไม่ใช่กิริยาอาการภายนอก ไม่ใช่การเดินจงกรมด้วยเท้า ไม่ใช่การนั่งสมาธิ มิใช่การศึกษาตำราตัวหนังสือ มิใช่เพียงคำพูดและมิใช่สิ่งที่จะยกเป็นตัวเป็นตนได้แต่การปฏิบัติภาวนาที่แท้จริงนั้น เป็นกิริยาภายใน เป็นอาการภายใน เป็นการปฏิบัติทางใจ นั่งนิ่งอยู่ที่จิต ทำอารมณ์ให้นิ่ง ทำจิตให้นิ่ง มีสมาธิจนเป็นหนึ่งอยู่ทุกขณะจิต ตลอดภาวนา ทุกเวลาทุกอริยาบทแม้การทำจิตอันใด ฉะนั้นการจะไปจับเอาการกระทำด้วยการนั่งสมาธิกายเดินจงกรมของครูบาอาจารย์นั้นไม่ได้และไม่ถูก

หลวงปู่กินรี เป็นพระที่ยึดมั่นในศีลธรรม อบรมลูกศิษย์อย่าประมาทในศีลแม้สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ในพระวินัยจะประมาทไม่ได้เด็ดขาด แม้เพียงการตากผ้าสงบจีวรแล้วมิได้เฝ้าดูรักษาหลวงปู่ก็ตำหนิพระลูกศิษย์ว่าประมาทในสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ การเป็นสมณะต้องเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เป็นอยู่ง่ายๆ กินแต่น้อยมีทรัพย์สิ่งของน้อยและไม่สะสม จะต้องทะนุถนอมรักษาใช้ให้นานๆ เป็นผู้ไม่สิ้นเปลืองมาก ถ้าใช้สุรุ่ยสุร่าย แสดงถึงการขาดสติในการประคับประคองตัวให้อยู่ในครอบร่างรอยของสมณะ แล้วจะมีอะไรเป็นเครื่องมือปฏิบัติภาวนา สตินั้นต้องมั่นคง และต่อเนื่องด้วยการสังวรระวังในวินัยสิกขาบท สติเราก็จะมั่นคงต่อเนื่อง ถ้าขาดวินัยย่อมขาดสติ จิตจะวิ่งไปตามอารมณ์ภายนอกอารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมครอบงำจิตให้หลงใหลมัวเมา การมีสติอยู่กับข้อวัตรพระวินัย ย่อมเป็นเครื่องกั้นอารมณ์ทั้งปวงและทำให้สติต่อเนื่อง จิตใจย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิจิตตลอดกิริยาบถ คำสอนของหลวงปู่จึงเป็นคำสอนที่ง่ายๆ เป็นการสอนด้วยข้อปฏิบัติและกระทำทันที

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย ท่านเป็นคนพูดน้อย แต่ละคำพูดที่พูดจึงมีแต่ความบริสุทธิ์และจริงใจท่านยึดถือคติธรรม "สติโลกสฺมิ ชาคโร" สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่เสมอ จงเอาสติตามรักษาจิตไว้ เพราะคนมีสติย่อมประสบแต่ความสุข จะพูดจะคิดจึงควรมีสติทุกเมื่อ ท่านมักจะอยู่คนเดียวไม่ชอบ คลุกคลีกับหมู่คณะ พยายามให้พระเณรในวัดมีการร่วมกันน้อยที่สุด ให้เร่งทำความเพียรอย่าได้อยู่ด้วยความเกียจคร้าน อย่าเป็นผู้พูดมาก เอิกเกริกเฮฮาไม่จำเป็นท่านจะไม่ให้ประชุมกัน แม้การสวดมนต์ทำวัตรยังให้ทำร่วมกันสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยตนเองอยู่แล้ว ให้อยู่คนเดียวทำคนเดียวมากๆ จิตจดจ่ออยู่ในพรรษาให้มาก โดยเฉพาะเตือนลูกศิษย์ให้อยู่ในป่าช้าให้มาก อนิสงฆ์ของการอยู่ในป่าช้าทำให้จิตใจกล้า องอาจจิตตื่นอยู่เสมอพิจารณาข้อธรรมได้ถี่ถ้วน เพราะจิตปราศจากนิวรณ์

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย เคยอยู่กับหลวงปู่เสาร์นานถึง ๖ ปี อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ๒ ปี และอยู่กับหลวงปู่ทองรัตน์ ๔ ปี หลังจากนั้นได้กราบคารวะบูรพาจารย์ให้ทั้งสามอยู่เนืองนิจท่านได้กล่าวกับพระอาจารย์ชา จึงประกาศประดิษฐานพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติธรรม ขยายไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก แต่ชีวิตปั้นหลายของหลวงปู่กินรี จนฺทิโย ทุกสิ่งทุกอยางปกติคือพูดน้อย เก็บตัวอยู่เรียบง่ายสงบระงับ หยุดการเดินทาง หยุดการธุดงค์ มีนานๆ ครั้งจะไปเยี่ยมพระอาจารย์ชา ผู้เป็นศิษย์ที่วัดหนองป่าพง ด้วยลักษณะนิสัยต้องการอยู่ตามลำพัง อยู่คนเดียว ไม่เปิดเผยตัวเอง จึงไม่มีผู้ใดที่จะเคยได้ยินคำพูดที่จะเป็นไปในทางโอ้อวดการมีดี การอวดคุณธรรมวิเศษจากหลวงปู่ ท่านสมณะที่สงบเสงี่ยมเจียมตน จึงไม่อุดมด้วยศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาส หลวงปู่ชา สุภทฺโท จึงส่งพระลูกศิษย์ ๒ รูปมาอุปัฏฐานดูแลท่าน

หลวงปู่มีโรคประจำตัว คือ ไออยู่เป็นนิจ เนื่องจากเกี่ยวกับปอดชื้น แต่ไม่ยอมให้หมอรักษาไม่ว่าท่านจะเป็นอะไร จะอาการหนักหรือไม่หนัก ท่านจะไม่ยอมให้ใครนำตัวท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเด็ดขาด อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด จนกระทั่งวันพุธที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก หลวงปู่จึงได้ละสังขารจากพวกเราไป สิริรวมอายุ ๘๔ ปี ๗ เดือน ๑๖ วัน ๕๘ พรรษา



ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=869&sid=14f684f3a8cf142b5e86c93310e7646e