คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต

กระทู้: คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต







    เมื่อท่านได้อ่าน “ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุและอรหันตธาตุของคุณสุรีพันธุ์ มณีวัต” แล้ว

    นอกจากนี้ คุณสุรีพันธุ์ มณีวัตยังได้ประสบกับปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ที่คุณสุรีพันธุ์ไม่เคยเชื่อมาก่อนแต่เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้คุณสุรีพันธุ์หันเห มาสนใจการปฏิบัติธรรมผู้หนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง

    ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เชื่อในเรื่องนรกสวรรค์และของทิพย์ทั้งหลาย จึงได้นำประสบการณ์เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ที่ คุณสุรีพันธุ์มณีวัต ได้ประสบพบมาเสนอท่านผู้อ่าน

    ทั้งนี้คงจะมีผู้อ่านหลายท่านสงสัยและสนใจในตัวคุณสุรีพันธุ์มณีวัต เป็นอย่างมากว่า ปฏิบัติธรรมเช่นไร จึงสามารถมีประสบการณ์เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุได้เช่นนี้ ?

    ผู้เขียนจึงได้นำชีวประวัติในทางธรรมของ คุณสุรีพันธุ์ มณีวัตมาเสนอแก่ท่านผู้สนใจทั้งหลายดังต่อไปนี้

    ความสนใจในศาสนธรรม

    ผู้เขียน ผมอยากจะมาสนทนาเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของคุณสุรีพันธ์ คือผมอยากจะเรียนถามว่า ครั้งก่อน ๆ รู้สึกคุณสุรีพันธุ์ไม่สนใจในทางธรรม ?

    คุณสุรีพันธุ์ ในตอนนั้น สมัยเด็ก ๆ เราก็เรียนเรื่องศีลธรรมอยู่แล้ว

    ในเรื่องพระพุทธศาสนานี่ขอพูดตรง ๆ ว่าไม่ค่อยแน่ใจ เราคิดแต่ว่า เราทำตัวเป็นคนดี เราไม่พูดปด มีความจริงใจต่อเพื่อน มีความปรารถนาดีต่อทุกคน ส่วนใหญ่ตอนนั้นดิฉันเน้นไปในทางรักชาติบ้านเมือง รักความยุติธรรมเกลียดคนโกง

    เช่น ถ้าใครมาทำมิดีมิร้ายหรือว่าขี้โกงนี่ ทนไม่ได้ คือนอกจากไม่อยู่เฉย ๆ แล้วอยากจะฟันเสียด้วย ความรู้สึกในตอนนั้นเป็นอย่างนั้นตลอดมา

    ในทางพระศาสนาจะเห็นว่าก็เหมือนคนที่เป็นเด็ก ๆ ใคร ๆก็เป็นกัน คือสมัยเราอายุ ๑๒ ๑๓ ดิฉันอาจจะมีแบคกราวน์ เพราะว่าคุณพ่อท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย

    เวลาประชุมสภาฯ มันจะมีระเบียบวาระการประชุม การอภิปรายอะไรนี่ เราเป็นเด็กก็อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าอยู่แล้ว คือเราอ่านพวกวรรณคดี อิเหนาขุนช้างขุนแผน หรือสามก๊ก ฯลฯอะไรทุกอย่าง เพราะที่บ้านมีหนังสือมาก พระราชพงศาวดารนี่เราอ่านหมดเลย

    คราวนี้ระเบียบวาระสภาฯ นี่ก็อ่านด้วย ก็เลยสนุกไปด้วยเด็กเล็กนี้ก็วิจารณ์บ้านเมืองมากมาย

    เขียนจนคนเขานึกว่าเป็นผู้ชายปลอมมา เขามาดูตัวกันเรื่อยว่าเป็นใคร เป็นผู้หญิงจริงหรือเปล่า? ยิ่งตอนอยู่จุฬาฯ เป็นอย่างนั้นตลอด

    เรื่องพระศาสนานี้นะคะ พูดตรง ๆ เลยว่า ไม่เชื่อ เราไม่เชื่อว่า จะมีชาติหน้าหรือเปล่า ? แต่ที่จริงก็มีวางไว้เกี่ยวกับตกนรกขึ้นสวรรค์ ยังหัวเราะเลยว่า เรื่องนี้ไม่จริง !

    แล้วก็พูดมาคำว่า คนอย่างเรานี่ตกนรกก็แย่แล้ว เพราะเราไม่ทำสิ่งไม่ดีอะไรมาเลย แต่เราไม่เชื่อ ถึงกับพูดกับวิลาศว่า พระพุทธเจ้านี่ท่านเป็นอย่างไรนะ ท่านก็เป็นนักปรัชญานะ ทางศาสนามันต่างกันอย่างไร

    ตอนนั้นได้ยินคำว่า นิพพาน ก็รู้สึกว่า มันไกล ๆ ฝัน ๆ ก็ไม่รู้สึก ไม่ได้ศึกษาอะไรมากมาย

    ตอนหลังเห็นว่าวัดวามันมากไป อาจจะเป็นส่วนเกินของสังคม สมัยนั้นก็มีการพูดกันแล้ว สมัยเราเป็นเด็กอายุสิบกว่า ๆ นี่เขาก็พูดกันเหมือนกันนะ เขาพูดกันว่า

    พระสงฆ์นี่ไม่เห็นทำอะไร อยู่เฉย ๆ แล้วเราก็ไปใส่บาตรเพื่อได้บุญ

    เอ ! นี่มีจริงหรือเปล่า

    เราก็คิดอย่างนั้น จนกระทั่งอายุมาก ท่านคงสอนศีลธรรมให้แก่คนจำพวกหนึ่ง แต่เราไม่รู้ว่า นอกจากศีลธรรมที่ทุกศาสนามีแล้ว ศาสนาพุทธท่านยังมีคำสอนให้ไปเพื่อความหลุดพ้น ดับทุกข์ท่านมีข้อปฏิบัติให้เห็นทุกข์

    กล่าวคือ ยังมีอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพิ่งมารู้ทีหลัง

    อันที่จริง อาจจะเห็นว่าดิฉันเป็นคนหลงผิดอยู่นานก็ได้ แต่เราถือว่า เราไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร เราช่วยเหลือคน คนยากคนจนมาเราช่วย ดิฉันไปในทางช่วยเหลือคนจน คนที่ลำบาก พวกคนเจ็บคนไข้มากกว่า จนกระทั่งมีเรื่องปาฏิหาริย์เกิดขึ้นนี่แหละค่ะ






    อภินิหารเจ้าคุณนรฯ


    ภิกษุพระยานรรัตน์ราชมานิต

    ตอนนั้น ท่านเจ้าคุณนรฯ มรณภาพแล้ว ก็ยังไม่ค่อยรู้จักท่าน ทั้ง ๆ ที่ญาติพี่น้องก็รู้จักท่านกันอย่างดิบดี เพราะญาติผู้ใหญ่ของดิฉันท่านหนึ่งที่ดิฉันเรียกท่านว่า“หลวงอา” ท่านบวชอยู่ที่วัดเทพศิรินทร์ฯ ท่านเป็นนักเรียนนอกมาก่อน เป็นนักเรียนอังกฤษ แล้วท่านก็มาบวช

    ท่านมีความเคารพท่านเจ้าคุณนรฯ มาก ก็บอกให้หลาน ๆ ทุกคนไปกราบ พี่น้องเขาก็ไปกราบหมด มีดิฉันคนเดียวที่ไม่ยอมไปกราบท่าน เมื่อไหร่ไปกราบก็ได้

    จนกระทั่งท่านมรณภาพไป คนเขาก็ตื่นเต้นฮือฮาท่าน ก็มีเหรียญมีอะไรของท่านที่เขานับถือ

    อยู่มาวันหนึ่ง ก็ไปอ่านประวัติท่าน ตอนนั้นอยู่สภานิติบัญญัติค่ะ เสร็จจากงาน หลังจากที่ทำงานมาอย่างหนักแล้ว ดิฉันเป็นกรรมาธิการพิจารณางบประมาณด้วย อยู่ดึก ๆ ดื่น ๆ กันตลอด แล้วก็ต้องอ่านงานมาก

    เช้าวันนั้น จำได้ว่าเป็นวันอาทิตย์ ขอตื่นสายสักวันเถอะ แต่ตอนนั้นตื่นแล้ว ยังไม่อยากลุกขึ้น ก็คว้าหนังสือจากหัวเตียงมา จะเป็นหนังสืออะไรได้ขออ่านก่อน

    กลายเป็นหนังสือเจ้าคุณนรฯ ซึ่งไม่เคยได้อ่านเลยวันนั้นก็อ่านไปพลิกอ่านอยู่ตอนหนึ่งว่า ท่านนั่งภาวนาตั้งแต่๖ โมงเย็นถึง ๖ โมงเช้าโดยไม่หลับ

    ดิฉันก็นึกว่า เอ๊ะ ! นั่งได้อย่างไรคนเรา ? เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่ามีพระอย่างนี้ทำได้

    พระองค์นี้ท่านต้องมีศีลบริสุทธิ์ซี ! ตอนนั้นเราไม่ค่อยศรัทธานะ เพราะเคยเห็นพระพูดเล่น บางทีล้อสีกา หรือบางครั้งเคยเห็นพระหัดเต้นรำ

    ผู้เขียน เคยเห็นพระหัดเต้นรำหรือครับ ?

    คุณสุรีพันธุ์ ค่ะ พระหัดเต้นรำสเต็ปใหม่ ๆ ดิฉันก็เลยไม่รู้สึกศรัทธาท่าน

    แต่เมื่อมาอ่านประวัติเจ้าคุณนรฯ ก็นึกว่าพระท่านอย่างนี้มีนะ !...ท่านมีศีลบริสุทธิ์น่าเคารพนะ แหม ! ทำอย่างไรเราจะได้พระของท่านสักองค์

    แต่นึกในใจว่าป่านนี้คงไม่ได้แล้ว คงหมดแล้ว ใคร ๆ คงแย่งกันตาย เพราะตอนที่เราคิดนี่มันปี ๑๗ แล้วนะคะ. เสร็จแล้วก็นึกตัดใจว่าไม่เอาแล้ว เลิกกัน

    ไปล้างหน้า พอล้างหน้าออกมา แต่งตัวหน้ากระจก มองเห็นโถแก้วที่ใส่สำลีสำหรับเช็ดเครื่องสำอาง จะหยิบขึ้นมาเช็ดมองเห็น

    เอ๊ะ ! ในนั้นมีอะไร ?

    มีพระอยู่ตั้งหลายองค์ แต่ที่ประหลาดอยู่ที่องค์หนึ่ง ที่แปลกใจเพราะเป็นเหรียญ ก็หยิบขึ้นมาดู มองดูหน้าไปมา


    เหรียญสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
    (เจริญ) พ.อ.ฆ.
    (ไม่ใช่เหรียญที่คุณหณิงได้รับ)

    เอ๊ะ ! นี่เหมือนกับที่เรานึกเมื่อกี้นี้นี่ ดูลักษณะหน้าตาเหมือนหมด ! เขียนว่า พ.ฆ.อ.

    ดิฉันก็วิ่งไปถามลูกว่า ใครเอาอะไรมาไว้ที่นี่ ดิฉันหลุดมาคำว่า เอ! ทำไมเหมือนในหนังสือนี่ เหมือนอย่างที่ท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านเสก ที่เราอยากได้สักองค์แต่นึกว่าคงไม่ได้

    เอ๊ะ ! นี่เหมือนที่แม่นึกอยากจะได้นี่ แต่ตัดไปแล้ว เราไม่เอาแล้ว พระอื่นก็มี มีพระสมเด็จ พระอะไร ๆ มาหลายองค์เลย

    ผู้เขียน มาพร้อมกัน ?

    คุณสุรีพันธุ์ ค่ะ.มาหลายองก์เลย ตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นของแปลก นึกว่าเรามีกันอยู่เสมอ ถ้าใครอยากได้ ก็คงจะตกลงมาให้อย่างนั้น

    แต่ตอนนั้นยังสงสัยว่าปลอมหรือเปล่า ยังสงสัย ก็วิ่งไปทาบรุ่นกับเขา จนต้องไปกราบหลวงอาให้ท่านดู ท่านก็บอกว่าใช่

    แล้วหลวงอาบอกว่า ที่ท่านเสกอย่างนี้มีพระกริ่งอีกนะ เราก็บ่นว่า แล้วทำไมเราไม่ได้พระกริ่งอีกล่ะ แล้วพระกริ่งก็มาอีก !




    เหรียญสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
    (เจริญ) พ.อ.ฆ.
    (ไม่ใช่เหรียญที่คุณหณิงได้รับ)



    ผ้าจีวรท่านเจ้าคุณ

    ต่อสู้ที่โต๊ะหมู่บูชา มีผ้าบาง ๆ ขยำ ๆ อยู่ ก็คลี่ออกมาดู รูปร่างเหมือนจีวร ฉีกมาเป็นชิ้น ๆ แต่มีรอยขยำ ๆ

    ดิฉันก็กำมาถามใครต่อใครว่ามีใครหยิบเอามาวางไว้ ก็ไม่มีใครรู้

    ตอนนั้นกำลังดูทีวี ดิฉันก็ยังกำผ้าอยู่ในมือ ปรากฏว่า เหมือนมีอะไรมาดูด ผ้านั้นเต้นได้ !

    ดิฉันก็ตกใจว่าอะไรกันนี่ ? ผ้ามาดูดเรา ก็ให้วิลาศจับ ไม่เป็น พอเราจับ ก็เป็น ก็วิ่งไปซักหลวงอา

    หลวงอาว่าเรื่องนี้ประหลาด แต่ใจนั้นคิดว่าเป็นของท่านจ้าคุณนร ฯ

    หลวงอาก็แนะนำให้ไปถามคุณตรึก น้องชายท่านเจ้าคุณนรฯ ดิฉันก็ตามจนหาได้ว่าน้องชายเจ้าคุณนรฯ อยู่ที่ไหน ก็โทรศัพท์ขอนัดพบคุณตรึก

    พอพบแล้วก็วางผ้าสามผืนให้ดู คุณตรึกก็บอกว่า

    อันนี้จีวรเจ้าคุณพี่ ! อันนี้สบงเจ้าคุณพี่ ! อันนี้อังสะเจ้าคุณพี่ !

    ดิฉันก็ถามว่า ทำไมมันฉีกเป็นชิ้น ๆ อย่างนี้ล่ะคะ ?

    ท่านก็บอกว่า ของพรรค์นี้ท่านเจ้าคุณนรฯ ฉีกบ่อย ท่านประหยัดมาก

    การที่จีวรกะดำกะด่างก็เพราะท่านจะใช้ของอย่างคุ้มค่าเลย แล้วท่านจะฉีกของเหล่านี้แทนเชือกห่อของกลับมาส่งที่บ้าน

    แล้วคุณตรึกถามว่า ดิฉันได้มาอย่างไร ก็เล่าให้ท่านฟังว่าอยู่ดี ๆ ก็มาปรากฏบนพานที่โต๊ะหมู่บูชา ท่านก็ว่า เออ...แปลก ! แต่ท่านก็แบ่งให้ทุกอย่างจนครบ

    ยาวได้อย่างน่าอัศจรรย์

    ทีนี้ความอัศจรรย์ต่อไปคือผ้าของท่านทั้งสามผืนนี้ ดิฉันวัดไว้ว่ายาวเท่าไร ใคร ๆ ก็ขอดูกันใหญ่ เราก็เอามาให้ดู เพราะเราวัดไว้นี่

    วันหนึ่งผ้าผืนที่สั้น ยาวไปอีกราวสองเซนติเมตร ผ้ายาวออกไป

    คุณทองทิวก็รู้ว่านักบัญชีนี่ทำอะไรต้องจดสถิติ ดิฉันก็ว่า

    เฮ้อ ! ยาวออกมาแค่นี้ ไปเล่าไห้ใครฟังก็ไม่เชื่อ เก่งจริงยาวให้อีกคืบซี !

    ท่านก็ยาวออกมาอีกคืบหนึ่ง

    ดิฉันถึงกับไหว้ท่าน ต่อจากนั้นก็มีอะไรต่ออะไรมาอีก





    ศจ.น.พ.อวย เกตุสิงห์



    เริ่มปฏิบัติธรรม


    ศจ.น.พ.อวย เกตุสิงห์

    ผู้เขียน อยากทราบตอนปฏิบัติธรรม

    คุณสุรีพันธุ์ ตอนที่ถึงระยะการปฏิบัติธรรมนี่ คุณหมออวยบอกว่า คุณสุรีพันธุ์ควรจะทำสมาธิภาวนาได้แล้ว ก็ถามท่านว่าทำอย่างไรกันคุณหมอ ?

    ท่านก็บอก เขาก็นั่งสมาธิกันน่ะซี

    ก็บอก อุ๊ย ! ดิฉันไม่ทำหรอก ไม่ดี เขาบอกคนทำประเดี๋ยวเป็นบ้า คุณหมออวยแนะนำดังนี้แล้วก็แล้วกันไป

    วันประชุมวันนั้นเป็นวันศุกร์ สมัยนั้นมีการประชุมสองวัน วันพฤหัสบดีกับวันศุกร์ ที่พบคุณหมออวยวันนั้น ท่านพูดมาอีกคำหนึ่งว่า อย่าไปกลัวอย่างนั้นซีครับ ให้อธิษฐานซิว่า ขอให้พบแต่สิ่งที่ดีงาม อ้ายที่น่ากลัวอย่าไปพบ แต่เราก็ยังไม่เชื่อ

    คืนนั้นดิฉันก็ทดลองทำ พอวิลาศเขาลุกขึ้นไปเขียนหนังสือตอนตี ๔ กว่า ๆ ดิฉันก็ลุกขึ้นมาลองนั่งปลายเตียง ก็ลองมานั่งดู ไม่รู้ว่านั่งอย่างไร

    เอ๊ะ ! มันก็สนุกดี มันเหมือนกับตัวหมุนไป บางทีตัวมันก็พอง ลอย ๆ แต่เมื่อนั่งนานมันก็ร้อน ก็นึกในใจ ขอลมหน่อย ขอลมหน่อย เสื้อก็ปลิวเหมือนมีอะไรมาพัดให้เราเย็นสบาย เอ๊ะ ! นี่ก็สนุกดี

    ผู้เขียน ตอนนั้นคุณสุรีพันธุ์ใช้คำภาวนาอะไร ?

    คุณสุรีพันธุ์ ตอนนั้นก็คิดเหมือนกันว่าจะใช้อะไรดี เขาพูดกันว่า ใช้ พุท-โธ

    คำว่า พุท-โธ นี่ คนเขาร้องกันว่า พุทโธ่ ! ดิฉันก็ยังไม่รู้จัก ดิฉันบอกไม่ได้น่าเกลียด

    แล้ว “อะระหัง” นี่เราก็ได้ยินกันว่า คนจะตายเขาบอกว่า อะระหัง เพราะฉะนั้นเราไม่เอา

    เอ๊ ! เคยได้ยินว่ามี พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เขาเรียก นะ โม พุท ธา ยะ ดิฉันก็ท่อง นะ โม พุท ธา ยะ ซึ่งยาว ที่จริงก็ผิด แต่เราไม่รู้ ดิฉันก็ใช้

    เอ ! มันสบายดีนี่

    พอไปทำงาน ดิฉันก็นั่งมาในรถ คราวก่อนนั่งในรถนี่ ดิฉันไม่ปล่อยให้เวลาเสียไป นั่งอ่านหนังสือ เซ็นหนังสือไป ประหยัดเวลาทุกอย่าง ด้วยการบ้างาน ทำแต่งาน ตอนนี้งานก็หยุด เราหัดนั่งภาวนาไปในรถ

    อยากจะดูอะไรในตอนนั้นมันง่ายหมดเลย อยากดูฉัพพรรณรังสีพระพุทธเจ้า ขอดูหน่อย อุ๊ย ! ก็เห็นสวยงาม อยากอะไรก็ดู

    ทุกวันนี้ลองดูอะไรทุกอย่าง อยากดูแสง อยากดูอะไรก็มีอยู่เรื่อย

    จนถึงวันที่ไปประชุมสภาฯดิฉันเป็นกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม เขาประชุมกันสองโมงเช้า เราก็ต้องไปให้ก่อนหน้า เราประชุมเสร็จแล้วจะได้ไปทำงาน

    ดิฉันให้ไปจอดรถที่ลานพระรูป ก่อนเข้าพระที่นั่งอนันต์ฯตอนนั้นสภาฯ อยู่ที่พระที่นั่งอนันต์ฯ

    ธรรมดาก่อนนี้ ดิฉันจะต้องเซ็นหนังสือในรถ ดิฉันก็ไล่คนรถออกไปได้ คุณผู้หญิงมาเร็ว จะเซ็นหนังสือ แต่ที่แท้วันนั้นไม่ได้เซ็นหนังสือ นั่งภาวนา ลองนั่งดู

    เอ๊ะ ! ใครมาขย่มรถ จนรถนี้ยวบ ๆ ๆ ทีเดียว

    จนอดลืมตาไม่ได้ ไม่เห็นมีใครเลยในรถ คนรถไปยืนอยู่โน้น มีเราอยู่คนเดียว ในที่ใกล้ ๆ ไม่มีใคร มีเราอยู่คนเดียว

    ก็นึกว่า นี่มันอะไรกันนี่ มันหวั่นไหวจนรถเขย่าถึงขนาดนี้

    พอวันรุ่งขึ้นประชุมสภาฯ ก็พบคุณหมออวย ดิฉันก็เล่าว่าที่คุณหมอแนะนำให้นั่งภาวนานั่นดิฉันลองดูแล้ว สนุกดี !

    ท่านก็ถามว่า อะไร ? สนุกยังไง ?

    ดิฉันก็เล่าให้ท่านฟังว่า บางครั้งตัวเราเหมือนมีเดือยหมุนไป บางครั้งก็ลอย บางครั้งร้อนก็มีลมพัดมา ทำได้ทุกอย่าง อยากดูแสงก็ดูได้

    คุณหมออวยก็ร้องว่า ตายจริง ! ผมทำมาตั้งสิบปียังไม่ได้อย่างนี้ นี่คุณทำมายังไม่ถึงอาทิตย์เลย ทำไมแปลกยังงี้

    แล้วท่านก็ถามว่า คุณนั่งอย่างไร ก็นั่งให้ท่านดู ท่านก็ว่า เอ๊ะ ! ถูกนี่ โดยคุณไม่ได้ไปหัดจากใคร ไปเรียนจากใคร ดิฉันก็บอกไม่รู้ซิคะ ท่านก็ว่าเออแปลก !

    แต่ที่จริงแปลกนะ คุณทองทิว สิ่งที่ได้นี่เหมือนผู้ใหญ่เขาเอาขนมหวานมาล่อเด็กน่ะ คือเพื่อให้เราสนุกและสนใจ ตอนหลัง ๆ ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป มันชวนให้เราดื่มด่ำในการทำ

    ทีนี้เราก็แอบทำตอนวิลาศออกไปเขียนหนังสือ บางทีใจมันก็นิ่ง บางทีมันก็เห็นขาวสว่างโพลง เราก็รู้สึก เอ ! มันสบายดีนี่

    ศึกษาให้ถ่องแท้

    ผู้เขียน นั่งแต่ละครั้งนานไหมครับในตอนนั้น ?

    คุณสุรีพันธุ์ โอ ! แล้วแต่นะคะ มันไม่แน่หรอก ปกติถ้ามีเวลาก็ชั่วโมงกว่า ๆ บางทีมันนิ่งไปสามชั่วโมงก็มี

    แต่เวลานี้มันไม่ดีอย่างนั้นนะคะ คือตอนหลังครูบาอาจารย์ท่านรู้เรื่องทีหลัง พอเราไปกราบท่านกันเต็มที่นะคะ ท่านก็ซักไซ้กันหมดว่า ทำยังไง ? ภาวนายังไง ? ใช้บทภาวนาอะไร ? สวดมนต์บทอะไร ? ก็ถูกสอบ มานั่งเรียงถามกันเป็นแถว

    ผลสุดท้ายท่านก็หัวเราะกันว่า สวดมนต์บทอะไร

    รู้ไหมตอนนั้นดิฉันสวดได้แต่ นะโม ตัสสะฯ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิฯ ว่า ๓ จบแล้ว อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ ง่าย ๆ แค่นี้ อิติปิโสยังท่องไม่เป็น

    พอตอนหลังก็ไปขอประวัติครูบาอาจารย์อ่าน เพราะพูดกับใครเขาไม่รู้เรื่องแล้วนี่

    ไปมหามกุฏฯ ไปค้นซื้อหนังสือ จนท่านคิดว่าเราจะไปเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก มีอะไรขนมาอ่านใหญ่เลย พระไตรปิฎกย่อ อะไรต่อมิอะไร เพื่อให้รู้เรื่องน่ะ เพราะเราไม่รู้จริง ๆ


    หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

    พระสาวกเป็นใคร เขาบอกว่ามีพระพุทธเจ้าหลายองค์ ยังไม่เชื่อเลย

    เอ๊ะ ! มีไปได้อย่างไร ก็มีองค์เดียว อะไรอย่างนี้แหละค่ะ คือต้องไล่หาความรู้ภายในไม่กี่เดือน ต้องไล่ไปจนหมด

    ทีนี้ก็เลยเริ่มสนใจ แล้วมารู้จักครูบาอาจารย์สายพระอาจารย์มั่น ก็เข้าไปกราบแล้วไปเห็นจริยวัตรของท่านเหล่านั้น สงบสำรวม น่าเลื่อมใส ทำให้จิตใจดีขึ้น และมีศรัทธาเพิ่มขึ้น ในกรณีที่เราอยากจะทำอะไรถวายท่านรู้สึกเหมือนมีผู้รับรู้

    คืออย่างครั้งแรกระหว่างที่ได้ของ เจ้าคุณนรฯ มีคนรู้เรื่องกันก็มาขอสัมภาษณ์กัน จำได้ว่ามีคนเยอะ จะมาขอสัมภาษณ์ลงหนังสือ

    ดิฉันตกใจบอกว่า อย่ามายุ่งนะ ว่าอย่างนั้นนะคะ




    หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค




    พระผงหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
    (ไม่ใช่องค์ที่คุณหญิงได้รับ)


    คืออย่างได้อ่านประวัติของพ่อปาน วัดบางนมโค เราเห็นว่าท่านทำพระอะไร โอ้โฮ ! นี่คงดีนะ แต่เราไม่มีทางได้

    พอนึกอย่างนั้น ทำงานไปพอเย็นกลับมา มีพระอะไรก็ไม่ทราบมาวางอยู่บนโต๊ะบูชาอีกแล้ว

    เอ๊ะ ! พระอะไรคะ รูปลิงไม่ได้เรื่องจะโยนทิ้งเสียแล้ว แต่พิจารณาไปมาแล้วไปดูที่หนังสือเอ๊ะ ! นี่มันตรงนะ ที่เขาว่าพวกหนุมาน แล้วดูข้างท้าย เขาว่าต้องมีรูเจาะใส่ผง อ้าว ! นี่ก็มีอีก

    วันหลังดิฉันก็ไปให้ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ท่านดูว่าใช่ไหม ? พอเห็นปั๊บท่านยกมือไหว้ ท่านบอกนี่แหละ ใช่



    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  2. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต




    ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุและอรหันตธาตุ

    ของคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต

    โดยทองทิว สุวรรณทัต

    หนังสือพระธาตุปาฏิหาริย์

    a8a8a8a8a8a8a8a8a8a



    ผู้เขียนยังจำได้ว่า เมื่อประมาณปี ๒๔๙๙-๒๕๐๐ ซึ่งขณะนั้นผู้เขียนยังเป็นนักข่าวประจำสภาฯของ หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน อยู่นั้น ได้มีโอกาสรู้จักกับนักเขียนท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการเขียนบทความลงใน หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ อันเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแก่ชนทั่วไปในสมัยนั้น

    นักเขียนท่านนี้มีอารมณ์ขันเป็นนิตย์ มีจิตบริสุทธิ์ไม่มีพิษมีภัยแก่ผู้ใด ท่านคือ คุณวิลาศ มณีวัต

    และต่อมาเมื่อผู้เขียนไปเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ บูรพาโฆษณา ซึ่งมีหน้าที่ป้อนรายการให้แก่สถานีวิทยุ ว.ป.ถ. ทั่วประเทศผู้เขียนได้จัดรายการ “ปัญหาชาวบ้าน” โดยเชิญนักเขียนผู้มีชื่อเสียงมาแสดงความเห็นในปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ฟังถามมาสัปดาห์ละครั้งผู้เขียนก็มีโอกาสได้รู้จักกับ คุณสุรีพันธุ์ มณีวัต เจ้าของนามปากกา“นิตยา นาฏยะสุนทร” นักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่นิยมในหมู่มวลนักอ่านอย่างยิ่งอีกท่านหนึ่ง

    และผู้เขียนมักจะเชิญ คุณประหยัด ศ.นาคะนาท บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ในสมัยนั้น คุณวิลาศ กับคุณสุรีพันธุ์ มณีวัต คุณประสัตถ์ ปัณยารชุน วนเวียนกันอยู่แค่นี้ นาน ๆ จะมี คุณวริน อมาตยกุล (ถึงแก่กรรมไปแล้ว) มาร่วมด้วยสักครั้ง

    ครั้นกาลเวลาล่วงเลยไป ต่างคนก็ต่างประกอบสัมมาอาชีพของแต่ละท่าน ผู้เขียนก็ดูจะไม่ค่อยได้มีโอกาสพบปะสนทนากับท่านที่กล่าวนามมานี้





    ปกหนังสือ “มาตาบูชา”



    จนผู้เขียนย่างเข้าปัจฉิมวัยก็ได้ข่าวอันเป็นมงคลว่า คุณวิลาศกับ คุณสุรีพันธุ์ มณีวัต ได้หันมาสนใจในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทั้งได้ข่าวเกี่ยวกับการเดินทางไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ของ คุณสุรีพันธุ์ อยู่บ่อย ๆ จากคำบอกเล่าของผู้ศรัทธาในธรรมหลายท่าน ซึ่งผู้เขียนก็ได้แต่อนุโมทนาในจิตอันเป็นกุศลของท่านอยู่เงียบ ๆ

    จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนได้ไปวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ บังเอิญไปเห็นหนังสือ “มาตาบูชา” ซึ่งพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นางชาญสงคราม (แฉล้ม ชาลีจันทร์) คุณแม่ของคุณสุรีพันธุ์ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๘ วางอยู่บนแผงขายหนังสือ

    เมื่อเปิดพลิก ๆ ดูบทความภายในหนังสือดังกล่าว ก็ทราบว่า เป็นเรื่องที่คุณสุรีพันธุ์เขียนเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะเรื่อง “ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันต์ธาตุ” ซึ่งเมื่ออ่านแล้วถึงกับวางไม่ลง

    ทั้งเกิดความคิดขึ้นมาว่าอยากจะได้บทความของคุณสุรีพันธุ์ ไปเผยแพร่ในหมู่นักปฏิบัติธรรมด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อผู้ที่มีศรัทธาทั้งหลายที่ยังไม่รู้ไม่เห็น ในสิ่งมหัศจรรย์ที่มีอยู่ในองค์พระธาตุ จะได้มีโอกาสรู้เช่นเดียวกับผู้เขียน จะได้เกิดกำลังใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควรต่อไปในภายหน้า

    เมื่อมีความคิดดังนี้ ผู้เขียนก็มิได้รอช้า รีบโทรศัพท์ไปหาคุณสุรีพันธุ์ที่บ้านลาดพร้าวในเช้าวันหนึ่ง โดยแจ้งความประสงค์ดังกล่าวให้ท่านทราบและได้รับความกรุณาจากคุณสุรีพันธุ์ อนุญาตให้ผู้เขียนนำบทความของท่านในหนังสือ “มาตาบูชา” ลงในหนังสือเล่มนี้ได้ โดยเฉพาะบทความที่เกี่ยวกับประสบการณ์ด้วยตัวของท่านเอง ซึ่งผู้เขียนใคร่ขอขอบพระคุณ คุณสุรีพันธุ์ มณีวัต ณ โอกาสนี้อีกครั้ง

    และต่อไปนี้ขอเชิญผู้ศรัทธาในธรรมทั้งหลาย อ่านบทความที่เขียนโดย คุณสุรีพันธุ์ มณีวัต ที่ผู้เขียนได้รับอนุญาตให้นำมาลงในหนังสือเล่มนี้






    คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต



    ผู้เชื่อยาก


    คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต

    เรื่องพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันต์ธาตุนี้ แต่เดิมข้าพเจ้าไม่รู้จักและไม่เคยเห็นเลยต้องสารภาพตามตรงว่าไม่เคยสนใจด้วยซ้ำ เพราะเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เป็นเพียงชื่อสมมติให้พวกเราคนรุ่นหลังรู้สึกถึง “ความยิ่งใหญ่” ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

    แม้ในวัยเด็กจะเคยอ่าน “ปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสอยู่บ้าง โดยเฉพาะตอนที่กล่าวถึง ธาตุวิภัชน์ปริวรรต ว่า

    เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้มีกษัตริย์ ๗ พระนคร ยกขบวนพยุหโยธามาสู่กุสินารา เพื่อแสดงเดชานุภาพในการขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปสักการบูชา

    อ่านแล้วก็พิจารณาความตามพรรณนาโวหาร นึกถึงความไพเราะของภาษา ความช่างคำนึงของกวี หาได้นึกเป็นเรื่องจริงจังไม่

    เป็นไปได้อย่างไร มนุษย์เราตายแล้ว กระดูกจะกลายเป็นเงาเลื่อม ลักษณะเหมือนข้าวสารหัก เหมือนถั่วแตก เหมือนพันธุ์ผักกาด !

    เป็นไปได้อย่างไร ที่กระดูกเหล่านี้จะกลายเป็นมีสีอันงดงามประหนึ่งทองอุไร ประหนึ่งสีสังข์ ประหนึ่งแก้วมุกดา ประหนึ่งแก้วผลึก !

    เป็นไปได้อย่างไร ที่จะทรงบุญฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ เพิ่มจำนวนได้ เสด็จมาเสด็จไป บังเกิดรังสีอันงดงามให้ปรากฏ เหลวไหลคนโบราณหลอกพวกเรา ! เพราะเรานึกว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์เท่า ๆ กับเรา ช่างเป็นความเขลาความหลงที่น่าสงสารมานานปีนี่กระไร

    ข้อความพระบรมสารีริกธาตุปาฏิหาริย์ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยานั้น ก็สงสัยว่าอาลักษณ์ ผู้บันทึกพงศาวดารคงต้องการจะเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าแผ่นดินในรัชสมัยของตนให้เกรียงไกรยิ่งใหญ่ สมกับที่จะเทิดทูนให้เป็นสมมติเทพเท่านั้น !

    ส่วนเหตุการณ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ดูเกิดขึ้นในเวลาไม่นานนัก ทำให้รู้สึกลังเลและตามวิสัย “ผู้เชื่อยาก” ก็คิดว่ายกไว้ก่อนเถอะ !

    ช่างเขลา ช่างหลง ช่างอวดดีเสียจริงเทียว !

    ไม่ยอมเชื่อในพระปาฏิหาริย์ของพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งที่ความจริงแล้ว สมเด็จพระพุทธองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยอิทธิฤทธิ์บุญฤทธิ์ เป็นผู้ทรงหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง จนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้ด้วยการบำเพ็ญบารมีมานานนับเป็นเวลาหลายแสนกัปของพระองค์

    ช่างเขลา ช่างดื้อดึง ยึดมั่นในมิจฉาทิฐิของตนเสียแท้เทียว !

    คำว่า “ปาฏิหาริย์” ที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป ขอให้หมายความถึงความพิสดาร ความอัศจรรย์แห่งพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระธาตุของพระอรหันต์สาวกที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ด้วยวิทยาศาสตร์หรือความนึกคิดของปุถุชนธรรมดาอย่างเรา

    ๔-๒-๖

    ท่านผู้ซึ่งเป็นประดุจผู้เบิกเทียนสว่าง พาข้าพเจ้าออกจากความเขลา ความหลงนั้นความจริงตัวท่านเองก็คงจะไม่รู้ตัวเลยว่าได้ทำบุญคุณให้ข้าพเจ้าอย่างยิ่ง

    เวลานั้นกลางปี ๒๕๑๘ ข้าพเจ้ามีประสบการณ์เกี่ยวกับ “พระลอยมา” มากแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้จักพระบรมสารีริกธาตุเลย

    คุณสมศักดิ์ หรือความจริงท่านคือ พลตำรวจโทนายแพทย์สมศักดิ์ สืบสงวน แห่งโรงพยาบาลตำรวจ ทราบเข้าก็ประหลาดใจ

    “อะไรพี่ยังไม่รู้จักพระบรมสารีริกธาตุเลย! ถ้ายังงั้นผมจะให้พี่ไปบูชา... ”

    แล้วท่านก็นัดแนะให้ข้าพเจ้าไปพบท่านที่โรงพยาบาลตำรวจ

    เมื่อท่านเชิญพระบรมธาตุที่จะมอบให้ออกมาให้ชมดูก่อนนั้นรับตามตรงว่าในหัวใจของข้าพเจ้ามีแต่ความกังขา

    เม็ดอะไรไม่ทราบ เล็กนิดเดียวคล้ายหินกรวด คล้ายมุก ข้าพเจ้านึก

    “๔ องค์นะครับ” คุณสมศักดิ์ว่า พลางคะยั้นคะยอให้ข้าพเจ้าดูอีก

    พระบรมสารีริกธาตุใช่หรือ ?...ไม่จริงมั้ง !

    คิดแค่นี้ข้าพเจ้ารู้สึกปล๊าบไปทั้งตัว เหมือนถูกไฟฟ้าช็อต ใจสั่นระริก จนต้องนึกในใจว่า ลูกเชื่อแล้ว !

    และรุ่งขึ้นนั้นเอง เมื่อเปิดผอบดูอีกครั้งหนึ่งก็ได้เห็นพระธาตุเสด็จมาเพิ่มอีก ๒ องค์ ลักษณะกลม เล็ก เหมือนมุก เปล่งรัศมีเป็นประกายงามมาก

    รับมา ๔ องค์ เพิ่มอีก ๒ เป็น ๖ องค์ ๔-๒-๖ ข้าพเจ้านึกเล่น ๆ ว่า เอ้า ! ถ้าท่านเก่งจริง ให้เราถูกล็อตเตอรี่ซี !

    ร้อยวันพันปีจะซื้อล็อตเตอรี่กับเขาสักที คราวนี้ลงทุนท้าท่าน ยอมเสียเงิน ๒๐ บาท เสียภาษีให้รัฐบาล (ข้าพเจ้าเชื่อว่า การซื้อล็อตเตอรี่คือการเสียภาษีเสริม!)

    บังเอิญเลขท้าย ๓ ตัว ออก๔-๒-๖ ได้เงินมากินขนมอีก ๑,๐๐๐ บาท...แต่ก็สงสัยความ บังเอิญ อีกน่ะแหละ !

    อะไรอยู่ในมือ

    ไม่นานหลังจากนั้น ข้าพเจ้าซึ่งลองหัดภาวนาแล้วก็ได้มีนิมิตอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งดูออกจะเหลือเชื่ออยู่มากที่จะเชื่อความตามนิมิตนั้น จึงลองคิดอธิษฐานว่า ถ้านิมิตที่เกิดขึ้นนั้นบอกความจริงในอดีตแก่เรา ขอให้พระธาตุมาปรากฏในมือเราเถิด

    อธิษฐานแล้วก็ลืมไป ไม่ใส่ใจอะไร

    วันนั้นเพิ่งผ่านสงกรานต์ จึงคิดจะสรงน้ำพระ (ซึ่งไม่เคยทำและลองทำเป็นปีแรก !) ชวนวิลาศและลูก ๆ มาเชิญพระพุทธรูปมาสรงน้ำหอม

    กำลังนั่ง ๆ อยู่ รู้สึกในมือเรามีอะไรเคลื่อนไหว จึงก้มลงมองก็เห็นอะไรขาว ๆ ๒ ชิ้นอยู่ในกลางมือ

    ดูไปดูมา สักครู่จึงนึกสงสัยว่า หรือจะเป็นพระธาตุ ! แต่ลักษณะองค์ใหญ่กว่าที่เคยได้รับจากคุณสมศักดิ์ (ซึ่งต่อมาจึงทราบว่าพระธาตุลักษณะนี้ เขาเรียกสัณฐานแบบเมล็ดพันธุ์ผักกาด) แล้วจึงนึกขึ้นได้ถึงตามที่เราอธิษฐานไว้

    ทดสอบพระธาตุ

    แต่เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่มาปรากฏในมือเรา ๒ ชิ้นนี้คือ พระธาตุ

    เผอิญระลึกได้ว่าผู้ใหญ่ท่านเล่าว่า ถ้าเป็นพระธาตุแท้และขนาดไม่ใหญ่มากนัก ท่านจะลอยน้ำ ก็เลยหาขันน้ำมาเชิญท่านลองลอยน้ำดู

    เรานั่งล้อมดูการทดสอบกันทั้งครอบครัว คนนำก็ไม่ค่อยทราบอะไรเท่าไรนัก แต่ก็ทำท่าเป็น “ผู้รู้” สั่งการไปตามเพลง

    ช้อนท่านลงในน้ำ...เอ ! ท่านก็ลอยน้ำดีอยู่นี่ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป

    “ผู้รู้” มองดูเห็น “พระธาตุ” นิ่งอยู่กลางขันก็บอก “ลองออกไปริมขันซี” ท่านก็เคลื่อนตัวไปที่ริมขัน !

    ลอยไปรอบ ๆ ขันซีคะ... “ผู้รู้”ว่า ท่านก็ลอยเวียนไปตามริมขันตามแบบเข็มนาฬิกา

    “ผู้รู้” มองสักครู่ก็บ่นว่าเอ๊!....นั่นเวียนแบบอุตราวรรตนี่ ไม่เป็นมงคล ให้เป็นทักษิณาวรรตดีกว่า

    บ่นกับครอบครัวที่นั่งหน้าสลอนชมการทดสอบนี้ แล้วก็สั่ง “ท่าน” ที่อยู่ในขันน้ำ หยุด ๆ ก่อนค่ะ ย้อนศรกลับไป

    ท่านก็หยุดการเคลื่อนตัว และลอยย้อนศรกลับไป แต่คราวนี้การลอยเคลื่อนตัวของท่านช้าลงจน “ผู้รู้” ชักสงสัย

    คิดไปคิดมาก็อุทานว่า “ตายจริง เก่าท่านลอยเวียนขวาทักษิณาวรรตดี ๆ อยู่แล้ว ไปให้ท่านย้อนศรกลายเป็นอุตราวรรต เวียนซ้าย ไป”

    แล้วก็ชะโงกไปพูดกับในขันว่า “ขอโทษค่ะ เก่าถูกแล้ว กลับไปอย่างเก่าเป็นทักษิณาวรรตอย่าง เดิมเถิด”

    ท่านก็หยุดชะงักแล้วลอยกลับไปตามทางขวาแบบเข็มนาฬิกาอย่างเดิม และในความเร็วที่เร็วอย่างเดิม

    รอดูกันจนท่านเวียนครบรอบขันสามรอบแล้วก็ถามกันว่าจะให้ท่านทำอย่างไร

    คิดขึ้นว่า ให้ท่านกลับเข้ากลางขัน

    พอบอกดัง ๆ ท่านก็เคลื่อนตัวเข้ากลางขัน

    ปรึกษากันว่า ลองดูพอใจแล้วใช่ไหม ประจักษ์พยานทุกคนยอมรับ

    “ผู้รู้” ก็กล่าวดัง ๆ ว่า “พอแล้วค่ะ” ท่านก็จมลงกลางขันทันที...!

    ทดลององค์ที่หนึ่งจบแล้วก็เชิญองค์ที่สองลงทดสอบด้วยวิธีที่คิดขึ้นมาเองอย่างกะทันหันนั้นต่อไป...!


    พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

    เรื่องนี้เมื่อไปเล่าถวาย ท่านพระอาจารย์วันและท่านพระอาจารย์จวน ถูกท่านตำหนิยกใหญ่ ท่านให้ขอขมาสมเด็จพระพุทธองค์ที่ไปล่วงเกินพระบรมธาตุของท่าน !

    แต่ท่านอาจารย์จวนคงสงสารที่เห็นศิษย์หน้าเสีย ท่านก็เลยให้กำลังใจว่า

    “พวกนักศึกษาก็ยังงี้แหละอบทดลอง ชอบทดสอบ สงสัยไปเรื่อย ๆ”

    แล้วท่านก็ตลบทับว่า

    “แต่นั่นแหละ เมื่อพบของจริงของแท้แล้ว ก็ควรเชื่อเสียที ตั้งใจมั่นเสียทีซิ”

    สำนึกตัวเหมือนกันว่า เรานี่แย่มาก พูดจาอะไรดูไม่มีสัมมาคารวะ

    แต่สมัยนั้นเราเพิ่งจะรู้จักพระธาตุเพียงไม่กี่องค์ ยังไม่ทันทราบด้วยซ้ำว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้นมีความเป็นมาอย่างไรมีคุณลักษณะอย่างไร ได้ยินแว่ว ๆ ว่า ท่านลอยน้ำได้ เราก็ลองกันเลย ไม่รู้จักตำรับตำราอะไร ที่ได้ไปก็ได้เล่น ๆ ไม่ได้คิดว่าพูดกับใคร วาจาจึงน่าเกลียด น่าชังปานนั้น

    คิดย้อนหลังไปครั้งใด ก็ให้นึกอายใจเหลือประมาณ ได้แต่สอนน้อง สอนลูกหลาน ว่าอย่าทำเรื่องน่าเกลียดน่าชังเช่นนี้อีก

    และที่กล้าเล่าเรื่องนี้ไว้ให้ปรากฏก็เพื่อประจานความน่าขายหน้าของคนคนหนึ่ง ซึ่งกว่าจะกลับใจมาสู่สัมมาทิฐิก็ดื้อดึงอวดรู้เหลือใจ





    พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ



    คิดแจกพระธาตุ

    จากนั้นมา ครูบาอาจารย์ก็เห็นว่า เราพอจะรู้จักพระบรม-สารีริกธาตุ เคารพพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ท่านก็เริ่มให้พระธาตุมาบูชาบ้าง ๓ องค์ ๕ องค์ เราก็เก็บไว้

    ปี ๒๕๒๐ เกิดกำเริบ คิดแจกพระธาตุให้กรรมการกฐินที่เราชวนเพื่อน ๆ มาเป็นกรรมการทอดกฐินผ้าป่าทางอีสาน

    ไปอินเดียกับท่านเจ้าคุณพุทธพจน์วราภรณ์ แห่งวัดราชบพิธ เห็นท่านแจกพระธาตุพวกเราที่ไปด้วยคนละ ๑ ช้อนเล็กโดยไม่นับ ก็แสดงว่าท่านต้องมีพระธาตุมาก

    ตัวเราได้รับนับได้ ๑๓ องค์ พอจะกลับกรุงเทพฯ กลายเป็น ๑๖ องค์ ของวิลาศก็เพิ่มเช่นกัน

    ฉะนั้นจึงคิดไปเรียนขอความกรุณาท่าน ขอพระธาตุมาให้เพื่อน ๆ ถ้าเรามีกรรมการ ๕๐๐ คน ก็เลียบเดียงขอให้คนละ ๑ องค์ ขอพระบรมธาตุ ๕๐๐ องค์

    พระบรมสารีริกธาตุ ๕๐๐ องค์ สมัยนั้นมากจริง ๆ

    พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอุทานว่า “กรรมการ ๕๐๐ คน ขอ ๕๐๐ องค์ !”

    เราใจแป้ว นึกสมน้ำหน้าตัวเองว่า อยากหน้าใหญ่นัก ! แต่ก็ตกใจเมื่อท่านว่าต่อไปว่า

    “เอาไปทำไมกันคนละองค์ อาตมาให้เลยคนละ ๓ องค์ ! เอาไปเลย ๑,๕๐๐ องค์”

    สีหน้าตกใจ ไม่คาดคิดว่าท่านจะกรุณาถึงเพียงนี้ ทำให้ท่านเข้าใจผิดปลอบว่า

    “ทำไม ? พันห้าน้อยไปหรือ ไม่พอหรือ งั้นเอาไปเสียสองพันก็แล้วกัน !”

    ตกลงกฐินผ้าป่าปี ๒๕๒๐ นั้น เรามีพระบรมสารีริกธาตุแจกกรรมการได้คนละ ๓ องค์ มีกรรมการเกือบ ๗๐๐ คน แต่เราก็พอมีพระธาตุแจก เพราะท่านอาจารย์วันและท่านอาจารย์จวนให้มาอีก

    น่าจะช่วยท่าน

    ปี ๒๕๒๑ ว่ากันว่าจะหยุดทอดกฐินสักปีหนึ่ง ทอดมา ๒ ปีติดต่อกันแล้ว พักสบายสักปีเผอิญปีนั้นพระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านไปจำพรรษาที่วัดป่าสิริปุณโณวาส หรือวัดป่าหนองแซง เราจึงไปกราบท่านบ่อย ๆ

    วันหนึ่งใกล้จะออกพรรษาแล้ว เรียนถามท่านพระอาจารย์เสน (เจ้าอาวาส) ถึงเจดีย์ หลวงปู่บัว สิริปุณโณ ที่สร้างกำลังจะเสร็จอยู่แล้ว นิสัยช่างซักของเราก็อดปากไม่ได้ว่า

    “ยังจะต้องใช้เงินอีกสักเท่าไรเจดีย์จึงจะเสร็จสมบูรณ์ ?”

    ท่านอาจารย์ตอบว่า ประมาณ ๖-๗ หมื่น

    ใจเราก็คิดสะระตะทันที เงินแค่นี้พวกเราน่าจะช่วยท่านได้

    กลับไปกรุงเทพฯ เราโทรศัพท์ก็ชวนเพื่อน ๆ บอกกันพักเดียว ๒๐๐ คน คงพอได้ ช่วยกันออกคนละ ๒๐๐ บาท คงได้ ๔ หมื่น

    ที่เหลือเราก็หาต่อไป คงไม่ลำบาก

    ดี...เราจะได้ถวายกฐินวัดที่หลวงปู่หลุยจำพรรษา ได้ทำบุญกับเจดีย์ของหลวงปู่บัว ซึ่งเราไม่มีบุญได้กราบท่าน

    ปากก็ไว้ทันกับใจคิด ขอจองกฐินทันที โดยไม่ทันได้ทราบด้วยซ้ำว่าความจริงเจดีย์หลวงปู่นั้นคุณธเนศ เอียสกุล เธอมีใจศรัทธาอยู่ และเราเองไม่ได้เรียนถามท่านอาจารย์เสนอว่า เงินขาดเท่าไร เราเรียนถามว่า ยังจะต้องใช้เงินอีกสักเท่าไรกว่าจะเสร็จ ซึ่งความจริงคำถามเราไม่ได้หมายความวาเงินขาดสักหน่อย...! แต่ท่านอาจารย์เสนก็เมตตาให้เราได้ทำบุญ !

    พระธาตุปาฏิหาริย์

    กลับกรุงเทพฯ โทรศัพท์ชวนพรรคพวก แล้วก็บอกเพื่อนรุ่นน้องสองสามคนว่า “เออ..กรรมการคราวนี้จะให้พระธาตุคนละ ๒ องค์”

    ที่พูดเช่นนี้ เพราะเห็นยังมีพระธาตุเหลือถึง ๔๐๐ กว่าองค์เหลือจากแจกกรรมการกฐินปีก่อน

    คิดเอาเองว่าเวลาเหลือน้อยก็จะถึงกำหนดทอดกฐินแล้ว คงมีกรรมการได้ไม่ถึง ๒๐๐ คน พอแจกได้คนละ ๒ องค์พอดี

    สุดท้ายเมื่อน้อง ๆ มาบอกด้วยความดีใจว่าได้กรรมการถึง ๔๐๐ คนแล้ว อันหมายความว่าจะได้ค่ากรรมการมากขึ้น ข้าพเจ้าจึงตกใจ เพราะจะไม่มีพระธาตุแจกพอ...!

    คืนวันนั้นหยิบผอบพระธาตุลงมานับด้วยความไม่สบายใจ คิดว่า


    พระธาตุและไม้หมอ
    (ไม้ขัดฟันพระธุดงคกรรมฐาน)

    “เรานี่แย่จริง ๆ ไปออกปากบอกว่าจะให้พระธาตุกรรมการคนละ ๒ องค์ ก็เพราะเราหวังดีอยากให้เพื่อน ๆ ได้พระธาตุไปบูชา และเราก็คิดว่าเวลาแค่ ๒ อาทิตย์ คงชวนกันได้ไม่ถึง ๒๐๐ คน ใครจะนึกละว่าจะมีคนศรัทธาถึงกว่า ๔๐๐ แล้วเราจะไปหาพระธาตุมาให้เขาจากที่ไหนได้ เราคงจะเสียคำพูดคราวนี้เอง

    ความจริงการที่เราพูดว่า จะให้พระธาตุ ๒ องค์นี้ มีคนรู้ไม่ถึง ๓ คน คนอื่น ๆ เขาก็มาทำบุญโดยไม่ทราบ ไม่ได้หวังได้อะไรเลย แต่เมื่อเราพูดไปแล้วคงจะมีคนได้ยินแค่นั้น แต่ว่าเราไม่ทำตาม เราก็จะเสียสัจจะ เรานี้แย่มาก...แย่จริง ๆ !”

    ใจคิดรำพึงไป มือก็นับพระธาตุทวนอีก โดยใช้ปลายไม้หมอ (ไม้ขัดฟันพระธุดงคกรรมฐาน) เขี่ยพระธาตุ นับทีละ ๒ องค์ ๓ องค์ รวมเป็นห้าองค์

    ประหลาดแท้ ปลายไม้แตะพระธาตุองค์หนึ่ง ท่านก็เคลื่อนตัวแยกออกจากกันเป็น ๒ องค์

    ครั้งแรกแต่กออกมาเหมือนกรวดที่ยังมีรอยบิ่นแหลมคมอยู่ประเดี๋ยวรอยแตกบิ่นนั้นก็จะมนงามเป็นประกายรุ้ง

    บางองค์ที่มีลักษณะหนาสูงท่านก็จะเคลื่อนตัวเหมือนทับกันอยู่ แยกลงมาแบ่งเป็น ๒ องค์อีก !

    ข้าพเจ้าตกตะลึง ! แตะองค์ไหนก็เป็นเช่นนั้น ตาเราคงฝาดไปแน่

    เวลาเพิ่ง ๓ ทุ่ม คนอื่น ๆ ยังดูโทรทัศน์อยู่ ข้าพเจ้าขยี้ตาใหม่ก็ยังเป็นอีก

    วิ่งไปห้องน้ำ ไปล้างหน้าล้างตา ตาจะได้ไม่ฟั่นเฝือ แต่พอกลับมานับใหม่ก็ยังเป็นอีก !

    วิ่งขึ้นไปตามลูกสาวมาช่วยกันดู ท่านก็ยังแยกองค์ให้ดูอยู่เช่นนั้น...!

    ข้าพเจ้าขนลกซู่ รู้ว่าถึงอย่างไรเราก็คงมีพระธาตุแจกพอแน่นอน... “ท่าน” เมตตาเราแล้ว ไม่ให้เราเสียสัจจะแล้ว

    พระธาตุเพิ่มมาในลักษณะนี้ในคืนนั้นถึง ๙๗ องค์...เท่ากับว่าเราพิศวงงงงวยกับการแยกตัวของท่านถึง ๙๗ ครั้ง !

    เมื่อนำความไปกราบเรียนครูบาอาจารย์ ถามว่าใครมาช่วยท่านก็ว่า “ทำบุญทำกุศล ก็ต้องมีผู้ช่วยนั่นแหละ”

    สมเด็จพระญาณสังวรถามว่า

    “คุณสุรีพันธุ์แยกพระธาตุปาฏิหาริย์ไปไว้ที่ไหน”

    กราบเรียนท่านว่า “ไม่ทราบจะทำอย่างไรก็เลยเคล้ากันไปหมด”

    ท่านบอกว่า “ถูกแล้ว เพราะทั้งหมดเป็นพระธาตุปาฏิหาริย์ทั้งนั้น”

    กฐินปี ๒๕๒๑ นั้น มีกรรมการถึง ๖๐๐ คน และเราก็มีพระธาตุแจกโดยตลอด

    จากนั้นมาจนปีปัจจุบันนี้ จึงเป็นธรรมเนียมที่จะแจกพระบรมสารีริกธาตุให้กับคณะกรรมการกฐินกลุ่มของเรา บางปีก็ ๓ องค์บางปีก็ ๔ องค์






    จาก ๔ เป็น ๕

    ปีนั้นเป็นปี ๒๕๒๔ เราจะทอดกฐินวัดป่าอุดมสมพร เพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

    เรากะกันว่าจะแจกพระธาตุกรรมการคนละ ๔ องค์ กะประมาณว่า คงต้องการพระธาตุ ๖,๐๐๐ องค์ เพราะคิดว่าคงจะมีกรรมการประมาณ ๑,๕๐๐ คน ความจริงข้าพเจ้ามีพระธาตุอยู่เพียง ๕,๐๐๐ กว่าองค์ แต่ก็เชื่อว่าสุดท้ายคงพอ

    เพื่อนคนหนึ่งชื่อ คุณปัญจมา ผดุงชีวิต ผู้มีบารมีทางพระธาตุอยู่มาก (เธอได้พระธาตุเสด็จมาบ่อย ๆ) ทราบข่าวว่าท่าทางพระธาตุจะไม่พอแจกกรรมการ เธอก็จัดส่งพระธาตุสำหรับแจกกรรมการคนละ ๔ องค์ จำนวน๕๐๐ ซอง หรือเท่ากับพระธาตุ ๒,๐๐๐ องค์

    พระธาตุของคุณปัญจมาจำนวน ๕๐๐ ซองมาถึง พอดีกับที่ข้าพเจ้าบ่นออกมาดัง ๆ พอดีว่า “แหม ! อยากให้กรรมการคนละ ๕ องค์จัง”

    นั่นแหละพอหยิบซองพระธาตุขึ้นมา พระธาตุ ๔ องค์ กลายเป็น๕ องค์ งงกันจนไม่รู้จะพูดอย่างไรหยิบสัก ๕-๖ ครั้ง จะเปลี่ยนเป็น ๕ องค์ เกือบทุกครั้ง

    ปากจะว่า “๔ เป็น ๕ ดูซี พระธาตุเพิ่มเดี๋ยวนี้”

    กี่คน ๆ มาช่วยกันนับ ช่วยกันดู ก็จะเห็นประจักษ์กับตาเช่นนั้น

    บางคนก็ว่า “ขนลุกไปหมดแล้ว”

    บางคนที่ไม่รู้จักพระธาตุ ไม่เคยรู้เรื่อง ได้ยินข่าวก็มาขอดู เห็นกับตาติด ๆ กัน ถึงกับบ่นว่า “โอย! หนูกลัวจัง”

    หลายเสียงบอกว่า “นี่ ๔ เป็น ๕ อยู่นี่”

    นาน ๆ จะพบพระธาตุ ๔ องค์ยังเป็น ๔ องค์ เสียครั้งหนึ่ง ซึ่งก็แยกไว้ต่างหาก

    เด็ก ๆ พูดกันสั้น ๆ เพียงว่า “นี่พวก ๔ เป็น ๕ นี่พวก ๔ เป็น ๔”

    และในกลุ่ม ๔ องค์ยังคงเป็น๔ องค์นั้น บางคนหยิบขึ้นมาดูใหม่ครั้งที่ ๒ นี่ กลายเป็น ๕ องค์ ให้เห็นกับตา ก็มีอีกมาก

    เหมือนเล่นกล ! พวกเราว่ากันอย่างอัศจรรย์ใจ

    พระธาตุชุดที่คุณปัญจมาให้มา ๕๐๐ ซอง ซองละ ๔ องค์ กลายเป็นซองละ ๕ องค์ ๔๐๐ กว่าซองทีเดียว !!




    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  3. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต




    ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุและอรหันตธาตุ ๐๒

    ของคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต

    โดยทองทิว สุวรรณทัต

    หนังสือพระธาตุปาฏิหาริย์

    a8a8a8a8a8a8a8a8a8a

    พระธาตุเสด็จ !





    พระอาจารย์แบน ธนากโร


    พระธาตุเสด็จ !


    พระอาจารย์แบน ธนากโร

    ในปี ๒๕๒๔ นั้นเอง เมื่อทอดกฐินที่วัดป่าอุดมสมพรแล้วเราก็ไปทอดผ้าป่าที่วัดดอยธรรมเจดีย์ด้วย คุณปัญจมา ผดุงชีวิตเธอช่างคิด ว่าวันนั้นวันที่ ๒๓ ตุลาคม วันเกิดของข้าพเจ้า เธอจัดพระธาตุใส่ตลับมาให้ข้าพเจ้าถวายพระทำบุญวัดละ ๙ องค์ เธอเตรียมมาให้ทุก ๆ วัด

    พอถึงวัดดอยธรรมเจดีย์ กำลังถวายผ้าป่า ท่านพระอาจารย์แบน ธนากโร คุณปัญจมาก็จัดส่งตลับพระธาตุซึ่งปิดผนึกอย่างดีมาให้

    ขณะที่ท่านอาจารย์รับประเคนแล้ว มือถือตลับพระธาตุยังไม่ทันเปิด เราทุกคนก็เห็นแสงสีขาวลอยลงมาในมือของท่านอีกสายหนึ่ง พอตกถึงมือของท่านก็กลายเป็นพระธาตุสีขาว เสียงร้องกันให้เซ็งแซ่ว่า พระธาตุเสด็จ ! พระธาตุเสด็จ ! คนหกร้อยกว่าคนฮือกันเข้ามารุมล้อมรอบท่านอาจารย์เต็มไปหมด

    เพื่อให้มั่นใจ บางคนก็ขอให้ท่านอาจารย์นับพระธาตุในตลับดูเผื่อจะตกออกมาข้างนอกบ้าง

    ท่านอาจารย์บอกว่า “อาตมาระวังอยู่ ยังไม่ได้เปิดตลับเลย”ท่านเองก็เห็นพระธาตุเสด็จลงมาเช่นกัน

    อย่างไรก็ดี เมื่อท่านอาจารย์เปิดตลับซึ่งมีสก๊อตเทปติดอย่างแน่นหนาออก ก็ปรากฏว่าพระธาตุในตลับยังคงมีจำนวน ๙ องค์เช่นเดิม

    สำหรับพระธาตุซึ่งเสด็จใหม่เป็นองค์ที่ ๑๐ นั้น มีลักษณะองค์ใหญ่ ยาว สีขาว คล้ายสีสังข์

    ท่านอาจารย์แบนบอกพวกเราว่า ท่านได้ยินเรื่องพระธาตุเสด็จอยู่เสมอ แต่ที่เห็นกับตานี่เพิ่งเป็นครั้งแรก





    พระบรมสารีริกธาตุลักษณะต่าง ๆ




    พระบรมสารีริกธาตุลักษณะเพชร




    พระบรมสารีริกธาตุสีทองอุไร




    พระบรมสารีริกธาตุลักษณะข้าวสาร



    พระบรมสารีริกธาตุลักษณะมุกดา




    พระบรมสารีริกธาตุลักษณะ
    เมล็ดพันธ์ผักกาด




    พระบรมสารีริกธาตุ
    ลักษณะเมล็ดถั่วแตก


    น่าประหลาด


    พระบรมสารีริกธาตุลักษณะต่าง ๆ

    ปกติพระบรมสารีริกธาตุมักจะมีขนาดต่าง ๆ กัน และรูปพรรณสัณฐานแตกต่างกัน

    เรารับรู้ว่าเราอดลำเอียงไม่ได้ที่จะเชยชมองค์ที่มีลักษณะกลมหรือมนงามเป็นเงาเลื่อม ส่วนจะใสเป็นแก้วหรือขุ่นเหมือนมุก เราไม่ค่อยพิถีพิถันนัก

    ส่วนองค์ที่มีลักษณะเหมือนหินแตกขุ่น ๆ เราก็จะไม่ค่อยสนใจ บางทีก็คิดสงสัยว่า พระบรมสารีริกธาตุ แปลกปลอมมาหรือไม่ และบางทีข้าพเจ้าก็ต้องเชิญท่านลงลอยน้ำพิสูจน์


    พระบรมสารีริกธาตุลักษณะเพชร

    พระบรมสารีริกธาตุขนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาดหรือถั่วแตกจะลอยบุ๋มลงไปในน้ำมีรัศมีเป็นประกายงามมาก และถ้าอยู่ห่างกันท่านจะวิ่งมารวมกันเป็นแพเหมือนมีแม่เหล็กดูดเสมอ ส่วนใหญ่ท่านก็ผ่านการทดสอบของเรา

    วันหนึ่งกำลังทดสอบก็มีพระบรมธาตุปรากฏขึ้น ๔ องค์พร้อมกัน และแปลกที่ว่าตามปกติพระธาตุปาฏิหาริย์มามักจะมีลักษณะงดงามเสมอ แต่ปาฏิหาริย์ ๔ องค์ครั้งนี้มีงามมากเพียงองค์เดียว อีกองค์หนึ่งงามพอใช้ได้อีก ๒ องค์เหมือนหินแตก

    กำลังนึกสงสัย ก็มีเสียงสอนขึ้นว่า “อย่าดูแต่ความงามภายนอกพระบรมสารีริกธาตุเมตตาเสด็จมาสอนธรรมแก่เรา !”


    พระบรมสารีริกธาตุสีทองอุไร

    แต่อย่างไรก็ดี สำหรับพระบรมธาตุที่จะแจกกรรมการกฐินนั้น ข้าพเจ้าจะต้องพิถีพิถัน ระวังไม่จัดอย่างชนิดที่ป่นเล็กหรือมีลักษณะเป็นกรวดหินแตกมาก ๆ ให้ไป ด้วยเกรงว่าผู้ได้รับจะรังเกียจ

    พระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะที่เราไม่กล้าให้ใครนี้ ตอนปีแรก ๆ ข้าพเจ้าจะห่อใส่กระดาษเล็ก ๆ เขียนไว้ว่า “ใช้ไม่ได้” และบอกจำนวนองค์ไว้ด้วย เช่นว่าใช้ไม่ได้ ๔๘ องค์ ใช้ไม่ได้ ๓๔ องค์ เป็นต้น

    คืนหนึ่งกำลังจัดโต๊ะ ห่อพระธาตุที่เขียนว่า ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ ก็ตกลงมา ห่อกระดาษยับยู่ยี่ แสดงว่าไม่มีคนเอาใจใส่มานานปี


    พระบรมสารีริกธาตุลักษณะข้าวสาร

    เมื่อแกะห่อออกดูปรากฏว่าพระธาตุทุกองค์งาม และเปล่งประกายมีรัศมีสว่างเรืองไปหมด และทุกห่อก็เป็นเช่นนั้น จนข้าพเจ้าอดนึกไม่ได้ว่า ไม่เคยเห็นพระธาตุที่ไหนสวยอย่างนี้

    ใจก็คิดว่า ท่านคงหมั่นไส้เรา ว่าท่านใช้ไม่ได้ ท่านเลยสวยเสียจนน่าประหลาดใจ

    เห็นพระธาตุสวยก็คิดถึงพวกน้อง ๆ ที่ที่ทำงาน ตอนเช้าจึงนำห่อพระธาตุเหล่านั้นติดตัวไปที่ทำงาน ว่าจะเล่าเรื่องอัศจรรย์ให้ฟังและจะแบ่งพระธาตุให้ทุกคนนำไปบูชา


    พระบรมสารีริกธาตุลักษณะมุกดา

    น่าประหลาดที่พอเปิดห่อเหล่านั้น พระธาตุทกองค์กลับเปลี่ยนสภาพจากที่เห็นเมื่อคืนหมด กลับเป็นเหมือนกรวดเล็ก ๆ แตกบิ่นหมดก็บ่นว่า “แล้วจะแจกกันอย่างไร ใครจะเชื่อว่า เมื่อคืนท่านเปลี่ยนเป็นงาม มีประกายรุ้งสวยอย่างนั้น”

    น้อง ๆ รำพันว่า “ท่านคงไม่อยากให้พวกหนูกระมัง”

    ข้าพเจ้าว่า “พวกหนูก็ช่วยงานกุศลทั้งนั้น ทำไมจะให้ไม่ได้ เสียดายแต่ว่า ท่านกลับเป็นไม่สวยอย่างนี้ เด็ก ๆ ก็จะนึกว่า พี่ไม่เต็มใจให้”

    บ่นอย่างนั้นแล้ว มองไปอีกทีหนึ่ง ทุกคนก็เห็นพระธาตุทุกองค์สวยเหมือนกันหมด บอกว่า


    พระบรมสารีริกธาตุลักษณะ
    เมล็ดพันธ์ผักกาด

    “ฟังพี่เล่าว่าสวย สวย นึกไม่ออกว่า ท่านจะสวยได้ถึงอย่างนี้”

    บางคนก็ว่า “ดีแล้ว ที่เห็นท่านไม่สวยเมื่อเช้านี้ แล้วกลับสวยตอนนี้ ถ้าสวยมาแต่แรกก็ไม่ได้เห็นปาฏิหาริย์น่ะซี”

    ได้แจกกันไปเป็นสิบ ๆ คนโดยให้ต่างคนต่างเลือกเอา


    พระบรมสารีริกธาตุ
    ลักษณะเมล็ดถั่วแตก

    พอดีมีอีกคนหนึ่งอยู่ต่างฝ่าย ไม่ทราบเรื่องมาก่อน ข้าพเจ้าจึงเล่าเรื่องให้ฟัง เธอดีใจที่จะได้พระธาตุปาฏิหาริย์ แต่พอเปิดห่อก็ต้องร้องอย่างตกใจ เพราะพระธาตุกลับเป็นหินแตกอีกครั้งหนึ่งแล้ว

    เธอบ่นเสียใจว่า “ท่านไม่ต้องการให้ผมน่ะครับ”

    ข้าพเจ้าไม่ทราบจะทำอย่างไรก็พูดดัง ๆ อีก

    “แหมคุณ ช่วยงานกุศลเราบ่อย ๆ ให้สวย ๆ ได้ซีคะ”

    ไม่รู้ว่าพูดกับใคร พูดทำไม แต่มันก็หลุดปากไป ซึ่งก็แปลกที่ว่า พระธาตุกลับงามอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ผู้รับดีใจมากกว่าได้เห็นปาฏิหาริย์กับตา

    พระอรหันต์ธาตุ

    พระสาวกผู้ใหญ่ซึ่งสมเด็จพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่ามีคุณสมบัติเป็นเลิศในด้านต่าง ๆมี ๘๐ องค์ เรียกกันว่า พระอสีติมหาสาวก

    เฉพาะพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะทรงยกย่องเป็นพิเศษเรียกพระอัครสาวก หรือ พระอัครมหาสาวก

    ที่มีชื่อรู้จักกันทั่วไป อาทิเช่น

    พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา เลิศทางปัญญา อีกนามเรียก ธรรมเสนาบดีก็เรียก

    พระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย เลิศทางมีฤทธิ์มาก

    พระสิวลี เลิศทางโชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์

    พระอัญญาโกณฑัญญะ ปฐมสาวก เลิศทางรัตตัญญูภาพ คือรู้ราตรีนาน

    พระอนุรุทธะ เลิศทางทิพยจักษุ

    พระกัจจายนะ เลิศทางแตกฉานในปฏิสัมภิทา

    พระพิมพาเถรี เลิศทางผู้ระลึกในมหาอภิญญา ฝ่ายภิกษุณี

    พระภัททิยะ เลิศทางตระกูลสูง

    พระอานนท์ เลิศทาง

    ๑. เป็นพหูสูต

    ๒. มีสติ

    ๓. มีคติ คือเป็นผู้ฉลาด

    ๔. มีธิติ คือทรงจำ

    ๕. พุทธุปัฏฐาก

    พระกาฬุทายีเถระ เลิศทางยังตระกูลใหญ่ให้เลื่อมใส

    พระมหากปินะ เลิศทางสอนภิกษุ

    พระกังขาเรวัตตะ เลิศทางเจริญฌาน

    พระอุบลวรรณาเถรี ยอดแห่งอัครสาวิกาผู้มีฤทธิ์มาก

    พระกุมารกัสสปะ เลิศทางกล่าวธรรมอันวิจิตร เป็นต้น

    ในเวลาสมเด็จพระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน เวลาถวายเพลิงและเวลาทำปฐมสังคายนา มีชื่อพระมหาอสีติสาวกเหลืออยู่เพียง ๕ องค์ คือ พระอนุรุทธะ พระมหากัสสปะ พระอุบาลี พระอานนท์ และพระอุปวาณะ องค์อื่นคงจะนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า หรือชรามากและอยู่ไกลจนมาร่วมชุมนุมไม่ได้

    ตามตำราและตำนานอัฐิธาตุของพระสาวกได้แสดงรูปร่างลักษณะพระธาตุขอท่านไว้ต่างกัน แต่ไม่ครบทั้ง ๘๐ องค์





    พระธาตุพระโมคคัลลานะ




    พระธาตุของพระโมคคัลลาน์นั้น เมื่อได้รับมา มีผู้บอกว่าเป็นพระธาตุของพระโมคคัลลานะ ลักษณะเป็นรอยร้าว เป็นลายดังไข่มุก และร้าวเป็นสายเลือด เราไม่กล้าคิดว่าเป็นพระธาตุพระโมคคัลลาน์จริง ได้แต่เรียกท่านว่าเป็น พระธาตุพระโมคคัลลาน์

    วันหนึ่งเปิดดู เห็นมีทองคำเปลวมาปิดก็ประหลาดใจ อีกไม่กี่วันก็มีมาปิดอีกจุดหนึ่ง ครั้งนี้เห็นทองคำเปลวกำลังปลิวพะเยิบพะยาบ ติดไม่สนิท ก็เลยปิดผอบไว้รอ ๒-๓ วันมาเปิดดู ทองคำเปลวนั้นได้ติดเรียบร้อย

    ต่อมาเราจึงเรียก พระธาตุพระโมคคัลลาน์ กันอย่างสนิทปาก

    แต่สำหรับทองคำเปลวนั้นเวลานี้เมื่อมีผู้มาขอชมบ่อย ๆ ใช้นิ้วลูบไล้ไปมา ทองคำเปลวเลื่อนไป ๑ จุดแล้ว





    พระธาตุพระสีวลี



    พระธาตุพระสิวลี เพิ่งมีผู้นำมาฝากไว้ให้เมื่อต้นปี ๒๕๒๘ นี้เอง ลักษณะมีสัณฐานดังผลยอป่า สีพิกุลแห้ง

    พระธาตุพระอรหันต์นิรนาม

    วันหนึ่งได้มีผู้นำถุงผ้าเก่า ๆ มาให้ บอกว่าภายในบรรจุพระธาตุพระอรหันต์ ซึ่งท่านเองก็ไม่ทราบว่าเป็นพระอรหันต์องค์ใด ได้รับมรดกจากคุณพ่อ คุณพ่อได้รับจากคุณปู่ คุณปู่ได้จากเจดีย์ร้างทางภาคเหนือ

    เมื่อเทสิ่งที่อยู่ภายในออกมาจากถุงผ้า ปรากฏมีลักษณะป่นคล้ายเปลือกหอยแตก ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเป็นพระธาตุ จึงจัดใส่จานวางทิ้งไว้บนหลังตู้ ๆ หนึ่งที่ที่ทำงาน

    ประมาณ ๓ ปีต่อมา ไปดูเห็นบางส่วนเปลี่ยนลักษณะเป็นพระธาตุ แต่ที่ยังไม่เป็นพระธาตุนั้นมีมากกว่าหลายเท่า.

    ทำให้คิดว่าบางกรณีการที่อัฐิจะเปลี่ยนเป็นพระธาตุนั้นใช้เวลานานถึงกว่า ๓ ชั่วคน ก็ยังเป็นพระธาตุได้ไม่หมด






    พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถร


    อัฐิกลายเป็นพระธาตุ


    ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานแห่งอีสาน ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ

    ท่านได้มรณภาพไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๒ แต่หลังจากการถวายเพลิงศพ ซึ่งมีขึ้นในเดือนเมษายน ๒๔๙๓ ไม่นานก็ปรากฏว่า อัฐิของท่านได้กลายเป็นพระธาตุ มีลักษณะดังที่ท่านผู้รู้บรรยายไว้ว่า เป็นลักษณะพระธาตุของพระอรหันต์สาวก ทำให้พุทธศาสนิกชนในไทยเรามีความปีติชื่นชมโสมนัสเพราะเชื่อได้ว่าพระอรหันต์นั้นมิได้ว่างเว้นจากแผ่นดินไทย

    ความที่คิดกันว่าพระอรหันต์ในยุคนี้สมัยนี้ไม่มีอีกแล้วนั้นไม่เป็นความจริง จริงแท้ดังที่สมเด็จพระบรมศาสดาเคยมีพุทธดำรัสไว้ว่า หากปฏิบัติจริง ทำจริงการสำเร็จอรหัตผลย่อมเป็นไปได้

    ศิษย์ของท่านหลายต่อหลายองค์ ที่บำเพ็ญเพียรภาวนารับการอบรมจากท่าน มีความเคารพรักเลื่อมใส สืบต่อระเบียบปฏิบัติและปฏิปทาของท่านอย่างเคร่งครัด เมื่อมีชีวิตอยู่เป็นที่เคารพสักการะเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนชาวไทยโดยทั่วไป และเมื่อมรณภาพแล้ว อัฐิของท่านเหล่านั้นก็ได้แปรสภาพไปเป็นพระธาตุเฉกเช่นอัฐิธาตุขององค์บูรพาจารย์ของท่านเช่นเดียวกัน


    สำหรับเรื่องอัฐิท่านพระอาจารย์มั่นกลายเป็นพระธาตุปรากฏเป็นที่ทราบแพร่หลายครั้งแรกนั้น ข้าพเจ้าใคร่ขออัญเชิญข้อความจากหนังสือ “ประวัติท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ” ซึ่งท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เขียนไว้ เฉพาะตอนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาลงไว้ ด้วยความเคารพอย่างสูงสุดดังนี้

    “จนกาลล่วงไปแล้ว ๔ ปี คุณวัน คมนามูล เจ้าของร้านศิริผลพานิชและโรงแรมสุทธิผล จังหวัดนครราชสีมา ไปถวายผ้าป่าที่จังหวัดสกลนคร ได้รับแจกอัฐิส่วนบนของท่านอาจารย์มั่นชิ้นหนึ่ง จากเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอาจารย์มรณภาพ

    กลับมาถึงบ้านได้เชิญอัฐิชิ้นนั้นรวมลงในผอบอันเดียวกันกับที่บรรจุอัฐิท่านอาจารย์อยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยได้รับแจกมาจากงานศพท่าน

    พอเปิดผอบออกเท่านั้น สิ่งที่ไม่เคยคาดฝันก็ปรากฏขึ้นในผอบนั้น คืออัฐิชุดแรกที่ได้รับแจกไปจากงานศพท่านได้กลายเป็นพระธาตุเสียหมด เจ้าของเกิดความอัศจรรย์จนตัวแทบลอย

    เมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นจึงให้คนรีบไปดูอัฐิส่วนที่เก็บไว้ที่โรงแรมสุทธิผลอีก ที่นั่นก็กลายเป็นพระธาตุเช่นกันอีก รวมทั้งสองแห่งจึงเป็นพระธาตุ ๓๔๔ องค์

    ยังเหลือติดผอบอยู่บ้างเป็นผง ๆ เล็กน้อย ต่อมาไม่นานนักจำนวนผงนั้นก็ได้กลายเป็นพระธาตุเสียจนหมดอีก จึงรวมเป็นพระธาตุจากอัฐิของท่านพระอาจารย์มั่น ๓๔๔ องค์ นี้เป็นรายแรกที่ปรากฏความอัศจรรย์จากอัฐิกลายเป็นพระธาตุ”

    “จากนั้นเรื่องก็เล่าลือไปทุกหนทุกแห่ง ผู้คนทราบถึงไหนก็มาขอพระธาตุกับคุณวันไปสักการบูชากันถึงนั่น

    คุณวันเองก็เป็นคนมีนิสัยใจบุญอยู่แล้ว จึงเห็นใจท่านที่มาขอและแจกกันไปคนละเล็กละน้อยคือคนละ ๑ องค์บ้าง ๒-๓ องค์บ้าง ”

    “พระธาตุท่านอาจารย์มั่นยังเป็นที่น่าแปลกและอัศจรรย์อยู่หลายอย่างคือ พระธาตุ ๔ องค์ เจ้าของอธิษฐานขอให้เป็น ๓ องค์ เพื่อให้ครบรัตนะ คือ พุทธ ธรรม สงฆ์ก็กลายเป็น ๓ องค์ได้จริง ๆ

    ผู้มีอยู่ ๒ องค์ อธิษฐานขอให้เป็น ๓ องค์ เช่นที่คนอื่นเขาเป็น แตกลับรวมเป็นองค์เดียวก็มีเจ้าของเสียใจมาก มาเล่าให้ผู้เขียนฟังและขอคำขี้แจง

    ผู้เขียนได้อธิบายให้ทราบบ้างว่า พระธาตุท่านอาจารย์มั่นกลายเป็น ๓ องค์ก็ดี กลายเป็นองค์เดียวก็ดี หรือยังมิได้กลายเป็นพระธาตุเลยก็ดี ทั้งนี้ก็คืออัฐิธาตุที่ออกจากองค์ท่านอันเดียวกัน จึงไม่ควรเสียใจ

    การที่พระธาตุ ๒ องค์กลับมาเป็นองค์เดียวก็ยังเป็นอภินิหารของท่านอยู่แล้ว เราจะหาความอัศจรรย์จากอะไรอีก

    แม้ผมที่ท่านปลงออก มีผู้เก็บไว้บูชาในที่ต่าง ๆ ก็กลายเป็นพระธาตุได้เช่นเดียวกับอัฐิ ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง

    ที่เป็นดังนี้เข้าใจว่า อัฐิหรือผม ท่านที่เก็บไว้นาน ๆ ไปอาจจะกลายเป็นพระธาตุไปตาม ๆ กันดังอัฐิท่านที่ค่อย ๆ กลายเป็นพระธาตุมาเป็นลำดับนี้แล”




    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  4. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต






    พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน



    คลายข้อสงสัย

    นอกจากท่านพระอาจารย์มหาบัว จะได้กรุณาเล่าเรื่องอัฐิท่านพระอาจารย์มั่นกลายเป็นพระธาตุดังกล่าวข้างต้นแล้ว ท่านยังได้อธิบายเหตุผลด้วย ถึงข้อที่มีคนสงสัยกันมากว่า

    “อัฐิของพระอรหันต์ก็ดี ของสามัญชนก็ดี ต่างก็เป็นธาตุดินชนิดเดียวกัน ส่วนอัฐิของสามัญชน ทำไมจึงกลายเป็น พระธาตุไม่ได้เฉพาะอัฐิของพระอรหันต์ทำไมจึงกลายเป็นพระธาตุได้ ทั้งสองนี้มีความแปลกต่างกันอย่างไรบ้าง”

    ในประเด็นนี้ พระอาจารย์มหาบัว ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันนั้นว่า

    “ก็ได้อธิบายให้ฟังเท่าที่สามารถ แต่เพียงโดยย่อว่า เรื่องเช่นนี้ ปัญหาส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับใจเป็นสำคัญ”

    คำว่า จิต แม้เป็น จิต เช่นเดียวกัน แต่มีอำนาจและคุณสมบัติต่างกันอยู่มาก คือจิตของพระอรหันต์ท่านเป็น อริยจิต เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ส่วนจิตสามัญชนเป็นเพียง สามัญจิต เป็นจิตที่มีกิเลสโสมมต่าง ๆ

    เมื่อจิตผู้เป็นเจ้าของเข้าครองอยู่ในร่างใด และจิตเป็นจิตประเภทใด ร่างนั้นอาจกลายไปตามสภาพของจิตผู้เป็นใหญ่พาให้เป็นไป

    เช่น จิตพระอรหันต์เป็นจิตที่บริสุทธิ์อาจมีอำนาจซักฟอกธาตุขันธ์ให้เป็นธาตุที่บริสุทธิ์ไปตามส่วนของตน อัฐิท่านจึงกลายเป็นพระธาตุได้

    แต่อัฐิของสามัญชนทั่ว ๆ ไปแม้จะเป็นธาตุดินเช่นเดียวกัน แต่จิตผู้เป็นเจ้าของเต็มไปด้วยกิเลสและไม่มีอำนาจซักฟอกธาตุขันธ์ให้เป็นของบริสุทธิ์ได้ อัฐิจึงกลายเป็นธาตุขันธ์ที่บริสุทธิ์ไม่ได้ จำต้องเป็นสามัญธาตุไปตามจิตของคนมีกิเลสอยู่โดยดี

    หรือจะเรียกไปตามภูมิของจิตภูมิของธาตุว่า อริยจิต อริยธาตุ และ สามัญจิต สามัญธาตุก็คงไม่ผิด เพราะคุณสมบัติของจิตของธาตุระหว่างพระอรหันต์กับสามัญชนต่างกัน อัฐิจำต้องต่างกันอยู่โดยดี

    ผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมานั้น ทุกองค์เวลานิพพานและอัฐิต้องกลายเป็นพระธาตุด้วยกันทั้งสิ้นดังนี้ ข้อนี้ผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้อย่างนั้นทุก ๆ องค์เฉพาะจิตท่านที่สำเร็จพระอรหันต์ภูมิเป็นจิตที่บริสุทธิ์เต็มภูมินับแต่ขณะที่สำเร็จ ส่วนร่างกายที่เกี่ยวโยงไปถึงอัฐิเวลาถูกเผาแล้วจะกลายเป็นพระธาตุได้เช่นเดียวกันทุกองค์หรือไม่ ยังเป็นปัญหาอยู่ทั้งระหว่างกาลเวลาที่บรรลุ ถึงวันท่านนิพพาน มีเวลาสั้นยาวต่างกัน

    องค์ที่บรรลุแล้วมีเวลาทรงขันธ์อยู่นาน เวลานิพพานแล้วอัฐิย่อมมีทางกลายเป็นพระธาตุได้โดยไม่มีปัญหา เพราะระยะเวลาที่ทรงขันธ์อยู่ จิตที่บริสุทธิ์ย่อมทรงขันธ์เช่นเดียวกัน

    ความสืบต่อแห่งชีวิตด้วยการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย มีลมหายใจเป็นต้น และมีการเข้าสมาบัติประ1 จำอิริยาบถซึ่งเป็นการซักฟอกธาตุขันธ์ให้บริสุทธิ์ไปตามส่วนของตนโดยลำดับด้วยในขณะเดียวกัน เวลานิพพานแล้ว อัฐิจึงกลายเป็นพระธาตุดังที่เห็น ๆ กันอยู่

    ส่วนองค์ที่บรรลุแล้วมิได้ทรงขันธ์อยู่นานเท่าที่ควร แล้วนิพพานไปเสียนั้น อัฐิท่านจะกลายเป็นพระธาตุได้เหมือนพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีโอกาสอยู่นานหรือไม่ เป็นความไม่สนิทใจ เพราะจิตไม่มีเวลาอยู่กับธาตุขันธ์นาน และมิได้ซักฟอกด้วยสมาธิสมาบัติดังกล่าวมา

    ท่านที่รู้ได้ช้า ค่อยเป็นค่อยไป เช่น บำเพ็ญไปถึงขั้นอนาคตมีผลแล้วติดอยู่นานจนกว่าจะก้าวขึ้นขั้นอรหัตภูมิได้ คือต้องพิจารณาท่องเที่ยวไปมาอยู่ในระหว่างอรหัตมรรคกับอรหัตผลจนกว่าจิตจะชำนิชำนาญ และมีกำลังเต็มที่จึงผ่านไปได้

    ในขณะที่กำลังพิจารณาอยู่ในขั้นอรหัตมรรคเพื่ออรหัตผล ก็เป็นอุบายวิธีซักฟอกธาตุขันธ์ไปในตัวด้วย เวลานิพพานแล้ว อัฐิอาจกลายเป็นพระธาตุได้

    ส่วนท่านที่เป็นขิปปาภิญญาคือรู้ได้เร็วแล้วนิพพานไปเร็วหลังจากบรรลุแล้ว ท่านเหล่านี้ไม่แน่ใจว่า อัฐิจะกลายเป็นพระธาตุได้หรือประการใด เพราะจิตที่บริสุทธิ์ไม่มีเวลาทรงและซักฟอกธาตุขันธ์อยู่นานเท่าที่ควร

    ส่วนสามัญจิตของสามัญชนทั่ว ๆ ไปนั้น ไม่อยู่ในข่ายที่อัฐิจะควรแปรเป็นพระธาตุได้ด้วยกรณีใด ๆ”

    ให้เห็นเป็นอัศจรรย์

    สำหรับความอัศจรรย์ที่พระธาตุท่านพระอาจารย์มั่นแสดงให้ปรากฏแก่ศิษยานุศิษย์ผู้เคารพรักเลื่อมใสบูชาในคุณธรรมของท่านนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัวได้ยกมากล่าวเป็นตัวอย่างในหนังสือประวัติของท่าน แต่เพียงบางราย ซึ่งจะขออัญเชิญมาในที่นี้ดังนี้

    เฉพาะองค์ท่านพระอาจารย์มั่น นอกจากอัฐิกลายเป็นพระธาตุให้เห็นอย่างประจักษ์แล้ว พระธาตุยังแสดงความอัศจรรย์ให้เห็นหลายอย่าง ดังที่เขียนผ่านมาบ้างแล้วว่า ผู้มีพระธาตุสององค์ อธิษฐานขอให้เป็นสามองค์ก็เป็นสามองค์ได้ ผู้มีสององค์อธิษฐานขอให้เป็นสามองค์ แตกลับเป็นองค์เดียวก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่ได้เป็นไปเสียแล้ว

    ผู้ได้มาสององค์จากท่านผู้มีเมตตาจิตมอบให้ พอตกเย็นมาเปิดดูกลับเป็นสามองค์ก็ได้ รายนี้เป็นความแปลก เพราะชั่วระยะเวลาเช้าไปถึงเย็นเท่านั้นก็มาเพิ่มได้

    ท่านผู้นี้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่มีศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมาก และเป็นผู้ให้ความสะดวกตลอดจนการช่วยเหลือต่าง ๆ แทบทุกกรณีที่เกี่ยวกับงานท่านพระอาจารย์มั่น นับแต่วันแรกที่ท่านไปถึงวัดป่าสุทธาวาสจนตลอดงาน

    พระผู้ใหญ่เห็นใจและสงสารมาก เมื่อคุณวัน คมนามูล จากนครราชสีมา ถวายพระธาตุท่านอาจารย์มั่นมา ท่านจึงมอบให้ข้าราชการผู้นี้ตอนเช้า

    พอได้รับพระธาตุจากท่านแล้ว ขณะนั้นไม่มีกล่องหรือผอบจะใส่ มีแต่ขวดยานัตถุ์เปล่าติดกระเป๋าเสื้อจึงได้เอามาใส่พระธาตุไปพลางก่อน

    ขณะเชิญพระธาตุเข้ากระเป๋าเสื้อก็ปิดกระดุมเสื้อด้วยดี ขวดก็ปิดฝาด้วยดี กลัวพระธาตุจะสูญหายไปเสีย

    นับแต่ขณะที่ได้พระธาตุจากมือพระผู้ใหญ่แล้ว ปรากฏว่าใจมีความปีติยินดีล้นพ้น ลุกจากที่นั้นก็ไปทำงานเลยทีเดียว และเกิดความอิ่มเอิบตื้นตันใจตลอดวันประหนึ่งจิตมิได้คิดเหินห่างจากพระธาตุที่ได้รับมานั้นเลยทั้งวัน

    พอเลิกจากงานไปถึงบ้าน ก็โฆษณาใหญ่ว่าตนได้ของประเสริฐมา ในชีวิตไม่เคยมี คนในบ้านต่างก็รวมมาดู จากนั้นก็เอาผอบมาใส่พระธาตุทันที

    พอเปิดฝาขวดออกเชิญพระธาตุท่านอาจารย์มั่นออกมา โดยไม่คาดฝันว่าจะพบความอัศจรรย์ที่แสดงออกมาจากพระธาตุท่าน คือพอเชิญพระธาตุออกจากขวด ก็ได้เห็นกลายเป็นสามองค์ในขณะนั้น ยิ่งเพิ่มความอัศจรรย์ในองค์ท่านและเกิดความปีติในพระธาตุยิ่งขึ้น แทบจะเหาะลอยไปทั้งตัว พร้อมกับประกาศความอัศจรรย์ของท่านอาจารย์มั่นว่าเป็นองค์พระอรหันต์ให้ภรรยาและลูก ๆ ฟังในขณะนั้น อย่างไม่คิดว่าใครจะหาว่าเป็นบ้าเป็นบออะไรเลย

    ภรรยาและลูก ๆ ยังไม่แน่ใจ เกรงว่าที่รับพระธาตุมา จะจำจำนวนผิดไป

    ฝ่ายสามีก็เถียงใหญ่แบบไม่ยอมฟังเสียงใครเลยว่า พระธาตุสององค์ที่ท่านเจ้าคุณให้มาเมื่อเช้านี้จำไม่ผิดแน่ เพราะขณะรับจากท่านก็รับด้วยความสนใจและเลื่อมใสอย่างบอกไม่ถูก แม้อยู่ที่ทำงานก็มิได้ลืมพระธาตุตลอดวันว่าได้พระธาตุมาสององค์ จนกลายเป็นคำบริกรรมเหมือนคนภาวนาแล้วจะให้หลงลืมได้อย่างไร ถ้าใคร ๆ ยังไม่ปลงใจว่าเป็นความจริงพรุ่งนี้เช้าเราจะไปเรียนถามท่านเจ้าคุณท่านใหม่

    ฝ่ายคนในบ้านไม่ยอม อยากรู้ในวันนี้เดี๋ยวนี้ ขอให้ไปเรียนถามท่านเดี๋ยวนี้

    ตกลงต้องไปเดี๋ยวนั้น และเรียนถามท่านว่า “ที่ท่านเมตตาให้พระธาตุกระผมเมื่อเข้านี้กี่องค์ ?”

    ท่านตอบว่า “ให้สององค์ ทำไมถามอย่างนั้น พระธาตุหายหรือ ?”

    ข้าราชการผู้นั้นตอบด้วยความตื้นตันใจว่า

    “พระธาตุมิได้หาย แตกลับได้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง รวมเป็นสามองค์ด้วยกัน

    ที่กระผมเรียนถามก็เพราะเวลาไปถึงบ้านแล้ว เปิดฝาขวดออกดูเพื่อจะเชิญพระธาตุเข้าในผอบ แทนที่จะมีสององค์ตามที่เข้าใจ แตกลับมีสามองค์ เลยทำให้กระผมเกิดความดีใจจนตัวสั่น รีบบอกกับลูกเมีย แต่ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นความจริงเลย เกรงว่าผมอาจจำผิดก็ได้ เลยเคี่ยวเข็ญให้กระผมมาเรียนถามท่านอีกครั้ง จึงได้มาตามคำเขา แล้วก็เป็นความจริง ยิ่งทำให้กระผมดีใจเสียใหญ่”

    “ว่าอย่างไร ? เชื่อหรือยัง ?” นี่เป็นคำพูดกับภรรยาที่มาด้วย

    ภรรยายิ้มแล้วพูดว่า “ก็เกรงจะจำผิดและหาเรื่องไปโกหกกันเล่นก็ต้องพูดอย่างนั้น เป็นความจริงดังที่ว่าก็ต้องเชื่อ ใครจะฝืนความจริงเพื่อประโยชน์อะไร”

    ท่านเจ้าคุณก็ยิ้มและเล่าตามความจริงให้ภรรยาฟังว่า

    “อาตมาได้ให้คุณ...สององค์จริงเมื่อเช้านี้ เพราะเห็นว่าเป็นผู้มีคุณต่อท่านอาจารย์มั่นมาก ตลอดพระสงฆ์ เรื่อยมาแต่วันท่านมรณภาพจนเสร็จงาน อาตมายังจำไม่ลืม

    เมื่อได้พระธาตุท่านอาจารย์มั่นมาจากคุณวัน คมนามูล ร้านศิริผลพานิช นครราชสีมา ก็เลยสงวนไว้ เพื่อนำมามอบให้เป็นที่ระลึก ซึ่งเป็นของหายากในสมัยปัจจุบัน เพิ่งจะพบอัฐิกลายเป็นพระธาตุเฉพาะของท่านอาจารย์มั่นเพียงองค์เดียว นอกนั้นก็ได้ยินแต่ตำราท่านบอกไว้ ยังไม่เห็นตัวจริงประจักษ์ตา

    บัดนี้ได้เห็นเป็นพยานหลักฐานอย่างแท้จริงแล้ว กรุณารักษาไว้ในที่สมควร เดี๋ยวท่านไปก็ยิ่งลำบากมากกว่าเป็นความสุขใจในเวลาท่านมาเพิ่มให้เป็นไหน ๆ จะว่าอาตมาไม่บอก

    เพราะพระธาตุท่านอาจารย์มั่นเป็นของอัศจรรย์มาก ยิ่งท่านมาได้ง่าย ๆ อย่างนี้ บทเวลาท่านไปเพราะความเคารพเราไม่พอยิ่งไปได้ง่าย กรุณาเชิญท่านไว้ที่สูง เคารพบูชาท่านทุกเช้า-เย็นท่านอาจบันดาลความเป็นศิริมงคลเกินคาดให้เวลาใดก็ได้

    อาตมาเชื่อท่านร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า เป็นพระผู้บริสุทธิ์มานานแล้วแต่ไม่กล้าบอกใครได้ง่าย ๆ กลัวเขาจะหาว่าเป็นบ้า เพราะคนเรามีนิสัยเชื่อในสิ่งที่ดีได้ยาก แต่เชื่อในสิ่งไม่ดีได้ง่าย จึงหาคนดีได้ยาก หาคนชั่วได้ง่าย

    แม้ในตัวเราเอง ถ้าสังเกตดูก็พอทราบได้ว่า ใจชอบคิดในทางชั่วมากกว่าทางดีเป็นประจำนิสัย”

    พอท่านแนะจบลง ท่านข้าราชการกับภรรยาก็กราบนมัสการลาท่านกลับด้วยความชื่นบานหรรษาอย่างบอกไม่ถูกทั้งสองคน

    ในเรื่องมูลเหตุความแปลกและอัศจรรย์ของพระธาตุ ที่จะทำให้ปาฏิหาริย์เพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงจำนวนนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัวได้เขียนไว้ว่า

    “นี่แลพระธาตุท่านพระอาจารย์มั่นเป็นความแปลกและอัศจรรย์ดังที่นำมาลง เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาหามูลแห่งความอัศจรรย์ของพระธาตุดังกล่าวนี้ต่อไป

    ส่วนการได้ หาหลักฐานและเหตุผลมาพิสูจน์ ดังที่โลกใช้กันนั้นรู้สึกจะพิสูจน์ได้ยาก อาจมองไม่เห็นร่องรอยเลยก็ได้สำหรับเรื่องทำนองนี้ เพราะสุดวิสัยสำหรับพวกเราที่มีกิเลสจะตามรู้ได้

    เพียงแต่ธาตุดินที่อยู่ในส่วนร่างกายท่านผู้บริสุทธิ์กับอยู่ในตัวเราก็แสดงให้เห็นเป็นของแปลกต่างกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ว่าอัฐิท่านกลายเป็นพระธาตุได้อย่างประจักษ์ตา ส่วนร่างกายของพวกเราที่มีกิเลส แม้มีจำนวนล้าน ๆ คน ไม่มีรายใดสามารถเป็นไปได้อย่างท่าน จึงควรเรียกได้ว่า ท่านเป็นบุคคลที่แปลกต่างจากมนุษย์ทั้งหลายอยู่มากจนเทียบกันไม่ได้

    ยิ่งใจที่บริสุทธิ์ด้วยแล้วก็ยิ่งเพิ่มความประเสริฐและอัศจรรย์จนไม่มีนิมิตเครื่องหมายใด ๆ มาเทียบได้เลย เป็นจิตที่โลกทั้งหลายควรเคารพบูชาจริง ๆ จึงต้องยอมบูชากัน... ”



    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  5. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต



    ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุและอรหันตธาตุ ๐๓

    ของคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต

    โดยทองทิว สุวรรณทัต

    หนังสือพระธาตุปาฏิหาริย์

    a8a8a8a8a8a8a8a8a8a

    เหรียญลอยมา !


    สำหรับตัวข้าพเจ้านี้ แต่ก่อนนั้นเป็นคนอาภัพ วาสนาน้อยจริง ๆ อย่าว่าแต่จะเคยได้เห็นได้กราบพระธาตุท่านพระอาจารย์มั่นเลยแม้แต่ชื่อของท่าน ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยรู้จัก

    จำได้ว่า ตอนนั้นเป็นเวลาต้นปี ๒๕๑๘ ข้าพเจ้ากำลังเริ่มมีประสบการณ์ เกี่ยวกับ เหรียญวัตถุมงคล พระปาฏิหาริย์ลอยมาปรากฏบนโต๊ะพระ พานดอกไม้บูชาพระ และแม้แต่บนโต๊ะเครื่องแป้ง ก็มีเหรียญ มีพระตกลงมา





    ศจ.นพ.อวย เกตุสิงห์


    กำลังงงว่าควรจะทำตนอย่างไรเวลาพระลอยมา เผอิญขณะนั้นข้าพเจ้ากำลังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ นั่งประชุมอยู่ใกล้ ๆ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ จึงเรียนปรึกษาท่าน เพราะเคยได้ยินชื่อว่าท่านมีความรู้ทางด้านพระมาก

    คุณหมออวยถามว่า “พระลอยมานั้น ลอยน้ำมาหรือ?” ข้าพเจ้าปฏิเสธ

    ท่านก็ว่า “อยากได้แล้วมีคนนำมาให้ตรงกับที่อยากได้ใช่ไหม?”

    ข้าพเจ้าก็ปฏิเสธอีกและเมื่อเล่าให้ฟังว่า คำว่า “ลอยมา” นั้น ข้าพเจ้าหมายความเช่นไร คุณหมอก็ว่า แปลกจริง ! และพอถึงวันประชุมในอาทิตย์หน้าก็จะคอยถามว่า “วันนี้มีอะไรลอยมาอีก” ซึ่งข้าพเจ้าก็จะรายงานให้คุณหมอฟังทุกครั้ง ว่าหลังจากวันประชุมครั้งสุดท้ายนั้น ต่อมามีอะไรลอยมาอีก

    วันนั้นพอถูกถาม ข้าพเจ้าก็ตอบว่า “คราวนี้มีเหรียญใครไม่ทราบ มี ๒ หน้า เป็นพระหน้าหนึ่ง ชื่อ มั่น อีกด้านหนึ่ง ชื่อเสาร์”

    คุณหมออวยฟังแล้วก็บอกว่า

    “น่ากลัวจะเป็นอาจารย์ของอาจารย์ผม อาจารย์ของผม ท่านอาจารย์ขาว อาจารย์ของท่านชื่ออาจารย์มั่น และอาจารย์ของท่านอาจารย์มั่น ชื่อท่านอาจารย์เสาร์ คุณไม่รู้จักหรือ ท่านทั้งสองเป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อ คนเคารพมากทางภาคอีสาน”

    ข้าพเจ้าผู้โง่ ผู้เขลา และผู้หลงก็หัวเราะ บอกคุณหมออวยว่า

    “โอ๊ย...คงไม่ใช่ท่านอาจารย์ที่คุณหมอว่ามีชื่อเสียงมากนั่นหรอกค่ะ ดิฉันไม่ทราบเหรียญใครดูเหมือนมีคำ “ภูริทัต...ภูริทัตติดอยู่ด้วย”

    คุณหมอตกใจมาก ที่ทราบว่าข้าพเจ้าโง่เขลา ไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถร ะ

    จากนั้นมานั่นเอง ที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้เรื่องของท่าน อาจารย์ของท่าน และก็ทึกทักเอาว่าท่านทั้งสองคงนับเราเป็นศิษย์ เราจึงมีโอกาสได้เหรียญของท่านลอยมาและจากนั้นมา เมื่อได้ยินว่ามีศิษย์สายท่านอาจารย์มั่น มากรุงเทพฯ ก็ขวนขวายไปกราบให้เป็นมงคลและได้ติดตามไปกราบที่วัดของแต่ละองค์

    ได้เคารพ ได้เรียนรู้ ได้ฟังคำสั่งสอนจากท่านทุกองค์ ด้วยความเคารพรักเลื่อมใสศรัทธาอย่างเปี่ยมหัวใจมาจนกระทั่งทุกวันนี้





    พระธาตุพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


    ได้นะเจ้าคะ



    วันหนึ่งจำได้ว่าในปี ๒๕๒๑ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐได้ถามข้าพเจ้าว่า

    “คุณสุรีพันธุ์มีพระธาตุท่านอาจารย์มั่นหรือยัง”

    เมื่อเรียนท่านว่ายังไม่มี ท่านก็ถามต่อด้วยความเมตตาว่า “ถ้าจะให้เอาไหม”

    ข้าพเจ้าตอบรับด้วยความยินดี

    ท่านก็บอกว่า “แบมือซี”

    ความจริงก่อนหน้านั้น ท่านพระอาจารย์จวน เคยให้พวกเราได้ชมและกราบพระธาตุท่านพระอาจารย์มั่นมาแล้ว แต่ก็เป็นเพียงเพื่อเป็นมงคล ให้เรายกขึ้นตั้งไว้บนเศียรเกล้าครั้งหนึ่ง

    อีกครั้งหนึ่งมอบให้ข้าพเจ้าเพื่อทูลเกล้าทลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงบรรจุในพระเจดีย์วัดเวฬุวนาราม ที่ท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล สร้าง ณ จังหวัดพะเยา

    ครั้งนี้ ท่านจะให้เราไว้บูชาเอง ทำไมเราจะไม่ปีติยิ่ง

    ข้าพเจ้าก็ชวนเพื่อนที่นั่งอยู่ด้วยกันอีกคนหนึ่งรีบแบมือรับ

    ท่านหยิบพระธาตุจากผอบของท่านหย่อนลงมาในมือเพื่อนและข้าพเจ้าคนละ ๑ องค์

    ความที่มีนิสัยช่างตอแย และทราบว่าท่านอาจารย์สูงด้วยความเมตตา ปากจึงอดบ่นไม่ได้ “แหมให้องค์เดียวเท่านั้นหรือเจ้าคะ ขออีกองค์สิเจ้าคะ”

    “ขอท่านอาจารย์มั่น” ข้าพเจ้ารีบแก้ตัว เมื่อเห็นท่านอาจารย์จวนมองเป็นเชิงตำหนิว่าจะโลภละซี

    “ลูกขอท่านอาจารย์มั่น” ยืนยันด้วยใจที่ระลึกถึงพระท่านอาจารย์มั่นจริง ๆ “ได้นะเจ้าคะ”

    พอสิ้นคำ “เจ้าคะ” ข้าพเจ้าเหลือบตากลับมามองพระธาตุในมือ ก็ปรากฏมีเพิ่มขึ้นอีก ๑ องค์จริง ๆ จึงร้องขึ้นว่า

    “เสด็จมาแล้วเจ้าคะ ท่านอาจารย์มั่นให้แล้ว”

    ท่านพระอาจารย์จวนลุกขึ้นบ่นว่า “เอ.:.ขอได้จริง ๆ อาตมาขาดทุน”

    ท่านบอกว่า ท่านมีพระธาตุท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ ๖ องค์ เมื่อให้เรา ๒ คน คนละ ๑ องค์ ก็ควรเหลือ ๔ องค์ นี่คงเสด็จมาหาสุรีพันธุ์ไปอีกองค์หนึ่ง ท่านคงเหลือแค่ ๓ องค์กระมัง

    อย่างไรก็ดี เมื่อท่านเปิดผอบของท่านดูใหม่ ก็ปรากฏว่าส่วนที่เหลืออยู่ในผอบนั้น กลายเป็น ๕ องค์ไป

    สำหรับพระธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ที่ท่านพระอาจารย์จวนให้ข้าพเจ้า ๑ องค์และกลายเป็น ๒ องค์ ต่อหน้าท่านพระอาจารย์จวนนั้น เมื่อเก็บบูชาไว้ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นลำดับ จนมีเท่าปัจจุบัน ลักษณะส่วนใหญ่เป็นแก้วผลึกใสดุจเพชร





    พระธาตุหลวงปู่พรหม



    ข้าพเจ้าไม่มีบุญได้เคยกราบ“หลวงปู่พรหม” เลย เพราะเมื่อเริ่มจะรู้จักกราบครูบาอาจารย์ ท่านก็มรณภาพไปแล้ว

    เคยได้ยินแต่เรื่องราวของว่า เมื่อท่านบังเกิดความศรัทธาใคร่ออกบวช ท่านและภรรยาซึ่งเป็นผู้มีอันจะกิน ก็ได้ให้ทานทรัพย์สินเงินทอง ทั้งวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์จนหมด ซึ่งใช้เวลาแจกสมบัติอยู่หลายวัน

    ชีวิตของท่านและคู่ชีวิตฟังดูคล้ายกับชีวิตในสมัยพุทธกาลของท่านพระมหากัสสปะเมื่อจะออกบวชอย่างยิ่ง

    ท่านเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น รุ่นอาวุโสองค์หนึ่ง

    พระธาตุ “หลวงปู่พรหม” นี่ครั้งแรก หลวงปู่บุญ ชินวังโส ได้นำมาให้ชมและกราบคารวะลักษณะกลมเล็ก เป็นสีเหลืองใสเหมือนบุษราคัม

    วันรุ่งขึ้น ท่านได้ถามข้าพเจ้าว่า “เห็นพระธาตุหลวงปู่พรหมแล้วไม่อยากได้หรือ ?”

    ข้าพเจ้าเรียนท่านว่า “อยากได้เหมือนกัน”

    ท่านถามว่า “เหตุใดจึงไม่ขอมีแต่คนเห็น ก็บอกขอท่านทั้งนั้น”

    ข้าพเจ้าตอบว่า “ไม่กล้าขอเพราะคิดว่า พระธาตุนี้ทุกคนย่อมรักและหวง ถ้าขอก็จะทำให้ผู้ถูกขอเกิดทุกข์ และผู้ขอก็คือผู้โลภ”

    หลวงปู่หัวเราะอย่างถูกใจ “อาตมารออยู่ว่าจะให้คนที่สมควรรับ สุรีพันธุ์เก็บไว้เถอะ”

    เมื่อข้าพเจ้าทำหน้าตื่นตกใจอย่างไม่เชื่อหู ท่านก็ว่า “ให้จริง ๆ นะ”

    ข้าพเจ้าเก็บไว้บูชา อยู่ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีแดงคร่ำจนเกือบดำเหมือนสีโกเมน

    เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงพระสุหร่ายรูปหล่อเหมือนท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ณ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) เมื่อ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๖ ได้เตรียมจัดนำพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของครูบาอาจารย์รูปพรรณและสัณฐานลักษณะต่าง ๆ ถวายให้ทอดพระเนตรและทรงสักการะ

    คืนก่อนเสด็จพระราชดำเนินระหว่างกำลังจัดเตรียมการ ได้มีพระธาตุปาฏิหาริย์เสด็จมาอีกองค์หนึ่ง ลักษณะกลมเลื่อม เป็นสีมุกดา




    หลวงปู่บัว สิริปุณโณ




    พระธาตุหลวงปู่บัว สิริปุณโณ


    เช่นเดียวกับ “หลวงปู่พรหม” เมื่อข้าพเจ้ารู้จัก “เข้าวัด” หลวงปู่บัวก็มรณภาพแล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่มีบุญได้กราบท่าน แต่มีโชคได้รับใช้วัดของท่าน วัดป่าหนองแซง ในการจัดกฐินช่วยเรื่องเจดีย์ของท่าน และ โรงเรียนสิริปุณโณนุสรณ์ ในปี ๒๕๒๑ และเกิดอัศจรรย์เมื่อคิดจะแจกพระบรมสารีริกธาตุให้ผู้ร่วมเป็นกรรมการกฐิน แต่กรรมการกฐินเกิดมีจำนวนมากกว่าที่คิด ทำให้พระบรมธาตุมีไม่เพียงพอ แต่พระธาตุก็ปาฏิหาริย์แยกองค์ให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก (ความละเอียดอ่านในตอนที่เล่าเรื่องพระบรมสารีริกธาตุปาฏิหาริย์ในภาคข้างต้น) เป็นบุญตาที่ได้เห็น ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระคุณอันหาประมาณมิได้ของพระบรมธาตุอย่างแน่นแฟ้น


    ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวมานานแล้ว ว่าอัฐิของหลวงปู่กลายเป็นพระธาตุ แต่ไม่มีโอกาสเห็น กระทั่งเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๒๗ นี้ ท่านพระอาจารย์น้อย ปัญญาวุโธ แห่งวัดถ้ำกลองเพล เมตตามอบพระธาตุหลวงปู่บัว ให้จำนวน ๓ องค์

    ท่านว่า “ให้คุณสุรีพันธุ์ไว้บูชา เพื่อจะเพิ่มมากขึ้น”

    จริงอย่างท่านว่า เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ พระธาตุหลวงปู่บัว สิริปุณโณ ได้เพิ่มเป็น ๔ องค์ และในปัจจุบันเพิ่มเป็น ๗ องค์





    หลวงปู่คำ ยสกุลปุตโต



    พระธาตุหลวงปู่คำ ยสกุลปุตโต



    พระธาตุของหลวงปู่คำ ยสกุลปุตโต ไม่ค่อยเป็นที่ได้ยินข่าวในหมู่ศิษย์ที่เคารพพระธุดงคกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตเท่าไรนัก

    สำหรับพระธาตุของท่านที่ข้าพเจ้าได้มาบูชานี้ ได้รับความกรุณาจากท่านเจ้าอาวาสในปัจจุบันมอบให้มา ลักษณะเป็นเกล็ดเล็กละเอียดดุจไข่ปลา สีขาว


    ที่เคยเห็นของท่านดลวิทย์ ซึ่งเป็นหลานปู่ของหลวงปู่คำ มีขนาดใหญ่มาก เป็นก้อนใส สีเหลืองดุจแก้ว งามมาก

    น่าเสียดายที่มีความคิดที่จะจัดทำหนังสือพระธาตุของข้าพเจ้านี้เพิ่งเกิดขึ้นฯ ไม่กี่อาทิตย์นี่เอง เมื่อเรียนติดต่อท่านดลวิทย์ขอถ่ายภาพพระธาตุหลวงปู่องค์ที่ว่า ปรากฏว่าท่านฝากไว้ที่บ้านโยมแม่ของท่านที่สกลนคร การจัดทำหนังสือรอไม่ได้ จึงพลาดโอกาสนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

    เป็นที่น่าสังเกตว่า พระธาตุของครูบาอาจารย์แต่ละองค์ จะมีลักษณะหลายสัณฐาน และบางทีก็หลายสีด้วย





    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ




    พระธาตุหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ



    หลวงปู่อ่อน เจริญเมตตาธรรมให้ข้าพเจ้าอย่างสูง จนข้าพเจ้าคิดว่าในชาตินี้ทำอย่างไรหนอเราจะตอบแทนพระคุณท่านได้ให้สมกับที่ท่านเมตตาเรา

    ท่านเป็นองค์เดียวที่เรียกข้าพเจ้าว่า “คุณหนู” และใช้คำแทนองค์ท่านบางครั้งว่า “ปู่”

    การที่ท่านเรียกข้าพเจ้าว่าคุณหนูนี้ ดูจะเป็นที่ขบขันของผู้ได้ยินกันมาก เพราะอายุเราครึ่งศตวรรษไปแล้ว และบางคนในที่นั้นอายุอ่อนกว่าข้าพเจ้ามากเป็น “หนู” ของข้าพเจ้า แต่ท่านกลับเรียกเธอเหล่านั้นว่า “คุณนาย”


    บ้านเรือนไทยที่ลาดพร้าว
    ภาพจากเวบ www.baanruenthai.com

    ท่านมาดูบ้านเรือนไทยที่ลาดพร้าวแล้วก็ออกปากว่า ปู่ชอบบ้านอย่างนี้มากที่สุด โปร่ง สบายดี

    ท่านเมตตาถึงกับบอกว่า “จะมาจำพรรษาให้ที่นี่นะ คุณหนูนะ”

    หลวงปู่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ทราบว่านอกจากหลวงปู่เทสก์แล้ว ท่านมีพรรษาสูงที่สุด สูงกว่า แม้หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ขาว หรือหลวงปู่ฝั้น

    ข้าพเจ้าได้ยินท่านปรารภเช่นนั้นจึงตกใจ เพราะคิดว่า บ้านไทยเรายังไม่พร้อมที่จะมีพระมาจำพรรษา โดยเฉพาะเป็นพระเถระผู้ใหญ่อย่างท่าน

    ท่านปรารภสองครั้งสามครั้งก็ยังนิ่ง ไม่กล้านิมนต์ ได้แต่นำความไปปรึกษาท่านพระอาจารย์วันและท่านพระอาจารย์จวนว่าควรจะทำอย่างไร

    ข้อสำคัญ ข้าพเจ้าเกรงว่าตลอดเวลา ๓ เดือนที่เข้าพรรษานั้น หากเด็กรับใช้บ้านเราเกิดลากลับบ้าน ทำให้หลวงปู่ไม่ได้รับความสะดวกจะลำบาก !

    เราเคารพท่าน รักท่าน เทิดทูนท่าน ปรารถนาให้ท่านได้รับความสะดวกสบายตลอดเวลา หากมีอะไรผิดพลาดไป เราก็จะไม่สบายใจเสียใจ

    ท่านอาจารย์ทั้งสองบอกว่า “หลวงปู่ท่านเมตตาคุณ...ให้คุณมีโอกาสได้บุญ โดยการปรนนิบัติรับใช้ท่าน ฉะนั้นจงนิมนต์เถอะ”

    แต่เฉพาะท่านพระอาจารย์วันเตือนว่า “แต่ระวัง อย่าให้ขาวอุดรเขาเสียน้ำใจนะ พูดกับเขาให้ดี”

    ชาวอุดรมีความเคารพรักเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่อย่างมากดังนั้นเมื่อได้รับคำเตือนเช่นนี้ข้าพเจ้าจึงลองซาวเสียง พบหน้าเพื่อนชาววัดทางอุดรก็ลองคุยดู

    ได้ยินเขาว่ากันว่า “พรรษานี้หลวงปู่ว่าจะไปจำพรรษากรุงเทพฯ ใครนะจะมานิมนต์หลวงปู่ของเราไป”

    “ใครนะ ใครนะ” ข้าพเจ้าตัวลีบเมื่อได้ยินเสียงซักถามกันซึ่งบางครั้งก็เป็นพระภิกษุด้วยซ้ำ

    ทำให้แม้ต่อมา หลวงปู่จะถามว่า “คุณหนูจะให้ปู่ไปจำพรรษาหรือยัง” ครั้งใด ข้าพเจ้าก็จะต้องยิ้มแหย ๆ ตอบว่า “ยังไม่พร้อมเจ้าค่ะ” ทุกครั้งไป

    เวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่า จนปีสุดท้าย คิดว่าปีนี้ละ เราจะหาโอกาสรับใช้ท่านเสียที ถ้ามัวนอนใจไปดูแต่ท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์จวน ท่านอาจารย์สิงห์ทองซิ ท่านหนีเราไปหมดแล้ว เราจะประมาทไม่ได้เลย

    แต่เราก็ประมาทไปจริง ๆ เพราะปีนั้นเอง เดือนพฤษภาคมปี ๒๕๒๔ หลวงปู่ก็มรณภาพ มีงานถวายเพลิงศพท่านในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕

    รุ่งขึ้นวันที่ ๑ มีนาคม ข้าพเจ้ารีบตื่นแต่เช้า ยังไม่ทันสว่าง ไปที่เมรุ

    ปรากฏว่าที่เมรุมีการเก็บกวาดเรียบ ไม่เหลือแม้แต่ผงดิน ได้ความว่า เมื่อเผาจริงแล้ว ทางวัดก็เก็บอัฐิและอังคารเสร็จแตกลางดึก

    ข้าพเจ้ากลับมาเรียนถามท่านพระอาจารย์สีนวล ถึงเศษผงถ่านที่เหลือ เมื่อทางวัดจะกรุณาให้ลูกศิษย์ไปบูชาบ้าง


    ท่านตอบว่า “นอกจากอัฐิแล้วแม้แต่เศษผงถ่าน ทางวัดก็ต้องเก็บไว้หมดเหมือนกัน”

    ข้าพเจ้าจึงชวนเพื่อน ๆ กลับไปที่ลานเมรุอีกครั้งหนึ่ง คุยเล่น ๆ ว่า

    “ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราไปอธิษฐานขอที่เมรุก็แล้วกัน ขอเศษผงถ่านท่าน หลวงปู่คงให้เราหรอก

    ความจริงถ้าหลวงปู่ยังอยู่เราขอคำเดียว อย่าว่าแต่ผงถ่านผงดินเลย แม้อัฐิหลวงปู่ก็ต้องให้หลวงปู่เมตตาเรา”

    พูดกันแล้วก็หัวเราะกันว่า พูดไปได้ว่า ถ้าหลวงปู่ยังอยู่! ก็ถ้าหลวงปู่ยังอยู่ จะมีอัฐิท่านได้อย่างไร

    พวกเราได้เศษดินเศษผงที่เมรุมาเก็บบูชาไว้ด้วยความเคารพรักอย่างสูงสุด

    ต่อมาถึงเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ได้ลองเปิดผอบขึ้นดูเห็นปรากฏรวมตัวเป็นพระธาตุจำนวน ๔ องค์

    ครั้นถึงเดือนตุลาคม เปิดดูอีกครั้ง เพิ่มเป็น ๗ องค์

    เช่นเดียวกับ พระธาตุ หลวงปู่พรหม เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาภูทอก เมื่อ ๓๐ มีนาคม๒๕๒๖ ระหว่างเตรียมจัดพระธาตุถวายให้ทอดพระเนตร และทรงสักการะ พระธาตุได้ปาฏิหาริย์มาในตลับพระธาตุหลวงปู่อีก๑ องค์ ลักษณะกลมเป็นแก้วใสประดุจเพชร



    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  6. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต




    ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุและอรหันตธาตุ ๐๔

    ของคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต

    โดยทองทิว สุวรรณทัต

    หนังสือพระธาตุปาฏิหาริย์

    a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
    พระธาตุหลวงปู่ขาว






    หลวงปู่ขาว อนาลโย




    พระธาตุหลวงปู่ขาว อนาลโย



    หลวงปู่ขาว เป็นศิษย์ผู้ใหญ่อีกองค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

    เมตตาธรรมของท่าน ซึ่งแผ่ให้แก่บรรดาบุคคลที่ไปกราบคารวะท่านนั้นใหญ่หลวงนัก ข้าพเจ้าได้เคยบันทึกเหตุการณ์บางช่วงบางตอนที่บังเอิญมีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้ประสบพบเห็นไว้แล้วในข้อความเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งชื่อ อนาลโยคุโณ ในหนังสืออนาลโยปูชา ซึ่งพิมพ์แจกในงานกฐินวัดถ้ำกลองเพล เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๗ ที่ผ่านมา ในที่นี้จึงขอกล่าวเฉพาะเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องอัฐิธาตุของหลวงปู่เท่านั้น

    ในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น ปรากฏว่า วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งมีอาณาบริเวณหลายพันไร่กลับแคบเล็กไปถนัดใจ ประชาชนจากทั่วทกทิศานุทิศได้หลั่งไหลกันมาถวายสักการะสรีร่างของท่านผู้ทรงศีลวิสุทธิ์เป็นคำรบสุดท้าย นับจำนวนหลายแสนคนเป็นประวัติการณ์สูงสุดของประเทศ

    โดยที่ข้าพเจ้าทราบว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เก็บรักษาอัฐิของหลวงปู่รวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อจัดสร้างเจดีย์สำหรับเป็นที่สักการะของประชาชนไว้ ณ บริเวณหลังถ้ำกลองเพล

    รุ่งขึ้นจากวันถวายเพลิงข้าพเจ้าจึงไปกราบที่เมรุเป็นครั้งสุดท้ายอย่างไม่รีบร้อนอะไร เพราะคิดว่าทางราชการและทางวัดคงจัดเก็บอัฐิและอังคารผงถ่านไปหมดแตกลางดึกแล้ว

    หน้าที่ของข้าพเจ้าขณะนั้นมีเพียงไปดูความเรียบร้อยของการขนย้ายเต็นท์และเก้าอี้ ส่วนที่พวกเรานำไปจัดตั้งไว้แต่เมื่อวันวานต่างหาก

    อย่างไรก็ดี เมื่อไปถึงเมรุได้เห็นเศษผงถ่านยังมีเหลือบ้างและเห็นเศษอิฐเล็กกระเด็นตกอยู่ข้างนอก

    จากประสบการณ์ที่ศึกษาเรื่องอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์จวน ทำให้ข้าพเจ้าเกือบจะรู้จัก “อัฐิ” หรือ “เศษปูน” สำหรับโบกเมรุเป็นอย่างดี

    ตอนสายระหว่าทางกลับมาเต็นท์ที่เราไปตั้งโรงอาหารเลี้ยงผู้ไปในงาน พบเพื่อนคนหนึ่งเดินอยู่จึงรับขึ้นมาบนรถ (ทางยาวเป็นกิโล ๆ) เธอก็กรุณาแบ่งอัฐิที่เธอไปแย่งเก็บมาได้ในตอนเช้า ให้ข้าพเจ้าอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งต่อมาข้าพเจ้าก็นำเก็บไว้บูชา

    ต่อมาเมื่อมีภาระต้องเร่งจัดทำหนังสือ “อนาลโยปูชา” ดังนี้กล่าวข้างต้น โดยที่เพิ่งเริ่มคิดจะทำหนังสือเพียงประมาณหนึ่งอาทิตย์ก่อนวันงานกฐิน เพราะบังเอิญไปพบภาพปาฏิหาริย์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาวเข้า (ความละเอียดในหนังสืออนาลโยปูชา)

    การจัดทำหนังสือจำนวน ๑๒,๐๐๐ เล่ม พร้อมภาพ ๔ สีอีก๑ ยกเศษ ให้เสร็จ พร้อมไปแจกที่วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานีในเวลา ๗ วัน แม้จะได้รับความร่วมมือจากโรงพิมพ์เพียงไร ก็ต้องทำงานแข่งกับเวลาอย่างที่สุด

    โดยเฉพาะส่วนที่จะเป็น “อนาลโยคุโณ” นั้น เมื่อโรงพิมพ์เร่งทวงว่า ต้นฉบับอยู่ที่ไหน? ข้าพเจ้าก็ต้องตอบว่า อยู่ที่นี่ แล้วก็เอามือชี้ที่ศีรษะตนเอง

    ทั้งเลือกต้นฉบับเทศน์หลวงปู่ ตรวจปรู๊ฟ เลือกภาพประวัติ ส่งไปแยกสี เขียนคำบรรยายภาพ ตรวจความเรียบร้อย สารพัดงานที่จะต้องทำ รวมการนั่งลงเขียนอนาลโยคุโณด้วย !

    ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเลย ที่ทุกคืนพวกเราแทบจะไม่ได้นอนเลยตลอดอาทิตย์ และจะพูดกันอย่างขัน ๆ ว่า

    “อาทิตย์นี้ (เวลา ๗ วัน) เราได้นอนตั้ง ๖ ชั่วโมง ๗ ชั่วโมงบ้าง ?”

    โดยเฉพาะข้าพเจ้าซึ่งต้องตระเวนส่งเพื่อนรุ่นน้องที่กรุณาช่วยทำหนังสือ กลับมาถึงบ้านเป็นคนสุดท้าย.!

    คืนสุดท้ายที่หนังสือจะเสร็จนำส่งไปอุดร ข้าพเจ้าจะล้มตัวลงนอนแล้ว ได้นึกรำพึงว่า

    “เราเหนื่อยแทบจะขาดใจที่ทำหนังสือถวายบูชาพระคุณหลวงปู่เล่มนี้ หลวงปู่จะรู้ไหมหนอว่าลูกเหนื่อย เหนื่อยจริง ๆ ไม่มีใครใช้ ไม่มีใครสั่ง แต่เราก็อยากทำให้ได้ที่สุด ให้พระบารมีและพระคุณานุคุณของหลวงปู่เจิดจ้ากระจ่างแก่ปวงชนชาวไทย หลวงปู่จะรู้ไหมหนอ ว่าลูกเหนื่อยแทบขาดใจทีเดียว”

    คืนนั้น คิดอย่างไรไม่ทราบแทนที่ข้าพเจ้าจะล้มตัวลงนอนตามความรู้สึกที่แสนเหนื่อยและเพลีย กลับยกถาดที่ใส่อัฐิหลวงปู่ขึ้นมาตั้งและกราบ

    เมื่อเงยหน้าขึ้น ตามองไปที่จานแล้วที่ปกติใส่ดอกมะลิบูชาอัฐิหลวงปู่ ดอกมะลินั้นแห้งแล้ว บางส่วนกรอบจนเป็นผงป่นสีน้ำตาลแก่ เห็นแสงระยิบระยับสีขาวปลาบปนอยู่กับดอกมะลิที่แห้งกรอบนั้น ดูไหวตัวจนคิดว่าเป็นแมลงหรือหนอนแทรกอยู่ จึงเขี่ยดู...

    ปรากฏเป็นพระธาตุ ลักษณะงามมาก หลากสี หลากสัณฐานจึงซ้อนขึ้นมาใส่มือนับได้ ๙ องค์

    ระหว่างที่นึกชื่นชมด้วยความปีติเพราะพระธาตุของทุกองค์เป็นเงาเลื่อมงามจริง ๆ มีทั้งสีขาวสีมุกดา สีทองอุไร

    มองไปที่จานแล้วใส่ดอกไม้อีก เห็นพระธาตุเพิ่มใหม่อีก ๓ องค์ ก็ช้อนมาใส่อุ้งมือ นับรวมกับของเก่าในมือได้ ๑๒ องค์ นึกว่าท่านช่างงามจริง

    แต่เมื่อมองกลับไปที่จานแก้ว อ้าว! ท่านขึ้นมาอีก ๓ องค์ จึงตักขึ้นมาใส่มืออีก นับทวนเป็นทั้งหมด ๑๕ องค์ ลักษณะงามทุกองค์

    จึงคิดว่า ขอให้ท่านเสด็จผุดขึ้นมาให้เห็นกับตาอีกครั้งจึงจะเชื่อว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่หลวงปู่รับรู้ว่าลูกเหนื่อยจริง ๆ

    พระธาตุก็ปรากฏขึ้นใหม่ในจานแก้ว เห็นผุดขึ้นกับตา ๑ องค์ สีทองอุไร จึงคิดว่าพอแล้ว ๑๖ องค์พอแล้ว เป็นโสฬสแล้ว


    ข้าพเจ้ากราบหลวงปู่ด้วยความรู้สึกปีติ ชื่นใจ หายเหนื่อยความง่วง ความเพลียที่เคยรู้สึกมาทั้งอาทิตย์ ดูจะหายเป็นปลิดทิ้งกลับรู้สึกแช่มชื่น มีกำลังวังชาไม่ง่วงเลย

    รุ่งขึ้นนำไปให้เพื่อน ๆ ที่ทำงานชื่นชมกันว่า พระธาตุเสด็จ หลวงปู่ส่งมาปลอบเราให้หายเหนื่อย (ขอโทษ เราบังอาจพูดกันเช่นนั้นจริง ๆ)

    แต่วิสัยคนขี้สงสัยก็บ่นกันอีก

    “จริงอยู่ เป็นพระธาตุนั้นแน่แล้ว แต่เป็นพระธาตุของใคร?”

    ลักษณะเหมือนพระบรมสารีริกธาตุ แต่จะว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เหตุใดมาปรากฏในจานดอกมะลิบูชาหลวงปู่ และถ้าจะว่าเป็นพระธาตุหลวงปู่ เหตุใดลักษณะจึงคล้ายเมล็ดพันธุ์ผักกาด ซึ่งเป็นลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุ”

    (เดิมข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระธาตุลักษณะเมล็ดพันธุ์ผักกาดทั้งหมดเป็นพระบรมสารีริกธาตุ)

    ระหว่างเราเถียงกันอยู่อย่างตกลงกันไม่ได้ ก็มีเส้นเกศาเส้นหนึ่งสีขาว.ปรากฏขึ้นทันทีในตลับใส่พระธาตุ ซึ่งปิดฝาแน่นอยู่จึงร้องขึ้นว่า เส้นเกศาหลวงปู่เสด็จแล้ว คงเป็นพระธาตุของหลวงปู่แน่

    วันรุ่งขึ้นหนังสือเสร็จ นำไปวัดถ้ำกลองเพลในคืนวันฉลองกฐิน และได้ถวายหนังสืออนาลโยปูชา

    เมื่อนำพระธาตุและเส้นพระเกศา ให้พระเณรวัดถ้ำกลองเพลชม ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง และ ท่านพระอาจารย์จันทาพิจารณาพักใหญ่จึงรับว่าเป็นพระธาตุหลวงปู่ขาว อนาลโยจริง !






    พระอาจารย์วัน อุตตโม




    พระธาตุพระอาจารย์วัน อุตตโม



    พระอาจารย์วัน อุตตโม

    พระอุดมสังวรวิสุทธิเถรหรือที่พวกเราเหล่าศิษย์คุ้นกับท่านมากกว่าในนามของ ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม และต่อไปก็จะขอประทานใช้ชื่อสั้น ๆ เพียงท่านอาจารย์วัน นี้ ปกติท่านมักจะมีกิจนิมนต์มากที่สุดองค์หนึ่ง

    ข้าพเจ้าจำได้ว่าคราวหนึ่งเราต้องส่งรถไปรับท่านมางานฉลองโบสถ์ที่เขื่อนน้ำพอง ได้ทราบว่า ท่านฉันเช้าแล้วรับนิมนต์ไปเจิมร้านที่สกลนคร ต่อมาสวดมนต์เย็นที่อุดร จากนั้นวิ่งรถมาขอนแก่น

    เข้าไปถึงวัดพระบาทภูพานคำบนยอดเขาใกล้เขื่อนอุบลรัตน์ ตีหนึ่ง และท่านก็ตรงไปที่มณฑลพิธี สวดมนต์ให้ต่อไปจนสว่าง

    ถ้าท่านไม่มากไปด้วยความเมตตาต่อบรรดาศิษย์ ท่านก็คงไม่ยอมทรมานสังขารร่างกายของท่านปานนั้น

    ท่านคงจะทราบว่า เวลาที่จะอยู่โปรดพวกเรานั้นสั้นนัก

    การจะกราบท่านอาจารย์


    เพียงแต่รอฟังข่าวว่าท่านจะไปวัดใด ฉันบ้านใคร ในวันใด แล้วเตรียมไปรอ หากไม่ไปรอล่วงหน้าด้วยคิดว่าตอนเย็นท่านคงอยู่ หลังฉันเช้าสักหน่อยเราค่อยไปก็ทัน มักจะพลาดหวัง ต้องวิ่งตามไปจุดใหม่เรื่อย ๆ เรื่องเช่นนี้เป็นประสบการณ์ของข้าพเจ้าเมื่อได้กราบท่านเป็นครั้งแรก

    จำได้ว่า เป็นเวลาปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๘ เราตามหาท่านจากวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมไปตามวัดต่าง ๆ ที่เขาว่า “ท่านอาจารย์ใหญ่จะไป” และ “ท่านอาจารย์ใหญ่ก็เพิ่งกลับไป” กระทั่งได้กราบท่านสมใจ ที่วัดป่าหนองดินดำ

    ประหลาดที่ในวันนั้นเพิ่งพบศิษย์ใหม่เป็นครั้งแรก ท่านก็เมตตาให้พระธาตุแก่ศิษย์ผู้แสนจะไม่ประสีประสาเรื่องพระธาตุเลย ๑ องค์ และลูกสาวศิษย์คนนั้นอีก ๑ องค์ (ซึ่งปัจจุบันนี้ พระธาตุ ๒ องค์มีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก

    พระหลายองค์พอทราบยังวิจารณ์ว่า “ก่อนหน้านี้ ไม่เคยได้ยินว่า ท่านให้พระธาตุใครมาก่อน คุณโชคดีมาก”

    ปี ๒๕๑๘ พระธาตุยังไม่ปรากฏมากและเสด็จมาให้เราได้กราบบูชามากเช่นระยะหลังนี้

    เรายังไม่ลืมว่า ดูเหมือนจะเป็นปี ๒๕๑๙ หรือ ๒๕๒๐ แล้วที่ท่านอาจารย์วันจะมอบพระบรมธาตุไปบรรจุที่พระประธานวัดหนึ่ง จำนวนเพียงร้อยกว่าองค์ถึงกับมีขบวนแห่ฟ้อนรับกันอย่างมโหฬาร การได้รับพระธาตุจากท่านในวันนั้น จึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง

    วันนั้นได้มีเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับท่าน และวันต่อมาก็มีอีก

    อันที่จริงเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับท่านอาจารย์ที่ข้าพเจ้าบังเอิญได้เกี่ยวข้อง ได้ยินได้ฟัง ได้พบเห็นกับตาตัวเองนั้น มีมากจนประมาณว่า หากจะบันทึกไว้ก็คงเป็นหนังสือเล่มหนึ่งได้ วันนี้จึงเสนอบันทึกเรื่องราวเฉพาะเรื่องพระธาตุของท่านเท่านั้น

    หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานเพลิงศพท่านอาจารย์ ณ วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๔ แล้ว ไม่กี่เดือนต่อมาได้ข่าวว่าอัฐิของท่านเริ่มแปรเป็นพระธาตุ โดยเฉพาะถ้าใช้แว่นขยายส่องจะเห็นส่วนที่เริ่มเป็นหินปูนหรือแก้ว

    ข้าพเจ้าได้มีโอกาสกราบอัฐิของท่านที่วัดหลายครั้ง...ครั้งหลัง จำได้ว่าวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๕ ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านอาจารย์ทองสุข สุกกธัมโมว่า จะขออนุญาตไปที่เมรุ เพื่อจะได้ผงถ่านไปบูชา

    ท่านหัวเราะแล้วว่า เวลาผ่านไปเก้าเดือนแล้ว จะมีอะไรเหลือแต่ก็ลองดูซิ...แล้วท่านก็กรุณานำข้าพเจ้าไปที่เมรุ

    จริงของท่าน !. เรียบ โล่งไปหมด ชาวบ้านเก็บกวาดไปเขาแทบจะไม่ให้เหลือแม้ธุลี !

    ท่านอาจารย์บอกให้ลองอธิษฐานดู ข้าพเจ้าจึงว่า “ถ้าหากขอพระธาตุ (ซึ่งระยะนั้นพระธาตุยังไม่มีสภาพอันสมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะดูคล้ายกรวดเล็ก ๆ ธรรมดาเท่านั้น) ก็จะมีความสงสัยว่าใช่พระธาตุหรือไม่ สู้ลองขออัฐิท่านให้มากลายเป็นพระธาตุให้เราเห็นดูจะดีกว่า”

    ท่านอาจารย์ทองสุกหัวเราะแล้วว่า “ตามใจ คุณลองดูซี”

    ข้าพเจ้าไปยืนพิศดูพักหนึ่งจึงมองเห็นระหว่างซอกอิฐก่อเป็นผนังเมรุ มีอะไรขาวชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งแทรกอยู่ พิจารณาดูคล้ายอัฐิ ลองหาไม้แหลมมาเขี่ย แทนที่จะออกมากลับตกลึกลงไปในซอกมากเข้าทุกที

    ท่านอาจารย์ทองสุกบอกให้ลองอธิษฐานเชิญออกมา ข้าพเจ้าจึงทำตาม และแบมือรออยู่ข้างหน้า

    พยายามใช้ไม้ซึ่งมีปลายแหลมเล็กเขี่ยเป็นครั้งสุดท้ายนึกว่าถ้าท่านตกลงไปอีกครั้งก็ต้องไปติดอยู่ในซอกอิฐ ไม่มีทางจะได้แน่นอน

    อย่างไรก็ดี สิ่งที่เหมือนอัฐิชิ้นนั้น ก็หลุดออกมาจนได้ เห็นเป็นสีขาวลอยข้ามศีรษะข้าพเจ้าไปตกข้างหลัง

    ข้าพเจ้ารีบเอี้ยวตัวหันไปมองหา แต่ก็ผิดหวัง ในลานเมรุตรงนั้นว่างเปล่า ไม่มีเลย

    กำลังถอนใจว่าหมดหวัง แต่เมื่อเหลือบตาที่ในมือซ้ายที่ยังแบอยู่ ก็ต้องอุทานว่า

    “เอ๊ะ ท่านกลับมาอยู่ในมือเราได้อย่างไรเจ้าคะ?”

    เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ อัฐินั้นกลายเป็น ๒ องค์เก็บไว้บูชาต่อมาได้แปรเปลี่ยนเป็นพระธาตุหลายองค์

    และเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปภูทอก เมื่อ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๖ ระหว่างจัดเตรียมพระธาตุถวายให้ทอดพระเนตร ในตลับพระธาตุท่านอาจารย์วัน ปรากฏมีเส้นเกศาขึ้น ๑ เส้น และขณะที่กำลังตื่นเต้นชี้ให้ดูเส้นเกศานั้น ก็มีเส้นเกศาปรากฏใหม่ขึ้นให้เห็นกับตาอีก ๑ เส้น รวมเป็น ๒ เส้น

    ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร แห่งวัดป่าแก้วบ้านชุมพล เป็นเสมือนน้องเล็กของท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม และ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ซึ่งต่างเป็นศิษย์รุ่นเล็กของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระด้วยกัน

    ท่านสนิทสนมคุ้นเคยกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน โดยเฉพาะคณะกฐินของเราจะนิมนต์ท่านทั้งสามองค์นั่งรถไปกับขบวนกฐิน แยกเป็นประธานอยู่แต่ละคัน สามคันก็สามองค์



    ท่านอาจารย์จวนเคยปรารภกับเราว่า “อาตมาคงจะตายใกล้ ๆ กับท่านอาจารย์วัน”

    และท่านอาจารย์สิงห์ทองก็บอกข้าพเจ้าว่า “อาตมาจะตายพร้อมกับหลวงตาโน่น” ท่านว่าแล้วก็บุ้ยใบ้ชี้ไปทางท่านอาจารย์จวน พลางหัวเราะ

    เป็นที่ทราบกันในหมู่ศิษย์ว่า ท่านสนิทสนมใกล้ชิดล้อเลียนกับท่านอาจารย์จวนมากที่สุดเมื่อได้ยินท่านพูดกันเช่นนั้นก็คิดว่าท่านได้พูดเล่น

    และท่านก็มรณภาพไปพร้อมกันจริง ๆ ทั้งสามองค์เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓

    สำหรับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ได้มีการพระราชทานเพลิงศพก่อนเพื่อน ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๓ ข้าพเจ้าได้รับอัฐิแจกจากวัด ก็นำเก็บไว้บูชาปรากฏอัฐิมีลักษณะขาวขึ้น บางส่วนแปรสภาพตกผลึกเป็นหินนั้น บางชิ้นงอกออกจากเดิมมาก ตามที่ปรากฏในภาพ

    เอ๊ะ ! เมื่อกี้ไม่มีนี่



    วันหนึ่งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสีฝากรูปล็อกเกตมาให้บอกว่า ให้เป็นรางวัล

    ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินว่า หลวงปู่เทสก์ก็จัดทำเหรียญหรือรูปล็อกเกต เมื่อได้รับจึงดีใจมาก

    ขณะนั้นข้าพเจ้ายังนั่งอยู่ที่ที่ทำงาน เป็นเวลาเย็นเลิกงานแล้วท่านผู้นำล็อกเกตมาให้กลับไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงมีเวลาชื่นชมรูปท่านอาจารย์ได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวจะเสียงาน

    ดูละเอียดกระทั่งกล่องที่ใส่ล็อกเกตมา เพราะมีเลขลำดับกำกับบนกล่องเลขเดียวกับล็อกเกตอีกด้วย...ดูอยู่พักใหญ่ก็ปิดกล่องนั่งทำงานต่อไป

    ครู่หนึ่งต่อมา ลูกกวาดลูกสาวข้าพเจ้า เปิดประตูห้องทำงานเข้ามา ด้วยรถไปรับกลับมาจากโรงเรียนแล้ว จะรอมากลับบ้านพร้อมแม่ ข้าพเจ้าจึงอวดลูกว่า ท่านอาจารย์เมตตาฝากล็อกเกตมาให้

    “ดูไหมลูก ?” ข้าพเจ้าชวน แล้วเปิดกล่องล็อกเกตออกให้ลูกดูปรากฏว่ามีพระธาตุมาอยู่ในกล่องข้างรูปล็อกเกตอย่างน่าอัศจรรย์

    ได้นำความไปเล่าถวายท่านพระอาจารย์หลวงปู่เทสก์ และกราบเรียนถามท่านว่า ใครเป็นผู้ส่งพระธาตุมา

    “ท่านอาจารย์ใช่ไหมเจ้าคะ? หรือพระธาตุท่านอาจารย์เจ้าคะ?”

    คงเป็นเพราะคำถามกำกวม คำถามหลังนี้เอง ท่านพระอาจารย์ เทสก์จึงบ่นว่าคนพิสดาร!!



    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  7. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต



    ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุและอรหันตธาตุ ๐๕

    ของคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต

    โดยทองทิว สุวรรณทัต

    หนังสือพระธาตุปาฏิหาริย์

    a8a8a8a8a8a8a8a8a8a




    งานศพท่านอาจารย์จวน





    พระธาตุพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ



    ในวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๔ ณ เมรุชั่วคราวหน้าวัดเจติยาคีรีวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์

    ระหว่างพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ญาติสนิทและศิษย์เข้าเฝ้าเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่า

    “อัฐิของท่านพระอาจารย์จวนนั้น ไม่ควรจะแบ่งแยกกันออกไป ควรจะเก็บรวมกันไว้ ณ ที่วัดเดียวกัน เพื่อให้ศิษยานุศิษย์และประขาชนได้มาเคารพสักการะได้ทั่วกัน”

    และทรงมีพระราชดำรัสถามว่า “ท่านพระอาจารย์ ได้เคยสั่งเกี่ยวกับอัฐิของท่านไว้ประการใดบ้าง?”

    ทั้งศิษย์และญาติสนิทของท่านต่างกราบทูลมีข้อความตรงกันว่า

    “ท่านเคยสั่งว่า เขาภูทอกเป็นเสมือนเจดีย์ใหญ่อยู่แล้ว อาตมาตายไม่ต้องทำอะไร ให้เจาะเขาข้างบนนำกระจกไปฝังไว้ก็พอแล้วหรือถ้าเกรงว่าจะเป็นภาระ จะโยนทิ้งเหวไปก็ได้”

    เมื่อทรงฟังคำกราบบังคมทูลประโยคพุดท้าย ก็ทรงพระสรวลและทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริว่า

    “ถ้าเช่นนั้น ก็ควรจะสร้างพระเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้บนยอดเขา...และจะมาช่วยสร้างด้วย”

    และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระราชดำรัสนี้ให้ทราบทั่วกัน

    ความที่ทรงมีพระราชปรารภว่า อัฐิของท่านพระอาจารย์จวนนั้นไม่ควรจะแบ่งแยกกันออกไปควรจะเก็บรวมกันไว้ ณ ที่วัดที่เดียวกัน เพื่อให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนได้มาเคารพสักการะได้ทั่วกันนั้นทางญาติและศิษย์ก็น้อมรับพระราชกระแสใส่เกล้า มอบให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจัดการเรื่องอัฐิของท่านโดยสิ้นเชิง

    โดยเฉพาะข้าพเจ้านั้นระวังตัวมาก เวลาพระราชทานสามหาบและเก็บอัฐิวันรุ่งขึ้นจากวันถวายเพลิง ได้สรงน้ำอัฐิของท่านแล้วก็ถอยออกมายืนภายนอก ด้วยเกรงจะมีข้อครหาภายหลังว่าเป็นศิษย์ใกล้ชิดไปแอบเก็บอัฐิของท่านมา

    และยังไม่เสร็จพิธีสามหาบข้าพเจ้าก็หนีออกจากบริเวณนั้นกลับมาวัดแล้ว และมาเรียนท่านอาจารย์แยง สุขกาโม ว่า สังเกตดูการเก็บอัฐิใส่โกศนั้น ยังมีตกหล่นอยู่มาก ถ้าทางวัดจะจัดเจ้าหน้าที่ไปเก็บกวาดผงถ่านทั้งหมดมารักษาไว้บนยอดเขาก็จะเป็นการดี

    ปรากฏว่า ทางวัดเก็บผงถ่านบรรจุใส่กระสอบให้พระเณรนำขึ้นไปไว้บนยอดเขาได้ถึงห้ากระสอบ

    แล้วพวกเราที่ไปช่วยในงานพระราชทานเพลิงศพก็กลับมากรุงเทพฯ โดยไม่ได้สิ่งใดแม้แต่จะเป็นผงเถ้าถ่าน ซึ่งทราบภายหลังว่า หลังจากสำนักพระราชวังและวัดเก็บอัฐิอังคารและผงถ่านแล้ว พวกประชาชนได้กรูกันเก็บเศษผงถ่านธุลีกันหมดในเวลาไม่นานนัก





    พระธาตุพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ


    พระธาตุปรากฏ



    พอต้นเดือนพฤษภาคม ก็เริ่มได้ยินข่าวเรื่องพระธาตุท่านพระอาจารย์จวน โดยมีคนโทรศัพท์มาเล่าว่า

    ในวันเก็บอัฐิตอนเช้านั้น เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเทน้ำล้างมือ (ที่จับต้องอัฐิของท่าน) ทิ้งพวกศิษย์ชุดหนึ่งซึ่งไปกับคณะผ้าป่ากรุงเทพฯ ก็รีบไปขอน้ำล้างมือนั้นมาบูชา

    บางคนใส่ถุงพลาสติก บางคนไม่มีถุงพลาสติกก็เอาชายเสื้อจุ่มน้ำไว้ กลับกรุงเทพฯ นำชายเสื้อนั้นมาซักน้ำ และนำน้ำ (ซึ่งซักชายเสื้อ) มาบูชา ต่างมีพระธาตุปรากฏขึ้น

    บางรายนำน้ำไปใส่ขวดโหล เก็บพระธาตุได้เป็นร้อย ๆ องค์

    เขาถามว่า ข้าพเจ้ามีบ้างไหม อัฐิท่านอาจารย์จวน

    ข้าพเจ้าว่า อย่าว่าแต่อัฐิท่านเลย แม้แต่ “น้ำล้างมือ” อย่างว่านั้น ข้าพเจ้าก็ไม่มี

    บางคนกรุณาพาข้าพเจ้าไปดูขวดโหลน้ำล้างมือนั้น และให้ข้าพเจ้าได้เห็น “พระธาตุ” ที่เกิดขึ้นด้วย ข้าพเจ้าได้แต่อนุโมทนาในความโชคดีของท่านเหล่านั้น

    พระธาตุจากผงถ่าน !

    ตอนหลังคงจะมีคนสงสารว่าศิษย์ทางการไฟฟ้าฯ ไม่มีวาสนาทางนี้เลย จึงเมตตาส่งซองพลาสติกเล็ก ๆ มาให้พวกเราคนละ ๑ ซอง บอกว่าเป็นผงถ่านที่ประชาชนกวาดมาจากเมรุ หลังจากที่สำนักพระราชวังเก็บอัฐิใส่โกศ และหลังจากทางวัดเก็บอังคารและผงเถ้าถ่านบรรจุใส่กระสอบนำขึ้นไปบนยอดเขาแล้ว

    ข้าพเจ้าเปิดขึ้นดู เห็นเป็นผงถ่านสีดำละเอียดก็เก็บไว้

    วันหนึ่งมีคนถามถึงว่า “คุณสุรีพันธุ์ได้อัฐิท่านอาจารย์จวนเยอะใช่ไหม ? ”

    ข้าพเจ้าจึงหยิบซองผงถ่านขึ้นชูให้ดู และว่า “นี่แหละที่เรามีกัน...คนละ ๑ ซองเล็กนี้”

    ปากซึ่งไว้เท่าใจคิดก็บ่นว่า “ท่านอาจารย์ไม่เห็นเมตตาเราเลยใคร ๆ ก็ได้พระธาตุปาฏิหาริย์ พวกเราไม่เห็นได้บ้างเลย”

    จำได้ว่าเป็นเวลาต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๒๔ บ่นไปแล้วก็เหลือบตาดูซองผงถ่าน เห็นอะไรเป็นจุดสีขาว ๆ ก็ร้อง เอ๊ะ !...แล้วเทออกใส่จาน เห็นจุดขาวเล็ก ๆ เหมือนไข่ปลา จึงเลือกขึ้นมาแยกไว้

    พวกเราทุกคนต่างพิจารณาผงถ่านซองของตัว ได้จุดขาวเล็ก ๆ นั้นมากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่ว่าใครจะขยันเลือกหาสักเพียงไหนเพราะความจริงยิ่งหา (จากผงถ่านกองกระจิดริดนั้น) ก็ยิ่งพบ

    จุดขาวเล็ก ๆ ลักษณะเหมือนไข่ปลานั้น ต่อมาก็โตขึ้น ลักษณะเปลี่ยนเป็น ๒ แบบ คือ

    แบบหนึ่งอันเป็นส่วนใหญ่จะโตขึ้น ขาวขึ้น กระทั่งประมาณ๒ ปีต่อมา จึงกลายเป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์ สีขาว

    อีกแบบหนึ่งอันเป็นส่วนน้อยจะโตขึ้น สีเทาเข้มขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นพระธาตุสีดำ

    น่าประหลาดว่า พระธาตุเหล่านี้ ตั้งต้นจากผงถ่านซองเล็กนิดเดียว...!.

    พอเงยหน้าก็เห็น...

    หลังจากพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๔ แล้ว ข้าพเจ้ามีธุระไปอยู่ที่ภูทอกอีกครั้ง แต่ไม่ได้เคยย่างกรายไปที่เมรุซึ่งอยู่หน้าวัดเลย

    ครั้งนั้นต้องไปสำรวจเส้นทางที่จะพาคณะกฐินผ้าป่ามาทอดที่ภูทอกตอนปลายเดือนตุลาคมเพราะระหว่างฤดูฝนทางคมนาคมอาจจะขลุกขลักได้

    ทุกปีก่อนกำหนดสัก ๑ สัปดาห์ ข้าพเจ้าก็จะต้องไปดูเส้นทางก่อนเสมอ และปีนั้นก็เช่นเดียวกันจำได้ว่าเป็นวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๔

    ถึงวัดแล้ว คุณแม่ชีโสดาได้ชวนให้ไปกราบที่เมรุ ข้าพเจ้าถูกคะยั้นคะยอมากก็เลยตามใจท่าน ก้มลงกราบที่เมรุแล้วใจก็นึกแวบขึ้นมาเฉย ๆ ว่า

    “ท่านอาจารย์ขอพระธาตุบ้างซีเจ้าคะ”

    (เวลานั้นพระธาตุจากผงถ่านที่กล่าวข้างต้นยังไม่แปรสภาพเป็นพระธาตุอย่างเต็มที่)

    พอเงยหน้าขึ้น ก็มองเห็นพระธาตุ ๒ องค์ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ซึ่งองค์พระธาตุยังเต้นอยู่ไม่นิ่งสนิท

    เหลียวไปมองโดยรอบ บนเมรุมีเรานั่งอยู่คนเดียว ส่วนคุณแม่ชีโสภาไปกวาดลานเมรุอยู่ข้างล่าง

    ข้าพเจ้าจึงลุกขึ้นนำพระธาตุไปให้คุณแม่โส...(ชื่อที่เราเรียกท่านสั้น ๆ เช่นนั้น) ดู และเล่าเรื่องให้ท่านฟัง

    มองไปดูลานเมรุช่วงขั้นต่อไป ก็มองเห็นอะไรขาว ๆ อยู่ในถาด คล้าย ๆ ข้าวตอกขาวโปรยอยู่ สาวเท้าไปดู ก็เห็นผงถ่านดำเต็มถาดนั้น ส่วนที่ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นข้าวตอกขาวนั้นคือ พระธาตุขาวฟ่องไปหมด

    ข้าพเจ้าร้องลั่นด้วยความดีใจเรียกคุณแม่โสมาดู พลางก้มลงรีบเก็บพระธาตุ

    คุณแม่โสบอกว่าแปลกมากบริเวณเมรุนี้ตั้งแต่วันถวายเพลิงเดือนเมษายนแล้ว พอถึงวันวิสาขะครั้งหนึ่ง และวันเข้าพรรษาอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านต่างมาเวียนเทียนกัน วางดอกไม้ธูปเทียน เก็บกวาดกันอยู่เสมอ และตัวท่านเองก็ไปกวาดลานเมรุทกวัน ไม่เคยปรากฏพระธาตุหรือผงถ่านเหลืออยู่เลย

    ข้าพเจ้าไม่สนใจ นั่งเก็บพระธาตุลูกเดียว แต่ประเดี๋ยวเดียวก็ตกใจ ด้วยข้าง ๆ เรามีชาวบ้านพระเณรมาช่วยกันเก็บพระธาตุแน่นไปหมด

    ได้ความว่า คุณแม่โสวิ่งกลับไปที่วัด บอกว่า “พระธาตุของท่านอาจารย์จวนเสด็จ คุณแม่สุรีพันธุ์ไปอธิษฐานขอ”

    เผอิญมีพระเณรและชาวบ้านจากตำบลอื่นกำลังมาถึงภูทอกพอดี ได้ยินคุณแม่โสประกาศเช่นนั้นก็ดีใจ เร่งชวนกัน บ้างวิ่ง บ้างเดิน เฮโลไปที่เมรุ จึงได้มีคนแน่นเช่นนั้น

    ข้าพเจ้าคนเดียวเก็บไม่ทันเพื่อนเขา และไม่ได้เตรียมตัวอะไรไปเลย เก็บได้ใส่อุ้งมือแค่นั้น จึงวิ่งกลับมาที่วัด มาหาถุงพลาสติกใหญ่ได้ถุงหนึ่ง แล้วกลับไปแย่งเก็บกับเขาอีกพักหนึ่ง ซึ่งถ้าจะเลือกแต่พระธาตุคงไม่ทันเขา เลยโกยทั้งถ่านทั้งพระธาตุใส่ถุงกลับมา

    พระธาตุชุดนี้ แม้เวลามองเทียบกับผงถ่านจะดูขาว แต่เมื่อแยกขึ้นแล้วคงยังมีสีเทาแกมอยู่มาก และส่วนใหญ่ยังมีฟองกระดูกติด มาปรากฏเป็นพระธาตุลักษณะสมบูรณ์ สีขาว เป็นมันเลื่อมภายหลัง

    ส่วน ผงถ่าน ซึ่งข้าพเจ้าเรียกผงถ่านปาฏิหาริย์นั้น ควรถือเป็นปาฏิหาริย์พิเศษสุดยอดเลย เพราะมีสิ่งต่าง ๆ ปรากฏขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ในเวลาภายหลังเรื่อยมาแรก ๆ จะเป็นพระธาตุขาวบ้าง เทาบ้าง องค์เล็ก ๆ ทั้งนั้น ต้องช้อนขึ้นมาเก็บแยกไว้

    ต่อมาพระธาตุเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพโตขึ้น...ขาวขึ้นสำหรับพระธาตุที่จะกลายเป็นสีขาว..เทาขึ้น ดำขึ้น สำหรับพระธาตุที่จะเป็นสีดำ

    บางทีจะเห็นอัฐิชิ้นเล็ก ๆ เล็กจนขนาดว่าเป็นจุดไข่ปลา ข้าพเจ้าก็จะเลือกขึ้นเก็บไว้ แล้วอัฐิเหล่านี้ก็จะแปรสภาพกลายเป็นพระธาตุตามลำดับขั้นตอนของอัฐิที่จะแปรเป็นพระธาตุ

    บางทีมีคนมาขอฟังเรื่อง ยกโถใส่ผงถ่านออกมาตั้ง ตักแจกไปคนละ ๑ ช้อน บางคนอยากเห็นพระธาตุ ก็ปรากฏพระธาตุขาวขึ้นเดี๋ยวนั้น ให้เป็นที่ชื่นอกชื่นใจกันเต็มที่ บางทีก็จะพบพระธาตุแก้วผลึก

    ระยะหลัง ชะรอยว่าท่านคงจะเห็นใจเราที่ใช้ความพยายามเก็บจุดขาว ๆ ซึ่งแม้ตอนหลังจะใหญ่กว่าไข่ปลา แต่ก็ยังเล็กอยู่ดีทีละองค์สององค์ แม้บางครั้งจุดขาว ๆ เหล่านั้นจะเพิ่มจำนวนให้เราเห็น ก็เสียเวลาอยู่นั่นเองดังนั้น ระยะหลังบางครั้งจึงมีอัฐิชิ้นใหญ่ ๆ เกิดขึ้น ให้ทั้งตื่นเต้น และทั้งตื้นตันในความเมตตาของท่าน

    อัฐิก็ดี จุดขาว ๆ ก็ดี เหล่านี้จะให้เราชื่นชมและเปลี่ยนแปรสภาพไปช้า ๆ ให้เราได้ศึกษาการแปรสภาพจากอัฐิ เหมือนดังเป็นอัฐิธรรมดาสามัญทุกประการ

    แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าระยะใด เวลาใดจะเกิดปาฏิหาริย์พิเศษ ซ้อนปาฏิหาริย์เดิม (ที่ของเหล่านี้เกิดขึ้นเอง เป็นปาฏิหาริย์อยู่แล้ว) ขึ้นมาอีกเมื่อไรบางเวลาข้าพเจ้าถึงกับร้องออกมาดัง ๆ ว่า “ท่านอาจารย์เจ้าคะ...ตามเรื่องไม่ทันแล้ว”

    เพราะเหมือนเล่นกล เพียงแต่ว่า เราไม่ทราบเท่านั้นว่า เล่นอย่างไร และเมื่อไรจะเล่น

    พระธาตุท่านพระอาจารย์จวน เป็นพระธาตุที่เกิดจากปาฏิหาริย์ทั้งสิ้น ปาฏิหาริย์มาเป็นองค์ปาฏิหาริย์มาเป็นจุดขาวไข่ปลาก่อน ปาฏิหาริย์มาเป็นอัฐิก่อน

    (ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจว่า ถ้าจัดสร้างเจดีย์ของท่านเสร็จเมื่อไร ก็จะเชิญพระธาตุปาฏิหาริย์ท่านพระอาจารย์จวน ถวายเข้าในเจดีย์พิพิธภัณฑ์ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป )

    ใสเป็นแก้วแล้ว !

    วันหนึ่ง ต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๔ ขณะกำลังนั่งทำงานอยู่ก็มีพระธาตุองค์หนึ่ง ลักษณะเป็นหยดน้ำ สีมุกดา ตกลงมาเบื้องหน้าก็ช้อนขึ้นมาวางในอุ้งมือ

    เมื่อเหลือบตามองไปที่เดิมก็เห็นพระธาตุอีก ๔ องค์ ลักษณะเป็นแก้วผลึกใสบริสุทธิ์เหมือนเพชรปรากฏอีก จึงนำมารวมกันให้พวกเพื่อน ๆ ดูว่า พระธาตุเสด็จงามมากทุกองค์

    เผอิญมีผู้มีทิพยจักษุเข้ามาเยี่ยมเวลานั้น พิจารณาแล้วแจ้งว่าพระธาตุเหล่านี้เป็นของท่านพระอาจารย์จวน ท่านสั่งมาให้ เป็นพระธาตุจากส่วนกระดูกอกของท่านซึ่งใสเป็นแก้วแล้ว

    ความข้อนี้พ้องกับเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านสอนศิษย์คนหนึ่งให้เพ่งพิจารณากาย วันหนึ่งจะเห็นกระดูกส่วนต่าง ๆ ภายในกายของตน

    ภายหลังท่านได้ซักศิษย์ผู้นั้นว่า เริ่มพิจารณากายหรือยังตอบว่ายัง

    ท่านได้ตำหนิว่า ทำไมยังนอนใจไม่เร่งภาวนา ศิษย์ผู้นั้นเป็นคนดื้อจึงเปรยว่า ภาวนาไปก็คงไม่มีผล จะได้เห็นกระดูกจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ

    และเผอิญตอแยต่อไปว่า แล้วท่านอาจารย์ได้เห็นกระดูกท่านอาจารย์หรือไม่

    ท่านคงรำคาญความดื้อดึงว่ายากของศิษย์ผู้นั้นจึงหลุดปากมาว่า

    “เห็นซี อาตมาเห็นกระดูกอกอาตมาทุกวัน ใสเป็นแก้วแล้ว”

    ความข้อนี้ไม่ได้เป็นที่แพร่หลาย มีศิษย์ผู้นั้นทราบเพียงคนเดียว และเก็บปากคำเงียบ ด้วยรู้ตัวว่ามีความผิดอยู่ น่าประหลาดใจที่มีผู้มาบอกตรงกัน

    วันหลัง ขณะกำลังถกเถียงกันว่า พระธาตุเหล่านี้จะเชื่อได้หรือไม่ว่าเป็นของท่านพระอาจารย์จวน ได้มีพระธาตุผุดขึ้นอีกทีละองค์หลายครั้ง ครั้งแรกที่ภูวัว ต่อหน้าท่านพระอาจารย์คำ กาญจนวัณโณ ครั้งที่สองที่บ้านลาดพร้าวต่อหน้าท่านพระอาจารย์ปิ่นฯ ได้เพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ จนเท่าปัจจุบันนี้

    วันหนึ่งได้สังเกตเห็นพระธาตุลักษณะกลมเล็กสีดำเพิ่มมาอีกองค์หนึ่ง (ปัจจุบันนี้โตกว่าองค์เดิมมาก)

    แกร็ก !

    คืนหนึ่ง...ขณะกำลังอ่านหนังสือก่อนนอน ได้ยินเสียงแกร๊ก เหมือนมีอะไรตกลงมาที่แว่นตาถอดแว่นดูไม่เห็นอะไร จึงใส่แว่นอ่านหนังสือต่อไป

    ได้ยินเสียงแกร๊กอีก ถอดแว่นอีกครั้งก็ยังไม่เห็นอะไร จึงใช้นิ้วลูบบนเลนส์ เพราะเสียงแกร๊กนั้นดังชัดมาก จึงได้พระธาตุองค์นี้ สีดำเป็นมันเลื่อม ต่อมาโตขึ้น

    ...ลอยลงมาจากรูป

    วันนั้นเป็นวันหยุดฉัตรมงคล ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๕ กำลังช่วยกันเลือกอัฐิ และพระธาตุของท่านพระอาจารย์จวนอยู่ที่หน้าห้อง ซึ่งท่านเคยนอน

    ข้าพเจ้าบ่นว่า “พวกเรามาจัดพระธาตุถวายเช่นนี้ใกล้เกลือกินด่าง เห็นพระธาตุแต่ไม่มีสิทธิได้ไว้บูชาสักองค์ เพราะต้องเก็บรวบรวมสำหรับเจดีย์หมด”

    บ่นเสร็จ ตาก็เหลือบมองไปที่รูปของท่าน ซึ่งปิดอยู่เหนือประตู รูปนั้นท่านอาจารย์กำลังยิ้มอย่างเมตตา

    ข้าพเจ้าพูดขึ้นว่า “ท่านอาจารย์ขอพระธาตุบ้างไม่ได้หรือเจ้าคะ”

    ทันใดนั้นก็มองเห็นสายสีขาวเหมือนแพรบาง ลอยพลิ้วออกมาจากรูปท่าน

    ข้าพเจ้าคิดว่าลมคงแรง แพรขาวซึ่งคงคิดรูปท่านอยู่ (แต่เราไม่ทันเห็นมาก่อน) จึงลอยตกลงมา

    สายแพร (ซึ่งเรามองเห็นเช่นนั้น) ลอยลงมาในมือซ้ายข้าพเจ้า ซึ่งเผอิญกำลังหงายมือรออยู่พอดี ปรากฏกลายเป็นพระธาตุแก้วผลึกใสองค์หนึ่ง!

    โดยที่เห็นว่าพระธาตุองค์นี้เสด็จมาในวันฉัตรมงคลอันเป็นมงคลวาร เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินภูทอกันวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๖ จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระธาตุองค์นี้ไป

    อยากเห็น...ก็ได้เห็น

    คืนวันนั้น วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๕ ทอดกฐินเสร็จแล้วขณะขึ้นไปรวมกันบนศาลายอดเขาขั้นที่ ๕ เพื่อจะนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุที่อัญเชิญมาให้สักการะ

    กำลังเล่ากันถึงพระธาตุปาฏิหาริย์ มีผู้บ่นอยากเห็นกับตากันมาก ได้ยินเสียงแกร๊กเบา ๆ แต่ได้ยินทั่วศาลา มีเสียงคนร้องว่าพระธาตุเสด็จ

    ท่านพระอาจารย์บุญเสวย เตชวโร แห่งวัดป่าบุรีรัตน์พัฒนาราม อำเภอในเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งพาคณะจังหวัดบุรีรัมย์มาร่วมทอดกฐินด้วย ได้ช่วยมองหา พบพระธาตุตกลงมาอยู่หน้ารูปท่านพระอาจารย์จวน ๒ องค์ ลักษณะสีขาว ๑ องค์ และดำ 1 องค์ คนในศาลาซึ่งมีอยู่พลันลุกฮือมาขอดูกันแน่น

    ระหว่างนั้น ได้มีพระธาตุเสด็จอีกหลายองค์ ตกลงบนผ้าสักหลาดสีแดงที่ปูโต๊ะรองที่ตั้งพระธาตุ ข้าพเจ้าจึงประกาศว่าหากพระธาตุตกลงนอกตลับที่ใส่พระธาตุแล้ว ท่านผู้ใดเห็นก็เชิญเก็บไว้ไปบูชาได้ ปรากฏมีผู้ได้พระธาตุไปกว่าสิบคน

    จาก ๒ รวมเป็น ๑

    ในเวลาไม่กี่นาทีต่อมา เมื่อทุกคนกำลังสนใจขมพระธาตุปาฏิหาริย์ชุดอื่น ๆ กันอีก บางคนกำลังชี้นิ้วว่า องค์นั้นสวยเหมือนเพชร องค์นี้เป็นรุ้งเหมือนโอปอล์ องค์นั้นงามกว่า องค์นี้งามมากไปกว่า

    กลุ่มที่ดูพระธาตุชุดปาฏิหาริย์มาบนโต๊ะทำงาน ก็ได้เห็น...ณ จุดตรงซึ่งเป็นที่ว่าง ไม่มีพระธาตุประดิษฐานอยู่ พระธาตุ ๒ องค์ลักษณะกลมเป็นแก้วผลึกใสเหมือนเพชร ได้วิ่งมารวมกันเป็นองค์เดียว เป็นแก้วผลึกใสเหมือนกัน แต่เป็นลักษณะหกเหลี่ยมและยาว

    เสียงร้องอุทานดังลั่น ต่างยืนยันกันว่า ได้เห็นภาพอันน่าอัศจรรย์นั้นเหมือน ๆ กัน

    พระธาตุ ๒ องค์วิ่งมารวมกันเป็นองค์เดียว จากลักษณะกลมเป็นลักษณะเหลี่ยมและยาว น่าอัศจรรย์ จริงไหม

    หลายคนคอยจ้องดูพระธาตุเสด็จ...ซึ่งหลายคนก็โชคดีเก็บกลับไปอวดญาติมิตรทางบ้าน

    สุดท้ายมีผู้ออกความคิดว่าผู้ที่ยังเหลืออยู่ที่ได้เห็นพระธาตุปาฏิหาริย์ควรจะบันทึกชื่อกันไว้เป็นหลักฐานเพื่อสอบทานเป็นพยานอ้างอิงได้

    เท่าที่มอบชื่อให้ไว้ คือ

    คุณศุรีมาศ วิทยผโลทัย จากชลบุรี

    คุณวิไล เอื้ออนันต์ กรุงเทพฯ

    คุณมณีรัตน์ โมกขพันธุ์ พระโขนง

    คุณดวงทิพย์ ผลประไพ ชลบุรี

    คุณสมใจ มฤคไพรวัน สงขลา

    พระอธิการบุญเสวย เตชวโร วัดป่าบุรีรัตน์พัฒนาราม บุรีรัมย์

    พระธาตุจากเส้นเกศา

    ๑. พระธาตุจากเส้นเกศาท่านพระอาจารย์จวน องค์แรกที่ปรากฏเป็นของแม่ชีโสดา เคนยา ซึ่งเวลานี้อยู่ที่อุดร

    แม่ชีเล่าว่า เก็บเส้นเกศาของท่านพระอาจารย์ไว้ในขวดแก้วเปลี่ยนเป็นก้อนกลม บางคืนสว่างเรืองไปทั้งกุฏิ บางวันหอมตลบไปหมด

    ได้นำความกราบเรียนท่านอาจารย์ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านได้ไปดูที่กุฏิ และให้เก็บรักษาไว้ให้ดีเป็นมงคล

    ข้าพเจ้าได้มีโอกาสดูเป็นครั้งแรกเมื่อท่านมรณภาพแล้วใหม่ ๆ ลักษณะเป็นพระธาตุสีนวล ภายหลังได้เห็นอีก ปรากฏว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นมากจากที่เห็นครั้งแรก

    ๒. พระธาตุจากเส้นเกศา ท่านพระอาจารย์จวน ที่เกิดขึ้นเมื่อท่านมรณภาพแล้ว ลักษณะปรากฏเช่นในข้อ ๑



    มีต่อคะ






    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  8. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต







    อัฐิกำลังแปรเป็นพระธาตุและพระธาตุ




    สำลีจีวร และด้ายตราสังที่ไม่ไหม้ไฟ


    แปลกไหม ! ไฟไม่ไหม้


    อัฐิกำลังแปรเป็นพระธาตุและพระธาตุ

    หลังพระราชทานเพลิงศพ (๑๘ เมษายน ๒๕๒๔) ประมาณปีเศษ ทางวัดรื้อกระสอบผงถ่านและอังคารที่นำขึ้นไปเก็บบนยอดเขา นอกจากได้พบอัฐิกำลังแปรเป็นพระธาตุและพระธาตุจำนวนมากมายแล้ว ยังได้พบ สำลีจีวร และด้ายตราสัง ปนอยู่กับผงถ่านจำนวนหนึ่ง ซึ่งจีวรส่วนใหญ่ยังไม่ไหม้ คงเป็นสีเหลือง

    ขณะนั้นไม่มีใครทันคิด ได้ปล่อยให้ลมพัดจีวรและสำลีปลิวไปหมด


    สำลีจีวร และด้ายตราสังที่ไม่ไหม้ไฟ

    เมื่อพบจีวรและสำลีมากเข้าข้าพเจ้าจึงเสนอความคิดจะเก็บเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่น่าเสียดายที่เหลือเพียงเล็กน้อยและที่เป็นสีดำเท่านั้น

    น่าคิดว่าสำลี จีวร และด้ายถูกไฟไหม้เผาตลอดคืน แต่ไม่ไหม้!

    เมื่อครั้งจะถ่ายภาพ...

    ในการจัดทำหนังสือ “มาตาบูชา” นี้ ข้าพเจ้าได้จัดพระธาตุเป็นหมวดหมู่เตรียมไว้เพื่อง่ายต่อการบันทึกภาพ

    กำหนดเชิญช่างภาพมาถ่ายวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ก็ต้องจัดเตรียมให้เสร็จตั้งแตกลางคืนวันที่ ๒๔

    ถึงเวลาถ่ายภาพ ปรากฏมีพระธาตุเพิ่มขึ้นจากที่จัดไว้เมื่อคืนวันที่ ๒๔ บ้าง ปรากฏให้เห็นกับตาบ้าง บางครั้งยังเห็นองค์พระธาตุเคลื่อนตัวขึ้นลงอยู่ด้วยซ้ำ

    การปรากฏองค์ของพระธาตุถ้าไม่ใช่การตกลงมาต่อหน้า ก็จะทำให้เราเห็นได้ชัด เช่นในกลุ่มพระธาตุสีขาวองค์เล็ก จะเกิดพระธาตุสีดำ...หรือในกลุ่มพระธาตุสีดำ จะเกิดพระธาตุแก้วใสองค์เล็ก

    เช่นเมื่อกำลังถ่ายภาพ ดังวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ปรากฏพระธาตุแก้วใส ๓ องค์ขึ้นทีเดียว ท่ามกลางกลุ่มพระธาตุสีดำ และในที่ว่างห่างออกจากตรงที่เรากำลังเตรียมถ่ายภาพ จะมีพระธาตุผุดขึ้นครั้งละ ๑-๒ องค์

    ต่อมาเมื่อล้างฟิล์มสไลด์ภาพที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคมมาดู ยังขาดภาพพระธาตุบางตอนอีก จึงถ่ายภาพเพิ่มในวันที่ ๔ มิถุนายน อีกครั้งหนึ่ง

    ปรากฏว่า กลุ่มพระธาตุที่มีปาฏิหาริย์พระธาตุแก้วใส ๓ องค์ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม นั้น ถึงวันที่ ๔ มิถุนายน กลับกลายเป็นมีพระธาตุแก้วใส ๔ องค์ คงเพิ่ม๑ องค์

    ส่วนที่แยกเก็บไว้ว่า พระธาตุปาฏิหาริย์ทีละ ๑-๒ องค์ รวมเป็น๗ องค์ ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคมนั้น ครั้นถึงวันที่ ๔ มิถุนายน เพิ่มอีก ๑ องค์ กลายเป็น ๘ องค์

    รัศมีสว่างวาบ !

    ในวันถ่ายภาพเพิ่มเติม วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๒๘ ข้าพเจ้าได้ตักพระธาตุออกแจกให้น้อง ๆ ที่ทำงาน ซึ่งร่วมเหนื่อยในการถ่ายภาพ

    ครั้งแรกได้ให้พระธาตุชนิดแก้วมุกดาคนละ ๓ องค์ ต่อมาว่าจะให้พระธาตุเป็นแก้วใสดุจเพชรอีกคนละ ๒ องค์

    เฉพาะเมื่อจะส่งพระธาตุแบบแก้วใสให้คุณไสว ศรีสังข์ ยังไม่ทันถึงมือเธอก็มีแสงรัศมีสว่างวาบจากช้อนตักพระธาตุ เจิดจ้าราวกับแสงฟ้าแลบ พุ่งเข้าตาทั้งผู้ให้และผู้รับ จนต้องร้องออกมาดัง ๆ และเห็นพระธาตุแก้วใสองค์ที่สามเสด็จมาประดิษฐานในช้อนเล็กคุณไสวปีติจนขนลุกน้ำตาคลอ

    หลายสี หลายแบบ

    เท่าที่สังเกตได้ในขณะนี้พระธาตุท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ มีสีสันวรรณะแตกต่างกัน พอจะแยกออกตามประเภทต่างดังนี้

    ๑. สีขาว

    ๒. สีพิกุลแห้ง

    ๓. ลักษณะเป็นมันเยิ้ม และค่อยแปรเป็นแก้วสีขาว

    ๔. ลักษณะเป็นผลึกแก้ว ครึ่งขุ่นครึ่งใส-สีขาว

    ๕. ใสประดุจเพชร (ส่วนใหญ่ขนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาด)

    ๖. สีดำปนเทา เป็นมันเยิ้ม

    ๗. สีเขียวไข่นกการเวก

    ๘. สีดำสนิท มัน ลักษณะเป็นเหลี่ยม รี กลม

    ๙. สีชมพูใส

    ขั้นตอนก่อนจะแปร

    เป็นที่น่าสังเกตว่า พระธาตุที่ลักษณะดูเป็นมันเยิ้มนั้น ต่อไปมักจะแปรเป็นแก้วผลึก

    ลักษณะการแปรเป็นพระธาตุจากผงอังคาร

    ลำดับ ๑ ผงอังคาร (ถ่าน)

    ลำดับ ๒ มีจุดเล็กเหมือนไข่ปลา สีขาวเทาเกิดขึ้น

    ลำดับ ๓ ไข่ปลานั้นเริ่มโต มีขนาดโตขึ้น สีเทาดำ

    ลำดับ ๔ สีเทาดำ เริ่มขาวขึ้น-ขนาดพระธาตุก็ใหญ่ขึ้น

    ลำดับ ๕ ลักษณะพระธาตุสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งมักจะเข้าลักษณะเมล็ดข้าวโพด

    ลักษณะการแปรเป็นพระธาตุจากอัฐิ

    ลำดับ ๑ กระดูกตามธรรมชาติ

    ลำดับ ๒ กระดูกเริ่มแปรสภาพเป็นพระธาตุ แยกเป็น ๒ ลักษณะ

    ๒.๑ กระดูกที่มีลักษณะฟองกระดูกเป็นรูพรุน ฟองกระดูกจะเริ่มหดตัว รวมตัวเข้าเป็นผลึกฟองกระดูกบางส่วนจะยังคงสภาพอยู่

    ๒.๒ กระดูกที่เป็นชิ้นยาวแนวเยื่อกระดูกที่เห็นเป็นเส้นบาง ๆ ต่อไปจะแปรเป็นพระธาตุตามแนวเส้น จะเกิดผลึกขยายขึ้นจนเต็มองค์ ลักษณะสัณฐาน มักจะมีขนาดใหญ่เล็ก และรูปลักษณะตามชิ้นกระดูก ไม่เปลี่ยนไป

    ลำดับ ๓ สภาพใกล้จะเป็นพระธาตุมากขึ้น

    ๓.๑ พระธาตุลักษณะนี้แปรสภาพจาก ๒.๑ ส่วนที่เป็นผลึกหินนั้นจะมากขึ้น ส่วนที่เห็นเป็นฟองกระดูกจะน้อยลง ลักษณะเริ่มมนมีสัณฐานกลม รี เมล็ดข้าวโพด เห็นส่วนฟองกระดูกติดเพียงเล็กน้อย

    ๓.๒ พระธาตุลักษณะนี้มักจะคงรูปกระดูกเดิมไว้ โดยแปรจาก ๒.๒ เยื่อกระดูกที่เกาะเป็นผลึกหินปูนจะขยายตื้นขึ้นจนเกือบเต็มรูพรุนกระดูก ประมาณเห็นส่วนกระดูกเหลือเพียง ๑๐-๒๐%

    ลำดับ ๔ เป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์

    มีรูปสัณฐานต่างกันหลายแบบ เช่น เหลี่ยมบ้าง กลมบ้างรีบ้าง เหมือนเมล็ดข้าวโพดบ้างขนาดต่าง ๆ กัน คือ ขนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาด เมล็ดข้าวโพด หรือใหญ่เล็กตามรูปกระดูก

    ลักษณะการแปรเป็นพระธาตุจากเส้นเกศา

    ลำดับ ๑ เส้นเกศาตามธรรมชาติ

    ลำดับ ๒ เส้นเกศาจะหย่งตัวขึ้นและมารวมตัวกันเข้า ติดกันเป็นแพเล็ก ๆ

    ลำดับ ๓ แพเหล่านั้นจะรวมเป็น ก้อน

    ลำดับ ๔ เริ่มลักษณะเป็นพระธาตุ สีน้ำตาลอ่อนคล้ายสีพิกุล

    ลำดับ ๕ เป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์ สีพิกุลแห้ง หรือนวล

    ทั้ง ๓ ข้อ ขอขี้แจง

    โดยที่มีผู้สนใจเรื่องอัฐิกลายเป็นพระธาตุมาก ทั้งด้วยความเคารพเลื่อมใสศรัทธา ทั้งด้วยความใคร่รู้ตามวิสัยปุถุชน เราบ่นกันว่า ส่วนใหญ่เรามักจะได้กราบพระธาตุกันก็เมื่อท่านเป็นพระธาตุแล้ว อัฐิและอังคารท่านค่อยๆ เปลี่ยนทีละน้อย หรือเปลี่ยนทันที ใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะเป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์ ? อัฐิท่านเปลี่ยนเป็นพระธาตุได้เพราะอะไร?

    ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และไม่มีความรู้ความสามารถที่จะอธิบายได้ แต่จากประสบการณ์ที่ได้กราบอัฐิธาตุครูบาอาจารย์มา สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง แปรสภาพเป็นระยะ ๆ (ตามช่วงเวลาที่บังเอิญเปิดทำความสะอาด จัดที่บูชา หรือมีผู้ขอชม) จึงขอเรียนถึงความคิดเห็นความเข้าใจของตน ซึ่งคงจะพอตอบข้อซักถามต่าง ๆ เหล่านั้นได้ บ้าง คือ

    ๑. อัฐิหรืออังคารของท่านค่อย ๆ เปลี่ยนแปรสภาพแน่นอน แต่มีที่เปลี่ยนทันทีบ้างนั้นจะเป็นการปาฏิหาริย์

    เช่นในกรณีท่านพระอาจารย์จวนมีผงถ่าน (บางกรณีก็เป็นผงถ่านปาฏิหาริย์ คือ เกิดผงถ่านขึ้นเดี๋ยวนั้นที่หน้าเมรุของท่าน) ใส่โถแก้วไว้ เปิดบางครั้งจะมีอัฐิลอยอยู่บนหน้า แรก ๆ เป็นขนาดเล็ก ๆ ระยะหลังครั้งหนึ่งเปิดโถแก้วพบอัฐิชิ้นใหญ่ ๆ วางอยู่เต็มหน้าโถแก้วนั้น ข้าพเจ้าขนลุกซู่ถึงก้มลงกราบ พระคุณของท่านนั้นหาประมาณมิได้ เกินรู้ เกินคิดของเราจริง ๆ

    ๒. ใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะเป็นพระธาตุโดยสมบูรณ์?

    ข้อนี้ต้องขอเรียนว่าเท่าที่พบเห็นมานั้น ไม่อาจกล่าวตายตัวไปได้ บางครั้งก็เร็วมาก วันนี้เป็นผงถ่าน พรุ่งนี้เป็นพระธาตุเลย (ซึ่งเข้าลักษณะปาฏิหาริย์) แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเวลาแรมเดือน แรมปีและอัฐิก็ไม่ได้เป็นพระธาตุหมด หรือพร้อมกัน

    หรืออย่างในกรณีพระอรหันต์นิรนาม ซึ่งบันทึกไว้ต่างหากแล้วมีผู้นำผงอัฐิธาตุท่านมาให้ และครั้งแรกข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเป็นอัฐิธาตุพระอรหันต์ เพราะมีลักษณะคล้ายผงเปลือกหอยแตก เก็บไว้๓-๔ ปี จึงเห็นเป็นพระธาตุและก็มิได้เป็นหมด ยังคงเหลือผงอัฐิอีกมาก

    ผงอัฐินั้น ผู้ให้เล่าว่าบิดาของท่านได้จากคุณปู่และคุณปู่ได้จากเจดีย์ร้าง

    เวลา ๓ ชั่วคน นานเท่าไรและเวลาที่บรรจุในเจดีย์จนเจดีย์ร้างอีกเท่าไร แต่อัฐิธาตุของท่านก็ยังแปรเป็นพระธาตุไม่หมด

    ๓. อัฐิของท่านแปรเป็นพระธาตุได้เพราะอะไร? เป็นเรื่องเกินรู้ เกินคิดของผู้เต็มไปด้วยกิเลสหนา ปัญญาหยาบอย่างข้าพเจ้า จึงได้ขออัญเชิญข้อเขียนของพระคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน มาลงพิมพ์ไว้ในตอนที่กล่าวถึง พระธาตุท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่ผ่านมาแล้ว โปรดกรุณาพลิกกลับไปอ่านได้

    กินพุทโธ

    มีเรื่องน่าขันควรบันทึกไว้คือ มีบางคนมาตั้งคำถามกับข้าพเจ้าว่า “คุณทราบไหม ท่านอาจารย์มั่นท่านสอนให้ลูกศิษย์ของท่านกินอะไร?”

    ข้าพเจ้าไม่เข้าใจคำถามนั้นจึงย้อนถามกลับไป ท่านผู้นั้นก็บอกต่อไป

    “ต้องมีเคล็ดลับอะไรเป็นพิเศษแน่นอนครับ ไม่งั้นกระดูกของพวกท่านจะกลายเป็นพระธาตุกันมากมายอย่างไร ท่านต้องกินอะไรพิเศษแน่ ทำให้กระดูกมีลักษณะพิเศษ เผาแล้วก็เป็นพระธาตุได้ ท่านคงค้นพบแล้วก็สอนให้ลูกศิษย์กิน คุณเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดท่านหลายองค์ คงมีใครแพร่งพรายบอกคุณบ้างหรอกน่า... ”

    แล้วเพื่อนของท่านผู้นั้นก็เสริมว่า “นั่นซี...ถามจริง ๆ เถอะท่านกินอะไร”

    ข้าพเจ้าเกือบกลั้นหัวเราะไม่อยู่ แต่ก็ตอบกลับไปว่า

    “ท่านกินพุทโธ !!”


    ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.dharma-gateway.com/ubasik...-main-page.htm





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน