คุณแม่สิริ กรินชัย ในโลกแห่งธรรม
http://www.bangkokbiznews.com/bodyhe...1004/index.php

เรื่อง: รัชดา ธราภาค

" ชีวิตมนุษย์ไม่มีอะไรดีไปกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ถ้าไม่ได้วิชานี้ติดตัวไป เสียทีมาเที่ยวเมืองมนุษย์ มีของดีในตัวแต่ดึงออกมาใช้ไม่ได้ จะเอามาใช้ได้ก็ต้องเรียนวิธี "

ในแวดวงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไม่มีใครไม่รู้จัก คุณแม่สิริ กรินชัย ส่วนผู้ใฝ่ธรรมอีกหลายแสนคน ซึ่งในจำนวนนั้นรวมถึงนักร้อง นักแสดง นักธุรกิจและผู้มีชื่อเสียงมีหน้ามีตาในวงสังคมต่างพากันสมัครใจฝากตัวเป็น 'ลูกโยคี' กระทั่งคนไกลวัดห่างธรรมะ น้อยคนนักจะไม่เคยได้ยินชื่อนี้

คุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย เป็นใครมาจากไหน ทำไมใครๆ ถึงพร้อมใจแห่ไปฝากตัวเป็นศิษย์

"ตั้งแต่ 5 ขวบก็เริ่มรักษาศีล คุณพ่อพาไปวัด แล้วทุกคนในบ้านก็ไม่ฆ่าสัตว์ ซื้อปลาเป็นนี่ไม่เอาเลย ต้องซื้อปลาตายแล้วเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่เป็นคนชอบบุญชอบกุศล" คุณแม่สิริในวัย 87 ปีทบทวนให้ฟังถึงประสบการณ์ทางธรรมในชีวิต แต่ลำพังการเกิดและเติบโตมาในครอบครัวธรรมะธัมโม แม้จะทำให้เด็กๆ ในบ้านมีความมักคุ้นกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา แต่นั่นอาจยังไม่มีอิทธิพลถึงขั้นจะกำหนดการเลือกทางเดินในชีวิต

คุณแม่สิริพื้นเพเป็นชาวนครราชสีมา ก่อนจะติดตามครอบครัวซึ่งประกอบธุรกิจโรงสีข้าวไปตั้งรกรากยังจังหวัดบุรีรัมย์ในเวลาต่อมา เมื่ออายุได้ 19 ปี คุณพ่อคุณแม่จัดให้สมรสกับ ไชย กรินชัย มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน

ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ถนนสายธรรมะอย่างจริงจัง คุณแม่สิริได้ย้ายครอบครัวกลับมาเปิดกิจการร้านเสริมสวย ตัดเสื้อ และขายอุปกรณ์เสริมสวยตัดเย็บที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ได้พบกับครูบาอาจารย์เพื่อศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ

"เริ่มศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นเวลา 7 คืน 8 วัน เดินจงกรมนั่งสมาธิติดต่อกัน แม่ตั้งใจมาก ครูอาจารย์ชมว่าขยัน พอใจ และชื่นใจ เลยตั้งใจว่างานนี้เราจะไม่ทิ้ง ถ้าใครมา เราจะเดินให้ดู จะนั่งสมาธิให้ดู เราจะกำหนดรู้อิริยาบถให้ดู เราจะบอก จะสอนเขา คิดในใจว่าอยากจะให้ทุกคนในโลกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แล้วโลกจะอยู่เย็นเป็นสุข"

และนี่คือจุดเปลี่ยนในชีวิตของคุณแม่สิริ

เมื่อตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะเผยแพร่สิ่งดีที่ตนเองได้ไปรับรู้มา คุณแม่สิริพัฒนาหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน โดยใช้ชื่อการอบรมว่า 'การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข' และใช้แนวทางนี้เพื่อการถ่ายทอดความรู้ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาตลอด 50 กว่าปี

สิ่งที่เธอได้เรียนรู้ในวัยสามสิบต้นๆ ในวันนั้น และพัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้มาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสติ กำหนดรู้อารมณ์ปัจจุบันอย่างต่อเนื่องตลอด 7 คืน 8 วัน โดยอาศัยหลักสำคัญ 3 อย่างในการปฏิบัติ ได้แก่ การกำหนดอิริยาบถปัจจุบัน และอารมณ์ที่มากระทบทวารทั้ง 6 ประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ, การเดินจงกรม และการนั่งสมาธิ ซึ่งอาศัยการกำหนดอาการพองยุบของท้อง

การกำหนดอิริยาบถปัจจุบันมีความสำคัญอันดับหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดสติและสัมปชัญญะอย่างต่อเนื่อง และเป็นวิธีที่เชื่อมโยงกับอีกสองอย่าง การเดินจงกรมมีความสำคัญอันดับสอง ทำให้เกิดสติและสมาธิที่เข้มข้นมากขึ้น ส่วนการนั่งสมาธิมีความสำคัญอันดับสาม โดยทำให้เกิดสติและสมาธิเข้มข้นมากที่สุด (อ่านรายงานหน้า 8 คอร์สวิปัสสนากรรมฐานของคุณแม่สิริ)

"ต่อมาก็มีคนนั้นคนนี้มาถาม แม่ก็บอก ก็เดินให้ดู ต่อมามีคนมาขอปฏิบัติอยู่ที่บ้านเลย แม่ก็ดีใจว่าเราได้บุญมากๆ เราได้บ้านเป็นวัดแล้ว" คุณแม่สิริเล่าปนเสียงหัวเราะถึงความเป็น 'ครู' ที่ได้มาแทบจะโดยอัตโนมัติ เมื่อชื่อของเธอเริ่มเป็นที่รู้จัก และถูกกล่าวขานถึงว่าเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาปฏิบัติวิปัสสนาอย่างเอาจริงเอาจังทุ่มเท

"ใครไม่เข้าใจก็ถามแล้วถามอีก แม่ก็อธิบายจนกว่าเขาจะเข้าใจ อยากให้เขาเข้าใจ เพราะคิดว่าชีวิตมนุษย์ไม่มีอะไรดีไปกว่าวิปัสสนากรรมฐาน แม่กล้าพูดว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ถ้าไม่ได้วิชานี้ติดตัวไปนะ เสียทีมาเที่ยวเมืองมนุษย์ มีของดีในตัวแต่ดึงออกมาใช้ไม่ได้ จะเอาออกมาใช้ได้ก็ต้องเรียนวิธีดึงของดีออกมาใช้ให้แตกฉาน เมื่อเราพูดเป็น พูดถูก เขาเข้าใจ ก็พอใจจะปฏิบัติ"

คุณแม่สิริเต็มใจที่จะสอน มีความตั้งใจในการตอบทุกคำถาม ตัวคุณแม่สิริเองมีความสามารถในการอธิบายเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย แถมมีหลักสูตรฝึกอบรมที่ถูกออกแบบไว้เบ็ดเสร็จ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจากทุกสารทิศ ทุกสาขาวิชาชีพ ทุกเพศ ทุกวัยตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบถึงอายุเกิน 90 ปีต่างพากันมาขอความรู้ เริ่มตั้งแต่แค่ 2-3 คนที่แวะมาเยี่ยมเยือนถึงที่บ้าน มาฝึกวิปัสสนากรรมฐาน กลายเป็นการนัดกันเป็นกลุ่มๆ 20-30 คนแล้วเชิญเธอไปสอน ขยายไปถึงการอบรมตามสถานศึกษา หน่วยงานของภาครัฐและเอกชน จนปัจจุบันมีผู้เข้าอบรมครั้งละ 100-500 คน

คุณแม่สิริเปิดบ้านให้เป็น 'บ้านวิปัสสนา' กว่า 50 ปี เธอเผยแพร่ธรรมผ่านคอร์ส 'การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข' แพ็คเกจ 7 คืน 8 วัน โดยมีกำหนดการต่อเนื่อง และจัดคิวไว้ล่วงหน้าในแต่ละปี โดยจะแวะเวียนไปจัดสอนตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ (ดูตารางเวลาได้ที่เวบไซต์ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ WWW.YBAT.ORG)

ผู้ที่ผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับคุณแม่สิริ ถูกเรียกเป็น 'ลูกโยคี' ซึ่งเธออธิบายว่า ไม่ได้หมายถึงโยคีหนวดเครายาว ถือไม้เท้า ห้อยลูกประคำ แต่หมายถึงผู้เพียรทำความดี หรือผู้ที่เพียรเพ่งทำลายกิเลส ซึ่งพระอาจารย์ของคุณแม่สิริก็ชอบเรียกผู้ปฏิบัติว่าโยคีเช่นเดียวกัน

"อบรมจบ แม่ก็จะพัก 2-3 วัน แล้วก็ไปต่อตามที่เขาจองกันไว้ จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ไปถึงเมืองนอก" กระทั่งวันที่หยุดพัก ก็ยังมีคนแวะมาคุยธรรมะที่บ้านไม่ได้เว้น

ถามว่ารู้สึกเหน็ดเหนื่อยบ้างหรือไม่ ?

คุณแม่สิริตอบว่า "สอนไม่เหนื่อยค่ะ พักแล้วเหนื่อย (หัวเราะ) เวลาสอนมันสบาย มันสุขใจ เขาถาม เราตอบ เรายินดีที่เขาสนใจ เข้าใจ การให้ธรรมะเป็นทานย่อมชนะการให้ทั้งปวง พระพุทธเจ้าสอนไว้ ครูบาอาจารย์ก็บอกไว้" สอนกันแบบไม่เหนื่อยไม่พักมาเป็นสิบๆ ปี มี 'ลูกโยคี' อีกจำนวนไม่น้อยที่กลายไปเป็นผู้ถ่ายทอดโดยผ่านหลักสูตรเดียวกัน 7 คืน 8 วัน การขยายตัวของบรรดา 'ลูกโยคี' จึงเป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นทวีคูณ

สำหรับคุณแม่สิริ เพียงความเข้าใจในหลักธรรมยังไม่เพียงพอ แต่การปฏิบัติต่างหากที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพุทธศาสนิกชน

"จำเป็นต้องปฏิบัติ ปฏิบัติมีสองอย่าง หนึ่งสมถะกรรมฐาน คืออุบายให้จิตสงบมีสมาธิเท่านั้น แต่ปัญญาไม่เกิด แต่วิปัสสนาคืออุบายให้จิตสงบ ให้มีสมาธิและเกิดปัญญา นี่ต้องอาศัยอิริยาบถให้ทันปัจจุบัน"

ถามว่าทำไมต้อง 7 คืน 8 วัน

"ถ้าไม่ครบมันดิบๆ สุกๆ ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร เหมือนเราเอาน้ำใส่กาต้มน้ำ มันจะเดือดใน 7 นาที ถ้าเราตั้ง 2 นาทีแล้วเอาลง พรุ่งนี้ตั้งอีก 3 นาที เอาลง มะรืนตั้งอีก4 นาที เอาลง ทั้งปีทั้งชาติน้ำก็ไม่เดือด"

คุณแม่สิริอธิบายว่า การฝึกปฏิบัติในระยะเวลาดังกล่าวก็เพื่อเรียนรู้หลักการ และฝังรากหยั่งความดี เพื่อให้กุศล ศีล ทาน ภาวนาเกิดขึ้นในจิต

"เมื่อเราทำได้ชำนาญแล้ว ยุบหนอ พองหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอมันก็จะหลุดไปเอง เราจะทันปัจจุบันมากขึ้น ความรู้สึกของเราไวมาก จะมัวไปหนออยู่ในชีวิตจริงคงจะไม่ได้"

ด้วยวัยที่ล่วงเลย วันนี้คุณแม่สิริไม่แข็งแรงอย่างแต่ก่อน

"ตอนนี้ไม่ค่อยสบาย สอนไม่ได้มา 4 เดือนแล้ว แต่ก็มีคนมาหาที่บ้าน อยู่บ้านพูดน้อย ถ้าออกไปสอนข้างนอกต้องพูดมาก กำลังยังไม่มีก็ไม่ออกไป"

ถึงจะหยุดพัก แต่บรรดาลูกศิษย์ก็ขมีขมันออกช่วยกันเผยแพร่หลักธรรมผ่านคอร์สอบรมวิปัสสนาอย่างไม่หยุดหย่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่ถึงวันนี้ 'ลูกโยคี' จะเพิ่มจำนวนเรื่อยๆ และมีทีท่าว่าคงจะเพิ่มขึ้นต่อไป ในเมื่อนี่เป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถนำมาซึ่งความสุขสงบในจิตใจอันเป็นความต้องการของทุกผู้คน




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.dharma-gateway.com/ubasik...-main-page.htm