คู่มือพุทธประวัติ

กระทู้: คู่มือพุทธประวัติ

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. *8q* said:

    คู่มือพุทธประวัติ

    จากฝ่ายจริยศึกษาโรงเรียนวัดดอน สำนักงานเขตสาธร กรุงเทพฯ
    การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า มี ๒ อย่าง

    ๑ รูปกายอุบัติ หมายถึง การเกิดขึ้นด้วยรูปกาย มี ๒ อย่าง
    จุติลงสู่พระครรภ์มารดา เรียกว่า โอกกันติ
    ประสูติจากพระครรภ์มารดา เรียกว่า นิกขมนะ
    ๒. ธรรมกายอุบัติ หมายถึง การเกิดขึ้นด้วยธรรมกาย คือ การตรัสรู้

    ทรงตรวจดูฐานะ ๕ อย่าง
    พระโพธิสัตว์(ชื่อเรียกพระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญบารมีก่อนตรัสรู้) เกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงพระนามว่า “สันดุสิตเทพบุตร” ก่อนจะจุติจากเทวโลกมาเกิดในโลกมนุษย์ ทรงพิจารณาฐานะ ๕ อย่าง เรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ คือ
    ๑. กาล หมายถึง อายุของมนุษย์ในยุคนั้นต้องไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ไม่เกิน ๑ แสนปี
    ๒. ทวีป หมายถึง ชมพูทวีป
    ๓. ประเทศ หมายถึง มัธยมประเทศ
    ๔. สกุล หมายถึง สกุลกษัตริย์หรือพราหมณ์
    ๕. มารดา หมายถึง หญิงนั้นต้องบำเพ็ญบารมีมา ๑ แสนกัปป์ รักษาศีล ๕ เป็นนิจ

    ปัญจบุพนิมิต ๕ อย่าง (อาการของเทวดาเมื่อใกล้จะจุติ)
    ๑. ดอกไม้ประดับพระวรกายเหี่ยวแห้ง
    ๒. พระภูษาเศร้าหมอง
    ๓. พระเสโทไหลออกจากพระกัจฉะ
    ๔. พระวรกายซูบผอม
    ๕. เบื่อหน่ายในทิพย์สมบัติ

    ชมพูทวีป
    ชมพูทวีป คือประเทศอินเดียโบราณ อยู่ทางทิศพายัพ(ตะวันออกเฉียงเหนือ) ของประเทศไทย (ชมพู แปว่า ต้นหว้า) ปัจจุบันชมพูทวีปแบ่งออกเป็น อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ปากีสถาน ภูฐาน
    กลุ่มชนในชมพูทวีป มี ๒ กลุ่ม (๒ เผ่า)
    ๑. เผ่ามิลักขะ (ดราวิเดียน) ปกครองชมพูทวีปมาก่อน ไม่ฉลาดนัก
    ๒. เผ่าอริยกะ (อารยัน) อพยพมาจากตอนเหนือของชมพูทวีป ข้ามภูเขาหิมาลัยมาขับไล่พวกมิลักขะ ให้ถอยร่นไปทางใต้แล้วเข้าครอบครองชมพูทวีปแทน พวกอริยกะเป็นคนฉลาดและมีอำนาจมาก จึงปกครองชมพูทวีปได้ดีกว่าพวกมิลักขะ (พระพุทธเจ้าเป็นชนเผ่าอริยกะ)



    ชมพูทวีป แบ่งเป็น ๒ ส่วน ( ๒ จังหวัด)
    ๑. จังหวัดส่วนใน เรียกว่า มัชฌิมชนบท หรือ มัธยมประเทศ หมายถึง ประเทศส่วนกลาง เป็นที่อยู่ของพวกอริยกะ เจริญรุ่งเรืองมาก
    ๒. จังหวัดส่วนนอก เรียกว่า ปัจจันตชนบท หมายถึง ประเทศชายแดน เป็นที่อยู่ของชนเผ่ามิลักขะ ไม่สู้เจริญนัก

    อาณาเขตของมัชฌิมชนบท
    ทิศบูรพา จรดมหาสาลนคร หรือ เบงกอล
    ทิศอาคเนย์ จรดแม่น้ำสัลลวดี
    ทิศทักษิณ จรดเสตกัณณนิคม หรือ เดกกัน
    ทิศปัจจิม จรดถูนคาม หรือ บอมเบ
    ทิศอุดร จรดภูเขาอุลีรธชะ หรือ เนปาล

    ชมพูทวีป มี ๒๑ แคว้น
    อังคะ เมืองหลวงชื่อ จัมปา
    มคธ เมืองหลวงชื่อราชคฤห์
    กาสี เมืองหลวงชื่อ พาราณสี
    โกศล เมืองหลวงชื่อ สาวัตถี
    วัชชี เมืองหลวงชื่อ เวสาลี
    มัลละ เมืองหลวงชื่อ ปาวา และ กุสินารา
    เจตี เมืองหลวงชื่อ โสตถิวดี
    วังสะ เมืองหลวงชื่อ โกสัมพี
    กุรุ เมืองหลวงชื่อ อินทปัตถ์
    ๑๐ ปัญจาละ เมืองหลวงชื่อ กัปปิลละ
    ๑๑ มัจฉะ เมืองหลวงชื่อ สาคละ
    ๑๒ สุรเสนะ เมืองหลวงชื่อ มถุรา
    ๑๓ อัสสกะ เมืองหลวงชื่อ โปตลี
    ๑๔ อวันตี เมืองหลวงชื่อ อุชเชนี
    ๑๕ คันธาระ เมืองหลวงชื่อ ตักกสิลา
    ๑๖ กัมโพชะ เมืองหลวงชื่อ ทวารกะ
    ๑๗ สักกะ เมืองหลวงชื่อ กบิลพัสดุ์
    ๑๘ โกลิยะ เมืองหลวงชื่อ เทวทหะ
    ๑๙ ภัคคะ เมืองหลวงชื่อ สุงสุมาระคีระ
    ๒๐ วิเทหะ เมืองหลวงชื่อ มิถิลา
    ๒๑ อังคุตตราปะ เมืองหลวงชื่อ อาปณะ
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  2. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    การปกครอง
    มีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง ตั้งตนเป็นมหาราชาบ้าง ราชาบ้าง ปกครองโดยสิทธิ์ขาดแบบเผด็จการบ้าง โดยสามัคคีธรรม แบบประชาธิปไตยบ้าง

    วรรณะ ๔
    คนในชมพูทวีป แบ่งเป็น ๔ พวก เรียกว่า วรรณะ ๔
    กษัตริย์ พวกเจ้า มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง ถือตัวว่าเป็นวรรณะสูงสุด ศาสนาพราหมณ์ถือว่า เกิดจากแขนของพระพรหม มีสัญลักษณ์สีแดง
    พราหมณ์ พวกเล่าเรียน มีหน้าที่ศึกษาลัทธิศาสนาและวิทยาการต่างๆ พร้อมทั้งสั่งสอนประชาชน ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ถือตัวว่าเป็นวรรณะสูงสุด เพราะเกิดจากพระโอษฐ์(ปาก) ของพระพรหม มีสัญลักษณ์สีขาว
    แพศย์ พวกพลเรือน มีหน้าที่ประกอบอาชีพส่วนตัว เช่น กสิกรรม พาณิชกรรม(ทำไร่ทำนา ค้าขาย) จัดเป็นวรรณะชั้นสามัญหรือชั้นกลาง เกิดจากลำตัวหรือสะโพกของพระพรหม สัญลักษณ์สีเหลือง
    ศูทร พวกคนงาน มีหน้าที่รับจ้าง เป็นกรรมกรหรือคนใช้ภายในบ้าน เพราะการศึกษาต่ำ และยากจน จัดเป็นวรรณะต่ำสุด เกิดจากเท้าของพระพรหม มีสัญลักษณ์สีดำ
    พวกที่อยู่ในวรรณะชั้นสูง รังเกียจพวกที่อยู่ในวรรณะต่ำ ไม่ยอมสมสู่แต่งงานด้วย อย่างไรก็ตาม คนในวรรณะสูงบางคน เช่น หญิงสาวจากวรรณะพราหมณ์ ลักลอบได้เสียกับหนุ่มในวรรณะศูทร ลูกที่เกิดมาเรียกว่า “จัณฑาล” ถือว่าเลวทรามเป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของคนทั่วไป

    การศึกษาของคนในวรรณะทั้ง ๔
    ๑. กษัตริย์ ศึกษาเรื่องการปกครอง ยุทธวิธีในการรบ
    ๒. พราหมณ์ ศึกษาไตรเพทและพิธีกรรมทางศาสนา
    ๓. แพศย์ ศึกษาการค้าขาย กสิกรรม หัตถกรรม
    ๔. ศูทร ศึกษางานต้องใช้เรี่ยวแรง (กรรมกร)

    ความเห็นเรื่องการตาย-เกิด
    ความเห็นของคนในยุคนั้นแบ่งเป็น ๒ พวก
    พวกที่ ๑ เห็นว่าตายแล้วเกิด พวกนี้พยายามทำความดีเพื่อไปเกิดในภพที่ดีกว่า
    พวกที่ ๒ เห็นว่าตายแล้วสูญ พวกนี้ไม่สนใจทำความดี เพราะเห็นว่าตายแล้วไม่เกิดอีก
    ความเห็นเรื่องสุข-ทุกข์
    พวกที่ ๑ เห็นว่า สัตว์หรือมนุษย์จะได้สุขหรือทุกข์ก็ได้เองไม่มีเหตุปัจจัยบันดาล
    พวกที่ ๒ เห็นว่า สุข-ทุกข์ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง มีเหตุปัจจัยบันดาลให้เกิด
    พวกที่ ๑ ขาดการขวนขวาย คอยแต่จะรับสุข-ทุกข์ สุดแต่จะเป็นไป ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม
    พวกที่ ๒ เว้นชั่วประพฤติดี พยายามสร้างเหตุดี เพื่อคอยรับผลดีตอบสนอง
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  3. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    การเผยแผ่ลัทธิ
    มีการตั้งตัวเป็นศาสดาสั่งสอนลัทธิความเชื่อถือของตนในหมู่ประชาชน ทำให้เกิดมีศาสดาและเจ้าลัทธิมากมาย เช่น ปูรณกัสสปะ สัญชัย เป็นต้น ศาสดาบางคนมีชื่อเสียงได้รับการยกย่องนับถือยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินก็มี

    ลัทธิศาสนาพราหมณ์
    คนในยุคนั้นทุกวรรณะส่วนใหญ่นับถือลัทธิศาสนาพราหมณ์ (มีพระพรหมเป็นพระเจ้า) มีคัมภีร์ เรียกว่า ไตรเพท หรือ ไตรเพทางค์ คือ
    ๑. ฤคเวท ว่าด้วยบทสวดอ้อนวอน และการสรรเสริญพระเจ้า
    ๒. ยชุรเวท ว่าด้วยพิธีกรรมและการบวงสรวง
    ๓. สามเวท ว่าด้วยบทสวดในพิธีถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์
    ๔. อาถรรพณเวท ว่าด้วยคาถาอาคม มนต์ขลัง สำหรับขับไล่เสนียดจัญไร
    หลักการสอนและแนวทางปฏิบัติ ศาสนาพราหมณ์สอนว่า โลกธาตุทั้งปวงมีเทวดาสร้างทั้งนั้นจึงมีการเซ่นสรวงสังเวย อ้อนวอนขอให้สำเร็จผลที่ตนปรารถนา มีการทรมานตนเองให้ลำบาก เรียกว่า ตบะต่อมาศาสนาพราหมณ์เปลี่ยนเป็นศาสนาฮินดู นับถือพระเจ้า ๓ พระองค์ เรียกว่า ไตรเทพ หรือ ตรีมูรติ คือ
    ๑. พระพรหม ผู้สร้างโลก
    ๒. พระวิษณุ (พระนารายณ์) ผู้พิทักษ์โลก
    ๓. พระศิวะ (พระอิศวร) ผู้ทำลายโลก

    ศากยวงศ์-โกลิยวงศ์
    พระเจ้าโอกกากราช ปกครองแคว้นๆหนึ่ง ทางตอนเหนือของชมพูทวีป มีโอรส ๔ พระองค์ ธิดา ๕ พระองค์ รวม ๙ พระองค์ ต่อมาพระมเหสีสิ้นพระชนม์ จึงอภิเษกสมรสใหม่ ได้พระโอรส ๑ พระองค์ พระนามว่า ชันตุราชกุมาร ทรงโปรดปรานพระโอรสองค์ใหม่มาก ถึงกับพลั้งพระโอษฐ์ให้พระมเหสีทูลขอสิ่งที่ต้องการได้ พระนางจึงทูลขอราชสมบัติให้กับพระโอรส พระองค์จึงต้องประทานให้แบบเสียมิได้ เพราะกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ จึงจำเป็นต้องให้พระโอรสพระธิดาทั้ง ๙ พระองค์ ไปสร้างเมืองอยู่ใหม่ในดงไม้สักกะ ป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส ชื่อเมือง กบิลพัสดุ์(ตั้งเลียนแบบชื่อของกบิลดาบส) ทั้งหมดยกเว้นพระเชษฐภคินี(พี่สาวคนโต ชื่อพระนางปิยา) ได้อภิเษกสมรสกันเองสืบเชื้อสายต่อมา ตั้งชื่อวงศ์กษัตริย์ของตนว่า “ศากยวงศ์” แปลว่า ตระกูลที่มีความสามารถ ตามพระดำรัสชมของพระบิดา ฝ่ายพระนางปิยา ได้อภิเษกกับเจ้าชายรามะแห่งเมืองเทวทหะ ที่ป่ากะเบา จึงตั้งชื่อวงศ์กษัตริย์ ของตนว่า “โกลิยวงศ์” (โกละ แปลว่า ต้นกะเบา) เมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ จึงเปรียบเหมือนเมืองพี่เมืองน้อง ปกครองด้วยสามัคคีธรรมสืบมาหลายชั่วอายุกษัตริย์ จนถึงสมัยพระเจ้าสญชัย พระเวสสันดรและพระชาลี เมืองกบิลพัสดุ์เปลี่ยนชื่อเป็น เชตุดร จากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้กบิลพัสดุ์ตามเดิม

    กษัตริย์ศากยสกุล
    กษัตริย์ศากยสกุล ในเมืองกบิลพัสดุ์ มีโคตร(นามสกุล) ว่า โคตมะ หรือ อาทิตย์โคตร สืบเชื้อสายมาตามลำดับ จนถึงสมัยพระเจ้าชยเสนะ ทรงมีพระโอรส-ธิดา รวม ๒ พระองค์ คือ สีหหนุ กับ ยโสธรา เมื่อพระเจ้าชยเสนะสิ้นพระชนม์ เจ้าชายสีหนุได้ครองราชสมบัติแทน ได้อภิเษกสมรสกับพระนางกัญจนา พระกนิษฐภคินี (น้องสาว) ของพระเจ้าอัญชนะ หรือ ชนาธิปราช แห่งเมืองเทวทหะ มีพระโอรส ๕ พระองค์ คือ
    ๑. สุทโธทนะ
    ๒. สุกโกทนะ
    ๓. อมิโตทนะ
    ๔. โธโตทนะ
    ๕. ฆนิโตทนะ (ลงท้ายด้วย โอทนะ แปลว่า ข้าวสุก)
    พระธิดา ๒ พระองค์ คือ
    ๑. ปมิตา
    ๒. อมิตา
    ส่วนพระนางยโสธรา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัญชนะ แห่งเมืองเทวทหะ มีโอรส ๒ พระองค์ คือ
    ๑. สุปปพุทธะ
    ๒. ทัณฑปาณิ
    พระธิดา ๒ พระองค์ คือ
    ๑. มายา
    ๒. ปชาบดี หรือ โคตมี
    ต่อมา เจ้าชายสุทโธทนะ ได้อภิเษกสมรสกับพระนางมายา ณ ปราสาทโกกนุท อโศกอุทยาน เมืองเทวทหะ เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา เท่ากันทั้งสองพระองค์ เมื่อพระเจ้าสีหนุสวรรคตแล้ว เจ้าชายสุทโธทนะได้ครองราชสมบัติแทน
    <!-- / message -->
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  4. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    การอภิเษกสมรสของเชื้อพระวงศ์องค์อื่น
    เจ้าชายสุกโกทนะ กับ พระนางกีสาโคตมี ได้พระโอรส คือ อานนท์
    เจ้าชายอมิโตทนะ กับ(ใครไม่ปรากฏ) ได้พระโอรส คือ มหานามะ อนุรุทธะ โรหิณี (ธิดา)
    เจ้าหญิงอมิตา กับ เจ้าชายสุปปพุทธะ ได้พระโอรส คือ เทวทัตต์ พระธิดา คือ ยโสธราหรือพิมพา

    สิทธัตถะกุมารประสูติ
    เมื่ออภิเษกสมรสได้ ๑๐ พรรษา พระนางสิริมหามายาก็ทรงพระครรภ์ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา เวลาใกล้รุ่ง(สันดุสิตเทพบุตร จุติลงมาเกิด) ทรงสุบินนิมิต(ฝัน) ว่า
    ๑. ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ อุ้มพระนางไปสู่ป่าหิมพานต์ ประทับบนแผ่นหิน ใต้ต้นสาละ
    ๒. นางเทพธิดาเชิญให้สรงน้ำในสระอโนดาด แล้วประทับบนวิมานทอง
    ๓. ช้างเผือกถือดอกบัวสีขาวเดินเวียน ๓ รอบ แล้วหายไปในพระครรภ์
    เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบเรื่องสุบินนิมิต จึงเชิญพราหมณ์ ๖๔ คน มาพยากรณ์สุบินนิมิต พราหมณ์พยากรณ์ว่า จะได้พระโอรสที่เลิศกว่าใครในโลก ทรงให้การบำรุงรักษาพระครรภ์ของพระมเหสีอย่างดียิ่ง เมื่อครบ ๑๐ เดือน (ทศมาส) วันหนึ่งพระนางสิริมหามายา ได้ทูลลาพระสวามีเสด็จกลับเมืองเทวทหะ เพื่อคลอดพระโอรสตามประเพณีพราหมณ์(หญิงมีครรภ์ต้องกลับไปคลอดที่บ้านเดิม) บางตำราว่า เสด็จประพาสป่าเพื่อความเกษมสำราญ เมื่อเสด็จถึงสวนลุมพินีวัน ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ ทรงประชวรเจ็บพระครรภ์ จึงประสูติพระโอรส ใต้ต้นสาละ ในพระอิริยาบถยืน หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ เดือน ๖ ปีจอ ก่อน พ.ศ. ๘๐ ปี เวลาใกล้เที่ยง พระกุมารดำเนินด้วยพระบาทได้ ๗ ก้าว เปล่งอาสภิวาจา คือ วาจาที่เปล่งออกมาด้วยความองอาจ ไม่มีผู้ใดเคยเปล่งมาก่อน ว่า
    “เราเป็นผู้ยอดเยี่ยม เป็นผู้เจริญที่สุด การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพต่อไปจะไม่มีอีก”พระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อทรงทราบข่าวการประสูติ มีรับสั่งให้เสด็จกลับพระนครโดยทันที

    เหตุการณ์ในวันประสูติ
    ๑. พระมารดาประทับยืน หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
    ๒. พระกุมารดำเนินไปทางทิศเหนือได้ ๗ ก้าว
    ๓. พระกุมารเปล่งอาสภิวาจา
    ๔. มีท่อน้ำร้อนน้ำเย็นตกจากอากาศสรงสนานพระกุมาร
    ๕. มีเทวดายื่นพระหัตถ์มารองรับพระกุมาร

    เหตุการณ์หลังประสูติ
    ประสูติได้ ๓ วัน อสิตดาบส หรือ กาลเทวิลดาบส เข้าเยี่ยม เห็นลักษณะของพระกุมารถูกต้องตามตำรามหาปุริสลักษณะ (ตำราดูลักษณะคน) ทำนายว่ามีลักษณะ ๒ อย่าง คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วกราบที่พระบาทพระกุมาร พลางหัวเราะแล้วร้องไห้ พระเจ้าสุทโธทนะและข้าราชบริพาร ก็กราบที่พระบาทของพระกุมารตามไปด้วย
    ประสูติได้ ๕ วัน เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงอาหาร แล้วคัดเลือกพราหมณ์ที่ชำนาญด้านการพยากรณ์ ๘ คน ให้ทำนายลักษณะและขนานพระนาม (ตั้งชื่อ) คือ
    ๑. รามพราหมณ์
    ๒. ลักษณพราหมณ์
    ๓. ยัญญพราหมณ์
    ๔. ธุชพราหมณ์
    ๕. โภชพราหมณ์
    ๖. สุทัตตพราหมณ์
    ๗. สุยามพราหมณ์
    ๘. โกณฑัญญพราหมณ์ (หนุ่มที่สุด)
    พราหมณ์ ๗ คนแรก พยากรณ์ ๒ อย่าง คือ ถ้าครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวช จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่โกณฑัญญพราหมณ์ พยากรณ์อย่างเดียวว่า พระกุมารจะเสด็จออกผนวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน (พระเจ้าสุทโธทนะ ไม่ต้องการให้พระกุมารออกบวช)) ต่อจากนั้นได้ขนานพระนามพระกุมารว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า ผู้มีความต้องการสำเร็จ และ”อังคีรส” แปลว่าผู้มีรัศมีแผ่ออกจากพระวรกาย แต่ประชาชนนิยมเรียกตามโคตรว่า โคตมะ
    ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาสิ้นพระชนม์(ขณะนั้นพระนางสิริมหามายามีพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา) พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบให้พระนางปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉา(น้า) เลี้ยงดูสิทธัตถะกุมารแทน และได้อภิเษกสมรสกันในโอกาสต่อมา มีพระโอรสและพระธิดา อย่างละ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายนันทะ กับเจ้าหญิงรูปนันทา
    พระชนมายุได้ ๗ พรรษา
    เสด็จงานวัปปมงคล (แรกนาขวัญ)กับพระบิดา ประทับใต้ต้นชมพูพฤกษ์(ต้นหว้า) ทำสมาธิ
    เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน จนบรรลุปฐมฌาน เกิดอัศจรรย์ เงาของต้นหว้าไม่คล้อยไปทั้งๆที่เป็นเวลาบ่าย พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงเห็นความอัศจรรย์ จึงกราบพระโอรสเป็นครั้งที่ ๒
    พระบิดารับสั่งให้ขุดสระโบกขรณี (สระบัว) ๓ สระ คือ
    สระที่ ๑ ปลูกอุบล บัวขาบ
    สระที่ ๒ ปลูกปทุม บัวหลวง
    สระที่ ๓ ปลูกปุณฑริก บัวขาว
    พระชนมายุได้ ๘ พรรษา เข้ารับการศึกษาศิลปะ ๑๘ อย่าง ในสำนักของครูวิศวามิตร มีวิชาขี่ม้า ยิงธนู เป็นต้น ทรงเรียนได้รวดเร็วจนหมดความรู้ของครูอาจารย์ ทรงมีโอกาสได้แสดงศิลปะการยิงธนูในท่ามกลางหมู่พระญาติ ด้วยพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยม
    พระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา
    ๑. พระบิดาได้สร้างปราสาทเพื่อประทับใน ๓ ฤดู (ปราสาท ๓ ฤดู) คือ
    วัมยปราสาท ประทับในฤดูหนาว
    สุรัมยปราสาท ประทับในฤดูร้อน
    สุภปราสาท ประทับในฤดูฝน
    ๒. อภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา พิมพา ธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ และพระนางอมิตา แห่งเมืองเทวทหะ (อภิเษกที่เมืองกบิลพัสดุ์)
    ๓. ครองราชสมบัติแทนพระบิดา
    พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา
    ๑. ทรงมีพระโอรส (ราหุล)
    ๒. เสด็จออกบรรพชา
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  5. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    เสด็จออกบรรพชา
    เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา วันหนึ่งได้ขออนุญาตจากพระบิดาเสด็จออกประพาสอุทยานกับนายฉันนะมหาดเล็กคนสนิท ทรงพบเทวทูต ๔ หรือนิมิต ๔ ที่เทวดาเนรมิตขึ้น ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะ ทรงพิจารณาว่า ความแก่ความเจ็บความตาย เป็นทุกข์ครอบงำมหาชนอยู่ ไม่มีใครล่วงพ้นได้ เพราะไม่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ ทำให้หลงระเริงมัวเมาในวัย ในความไม่มีโรค ในชีวิต ทรงสังเวชสลดพระทัย แต่ทรงพอพระทัยเมื่อพบสมณะ
    ทรงบรรเทาความเมา ๓ ประการ
    ๑. บรรเทาความเมาในวัย ด้วยการเห็นคนแก่
    ๒. บรรเทาความเมาในความไม่มีโรค ด้วยการเห็นคนเจ็บ
    ๓. บรรเทาความเมาในชีวิต ด้วยการเห็นคนตาย

    แสวงหาโมกขธรรม(ทางพ้นทุกข์)
    เจ้าชายสิทธัตถะพิจารณาเห็นว่า ตามธรรมดาสิ่งทั้งปวงย่อมมีของแก้กัน คือ มีร้อนก็มีเย็นแก้ มีมืดก็มีสว่างแก้ จะต้องมีวิธีแก้ทุกข์ ๓ อย่างนี้ได้ แต่ถ้าอยู่ในเพศฆราวาสคงไม่สะดวกในการแสวงหา เพราะฆราวาสคับแคบเกินไป เป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ที่ทำใจให้เศร้าหมองด้วยความรัก ความชัง ความหลง และความกลัว บรรพชิตมีช่องว่าง พอแสวงหาทางพ้นทุกข์ได้ ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม(ทางพ้นทุกข์)
    ในเวลาเย็นของวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ทราบข่าวการประสูติพระโอรสของพระนางยโสธรา พิมพา ทรงเปล่งอุทานว่า ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ แปลว่า บ่วงเกิดแล้ว เครื่องผูกมัดเกิดขึ้นแล้ว พระกุมารจึงได้พระนามว่า ราหุล แปลว่า ห่วง หรือ บ่วง ทรงสดับเสียงสรรเสริญของนางกีสาโคตมี ใจความว่า
    นิพฺพุตา นูน สา มาตา นิพฺพุโต นูน โส ปิตา
    นิพฺพุตา นูน สา นารี ยสฺสายํ อีทิโส ปติ
    เจ้าชายสิทธัตถะนี้ เป็นโอรสของมารดาใด พระมารดานั้นเย็นใจได้แน่
    เป็นพระโอรสแห่งพระบิดาใด พระบิดานั้นเย็นใจได้แน่
    เป็นพระสวามีแห่งนารีใด นารีนั้นเย็นใจได้แน่
    ทรงพอพระทัยในคำว่า นิพฺพุตา ซึ่งแปลว่า ดับ เย็น (เรียกว่า อมตบท) ซึ่งพระองค์ไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน จึงประทานสร้อยไข่มุกจากพระศอให้เป็นรางวัล ในเวลามัชฌิมยาม (ยามกลาง,ยามสอง) ของคืนนั้น เจ้าชายสิทธัตถะตื่นจากบรรทม เห็นพวกนางบำเรอนอนกันเกลื่อนกลาด เหมือนซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ปราสาทราชวังมองดูเหมือนป่าช้า ทรงสลดพระทัย จึงตัดสินพระทัยออกบวช เสด็จหนีจากพระนคร ทรงม้ากัณฐกะ (มีลักษณะสีขาว ศีรษะดำ ยาว ๑๘ ศอก) มีนายฉันนะตามเสด็จ เรียกว่า เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ หมายถึง การออกบวช) วัสวดีมาร ห้ามว่า “อย่าเสด็จออกบรรพชาเลย อีก ๗ วันจะได้อภิเษกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ” ทรงห้ามมารแล้วเสด็จออกจากพระนคร ระยะทาง ๓๐ โยชน์ (ประมาณ ๔๘๐ กม.) ถึงแม่น้ำอโนมา แคว้นมัลละ รับสั่งให้นายฉันนะนำเครื่องทรงกษัตริย์และม้ากัณฐกะกลับพระนคร พอนายฉันนะไปได้หน่อยหนึ่ง ม้ากัณฐกะก็สิ้นใจตาย เพราะอาลัยรักในเจ้าชายสิทธัตถะ

    อธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต
    เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงตัดพระเมาลี(ผมจุก) ด้วยพระขรรค์ แล้วอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา แคว้นมัลละ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เวลาใกล้รุ่ง พระอินทร์(ท้าวสักกะ) ได้นำพระเมาลีไปบรรจุไว้ที่จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฆฏิการพรหม ได้นำบริขารมีบาตร จีวร เป็นต้นมาถวาย แล้วนำพระภูษา(เสื้อผ้า) ของเจ้าชายสิทธัตถะ ไปบรรจุไว้ที่ทุสเจดีย์ ในพรหมโลก เจ้าชายสิทธัตถะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์(ผ้าที่ย้อมด้วยรสฝาดของต้นไม้) ถือเพศบรรพชิต ตั้งแต่นั้นมา ประชาชนนิยมเรียกพระองค์ว่า พระสิทธัตถะบ้าง พระมหาบุรุษบ้าง พระสมณโคดมบ้าง

    พักอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน
    เมื่อบรรพชาแล้ว พระมหาบุรุษประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน(ป่ามะม่วง) เป็นเวลา ๗ วัน รุ่งขึ้นจึงเสด็จไปยังแคว้นมคธ ประทับที่ภูเขาปัณฑวะ เสด็จออกบิณฑบาตและเสวยภัตตาหารเป็นมื้อแรกหลังจากเสด็จออกบรรพชา
    พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธเสด็จมาเฝ้า ทรงเชื้อเชิญพระมหาบุรุษด้วยราชสมบัติ แต่พระมหาบุรุษทรงปฏิเสธ พระเจ้าพิมพิสารทูลว่า ถ้าตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จมาโปรดพระองค์บ้าง พระมหาบุรุษทรงรับคำ


    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  6. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    เสด็จไปศึกษาในสำนักของอาจารย์ทั้งสอง
    พระมหาบุรุษเสด็จจากภูเขาปัณฑวะ ไปศึกษาในสำนักของอาจารย์ ๒ ท่าน คือ
    ท่านแรกชื่อ อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓
    ท่านที่สองชื่อ อุทกดาบส รามบุตร ได้อรูปฌานอีก ๑ รวมเป็น ๔ เรียกว่า สมาบัติ ๘
    พระมหาบุรุษศึกษาอย่างรวดเร็ว จนหมดความรู้ของอาจารย์ทั้งสอง เห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงลาอาจารย์เสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เพื่อศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองต่อไป

    สาเหตุที่ทรงเลือกตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเป็นที่บำเพ็ญเพียร
    ๑. มีพื้นที่ราบรื่น
    ๒. มีป่าไม้เขียวขจีน่ารื่นรมย์
    ๓. อยู่ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา
    ๔. มีท่าน้ำ ขึ้นลงสะดวก
    ๕. ไม่ไกลจากหมู่บ้าน สะดวกในการบิณฑบาต

    บำเพ็ญทุกกรกิริยา
    จะกล่าวถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ได้ออกติดตามพระมหาบุรุษไปยังที่ต่างๆ จนไปพบที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เฝ้าปฏิบัติรับใช้โดยหวังว่า เมื่อพระมหาบุรุษตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดพวกตนบ้าง
    ส่วนพระมหาบุรุษเริ่มบำเพ็ญทุกกรกิริยา แปลว่า การกระทำที่ทำได้ยาก หมายถึง การทรมานร่างกาย ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น รวม ๓ วาระ คือ
    วาระที่ ๑ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์(ใช้ฟันขบกัน) กดพระตาลุด้วยพระชิวหา(ใช้ลิ้นกดเพดานปาก) จนพระเสโท(เหงื่อ)ไหลออกจากพระกัจฉะ(รักแร้)
    วาระที่ ๒ ทรงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ(ลมหายใจเข้า-ออก) ทำให้เกิดเสียงอู้ในช่องพระกรรณ(หู)ทั้งสอง ให้ปวดพระเศียร เสียดพระอุทร ร้อนในพระวรกายเป็นกำลัง
    วาระที่ ๓ ทรงอดพระกระยาหาร ผ่อนเสวยวันละน้อย จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย(เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก) จนถึงวิสัญญีภาพ(สลบ)
    ขณะนั้น เทวดาตนหนึ่งคิดว่าพระมหาบุรุษสิ้นชีวิตแล้ว จึงไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อ เพราะทรงมั่นพระทัยว่า ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ พระโอรสจะยังไม่สิ้นชีวิต

    อุปมา ๒ อย่าง
    พระมหาบุรุษทรงทรมานพระองค์มากมายถึงเพียงนี้ก็ยังไม่ได้ตรัสรู้ ทรงดำริว่า ทุกกรกิริยาคงไม่ใช่ทางตรัสรู้เสียแล้ว ทรงเปรียบเทียบการกระทำของพระองค์กับอุปมา ๒ อย่าง คือ
    อุปมาด้วยพิณ ๓ สาย
    สายที่ ๑ ขึงตึงเกินไป ทำให้ขาดง่าย
    สายที่ ๒ ขึงหย่อนเกินไป ฟังไม่ไพเราะ
    สายที่ ๓ ขึงตึงพอดี ฟังไพเราะ ไม่ขาดง่าย
    ทรงเปรียบพระองค์เหมือนพิณที่ขึงตึงเกินไป ทรงพอพระทัยในพิณที่ขึงพอดี
    อุปมาด้วยไม้สด-ไม้แห้ง ๓ ข้อ
    สมณพราหมณ์ผู้มีกายและใจยังไม่ออกจากกาม แม้บำเพ็ญสมณธรรมสัก
    เพียงใดก็ไม่สามารถตรัสรู้ได้ เหมือนไม้สดชุ่มด้วยยาง วางไว้ในน้ำ ไม่สามารถสีให้เกิดไฟได้
    สมณพราหมณ์ผู้มีกายออกจากกาม แต่ยังพอใจในกามอยู่ แม้บำเพ็ญ
    สมณธรรมสักเพียงใดก็ไม่สามารถตรัสรู้ได้ เหมือนไม้สดชุ่มด้วยยาง วางไว้บนบก ไม่สามารถสีให้เกิดไฟได้
    สมณพราหมณ์ผู้มีกายและใจออกจากกามแล้ว เมื่อบำเพ็ญสมณธรรมก็
    สามารถตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้ง วางไว้บนบก สามารถสีให้เกิดไฟได้
    ทรงเปรียบเทียบพระองค์เหมือนอุปมาข้อ ๒ ทรงพอพระทัยในอุปมาข้อที่ ๓
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  7. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    หวนระลึกถึงอดีต
    ทรงหวนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อพระชนมายุ ๗ พรรษา เคยเสด็จงานวัปปมงคล แรกนาขวัญ ประทับใต้ต้นชมพูพฤกษ์ เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน จนบรรลุปฐมฌาน ทำให้ทรงมั่นพระทัยยิ่งขึ้นว่า การบำเพ็ญเพียรทางจิต ต้องเป็นหนทางแห่งการตรัสรู้อย่างแน่นอน จึงตัดสินพระทัยเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา กลับมาเสวยภัตตาหารให้พระวรกายแข็งแรง เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป (การระลึกถึงอดีตในครั้งนั้น เรียกว่า สตานุสารีวิญญาณ แปลว่า วิญญาณไปตามสติ )

    ปัญจวัคคีย์หนีพระมหาบุรุษ
    เมื่อพระมหาบุรุษเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา ปัญจวัคคีย์พากันสิ้นหวัง เพราะเข้าใจว่า “พระมหาบุรุษทรงคลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว” จึงพากันหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี การหนีไปของปัญจวัคคีย์กลับเป็นผลดีต่อพระมหาบุรุษ กล่าวคือ
    บรรยากาศสงัดเงียบ ไม่มีผู้รบกวน เหมาะอย่างยิ่งในการบำเพ็ญทางจิต
    การอยู่พระองค์เดียวตามลำพัง ทำให้สิ้นกังวลห่วงใยในปัญจวัคคีย์

    เหตุการณ์ก่อนตรัสรู้
    คืนวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ พระมหาบุรุษทรงสุบินนิมิต ๕ ประการ คือ
    ๑. ทรงบรรทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนเขาหิมพานต์ พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรด้านทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาหยั่งลงในมหาสมุทรด้านทิศใต้ ทรงพยากรณ์ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ๒. หญ้าแพรกงอกจากพระนาภี สูงขึ้นไปบนท้องฟ้า ทรงพยากรณ์ว่า จะได้ประกาศธรรมแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งมวล
    ๓. หมู่หนอนจำนวนมาก ขาวบ้างดำบ้าง ไต่ขึ้นมาจากพระบาทถึงพระชงและพระชานุ ทรงพยากรณ์ว่า คฤหัสถ์และพราหมณ์เป็นอันมาก จะมาสู่สำนักของพระองค์
    ๔. หมู่กาดำและกาขาวบินมาจากทิศทั้ง ๔ เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์ก็กลายเป็นกาขาวทั้งสิ้น ทรงพยากรณ์ว่า คนทั้ง ๔ วรรณะจะมาเป็นสาวกของพระองค์
    ๕. เสด็จไปเดินจงกรมบนยอดเขาที่เต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมก็ไม่ได้เปื้อนพระบาท ทรงพยากรณ์ว่า ถึงแม้พระองค์จะบริบูรณ์ด้วยอามิส แต่ไม่ทรงติดในอามิสนั้น
    วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เวลาเช้า พระมหาบุรุษประทับใต้ต้นไทร นางสุชาดา บุตรีของกุฎุมพี(ผู้มั่งคั่ง) ผู้ใหญ่บ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา ได้นำข้าวมธุปายาส(ข้าวที่หุงด้วยนมโคสด) ใส่ถาดทองไปยังต้นไทร เพื่อบวงสรวงเทวดา เพราะนางได้บนไว้ว่า ขอให้นางได้แต่งงานกับชายหนุ่มที่มีฐานะทัดเทียมกัน และขอให้มีบุตรคนแรกเป็นชาย นางได้ประสบความสำเร็จตามที่บนไว้ จึงนำข้าวมธุปายาสไปถวายพร้อมทั้งถาดทอง นางได้อวยพรว่า “ความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จฉันใด ขอความปรารถนาของพระองค์จงสำเร็จฉันนั้นเถิด” พระมหาบุรุษทรงปั้นข้าวมธุปายาสได้ ๔๙ ก้อน โตเท่าผลตาลสุก เพื่อเก็บไว้เสวยได้ ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน) เสวยส่วนที่เหลือจนหมดนำถาดทองไปลอยที่แม่น้ำเนรัญชรา อธิษฐานพระทัยว่า “ถ้าจะได้ตรัสรู้ขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำ” ถาดได้ลอยทวนกระแสน้ำไปประมาณ ๑ เส้น จึงจมหายไป จากนั้นทรงพักผ่อนพระอิริยาบถที่ใต้ต้นสาละ เวลาบ่ายเสด็จไปยังต้นอัสสัตถพฤกษ์(ต้นศรีมหาโพธิ์) ระหว่างทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ทรงพบโสตถิยพราหมณ์ ทรงรับหญ้าคา ๘ กำ ที่โสตถิยพราหมณ์ถวาย นำไปปูลาดเป็นอาสนะใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เรียกว่า รัตนบัลลังก์ เสด็จประทับบนรัตนบัลลังก์นั้น หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทรงกระทำ จาตุรงคมหาปธาน คือการอธิษฐานพระทัยว่า “แม้เลือดและเนื้อในกายของเราจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที หากไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วจะไม่ลุกขึ้นเป็นอันขาด” (จาตุรงคมหาปธาน คือ ความเพียรใหญ่ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ หนัง เอ็น กระดูก เนื้อเลือด) แล้วเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต (ทำสมาธิ) ต่อไป

    มารผจญ
    ขณะที่พระมหาบุรุษเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต พระยาวัสวดีมาร เกิดความอิจฉาไม่ต้องการให้มหาบุรุษตรัสรู้ ขึ้นช้างทรงชื่อ คีรีเมขละ พร้อมด้วยเสนามารเป็นอันมาก เข้าขัดขวางแย่งชิงรัตนบัลลังก์ ทรงยึดมั่นในพระบารมี ๑๐ ทัศ ที่ทรงบำเพ็ญมาในอดีต คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ทรงอ้างแม่พระธรณีชื่อ วสุนธรา เป็นพยาน พระยามารจึงพ่ายแพ้ไปเมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคต (พระยามาร คือ กิเลสกามในพระทัยของพระองค์) การอ้างพระแม่ธรณีเป็นพยาน คือที่มาของพระพุทธรูปปางมารวิชัย
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  8. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    ตรัสรู้
    เมื่อพระยามารพ่ายแพ้ไปแล้ว พระมหาบุรุษจึงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป ด้วยพระทัยที่เด็ดเดี่ยวมั่นคง จนบรรลุญาณ ๓ หรือ วิชชา ๓ ตามลำดับ ดังนี้
    ในปฐมยาม ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
    ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ รู้การจุติและเกิดของสัตว์ (มีตาทิพย์)
    ในปัจฉิมยาม ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป
    ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ประการ และรู้แจ้งในอริยสัจทั้ง ๔ คือ
    ๑. ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
    ๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
    ๓. นิโรธ ความดับทุกข์
    ๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

    ญาณ ๓ ในอริยสัจ ๔
    ๑. สัจญาณ รู้ว่าทุกข์มีจริง สมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง นิโรธ คือความดับทุกข์จริง มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง
    ๒. กิจญาณ รู้ว่าทุกข์พึงกำหนดรู้ สมุทัยพึงละ นิโรธพึงทำให้แจ้ง มรรคพึงทำให้มี
    ๓. กตญาณ รู้ว่าทุกข์ เรากำหนดรู้แล้ว สมุทัย เราละแล้ว นิโรธ เราทำให้แจ้งแล้ว มรรค เราทำให้มีแล้ว
    การรู้อริยสัจ ๔ ต้องประกอบด้วยญาณทั้ง ๓ นี้ ในอริยสัจทุกข้อ รวมเป็นญาณ ๑๒ จึงจะเรียกว่ารู้อริยสัจจริง
    บัดนี้ พระมหาบุรุษได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ในเวลาใกล้รุ่ง ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ปีระกา ก่อน พ.ศ. ๔๕ ปี ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์แคว้นมคธ ทรงใช้เวลาศึกษาค้นคว้าเป็นเวลา ๖ ปี จึงตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา

    ทรงได้พระนามใหญ่ ๒ พระนาม คือ
    ๑. อรหัง แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส
    ๒. สัมมาสัมพุทโธ แปลว่า ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
    พระนามอื่นๆ
    ๑. พระพุทธเจ้า (พุทโธ) แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น (นำผู้อื่นให้ตื่น) ผู้เบิกบาน
    ๒. พระสุคต (สุคโต) แปลว่า ผู้เสด็จไปดี
    ๓. พระผู้มีพระภาคเจ้า (ภควา) แปลว่า ผู้จำแนกธรรม ผู้มีโชค
    ๔. พระบรมศาสดา (สัตถา) แปลว่า ศาสดา (ครู) ผู้ยอดเยี่ยม ทรงใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่าตถาคต

    เสวยวิมุติสุข
    เมื่อตรัสรู้แล้ว ประทับเสวยวิมุติสุข (สุขเกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลส) ในที่ ๗ แห่งนี้เรียกว่า สัตตมหาสถาน ประทับแห่งละ ๑ สัปดาห์ (๗ วัน ) ดังนี้
    สัปดาห์ที่ ๑ ประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ (โพธิรุกขมูล) ทรงพิจารณาปฎิจจสมุปบาท (ธรรมะที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นดุจลูกโซ่) ทรงเปล่งอุทานในยามทั้ง ๓ ดังนี้
    ยามต้น “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมว่าเกิดแต่เหตุ”
    ยามกลาง “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งธรรมทั้งหลาย”
    ยามสุดท้าย“เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ย่อมกำจัดมารและเสนามาร[1]ได้ ดุจอาทิตย์อุทัยกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่างฉันนั้น”
    สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จทางทิศอีสานแห่งต้นศรีมหาโพธิ์ ประทับยืนเพ่งต้นศรีมหาโพธิ์ไม่กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า อนิมิสเจดีย์ (ที่มาของพระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์ปางถวายเนตร)
    สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จทางทิศอุดร จงกรมรอบต้นศรีมหาโพธิ์ สถานที่นั้นเรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์
    สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จทางทิศพายัพ ประทับที่เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวาย พิจารณาพระอภิธรรม สถานที่นั้น เรียกว่า รัตนฆรเจดีย์
    สัปดาห์ที่ ๕ เสด็จทางทิศบูรพา ประทับใต้ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร เป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะ พบพราหมณ์หุหุกชาติ ผู้ชอบตวาดว่า หึหึ พราหมณ์ถามว่า ท่านรู้จักพราหมณ์และธรรมที่ทำคนให้เป็นพราหมณ์ไหม? ทรงตอบว่า พราหมณ์ คือ ผู้มีบาปอันลอยแล้ว ฯลฯ พราหมณ์หุหุกชาติฟังไม่รู้เรื่องจึงหลีกไป ต่อจากนั้น ธิดามาร ๓ คน คือ นางตัณหา นางราคา นางอรดี มายั่วยวนพระองค์แต่ไม่สำเร็จ
    สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จทางทิศอาคเนย์ ประทับใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) ฝนตกตลอดสัปดาห์ พญานาคชื่อมุจลินทร์ แผ่พังพานบังฝนให้ (ที่มาของพระพุทธรูปประจำวันเสาร์ปางนาคปรก) ทรงเปล่งอุทานว่า “ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันสดับแล้ว ฯลฯ
    สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จทางทิศทักษิณ ประทับใต้ต้นราชายตนะ(ต้นเกด) พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ มาจากอุกกลาชนบท มัธยมประเทศ เข้าเฝ้าถวายข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน (ข้าวตู) พระองค์ทรงรับด้วยบาตรศิลาที่ท้าวจตุโลกบาลนำมาถวาย ทั้งสองได้ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงรัตนะ ๒ (พระพุทธกับพระธรรม) ก่อนใครในโลก เรียกว่า เทววาจิกอุบาสก ทรงมอบเส้นพระเกศา ๘ เส้น แก่พ่อค้าสองพี่น้องไว้เป็นที่ระลึก (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า)
    สัปดาห์ที่ ๘ เสด็จจากต้นราชายตนะไปประทับที่ต้นอชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง ทรงกระทำกิจต่างๆดังนี้
    ๑. ทรงตั้งพระธรรมไว้ในที่เคารพบูชา
    ๒. ทรงพิจารณาพระธรรมว่าลึกซึ้งยากที่จะสอนผู้อื่นให้เข้าใจ จึงท้อพระทัยที่จะโปรดสัตว์
    ๓. ทรงรับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหมที่อาราธนาให้พระองค์แสดงธรรม
    ๔. ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อหมู่สัตว์ จึงตัดสินพระทัยแสดงธรรม


    [1]มาร หมายถึง กิเลสกาม, เสนามาร หมายถึง วัตถุกาม
    <!-- / message -->
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  9. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    พระพุทธเจ้ามีพระคุณ ๓ ประการ
    ๑. พระปัญญาคุณ ทรงมีพระปัญญาสามารถตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง
    ๒. พระบริสุทธิคุณ ทรงมีความบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง
    ๓. พระมหากรุณาธิคุณ ทรงมีความกรุณาต่อหมู่สัตว์
    ทรงเปรียบเทียบความแตกต่างทางสติปัญญาของคนเหมือนบัว ๔ เหล่า
    ๑. อุคฆติตัญญูบุคคล คือ บุคคลที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถรู้ธรรมได้เมื่อท่านยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง เปรียบเหมือน บัวเหนือน้ำ หรือบัวพ้นน้ำ จะบานในวันนี้
    ๒. วิปจิตัญญูบุคคล คือ บุคคลที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังอธิบายหัวข้อธรรมเพิ่มขึ้น ก็สามารถรู้ธรรมได้ เปรียบเหมือน บัวเสมอน้ำ หรือบัวปริ่มน้ำ จะบานในวันพรุ่งนี้
    ๓. เนยยบุคคล คือ บุคคลที่มีสติปัญญาน้อย แต่เมื่อฟังธรรมหลายๆครั้งก็สามารถรู้ธรรมได้ เปรียบเหมือนบัวกลางน้ำ หรือ บัวใต้น้ำ จะบานในวันมะรืนนี้ หรือในวันต่อๆไป
    ๔. ปทปรมบุคคล คือ บุคคลที่โง่เขลาเบาปัญญา หรือมีปัญญาแต่มีทิฐิมานะตื้อรั้นไม่ยอมรับฟังคำสอน ไม่สามรถรู้ธรรมได้ เปรียบเหมือนบัวในโคลนตม หมดโอกาสบาน จึงตกเป็นอาหารของปลาและเต่า
    ทรงตั้งปณิธานว่า จะดำรงพระชนมายุอยู่จนกว่าจะประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายจึงจะปรินิพพาน เรียกว่า ทรงทำอายุสังขาราธิษฐาน
    ทรงพิจารณาบุคคลผู้สมควรรับพระธรรมเทศนา
    ครั้งแรกทรงระลึกถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร เพราะท่านทั้งสองมีกิเลสเบาบาง มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถรู้ธรรมได้โดยฉับพลัน แต่ท่านทั้งสองได้มรณภาพแล้ว โดยอาฬารดาบส มรณภาพได้ ๗ วัน ส่วนอุทกดาบส มรณภาพเมื่อวานนี้ จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ เพราะเคยมีอุปการะต่อพระองค์มาก่อน และออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระองค์ จึงเสด็จจากต้นอชปาลนิโครธ บริเวณบริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ มุ่งสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ตรงกับเวลาเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ระหว่างทาง(ระหว่างแดนมหาโพธิ์กับแม่น้ำคยาต่อกัน) พบอุปกาชีวกนักบวชนอกศาสนา อุปกาชีวกถามว่า “สมณะ ฉวีวรรณของท่านผ่องใสนัก ท่านชอบใจธรรมของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน” ทรงตรัสตอบว่า”เราเป็นสยัมภู ผู้ตรัสรู้เอง ไม่ได้ชอบใจธรรมของใคร ไม่มีใครเป็นศาสดา” อุปกาชีวกไม่เชื่อสั่นศีรษะแล้วเดินหลีกไป เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันในเวลาเย็น ปัญจวัคคีย์นัดแนะกันว่าจะไม่ต้อนรับ แต่ให้ปูลาดอาสนะไว้ พอเสด็จมาถึงจริงๆก็ลืมที่นัดแนะกันไว้ กลับให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แต่ยังใช้คำพูดไม่สุภาพ ตีเสมอพระองค์ เช่นใช้คำพูดว่า อาวุโสโคตมะ เป็นต้น (คำสำหรับผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย)
    วันรุ่งขึ้นตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก เรียกว่า ปฐมเทศนา ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เปรียบเหมือนล้อแห่งธรรมที่หมุนไปถึงไหนก็นำความสุขไปถึงที่นั่น เป็นการประกาศเกียรติคุณที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิประกาศแสนยานุภาพของพระองค์ไปยังแคว้นต่างๆ จบพระธรรมเทศนาแล้ว โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม(ธรรมจักษุ) คือบรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น เรียกว่า พระโสดาบัน ทรงเปล่งพระอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ.โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอๆ โกณฑัญญะจึงมีคำนำหน้าชื่อเพิ่มว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่นั้นมา (อญฺญาสิ แปลว่า รู้แล้ว)
    ดวงตาเห็นธรรมนั้น เห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” หมายถึง การบรรลุธรรมชั้นพระโสดาปัตติมรรค
    โกณฑัญญะ ได้ทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยพระดำรัสว่า “เอถ ภิกฺขโว” จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” การอุปสมบทวิธีนี้ เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระศาสดาประทานเอง) พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา ต่อจากนั้นทรงแสดงสิ่งละอันพันละน้อย(ปกิณณกเทศนา)โปรดพราหมณ์ ๔ คนที่เหลือ ท่านวัปปะ และภัททิยะ ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วทูลขออุปสมบท ต่อมาท่านมหานามะและอัสสชิ ได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่สองชื่อ อนัตตลักขณสูตร พระปัญจวัคคีย์บรรลุมรรคผลสูงสุดคือ พระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๕ รูป ขณะนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ รูป

    เหตุการณ์สำคัญในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (วันอาสาฬหบูชา)
    ๑. พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
    ๒. มีพระอริยสงฆ์เกิดขึ้นรูปแรกในโลก (เป็นวันเกิดพระสงฆ์)
    ๓. พระรัตนตรัยครบ ๓ ประการ
    ๔. เป็นวันประกาศศาสนาครั้งแรก
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  10. *8q* said:

    Re: คู่มือพุทธประวัติ

    ใจความโดยย่อของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
    กล่าวถึงที่สุด ๒ อย่าง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ (เกี่ยวข้อง) คือ
    ๑. ที่สุดฝ่ายหย่อน หมายถึง การทำงานที่ย่อหย่อน คลุกเคล้าด้วยกามารมณ์ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค
    ๒. ที่สุดฝ่ายตึง หมายถึง การกระทำที่หักโหมเกินไป เช่น ทรมานตัวเอง เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
    ทรงแนะนำให้ปฏิบัติกลางๆไม่หย่อนไม่ตึงเกินไป เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือการปฏิบัติตาม มรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ
    ๑. สัมมาทิฐิ เห็นชอบ
    ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
    ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
    ๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
    ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
    ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ
    ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
    ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ
    ทรงแสดงอริยสัจ ๔ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ
    ๑. ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ได้แก่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
    ๒. สมุทัย เหตุให้ทุกข์ เกิด ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการ คือ
    ๒.๑ กามตัณหา ความอยากในอารมณ์ที่น่าใคร่
    ๒.๒ ภวตัณหา ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่
    ๒.๓ วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่
    ๓. นิโรธ ความดับทุกข์ คือ ดับตัณหา ๓ ได้
    ๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘

    ใจความโดยย่อของอนัตตลักขณสูตร
    กล่าวถึงขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตน) ทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นในขันธ์ ๕ นั้น

    โปรดยสกุลบุตร
    ยสกุลบุตร เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี มารดาชื่อ สุชาดา เสนิยธิดา อยู่บนปราสาท ๓ ฤดู เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะ คืนหนึ่งตื่นขึ้นพบหญิงบำเรอนอนหลับมีลักษณะอาการต่างๆ ภาพที่ปรากฏเหมือนซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า เกิดความเบื่อหน่ายจึงเดินออกจากปราสาท อุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” พบพระศาสดากำลังเดินจงกรมอยู่ ทรงตรัสว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านจงมาที่นี่เถิด เราจะแสดงธรรมแก่ท่าน” ยสกุลบุตรถอดรองเท้าแล้วเข้าไปเฝ้า ทรงแสดงธรรมชื่อ “อนุปุพพิกถา” และ “อริยสัจ ๔” จบแล้ว ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาบิดาได้ออกติดตามพบรองเท้าก็จำได้ จึงเดินเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงบันดาลให้พ่อมองไม่เห็นลูก (อิทธาภิสังขาร) แล้วแสดงอนุปุพพิกถาและอริสัจ ๔ โปรดจนบิดาได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วปฏิญาณตนเป็นอุบาสกถึงรัตนะ ๓ ก่อนใครในโลก (เตวาจิกอุบาสก) ส่วนยสกุลบุตรได้บรรลุมรรคผลสูงสุด คือ สำเร็จพระอรหันต์ในขณะเป็นฆราวาส ได้ทูลขออุปสมบท ทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยพระดำรัสว่า ”จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” วันรุ่งขึ้นพระศาสดาพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของเศรษฐี ทรงแสดง อนุปุพพิกถาและอริสัจ ๔ โปรดมารดาและภรรยาของพระยส จนได้ดวงตาเห็นธรรม และปฏิญาณตนเป็นอุบาสิกาก่อนใครในโลก

    สหายของพระยสออกบวช
    บุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี สหายของพระยส ๔ คน คือ วิมละ, สุพาหุ, ปุณณชิ, ควัมปติ ได้ติดตามพระยส ฟังอนุปุพพิกถาและอริสัจ ๔ ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขออุปสมบท และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๔ รูป ต่อมาสหายของท่านอีก ๕๐ คน (ไม่ปรากฏชื่อ) ได้ออกบวชตาม ฟังอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ได้สำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมด ขณะนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ รูป รวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย
    ใจความของอนุปุพพิกถา
    อนุปุพพิกถา คือ พระธรรมเทศนาที่แสดงไปโดยลำดับจากง่ายไปหายาก มี ๕ ประการ คือ
    ๑. ทานกถา ว่าด้วยเรื่องการให้ทาน
    ๒. สีลกถา ว่าด้วยเรื่องการรักษาศีล
    ๓. สัคคกถา ว่าด้วยเรื่องสวรรค์
    ๔. กามาทีนวกถา ว่าด้วยเรื่องโทษของกาม
    ๕. เนกขัมมานิสังสกถา ว่าด้วยเรื่องอานิสงค์ของการออกจากกาม (การออกบวช)
    อนุปุพพิกถา เปรียบเหมือน สบู่หรือผงซักฟอกสำหรับซักผ้าให้สะอาด
    อริสัจ ๔ เปรียบเหมือน น้ำย้อมผ้าที่ซักสะอาดแล้ว

    คุณสมบัติของผู้รับฟังอนุปุพพิกถา
    ๑. เป็นมนุษย์
    ๒. เป็นฆราวาส
    ๓. มีอุปนิสัยแก่กล้าพอจะบรรลุธรรมได้
    อริยสัจ ๔ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สามุกกังสิกธรรม” แปลว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง
    <!-- / message -->
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี