PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : สมเด็จเจ้าแตงโมในตำนานเมืองเพชร



DAO
11-15-2008, 10:47 AM
http://www.amulet.in.th/forums/images/1173.jpg


สมเด็จเจ้าแตงโมในตำนานเมืองเพชร

สมเด็จเจ้าแตงโม เดิมชื่อ ทอง เป็นชาวนาหนองหว้า กำพร้าพ่อแม่แต่เล็กอยู่กับพี่สาว พี่สาวใช้ให้ ตำข้าว หาฟืนทุกวัน วันหนึ่งตำข้าวหก พี่สาวคว้าฟืนไล่ตีเลยวิ่งหนีเอาตัวรอด (อายุประมาณ ๙ - ๑๐ ขวบ) แล้วเข้าเมืองเที่ยวระเหเร่ร่อนเข้าหมู่ไปตามฝูงเด็ก ๆ จนมีเพื่อนเล่นเพื่อนเที่ยวมาก เช่น เด็กบ้าน เด็กวัด เด็กทองนี้ได้เที่ยวอดๆ อยากๆ อาศัยแต่น้ำประทังความหิวไปวันหนึ่งๆ ด้วยความอดทน

วันหนึ่งลงเล่นน้ำกับเด็กวัดใหญ่ที่ท่าหน้าวัด มีเปลือกแตงโมลอยน้ำมา ๑ ชิ้น ด้วยความหิวจึงคว้าเปลือกแตงโมได้แล้วก็ดำน้ำลงไปเคี้ยวกินแล้วโผล่ขึ้นมา เพื่อเด็กที่เล่นน้ำด้วยกันรู้ว่าเด็กทองกินเปลือกแตงโม ก็พากันเย้ยหยันต่าง ๆ ว่าตะกละกินเปลือกแตงโม จึงได้พากันเรียกว่าเด็กแตงโม ถึงอย่างไรก็ดี เด็กทองก็ไม่แสดงความเก้อเขินขัดแค้นต่อเพื่อเด็กด้วยกัน คงยิ้มแย้มแจ่มใสพูดจาเล่นหัวตามเคย ตั้งแต่วันนั้นมาก็กระจ๋อกระแจ๋กับเด็กวัดใหญ่จนได้เข้าไปเล่นหัวอยู่ในวัดกับเพื่อน ทั้งได้ดูเพื่อนเขาเขียนอ่านกันอยู่เนืองๆ แล้วก็เลยนอนค้างอยู่กับเพื่อในวัดด้วยกัน

วันหนึ่งเป็นพิธีมงคลการ เจ้าเมืองได้นิมนต์สมภารไปสวดมนต์เย็น ครั้นเสร็จแล้วกลับวัด พอตกเวลากลางคืนสมภารจำวัดตอนใกล้รุ่งฝันว่าช้างเผือกตัวหนึ่งได้เข้ามาอยู่ในวัด แล้วขึ้นไปบนหอไตร แทงเอาตู้พระไตรปิฎกล้มลงหมดทั้งหอ ครั้นตื่นจากจำวัดท่านก็นั่งตรองความฝันจึงทราบได้โดยตำราลักษณะสุบินทำนาย พอได้เวลาท่านจะไปฉันที่บ้านเจ้าเมือง ท่านสั่งกับพระเผ้ากุฏิว่า ถ้ามีใครมาหาให้เอาตัวไว้ก่อนรอจนกว่าจะพบท่าน แล้วท่านก็ไปฉัน ครั้นเสร็จแล้วกลับมาวัดถามพระว่ามีใครมาหาหรือเปล่า พระตอบว่าไม่มีใครมาหา ท่านจึงคอยอยู่จนเย็นก็ไม่เห็นมีใครมาจึงไต่ถามพระสามเณรศิษย์ว่าเมื่อคืนมีใครแปลกหน้าเข้ามาบ้างหรือเปล่า เด็กวัดคนหนึ่งเรียนว่า มีเด็กทองเข้ามานอนด้วยคนหนึ่ง ท่านจึงได้ให้ไปตามตัวมา

ครั้นเด็กทองมาแล้ว ท่านจึงได้พิจารณาดูรู้ว่าเด็กทองนี้เองที่เข้าสุบิน ท่านจึงไต่ถามเรื่องราวต่างๆ จนได้ความตลอดแล้ว จึงชักชวนให้อยู่ในวัดมิให้ระเหระหนไปไหน ธรรมเนียมวัดแต่โบราณ เมื่อใครพาเด็กให้มาเล่าเรียนแล้ว มักจะปล่อยให้เล่นหัวกันเสีย ให้คุ้นเคย สัก ๒ - ๓ เวลาก่อน จึงจะให้ลงมือเขียนอ่าน พอถึงวันกำหนดท่านจึงเรียกเด็กทองให้เขียนหนังสือ เด็กทองก็เขียนได้ตั้งแต่ ก, ข, ก. กา, ไปจนถึงเกยตลอดจนอ่านหนังสือพระมาลัยได้ ท่านมีความประหลาดใจจึงถามว่าเจ้ารู้มาจากไหน เด็กทองบอกว่ารู้ที่วัดนี้เอง เพราะดูเพื่อนเขาเขียนเขาอ่านจึงจำได้

ท่านสมภารจึงได้ให้บวชเป็นเณรหัดเทศน์ธรรมวัตรและมหาชาติ และเรียนอรรถแปลบาลีด้วย ครั้นเทศกาลเข้าพรรษา เจ้าเมืองให้สมภารเทศน์ ไตรมาส วันหนึ่งท่านสมภารไม่สบาย จึงให้สามเณรแตงโมไปแทน ครั้นสามเณรแตงโมไปถึงเจ้าเมืองเห็นเข้าก็ไม่ศรัทธา จึงบอกว่าเมื่อพ่อเณรมาแล้วก็เทศน์ไปเถิด แล้วกลับเข้าไปในห้องเสีย สามเณรแตงโมก็ขึ้นเทศน์ พอตั้งนะโมแล้วเดินบทจุลนีย์เริ่มทำนองธรรมวัตรสำแดงไป ผู้ทายกทั้งข้างหน้าข้างในได้ฟังเพราะจับใจ ทั้งกระแสเสียงก็แจ่มใส เมื่อเอ่ยถึงพระพุทธคุณมีพระอรหังเป็นต้น เสียงสาธุการและพนมมือแลเป็นฝักถั่วไปทั้งโรงธรรม ท่านเจ้าเมืองฟังอยู่ข้างในถึงกับนั่งอยู่ไม่ได้ จึงต้องกลับมานั่งฟังข้างนอกอย่างเคย และเพิ่มเครื่องกัณฑ์ติดเทียนขึ้นอีก เมื่อเทศน์จบแล้ว โดยความเลื่อมใสเข้าไปประเคนของและซักไซ้ไต่ถามเหตุผลว่าอยู่ที่ไหนแล้วปวารณาเป็นโยมอุปัฏฐาก อาราธนาให้มาแทนสมภารต่อไปว่า ท่านแก่เฒ่าชราอาพาธอย่าให้มาประดักประเดิดเลย ขอให้พ่อเณรมาเทศน์แทนท่านเถิด ต่อนั้นไปสามเณรแตงโมก็มาเทศน์แทนเสมอ

สามเณรแตงโมนี้ได้เล่าเรียนศึกษายังอาจารย์ที่มีอยู่ในอารามต่างๆ ในเมืองเพชรบุรี การศึกษาเช่นทางพระปริยัติธรรมและข้อกิจวัตรปฏิบัติจนสิ้นความรู้ของท่านสมภารในสมัยนั้น ท่านสมภารจึงได้พาตัวสามเณรแตงโมเข้ากรุงศรีอยุธยา ไปฝากไว้ต่อคุณวัดหลวงแห่งหนึ่งได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนจบพระไตรปิฎก นับได้ว่าเป็นเปรียญแล้ว ได้อุปสมทบเป็นพระภิกษุที่มีชื่อเสียงโด่งดัง จนเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดันนับถือ โปรดให้เป็นอาจารย์สอนหนังสือพระราชบุตร พระราชนัดนา ให้เสด็จมาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา ปฏิบัติในคัมภีร์พระไตรย์เภธางค์สาตร์ นัยว่ากาลภายหลังมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นได้เสด็จเสวยราชย์แล้ว โปรดตั้งพระอาจารย์แตงโมเป็นพระราชาคณะที่พระสุวรรณมุนี ซึ่งปรากฏในฝูงชนภายหลังเรียกกันว่า สมเด็จเจ้าแตงโม เมื่อท่านได้มั่งคั่งด้วยสมณศักดิ์ฐานันดรแล้ว ภายหลังต่อมาท่านคิดถึงภูมิลำเนาบ้านเกิดเดิม และวัดอันเป็นสถานมูลศึกษาของท่าน จึงได้ถวายพระพรลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินว่า จะออกไปปฏิสังขรณ์พระอารามที่เคยอยู่พำนักอาศัยเป็นการบำเพ็ญพุทธบูชา ก็ทรงอนุญาตอนุโมทนาแล้วถวายท้องพระโรงในพระราชวังองค์หนึ่งเป็นการช่วย เจ้าคุณอาจารย์ท่านได้นำมาประดิษฐานเป็นศาลาการเปรียญไว้ในวัดใหญ่นั้น ตัวไม้และเสาไม้ใหญ่งามมาก ลวดลายที่เขียนและลายสลักก็เป็นฝีมือโบราณ บานประตูศาลาการเปรียญสลักงามเป็นลายก้านขดปิดทองอย่างวิจิตร สมเด็จเจ้าแตงโม ได้ให้ช่างหล่อรูปท่านไว้รูปหนึ่ง

แต่พระยาดำรงราชานุภาพว่า "ของสำคัญอีกอย่างหนึ่งนั้น คือรูปพระสงฆ์หล่อเท่าตัวคนนั่งพับเพียบพนมมือ ฝีมือที่ปั้นและหล่อเหมือนคน ดีกว่ารูปของท่านขรัวโตหรือรูปสมเด็จพระราชาคณะที่ได้เคยเห็นในที่อื่นๆ รูปนั้นเขาเรียกกันว่ารูปสมเด็จเจ้าแตงโม คือท่านผู้ที่สร้างวัดใหญ่นี้;ระลึกถึงชาติภูมิจึงออกมาบูรณะวัดใหญ่และสร้างวัดขึ้นมาอีก ๒ วัด คือ วัดหนองหว้าวัด เพื่ออุทิศให้โยมมารดา และวัดดอนบ้านใหม่ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมบิดา ทำเท่ากันเหมือนกัน แลยังปรากฏอยู่ด้วยกัน จนตราบเท่าทุกวันนี้ทั้ง ๒ วัด วัดใหญ่นั้นมีนามใหม่เรียกว่า วัดใหญ่สุวรรณาราม ตามชื่อของสมเด็จสังฆราชองค์นั้น และราษฎรพากันนับถือจึงให้ช่างจีปั้นรูปหล่อสังฆราชทองในเวลาท่านออกมาเมืองเพชรบุรี แล้วหล่อไว้สักการบูชาตราบเท่าจนกาลบัดนี้ รูปสมเด็จเจ้าแตงโมนี้มีเวลาเอาออกแห่งเป็นครั้งคราว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับสมณศักดิ์ของสมเด็จเจ้าแตงโมไว้ในพระราชหัตถเลขาเมื่อเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีใน ร.ศ.๑๒๘ ฉบับที่ ๕ ว่ามีรูปเจ้าอาวาสเดิมซึ่งว่าเป็นผู้ปฏิสังขรณ์นั่งประนมมือถือดอกบัวตูมอยู่รูปหนึ่ง ทำด้วยความตั้งใจจะให้เหมือนฝีมือดีพอใช้ ตั้งหน้าเรียนพระปริยัติธรรมจนได้เป็นพระราชาคณะ แล้วจึงกลับออกมาปฏิสังขรณ์วัดนี้ บางปากกล่าวว่าภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นที่น่าสงสัยอยู่บ้างว่ากลัวจะหลงที่สังฆราช ด้วยตำแหน่งพระครูเมืองเพชรบุรี ๕ อย่างเดียวกันกับเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง แต่ตามหนังสือเก่า ๆ เขานับว่าเป็นพระราชาคณะทั้งนั้น ชะรอยครู ๕ องค์นี้จะเป็นพระสังฆราชาองค์หนึ่ง เช่น พระพากุลเถรเป็นพระสังฆราชาเมืองสวางคบุรี เพชรบุรีนี้ในเวลานั้นน่าที่พระครูสุวรรณมุนีเป็นสังฆราชา ท่านสมเด็จเจ้าแตงโมนี้จะเป็นพระครูสุวรรณมุนีเสียดอกกระมัง จึงได้ชื่อวัดเพิ่มขึ้นว่า วัดใหญ่สุวรรณาราม ทุกวันนี้พระครูสุวรรณมุนีก็ยังเป็นเจ้าคณะอยู่ พระยาปริยัติธรรมธาดาได้เขียนบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าแตงโมว่า ท่านให้หล่อรูปท่านไว้รูปหนึ่ง เรื่องหล่อรูปนี้เล่าว่าช่างปั้นหุ่นแสนยากทำไม่เหมือนได้เลย มาได้ตาแป๊ะหลังโกงคนหนึ่งเป็นช่างปั้นอย่างเอก หล่อเอาเหมือนมิได้เพี้ยนผิด ท่านจึงให้หล่อรูปตาแป๊ะไว้เป็นที่ระลึกด้วย รูปหล่อนั้นนั่งพับเพียบประนมมือถือดอกบัว ๆ นั้นถ้าเป็นของเดิมคงแปลว่านั่งทำพุทธบูชาเวลาไหว้พระ ลักษณะรูปทรงสัณฐานของท่านเป็นสันทัดคนทรงสูง ๆ ปากแหลมอย่างเรียกว่าปากครุฑ ถ้าใครเคยเห็นสมเด็จพระวันรัตแดงวัดสุทัศน์ อาจกล่าวว่ามีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกันได้ ในโบสถ์วัดใหญ่นั้นยังมีของเป็นพยานสำคัญอยู่อีกสิ่งหนึ่ง คือฝาบาตรมุกซึ่งเจ้าอธิการวัดได้รักษาต่อ ๆ กันมาใส่ตู้กระจกโดยความเคารพนับถือ จารึกชื่อไว้ว่าฝาบาตรของสังฆราชทองเมื่อครั้งปฏิสังขรณ์วัดใหญ่นั้น เล่าว่าท่านได้ปฏิสังขรณ์วัดหนองหว้าซึ่งเป็นวัดอยู่ในตำบลชาติภูมิของท่านด้วย บานประตูวัดหนองหว้านั้นก็สลักเสลาลวดลายวิจิตรบรรจง จนบางคนมาเห็นบานประตูวัดสุทัศน์ลายสลักเครือไม้นกเนื้อสลับซับซ้อนกันหลายชั้น ที่วัดใหญ่เป็นลายสลักชั้นเดียว ถึงวัดหนองหว้าก็คงเป็นชั้นเดียว บานประตูวัดสุทัศน์ หนังสือพระราชวิจารณ์กล่าวชัดเจนเสียแล้วว่าเป็นของรัชกาลที่ ๒ ทรงสร้างซึ่งคนทั้งหลายเคยพิศวงว่าเอามาแต่ที่โน่นที่นี่นั้นผิดหมด พระราชพงศาวดาร แผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคสถลมารค ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน แล้วทรงพระกรุณาให้ช่างพนักงานจัดการยกเครื่องบนพระมณฑปพระพุทธบาทขณะนั้น สมเด็จพระสังฆราช ตามเสด็จขึ้นไปช่วยเป็นแม่งานด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระทัยปราโมทย์ยิ่งนัก จึงทรงพระกรุณามอบการทั้งปวงถวายให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่งาน แล้วก็เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร

และต่อมาเมื่อครั้งนั้นหลังคาพระมณฑปเป็นหลังคาเหมือนวัดพนัญเชิง อยู่มาสมเด็จเจ้าแตงโม จึงถวายพระพรแก่สมเด็จพระบรมกษัตราธิราชเจ้าว่าจะล้างหลังคาลงเสียจะทำยอดพระมณฑปขึ้นไว้ สมเด็จพระบรมกษัตราธิราชเจ้าจึงโปรดให้ขึ้นมาดูแล แต่โบราณมามีต้นไม้ต้น ๑ ใหญ่ประมาณ ๓ อ้อม มีดอกเท่าฝาบาตร ครั้นเพลาเช้าเพลาเย็นบาน กลางวันตูม เมื่อจะบานนั้นหันหน้าดอกเข้าไปข้างพระมณฑปทุกเพลา มีสัณฐานดอกนั้นเหมือนดอกทานตะวัน ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าแตงโมทำมณฑปขึ้นไป ว่าต้นไม้นั้นกีดทรงพระมณฑปอยู่ จึงฟันต้นไม้นั้นเสีย แต่วันนั้นไป ท่านสมเด็จพระเจ้าแตงโมก็ตั้งแต่ลงโลหิตไปจนเท่าวันตาย สมเด็จเจ้าแตงโมถึงแก่มรณภาพปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ชีวประวัติและผลงานของท่านในจังหวัดเพชรบุรีที่วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดหนองหว้าและวัดดอนบ้านใหม่ รู้จักกันแพร่หลายมาแต่โบราณ (ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ และของบุคคลอื่น ๆ) จนถึงปัจจุบัน นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นที่เชิดชูชื่อเสียงของวัดใหญ่สุวรรณารามและจังหวัดเพชรบุรีอีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา : ตำนานเมืองเพชร โดย พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)



ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=716&sid=2f3658224458b03c9007aafe98e812b7