PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ความเกี่ยวข้องกันซึ่งบุคคล



chocobo
11-15-2008, 09:51 AM
กราบนมัสการพระคุณเจ้าทุกรูป กราบสวัสดีมิตรธรรมทุกท่าน


วันนี้มีคำถามเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องกันของบุคคลแต่ละบุคคลน่ะครับ อยากทราบว่าเหตุปัจจัยใดที่ทำให้คนเรามาผูกพันธุ์สนิทสนมกัน เหตุปัจจัยใดที่ทำให้คนเราต้องทะเลาะแตกแยกกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น กุศลวิบาก-อกุศลวิบาก มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในทางไหน เช่น กุศลทำให้สนิท อกุศลทำให้แตกแยก อย่างนี้หรือเปล่า เพราะคนบางคนที่เขาสนิทกัน สนิทกันเพราะข้องด้วยอบายมุกสิ่งชักพาไปสู่อกุศลกรรมเหมือนกันก็เลยสนิทกัน บางคนก็ว่า คนนั้นดีเกินไป อยู่ด้วยแล้วเบื่อ

เลยอยากทราบว่าเหตุปัจจัยใดชักจูงเหล่าสัตว์ทั้งหลายให้มาสนิทสนมกัน หรือให้แตกแยกกัน มีอะไรบ้างน่ะครับ

แล้ว ผมเคยได้ยินว่า การที่เรามีจิตเป็นกุศลมาก จะส่งผลให้บุคคลรอบข้างรู้สึกอบอุ่น รู้สึกสบายใจ แต่ถ้าเรามีจิตเป็นอกุศลมาก คนรอบข้างก็จะรู้สึกกระวนกระวาย ไม่สงบ เรื่องนี้เป็นผมของกุศลจิตและอกุศลจิตจริงหรือเปล่า เพราะตัวบุคคลอาจจะรู้สึกไปเอง แล้ว กุศลจิตประเภทใดกับอกุศลจิตประเภทใดที่ส่งผลในส่วนนี้ครับ ใช่เมตตา กับ พยาปาทะ หรือเปล่าครับ หรือมีแตกย่อยไปอีก

อนุโมทนาสาธุกับกระทู้ตอบของทุกท่านครับ

ขอทุกท่านจงเร่งความเพียรเพื่อบรรลุนิพพานโดยเร็ว เทอญ

bb
11-15-2008, 11:33 AM
ขออนุญาตนำข้อความจาก
http://www.amulet.in.th/
มาเพื่อประกอบการพิจารณาครับ
นางแก้วคู่บารมี

เรียบเรียง โดย อังคาร

พระนางพิมพาและพระโพธิสัตว์นั้น ทรงเกิดมาเป็นคู่รักและเป็นคู่ครองกันมานับอเนกอนันต์ชาติ ผ่านความสุขและทุกข์ภัยของสังสารวัฏฏ์มาด้วยกันมากมายนับชาติไม่ถ้วน มีพบมีพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา แต่เมื่อใดที่ได้เกิดมาร่วมกัน ก็ส่งเสริมกันในการสร้างสมบุญบารมีโดยไม่ย่อท้อด้วยจิตที่เสมอกัน มีความผูกพัน ไม่โกรธไม่เคือง ไม่มีแม้เพียงสายตาที่ทอดดูกันด้วยความไม่พอใจ ทั้งสองได้เป็นคู่ครองกันมาจนถึงชาติอันเป็นที่สุด ซึ่งพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และพระนางพิมพาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

นับว่าทั้งสองพระองค์เป็น คู่บารมี กันอย่างแท้จริง

เหตุชักนำให้หญิงชายมีใจรักกัน..

ก่อนที่หญิงชายจะมีปณิธานอันยิ่งใหญ่ร่วมกัน เป็นคู่บุญบารมีกันได้นั้น ต้องผ่านความรู้สึกและความผูกพันด้วยความรักกันมาก่อน แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเล่า ..

บางคนบางคู่ เห็นหน้ากันเพียงครั้งเดียวก็หลงรักกัน
บางคนบางคู่ รู้จักศึกษานิสัยใจคอกันพอสมควร จึงเกิดความรัก
บางคนบางคู่ ได้เกื้อหนุนจุนเจือกัน นานไปก็เกิดเป็นความรัก
บางคนบางคู่ สนิทสนมกลมเกลียวเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็กแต่น้อย แล้วจึงค่อยแปรเปลี่ยน เป็นความรักเมื่อโตเป็นหนุ่มเป็นสาว
บางคนบางคู่ ได้สมหวังในความรัก ขณะที่บางคู่กลับต้องเลิกรา
บางคน ได้แต่หลงรักเขาข้างเดียว แต่เขาไม่เคยมีใจรักตอบ
บางคน เขามาชอบ พยายามทอดสะพานให้เรา แต่กลับไม่สนใจ..
ขณะที่บางคน ทั้งชีวิตกลับเงียบเหงา ไม่เคยมีลมรักพัดผ่านมาให้ชื่นใจเลย แม้แต่เพียงครั้งเดียว

ดูแล้วความรักของหญิงชายนี้ช่างวุ่นวายนัก จนน่าสงสัยว่ามีเหตุอะไรที่ทำให้หญิงชายมารักกัน หรือมีเหตุอะไรที่ทำให้หญิงชายนั้นไม่รักกัน มีผู้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องความรักของหญิงชาย ปรากฎในสาเกตชาดกที่ ๗ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุไรหนอ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ พอเห็นกันเข้าก็เฉยๆ หัวใจก็เฉย บางคนพอเห็นกันเข้า จิตก็เลื่อมใส"

พระพุทธองค์จึงทรงแสดงเหตุที่ทำให้หญิงชายรู้สึกรักกันไว้ ดังนี้

"ความรักนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน ๑ เหมือนดอกอุบลและชลชาติ เมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ น้ำและเปือกตม ฉะนั้น"

ในพระอรรถกถาพระไตรปิฎกขยายความว่า ความรักของหญิงชายนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุสองประการ คือ

๑. การได้เคยอยู่ร่วมกันมาในกาลก่อน เคยเป็นมารดาบิดา ธิดาบุตร พี่น้องชาย พี่น้องหญิง สามีภรรยา หรือเคยเป็นมิตรสหายกัน เคยอยู่ร่วมเคียงกันมา ความรักความผูกพันนั้นย่อมไม่ละ คงติดตามไปแม้ในภพอื่น

๒. ความเกื้อกูลช่วยเหลือกันในชาติปัจจุบัน

ความรักย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสองประการนี้

สารพัดคู่

หญิงชายที่รักกัน และมีความสัมพันธ์กัน เรียกว่าเป็นคู่กัน ลักษณะการเป็นคู่ของหญิงชายนั้นมีได้หลายแบบ คือ

คู่รัก ได้แก่คู่หญิงชายที่มีใจรักสมัครสมาน ปฏิบัติต่อกันในฐานะคู่รัก แต่ยังไม่ได้เป็นสามีภรรยากัน
คู่ครอง คือ หญิงชายที่ได้ตกลงอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันในชาติภพปัจจุบัน
เนื้อคู่ คือ หญิงชายที่เคยเป็นคู่ครองกันมาในอดีตชาติ แต่ในชาติภพปัจจุบันอาจเป็นหรือไม่ได้เป็นคู่ครองกันก็ได้
คู่แท้ คือ หญิงชายที่เป็นเนื้อคู่กัน เคยอยู่ร่วมกันในอดีตมามากกว่าคนอื่นๆ หญิงชายแต่ละคนอาจมีคู่แท้ได้หลายคน และเช่นเดียวกับเนื้อคู่ คือ คู่แท้อาจจะไม่ได้เป็นคู่ครองกันในชาติปัจจุบันก็ได้ หากทั้งสองฝ่ายไม่ได้มาเกิดร่วมกัน หรือทั้งสองฝ่ายมีวิบากจากถูกอกุศลกรรมมาตัดรอน
คู่เวรคู่กรรม คือ หญิงชายที่ได้เป็นคู่ครองกันในปัจจุบัน แต่เนื่องจากเหตุที่ทำให้ต้องมาครองคู่กันนั้นเกิดจากเคยทำอกุศลกรรมร่วมกันไว้ในอดีต จึงต้องมารับวิบากกรรมร่วมกัน หรือเคยอาฆาตพยาบาทกันมาก่อนในอดีต จึงต้องมาอยู่ร่วมกันเพื่อแก้แค้นกันตามแรงพยาบาทนั้น คู่ประเภทนี้มักจะมีเหตุให้มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ขัดอกขัดใจกัน อยู่ด้วยกันด้วยความทุกข์และเดือดร้อน หาความสุขไม่ได้
คู่บารมี คือ หญิงชายที่เป็นเนื้อคู่กัน เคยอยู่เป็นคู่ครองกันมากมากกว่าคู่อื่น และมีความตั้งใจที่จะเกื้อหนุนเป็นคู่ครองกันไป จนกว่าคู่ของตนจะได้สำเร็จในธรรมที่ปรารถนา ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ดังเช่นคู่ของพระโพธิสัตว์กับพระนางพิมพา

การปฏิตนเพื่อให้เป็นคู่ครองที่มีความสุข

หญิงและชายที่รักกัน คงปรารถนาที่จะให้คนรักของตนเป็นเนื้อคู่ที่เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน และคงอยากให้ความรักของตนมีแต่ความสุขตลอดไป แต่ความปรารถนาเช่นนี้ใช่ว่าจะสำเร็จสมความปรารถนาในทุกคู่รัก เพราะบางคู่อาจมีการพลัดพราก ความรักจืดจาง จากหวานกลายเป็นขม บางคู่แม้จะยังรักกัน แต่การทำมาหากินกลับฝืดเคือง ชีวิตมีแต่อุปสรรค เหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุกข์ที่เกิดเพราะความรัก เป็นวิบากที่เกิดจากอกุศลกรรมเก่าทั้งสิ้น

หากหญิงและชายปรารถนาที่จะมีความรักและชีวิตที่ครอบครัวที่เป็นสุข จะต้องเป็นผู้ไม่สร้างอกุศลกรรม ดังนี้

๑. มีความมั่นคงในคู่ครองของตน ไม่เจ้าชู้หลายใจ ไม่ทำให้คู่ของตนผิดหวังชอกช้ำใจ โดยเฉพาะต้องมีสติมั่นคงเมื่อได้มีโอกาสได้พบกับเนื้อคู่คนอื่นๆ ที่อาจผ่านเข้ามาในชีวิต ซึ่งการได้เคยอยู่ร่วมกันในกาลก่อนอาจทำให้จิตใจหวั่นไหวได้

๒. ไม่เป็นเหตุให้คู่ครองเขาต้องแตกแยกด้วยความอิจฉา ริษยา

๓. ไม่ล่วงศีลข้อ ๓

๔. ไม่ปรามาสพระอรหันต์ ดังหลักฐานปรากฎในพระไตรปิฎกว่าคนที่ปรามาสพระอรหันต์หญิงมักได้รับเศษกรรมในเรื่องของคู่ครอง

สัญญานคู่แท้

เนื่องจากคู่แท้ คือ คนที่เป็นเนื้อคู่กันมานานแสนนาน ความรักความผูกพันข้ามภพชาติจึงมีมากเหนือคู่แบบอื่น และอาจมีอธิษฐานร่วมกันมาแล้วในอดีตชาติ จึงพอจะสังเกตได้ว่าใครเป็นคู่แท้คู่บารมี

ลักษณะอาการที่แสดงเมื่อคู่บารมีมาพบกัน เช่น

เมื่อแรกพบก็รู้สึกคุ้นเคย อาจจำกันได้ อาจจะไม่รู้สึกว่ารักตั้งแต่แรกพบ แต่มีรู้สึกว่าผูกพันกันมากกว่า

ไม่ว่าทำสิ่งใดก็มักคล้อยตามกัน มีความคิดลงรอยกันมากกว่าปกติ

แม้อยู่ห่างไกลกัน ต่างจังหวัด ต่างบ้านต่างเมือง ก็มีเหตุชักนำให้ได้มาพบกันแบบแปลกๆ ด้วยหน้าที่การงาน ด้วยเหตุบังเอิญ หรือแม้แต่มีผู้ใหญ่จัดสรรให้ได้พบกันก็มี

หากมีกรรมพลัดพรากเป็นเหตุให้ทั้งคู่ยังไม่ได้พบกัน อีกฝ่ายจะมีความรู้สึกเหมือนรอคอยใครสักคนที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร แม้มีหญิงชายมากมายผ่านเข้ามาในชีวิต ก็ไม่ได้มีจิตคิดผูกพันกับใครอย่างจริงจัง อาจมีบ้างที่มีรักมีสัมพันธ์กับใครไปก่อน แต่มักมีเหตุให้เลิกราหย่าร้างกันไปด้วยจิตใจที่รอคอยใครสักคนที่เป็นคู่แท้ของตน

และหากได้พบกับคู่แท้ของตนแล้ว แต่มีวิบากจากอกุศลกรรมอันเป็นกรรมพลัดพรากมาตัดรอน เป็นเหตุให้ต้องจากกันในภายหลัง แม้จะจากกันไปนานแสนนานนับสิบๆ ปี ก็ไม่อาจลืมกันได้

การตั้งความปรารถนาจะพบกันในชาติภพต่อไป

หญิงชายแต่ละคนนั้นต่างผ่านทุกข์ภัยของสังสารวัฏฏ์มานานแสนนาน ต่างผ่านการครองคู่มานับครั้งไม่ถ้วน แต่ละคนจึงมีเนื้อคู่มากมาย เป็นแสนเป็นล้านคน บางคนเป็นคู่กันแล้วก็มีความสุข อยากพบเจอและได้อยู่เป็นคู่กันอีกในชาติภพต่อไป แต่บางคนก็เบื่อหน่ายไม่ถูกใจคู่ของตน ไม่ปรารถนาจะกลับมาพบเจอกันอีก

เหตุที่จะทำให้คู่หญิงชายมีโอกาสได้อยู่ร่วมกันในชาติภพต่อไปนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเหตุปัจจัยไว้ในสมชีวิสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ดังนี้

"ดูกร คฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกันทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพไซร้ ทั้งสองพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ

ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุก ทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก"

ดังนั้น เมื่อหญิงชายปรารถนาจะได้พบกัน เป็นคู่ครองกันอีกในชาติภพต่อๆ ไป หญิงชายทั้งสองนั้นต้องปฏิบัติตามพุทธพจน์ และมีการตั้งจิตปรารถนา ดังนี้

๑. รักษาศีลให้เสมอกัน บุคคลที่มีศีลเสมอกันย่อมอยู่ร่วมกันได้ในปัจจุบัน เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็สามารถไปเสวยกรรมดีร่วมกัน แต่หากฝ่ายหนึ่งทรงศีล แต่อีกฝ่ายทุศีล ฝ่ายหนึ่งย่อมไปสู่สุคติภูมิ ส่วนอีกฝ่ายต้องไปสู่อบายภูมิ โอกาสที่จะได้กลับมาพบกันนั้นยากยิ่งนัก

๒. ให้ทานและยินดีในการบริจาคเสมอกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้ทานและบริจาค แต่อีกฝ่ายไม่ชอบใจ ก็จะเกิดความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกัน นำไปสู่ความบาดหมาง และเอาใจออกห่างกันในที่สุด

๓. ทำปัญญาให้เสมอกัน การทำปัญญาให้เสมอกัน มีการปฏิบัติสมาธิภาวนา จะทำให้ทั้งสองมีความเข้าใจในโลกธรรมเสมอกัน มีความเข้าใจในสุขและทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน และยอมรับกันได้

๔. ตั้งจิตอธิษฐาน อธิษฐานนั้นมีผล ทั้งอธิษฐานที่เป็นกุศลและอกุศล การอธิษฐานเป็นเหมือนการตั้งหางเสือเรือ ทำให้เรือมุ่งหน้าสู่จุดหมายที่กำหนดไว้ ในการครองคู่ก็เช่นกัน อธิษฐานจะเป็นตัวชักนำให้หญิงชายได้กลับมาพบกัน และได้ครองคู่กันได้ในที่สุด ดังเช่น อธิษฐานของสุมิตตาพราหมณี ซึ่งอธิษฐานเป็นคู่บารมีให้พระโพธิสัตว์ จากนั้นมาอีกหลายชาติ ทั้งสองก็ต้องใช้เวลาปรับศีล ทาน และปัญญา ให้มาเสมอกัน และได้เป็นคู่บารมีกันสมคำอธิษฐานนั้น

การปรารถนาเป็นคู่บารมี

หญิงชายที่ปรารถนาเป็นเนื้อคู่กันตลอดไปนั้น สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงร่วมกันปฏิบัติตนให้มี ศีล ทาน และปัญญา ให้เสมอกัน และมีอธิษฐานร่วมกันเป็นหลักชัย

แต่การเป็นคู่บารมีนั้นหมายถึงฝ่ายหนึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ มีความปรารถนาเอกอุในการบำเพ็ญพุทธการกธรรมเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาสร้างสมบารมียาวนานอย่างเร็วสุดถึง ๒๐ อสงไขยกับเศษแสนกัป และอย่างช้าต้องเนินนานถึง ๘๐ อสงไขยกับเศษแสนกัป ซึ่งเป็นกาลเวลาที่ยาวนานมาก

แต่การสร้างสมบารมีของบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น ใช้เวลาประมาณ ๑ แสนกัป ก็มีบุญบารมีมากพอที่จะบรรลุธรรม และหลุดพ้นจากสังสารวัฏฏ์นี้ไปได้ การผูกพันเป็นคู่บารมีจึงเป็นการผูกมัดตนเองไม่ให้มีโอกาสได้บรรลุธรรม แม้จะได้มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเป็นแสนเป็นล้านองค์

นอกจากนี้ การเป็นคู่บารมียังต้องพบกับความทุกข์ยากนานับประการ ดังเช่นที่พระนางพิมพาได้ประสบตลอดเวลายาวนานถึง ๔ อสงไขยกับเศษแสนกัป

ดังนั้นการจะอธิษฐานติดตามเป็นคู่บารมีพระโพธิสัตว์สักองค์หนึ่ง จึงควรไตร่ตรองให้ดีว่าไม่ใช่อธิษฐานด้วยเหตุเพราะความรักและตัณหา แต่ต้องประกอบไปด้วยความรักและความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระโพธิสัตว์องค์นั้น นอกจากนี้ยังต้องมีน้ำใจสงสารและอยากช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นกองทุกข์ และมีกำลังใจเข้มแข็งเท่าเทียมกับพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งเช่นกัน
(ที่มา : http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=206)

bb
11-15-2008, 11:46 AM
ขออนุญาตนำบทความมาประกอบกับเรื่องนี้ จาก
http://www.larndham.net/
ดังนี้ครับ
การให้ผลของกรรม เป็นเรื่องอจินไตย

ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยพระเองว่า….
“กมฺมวิปาโก ภิกฺขเว อจินฺเตยฺโย น จินฺเตตพฺโพ ย จินฺเตนฺโต อุมฺมาทสฺส วิฆาตสฺส ภาคี อสฺส”
…อง.จตุกก. ๒๑/๑๑๐–๑๑๑ (พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี -ปี ๒๕๓๐)…แปลว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย การเผล็ดผลวิบากของกรรม เป็นเรื่อง อจินไตยไม่ควรคิด เพราะว่าไปคิดเข้า ก็จะพึงเป็นผู้มีส่วนบ้า มีส่วนลำบากใจ” ดังนี้.

ถามว่า เพราะเหตุไรจึงตรัสไว้เช่นนี้เล่า?
ตอบว่า เพราะเรื่องพิศดาร เกี่ยวกับการให้ผลกรรมนี้ ไม่ใช่วิสัยที่คนอื่น จะพึงนึกคิดเอาได้ จะพึงอนุมานเอาได้ หรือแม้จะใช้ตาทิพย์ของตนตรวจสอบเอาได้ เป็นวิสัยของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะทรงจำแนกกรรมแต่ละอย่าง ที่แต่ละคนทำไว้อย่างละเอียดได้ ผู้ใดยกตนเป็นผู้รู้แนะนำผู้อื่นว่า ท่านประสบสุข ประสบทุกข์อย่างนี้ๆ เพราะได้ทำกรรมอย่างนี้ๆ ไว้ตั้งแต่ครั้งนั้น อย่างนี้เป็นต้น ผู้นั้นเท่ากับยกตนเสมอพระพุทธเจ้าทีเดียว

อนึ่ง เพราะเหตุที่เรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม เป็นเรื่องสลับซับซ้อน พ้นวิสัยของความนึกคิด ตามประการที่กล่าวแล้วนี้เอง การที่ผู้ใดทำกรรมชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งเอาไว้ แล้วคิดจะหลีกหนีอำนาจของกรรม โดยการซ่อนตัวอยู่ในถ้ำก็ดี หรือในที่อื่นๆก็ดี ที่คิดว่าจะปลอดภัยจากอำนาจของกรรมนั้น หากว่ากรรมนั้นพร้อมเพรียงด้วยปัจจัยอื่นได้โอกาศที่จะเผล็ดวิบากของตน สถานที่ที่เข้าไปซ่อนตัวหลีกหนีกรรมนั้น หาช่วยให้เขาพ้นจากอำนาจของกรรมชั่วนั้นไม่ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสไว้ว่า

น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ
น ปพฺพตาน วิวร ปวิสฺส
น วิชฺชเต โส ชคติปฺปเทโส
ยตฺรฏฺฐิโต มุจฺเจยฺย ปาปกมฺมา
…ขุ.ธ. ๒๕/๔๑. (พระไตรปิฎก ฉบับเดียวกัน)…

แปลว่า
บุคคลผู้ทำชั่วไว้ หนีเข้าไปกลางหาวก็ไม่พ้นจากกรรมชั่ว หนีเข้าไปกลางมหาสมุทรก็ไม่พ้นจากกรรมชั่ว หนีเข้าไปยังซอกเขาก็ไม่พ้นจากกรรมชั่ว เขาดำรงอยู่ในภูมิประเทศใดแล้ว พ้นจากกรรมชั่วได้ ภูมิประเทศนั้นหามีไม่ ดังนี้

…ก็ตรัสไว้แน่นอนแล้วว่า กรรมชั่วมีผลเป็นทุกข์เท่านั้น…การสะเดาะเคราะห์ ให้พ้นจากความทุกข์เดือดร้อนที่เป็นผลแห่งกรรมโดยการกระทำใด โดยมีผู้อื่นชี้แนะจึงไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน หากเพียงกระทำได้ ด้วยการบำเพ็ญบุญ มีการให้ทานตักบาตร ให้ชีวิตสัตว์ สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น การกระทำเช่นนี้ แม้จะเป็นของไม่แน่นอนว่า จะช่วยทำความทุกข์เดือดร้อน ที่มีอยู่ให้เบาบางไปหมดไปก็ตาม ก็ยังเชื่อว่าเป็นการสร้างโอกาสที่ดีกว่า เพราะว่ากรรมดีที่ทำใหม่นี้ อาจจะได้โอกาสเป็น อุปปีฬิกกรรม เบียดเบียนผลวิบากของกรรมชั่วให้เบาบางลงไปได้ และในขณะเดียวกันก็เป็น อุปถัมภกกรรม ส่งเสริมกรรมดีที่ทำมาแล้วในอดีต ให้มีโอกาสเผล็ดผลได้มากขึ้น ซึ่งทั้งสองประการนี้ เป็นการผ่อนคลายบรรเทาความทุกข์ความเดือดร้อน และให้ประสบความสุขสวัสดีได้ การบำเพ็ญบุญ จึงเป็นหนทางเดียวของการสะเดาะเคราะห์ ไม่ใช่ทางอื่นที่ชี้แนะโดยอาจารย์ใดที่ตนนับถือแนะนำ

(ที่มา : http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/002314.htm)

(คัดลอกและตัดตอน จากหนังสือ “รวมเรื่องกรรม” โดยอาจารย์ ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์ มูลนิธิปราณี สำเริงราชย์ จัดพิมพ์เผยแผ่ ครั้งที่ ๔ หน้า ๒๒๘–๒๓๓)