PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : การกำจัดความโกรธ…..หลวงปู่โต๊ะ (พระราชสังวราภิมณฑ์) วัดประดู่ฉิมพลี



*8q*
11-15-2008, 12:58 PM
หลวงปู่โต๊ะ (พระราชสังวราภิมณฑ์) ท่านเกิดในตระกูลรัตนคอน เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 4 ค่ำ ปีกุน อัฐศก ตรงกับวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2430 ที่บ้านคลองบางน้อย ต.บางพรหม อ.คนที จ.สมุทรสงคราม และท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2424 นับอายุได้ 93 ปี 11เดือน กับ 6 วัน

หลวงปู่โต๊ะ ท่านกล่าวถึงโทสะ หรือความโกรธว่า... เป็นหนึ่งในกามแห่งรากเหง้าความชั่วร้ายทั้งหลายในโลกนี้ (รากเหง้าความชั่วร้าย หรืออกุศลมูล มี 3 คือ โลภะ โทสะ โมหะ)

เมื่อความโกรธเกิดขึ้น หลวงปู่โต๊ะท่านสอนให้ดูว่า “เป็นเพราะอะไรจึงเกิดขึ้น” และท่านให้ไปดูที่จิต ดังที่กล่าวว่า จิตเป็นประธาน จิตเป็นใหญ่ จิตสำเร็จที่จิต จิต 3 ประการนี้มีสื่อเข้าไปรายงานอยู่ทุกๆ วินาที จิตต้องรับรู้ผู้ที่เข้ามา ดีก็รับไว้ ชั่วก็รับไว้ ไม่ดีไม่ชั่วก็ต้องรับไว้เพราะจิตเป็นประธานยิ่งใหญ่ทั้ง 3 ทาง

ใครเป็นผู้รายงาน ใครเป็นสื่อ

อายตนะภายนอก 6 อายตนะภายใน 6 ตากระทบรูป รูปที่ดี ชอบ ใจชอบ รูปที่ไม่ดี ใจไม่ชอบ
เสียงที่ดี ใจชอบ กลิ่นที่ไม่ดี ไม่ชอบ รสที่ดี ชอบ รสที่ไม่ดี ไม่ชอบ สัมผัสที่นุ่มนวล ชอบ สัมผัสที่ไม่นุ่มนวลที่กระด้าง ไม่ชอบ อารมณ์ที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าธัมมารมณ์ที่ดี ชอบ อารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ดี ไม่ชอบ

เป็นเพราะอะไร จึงเป็นอย่างนั้น นี่เราจะทำอย่างไร ทำจิตอย่างไรจึงจะไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นได้ นี่ต้องมีคนสูงกว่าจิตอีกคนหนึ่ง เรียกว่าประธานเหนือประธาน....สติ

สติมีหน้าที่อะไร

มีหน้าที่คุมจิต เพราะจิตเขาชอบทำงาน เป็นคนขยัน ไม่เลือกงาน งานก็ดีก็ทำ งานไม่ดีก็ทำ เรียกว่าทำตามความพอใจของจิต

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำงานจึงมีความผิดบ้าง ความถูกบ้าง ที่จะรู้ว่าเราทำผิดหรือทำถูก ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาคิดสติมีที่อยู่ไหน ปัญญามีอยู่ที่นั่น เกิดขึ้นตัดสินได้เด็ดขาดว่า รูปที่ดีรูปที่ไม่ดีมาเกี่ยวข้องอะไรกับท่านด้วย

ถามจิตว่า มันมาเกี่ยวอะไรกับท่านด้วย ปัญญากับสติเขาถาม มันเกี่ยวกับอะไรกับท่านด้วย ท่านจึงต้องไปรับรู้ในเรื่องจิต

เพราะฉะนั้น จิตจึงต้องมีสติสัมปชัญญะเข้ามาควบคุม ถ้าหากว่าปราศจากสติเมื่อใด ความผิดเกิดขึ้น เข้าใจว่าถูก ความดีเกิดขึ้นเข้าใจว่าผิด เพราะเขาทำตามความพอใจของจิต จิตก็ต้องเป็นไปตามความพอใจของจิตที่ไม่มีสติควบคุมไว้ จงทำกิจการอะไรเล็กใหญ่ไม่เลือก
โดยมากมีความผิด

ผิดเพราะอะไร

เพราะปราศจากสติเครื่องควบคุมของจิต จิตก็มีอำนาจด้วยไม่หวาดสะดุ้งใดๆ ธรรมชาติของจิตนั้นบริสุทธิ์หมดจด ไม่มีสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาเคลือบแฝงบริสุทธิ์ เรียกว่าจิตบริสุทธิ์

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นคือดีบ้างชั่วบ้าง

กิเลส กิเลสทำให้จิตมัว มาเคลือบอยู่ที่จิต เห็นผิดเป็นชอบไปได้ มาเคลือบอยู่ กิเลสมันก็สูงกว่าจิต เมื่อกิเลสสูงกว่าจิต อำนาจของจิตถอย ถอยกำลังลงไป กิเลสสูงกว่าก็บังคับเราได้ ทำตามอำนาจของกิเลสที่มาเคลือบอยู่ที่จิต จิตก็มัวหมองไม่ผ่องใส

ที่นี่จะทำอย่างไร

ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม มันเคล้าอยู่กับจิตเสมอ ต้องรู้เท่าทันความเกิดขึ้นของจิตที่เรียกว่าอารมณ์
รัก รักไว้ข้างในก่อน เกลียด เกลียดไว้ข้างในก่อน อย่าให้ความรักแสดงออกมาทางกายวาจา อย่าให้มันออกมา ความไม่พอใจก็ตาม หรือความพอใจก็ตาม อย่าเพิ่งให้มันแสดงออกมา ต้องให้มีสติควบคุม และปัญญารู้ถ่องแท้แน่ในใจแล้ว จึงปล่อยมันออกมา ที่เราปล่อยมันเข้าออกนั้นเขาเคยตัว เขาเคยเข้าได้ออกได้อย่างสบายโดยไม่มีอะไรมาติดขัดกับการเข้าออกของเขา เราไม่ยอม ยังไม่โกรธทีเดียว เรียกว่า ปฏิฆะ ข้อง

ข้องเป็นอย่างไร

มัวๆ ขุ่นมัว แต่ไม่ถึงกับแสดงความหยาบคายทางกายทางวาจา ไม่แสดงออกมาทนอยู่ได้ อดอย่างพอสมควรทนเอาบ้าง เรียกว่าขันติ ต้องทนทนในอารมณ์ที่เกิดขึ้น ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม
เพียงแต่ทำความรู้ไว้ว่า เอ้อ นี่ดี เอ้อ นี่ชั่ว แต่ไม่เก็บเอาไว้เพราะมีปัญญา สติรู้เท่าทันเขา รู้เท่าทันอารมณ์ที่มีอยู่ในตัว เขาขืนเก็บไว้นาน หนัก แบกไม่ไหว

เพราะฉะนั้นก็รู้ความเป็นไปว่านี่รูปดี นี่รูปไม่ดี แล้วก็ให้เขาผ่านไป

นี่เกิดอะไร

ปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทุกครั้ง ทุกตอน ทุกขณะ รูปเสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็รู้เท่าทันเขาหมด

เมื่อจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ก็ต้องยึดหลักของขันติไว้ อดทนไว้ อย่าให้มันออกมาข้างนอก
ถ้าให้ออกมาข้างนอกแล้ว มันน่าเกลียด มันหลายอย่าง จับอาวุธยุทธภัณฑ์ด่าว่าหยาบคายด้วยประการต่างๆ โดยเราปราศจากสติ เพราะฉะนั้น อย่าให้มันออกมา อดทนไว้

เมื่อเราทนบ่อยๆ จึงเห็นโทษว่า การที่กระทำด้วยความไม่รู้ อาย

เกิดละอายขึ้นทางใจ ด้วยธรรมะที่เราปฏิบัติได้ปฏิบัติถึงนั่นเอง เกิดขึ้นเอง เห็นขึ้นเองได้ ได้ด้วยตนเอง นี่ธรรมะที่แท้ของเราๆ ต่างหาก

เราต้องการความดี ไม่ต้องการความชั่ว แต่ทำไมจิตจึงตกไปในทางที่ชั่วได้บ่อยๆ
เพราะอำนาจของกิเลสเขาสูงกว่าความเฉลียวฉลาดเขาสูงกว่า เขาก็หาทางจะมาล่อจิตของเราให้ตกลงไปในหลุมที่เขาต้องการ

เมื่อเรามีขันติใช้ได้สม่ำเสมอ ก็ชื่อว่ารู้โทษของจิตว่าจิต

โทสะนี้มันเป็นอย่างไร พระท่านว่าอย่างไร
โทสะนี่นะ หรือไฟสามกอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ท่านว่ามันเป็นไฟราคัคคิ โทสัคคิ โมหัคคิ มันเป็นไฟ

ธรรมดาของไฟมันเกิดขึ้นที่ไหน เขาต้องทำลายในที่เกิดนั้นก่อน

ถ้าเจ้าของรู้เท่าทันก็ไม่ลุกลามไปยังที่อื่น ถ้าหากเจ้าของรู้ไม่เท่าทันเรื่อยๆ ไป มันก็ไปกันใหญ่ เผาๆๆ เรา เผาใจให้เดือดร้อนเห็นผิดเป็นชอบไม่เป็นตัวของตัวเอง มีแต่โทษส่วนเดียว คุณหามีไม่เพราะความโกรธเกิดขึ้น

การโกรธ ไม่ใช่ว่าผลุนผลันแล้วโกรธอย่างที่พูดมาแล้วว่าปฏิฆะมันข้องอยู่ก่อน
เราก็ต้องอดกลั้น ไม่ตามอารมณ์ของความโกรธที่เกิดขึ้น

เมื่อบ่อยๆ เข้า ชำนิชำนาญเข้า ก็เตือนตนของตนได้ว่านี่ความโกรธไม่เดือดร้อน เราเดือดร้อนก่อนคนอื่นๆ

ความเดือดร้อนนั้นใครชอบบ้าง ไม่มีใครชอบ ตนเองก็ไม่ชอบ คนอื่นก็ไม่ชอบ
นี่ได้ผลตามความคิดของจิตที่ตั้งไว้ผิด ตัวเราเองก็ไม่เป็นตัวของเราเอง จิตของเราต้านทานอะไรที่คนเขามาอาศัยไม่ได้ เราสู้ไม่ได้ คืออารมณ์เขามาประเดี๋ยวเดียว มาทำที่อยู่ของเราแหลกลาญไปหมด บางทีเรานึก อื้อ เสียดาย แล้วจะทำอย่างไรมันหมดไปแล้ว

รู้ไหมว่าไฟไหม้บ้านแล้วมันเสียหายอย่างไร

ไม่อยากดู ดูเป็นอันตรายทุกอย่าง ไม่มีส่วนดีเลย

แล้วต่อไปข้างหน้าเราจะว่าอย่างไร

ต้องระวัง มันเกิดบ่อยๆ เราก็แย่ เครื่องใช้ไม้สอยอะไรต่ออะไรหมด ระวังไม่ให้มันเกิดขึ้นบ่อยๆ นัก เปรียบอย่างนั้น โทสะแหลกลาญหมดนี่ก็เห็นโทษ

ต่อไปก็เห็นโทษ มารๆๆ มีการเข็ดหลาบ เพราะเสียทรัพย์ไปหลายอย่างหลายประการด้วยกัน อย่าก่อไฟภายในเผาบ้านของตนเอง อย่าๆๆๆ

อาศัยบ้านของเราอยู่ กินนอนสบายทุกอย่าง เราต้องหูไวตาไว จึงจะรักษาบ้านของเราอยู่ได้นานๆ โดยไม่มีข้อครหาอะไรว่าบ้านนั้นทำอย่างนี้ บ้านนี้ทำอย่างนั้น มีแต่เสียงที่ไม่น่าฟัง พูดก็พูดเถอะ เจ้าคนที่เขารักษาบ้าน เขารู้เขาสรรเสริญว่าบ้านนี้เขาดี จะพูดจะพูดจา จะรับรองแขกที่ไปมาเรียบร้อยไปหมด

นั่นเขาสรรเสริญ เราว่าเรียบร้อย เพราะเรารู้ทัน ไม่ให้ไฟกองนั้นมาเผาบ้านของเราให้เสียหายทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง อดทนเรื่อยๆ ไป

ทีนี้เหตุการณ์ที่มันจะเกิดขึ้น เราก็รู้ทัน เคยโดนมาแล้ว ฉันเคยโดนมาแล้ว ก็มีการกวดขันขึ้นในตัวของเราเอง เคยโดนมาแล้วโทรมทุกที โดนเข้าเมื่อไร โทรมทุกที บางทีทำนอกบ้านเดือดร้อนมา ยังมาร้อนคนในบ้านอีก แล้วก็ร้อนไปที่อื่นๆ ไม่ดีเลย ต้องละเว้นไม่กระทำ ต่อไป ก็คุ้นกับความไม่กระทำความชั่ว

พูดก็พูดดี ทำก็ทำดี คิดก็คิดดี เป็นสุจริต เกิดมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาเกิดขึ้น

ได้ผลอย่างไร มีศีลมีสมาธิได้ผลอย่างไร

เป็นหน้าที่ของพระท่าน เพราะเราพึ่งพระท่าน กายวาจาใจก็ชั่วก็ถวายพระ กายวาจาใจที่ดีก็ถวายพระ ท่านจะบันดาลอย่างไรแล้วแต่พระท่าน

เมื่อกายวาจาใจของเราดี สิ่งที่ชั่วๆ ที่เราเคยล่วงมาแล้วท่านไม่ให้กระทำๆ มันไม่งาม เพราะเข้าในวงศ์ของพระแล้ว

ทีนี่เราก็เดินไปตามพระท่าน ความผิดพลาดหรือความไม่เฉลียวฉลาด พระท่านจะสอนเราเอง โดยเรากระทำของเราได้เองโดยเราเห็นของเราได้เอง โดยเราได้ยินของเราเอง ไม่ต้องเชื่อใคร เชื่อความสามารถของตนว่า สามารถทำได้

มีหลักอะไรมาอ้างว่าสามารถทำได้ด้วยตนเอง

พระพุทธเจ้าเป็นหลัก อาจารย์ที่ไหนดี โน่น อยู่โน่น เมืองน้ำเมืองเหนือดี ไปหาหมด ท่านก็ไปลองดี ท่านองค์นี้ว่าอย่างนั้น ท่านองค์นั้นว่าอย่างนี้ก็ว่ากันไปต่างๆ ทรงทดลองดูหมด จึงถึงการตกลงพระทัยว่า ความดีไม่ได้อยู่กับคนอื่นหรอก ความชั่วก็ไม่ได้อยู่กับคนอื่น ตนของตนนั่นเองเป็นความดี เป็นคนทำความชั่ว

ก็ทรงทำ ทำที่โคนต้นโพธิ์ ทรงทำจนเห็นโทษของความชั่ว เห็นดีของความดี เพราะมันเป็นแค่ลมเท่านั้น มันเกิดขึ้นแล้วมันก็หายไป ดีก็ผ่านไปชั่วมันก็ผ่านไป

ขอขอบพระคุณและโมทนาบุญสำหรับข้อมูลจาก :
สาธุ

http://board.agalico.com/showthread.php?t=24520