คู่มือพุทธประวัติ

กระทู้: คู่มือพุทธประวัติ

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    พิธีอัญเชิญพุทธสรีระ
    เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เวลานั้นเป็นเวลาปัจฉิมยามยังไม่สว่าง พระอนุรุทธะกับพระอานนท์ ได้เทศนาปลอบใจพุทธบริษัทที่กำลังเศร้าโศกให้ผ่อนคลาย เมื่อสว่างแล้วพระอนุรุทธะได้ให้พระอานนท์นำข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าไปบอกแก่กษัตริย์มัลละ กษัตริย์มัลละรับเป็นเจ้าภาพจัดงานพระบรมศพในครั้งนี้ด้วย ในวันที่ ๗ กษัตริย์มัลละประสงค์จะเคลื่อนย้ายพระบรมศพไปทางทิศทักษิณเพื่อถวายพระเพลิงนอกพระนคร ให้มัลละปาโมกข์ ๘ คนมีกำลังมาก ช่วยกันอัญเชิญพระบรมศพ แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ พระอนุรุทธะแนะว่า”เทวดาประสงค์จะให้อัญเชิญพระบรมศพ โดยเข้าทางประตูด้านทิศอุดร แล้วออกทางประตูด้านทิศบูรพาของเมืองกุสินารา ประดิษฐานที่มกุฏพันธนเจดีย์ ที่เคลื่อนย้ายไม่สำเร็จเพราะขัดความประสงค์ของเทวดา

    นางมัลลิกาถวายเครื่องประดับ
    นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุละเสนาบดี ได้ถวายเครื่องประดับชื่อ มหาลดาประสาธน์ ราคา ๙ โกฏิประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ บูชาพระบรมศพของพระพุทธเจ้า (สำหรับผู้ที่มีเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์มี ๓ คน คือนางวิสาขามหาอุบาสิกา นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุละเสนาบดี และธิดาเศรษฐีภรรยาของเทวปานิยสาร)
    ถวายพระเพลิง
    ครั้นถึงวันที่ ๘ หลังจากวันปรินิพพาน ตรงกับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อถึงเวลาถวายพระเพลิง มัลละปาโมกข์ ๔ คน ได้จุดเพลิงขึ้นทั้ง ๔ ทิศ แต่เพลิงไม่ติด พระอนุรุทธชี้แจงว่า เทวดาต้องการให้คอยพระมหากัสสปะ ซึ่งกำลังเดินทางมาจากเมืองปาวาจะมาถึงในไม่ช้า ฝ่ายพระมหากัสสปะพาภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปเดินทางมา พบอาชีวกคนหนึ่งถือดอกมณฑารพ(ดอกไม้สวรรค์) เดินสวนทางมา ซึ่งดอกไม้สวรรค์นี้จะตกลงมาเฉพาะในวันสำคัญๆ ๖ เวลา คือ
    ๑. พระโพธิสัตว์จุติลงสู่พระครรภ์
    ๒. พระโพธิสัตว์ประสูติ
    ๓. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้
    ๔. พระพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
    ๕. พระพุทธเจ้าปลงพระชนมายุสังขาร
    ๖. พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    อาชีวกพูดว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว เมื่อทราบข่าว พระสงฆ์ที่เป็นปุถุชนต่างเศร้าโศกเสียใจ ส่วนท่านที่เป็นพระอรหันต์ก็เกิดธรรมสังเวชสลดใจ ขณะนั้นภิกษุผู้เฒ่าบวชเมื่อสายกายแก่รูปหนึ่งชื่อ สุภัททะวุฑฒบรรพชิต ได้กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย เป็นการดูหมิ่นพระศาสดาอย่างรุนแรงว่า “ท่านทั้งหลาย จะร้องไห้ไปทำไม บัดนี้เราพ้นแล้วจากอำนาจทั้งปวงของพระพุทธเจ้า เมื่อยังมีพระชนม์อยู่ ก็ห้ามปรามว่า สิ่งนี้ควรสิ่งนี้ไม่ควร อึดอัดใจเหลือเกิน เมื่อปรินิพพานแล้วอย่างนี้ พวกเราจะทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา พวกท่านยังไม่ชอบอีกหรือ” พระมหากัสสปะได้ยินเกิดความสลดใจยิ่งนักคิดว่า เมื่อถึงโอกาสอันควรจะทำสังคายนารวบรวมคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ มิฉะนั้นจะถูกพวกไม่รู้จักอาย (อลัชชี) เหยียบย่ำเสียหาย
    เมื่อพระมหากัสสปะเดินทางมาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ เข้าไปกราบพระบรมศพ ไฟก็ลุกขึ้นเองอย่างน่าอัศจรรย์ เผาไหม้ส่วนต่างๆจนหมดสิ้น เหลือแต่สิ่งที่ทรงอธิษฐานไว้ ๕ อย่าง คือ ๑.พระอัฐิ ๒.พระเกศา ๓.พระโลมา ๔.พระนขา ๕.พระทันตา รวมทั้งพระเขี้ยวแก้วและผ้าขาว ๑ ผืน
    หมายเหตุ วันถวายพระเพลิงพุทธสรีระมีพระสงฆ์เข้าร่วมพิธี ๗ แสนรูป

    ขนาดของพระบรมสารีริกธาตุ
    ๑. ขนาดใหญ่ เท่าเมล็ดถั่วแตก
    ๒. ขนาดกลาง เท่าเมล็ดข้าวสารหัก
    ๓. ขนาดเล็ก เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด


    แจกพระบรมสารีริกธาตุ
    เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว กษัตริย์มัลละได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ที่ สัณฐาคารศาลา ภายในพระนครกุสินารา ทำการสมโภชตลอด ๗ วัน กษัตริย์ ๗ เมือง ได้ส่งราชทูตของตนไปขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เกือบจะเกิดสงครามแย่งชิงกัน เนื่องจากกษัตริย์มัลละไม่ยอมแบ่งให้ โทณพราหมณ์ ช่วยแก้สถานการณ์ไว้ได้ด้วยคำพูดว่า “พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญขันติ ความอดทน อหิงสา การไม่เบียดเบียนกัน สามัคคี ความพร้อมเพรียงกัน พวกเราควรปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ จงสามัคคีปรองดองกัน (อ้างสามัคคีธรรม) แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เท่าเทียมกันเถิด” โทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนๆละ ๒ ทะนาน(ตุมพะ) ให้แก่กษัตริย์ ๗ นคร และพราหมณ์อีก ๑ นคร รวม ๘ นคร ดังนี้
    ๑. พระเจ้าอชาตศัตรู เมืองราชคฤห์
    ๒. กษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี
    ๓. พระเจ้ามหานามะ เมืองกบิลพัสดุ์
    ๔. พระเจ้าถูลิยะ เมืองอัลลกัปปะ
    ๕. พระเจ้าโกลิยะ เมืองรามคาม(เดิมเป็นเทวทหะ)
    ๖. กษัตริย์มัลละ เมืองปาวา
    ๗. กษัตริย์มัลละ เมืองกุสินารา
    ๘. พราหมณ์ เมืองเวฏฐทีปกะ
    ทั้ง ๘ นคร นำพระบรมสารีริกขธาตุไปบรรจุไว้ในเจดีย์ เรียกว่า ธาตุเจดีย์ ฝ่ายโทณพราหมณ์ได้ลอบเอาพระเขี้ยวแก้วด้านขวา(พระทักษิณทาฐธาตุ)ซ่อนไว้ในมวยผม ท้าวสักกเทวราช ทราบจึงแฝงพระกายหยิบเอาพระเขี้ยวแก้วไปประดิษฐานไว้ที่ จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดืงส์ โทณพราหมณ์จึงขอตุมพะ หรือทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุนำไปบรรจุไว้ในสถูปเรียกว่า ตุมพสถูป ต่อมาโมริยกษัตริย์ จากโมริยนคร เมืองปิปผลิวัน ได้มาขอส่วนแบ่งภายหลัง จึงได้พระอังคาร(เถ้า) นำไปบรรจุไว้ในสถูป เรียกว่า อังคารสถูป
    <!-- / message -->
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  2. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    เจดีย์ ๔ ประเภท
    ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม ฯลฯ เป็นธาตุเจดีย์

    บริโภคเจดีย์ บรรจุอัฏฐบริขาร เช่น บาตร จีวร ของพระพุทธเจ้า เสนาสนะที่อยู่อาศัย เช่น กุฎี วิหาร ภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ ลำธาร สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง อังคารสถูป ตุมพสถูป พระแท่นดงรัง (กาญจนบุรี) รอยพระบาท(สระบุรี)
    ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรมคำสอน เช่น ใบลาน แผ่นศิลาจารึก ตู้พระไตรปิฎก หนังสือธรรม
    อุทเทสิกเจดีย์ สร้างไว้เป็นที่ระลึก ไม่มีอะไรบรรจุอยู่ภายใน เช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ พระพุทธรูป เจดีย์ทราย โลหปราสาท(วัดราชนัดดา กรุงเทพฯ)
    ต่อมาพระมหากัสสปะเห็นว่า พระบรมสารีริกธาตุอาจสูญหายหรือเป็นอันตราย จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด (ยกเว้นเมืองรามคาม เพราะพญานาคจะอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในมหาเจดีย์ สำนักมหาวิหาร เกาะลังกา) ไปบรรจุไว้ในห้องใต้ดิน ลึก ๘๐ ศอก จารึกข้อความลงในแผ่นทองว่า “ในอนาคต พระเจ้าอโศกมหาราช จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุแจกจ่ายไปทั่วชมพูทวีป” ยังมีข้อความที่บานประตูจารึกไว้ว่า “ในอนาคตจะมีพระยาเข็ญใจองค์หนึ่ง มารื้อห้องพระบรมสารีริกธาตุ จงเอาท่อนแก้วมณีนี้สักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุเถิด” (พระยาเข็ญใจ หมายถึง พระเจ้าอโศกมหาราช)

    สังคายนาครั้งที่ ๑ (ปฐมสังคายนา)
    เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน พระมหากัสสปะได้ชักชวนพระอรหันตเถระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ เพื่อร้อยกรองรวบรวมพระธรรมวินัยไว้เป็นหมวดหมู่ รวม ๓ หมวด คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก(พระสูตร) พระอภิธรรมปิฎก(พระปรมัตถ์)
    ประธาน พระมหากัสสปะ
    ปรารภเหตุ พระสุภัททะ วุฑฒบรรพชิต(พระผู้บวชเมื่อแก่)ดูหมิ่นพระธรรมวินัย
    วันที่ทำ พระพุทะเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน
    สถานที่ทำ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ใกล้ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์
    เวลาที่ทำ ทำอยู่ ๗ เดือน จึงสำเร็จ
    ประชุมสงฆ์ พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป
    ผู้ปุจฉา พระมหากัสสปะ
    ผู้วิสัชนาพระวินัย พระอุบาลี
    ผู้วิสัชนาพระสูตร พระอานนท์
    ผู้วิสัชนาพระอภิธรรม พระอานนท์
    ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้าอชาตศัตรู

    สังคายนาครั้งที่ ๒ (ทุติยสังคายนา)
    ประธาน พระยสกากัณฑบุตรเถระ
    ปรารภเหตุ ภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลี ขัดแย้งเรื่องวัตถุ ๑๐ ประกา
    วันที่ทำ พระพุทธเจ้านิพพานได้ ๑๐๐ ปี
    สถานที่ทำ วาลุการาม เมืองเวสาลี
    เวลาที่ทำ ๘ เดือนจึงสำเร็จ
    ประชุมสงฆ์ ๕๐๐ รูป
    ผู้ปุจฉา พระสัพพกามีเถระ
    ผู้วิสัชนา พระเรวตะเถระ
    ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้ากาลาโศกราช เมืองเวสาลี

    สังคายนาครั้งที่ ๓ (ตติยสังคายนา)
    ประธาน พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ
    ปรารภเหตุ เดียรถีย์ ๖๐,๐๐๐ คนปลอมบวชเพื่อหวังลาภสักการะ
    วันที่ทำ พระพุทธเจ้านิพพานได้ ๒๓๔ ปี
    เวลาที่ทำ ทำอยู่ ๙ เดือน จึงสำเร็จ
    ประชุมสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป
    ผู้ปุจฉา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ
    ผู้วิสัชนา พระมัชฌันติกเถระ กับ พระมหาเทวเถระ
    ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้าอโศกมหาราช(พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช) เมืองปาฏลีบุตร
    สังคายนาครั้งที่ ๓ ทำให้ศาสนาแพร่หลาย เพราะพระเจ้าอโศกมหาราชร่วมกับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระศาสนายังแคว้นต่างๆรวม ๙ สาย สายที่มายังดินแดนสุวรรณภูมิ (พม่า ไทย ลาว) มีพระโสณเถระกับพระอุตตรเถระเป็นหัวหน้า มีหลักฐานยืนยันคือ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

    สังคายนาครั้งที่ ๔ (จตุตถสังคายนา)
    ประธาน พระมหินทเถระ
    ปรารภเหตุ เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป (ทำในลังกาทวีป)
    วันที่ทำ พระพุทธเจ้านิพพานได้ ๒๓๖ ปี
    เวลาที่ทำ ทำอยู่ ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ
    ประชุมสงฆ์ ๘๐๐ รูป
    ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้าเทวนัมปิยติสสะ



    สังคายนาครั้งที่ ๕ (ปัญจมสังคายนา)
    ประธาน พระพุทธัตถะเถระ
    ปรารภเหตุ ในอนาคตจะหาผู้ท่องจำพระพุทธพจน์(มุขปาฐะ)ไม่ได้ จึงต้องจารึก เป็นตัวอักษรลงในใบลาน
    วันที่ทำ พระพุทธเจ้านิพานได้ ๔๕๐ ปี
    สถานที่ทำ ถ้ำอาโลกเลณะ ลังกาทวีป
    ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย
    การสังคายนาครั้งที่ ๕ ทำให้ศาสนาตั้งมั่น เพราะมีการจารึกคำสอนลงในใบลาน เป็นครั้งแรก (จารึกคำสอนเป็นภาษาบาลี อักษรสิงหล
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  3. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    สรุปเหตุการณ์สำคัญ
    ช่วงพระชนมายุของพระพุทธเจ้า
    ๑. อยู่ในพระครรภ์ ๑๐ เดือน
    ๒. เป็นฆราวาสก่อนอภิเษกสมรส ๑๖ พรรษา
    ๓. เสวยราชสมบัติ ๑๓ พรรษา
    ๔. บำเพ็ญทุกรกิริยา ๖ พรรษา
    ๕. บำเพ็ญพุทธกิจ ๔๕ พรรษา
    ๖. รวมพระชนมายุ ๘๐ พรรษา

    เหตุการณ์ในระหว่างพระชนมายุ
    ๑. ขนานพระนาม เมื่อพระชนมายุได้ ๕ วัน (พระชนมายุได้ ๓ วัน อสิตดาบสเข้าเยี่ยม)
    ๒. พระมารดาสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุได้ ๗ วัน
    ๓. สร้างสระโบกขรณี ได้ปฐมฌาน เมื่อพระชนมายุได้ ๗ พรรษา
    ๔. ศึกษาศิลปวิทยา สำนักครูวิศวามิตร เมื่อพระชนมายุ ๘ พรรษา
    ๕. อภิเษกสมรส สร้างปราสาท ๓ ฤดู เสวยราชสมบัติเมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา
    ๖. เสด็จออกผนวช เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา
    ๗. ตรัสรู้ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา
    ๘. ปลงอายุสังขาร เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา
    ๙. ทรงกำหนดอายุพระพุทธศาสนาไว้ ๕,๐๐๐ ปี

    ลำดับพระญาติที่ควรจำ
    ๑. พระเจ้าชยเสนะ เป็นพระไปยกา (ปู่ทวด)
    ๒. พระเจ้าสีหหนุ พระเจ้าอัญชนะ เป็นพระอัยกา(ปู่,ตา)
    ๓. พระนางยโสธรา พระนางกาญจนา เป็นพระอัยยิกา,พระอัยกา (ย่า,ยาย)
    ๔. พระเจ้าสุปปพุทธะ ทัณฑปาณิ เป็นพระมาตุลา(ลุง)
    ๕. พระเจ้าสุกโกทนะ ฆนิโตทนะ เป็นพระปิตุลา (อาชาย)
    ๖. พระนางอมิตา พระนางปมิตา เป็นพระปิตุจฉา (อาหญิง)
    ๗. พระนางปชาบดีโคตมี เป็นพระมาตุจฉา (น้าหญิง)
    ๘. พระนันทะ เป็นพระอนุชา (น้องชายร่วมบิดา)
    ๙. พระนางรูปนันทา เป็นพระกนิษฐภคินี (น้องสาวร่วมพระบิดา)
    ๑๐.พระอานนท์ เป็นพระอนุชา (ลูกพี่ลูกน้อง)
    ๑๑.พระราหุล เป็นพระโอรส(ลูกชาย)

    สหชาติ คือผู้เกิดวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ
    ๑. พระนางยโสธรา พิมพา
    ๒. พระอานนท์
    ๓. กาฬุทายีอำมาตย์
    ๔. นายฉันนะ
    ๕. ม้ากัณฐกะ
    ๖. ต้นศรีมหาโพธิ์
    ๗. ขุมทองทั้ง ๔



    ผู้ถูกธรณีสูบ ๕ คน
    ๑. พระเทวทัตต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า

    ๒. นางจิญจมาณวิกา ใส่ร้ายพระพุทธเจ้าด้วยอสัทธรรม
    ๓. พระเจ้าสุปปพุทธะ ปิดทางโคจรบิณฑบาตของพระพุทธเจ้า
    ๔. นันทยักษ์ ตีศีรษะพระสารีบุตร
    ๕. นันทมานพ ข่มขืนพระอุบลวรรณาเถรี


    ครูทั้ง ๖
    ในสมัยพุทธกาล มีผู้ตั้งตัวเป็นศาสดามากมาย ที่มีชื่อเสียง ๖ คน
    ๑. ปูรณกัสสปะ สอนแบบอกิริยวาทะ (วาทะว่าไม่เป็นอันทำ) เช่น ผลของบุญบาปไม่มี ใครทำความดีความชั่วก็ไม่ได้รับผลของกรรมนั้น ฆ่าเขา ปล้นเขา ก็ไม่บาป ให้ทาน รักษาศีล ก็ไม่ได้บุญ (อกิริยทิฐิ)
    ๒. มักขลิโคศาล สอนแบบอเหตุกวาทะ (วาทะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย) สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ไม่มีเหตุหรือปัจจัยสนับสนุน (อเหตุกทิฐิ)
    ๓. อชิตเกสกัมพล สอนแบบนัตถิกวาทะ (วาทะว่าไม่มี) สรรพสิ่งในโลกไม่มีทั้งสิ้น บุญบาปไม่มี ทานไม่มี ศีลไม่มี การเวียนว่ายตายเกิดไม่มี ตายแล้วก็สิ้นสุดเพียงนั้น (นัตถิกทิฐิ)
    ๔. ปกุทธกัจจายนะ ห้ามน้ำเย็น ใช้แต่น้ำร้อน สอนแบบสัสสตวาทะ (วาทะว่าเที่ยง) ฆ่ากันไม่บาป ไม่มีใครฆ่าใคร ไม่มีใครถูกฆ่า คนเราไม่ตาย มีชีวิตยั่งยืน
    ๕. นิครนถ์นาฏบุตร เจ้าลัทธิเปลือยกาย เป็นคนเดียวที่มาจากตระกูลกษัตริย์ ในเมืองเวสาลี เกิดหลังพระพุทธเจ้า ๒ ปี รู้กันในนามมหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน หลักคำสอนใช้หลัก สังวรด้วยสังวร ๔ คือ
    ๑. เป็นผู้ข้ามน้ำทั้งปวง
    ๒. เป็นผู้ประกอบด้วยน้ำทั้งปวง
    ๓. เป็นผู้กำจัดด้วยน้ำทั้งปวง
    ๔. เป็นผู้ประพรมด้วยน้ำทั้งปวง
    ลัทธินี้ ยึดหลักอหิงสาอย่างเคร่งครัด แม้แต่หายใจก็ต้องใช้ผ้าปิดจมูก เพราะกลัวหายใจเอาสิ่งมีชีวิตเข้าไป น้ำกินน้ำใช้ต้องกรองก่อนเสมอ
    ๖. สัญชัยเวลัฏฐบุตร อาจารย์ของอุปติสสะและโกลิตะ หลักคำสอนใช้หลักดิ้นได้ไม่ตายตัว(อมราวิกเขปิกา) เวลาสอนผู้ฟังจะจับหลักอะไรไม่ได้เลย ชวนให้เวียนหัวเป็นที่สุด เช่น เมื่อถูกถามว่า โลกหน้ามีหรือไม่ ก็ตอบว่า ถ้ารู้ว่ามีก็ตอบว่ามี ข้าพเจ้าว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างอื่นก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่....ปวดหัว...

    ขุมทองทั้ง ๔
    ๑. สังขนิธี
    ๒. เอสนิธี
    ๓. อุบลนิธี
    ๔. ปุณฑริกนิธี (ทั้งหมดเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า)



    ศิลปะ ๑๘ อย่าง ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษา
    ๑. ไตรเพทางคศาสตร์ พระเวทของพระเจ้า (คัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์)
    ๒. สรีรศาสตร์ อวัยวะร่างกาย
    ๓. สังขยาศาสตร์ คณิตศาสตร์,คำนวณ
    ๔. สมาธิศาสตร์ สมาธิ
    ๕. นิติศาสตร์ กฎหมาย
    ๖. วิเสวิกศาสตร์ แยกประเภทคน
    ๗. คันธัพศาสตร์ ฟ้อนรำ,ขับร้อง
    ๘. โชติศาสตร์ ทำนายเหตุการณ์
    ๙. ติกิจฉศาสตร์ แพทย์
    ๑๐.โบราณศาสตร์ โบราณคดี
    ๑๑.ศาสนศาสตร์ ศาสนา
    ๑๒. โหราศาสตร์ ทำนาย
    ๑๓. มายาศาสตร์ เล่นกล
    ๑๔. เหตุศาสตร์ ค้นหาเหตุ
    ๑๕. วันถุศาสตร์ การคิด
    ๑๖. ยุทธศาสตร์ การรบ
    ๑๗. ฉันทศาสตร์ การประพันธ์
    ๑๘. ลักษณะศาสตร์ ดูลักษณะคน
    สิทธัตถะกุมารประสูติแล้วเดินได้ ๗ ก้าว หมายถึง ประกาศศาสนาได้ ๗ แคว้น
    ๑. กาสี กับ โกศล
    ๒. อังคะ กับ มคธ
    ๓. สักกะ
    ๔. วัชชี
    ๕. มัลละ
    ๖. วังสะ
    ๗. อุรุ




    พุทธกิจ (กิจวัตรประจำวันของพระพุทธเจ้า)
    ๑. ปุพฺพญฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าบิณฑบาต
    ๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นแสดงธรรม
    ๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุ
    ๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหํ เที่ยงคืนแก้ปัญหาเทวดา
    ๕. ปจฺจุเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ เวลาใกล้รุ่งตรวจดูสัตว์โลก


    <!-- / message -->
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  4. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    พุทธนิวาสสถาน (สถานที่จำพรรษาของพระพุทธเจ้า)
    พรรษาที่ ๑ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
    พรรษาที่ ๒-๓-๔ เวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์
    พรรษาที่ ๕ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี
    พรรษาที่ ๖ มกุฏบรรพต แคว้นมคธ
    พรรษาที่ ๗ ดาวดึงส์เทวโลก (บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์) โปรดพุทธมารดา
    พรรษาที่ ๘ ป่าเภสกวัน ป่าไม้เพกา แขวงตัคคราชชนบท
    พรรษาที่ ๙ ป่ารักขิตวัน ปาลิไลยกวัน เมืองโกสัมพี
    พรรษาที่ ๑๐-๑๑ ป่าใกล้บ้านสาเลยกพราหมณ์
    พรรษาที่ ๑๒ ใต้ต้นสะเดา ซึ่งนเฬรุยักษ์รักษา
    พรรษาที่ ๑๓ ภูเขาปาลิไลยกบรรพต
    พรรษาที่ ๑๔ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
    พรรษาที่ ๑๕ นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์
    พรรษาที่ ๑๖ เมืองอาฬวี โปรดอาฬวกยักษ์
    พรรษาที่ ๑๗-๑๙ เวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์
    พรรษาที่ ๒๐-๒๙ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
    พรรษาที่ ๓๐-๓๕ บุพพาราม เมืองสาวัตถี
    พรรษาที่ ๓๖-๔๔ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
    พรรษาที่ ๔๕ บ้านเวฬุคาม เมืองเวสาลี

    ชื่อสังเวชนียสถานสมัยพุทธกาลและสมัยปัจจุบัน
    ๑. สถานที่ประสูติ
    สมัยพุทธกาล สวนลุมพินีวัน
    สมัยปัจจุบัน ตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล
    ๒. สถานที่ตรัสรู้
    สมัยพุทธกาล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
    สมัยปัจจุบัน พุทธคยา (Buddha Gaya) ประเทศอินเดีย
    ๓. สถานที่แสดงปฐมเทศนา
    สมัยพุทธกาล ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
    สมัยปัจจุบัน สารนาถ ประเทศอินเดีย
    ๔. สถานที่ปรินิพพาน
    สมัยพุทธกาล สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา
    สมัยปัจจุบัน กาเซีย(Kasia หรือ Kusinara) ประเทศอินเดีย

    ทรงเปล่งอุทานในคืนตรัสรู้
    “นับตั้งแต่ตถาคตท่องเที่ยวสืบหาตัวนายช่างผู้ทำเรือนคือตัณหา ตลอดชาติสงสารนับประมาณมิได้ ก็มิได้พบ ดูก่อนตัณหาคือนายช่างผู้ทำเรือน บัดนี้ตถาคตพบท่านแล้ว แต่นี้ไปท่านจะทำเรือนให้ตถาคตอีกไม่ได้แล้ว ช่อฟ้าเราก็ทำลายแล้ว กลอนเรือนเราก็รื้อออกแล้ว จิตขอเราปราศจากสังขารเครื่องปรุงแต่งให้เกิดในภพอื่นๆเสียแล้ว ถึงความดับสูญสิ้นแห่งตัณหา ไม่มีเหลืออีกแน่แท้”(ทรงเปรียบตัณหาเหมือนนายช่างผู้ทำเรือน)
    บริษัท ๔
    ๑. ภิกษุ (รวมทั้งสามเณรด้วย)
    ๒. ภิกษุณี (รวมทั้งสามเณรีและนางสิกขมานาด้วย)
    ๓. อุบาสก
    ๔. อุบาสิกา (รวมทั้งชีด้วย)

    โลหะปราสาท มี ๓ แห่ง
    ๑. สมัยพุทธกาล นางวิสาขาสร้างถวาย ชื่อว่า มิคารมาตุปราสาท ขนาด ๒ ชั้น ๑,๐๐๐ ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ (เป็นบริโภคเจดีย์)
    ๒. ในประเทศลังกา พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย สร้างเมื่อ พ.ศ.๓๘๒ ขนาด ๙ ชั้น ๑,๐๐๐ ห้อง หลังคามุงด้วยทองแดง (เป็นบริโภคเจดีย์)
    ๓. ในประเทศไทย รัชกาลที่ ๓ สร้างเพื่อเป็นฐานรองรับเจดีย์ ๓๗ ยอด (มีจำนวนเท่ากับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อยู่ที่วัดราชนัดดาราม กรุงเทพมหานคร ปลายยอดทำด้วยโลหะ (เป็นอุทเทสิกเจดีย์)

    เบญจคีรีนคร (เมืองราชคฤห์) นครที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ๕ ลูก
    ๑. ภูเขาคิชกูฏ
    ๒. ภูเขาเวภาระ
    ๓. ภูเขาเวปุลละ
    ๔. ภูเขาอิสิคิลิ
    ๕. ภูเขาคิริพพชะ

    ปัญจมหานที แม่น้ำสำคัญ ๕ สาย ในชมพูทวีป
    ๑. คงคา
    ๒. ยมุนา
    ๓. สรพู
    ๔. อจิรวดี
    ๕. มหิ

    ปัจฉิมวาทะของพระเทวทัตต์
    “พระผู้มีพระภาคทรงเป็นอัครบุรุษ ยอดแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษอันประเสริฐ สมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะเป็นร้อย เพรียบพร้อมด้วยสมันตจักษุญาณ หาที่เปรียบมิได้ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคเป็นสรณะ พร้อมด้วยกระดูกคางและลมหายใจ”
    พระเทวทัตต์จะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าพระนามว่า อัฏฐิสสระ เมื่อชดใช้กรรมในอเวจีนรกแล้ว


    จบบริบูรณ์
    สาธุๆๆ


    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี