หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก

กระทู้: หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก





    ประวัติและปฏิปทา
    หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก


    วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม (วัดป่าเหล่างา)
    ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น



    “หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก” มีนามเดิมว่า บุญเพ็ง เหล่าหงษา เกิดเมื่อวันวันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ ตรงกับวันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๙๐ ณ บ้านบัวบาน ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายเอี่ยม และนางคง เหล่าหงษา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๒ คน ท่านเป็นลูกหล้าคือบุตรคนสุดท้อง มีชื่อตามลำดับดังนี้

    ๑. นางแถว เหล่าหงษา
    ๒. พระครูศีลสารวิมล (ล้วน สีลราโม)
    ๓. นางสาย เหล่าหงษา
    ๔. นายเลียบ เหล่าหงษา
    ๕. นายเลี่ยม เหล่าหงษา
    ๖. นายสำเริง เหล่าหงษา
    ๗. หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก

    ปัจจุบันพี่ของท่านมรณภาพและเสียชีวิตลงหมดแล้ว

    ครอบครัวของหลวงปู่บุญเพ็ง มีอาชีพทำไร่ทำนาตามสภาพของคนในชนบท มีฐานะพอมีอันจะกินตระกูลหนึ่งในหมู่บ้านบัวบาน หลวงปู่ได้มีโอกาสศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยควบคุมดูแลการหลบลูกระเบิดสมัยสงครามอินโดจีน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ตั้งแต่ท่านเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีความฉลาดเฉลียว และมั่นใจในตนเองมาตั้งแต่เด็ก

    ในการประกอบสัมมาชีพของท่านนั้น ในแต่ละวันท่านก็ยังคิดเมตตาสงสารวัวควายที่ท่านใช้แรงงาน และคิดสลดสังเวชการวนเวียนดำเนินชีวิตของผู้คนรอบข้างที่ทุกข์ยาก สู้ภัยธรรมชาติปีแล้วปีเล่า แม้ว่าหลวงปู่ท่านอยากจะบวช แต่ก็ต้องรับผิดชอบในการทำงานแทนบรรดาพี่ชายซึ่งบวชกันไปหมด จนกระทั่งท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี จึงได้มีโอกาสบวช ก่อนออกบวชท่านก็ได้ทดแทนคุณบิดามารดา ด้วยการสร้างบ้านให้บิดามารดาและพี่น้องด้วยตัวท่านเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่หาไม้จนกระทั่งสำเร็จเป็นบ้านอยู่อาศัยได้

    มูลเหตุที่หลวงปู่ท่านมีความตั้งใจอยากจะบวชเป็นพระ แทนการสร้างครอบครัวเฉกเช่นชาวบ้านคนอื่น ก็คงเป็นเพราะท่านเกิดมาในตระกูลที่ฝักใฝ่ในทางศีลธรรม ประกอบกับพี่ชายของท่านคือ พระครูศีลสารวิมล (ล้วน สีลราโม) ก็ได้บรรพชาตั้งแต่หลวงปู่ท่านยังเป็นเด็ก จนได้เป็นพระกรรมฐานผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธบริษัทอย่างกว้างขวาง

    หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม แม่ทัพธรรม พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์หลายรูป ได้เดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มาธุดงค์กรรมฐานที่โคกเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรม ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นป่ารก เป็นป่าช้าผีดุ แล้วก็มีหลวงปู่เทสก์, หลวงปู่อ่อน, หลวงปู่ภูมี, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่กงมา, หลวงปู่คำดี ฯลฯ มาอยู่รับการอบรมธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่สิงห์

    พอออกพรรษาเข้าหน้าแล้ง บรรดาท่านเหล่านี้ก็พากันไปแสวงหาที่วิเวกภาวนา โดยหลวงปู่เทสก์ก็ได้ไปแสวงหาที่วิเวกกรรมฐานทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่น คือไปทางจังหวัดมหาสารคาม ได้ไปพักอยู่ที่ป่าช้าหัวหนองตอกแป้น บ้านบัวบาน อำเภอเชียงยืน และได้อบรมหลักการปฏิบัติธรรมแก่ญาติโยมบ้านบัวบาน รวมทั้งโยมบิดา-มารดาของหลวงปู่ท่านด้วย

    โยมบิดา-มารดาของหลวงปู่บุญเพ็ง มีความเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่เทสก์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มอบบุตรชายคนโตคือ พระครูศีลสารวิมล (ล้วน สีลราโม) เป็นลูกศิษย์ติดตามหลวงปู่เทสก์ไปธุดงค์กรรมฐานตามสถานที่ต่างๆ กระทั่งได้อุปสมบท และปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ภูมี ฐิตธมฺโม วัดคีรีวัลล์ อำเภอท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา

    จนเกิดความมั่นใจในความรู้ความเข้าใจในธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็นึกถึงญาติพี่น้องทางบ้าน จึงกลับมานำญาติพี่น้องบวช และได้มาจำพรรษา ณ วัดเทพนิมิต บ้านบัวบาน ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อโปรดโยมบิดามารดาและญาติพี่น้อง ในขณะนั้นหลวงปู่ท่านมีอายุประมาณ ๑๔-๑๕ ปี และต้องรับภาระการประกอบอาชีพดูแลครอบครัว นี้จึงเป็นเหตุให้ท่านไม่เคยมีโอกาสบรรพชาเป็นสามเณร

    ในการประกอบอาชีพ หลวงปู่ท่านก็สามารถทำได้ดีกว่าชาวบ้านทั่วไป ท่านรู้จักประกอบอาชีพหารายได้นอกฤดูทำนา จนมีเงินทองมาจุนเจือครอบครัวอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ หลวงปู่ยังมีพรสวรรค์ในการรักษาโรค โดยวิธีการพื้นบ้านตามที่โยมบิดาท่านสอนให้ เช่น รักษาตาต้อ คางทูม ฯลฯ เป็นเหตุให้ท่านสอนให้พวกลูกศิษย์ใช้คาถาและพลังจิตรักษาโรคมาจนกระทั่งปัจจุบัน ท่านบอกว่า เอาไว้ช่วยตนเองและสงเคราะห์คนอื่น ยามที่ไม่อาจรับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันได้

    หลวงปู่ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (ธรรมยุต) ตำบลบ้านโต้น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระพิศาลสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูคัมภีรนิเทศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสุพจน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “กปฺปโก” แปลว่า “ผู้สำเร็จ”

    เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษา ณ วัดเทพนิมิต บ้านบัวบาน เป็นเวลา ๒ ปี ในระหว่างนั้น โยมบิดาได้ป่วยและเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังจากจัดการฌาปนกิจศพโยมบิดาเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงได้เดินทางมาศึกษาปริยัติธรรม และพำนักยังวัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ โยมมารดาเสียชีวิต ท่านจึงเดินทางกลับมายังวัดป่าวิเวกธรรม เพื่อจัดการงานศพของโยมมารดา และท่านก็ไม่กลับไปศึกษาปริยัติธรรมอีก ขณะนั้นท่านได้วิทยฐานะเป็นนักธรรมโท

    ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระพี่ชายคือพระครูศีลสารวิมล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรม หรือวัดเหล่างา หลวงปู่ท่านจึงจำพรรษาที่วัดเทพนิมิต บ้านบัวบาน เพียงองค์เดียว เป็นเวลา ๕ ปี ต่อมาจึงได้ติดตามพระพี่ชายมาจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙

    ระหว่างนั้นหลวงปู่ได้เดินทางไปธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ โดยไปทางโคราช และอรัญญประเทศ จนกระทั่งข้ามไปยังประเทศกัมพูชา ระหว่างทางท่านก็ได้ผจญกับสัตว์ร้ายและโรคภัยสารพัด และยังได้มีโอกาสช่วยเหลือรักษาโรคภัยให้แก่ชาวบ้าน หลวงปู่เล่าว่าการเดินธุดงค์ส่วนมากใช้เท้าเปล่า และเอารองเท้าพาดบ่าเพราะรองเท้าตัดจากหนังควายแห้งใส่แล้วกัดเท้าเจ็บ แต่ถ้าเข้าป่ามีหนามจึงนำออกมาสวม

    จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติธรรม ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางมายังจังหวัดขอนแก่น และแวะเยี่ยมพระครูศีลสารวิมล หลวงปู่จึงได้มีโอกาสฟังธรรมจากหลวงปู่สิม เป็นเหตุให้ท่านมีโอกาสเข้าใจในเรื่องการภาวนาที่ลึกซึ้งมากขึ้น และหลวงปู่สิมได้ชวนหลวงปู่ให้ไปอยู่เชียงใหม่ด้วยกัน หลังจากหลวงปู่สิมเดินทางกลับไปแล้ว หลวงปู่จึงตัดสินใจเดินทางติดตามไปโดยลำพัง หลวงปู่เล่าว่าท่านขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ไปแวะพักค้างคืนที่วัดบรมนิวาส เชิงสะพานกษัตริย์ศึก แล้วนั่งรถไฟต่อไปถึงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

    หลวงปู่ได้รับการฝึกหัดอบรมกรรมฐานจากหลวงปู่สิม และได้ติดตามหลวงปู่สิม ไปธุดงค์กรรมฐานที่ภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นป่าที่มีสัตว์ร้ายอยู่มาก แต่หลวงปู่สิมก็นำท่านบุกป่าฝ่าดงไปเพื่อแสวงหาโมกขธรรม โดยอาศัยความสงบของจิตและ “พุทโธ” เป็นเครื่องต่อสู้กับความทุรกันดาร และสัตว์ร้ายนานาชนิด

    ต่อมาหลวงปู่ยังได้มีโอกาสไปศึกษาธรรมะกับหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และได้สั่งสมความรู้ และไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาธรรมะจากหลวงปู่ตื้อ รวมทั้งด้านอิทธิวิธีซึ่งหลวงปู่ตื้อท่านมีความเป็นเลิศ ยามว่างหลวงปู่ท่านจะเล่าให้บรรดาสานุศิษย์ฟังถึงความสงบเย็น ความมุ่งมั่น อดทน ความกล้าหาญ เมตตา และเสียสละของหลวงปู่สิม และปฏิภาณ ไหวพริบ อิทธิฤทธิ์ ของหลวงปู่ตื้อ ซึ่งหลวงปู่บุญเพ็งท่านรับมาปฏิบัติจนเท่าทุกวันนี้

    ในระหว่างนี้เป็นเวลาประมาณ ๔ ปี หลวงปู่ท่านได้ใช้ช่วงเวลาออกพรรษาในฤดูแล้ง ธุดงค์กรรมฐานไปตามป่าเขาในภาคเหนือตอนบน ได้ประสบกับสิ่งลึกลับมหัศจรรย์มากมาย และต้องต่อสู้กับภัยอันตรายนานัปการ ตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์ของท่านได้ดำเนินไปก่อนแล้ว และระหว่างธุดงค์กรรมฐานท่านก็ยังได้สั่งสอนอบรมภาวนาให้พระภิกษุที่เดินทางไปด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ

    จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๗ หลวงปู่ได้ไปจำพรรษา ณ วัดคำหวายยาง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เป็นเวลา ๒ ปี เพื่อไปวิเวกภาวนา เนื่องจากวัดคำหวายยางเป็นวัดที่มีความทุรกันดาร และขึ้นชื่อเรื่องผีดุ ที่วัดนี้หลวงพ่อก็ได้อบรมภาวนาให้ลูกศิษย์หลายคนให้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และบางคนยังใช้พลังจิตช่วยเหลือผู้คนที่ประสบปัญหาต่างๆ มาจนปัจจุบัน

    ในด้านการแสดงพระธรรมเทศนาอบรมพุทธบริษัท หลวงปู่ท่านพัฒนาเทคนิคเฉพาะตัวของท่านเอง ตั้งแต่ครั้งบวชใหม่ๆ ซึ่งยังมีความประหม่าอยู่มาก แต่ก็ต้องเทศน์ตามโอกาสและประเพณี อย่างไรก็ตามจากไหวพริบปฏิภาณของท่าน และจากการฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์ในสมัยนั้น ซึ่งแสดงตามงานต่างๆ เกือบทุกคืน

    นอกจากนี้พระพี่ชายคือ พระครูศีลสารวิมล (ล้วน สีลราโม) ก็เป็นนักเทศน์ที่มีสำนวนโวหารไพเราะจับใจญาติโยมเป็นอันมาก รวมทั้งจากการติดตามรับฟังการแสดงธรรม และการแก้ปัญหาธรรมะของครูบาอาจารย์ เช่น หลวงปู่สิม และหลวงปู่ตื้อ เป็นอาทิ ทำให้หลวงปู่ท่านมีความเป็นเลิศในการเป็นนักเทศน์อีกประการหนึ่ง

    ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หลวงปู่ได้มีโอกาสไปร่วมงานศพพระเถระที่จังหวัดสงขลา และได้รับนิมนต์ขึ้นเทศน์ ๒ ธรรมาสน์ ทั้งๆ ที่อาพาธด้วยไข้หวัด แต่กระนั้นท่านก็เทศน์ได้ดีจนกระทั้งหลวงปู่สิม ซึ่งเป็นพระอาจารย์กรรมฐานของท่านเอง ออกปากชมว่าเทศน์ดี ญาติโยมจากวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งไปร่วมงานในครั้งนั้นเกิดความประทับใจในปฏิภาณของท่านเป็นยิ่งนัก จึงกราบอาราธนาท่านไปจำพรรษาที่วัดอโศการาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙


    มีต่อ >>>>>





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  2. รูปส่วนตัว DAO

    DAO said:

    Re: หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก




    สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)


    ในระหว่างพรรษา ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาอบรมพุทธบริษัทอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งท่านแสดงธรรมวันละ ๓ รอบ รอบละเกือบ ๒ ชั่วโมง เนื้อหาเผ็ดร้อน ตรงประเด็นเกี่ยวกับจิตตภาวนาล้วนๆ ไม่มีจืด ไม่มีซ้ำ ลูกศิษย์รุ่นเก่าที่ได้รับการฝึกอบรมจิตตภาวนาในยุคนั้นยังมีปรากฏให้เห็นมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันหลายท่าน

    ในขณะนั้นหลวงปู่บุญเพ็งท่านยังมีอายุไม่ถึง ๔๐ ปี ด้วยซ้ำไป ชื่อเสียงในการเป็นนักเทศน์ของหลวงปู่ขจรขจายมาจนถึงวัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยมีอุบาสก อุบาสิกา นำมาเล่าให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เจ้าอาวาส (ในขณะนั้น) ฟัง เมื่อสมเด็จฯ ท่านซักถามถึงชื่อเสียงก็ทราบว่ารู้จักกันอยู่ก่อนแล้ว จึงให้พระเถระในวัดพระศรีมหาธาตุฯ ไปรับมา แต่หลวงปู่ท่านก็ได้ขอผัดผ่อนไปก่อนเพื่อที่จะออกเดินธุดงค์ไปวิเวกที่จังหวัดจันทบุรี

    เมื่อเข้าพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลวงปู่จึงได้มาจำพรรษา ณ วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน และได้อบรมจิตตภาวนาให้แก่ญาติโยมพุทธบริษัททางด้านนี้สลับกับที่วัดอโศการาม เป็นเวลาเกือบ ๑๐ พรรษา โดยส่วนใหญ่จะจำพรรษาที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน

    ดังนั้นเมื่อหลวงปู่พูดถึงสองวัดนี้ ท่านจึงพูดว่าเป็นวัดของท่าน ด้วยความคุ้นเคยอย่างยิ่งกับพระเณรและญาติโยมทั้งหลาย แต่ช่วงหลังๆ นี้ท่านเดินทางไปวัดอโศการามน้อยลง เนื่องจากมีปัญหาการจราจรติดขัด เดินทางไปไม่สะดวก ท่านจึงพำนักที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน ทุกครั้งที่เดินทางมากรุงเทพฯ โดยในปัจจุบันท่านเจ้าอาวาสได้จัดกุฎิเฉพาะให้ท่านคือ กุฎิกี ประยูรหงส์ ด้านหน้าศาลากลางน้ำ

    การแสดงพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ที่วัดอโศการาม จะแสดงอบรมภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา บนวิหารพร้อมกัน ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของวัดอโศการาม จะมีการแสดงธรรมบนวิหารทุกคืน และในวันพระยังมีรอบเช้า และรอบบ่ายสาม แต่ที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน ตามปกติสมเด็จฯ จะแสดงธรรมเอง อย่างไรก็ตามบางคราวสมเด็จฯ ได้นิมนต์ให้หลวงปู่แสดงธรรมแทน โดยสมเด็จฯ นั่งฟังอยู่ด้วย

    สหธรรมิกของหลวงปู่ที่ติดตามกันไปอยู่ที่ วัดพระศรีฯ คือท่านพระอาจารย์ไท (ไท ฐานุตตโม) ซึ่งติดตามกันตั้งแต่ครั้งธุดงค์ที่ภาคเหนือ และวัดอโศการาม ในแต่ละวันจะมีบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะอาจารย์จากวิทยาลัยครู (มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในปัจจุบัน) ด้านหลังวัดมากราบท่านพระอาจารย์ไท และบางครั้งก็มีการสนทนาธรรมกัน ซึ่งท่านเหล่านี้มีปัญหายากๆ มาถามอยู่เสมอ แต่หลวงปู่ท่านก็เอาอยู่ด้วยปฏิภาณอันเลิศของท่าน

    จะขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง คือในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งสหรัฐอเมริกาส่งยานอพอลโลไปบนดวงจันทร์ อาจารย์ที่สถาบันราชภัฏก็แสดงความกังขาว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นแสดงว่าที่พระพุทธเจ้าบอกว่ามีสวรรค์อยู่ข้างบนก็ไม่จริง เพราะยานอวกาศขึ้นไปบนดวงจันทร์แล้วก็ไม่เห็นมีสรรค์อยู่ข้างบนด้วยปฏิภาณหลวงปู่ก็ตอบไปว่า ถ้าอยากรู้ว่าจริงหรือไม่ก็ให้ลองตายดู อาจารย์ท่านนั้นงง หลวงปู่จึงอธิบายต่อไปว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยบอกว่าสวรรค์เป็นที่ไปของผู้มีชีวิตอยู่ เมื่อตายไปแล้วต่างหาก ท่านจึงว่าไปสู่สุคติสวรรค์ อาจารย์ท่านนั้นจึงยอมจำนน

    ณ วัดพระศรีมหาธาตุนี้เอง ที่หลวงปู่ท่านเริ่มอบรมภาวนาให้กับอุบาสก อุบาสิกา กลุ่มเล็กๆ ซึ่งติดตามท่านมา หลังจากการนั่งฟังธรรมบนโบสถ์ ท่านก็ได้ใช้ใต้ถุนกุฏิเป็นที่อบรม ทั้งที่ยุงชุมมาก แต่ผู้อบรมและผู้รับการอบรมก็ไม่ย่อท้อ การอบรมกลุ่มเล็กนี้จะได้ผลดีมากกว่ากลุ่มใหญ่ และท่านเรียกลูกศิษย์รุ่นนั้นของท่านว่า “เหรียญรุ่นแรก” บางท่านก็ได้ติดตามอุปัฏฐากและเป็นลูกศิษย์มาจนปัจจุบัน บางท่านเสียชีวิตไปแล้ว แต่ลูกหลานเหลนก็ยังตามมาเป็นลูกศิษย์อยู่ก็มี

    เคยมีลูกศิษย์ “เหรียญรุ่นแรก” มากราบหลังจากหายหน้าไปนาน เมื่อหลวงปู่ถามถึงการปฏิบัติจิตว่าเสื่อมหายไปหรือไม่ เพราะติดภาระครอบครัวไม่อาจนั่งภาวนาได้บ่อยครั้งเหมือนแต่ก่อน ลูกศิษย์ท่านนั้นตอบสมกับเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ว่า นามธรรมเสื่อมหายไม่ได้หรอก

    แนวทางการอบรมภาวนากลุ่มเล็กเช่นนี้ หลวงปู่ท่านดำเนินตามรอยพระพุทธเจ้า ท่านว่า ครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนลูกศิษย์คราวละไม่กี่คน และให้นั่งภาวนาไปด้วย และก็ฟังเทศน์ไปด้วย ท่านบอกว่า มัวนั่งฟังเทศน์สวดมนต์จนปวดขา แล้วจึงมานั่งภาวนาก็พาลจะนั่งไม่ได้ บางคนเข้ามาถามคำถามเกี่ยวกับการภาวนา ท่านไม่ตอบ แต่ให้นั่งไปเลย และก็ได้เลย เลยไม่ต้องถามอีก ท่านเรียกลูกศิษย์เหล่านี้ว่า “ลูกศิษย์ลอยมา” ซึ่งส่วนใหญ่จะนั่งได้

    มีลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เข้ามาฝึกอบรมกับหลวงปู่ท่าน สำหรับผู้ที่ตั้งใจจริงจังและไม่เคยไปฝึกภาวนาที่อื่นมาก่อนก็มักจะได้กันทุกคน พวกเราพึ่งตนเองได้ในการปฏิบัติ ส่วนจะก้าวไปไกลเพียงใดหรือทางใดก็แล้วแต่อุปนิสัยของเขาแต่ละคน

    หลวงปู่ไม่ส่งเสริมให้ลูกศิษย์ “บวชก่อนได้” แม้กระทั่งลูกศิษย์ที่เป็นชาย ถ้าอยากบวชท่านก็จะฝึกหัดภาวนาให้มีพื้นฐานดีก่อนจึงให้บวช ส่วนลูกศิษย์ฝ่ายหญิงซึ่งมีมากกว่าฝ่ายชาย ท่านก็ให้ปฏิบัติภาวนาไปและใช้ชีวิตแบบปุถุชน อีกทั้งยังสอนให้นำหลักธรรมและความสงบซึ่งเป็นผลจากการภาวนาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

    ในช่วงจำพรรษาที่วัดอโศการาม และวัดพระศรีมหาธาตุฯ เมื่อเข้าสู่ช่วงออกพรรษา หลวงปู่ท่านมักจะไปเที่ยวธุดงค์กรรมฐานบริเวณป่าเขาภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคอีสาน จนมีความชำนาญภูมิประเทศของป่าเขาในประเทศไทยแทบทั้งหมด ยกเว้นภาคใต้เท่านั้นที่หลวงปู่ท่านไม่ค่อยได้ไป ดังนั้น เมื่อเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มีฎีกานิมนต์ไปแสดงธรรม แม้จะเป็นวัดที่ท่านไม่คุ้นเคย แต่ท่านมีแผนที่อยู่ในสมองของท่าน จึงไม่ค่อยพลาดเรื่องเส้นทางเดินทาง

    หลังจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ และเสร็จงานศพในราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ แล้วหลวงปู่จึงได้เดินทางกลับไปจำพรรษา ณ วัดป่าวิเวกธรรม จังหวัดขอนแก่น อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากพระพี่ชายของท่าน (พระครูศีลสารวิมล) อาพาธและลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาส

    หลวงปู่บุญเพ็ง จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรม เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ขณะที่ท่านมีอายุได้ ๔๘ ปี และได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นที่พระครูวิเวกวัฒนาทร เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ อายุ ๕๔ ปี

    ดังได้กล่าวถึงในตอนต้นแล้ว วัดป่าวิเวกธรรม เดิมเป็นป่าช้าโคกเหล่างา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม เดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานีมาธุดงค์กรรมฐานที่โคกเหล่างา ด้วยเห็นว่าเป็นป่ารกชัฎมีต้นไม้ใหญ่นานาชนิดหนาแน่น มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากทั้งห่างไกลจากบ้านผู้คน ท่านจึงปักกลดบำเพ็ญภาวนา โดยต่อมาเมื่อมีลูกศิษย์ติดตามมาอีกหลายองค์ ท่านจึงได้สร้างเสนาสนะเป็นวัดเหล่างา หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ในครั้งแรกชาวบ้านบางคนไม่พอใจเพราะหวงสถานที่ถึงขนาดลอบยิงหลวงปู่สิงห์ แต่ยิงไม่ออก

    ตรงข้ามกับวัดป่าวิเวกธรรมหรือวัดเหล่างาเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ซึ่งจะมีคนไข้จากจังหวัดใกล้เคียงกับจังหวัดขอนแก่นเข้ารับการรักษา เมื่อเสียชีวิตลง ญาติจะไม่สามารถนำศพกลับไปยังบ้านเกิดได้ก็จะนำมาฝังในวัดนี้ บางครั้งศพมีจำนวนมากการฝังก็ไม่เรียบร้อย สุนัขก็จะคุ้ยศพลากเศษอวัยวะออกมา หลวงปู่เล่าว่าบางครั้งพระลงศาลาฉัน สุนัขก็จะลากอวัยวะศพผ่านไปเป็นที่อุดจาดตา

    ท่านจึงพยายามรวบรวมปัจจัยจากลูกศิษย์ลูกหาในกรุงเทพฯ ก่อสร้างเมรุเผาศพขึ้นมา ทำให้ปัญหาดังกล่าวลุล่วงไปได้ และบริเวณป่าช้าก็มีการใช้ประโยชน์น้อยลง พอดีกับวิทยาลัยเทคนิคฯ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัด ขาดสถานที่ที่จะก่อสร้างสนามฟุตบอล จึงมาขอเมตตาหลวงปู่ท่าน ซึ่งท่านก็เมตตาด้วยเห็นแก่เยาวชนซึ่งต้องการสถานที่ออกกำลังกาย ท่านบอกดีกว่าให้เข้าไปติดยาเสพติด ดังนั้นในปัจจุบันมุมด้านตะวันออกของวัดมีสนามฟุตบอลอยู่ เด็กที่มาเล่นฟุตบอลส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่าข้างใต้นั้นมีซากศพกองอยู่จำนวนมาก !!

    หลวงปู่บุญเพ็ง ท่านเล่าว่า ท่านสร้างกุฏิหลังแรกด้วยองค์ท่านเอง และต่อมาท่านได้ดำเนินการสร้างศาลาขันตยาคมานุสรณ์ เพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลและปฏิบัติธรรม ซึ่งได้ใช้มาจนปัจจุบัน นอกจากนี้ท่านยังได้รวบรวมปัจจัยก่อสร้างอุโบสถขนาดเล็กเพียงพอต่อการใช้เป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์ตามแบบสิมอีสานโบราณ นอกจากนั้นท่านสร้างรั้ววัดและอื่นๆ อีกมาก จนอาจกล่าวได้ว่าสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ปรากฏที่วัดป่าวิเวกธรรมในปัจจุบันสำเร็จได้ด้วยบารมีของหลวงปู่ท่าน

    อย่างไรก็ตาม หลวงปู่ไม่ได้มุ่งก่อสร้างถาวรวัตถุที่หรูหราเกินความจำเป็น หากแต่ยึดหลักความเรียบง่ายเหมาะแก่ประโยชน์ใช้สอย ดังนั้นแม้ว่าเมืองขอนแก่นจะเจริญเติบโตขึ้นจนเป็นเมืองล้อมวัด แต่เมื่อเข้าไปในวัดป่าวิเวกธรรมก็ยังคงมีบรรยากาศของวัดป่า ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างที่เรียบง่าย และมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมอยู่ทั่วไป

    ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒ ถาวรวัตถุในวัดเริ่มทรุดโทรมตามกาลเวลา และไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของสามเณรและลูกศิษย์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาก หลวงปู่จึงได้เริ่มงานก่อสร้างซ่อมแซมถาวรวัตถุในวัดอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มจากการก่อสร้างศาลาที่พักสำหรับลูกศิษย์จากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดซึ่งเดินทางไปปฏิบัติธรรม ต่อมาท่านได้สร้างหอไตร (ศาลากลางน้ำ) ซ่อมแซมอุโบสถ และซ่อมแซมศาลาขันตยาคมานุสรณ์ ซึ่งก็ค่อยทยอยสำเร็จลุล่วงไปด้วยบารมีและความเหนื่อยยากของหลวงปู่ท่าน

    เหตุที่กล่าวว่าด้วยความเหนื่อยยากของหลวงปู่ ก็เพราะท่านไม่ใช่พระที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และไม่ได้มีลูกศิษย์ลูกหาประเภทศรัทธาทำบุญมากนัก เพราะลูกศิษย์ของท่านเป็นบุคคลที่มีทุกข์จึงแสวงหาทางพ้นทุกข์โดยการฝึกภาวนา ดังนั้นจึงไม่มีกำลังที่จะถวายปัจจัยให้หลวงปู่ทีละล้านบาทหรือสิบล้านบาท ดังเช่นครูบาอาจารย์บางองค์ หลวงปู่จะสั่งวัสดุก่อสร้าง และจ้างแรงงานจากลูกศิษย์หรือใช้แรงพระเณรในวัด เมื่อมีผู้ศรัทธาทำบุญท่านก็ไม่เคยนำไปใช้จ่ายอะไร นอกจากเก็บเล็กผสมน้อยทยอยจ่ายค่าวัสดุ ค่าแรง ไปจนหมด แต่หลวงปู่ก็ไม่เคยเป็นหนี้ใคร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกมาก

    แม้จะเหนื่อยยากแต่หลวงปู่ท่านก็ไม่เคยหยุดการดำเนินการสร้างถาวรวัตถุเพื่อสืบทอดพุทธศาสนา จริงอยู่การภาวนาชำระจิตใจให้พ้นจากอาสวกิเลสเป็นหัวใจหรือแก่นของพระพุทธศาสนา แต่การสร้างทานบารมีและการรักษาศีลก็เป็นเปลือกของพระพุทธศาสนา ถ้าต้นไม้ปราศจากเปลือกมีแต่แก่น ก็ไม่อาจยั่งยืนเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขามาได้เกือบสามพันปีเช่นนี้

    การที่หลวงปู่ท่านริเริ่มงานก่อสร้างถาวรวัตถุในทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ พระพุทธรูป กุฎิ เสนาสนะ หรือจัดให้มีงานพิธีต่างๆ ก็เพื่อเป็นโอกาสให้บรรดาศิษย์ทั้งหลาย และพุทธบริษัทโดยทั่วไปได้มีโอกาสสร้างทานบารมี และศีลบารมี เพื่อประโยชน์ในกาลข้างหน้า

    ลูกกศิษย์ของหลวงปู่บางคน มีความรู้สึกจับใจยิ่งนักในการแสดงธรรมของหลวงปู่ หลายๆ ครั้งที่ท่านยกเวสสันดรชาดกมาอ้างอิงคำสอนของท่าน ในตอนที่มหาเวสสันดรเกลี้ยกล่อมพระกัณหา-ชาลี ให้เดินทางไปกับชูชก เพื่อเป็นการสร้างทานบารมี ในชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าพระศาสดาองค์เอกของเรา ว่า

    “พระลูกเอ๋ย จงมาเป็นมหาสำเภาทองธรรมชาติ อันนายช่างชาญฉลาด จำลองทำด้วยกงแก้วประกำตรึงด้วยเพชรแน่นหนา ฝาระเบิดเปิดช่องน้ำ แก้วไพฑูรย์ กระทำเป็นลาโท โมราสลับ สลักกรอบลาย ลายดอกรัก นวรัตน์ฉลุฉลับเป็นรูปสัตว์ ภาพเพชรนิลแนมแกมหงส์ วิหคตระหนก ตะหนาบคาบลดารัตน์ มังกรกัดกอดแก้วเกี้ยวเป็นก้าน ขดดูสดใส

    ครั้นสำเร็จแล้วเมื่อใดพระบิดาก็จะทรงเครื่องต้น มงคลพิชัยสำหรับกษัตริย์ ดังจะเอาพระสมาบัติมากระหวัดทรงเป็นสร้อยสังวาลย์อยู่สรรพเสร็จ เอาพระขันตีต่างพระขรรค์เพชรอันคมกล้า สุนทรก็จะย่างเยื้องลงสู่ที่นั่งท้ายเภตราสูงระหง ปักธวนธงเศวตรฉัตร วายุวิเวกพัดอยู่เฉื่อยฉิว สำเภาทองก็จะล่องลิ่วไปตามลม สรรพสัตว์ก็จะชื่นชมโสมนัส ถึงจะเกิดลมกาลพาลระบือพัดคือโลโภ ถึงจะโตสักแสนโตตั้งตีเป็นลูกคลื่นประครืนโครมโถมกระแทก สำเภานี้ก็มิได้วอกแวกวาบหวั่นไหว ก็จะแล่นรี่ระเรื่อยเฉื่อยไปจนถึงเมืองแก้วอันกล่าวแล้วคือ เมืองอมตมหานครนฤพาน พระลูกเอ๋ยจงขึ้นมาช่วยพระบิดาให้เป็นบุตรทานในกาลครั้งเดียวนี้เถิด”

    เราจึงอาจได้คิดว่า พระเวสสันดรท่านให้พระราชบุตร พระราชธิดา เป็นสำเภาทองนำท่านไปสู่แดนพระนิพพาน และก็สำเภาทองคือพระกัณหา-ชาลี ก็ได้ไปถึงแดนพระนิพพานในชาติต่อมาเช่นเดียวกัน



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://www.aia.or.th
    http://members.thai.net/aiabuddist/index.htm





    สิ้นทุกข์สุขที่แท้จึงได้พบพาน
     
  3. piangfan said:

    Re: หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก

    สวัสดีค่ะ อาจารย์ดาว

    อนุโมทนาสาธุเจ้าค่ะ