งานวันตรุษสงกรานต์

กระทู้: งานวันตรุษสงกรานต์

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    งานวันตรุษสงกรานต์



    ศาสนพิธีในเทศกาล

    งานวันตรุษสงกรานต์



    วันตรุษสงกรานต์ เป็นเทศกาลวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของคนไทย ซึ่งยึดถือสืบเนื่องเป็นประเพณีมาแต่โบราณกาล เป็นระยะเวลาเข้าฤดูร้อน ที่เสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าวจึงว่างจากงานประจำ มาร่วมกันทำบุญ แล้วมีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล หรือเมืองหนึ่ง ๆ
    วันตรุษ คือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ ซึ่งถือเป็นวันสิ้นปีนักษัตรหนึ่ง ๆ ตามประเพณีไทยแต่โบราณ และถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนห้า ตามจันทรคติเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาได้เปลี่ยนไปถือแบบพม่าคือ ถือวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ คือในวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งจะตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ทางสุริยคติ และถือเอาวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายนของทุกปีเป็นเทศกาลสงกรานต์
    เทศกาลตรุษ จะเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ของทุกปี ถือว่าเป็นวันพักผ่อนประจำปี หลังจากที่ได้ตรากตรำทำงานกันมาตลอดปี จะมีการทำบุญ และมีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงกัน หรือไม่ก็มีการเที่ยวเตร่ติดต่อกันไปจนถึงวันเปลี่ยนศักราชใหม่ในวันสงกรานต์ พวกแม่บ้านจะทำขนมไว้ประจำบ้าน เพื่อคอยต้อนรับแขกที่จะมาเที่ยวบ้าน และนำไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องประจำปีกัน หนุ่มสาวก็ช่วยกันทำขนมโดยเฉพาะคือ ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว คุยกันไป เล่นกันไป ร้องทำเพลงกันไปเป็นที่สนุกสนาน หรือจะมีการเล่นอื่น ๆ เช่น เล่นเพลงพวงมาลัยกันยามค่ำคืน เป็นต้น
    วันสงกรานต์ เป็นวันคาบเกี่ยวระหว่างปีต่อกัน ตามรูปศัพท์เดิม คำว่าสงกรานต์ แยกออกได้เป็นสองคำคือ สงฺกร แปลว่า ปนกัน หมายความว่าคาบเกี่ยวกัน อนฺต แปลว่าที่สุดสุดท้าย จึงแปลเอาความหมายว่าที่สุดของการคาบเกี่ยวกัน คือปีเก่ากำลังหมดไปคาบเกี่ยวกับปีใหม่ที่ย่างเข้ามา จะเห็นว่าในวันที่ ๑๓ หรือ ๑๔ เมษายน ตามทางสุริยคติในปฏิทินโหราศาสตร์ จะบอกกำหนดเวลาที่ดวงอาทิตย์จะยกเข้าไปสถิตย์ในราศีเมษ จะเห็นว่าในวันนั้นจะเป็นทั้งวันเก่าและวันใหม่ ในวันรุ่งขึ้นจึงเรียกว่า วันเนาว์ แปลว่าวันใหม่ แผลงมาจากคำบาลีว่า นวะ แปลว่าใหม่
    เมื่อถึงวันสงกรานต์ชาวไทยเราจะพากันทำขนม โดยเฉพาะการกวนขนมกาละแมกันทั่วไป ตลอดจนขนมอย่างอื่น เพื่อเตรียมทำบุญตักบาตรฉลองวันปีใหม่ หนุ่มสาวจะแต่งกายสวยงาม พากันไปทำบุญตักบาตร เอาข้าวปลาอาหารไปให้ พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ไปถือศีลกินเพลที่วัด หรือเอาไปส่งตามบ้านญาติที่อยู่ห่างไกล เป็นการไปเยี่ยมเยียนกันในปีหนึ่ง ๆ หมู่บ้านบางแห่งจะทำข้าวแช่ส่งกันถึงสามวันโดยถือคติตามแบบประวัติของวันสงกรานต์
    เมื่อเสร็จจากภารกิจอย่างอื่นแล้ว จะมาจับกลุ่มกันเล่นการละเล่นต่าง ๆ ในตอนกลางวันจะมีการเล่นชักคะเย่อ เล่นลูกช่วงปา ลูกช่วงรำ พวกเด็ก ๆ จะเล่นเข้าผีกันเช่นผีลิงลม ผีกระด้ง ผีครก เป็นต้น เมื่อถึงเวลาค่ำ จะรวมกลุ่มกันเล่นเพลงแม่พวงมาลัย รำวง เล่นสะบ้าทอย สะบ้ารำ ตามประเพณีที่เคยเล่นกันมา




    ประเพณีทำบุญตักบาตรในวันสงกรานต์ นิยมทำกันสามวัน บางแห่งอาจถึงหกวันก็มี ในวันสุดท้ายของสงกรานต์ จะมีประเพณีสรงน้ำพระ โดยชาวบ้านจะนิมนต์เอาพระพุทธรูปประจำวัด หรือหมู่บ้าน ออกมาตั้งหรือแห่ ให้ชาวบ้านทั่วไปมาทำพิธีสรงน้ำพระกัน โดยใช้น้ำอบไทยไปพรมสรงน้ำพระพุทธรูป หลังจากนั้นจึงทำพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ที่ประจำอยู่ในวัด
    ก่อนถึงวันพิธีสรงน้ำพระ จะมีทายกทายิกาของวัดมาจัดสถานที่ไว้ก่อน โดยตั้งลำรางสำหรับให้ชาวบ้านได้เทน้ำไว้ หากเป็นวัดโบราณ จะมีลำรางไว้เสร็จเรียบร้อย ลำรางดังกล่าวจะใช้ต้นตาลทั้งต้นมาขุดขัดเกลาให้เป็นรางน้ำ เพราะต้นตาลไม่ผุง่าย ทายกทายิกาจัดหาไม้ไผ่มาทำเป็นตีนกา แล้วใช้ตอกมัดให้ลาดต่ำไปโดยลำดับ จนถึงปลายรางน้ำที่จะไหลไปที่สรงน้ำ สำหรับที่สรงน้ำ จะเอาใบก้านมะพร้าวฉีกตรงกลางมากั้นที่ทาง ตามที่กะประมาณไว้เป็นรูปห้องสี่เหลี่ยม เป็นที่กั้นให้พระสงฆ์สรงน้ำผลัดผ้า มีประตูเข้าออก ปลายลำรางจะจ่อเข้าไปในห้องดังกล่าวนี้
    เมื่อชาวบ้านสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว จะนิมนต์พระสงฆ์สามเณรทั้งวัดมาประชุมพร้อมกัน โดยมากจะเป็นที่ศาลาการเปรียญ และเป็นเวลาบ่าย ๆ เมื่อทายกทายิกาและชาวบ้านไปรับศีลห้าจากพระสงฆ์แล้ว จะนิมนต์พระสงฆ์เรียงองค์ไปตามลำดับ ตั้งแต่ประธานสงฆ์เป็นต้นเรื่อยไปคราวละองค์ ไปสรงน้ำที่ห้องดังกล่าว จะนั่งบนกระดานที่วางไว้ตรงปลายลำราง พวกทายกทายิกาที่อยู่ในห้องนั้น จะร้องบอกให้ชาวบ้านที่อยู่ตามลำราง ให้เทน้ำใส่ลงไปในลำรางได้ น้ำจะไหลตามลำรางจนถึงพระสงฆ์ในห้องน้ำ เสร็จจากรูปแรกแล้ว รูปต่อไปจนถึงสามเณรก็ทำในทำนองเดียวกันจนครบทุกรูป
    เสร็จจากการสรงน้ำแล้ว ชาวบ้านจะไปรวมกันบนศาลาการเปรียญอีกครั้งหนึ่ง จะนิมนต์พระสงฆ์ทั้งหมดสวดมาติกาบังสุกุลกระดูก ซึ่งชาวบ้านได้นำเอาโกศกระดูกของปู่ย่า ตายาย หรือพ่อแม่ มารวมกันไว้บนศาลา เพื่อให้พระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุล เป็นการทำบุญส่วน ปุพพเปตพลี เป็นการทำบุญให้ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ที่ล่วงลับไปแล้ว
    เมื่อทำพิธีสวดมาติกาบังสุกุลเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงไปรดน้ำญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พรให้ลูกหลานมีความสุขความเจริญตลอดไป
    ปัจจุบันทางราชการกำหนดให้วันที่ ๑๓,๑๔, และ ๑๕ เมษายนเป็นวันหยุดราชการประจำปี รวมสามวัน เรียกว่า


    มีต่อคะ





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  2. *8q* said:

    Re: งานวันตรุษสงกรานต์





    วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง

    เริ่มจากตอนเช้ามีการยิงปืนขับไล่เสนียดจัญไร ให้ล่วงลับไปกับสังขานต์ และในแต่ละบ้านมีการทำความสะอาด ตลอดจนตามถนนและตรอกซอยเข้าบ้าน จากนั้นก็ทำความสะอาดชำระล้างร่างกาย สระเกล้าดำหัวให้สะอาดมีจิตใจผ่องใส หลังจากนั้นไปเที่ยวตามหมู่บ้านหรือในปัจจุบันนิยมไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เรียกว่า “ไปแอ่วปีใหม่” วันนี้มีการเล่นรดน้ำกันแล้ว

    วันที่ 14 เมษายน วันเนา หรือวันเน่า

    วัน “ขนทราย” หรือ วันเนา์ วันปู๋ติ วันนี้จะทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นมงคล ไม่ด่่าทอหรือทะเลาะวิวาท ตอนเช้าไปจ่ายของและอาหาร เตรียมทำบุญถวายพระ ในวันรุ่งขึ้น วันเตรียมอาหารและเครื่องไทยทานเรียกว่า“วันดา” (คำวันสุกดิบทางภาคอื่น) และทุกบ้านจะทำกับข้าวที่สามารถเก็บไว้ได้หลายวัน เช่น แกงเส้นร้อน แกงอ่อม ฯลฯ หรือไม่ก็จำพวกห่อนึ่ง เช่น ห่อนึ่งไก่ ห่อนึ่งปลา ฯลฯ พร้อมทั้งตระเตรียมอาหารหวาน และเครื่องไทยทานไว้ให้พร้อม

    ตอนบ่ายมีการขนทรายจากแม่น้ำ นำไปไว้ที่วัดใกล้บ้าน โดยก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด เจดีย์ทรายจะถูกประดับตกแต่งด้วยตุง (ธง) ทำด้วยกระดาษสีตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม และรูปอื่นๆ ชายธงมีการทานช่อ (ทำด้วยกระดาษสีต่างๆ) ตัดเป็นลวดลายติดปลายไม้สำหรับปักที่กองเจดีย์ทรายการทานธงและทานช่อนี้ ด้วยถือคติว่า ผู้บริจาคทานเมื่อตายไปแล้วจะได้อาศัยชายธง หอบหิ้วให้พ้นจากนรกได้ อานิสงส์การทานตุงหรือช่อนี้มีอยู่ในพระธรรมเทศนาใบลานตามวัดทั่วไป เจดีย์ทรายนี้จะทำพิธีถวายทานในวันรุ่งขึ้น มีการปล่อยนกปล่อยปลาอีกด้วย ในวันเดียวกันนี้มีการเล่นน้ำกันอย่างหนัก และเป็นที่สนุกสนานโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว

    ทุกๆ ปี เมื่อถึงเทศกาลตรุษสงกรานต์ ชาวเหนือมีประเพณีอย่างหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติ คือ “สุมาคารวะ” ลูกหลานจะมาขอขมาลาโทษในความผิดต่างๆ ที่เคยกระทำมาต่อญาติผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อย อันมีต่อผู้ใหญ่ เรียกกันว่า “การไปดำหัว” หรือประเพณีดำหัว การไปดำหัวของคนไทยภาคเหนือ มักจะเริ่มกันใน “วันพญาวัน” (คือวันเถลิงศก)


    วันที่ 15 เมษายน วันพญาวัน หรือวันเถลิงศก

    ตอนเช้า จัดเตรียมอาหารคาวหวานใส่สำรับไปถวายพระที่วัด และทำบุญตักบาตรและนำไปให้ผู้เฒ่า ผู้แก่ ครูอาจารย์ หรือบุคคลที่ตนเคารพนับถือ เรียกว่าไปทานขันข้าว (ตานขันข้าว) การทานขันข้าวนี้ นอกจากจะทานให้พระ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือดังกล่าวแล้วก็มีการถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลถึงญาติพี่น้อง บิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว โดยพระที่วัดจะแยกย้ายกันนั่งประจำที่บริเวณวัดเพื่อให้ศีลให้พร แก่ผู้ไปทานขันข้าว

    เสร็จจากการทำบุญตักบาตร ก็มีการถวายทานเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา มีการสรงน้ำพระพุทธเจดีย์ มีการค้ำต้นโพธิ์ภายในวัดและหมู่บ้าน มีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เช่น เชียงใหม่ก็จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป เสตังคมณี (พระแก้วขาว) วัดเชียงมั่น พระเจ้าทองทิพย์ และ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ พระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง ส่วนตามจังหวัดต่างๆ ก็จะมีการไปสักการะบูชาพระพุทธรูปสำคัญประจำบ้านเมืองตนเช่นเดียวกัน เช่น ลำปาง ก็ไปสรงน้ำพระแก้วมรกตที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เมืองน่านที่วัดพระธาตุแช่แห้ง และที่แพร่ก็ไปสรงน้ำ ที่พระธาตุช่อแฮเป็นต้น

    ตอนบ่าย ก็จะเริ่มการดำหัว และจะทำเรื่อยไปจนถึงวันรุ่งขึ้น หรือวันปากปี
    วันที่สี่ เป็นวันปากปี มีการดำหัวตามวัดต่างๆ ที่ใกล้เคียงและห่างไกล ซึ่งมีพระในวัดและในหมู่บ้านนั้นนำไป การไปดำหัวตามวัดนี้มักจะแบ่งแยกกันเป็นสายๆ เพราะบางวัดที่อยู่ห่างไกลก็ไม่ได้ไปกันอย่างทั่วถึงนอกจากวัดที่คนนิยมไปกันอย่างสม่ำเสมอ เรียกตามภาษาเมืองว่า “ไปเติงกั๋น” หรือไปวัดของเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด หรือพระเถระผู้ใหญ่


    http://variety.teenee.com/foodforbrain/14179.html <!-- / message --><!-- sig -->
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  3. *8q* said:

    Re: งานวันตรุษสงกรานต์




    นางสงกรานต

    เป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ อันเป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีดังกล่าว เป็นอุบายเพื่อให้คนโบราณได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ คือ วันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นการเถลิงศกใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติตรงกับวันใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ ปีไหนตรงกับวันใด นางสงกรานต์ที่มีชื่อสมมุติเข้ากับวันนั้นๆก็จะเป็นผู้อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ไปสรงน้ำ

    ซึ่งนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดนี้ เป็นเทพธิดาลูกสาวท้าวกบิลพรหม และเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ จากตำนานเล่าถึงท้าวกบิลพรหมแพ้พนันธรรมบาลกุมาร ต้องตัดเศียรออกบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้นไม่ว่าจะเป็นบนอากาศ บนดินหรือในน้ำ ดังนั้น ธิดาทั้งเจ็ดจึงต้องนำพานมารองรับ และนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาส

    ครั้นถึงกำหนด ๓๖๕ วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดก็จะทรงพาหนะต่างๆผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า “นางสงกรานต์” ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น โดยนัยก็คือ พระอาทิตย์ นั่นเอง เพราะกบิล หมายถึง สีแดง นอกจากตำนานข้างต้น ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับนางสงกรานต์ที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอนำมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมดังนี้



    นางสงกรานต์ของแต่ละวัน จะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะ ต่างๆ กันดังต่อไปนี้

    วันอาทิตย์ ชื่อ ทุงษ
    ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค ภักษาหารผลมะเดื่อ อาวุธขวาจักร ซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ

    วันจันทร์ ชื่อ โคราค

    ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายไม้เท้า พาหนะเสือ

    วันอังคาร ชื่อ รากษส
    ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธขวา ตรีศูล ซ้ายธนู พาหนะสุกร

    วันพุธ ชื่อ มัณฑา
    ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า พาหนะลา

    วันพฤหัสบดี ชื่อ กิริณี
    ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธขวาขอ ซ้ายปืน พาหนะช้าง

    วันศุกร์ ชื่อ กิมิทา

    ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำว้า อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายพิณ พาหนะกระบือ

    วันเสาร์ ชื่อ มโหทร
    ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธขวาจักร ซ้ายตรีศูล พาหนะนกยูง
    <!-- / message --><!-- sig -->
    __________________
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี