คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม

กระทู้: คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม






    คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม



    อุบาสิกาผู้มีพลังจิตมหัศจรรย์

    นิตยสารหญิงไทย ฉบับที่ 710 ปีที่ 30 ปักษ์แรก เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548

    a8a8a8a8a8a8a8a8a8a

    “อิทธิปาฏิหาริย์” เป็นเรื่องที่ดูเหนือธรรมชาติ ชวนพิศวงสำหรับผู้ที่ยังอยู่ในวังวนของกิเลส สำหรับผู้ปฏิบัติทางจิตที่กำลังจะล่วงพ้นบ่วงกิเลส “ปาฏิหาริย์” ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ปฏิบัติสามารถทำได้ทุกคน

    ในอดีตหลายสิบปีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไปคงจะเคยคุ้นชื่อของอุบาสิกาท่านหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก สำหรับสานุศิษย์ท่านคือ “อุบาสิกาบุญเรือน โตงบุญเติม” ผู้สำเร็จจตุตถฌาน (ฌานที่ 4) จึงมี “อภิญญา” ปรากฏเป็นปาฏิหาริย์จนเลื่องลือในทางปาฏิหาริย์ตาทิพย์ รู้วาระจิตผู้อื่น ล่องหนหายตัว และใช้พลังจิตรักษาโรคให้คนทั่วไปจนหาย

    อุบาสิกาบุญเรือน โดยทั่วไปคนที่เคารพท่านมักเรียกท่านว่า “คุณแม่บุญเรือน” เพราะความเมตตากรุณา ที่ท่านมีให้กับทุกคนไม่เลือกชั้นวรรณะ พื้นเพเดิมของคุณแม่บุญเรือนท่านเป็นชาวอำเภอมีนบุรี กรุงเทพฯ มีฐานะค่อนข้างยากจน พ่อแม่เป็นชาวสวน ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่แถวบางปะกอก ธนบุรี ในวัยเด็กคุณแม่บุญเรือนได้รับการศึกษาพออ่านออกเขียนได้ และมีนิสัยฝักใฝ่ในทางธรรมมาแต่เด็ก โดยได้รับการสั่งสอนให้รู้จักธรรมะ ในพระพุทธองค์จาก “หลวงตาพริ้ง” วัดบางปะกอก พระสายวิปัสสนากรรมฐาน ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น จนทำให้คุณแม่บุญเรือนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ฝักใฝ่ในบุญกุศล หมั่นเพียรในทางธรรมตลอดมา

    เมื่อมีอายุในวัยครองเรือนคุณแม่บุญเรือนได้สมรสกับ สิบตำรวจโท จ้อย โตงบุญเติม แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ภายหลังจึงรับเด็กหญิงมาอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมคนหนึ่ง ขณะเดียวกันคุณแม่บุญเรือน ก็ยังมีโอกาสได้ปฏิบัติและศึกษาธรรมมากขึ้น โดยมีท่านพระมหารัชชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสสัมพันธวงศ์สมัยนั้นเป็นอาจารย์สอนสมถะวิปัสสนากรรมฐานให้ จนกระทั่งปี 2470 คุณแม่บุญเรือนจึงลาสามี เพื่อมาบวชที่วัดสัมพันธวงศ์อยู่ระยะหนึ่งแล้วจึงลาสึกไป และเมื่อสามีถึงแก่กรรมแล้ว จึงมีศรัทธากลับมาบวชอีกในปี 2482

    ความเพียรในการฝึกจิตและเรียนรู้ทางธรรมของคุณแม่บุญเรือน ปรากฏเรื่องราวอันเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ ที่จะสำเร็จได้ก็ด้วยอำนาจสมาธิซึ่งเป็น “พลังจิต” อันมหัศจรรย์ จึงมีเรื่องเล่ามากมายจากคนเก่าแก่ และผู้ประสบเหตุเรื่องราวพิศวง อันเกิดจากอำนาจทิพย์ของอุบาสิกาท่านนี้

    ล่องหนหายตัว

    การล่องหนหายตัวจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง เป็นผลจากการปฏิบัติทางจิตจนได้ “อภิญญา” ซึ่งคุณแม่บุญเรือนสามารถอธิษฐานจิตให้หายตัวได้ เรื่องนี้ “เจ้าคุณพระรัชชมงคลมุนี” วัดสัมพันธวงศ์ ท่านได้บันทึกไว้ว่า เมื่อเดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ พ.ศ. 2470 คุณแม่บุญเรือนท่านอยู่ที่บ้านพักตำรวจกับครอบครัว ในคืนดังกล่าวคุณแม่นอนไม่หลับจนดึก สามีและบุตรบุญธรรมหลับกรน และกัดฟันกรอดๆ รู้สึกเกิดธรรมสังเวชเบื่อหน่ายต่อสภาพอย่างนั้น ท่านอยากหลีกหนีเสียชั่วคราว จึงตั้งจิตอธิษฐาน เข้าไปในศาลาที่วัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งศาลานี้เป็นที่อยู่ของแม่ชีนักปฏิบัติธรรม คุณแม่เองก็เคยอาศัยบำเพ็ญธรรมที่ศาลานี้ พอสิ้นอธิษฐานก็ปรากฏตัวเองอยู่ที่ศาลานี้แล้ว ไม่ทราบว่าเข้าศาลาทางไหน และที่บ้านพักตำรวจกับศาลาวัดสัมพันธวงศ์ก็ไกลกันพอสมควร

    แม่ชีฟักเพื่อนปฏิบัติธรรม พักอยู่เป็นประจำที่ศาลานี้ ขอให้คุณแม่บุญเรือนอธิษฐานมาเข้าศาลาอีกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 โดยให้แม่ชีผู้อยู่ศาลาอีก 3 คนดูแลปิดประตูหน้าต่างลงกลอนให้เรียบร้อย และดูให้รู้เห็นเป็นพยานด้วย

    คุณแม่บุญเรือนก็อธิษฐานให้หายวับจากบ้านพัก เข้าไปปรากฏตัวในศาลาได้เช่นเดียวกับคราวก่อน พวกที่คอยอยู่ก็แปลกใจและแน่ใจว่า หายตัวผ่านเข้ามาได้จริงๆ และมองเห็นผลสำเร็จทางสมาธิ ที่มีแก่ผู้ปฏิบัติด้วยวิริยอุตสาหะ ต่อมาคุณแม่บุญเรือน ท่านได้อธิษฐานหายตัวจากศาลา ไปเขาวงพระจันทร์ ท่านได้พบพระผู้วิเศษที่นั่น และได้รับพระธาตุ 1 องค์ จากพระองค์นั้น กลับมาพระธาตุยังกำอยู่ในมือ เป็นพยานแก่ตัวท่านเองว่ามิได้ฝันไป







    ทิพยโสตญาณ (หูทิพย์)

    อภิญญาในด้านหูทิพย์ของคุณแม่บุญเรือนนี้ มีบันทึกของคุณหญิงเงียบ บุนนาค เขียนไว้ว่า ครั้งหนึ่งคุณแม่บุญเรือน ไปรักษาโรคขาบวมให้น้องสาวคุณหญิงเงียบ บุนนาค ข้างวัดอนงคาราม ธนบุรี ตอนขากลับ น้องสาวคุณหญิงเงียบมอบค่ารถให้ 20 บาท คืนวันนั้นสามีของน้องสาวคุณหญิงกลับบ้าน ทราบว่าภรรยาจ่ายเงินค่ารถให้คุณแม่บุญเรือน 20 บาท (สมัยเงินแพง) เขาเอะอะว่า คุณแม่บุญเรือนเป็นหมอไม่จริง หลอกเอาสตางค์

    พอรุ่งเช้า 6 โมงเศษ คุณแม่บุญเรือนไปถึงบ้านน้องสาวคุณหญิงข้างวัดอนงค์ นำเงิน 20 บาท ไปคืนให้บอกว่า “เป็นเงินของคุณผู้ชายเขา ดิฉันคืนให้ ดิฉันไม่โกรธคุณหรอก คุณต้องรับเงินนี้ไว้”

    นี่แสดงว่าคุณแม่บุญเรือนหูทิพย์ ได้ยินคำพูดของสามีน้องสาวคุณหญิงเงียบ พร้อมทั้งรู้วาระจิต ของคนพูด ว่าหมายถึงตัวคุณแม่บุญเรือนที่ไปรักษาขาบวม คุณแม่จึงรีบนำเงินไปคืนให้ เพื่อรักษาน้ำใจของน้องสาวคุณหญิง และสามีมิให้ขุ่นข้องหมองใจ

    คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ท่านเป็นผู้มีจิตอันเป็นกุศลอย่างยิ่ง นอกจากนั้นท่านยังใช้จิตอันมหัศจรรย์ของท่าน ในการอธิษฐานเพื่อช่วยคนในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาโรคภัยต่าง ๆ จนหายขาด ดังเรื่องราวที่มีผู้บันทึกไว้ในหนังสือ “คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม อนุสรณ์”

    รักษาด้วยวาจาสิทธิ์

    เป็นบันทึกของ นายจำรัส สุขประเสริฐ อยู่ จ.อุดรธานี มีใจความว่า "อุบาสิกาบุญเรือน โตงบุญเติม เดินทางโดยขบวนรถไฟด่วนถึง จ. อุดรธานี เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2496 เวลา 7.15 น. ก่อนหน้ารถไฟด่วนจะเทียบเข้าชานสถานีประมาณ 20 นาที ได้มีหมอกลงที่สถานีรถไฟและบริเวณตัวเมืองอุดรธานีหนามืดไปหมด อยู่ห่างกันประมาณ 10 วา ยังแลไม่เห็นกันเลย รถยนต์วิ่งตามถนนต้องเปิดไฟหมอกหนามืดเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนเลย พอรถไฟถึงสถานีประมาณ 10 นาที หมอกก็ค่อยๆ จากหายไป ชาวอุดรธานีต่างพิศวงงงงวย ต่างโจษจันกันต่างๆ นานา เมื่ออุบาสิกาบุญเรือน ลงรถไฟแล้ว มีผู้คนไปรับเป็นจำนวนมาก

    อุบาสิกาบุญเรือนได้พักที่บ้านผมค่ำของวันนี้ได้มีผู้มาหาเป็นจำนวนมาก นายครรชิต สกลคลัง พนักงานธนาคารกสิกรไทยได้มาหา และบอกกับอุบาสิกาบุญเรือนว่า ตัวเขาป่วยเป็นโรคปวดท้องมาเป็นเวลานาน เวลานี้ก็ยังปวดอยู่ได้รักษาตัวหมดเงินมากมายแล้ว อุบาสิกาบุญเรือนได้ฟังจึงสั่งในขณะนั้นว่า "อย่าปวด ให้หายปวดเดี๋ยวนี้" แล้วอุบาสิกาบุญเรือนก็ถามนายครรชิตว่า “หายปวดหรือยัง?” นายครรชิตตอบว่า “หายปวดแล้ว” อุบาสิกาบุญเรือนจึงสั่งว่า “คืนวันนี้อย่าปวด” (เพราะนายครรชิตบอกว่ากลางคืนปวดแทบไม่ได้นอนทุกคืน)

    ครั้นรุ่งเช้านายครรชิตมาบอกอุบาสิกาบุญเรือนว่า เมื่อคืนนี้ไม่ปวดเลย นอนได้สบายตลอดคืน และในระหว่างที่อุบาสิกาบุญเรือนพักอยู่ที่ จ.อุดรธานีนี้ ตอนเช้าอุบาสิกาบุญเรือนได้ไปอธิษฐานจิต ให้พลังจิตแก่ประชาชนที่วัดโพธิสมภรณ์ทุกวัน มีประชาชนนำน้ำ ปูน ไพล พริกไทย สาคู มาให้อุบาสิกาบุญเรือนอธิษฐานจิตอย่างคับคั่งทุกวัน

    มีคนหลังโกงคนหนึ่ง เวลาเดินต้องใช้ไม้เท้าค้ำได้มาหาอุบาสิกาบุญเรือนขอให้รักษา อุบาสิกาบุญเรือนได้ออกคำสั่งต่อหน้าประชาชนจำนวนมากว่า “ให้ทิ้งไม้เท้า!” ชายหลังโกงคนนั้นก็ขว้างไม้เท้าทิ้ง อุบาสิกาบุญเรือนจึงสั่งต่อไปให้ยืนตรง ๆ ชายหลังโกงก็ค่อย ๆ ยืดตัวและยืนตัวตรงได้ แล้วอุบาสิกาบุญเรือนก็สั่งให้ออกเดินและวิ่ง ชายคนนั้นก็วิ่งได้ เลยหายเป็นปรกติ เดินกลับบ้านได้เช่นคนดี ๆ นับเป็นเรื่องอัศจรรย์

    นิ่วในถุงน้ำดี

    ม.ร.ว.ไกรเทพ เทวกุล บันทึกไว้ดังนี้

    เมื่อปี พ.ศ. 2494 ข้าพเจ้าป่วยมีอาการแน่นจุกเสียดทุกเดือน บางที 2 ถึง 3 เดือนต่อครั้ง ครั้นถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2495 รู้สึกว่าอาการเช่นนี้มีมากขึ้นจนทนแทบไม่ได้เช่น หายใจไม่ออก ข้าพเจ้าจึงได้ไปปรึกษาแพทย์ปริญญาที่ข้างบ้าน นายแพทย์ผู้นั้นได้ฉีดยาและให้ยารับประทาน อาการก็ค่อยทุเลา ต่อมาจากนั้น 2 ถึง 3 วันก็เป็นอีก นายแพทย์ผู้นั้นแนะนำว่าควรไปเอกซเรย์ดู เพราะสงสัยในอาการนั้นคงเนื่องมาจากถุงน้ำดีอักเสบ ข้าพเจ้าก็ปฏิบัติตาม ปรากฏตามฟิล์มเอกซเรย์โดยนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแผนกนี้ ลงความเห็นว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แนะนำให้ทำการผ่าตัดทันที

    ข้าพเจ้าได้มาปรึกษาคุณป้าบุญเรือนถึงอาการเจ็บป่วย คุณป้าได้เอ็ดข้าพเจ้ามากมายว่า ทำไมไม่มาปรึกษาฉันตั้งแต่แรก ถ้าอยากตายก็เชิญไปผ่าได้ คุณป้าจึงให้ข้าพเจ้ารับประทานไพล และน้ำอธิษฐาน กับทั้งได้ให้ปูนอธิษฐานไปทาตามบริเวณหน้าอกและท้อง เว้นวันสองวัน ท่านก็นวดให้ข้าพเจ้าหนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด อาการก็ค่อยทุเลาและหายภายในเดือนนั้นเอง

    คุณป้าบุญเรือนให้ไปฉายเอกซเรย์ดูใหม่ ข้าพเจ้าก็ปฏิบัติตาม กับได้นำฟิล์มทั้งเก่าและใหม่มาเทียบกันดู ปรากฏว่าในแผ่นแรกมีวงกลมสีขาวประมาณเท่าเหรียญสองสลึง ส่วนในแผ่นเอกซเรย์ทีหลังไม่มี นายแทพย์บอกว่าในบริเวณถุงน้ำดีไม่มีก้อนนิ่วแล้ว





    ยาวิเศษ

    พลตรี ยุทธ สมบูรณ์ บันทึกไว้ว่า บางท่านที่มาทำความรู้จักกับ คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม มักจะเรียกท่านว่า คุณแม่หมอ คุณยายหมอ หรือคำอื่น ๆ ลงท้ายว่า “หมอ” แต่คุณแม่บุญเรือนไม่เคยรับหรืออวดอ้างว่าท่านเป็นหมอแม้แต่ครั้งเดียว อย่างไรก็ดีชื่อเสียงของคุณแม่บุญเรือนก็หอมไปทั่วประเทศไทยในฐานะผู้วิเศษ ก็เพราะท่านอธิษฐานวัตถุสิ่งของต่างๆ ให้เป็นยารักษาโรคได้อย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด

    คุณหมอปรีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระประแดง ทำยาผงแก้โรคผิวหนังออกจำหน่ายด้วยตัวยาที่คุณแม่บุญเรือนเป็นผู้บอกให้ ตัวยาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นชื่อภาษาอังกฤษ ไม่ทราบว่าคุณแม่บุญเรือนไปทราบมาได้อย่างไร เพราะการศึกษาของคุณแม่ก็เพียงอ่านออกเขียนได้ นอกจากนั้นคุณหมอปรีดายังได้ตำรายาอีกอย่างหนึ่งคือน้ำมันโพธิ์งาม ซึ่งคุณหมอปรีดาได้ผสมขาย ผมสีขาวใส่น้ำมันแล้วกลายเป็นสีเทาและเข้มขึ้นทุกที





    ยาขนานที่ 3 คือ ยาสีฟันวิเศษนิยมของโรงงานวิเศษนิยม ซึ่งเป็นยาสีฟันที่ทำรายได้อย่างดีตลอดมา ...ยาสีฟันวิเศษนิยมนี้ “คุณแม่บุญเรือนก็เป็นผู้บอกตัวยาให้”

    คุณธรรมอันสูงส่งของ “คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม” อุบาสิกาผู้ใจบุญท่านนี้ยิ่งใหญ่ ท่านเป็นผู้เสียสละ ชอบการทำบุญ ให้ทาน ไม่ยึดติดสะสมในทรัพย์สมบัติ มีแต่เป็นผู้ให้ตลอดมา และทั้งชีวิตท่านยังได้บำเพ็ญธรรมอย่างสม่ำเสมอตราบจนวาระสุดท้ายที่ท่านได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยโรคหัวใจ ไต และโลหิตจาง แม้จะมีลูกศิษย์ต้องการให้ท่านมีชีวิตอยู่ต่อโดยการอธิษฐานขอแต่ท่านก็ไม่ทำ ท่านบอกว่า “สังขารร่างกายและใจ หรือขันธ์ห้านี้ไม่ใช่ตัวของเรา มันเป็นเพียงเครื่องอยู่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น เป็นเรือนทุกข์ ท่านจึงต้องการออกจากเรือนทุกข์นี้”

    ในปัจจุบันมีรูปปั้นของคุณแม่บุญเรือนอยู่บนศาลา คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ในวัดอาวุธวิกสิตาราม หรือวัดบางพลัดนอก กรุงเทพฯซึ่งเป็นวัดที่ท่านเคยอยู่บำเพ็ญศีลสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกวันนี้ยังมีสานุศิษย์และผู้ศรัทธา ไปกราบไหว้รูปปั้นท่านและยังมีผู้ไปอธิษฐานจิตขอปูน ไพล เพื่อไปรักษาโรคจากท่านมากมายหลายราย ซึ่งแม้ว่าท่านจะจากไปนานแล้วแต่คุณงามความดี ชื่อเสียงในทางธรรมที่ท่านเพียรสร้างไว้ ขณะยังมีชีวิตอยู่ก็ยังมีผู้กล่าวถึงอยู่ตลอดไป



    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  2. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม




    เกร็ดประวัติคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม

    ประวัติ หลวงตาไสว สิวญาโณ

    ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณแม่บุญเรือน และ ท่านพุทธทาส



    คัดลอกจาก http://www.fpmconsultant.com/manager/dharma/11.doc



    สู่ทางธรรม

    แม่แดง-ครูคนแรก

    “แม่แดง” คนนี้อยู่บ้านใกล้กับอาตมาที่เชียงใหม่. แกเป็นคนดี ธัมมะ ธัมโม และที่บ้านแม่แดงมักมีแม่ชีมาสอนด้วย. ตัวแม่แดงเองก็สอนธรรมะพื้นๆ ได้เก่ง เช่น สอนว่าวิธีที่จะไม่โกรธแม่ยาย จะทำยังไง? จะต้องมีขันติ-อดทน เป็นต้น.

    พออาตมากลับมาบ้านที่ลำปาง ก็เอาข้อธรรมที่แม่แดงสอนนั้นมาเขียนติดไว้ในบ้าน ตามประตู หน้าต่างเต็มไปหมด. แต่แล้วขันติก็แตก ทนไม่ได้ อาตมาก็โกรธแม่ยายอีก, จึงกลับไปเชียงใหม่เพื่อไปหาแม่แดงอีก แต่แม่แดงไม่อยู่ คนที่บ้านบอกว่า “แม่แดงไม่อยู่ ไปกับคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม (อุบาสิกาที่มีคนนับถือมากในขณะนั้น) ไปที่วัดเจดีย์หลวง” อาตมาจึงตามไป

    คุณแม่บุญเรือน

    คุณแม่บุญเรือนปกติอยู่กรุงเทพฯ แต่มีคนเชิญท่านมาที่เชียงใหม่. ตอนอาตมาได้พบคุณแม่บุญเรือนที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๑ ขณะนั้นอาตมามีอายุราว ๔๔ ปี. อาตมาได้เห็นการปฏิบัติของคุณแม่บุญเรือนแล้ว รู้สึกว่า ท่านมีฤทธิ์ คือรู้ใจคน, ทั้งสามารถแสดงปาฏิหาริย์ ทำให้คนเดินกลางฝนได้โดยไม่เปียก. หนังสือพิมพ์สมัยนั้นลงข่าวเกรียวกราวมาก.

    อาตมารู้สึกศรัทธาคุณแม่บุญเรือนมาก จึงไปสมัครเป็นลูกศิษย์ ต่อมาภรรยาเมื่อไปเชียงใหม่ก็ตามไปเรียนด้วย แรกๆ ภรรยาก็เรียนกับคุณแม่บุญเรือนด้วยเล็กๆ น้อยๆ , จนต่อมาก็เป็นลูกศิษย์ที่คุณแม่บุญเรือนรักใคร่ สนิทสนมกันมาก.

    พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

    ขณะที่อยู่ที่เชียงใหม่ วันหนึ่งอาตมาได้ถามคุณแม่บุญเรือนว่า “พระที่มีปฏิปทาปฏิบัติชอบนั้นมีใครบ้าง?” ท่านก็บอกว่า “มีหลวงปู่มั่น, เจ้าคุณอุบาลี และท่านอาจารย์พุทธทาส” ซึ่งอาตมาก็ฟังๆ ไปยังงั้นเอง เพราะไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักกับพระทั้งสามองค์ที่ออกนามมานี้ อีกอย่างหนึ่งอาตมาเองก็เคารพในคุณแม่บุญเรือนเป็นอาจารย์อยู่แล้ว อาตมาเป็นศิษย์ศึกษาธรรมกับคุณแม่บุญเรือนอยู่นานถึง ๑๒ ปี.

    สมาธิภาวนา แบบพองหนอ-ยุบหนอ

    ขณะที่อาตมายังเป็นศิษย์ของคุณแม่บุญเรือนนั้น อาตมาก็ยังไปๆ มาๆ เชียงใหม่บ้าง ลำปางบ้าง. ส่วนโรคปวดหัวและริดสีดวงทวารของอาตมาก็ยังไม่หาย แถมยังเริ่มเป็นโรคปอดเพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง. อาตมาจึงหันไปฝึกสมาธิภาวนาแบบพองหนอ-ยุบหนอ, ยืนหนอ-นั่งหนอ, มีการเดินจงกรมชั่วโมงหนึ่ง นั่งสมาธิหลับตาภาวนาชั่วโมงหนึ่ง. ตอนนั้นเขาสอนทำตบะตัวแข็งเลย, อาตมาเรียนอยู่ถึง ๒ เดือน เอาจริงๆ เลย! ผลที่ได้รับคือรู้สึกว่าตัวเบา มีปีติสูงมาก อยากให้คนอื่นได้รับเหมือนเราบ้าง. ในขณะนั้นครูผู้สอนยังบอกอาตมาว่า “แค่นี้ยังไม่พอ ยังมีอีก” อาตมาก็เรียนได้ดีจนครูผู้สอนยกย่อง จะให้อาตมาเป็นครูช่วยสอนให้ผู้อื่นด้วย, แต่อาตมาไม่เอา เรื่องอาตมาเรียนสมาธิภาวนาแบบพองหนอ-ยุบหนอ ที่เชียงใหม่นี้ มีคนฟ้องมายังคุณแม่บุญเรือนด้วยน่ะ.

    ชักชวนให้พี่สาวศรัทธาในคุณแม่บุญเรือน

    ต่อมาเมื่อคุณแม่บุญเรือนได้ลงมากรุงเทพฯ. อาตมาได้มีจดหมายบอกไปยังพี่สาวแกมแก้ว ซึ่งยังอยู่ที่บ้านบางขุนพรหม ที่กรุงเทพฯ ให้ไปหาคุณแม่บุญเรือนที่บ้านของท่านที่ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ เพราะบ้านอยู่ใกล้กันแค่นั้น. โดยอาตมาไปเล่าเรื่องปาฏิหาริย์ของคุณแม่บุญเรือนที่เดินกลางสายฝนได้โดยไม่เปียกให้พี่สาวฟังด้วย. พี่สาวอาตมาซึ่งเรียนจบวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนราชินี พอฟังเรื่องที่อาตมาเล่าให้ฟัง ก็ว่า “น้องชายถ้าจะเสียสติเสียแล้ว” แต่ลงท้ายพี่สาวอาตมาก็ไปหาคุณแม่บุญเรือน.

    พอคุณแม่บุญเรือนพบพี่สาวอาตมา ก็พูดว่า “ฉันมีอะไรไม่ดีให้บอกฉัน” พี่สาวได้เล่าให้อาตมาฟังว่า ตัวเขาเองถึงกับสะดุ้งในตอนนั้น. ต่อมาพี่สาวอาตมาก็ศรัทธาในคุณแม่บุญเรือนยิ่งกว่าอาตมาเสียอีก.

    วิธีสอนของคุณแม่บุญเรือน

    วิธีสอนของคุณแม่บุญเรือนค่อนข้างดู รุนแรง ถึงขั้นลงไม้ลงมือเลยทีเดียว. เช่นเมื่อราว พ.ศ.๒๕๐๐ ตอนนั้นอาตมามีอายุได้ราว ๕๓ ปีแล้ว เมื่ออาตมาได้เข้ามากรุงเทพฯ และได้แวะมากราบเยี่ยมคุณแม่บุญเรือนในฐานะอาจารย์. ท่านก็ถามเรื่องไปเรียนกัมมัฏฐาน เล่นตบะตัวแข็ง ว่าจริงหรือไม่? พออาตมารับว่าจริงเท่านั้นแหละ ท่านก็ลุกขึ้นมา กระทืบอาตมา กระทืบในขณะที่อาตมายังนั่งพับเพียบอยู่ต่อหน้าคนทั้งหลายในที่นั้นเลย, เมื่อคนกลับไปหมดแล้ว ท่านยังพูดว่า “นายไสวนี่กระดูกเหล็ก ทำเอาเท้าฉันเจ็บ” นี่! เป็นยังงั้น

    ต่อมาเมื่ออาตมาได้มาเยี่ยมท่านอีกที่บ้านพระโขนง ที่หลวงแจ่มวิชาสอนสร้างให้. พออาตมาไปเห็นบ้าน ซึ่งขณะนั้นถนนยังเป็นโคลน, อาตมาจึงโทรศัพท์สั่งหินมาคันรถหนึ่ง ให้เขาเอามาถมและเกลี่ยถนนให้พอเดินได้. พอดีเกิดฝนตก ถนนก็เป็นหลุมเป็นบ่อ คุณแม่บุญเรือนสั่งให้อาตมาเอาจอบไปเกลี่ยหินกลบตามหลุมตามบ่อนั้น. อาตมาไม่เคยจับจอบมาก่อน จึงทำไม่เป็น, ท่านก็ตบเอา แล้วว่า “งานแค่นี้ก็ทำไม่เป็น”.

    ตกตอนเช้า ขณะที่อาตมากำลังก้มลงเก็บหินที่กระจายเกลื่อนๆ อยู่ ท่านเดินมาเห็นเข้าก็เตะก้นอีกที.

    อีกหนหนึ่ง อาตมาไปเยี่ยมท่าน, ขณะนั้นมีคนนั่งกันเต็ม ท่านบอกให้อาตมาไปเอาดอกไม้มาให้คุณหญิงคุณนายจัดแจกัน พอดอกไม่เหลือ ท่านก็สั่งอาตมา “เอาไปไว้ที่เก่า” อาตมาก็เอาไปวางที่เก่า.

    สักครู่ท่านพาคุณหญิงคุณนายผ่านไปพบเข้า ก็ดุว่าอาตมาว่า “ทำไมเอาดอกไม้มาวางไว้ตรงนี้?” อาตมาก็บอกท่านว่า “ที่เก่ามันอยู่ตรงนี้” เท่านั้นแหละท่านตบอาตมาทันที เห็นเขียวๆ แดงๆ ตาลายเลย พอท่านทำท่าจะตบครั้งที่ ๒, อาตมาก็เอนตัวหลบ. ท่านก็ว่า “จะสู้ยังงั้นรึ?” อาตมาก็นิ่งเฉยเสีย พออาตมาเดินห่างไปหน่อย ท่านก็ประกาศบอกใครๆ ว่า “ฉันสอนลูกศิษย์ของฉันยังงี้” ในตอนนั้นอาตมาไม่เข้าใจ, ต่อมาภายหลังเมื่อมาอยู่ที่สวนโมกข์แล้ว จึงเข้าใจว่า ท่านสอนแบบเซ็น ด้วยวิธี ฉับพลัน. กล่าวคือขณะนั้นลูกศิษย์ที่มาหาท่าน คุยกันแซ็ดไปหมด, พอคุณแม่บุญเรือนตบอาตมาเท่านั้น เสียงเงียบกริบลงทันทีเลย, เป็นการข่มขวัญ หรือเชือดคอไก่ให้ลิงดูนั่นเอง.

    ความเคารพในครูบาอาจารย์

    ขณะที่อาตมาถูกคุณแม่บุญเรือนตบตีอย่างรุนแรงนั้น, อาตมาก็มิได้มีอารมณ์โกรธเคืองแต่อย่างใด เนื่องจากมีความเคารพว่าท่านเป็นอาจารย์. ท่านได้แนะนำสั่งสอนมา อาตมาได้ความรู้จากคุณแม่บุญเรือนหลายอย่าง จนตั้งตัวมาได้ถึงปานนี้.

    แต่ทว่าโรคภัยไข้เจ็บก็ยังเบียดเบียน ไม่ว่าจะเป็นโรคปวดหัว ริดสีดวงทวาร โรคปอด และยังมีโรคต่อมลูกหมากโตเพิ่มเข้ามาอีกด้วย.

    เมื่อทำไร่มันฝรั่ง

    ต่อมาแม่แดง ซึ่งเป็นครูคนแรกของอาตมานั้น, เขาเป็นเศรษฐี ลูกเขย ๒ คนของเขาไปทำไร่มันฝรั่งที่เชียงใหม่ กิโลเมตรที่ ๓๘ มีเนื้อที่ ๒๓๔ ไร่ ขณะนั้นยังไม่มีใครปลูกมันฝรั่งในเมืองไทย ปีแรกก็ขาดทุน. แม่แดงบอกว่าจะเลิกทำ. อาตมาก็เลยอาสาว่า อย่าเลิกเลย อาตมาจะไปทำให้.

    พออาตมาไปถึงที่ไร่ ก็เห็นเจ้าของไร่คือลูกเขยแม่แดง แต่งตัวคาวบอย มีรถแทรกเตอร์ใช้ มีคนงานในไร่ ๔๐ คน พอตกเย็นก็นั่งกินเหล้ากัน. อาตมาจึงมองเห็นเหตุที่มาของการขาดทุน และได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงต่างๆ :-

    ในขั้นแรกก็คือการตัดคนงานออกเสีย ๒๐ คน เหลือไว้แค่ ๒๐ คน เพราะจำนวนคนเกินกว่างานมาก, นี่ก็เป็นการลดต้นทุนอย่างหนึ่ง.

    ส่วนเรื่องที่มีขโมยมาลักขุดมันนั้น อาตมาก็ต้องค่อยๆ แก้ไขสอบสวนดู โดยคอยสังเกตจนรู้ว่า ขโมยที่เข้ามาลักขุดมันนั้นเป็นชาวบ้านแถบนั้น เมื่อเจ้าของไร่เอาหัวมันฝังดินไว้เพื่อปลูก แล้วก็ไม่ได้เอาใจใส่ดูแล ชาวบ้านจึงมาลักขุดขนเอาหัวมันเหล่านั้นไป. เจ้าของก็ไม่รู้ ผลผลิตจึงออกมาไม่สมกับที่เจ้าของคาดหมาย เพราะปลูกเท่าไร ต้นมันก็ไม่งอกเป็นต้นสักที อาตมาขุดดูจึงรู้ว่า หัวมันถูกขโมยลักขุดเอาไปหมดแล้ว. อาตมาต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการแก้ไข คือเริ่มเข้าไปทำความรู้จัก คุ้นเคย เข้าหาคนเฒ่าคนแก่กับเด็ก และทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยบอกว่า “ถ้าจะเอาอะไร ขอให้บอก” เราปลูกอะไรก็ให้พันธุ์เขาไปปลูกบ้าง. จากนั้นก็ทำตู้ยามล้อมรอบที่ไร่ มีที่พักของอาตมาเองอยู่ตรงกลางไร่ เพื่อจะได้ดูแลได้รอบทิศ กลางคืน พอฉายไฟไปที่ตู้ยาม ถ้ายามไม่ตอบ จะเป็นเพราะหลับหรือเมาก็ตาม อาตมาก็ลงไปที่ตู้ยาม แล้วยิงปืนออกไป ซึ่งเท่ากับขู่ชาวบ้านไปด้วย. สำหรับคนงานคนไหนอยู่ยามกลางคืน รุ่งขึ้นให้หยุดพัก ๑ วัน การแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างนี้ ทำให้กิจการไร่มันหายจากการขาดทุนได้ เพราะการควบคุมดูแลอย่างเอาจริง และการประหยัดค่าใช้จ่าย ตลอดจนการมีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้านนั่นเอง.

    การพบท่านพุทธทาสเป็นครั้งแรก

    เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ขณะที่อาตมาดูแลการปลูกมันฝรั่งนั้น, วันหนึ่งคุณประสิทธิ์ พุ่มชูศรี เจ้าของกิจการไร่ชาระมิงค์ มาบอกอาตมาว่า “ท่านอาจารย์พุทธทาส จากสวนโมกข์ ไชยา มาพักที่ไร่ จะไปพบท่านไหม?” อาตมารีบตอบว่า “ไป ไป” ก็ตามคุณประสิทธิ์ไปกราบท่าน. พออาตมาเห็นท่านอาจารย์พุทธทาส ก็อยากเป็นพระอรหันต์กับเขาบ้าง. อาตมาได้บอกกับท่านว่า อาตมาจะไปสวนโมกข์. ท่านก็ตอบว่า “ได้ ได้”

    หมดห่วงทางโลก

    พอดีในช่วงนั้นแม่แดง ผู้ร่วมกิจการทำไร่มันฝรั่งมาตายลง, คุณแม่บุญเรือนก็บอกว่าหยุดช่วยเขาได้แล้ว ได้ตอบแทนคุณเขามามากพอแล้ว, อีกทั้งอาตมาก็ยังไม่หายจากโรคภัยไข้เจ็บ อาตมาจึงเลิกทำ ไม่อยากทำอะไรอีกต่อไป. อาตมาได้เห็นทุกข์ทางกายทางใจมามากแล้ว. อีกอย่างหนึ่งอาตมาก็รู้สึกหมดห่วงในเรื่องครอบครัว ลูกและภรรยา เมื่อลูกๆ ที่อาตมาได้ขอมาเลี้ยงไว้ทีแรก ๔ คน ก็ไปหมด ไปมีผัวแล้วได้ลูกมาอีก ๖ คน เป็นผู้หญิง ๕ ผู้ชาย ๑ อาตมาก็ต้องเลี้ยงไว้อีก จนผู้หญิง ๕ คน ได้ปริญญาเป็นครูหมดทุกคน ผู้ชายส่งให้เรียนอัสสัมชัญ. ลูกๆ ทุกคนตั้งตัวได้หมด (ขณะนี้ พ.ศ.๒๕๓๙ ตายไปแล้ว ๑ คน) เป็นอันว่าอาตมาหมดห่วงเรื่องลูก.

    เหตุที่ไปสวนโมกข์

    เหตุที่อาตมาคิดจะไปสวนโมกข์ เพราะคิดว่าเรียนกับคุณแม่บุญเรือนมา ๑๒ ปีแล้ว ยังไม่หมดทุกข์สักที พอพบท่านพุทธทาสก็อยากเป็นพระอรหันต์กับเขาบ้าง ดังนั้นก่อนจะมาสวนโมกข์ อาตมาได้ไปขออนุญาตคุณแม่บุญเรือนก่อน.

    ไปสวนโมกข์ครั้งแรก

    พอปี พ.ศ.๒๕๐๑ อาตมาเดินทางโดยรถไฟ มาลงสถานีไชยา จากนั้นก็เดินเท้ามายังสวนโมกข์ ระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร สมัยนั้นยังไม่มีรถรับส่ง เมื่ออาตมาไปถึงสวนโมกข์วัดธารน้ำไหล อาตมาไม่พบท่านอาจารย์พุทธทาส, ท่านไม่อยู่ ไปกิจที่อื่น อาตมาจึงกลับมากรุงเทพฯ.

    เกิดความสงสัยในคุณแม่บุญเรือน

    อาตมากลับจากสวนโมกข์ ก็ไปหาคุณแม่บุญเรือนอีก กลับไปเป็นลูกศิษย์ของคุณแม่บุญเรือนตามเดิม. คุณแม่บุญเรือนดูอาการของอาตมาแล้วพูดว่า “มีอะไรให้บอกแม่” อาตมาจึงถามสวนไปว่า “ก็คุณแม่มีญาณวิเศษถึงขั้นรู้ใจคนแล้ว ทำไมจึงไม่รู้ใจผมว่าอยากมาสวนโมกข์ เพราะอะไร?” คุณแม่บุญเรือนก็ว่า เดี๋ยวนี้เครื่องวิทยุ ๒ เครื่องนี้ มันรับส่งกันไม่ได้อีกแล้ว เครื่องส่งส่งไป แต่เครื่องรับมันไม่ยอมรับ.

    ครั้นพออาตมาบอกท่านว่า “อยากไปหาท่านพุทธทาส” คุณแม่บุญเรือนก็ว่า “พระนิพพาน แม่ก็สอนได้ ไม่ไปได้ไหม?” ในฐานะที่ท่านมีบุญคุณ อาตมาก็เลยคิดว่า เอาปัจจุบันไว้ก่อน คือเรียนกับคุณแม่บุญเรือนต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก็สุดแล้วแต่ท่านจะสอนอะไร. ดังนั้นทุกวัน อาตมาจะออกจากบ้านบางขุนพรหม ไปหาท่านที่บ้านพระโขนง, ส่วนพี่สาวจะไปวันอาทิตย์ งานที่ไปทำก็คือ ไปรับใช้ทุกอย่าง สุดแต่ท่านจะใช้.

    ไปสวนโมกข์ครั้งที่สอง

    อย่างไรก็ดี โรคประจำตัวต่างๆ ที่อาตมาเป็นอยู่ก็ยังไม่หาย ทั้งความคิดอยากจะเป็นพระอรหันต์ยิ่งแรงกล้าขึ้น ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ขณะนั้นอาตมามีอายุได้ ๕๖ ปีแล้ว, อาตมาจึงเดินทางจากกรุงเทพฯ มาสวนโมกข์อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่บอกใคร. แต่ก็ไม่พบท่านอาจารย์พุทธทาสอีก ท่านไปปฏิบัติศาสนกิจตามโปรแกรมของท่าน.

    การมาครั้งนี้อาตมาไม่คิดจะกลับอีกแล้ว ตั้งใจจะอยู่รอจนพบท่านให้ได้ก่อน. อาตมาได้พักอยู่ที่สวนโมกข์ (ปัจจุบัน) ช่วยงานเก็บกวาดวัด ปฏิบัติรับใช้พระ, ส่วนอาหารนั้นยังต้องระวังเพราะโรคริดสีดวงทวารยังไม่หาย จึงต้องไปติดต่อทางโรงครัวให้ทำอาหารที่ไม่แสลงโรคให้.

    เมื่อเป็นอุบาสกที่สวนโมกข์

    อาตมาอยู่ที่สวนโมกข์ไม่นาน, ท่านอาจารย์พุทธทาสก็กลับมา ท่านไม่ถามอะไรอาตมาสักคำ ว่าไปยังไงมายังไง. อาตมาคิดว่าท่านอาจารย์คงจะรู้เรื่องราวของอาตมาจากคุณประสิทธิ์ พุ่มชูศรี มาบ้าง ตั้งแต่ครั้งที่ท่านขึ้นไปเชียงใหม่แล้ว.

    ท่านบอกอาตมาเพียงว่า “ให้ปฏิบัติตนเป็นอุบาสก รับประทานมื้อเดียว กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว”.

    ต่อสู้อย่างหนักกับอาหารแสลงโรค

    พอท่านอาจารย์พุทธทาสกลับมาถึงสวนโมกข์วันแรก อาตมาก็โดนดีทีเดียว คือระหว่างที่พระฉันภัตตาหาร ท่านให้พระที่นั่งองค์สุดท้ายตักข้าวให้อาตมาจานหนึ่ง. ข้าวจานนั้นมีแต่น้ำแกงเหลืองราดมาให้เท่านั้นแหละ เผ็ดแทบตาย. พออาตมาตักข้าวเข้าปาก โอ้โฮ! รู้สึกร้อนเหมือนไฟ ต้องแอบคายทิ้ง แล้วเอาข้าวไปให้ปลากิน ซึ่งแต่เดิมลำธารในวันธารน้ำไหลมีน้ำไหลแรง มีปลาอาศัยอยู่ด้วย, เป็นอันว่าอาตมาต้องอดอาหารในวันแรก.

    ตอนเย็นได้ดื่มน้ำปานะ คือชาซึ่งกลิ่นเหม็นยังกะอะไรดีกับน้ำร้อน น้ำตาล ๑ ก้อน, ต้องใส่น้ำแค่ครึ่งแก้วเท่านั้นจึงจะมีรสหวาน แล้วค่อยเติมน้ำทีหลัง.

    รุ่งขึ้นวันที่สองก็เจอแบบนี้อีก คือข้างราดแกงเหลืองเผ็ดจัด ก็เลยกินไม่ได้อีก เอาข้าวไปให้ปลากินแทน ตัวเองอด. พอถึงวันที่สาม ชักหิวแล้วซิ ทนไม่ไหว จึงแอบไปกระซิบบอกพระที่ตักอาหารองค์สุดท้าย โดยบอกว่า “ขอแต่ปลา ไม่เอาน้ำแกง” ปรากฏว่า วันนั้นต้องกินปลากระเบน ซึ่งเป็นของแสลงต่อโรคริดสีดวงอย่างยิ่ง

    ปลากระเบนนี้ พระสวนโมกข์ตั้งชื่อว่า “ไก่ทะเล” และก็เป็นอาหารหลักของที่นี่เกือบจะเป็นประจำทุกวัน เมื่ออาตมากินเข้าไปแล้ว มันก็ไปออกอาการทางริดสีดวงทวารจนเลือดไหลทรมานมาก อาตมาต้องต่อสู้อย่างหนัก. แต่ก็ไม่เคยบอกท่านอาจารย์พุทธทาสให้ทราบ คิดแต่ว่า “ต้องสู้ให้ได้” แม้จะลำบากก็ “สู้” เพราะอยากได้ธรรมะ อยู่ที่ว่าใครจะสู้ได้แค่ไหน. อีกอย่างหนึ่งสมัยที่อาตมาอยู่กับคุณแม่บุญเรือนนั้น, ท่านก็ใช้งานทุกอย่างเลย บางทีเรียก “ไอ้” ก็ยังมี. อาตมาจึงได้ความอดทนมาจากท่าน เมื่อมาพบความยากลำบากที่สวนโมกข์ อาตมาจึงไม่รู้สึกอะไรนัก ไม่รู้สึกว่าต้องทน.

    การมาอยู่ที่สวนโมกข์นี้ ภรรยาของอาตมาก็ไม่ว่าอะไร เพราะทรัพย์สินของอาตมาทั้งหมดก็ให้เธอเอาไป. อาตมาเอาเงินติดตัวมาก้อนหนึ่งเท่านั้น.

    ความกระจ่างในการปฏิบัติธรรม

    ตอนเป็นอุบาสกก่อนบวช ๓ เดือน อาตมาก็ได้ทำสมาธิจนตัวเกร็ง โดยบอกตัวเองว่า “จิตไป ดึงมาเสีย, จิตไป ดึงมาเสีย พยายามไม่นึกไม่คิด” ท่านอาจารย์พุทธทาสรู้เข้าก็ว่าทันทีเลยว่า “จิตเกิดดับ ห้ามได้รึ? เมื่อเกิดผัสสะ อย่าให้เลยไปจนเกิดเวทนา เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยินซิ” แค่นี้อาตมาก็เข้าใจเลย ความคิดว่า ตัวอยากเป็นพระอรหันต์, มัวหันไป หันมา อยู่นั่นแหละ ไม่เอาแล้ว!!

    งานแก้โรคภัยไข้เจ็บ

    โรคที่เป็นอยู่อาตมาก็ไม่ได้กินยาอะไร การแก้โรคของอาตมา คือการทำงานให้หนัก ช่วยงานวัด มีงานทำตลอดระหว่างเป็นอุบาสก ๓ เดือน ก็เลยลืมๆ ไป ไม่คิดว่าตัวเจ็บป่วย.

    แจ้งข่าวการบวชกับคุณแม่บุญเรือน

    ก่อนจะบวช อาตมาได้เขียนจดหมายไปถึงพี่สาวบอกว่า จะบวช. คุณแม่บุญเรือนสั่งให้พี่สาวมาบอกอาตมาว่า “ถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์อย่ากลับมาหาแม่”. ท่านเล่นไม้ตายแบบนี้เลย เท่ากับบังคับให้อาตมาต้องเอาจริง.

    ต่อมาอีกหลายปี คือวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๗ ก่อนที่คุณแม่บุญเรือนจะสิ้น (ตาย) ก็สั่งพี่สาวให้เขียนจดหมายมาบอกอาตมาว่า “ให้พระอยู่ไปนานๆ นะ” เท่านั้นแหละ รู้กัน.



    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  3. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม




    เกร็ดประวัติคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม

    เจ้าคุณพระสิทธิสารโสภณ และแม่ชีบุญเรือนพบหลวงปู่บุดดา ถาวโร




    โพสท์ในเวบกองทัพพลังจิต โดย WebSnow 14-07-2005



    ท่านเจ้าคุณพระสิทธิสารโสภณ อดีตเจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม ก่อนจะมาอยู่วัดอาวุธฯ นั้นท่านเคยอยู่วัดสัมพันธวงศ์และได้พบกับหลวงปู่ ณ ที่นั้นเอง หลวงปู่แนะนำท่านเจ้าคุณให้รักษาศีลเท่าชีวิต ท่านก็นำมาปฏิบัติจนกระทั่งปรากฏแสงสว่างเกิดขึ้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านจึงเลื่อมใสศรัทธาและฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านเจ้าคุณได้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม ท่านก็นิมนต์หลวงปู่มาจำพรรษาที่วัดอาวุธฯ หลวงปู่ก็มาพักเป็นครั้งคราวและในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงได้มาจำพรรษาที่วัดอาวุธฯ ๒ ปี ท่านมาครั้งนี้ท่านเจ้าคุณได้มรณภาพแล้ว โบสถ์ วิหารที่ท่านสร้างไว้ก็ยังไม่เสร็จหลวงปู่ท่านมาอยู่ก็ช่วยสร้างศาลาและที่เก็บน้ำไว้ให้และทอดกฐินร่วมสร้างโบสถ์ที่ยังค้างอยู่

    ขณะที่ท่านเจ้าคุณยังมีชีวิตอยู่ได้เคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ตอนหลวงปู่อยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ เวลาหลวงปู่แสดงธรรมมีคนมาฟังธรรมกันแน่นมาก รวมถึงคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ก็ได้มีโอกาสฟังธรรมและมอบตัวเป็นศิษย์ได้นำคำสอนของหลวงปู่มาปฏิบัติและบำเพ็ญความเพียรด้วยตนเองจนได้บรรลุธรรม (ปัจจุบันกระดูกกลับกลายเป็นอรหันตธาตุอยู่ ณ วัดอาวุธฯ) ท่านเจ้าคุณเคารพในปฏิปทาของแม่ชีบุญเรือนมาก ดังนั้นเมื่อท่านเจ้าคุณมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอาวุธฯ และเมื่อคุณแม่ชีบุญเรือนมา สิ้นชีวิตลงแล้วท่านเจ้าคุณได้อนุญาตให้สร้างศาลาคุณแม่บุญเรือนไว้ที่วัดอาวุธฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์

    พระคาถาพระสีวลี

    พระอินทร์ ได้มอบพระคาถานี้กับคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม

    พระอรหันต์เจ้า ที่มีบุญบารมีทางลาภสักการะมากกว่า พระอรหันต์ด้วยกันในสมัยพุทธกาล พระอินทร์ ได้มอบพระคาถานี้กับคุณแม่บุญเรือนโตงบุญเติม ท่านแม้เป็นฆราวาสแต่ก็ได้ฝึกธรรมะถึงขั้นได้อภิญญา มีฤทธิ์เดชมากมาย ดังมีหลักฐานให้อ่านให้ดูได้ที่ วัดอาวุธ ถ.จรัลสนิทวงศ์ บางพลัด กทม.

    นะ ชาลีติ ฉิมพา จะ มหาเถโร

    สุวรรณะ มามา โภชนะ มามา วัตถุวัตถา มามา

    พลาพลัง มามา โภคะ มามาร มหาลาโภ มามา

    สัพเพ ชะนา พหู ชะนา ภวันตุเม

    ถ้าจะให้เกิดลาภสม่ำเสอ ให้ท่องสวดพระคาถาตามกำลังวันดังนี้วันอาทิตย์ ๖ จบ วันจันทร์ ๑๕ วันอังคาร ๘ วันพุธ ๑๗ วันพฤหัส ๑๙ วันศุกร์ ๒๑ วันเสาร์ ๑๐





    ความคิดเห็นโดย ปาริสัชชา 13-07-2005

    ครอบครัวของผมเองนั้น เคารพคุณแม่บุญเรือนมาก และก็ได้ประจักษ์ในเรื่องอภิญญาของท่านมาหลายครั้งครับ

    คุณแม่ฯหายตัวได้
    ในตอนนั้นคุณพ่อผมก็ได้บวชเป็นพระอยู่ที่วัดนั้นด้วย (วัดอาวุธฯ) และก็ได้เห็นเรื่องการหายตัวของคุณแม่บุญเรือนด้วย ซึ่งครั้งนั้นท่านเจ้าคุณฯ ได้ให้คุณแม่บุญเรือนเข้าไปอยู่ในหอระฆัง (อาจเป็นหอฉัน) แล้วล๊อคด้วยกุญแจข้างนอก แต่แค่พอหันหลังจะเดินลงมา ก็เห็นร่างของคุณแม่บุญเรือนออกมาอยู่ข้างนอกแล้ว ...

    คุณแม่ฯ อธิษฐานน้ำที่ท่วมอยู่ให้ยุบหายไปได้
    ในวันทำบุญบ้านของคุณแม่บุญเรือน เรือนของท่านยกใต้ถุนสูงแบบโบราณ ก็มีลูกศิษย์มามากมายแต่ขึ้นเรือนท่านไม่ได้เนื่องจากมีน้ำท่วมพื้นทางที่จะขึ้นบันได คุณแม่บุญเรือนท่านยืนอยู่ข้างบนแล้วชี้นิ้วไปที่น้ำ น้ำค่อยๆ วนแล้วยุบหายไปในพื้นดินต่อหน้าต่อตา...

    คุณแม่ฯ อธิษฐานขอลมให้พัด
    ในขณะทำพิธีอยู่ในเรือนของท่าน อากาศร้อนอบอ้าว ท่านชี้นิ้วขึ้นไปในอากาศ แล้วกล่าวว่า "ลมไปไหนหมดเจ้าค่ะ ขอให้พัดมาหน่อย" ทันใดนั้นลมก็พัดมาทันที จนกระดิ่งที่แขวนอยู่รอบๆ ศาลาดังระงมไปหมด คุณแม่พูดต่อไปอีกว่า "ขอแรงกว่านี้อีกค่ะ" คราวนี้ลมก็พัดแรงขึ้นอีกมากจริงๆ ...

    คุณแม่ฯ ย่นทางได้
    ครั้งหนึ่งคุณย่าของผมปวารณาที่จะขับรถไปส่งท่านที่เขาวงพระจันทร์ (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ) ปรากฏว่าพอถึงเวลาไปรับท่าน ท่านยังติดแขกอยู่อีกสาม-สี่คน ท่านก็บอกให้ขับล่วงหน้าไปก่อน คุณย่าผมก็ขับรถไปเรื่อยๆ ไม่ได้จอดที่ไหนเลย แต่พอไปถึงที่หมาย ปรากฎว่าเห็นคุณแม่บุญเรือนมาอยู่ก่อนแล้ว และกำลังทำพิธีให้กับลูกศิษย์อยู่ และพอสอบถามกับคนที่นั่นก็ได้ความว่า คุณแม่บุญเรือนมาถึงร่วมๆ ชั่วโมงแล้ว และไม่เห็นว่าใครมาส่งท่านด้วย...

    คุณแม่อธิษฐานยา
    ครั้งนั้นคุณพ่อของผมเป็นพระหนุ่ม แต่ก็พบว่าที่ปอดมีจุดในฟิลม์เอ็กซ์เรย์ ก็มาหาคุณแม่ (คุณแม่ห้ามลูกศิษย์ใช้คำว่า ขอให้ท่านรักษา เพราะท่านจะพูดว่า "ฉันไม่ใช่หมอ" ต้องพูดว่า ขอให้ท่านช่วยสงเคราะห์) พอคุณพ่อเดินขึ้นเรือนท่าน ท่านก็เข้ามากราบแล้วก็ไปนั่ง ยังไม่ทันได้พูดอะไร ท่านหันไปหยิบปูนที่ใช้กินกับหมากส่งมาให้ แล้วชี้มาที่อกของคุณพ่อบอกว่า ให้เอาปูนนี้ไปทาที่อก ....

    อีกสัปดาห์ต่อมา ก็ปรากฏว่ามีเม็ดดำๆ คล้ายๆ หัวข้าวสารโผล่ออกมาจากอกคุณพ่อสามเม็ด ก็ใช้มือดึงออกมาทั้งสามเม็ดและไม่เกิดแผลอะไรเลย พอไปเอ็กซ์เรย์ดูอีกที จุดดำที่ปอดของคุณพ่อก็หายไปแล้ว

    นี่เป็นเกร็ดเล็กน้อยที่ผมขอนำมาเล่าเสริม (ซึ่งจริงๆ มีอีกหลายเรื่องครับ) และเพื่อยกย่องสรรเสริญคุณแม่บุญเรือน ซึ่งแม้ท่านจะเป็นผู้หญิงแต่ท่านก็ปฏิบัติได้จริง และสะท้อนให้เห็นว่า คุณธรรมหรือการปฏิบัติธรรมนั้น ไม่แบ่งเพศและวัย ผู้ที่ทำจริง ปฏิบัติจริงก็ได้ผลจริงอย่างแน่นอน

    ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬

    ความคิดเห็นโดย ปาริสัชชา 25-07-2005

    ผมขอโพสเรื่องของคุณแม่บุญเรือนต่ออีกนิดนะครับว่า จากคุณธรรมที่ประจักษ์ชัดว่าคุณแม่เป็นผู้มีอภิญญาจริง แต่คุณธรรมขั้นสูงกว่านั้นจนถึงขั้นบรรลุธรรมนั้นขั้นไหน

    หลังจากที่คุณแม่บุญเรือนละสังขารไปแล้ว ในงานฌาปนกิจศพท่าน มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งไปถามท่านเจ้าคุณ (จำชื่อไม่ได้) ว่า

    "คุณแม่ท่านไปอยู่ไหนครับท่าน"

    ท่านเจ้าคุณท่านนี้เป็นผู้มีญาณ ท่านตอบกลับไปว่า "อยู่สุทธาวาสพรหมโลก"

    นั่นก็หมายความว่า คุณแม่ท่านต้องเป็นพระอนาคามีแน่ ซึ่งอีกสิบกว่าปีต่อมาอัฐิของคุณแม่บุญเรือนที่คุณพ่อของผมเก็บเอาไว้นั้นได้กลายเป็น "พระธาตุ" มีวรรณะเป็นเมล็ดกลมๆ เล็กๆ หลายสี ซึ่งคุณพ่อผมก็นำมาบรรจุไว้ในหลอดตะกรุดทองแล้วเลี่ยมพลาสติกซึ่งด้านหน้าจะเป็นรูปของคุณแม่

    เป็นอันว่าคุณธรรมของท่านแม่บุญเรือน อย่างน้อยก็เป็นพระอนาคามี และเข้าใจว่าบัดนี้ท่านคงเข้านิพพานไปแล้วครับ.....

    เรื่องนี้ผมจึงขอนำมาเล่าเสริมจากเรื่องอภิญญาจิตของท่านซึ่งยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ แต่ผมคงงดไว้ก่อนเพราะว่า ผู้ที่ได้อภิญญานั้นจะทำสิ่งใดก็ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ทั้งนั้น หากเล่าลงในรายละเอียดมากไปผู้ฟังดูก็จะรู้สึกเฝือเสียเปล่าๆ ดังนั้นผมจึงขอนำเรื่องของท่านมาสรุปสุดท้ายในเรื่องมรรคผลของท่าน และเพื่อเป็นการเจริญศรัทธากับผู้อ่านและเป็นการสรรเสริญคุณของท่านแม่ด้วยครับ/



    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  4. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม




    เกร็ดประวัติคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม

    จากหนังสือ คนเหนือโลก โดย อนามิส

    พ.ศ. ๒๕๑๙






    ใกล้สะพานกรุงธน มีศาลาหลังหนึ่งสร้างขึ้น เพื่อให้ เป็นที่อยู่อาศัยของอุบาสิกาบุญเรือน โตงบุญเติม

    อันที่จริงน่าจะกล่าวว่าสร้างให้เป็นที่สถิตแห่งดวงวิญญาณของท่านผู้กล่าวนามมามากกว่า เพราะปัจจุบันท่านหาชีวิตไม่แล้ว ตัวศาลาที่สร้างภายหลังท่านถึงแก่กรรมแล้วใช้ที่ส่วนหนึ่งของวัดอาวุธวิกสิตาราม บางพลัด ธนบุรี ตัวศาลาใหญ่โตพอจะใช้เป็นที่ประชุม สวดมนต์ทำบุญถวายทานสำหรับบุคคลคราวละนับร้อยๆ ท่าน

    อุบาสิกาบุญเรือน เคยบวชเป็นชีภายหลังท่านชอบแต่งกายตามสบายแต่ยังโกนศีรษะ

    เมื่อยังมีชีวิตอยู่ท่านมีลูกศิษย์เรียนธรรมะด้วยกันมาก ท่านนายพลดำเนิน เลขะกุล ผู้มีชื่อเสียงก็เป็นผู้หนึ่งที่เคารพนับถือท่าน คุณดำเนินมีประสบการณ์เกี่ยวกับอุบาสิกาบุญเรือน เชื่อว่าท่านสามารถอ่านใจคนได้ เพราะเคยไปหาครั้งแรกในยามมีทุกข์ใจ ได้รับคำแนะนำทันที่โดยที่อุบาสิกาบุญเรือนไม่ได้ไต่ถามอะไรเลยว่า “คนจะเป็นสุขได้ก็ต่อเมื่อใจสงบ”

    ศิษย์ของอุบาสิกาบุญเรือน ยังคงมีการประชุมสวดมนต์ตามแบบที่ได้รับดำแนะนำสั่งสอน ที่ศาลาทุกวันอาทิตย์

    ผู้ที่เคารพนับถือมักเรียกท่านว่า “คุณแม่” เป็นส่วนมาก ป้ายสวยงามติดไว้เป็นระยะนำไปสู่ศาลา ก็เขียนว่า ศาลาคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม

    ทุกปีที่ศาลานี้จะมีการทำบุญใหญ่ ค่าใช้จ่ายแต่ละคราวกว่าสองหมื่นบาท

    สมัยคุณแม่บุญเรือนยังไม่สละร่างมนุษย์ (ตามดำของศิษย์ไม่ประสงค์จะเรียกการจากไปของท่านว่า ถึงแก่กรรม) มีผู้สร้างศาลาให้คุณแม่บุญเรือนใช้เป็นที่อาศัยและที่อบรมสั่งสอนหลายแห่ง เช่นที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ บางขุนพรหม ที่ภายในบริเวณบ้านของครูเก่า คุณหลวงแจ่มวิชาสอน มหาเศรษฐีเจ้าของยาสีฟันวิเศษนิยมที่พระโขนงและที่บ้านนาซา ปากน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง

    คุณแม่บุญเรือน เรียกคณะของท่านว่า สามัคคีวิสุทธิ์

    ท่านไม่ยอมรับตำแหน่งเป็นครูอาจารย์ของใคร ผู้ที่ไปเรียนธรรมะด้วย ท่านขอให้ถือเป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณพระรัชชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนธรรมะของท่าน





    คุณหลวงแจ่มฯ กล่าวถึงคุณแม่บุญเรือนว่า “เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสำเร็จในอิทธิฤทธิ์บางอย่าง” ท่านเรียกคุณแม่บุญเรือนว่า “แม่หมอ” และได้บันทึกเหตุการณ์ที่ได้พบเห็นด้วยตนเองไว้ดังนี้

    เมื่อเดือนมีนาคม ๘๙ คุณพี่ปลื้ม วิจิตรภัตราภรณ์ เจ้าของห้างวิวิธภูษาคาร ได้ชวนข้าพเจ้าและแม่หมอบุญเรือนไปดูสวนส้มที่จังหวัดจันทบุรีโดยรถยนต์ สวนอยู่ห่างตัวจังหวัดสิบสองกิโลเมตร ตอนกลับจากสวนขณะที่รถกำลังติดไฟ แม่หมอบุญเรือนออกเดินไปก่อน ข้าพเจ้าออกเดินตามไปภายหลังห่างกันประมาณหนึ่งเส้น ข้าพเจ้าเดินมาถึงที่เลี้ยวก็มองไม่เห็นตัวแม่บุญเรือนแล้ว เร่งฝีเท้าเดินตามไปอีกสองสามเลี้ยวก็มองไม่เห็น ข้าพเจ้าก็เลยหยุดคอยรถเพราะรู้สึกเมื่อย สักครู่หนึ่งรถก็ตามมาทัน ข้าพเจ้าจึงกลับขึ้นรถ ประมาณเวลานับแต่ออกเดินจนรถมาทันนั้นราวสิบห้านาที เมื่อขึ้นรถแล่นมาอย่างเร็วเพราะเป็นทางลงจากเขา รถแล่นมาเป็นหลายเลี้ยวจนถึงศาลาพักร้อน ซึ่งอยู่กึ่งกลางทางระหว่างจังหวัดกับสวน ก็ไม่เห็นแม่บุญเรือนคอยอยู่

    รถหยุดที่ศาลาเติมน้ำหน้าหม้ออยู่ครู่หนึ่ง จากนั้นแล่นย่อไปจนพ้นเขตเขาทุ่งก็ยังไม่พบแม่บุญเรือน ผู้อยู่ในรถต่างรู้สึกเอะใจ เพราะตามปกติธรรมดาคนเราจะเดินเร็วเช่นนี้ไม่ได้ รถคงจะแล่นผ่านมาเสียแล้ว ขณะที่พวกเราคิดจะให้รถหยดรอ ก็พอดีเห็นแม่บุญเรือนเดินเนิบ ๆ อยู่ข้างหน้า เมื่อขึ้นมาบนรถ สังเกตดูไม่เห็นกิริยาแสดงว่าเหน็ดเหนื่อยหรืออิดโรย

    การที่คุณแม่บุญเรือนเดินไกลถึงแปดกิโลเมตรในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงแถมไม่เหน็ดเหนื่อยเสียด้วย คุณว่าเป็นเพราะอะไร ?

    ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬

    กิตติศัพท์เรื่องคุณแม่บุญเรือนมีฤทธิ์ย่นระยะทางเดินได้ พวกศิษย์รู้กันดี แต่สำหรับผู้ไม่เคยเห็นด้วยตาตนเองได้พยายามทดสอบอย่างเงียบ ๆ กันเสมอ คุณเลื่อนประสานอักษรพรรณ เป็นผู้หนึ่งที่กระทำดังกล่าว

    วันหนึ่ง คุณแม่บุญเรือนไปแวะที่บ้านคุณเลื่อนตรงสี่แยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันนั้นคุณแม่บุญเรือนตั้งปณิธานว่าจะเดิน ไม่ขึ้นรถ ตั้งแต่ออกจากบ้านที่พระโขนง ในตอนจะลาจากคุณเลื่อนไปยังสถานที่ต่อไป คือบ้านคุณเขียม วรรณยิ่ง ตรอกสารพัดช่าง บางขุนพรหม คุณแม่บุญเรือนก็เดินอีก.

    คุณเลื่อนพอรู้ว่าคุณแม่บุญเรือนกำลังจะเดิน ก็รีบติดตามไปทันทีโดยไม่ให้รู้ตัว

    “ครั้งแรกที่ตามออกมายังไม่เห็น” คุณเลื่อนเล่า “จึงได้แวะเข้าไปในบ้านจ่านายสิบสุข ซึ่งอยู่ใกล้ สามารถมองถนนได้ถนัด ถามจ่านายสิบสุขได้ความว่า แม่หมอบุญเรือนกำลังเดินไปทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมกับชี้บอก ดิฉันมองตามมือเขาชี้ แลเห็นแม่หมอบุญเรือนกำลังเดินข้ามถนนลานอนุสาวรีย์ฯ บ่ายหน้าไปทางเสนารักษ์ พญาไท ตอนที่จะเข้าสู่ถนนตรงไปทางเสนารักษ์ พญาไทนั่นเอง แม่หมอบุญเรือนเหลียวหน้ามาทางดิฉัน แล้วทำท่าเหมือนกับจะรีบวิ่งหนีรถ หายไปตรงนั้นเอง”

    ตอนนี้คุณเลื่อนเข้าใจว่า ถนนทางนั้นมีทางเลี้ยวจึงไม่ได้ติดตามไปดูต่อ คงหยุดคุยกับจ่านายสิบสุขเสียครู่หนึ่งภายหลังได้เดินออกไปตรวจสถานที่ ปรากฏว่าตรงที่คุณแม่บุญเรือนหายวับไปกับตานั้น หาได้มีทางเลี้ยวแต่อย่างใดไม่ ผู้คนที่เดินอยู่จะไม่มีโอกาสลับสายตาจากผู้ที่จ้องดูไปได้เป็นอันขาด คุณเลื่อนได้สอบถามผู้ที่อยู่ด้วยกันว่าเห็นอย่างเดียวกับตนหรือไม่.ผู้ที่อยู่กับคุณเลื่อนตอบว่า เห็นหายไปทางต้นสน

    “ความจริงหากมีใครเดินเลยต้นสนไป เราก็ยังจะสามารถมองเห็นเขาได้ต่อไปอีก แต่แม่หมอบุญเรือนหายวับไปเลย !”.

    ขณะที่ฝ่ายติดตามดูพฤติการณ์มีสี่นัยน์ตาด้วยกันจ้องจับอยู่นั้น เห็นเวลากลางวันแสก ๆ ราวสักสิบสี่นาฬิกาเศษ ๆ แดดเปรี้ยงมิได้มีเมฆหมอกมืดแม้แต่น้อย

    คุณเลื่อนได้สอบถามเวลาที่คุณแม่เรือนไปถึงที่หมายปลายทางจากคุณเขียนได้เวลาแน่นอนว่าคุณแม่บุญเรือนใช้เวลาเดินจากสี่แยกชัยสมรภูมิ ผ่านวงเวียนพญาไท สวนจิตรลดา ออกสี่เสา ไปถึงบางขุนพรหม ระยะทางนับสิบกิโลเมตรด้วยเวลาเพียงไม่กี่นาที่

    เร็วยิ่งกว่ารถประจำทางวิ่งเสียอีก

    ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬






    ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงจะเคยได้ยินกิตติศัพท์หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด สามารถเดินบนน้ำได้มาแล้ว

    คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติมเคยไปแสคงอภินิหารเดินบนน้ำที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นที่อัศจรรย์

    ไม่มีใครเห็นตอนที่ท่านกำลังเดินหรอกครับ แต่เหตุการณ์จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากท่านต้องเดินไปบนผิวน้ำ

    เรื่องของเรื่องมีว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ คุณแม่บุญเรือนได้ขึ้นไปพักอยู่ที่บ้าน คุณนายลิ้นจี่ ฤษาภิรมณ์ วัดเจดีย์หลวง

    หน้าบ้านคุณนายลิ้นจี่มีหนองน้ำ ห่างจากตลิ่งราวสองวา มีกอหญ้าแห้งลอยอยู่ คุณแม่บุญเรือนไปจับเต่ามาจากกอหญ้า และเอาเปลือกมะพร้าวไปว่างไว้แทนอย่างเรียบร้อย

    “ดิฉันเอาไม้ลองพาดดูก็ไม่ถึงกอหญ้า” คุณนายลิ้นจี่บอก “น้ำก็ยังกระเพื่อมอยู่ ได้พิจารณาดูตามเท้าและร่างกายคุณบุญเรือน ไม่เห็นมีเปียกมีเปื้อนที่ตรงไหน น้ำตอนนั้นลึก ถ้าจะลุยไปอย่างน้อย จะต้องเปียกขึ้นมาถึงเอวเชียวค่ะ”

    “สังเกตดูที่กอหญ้า เห็นเหมือนกับรอยเท้าสองข้างเหยียบกอหญ้านั้น กอหญ้าแห้งนี้สมมุติว่าคนจะไปยืนก็คงไม่ได้ เพราะหญ้าฟูลอยน้ำขึ้นมา ขนาดกอไม่ใหญ่พอจะทานน้ำหนักเด็กๆ ได้ เพียงแต่เอาก้อนอิฐขว้างไป หญ้าก็แยกกระจาย” คุณนายแดง ชัวย่งเสง คหบดีชาวเชียงใหม่ที่อยู่ในที่เดียวกัน อธิบายเพิ่มเติม

    ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬

    ถ้าจะคิดว่าอภินิหารเรื่องเดินบนน้ำยังเลือนลางไม่กระจ่างนัก ลองดูเรื่องฝนกับคุณแม่บุญเรือนกันหน่อยก็ยังได้

    คุณนายบ๊วย ศิวพฤกษ์ บ้านเลขที่ ๒๕๓ ถนนดำรงรักษ์ ป้อมปราบ ป่วยมานาน เพื่อนผู้หนึ่งแนะนำให้มาหาคุณแม่บุญเรือนช่วยรักษาจนหาย คุณนายบ๊วยรู้สึกเป็นพระคุณ จึงถือโอกาสพาคุณแม่บุญเรือนไปพักผ่อนทัศนาจรภาคใต้

    คุณนายบ๊วยเล่าถึงคุณแม่บุญเรือนเอาไว้ตอนหนึ่งดังนี้

    “พวกเราเดินทางต่อไปชุมพรโดยรถไฟถึงสถานีชุมพรเวลาสองทุ่ม นางสาวปราณีและคุณสุดใจเพื่อนของบุตรสาวดิฉันได้มารับที่สถานี คุณปราณีบอกให้ดูเสื้อผ้ากล่าวว่า

    “ ดิฉันวิ่งมารับ ฝนตกถนนลื่นไปหมด จนหกล้มผ้าซิ่นเปื้อนไปแถบหนึ่ง”

    พวกเราช่วยกันลำเลียงของลงจากรถไฟ คุณแม่บุญเรือนสะพายกระเป๋าใบหนึ่ง กับหิ้วกระเป๋าเสื่อบรรจุศิลากรวดกับหนังสือแดนมธุรสและใบตั้ง(เสก) น้ำอีกใบหนึ่ง ขบวนของเราออกเดินทางไปทางหลังสถานีโดยมีคุณสุดใจเป็นผู้นำทาง ดิฉันเดินตามหลังคุณแม่บุญเรือนไปติดๆ เพราะมืดมาก คุณสุดใจจะช่วยถือกระเป๋าเสื่อให้คุณแม่บุณเรือนแต่ท่านไม่ยอม บอกให้คุณสุดใจเดินนำไปที่รถ

    ทางเดินตอนนั้นทั้งมืดทั้งแฉะ เลอะเทอะ คุณสุดใจเห็นว่าคุณแม่บุญเรือนมีอายุ ทั้งหิ้วของหนัก ส่งมือมาจะช่วยจูง คุณแม่ก็ปฏิเสธไม่ต้องจูงอีก พวกเราเดินไปถึงรถศูนย์ที่คุณปราณีคุณสุดใจจัดมาคอยรับ พอขึ้นนั่งรถเรียบร้อยแล้ว คุณแม่บุญเรือนถามว่า ใครเท้าเปื้อนบ้าง ทุกคนบอกว่าเปื้อนทั้งนั้น ของดิฉันไม่เปื้อนแต่ไม่บอกใคร

    พอถึงบ้านใครๆ ก็เขาห้องน้ำล้างเท้ากัน แต่คุณแม่บุญเรือนกับดิฉันขึ้นบนบ้านเลยทีเดียว พอถึงบนเรือนมีแสงไฟเห็นชัด ดิฉันเห็นว่าดิฉันมีโคลนเปื้อนเล็กน้อย จึงกลับลงมาล้างเท้าใหม่ พบกับคุณลำไยซึ่งมีหน้าที่ในการปฏิบัติคุณแม่บุญเรือนในการเดินทางคราวนี้ กำลังจะยกรองเท้าคุณแม่บุญเรือนนำไปล้าง เขาร้องว่า รองเท้าคุณแม่ไม่เปื้อน ดิฉันตรวจดูรองเท้าที่คุณลำไยยกให้ดู ปรากฏว่าไม่เปื้อนจริงๆ เหมือนกับว่าท่านสวมเดินมาบนถนนแห้งๆ การที่ดิฉันไม่พลอยเปื้อนเหมือนกับคนอื่น เห็นจะเพราะเดินตามคุณแม่มาติดๆ เลยพลอยได้พึ่งบารมีไม่เปื้อนเปรอะเหมือนคนอื่น”.

    ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬






    คราวนี้ถึงเรื่องฝนตกไม่เปียก

    คุณนวม ลิมพานิชการ เล่าด้วยความประหลาดใจว่า เพียงแต่ดิฉันนึกถึงคุณหมอบุญเรือนแล้วบูชาพระ ไม่ต้องออกปากเชิญ คุณหมอก็มาหาดิฉันเอง เป็นอย่างนี้ถึงสามครั้ง ครั้งหนึ่งคุณหมอได้ไปหาในเวลาฝนตกมาก คุณหมอจะกลับทั้งๆ ที่ฝนยังตกหนักอยู่ ดิฉันค้านก็ไม่ฟัง จึงต้องออกไปส่งที่ประตู ฝนตกหนักมาก มองดูตัวคุณหมอก็ไม่เห็นเปียก ตอนนั้นดิฉันก็ยังสงสัยอยู่ เพราะมองดูห่างไกล ไม่ค่อยจะเชื่อนัยน์ตาดิฉันแน่นัก

    มาเมื่อแต่งงานหลานสาวดิฉันที่บ้านคุณควง อภัยวงศ์ เมื่อออกจากบ้านพี่สาว ดิฉันจะให้พ่อหนุ่มๆ ยกขันน้ำมนต์ไป คุณหมอบุญเรือนไม่ยอมให้ยก ท่านยกขันน้ำมนต์นั่งมาบนรถยนต์เอง ขันใหญ่มาก มีน้ำมนต์ค่อนขันขึ้นมาเกือบเต็ม คุณหมอยกตั้งแต่บ้านข้างวังกรมพระนครสวรรค์ (วังบางขุนพรหม) ไปจนถึงบ้านคุณควง อภัยวงศ์ ข้างสนามกีฬา น้ำไม่ได้กระฉอกหกเลยแม้แต่น้อย ท่านประคองขันชูมาตลอดเวลาไม่ได้วางบนตักเลย เมื่อไปถึงบ้านคุณควง รดน้ำบ่าวสาวแล้วกลับมาขึ้นรถยนต์จอดนอกบ้านไกลประมาณสองเส้น ฝนตกเม็ดใหญ่ ๆ คุณหมอบุญเรือนก็ออกไปตามรถเองโดยไม่มีร่มกาง กลับเข้ามาก็เดินมาอีก คราวนี้ดิฉันได้พิสูจน์ตามร่างกายคุณหมอ ไม่มีเปียกฝนเลย !”

    เรื่องฝนตกไม่เปียกร่างกายคุณเเม่บุญเรือน โตงบุญเติมนี้ เป็นไปหลายครั้งหลายหน ในขณะที่คนอื่นเปียกฝนกัน คุณแม่บุญเรือนร่างกายค่อนข้างร้อนผะผ่าวเสื้อผ้าแห้งสนิททีเดียว

    คราวแต่งงานรดน้ำบ่าวสาวที่บ้านคุณควง อดีตนายกผู้น่ารักท่านนั้น มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งท้าพนันเมื่อสังเกตดินฟ้าอากาศแล้วว่า “วันนั้นจะไม่ตก” คุณแม่บุญเรือนทำนายว่า“ เวลารดน้ำฝนจะตก”

    ไม่จำเป็นต้องบอกก็คงได้ว่า คุณแม่บุญเรือนชนะ

    ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬ï¬


    พระพุทโธภาสชินราชจอมมุนี-พระพุทโธใหญ่
    ต่อไปนี้เป็นคำบอกเล่าของนาง ธำรุโกศา (แปลก ปานคำ) ผู้ไปช่วยจับสายสิญจน์ หล่อพระพุทธรูปพระพุทโธใหญ่ ที่วัดสัมพันธวงศ์

    “พอถูกใช้ให้จับสายสิญจน์ ดิฉันใช้ไม้ก้านร่มพันม้วนเป็นแกนสายสิญจน์เลย คุณนายบุญเรือนพูดว่า ทีนี้โปร่งละ พอจับสายสิญจน์สักประเดี๋ยวก็มีฝนตกลงมามากพายุซัดฝนสาดมาเปียกดิฉัน คุณนายบุญเรือนออกมาเห็นเข้าก็บอกดิฉันให้กระเถิบหนีฝนเข้ามาข้างใน แต่ดิฉันไม่ยอมลุกหนีฝน คุณนายบุญเรือนจึงพูดว่า “ฝนอย่ามาเปียกแม่แปลกชี ! เขาจะจับสายสิญจน์ ไป ! ไป ! ไป !” พอว่าเท่านั้นลมพัดฝนไปทางอื่นไม่สาดดิฉัน และฝนก็เลยหายไป

    ข้อความการบอกกล่าวของนางธำรุโกศาได้ที่พิมพ์ไว้ในประวัติพระพุทโธใหญ่ ซึ่งเมื่อสร้างสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดสารนารถธรรมาราม จังหวัดระยอง

    ผมมีโอกาสไปชมความงามของพระพุทธรูปที่ถวายนามว่าพระพุทโธใหญ่มาแล้ว สวยงามมากครับ อยู่ในโบสถ์รูปร่างแปลก ที่มุมโบสถ์จำลองพุทธเจคีย์จากอินเดียมาก่อสร้างไว้ ภายในโบสถ์หลังใหญ่ปูด้วยหินอ่อน อากาศเย็นเฉียบทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้เครื่องปรับอากาศ

    วัดสารนารถเป็นวัดที่กำลังพัฒนา มีเนื้อที่กว้างขวาง นอกจากโบสถ์ที่น่าชมยังมีศาลารูปร่างแปลก ความจริงก็ก่ออิฐถือปูน แต่ทำให้ดูเหมือนกับใช้ซุงมาผ่าซีกทำบันได ฝาก็ทำเหมือนกับใช้ซุงผ่าประดับเหมือนกัน ขนาดของศาลาใหญ่โตมโหฬารทีเดียว

    คุณสุจริต ถาวรสุข ผู้เขียนประวัติของคุณแม่บุญเรือน เล่าถึงตนเองกับคุณแม่บุญเรือนว่า

    “ข้าพเจ้าได้ไปกราบทำความเคารพท่าน ท่านได้ถามถึงความประสงค์ที่มาหา ข้าพเจ้าก็เลยเล่าถึงความอยากมีโชคดีในการสอบเป็นผู้พิพากษาบ้าง (ข้าพเจ้าได้ผิดหวังในการสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาในตอนราวกลางปีนั้น) คุณแม่บุญเรือนบอกว่า เมื่อตั้งใจจริง ใฝ่การกุศลก็ต้องสอบได้ และบอกว่าคราวต่อไปก็สอบได้แล้วละ คำพูดประโยคนั้นซาบซึ้งความรู้สึกของข้าพเจ้าเป็นอันมาก ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าท่านอธิษฐานให้หรืออวยพรให้ หรือท่านมีญาณทราบโดยทางใดหรือไม่อย่างไร เพราะปรากฏว่าในระยะต่อมาอีกไม่เกินหกเดือน นับแต่หลังสอบคราวก่อนนั้น ข้าพเจ้าก็สอบเป็นผู้พิพากษาสำเร็จ ได้คะแนนอันดับดีเป็นที่สอง”

    คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม บำเพ็ญเพียรฝึกใจในพระพุทธศาสนา จนบรรลุจตุตถฌานและอภิญญาหก สำเร็จครั้งแรกตั้งแต่บวชเป็นแม่ชีที่วัดสัมพันธวงศ์

    ท่านผู้พิพากษาสุจริต ถาวรสุข บันทึกไว้ว่า

    “ได้ผลเป็นอิทธิฤทธิ์อันเกิดจากการอธิษฐานเป็นครั้งแรก เมื่อราววันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๗๐ในวันนั้นคุณแม่บุญเรือนได้กลับไปอยู่ที่บ้านพัก สถานีตำรวจสัมพันธวงศ์ คืนนั้นเข้านอนไม่หลับจนดึก สามีแลบุตรบุญธรรมหลับมีอาการกัดฟันและกรน รู้สึกเกิดธรรมสังเวชนึกเบื่อ จึงตั้งจิตอธิษฐานเข้าไปในศาลา รู้สึกว่าพอสิ้นคำอธิษฐาน ตัวคุณแม่บุญเรือนก็ไปปรากฏในศาลาดังคำอธิษฐาน ทั้งนี้โดยตัวท่านเองไม่ทราบว่าได้ออกจากห้องทางไหน และเข้าไปในศาลาทางไหน ในครั้งนั้นเพื่อนแม่ชีไม่สู้เชื่อนัก จนต่อมาอุบาสิกาฟักขอให้อธิษฐานใหม่ และให้นางเล็ก นางคำ นางเทียม ซึ่งดูเหมือนเป็นเพื่อนแม่ชีดูเป็นพยาน ได้ใส่กลอนประตูหน้าต่างศาลาเสียในคืนแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ เวลาดึกสงัดปีเดียวกันนั้นเองคุณแม่บุญเรือนก็ได้อธิษฐานจากสถานีตำรวจสัมพันธวงศ์เข้าไปในศาลาได้เช่นคราวก่อนพวกที่คอยดูก็แปลกใจไปตาม ๆ กัน จนต่อมาคุณแม่บุญเรือนได้อธิษฐานไปเขาวงพระจันทร์ พบพระผู้วิเศษ ขอพระธาตุท่าน ท่านก็ให้มาหนึ่งองค์ และได้กลับมาตามคำอธิษฐานพร้อมด้วยพระธาตุ การสามารถทำปาฏิหาริย์ดังกล่าวที่ปรากฏขึ้นได้เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก ทำให้ท่านอธิษฐานเมื่อเข้าสมาธิผ่านที่ปิดล้อม หรือไปที่ใดไกล ๆ ได้ในชั่วระยะเวลาลัดมือเดียวในเวลาต่อมา ขณะได้ฌานวิเศษนั้นท่านอายุประมาณ สามสิบสามปี



    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  5. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม




    พระพุทโธน้อย แม่ชีบุญเรือน

    คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

    โดย...ราม วัชรประดิษฐ์

    http://www.matichon.co.th/khaosod/kh...sectionid=0307








    ในสมัยก่อน พระเครื่องและเหรียญต่างๆ โดยทั่วไปผู้สร้างมักเป็นบุรุษเพศ แต่สำหรับ "พระพุทโธน้อย" ที่จะกล่าวถึงนี้ สร้างโดย "แม่ชีบุญเรือน" ซึ่งเป็นสตรีเพศผู้เปี่ยมด้วยคุณงามความดี มีคุณธรรมและเมตตาธรรม รักการทำบุญสร้างกุศล ชอบไปนั่งฟังเทศน์ฟังธรรมและปฏิบัติธรรมตามวัดวาอารามต่างๆ โดยเฉพาะที่วัดสัมพันธวงศ์ ท่านเป็นผู้นำในการจัดตั้งคณะผู้ร่วมบุญในนาม "คณะสามัคคีวิสุทธิ" ซึ่งช่วยเหลืองานบุญงานกุศลต่างๆ ตลอดจนรักษาโรคภัยไข้เจ็บนานัปการด้วยอำนาจพระพุทธคุณแก่ทุกคนอย่างเต็มที่ ไม่เลือกชั้นวรรณะด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่และยึดถือหลักการบริจาคและการให้เป็นหลักสำคัญ ทำให้พุทธคุณของ "พระพุทโธน้อย" ที่ท่านจัดสร้างมีความเข้มขลังเป็นที่ปรากฏ เป็นที่นิยมสะสมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง รวมถึงลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่ทราบชื่อเสียงกิตติศัพท์ของแม่ชีบุญเรือนครับผม

    อัตโนประวัติของแม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม ท่านเป็นชาวอำเภอมีนบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2437 ต่อมาครอบครัวย้ายมาทำสวนที่อำเภอราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรี ได้ศึกษาเล่าเรียนตามอัตภาพของสตรีเพศในสมัยก่อน แต่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการบ้านการเรือนเป็นอย่างดี เมื่ออายุได้ 15 ปี ท่านได้รับตำราหมอนวดและการฝึกอบรมจากอาจารย์กลิ่นหมอนวดที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ ท่านสนใจศึกษาจนแตกฉานจนกลายเป็นหมอนวดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก โดยท่านไม่เคยคิดค่านวดค่ารักษาแม้ครั้งเดียว แต่จะให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อาจารย์กลิ่นตลอด

    ต่อมาท่านได้รู้จักหลวงตาพริ้งซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่วัดบางปะกอก ผู้มีศักดิ์เป็นลุง และเริ่มได้รับการสั่งสอนเรื่องธรรมะ ท่านยิ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาและรักงานบุญงานกุศลยิ่งขึ้น ท่านมักถือศีล เจริญภาวนา และฝึกวิปัสสนากรรมฐานที่วัดสัมพันธวงศ์อยู่เป็นเนืองนิตย์ ในที่สุดท่านก็เข้าสู่พุทธศาสนาอย่างเต็มตัวโดยการบวชชี และด้วยความตั้งใจมั่นในการบำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ท่านสามารถบรรลุธรรมอันวิเศษสำเร็จ "จตุตถฌาณ 4" และ "อภิญญา 6" อันเป็นอานิสงส์สูงสุดแห่งชีวิต นับได้ว่า "แม่ชีบุญเรือน" เป็นตัวอย่างของพุทธศาสนิกชนผู้สละแล้ว เพื่อเข้าถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    "พระพุทโธน้อย" เป็นพระเครื่องขนาดเล็กที่ท่านสร้างขึ้นและอธิษฐานจิตให้ไว้แก่วัดอาวุธวิกสิตาราม ตำบลบางพลัดนอก ธนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2496 เป็นพระพิมพ์แบบครึ่งซีก กรอบทรงสามเหลี่ยม ด้านหน้า องค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนือฐานบัวสองชั้น พระเกศเป็นมุ่นเมาลี พระนาสิกเป็นสันนูน พระเนตรเป็นเม็ดกลมนูน และพระหัตถ์ซ้ายถือหม้อน้ำมนต์ ส่วนด้านหลัง มีอักขระขอมจารึกเป็นเส้นลึกอ่านว่า "พุทโธ"

    แม้จำนวนสร้างจะมากถึงหนึ่งแสนองค์ แต่ด้วยความศรัทธาในตัวผู้สร้างและพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏครบครันทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด เจริญด้วยโภคทรัพย์ และกำจัดโรคร้าย ทำให้ "พระพุทโธน้อย" หมดไปภายในเวลาอันรวดเร็ว

    "พระพุทโธน้อย" นับเป็นพระเครื่องเก่าแก่และน่าสะสมมากพิมพ์หนึ่ง ด้วยพุทธคุณที่ปรากฏอย่างสม่ำเสมอแก่ผู้ที่เคารพศรัทธาและกราบไหว้สักการะไม่ขาด ว่ากันว่ามุ่งหวังสิ่งใดก็จะสำเร็จสมความตั้งใจอีกทั้งแคล้วคลาดภยันตรายทั้งปวงครับผม




    ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.dharma-gateway.com/ubasik...-main-page.htm





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน