กรรม...ที่สร้างลักษณะทั้ง 32 ประการของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้ามีปกติตรัสเล่าเกี่ยวกับกรรมของพระองค์ เพื่อให้เป็นแบบอย่างอยู่แล้ว เมื่อจะแสดงเกี่ยวกับมหาบุรุษลักษณะก็เพื่อให้พวกเรารู้ว่าแม้รูปพรรณสัณฐาน แต่ละส่วนก็ได้มาโดยกรรม

๑) ฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ตั้งอยู่ได้มั่นคง คือทรงเหยียบพระบาทเสมอกันบนพื้น ทรงยกพระบาทขึ้นก็เสมอกัน ทรงจดภาคพื้นด้วยฝ่าพระบาททุกส่วนเสมอกัน

ข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้ถือความประพฤติมั่นคงในกุศลธรรม ไม่ย่อหย่อนในความสุจริตทางกายวาจาใจ ในการบำเพ็ญทาน ในการรักษาศีล ๕ และศีล ๘ ในการปฏิบัติดีต่อมารดาและบิดา ในการปฏิบัติดีต่อสมณะ ในการปฏิบัติดีต่อพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ควรเคารพเป็นอันมาก (คือมากกว่าชนทั่วไปอย่างเทียบกันอย่างไม่อาจประมาณ)

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือถ้าเลือกเป็นราชามหาจักรพรรดิ์ จะทรงมีราชอาณาจักรมั่นคง มีพระราชโอรสจำนวนมากที่ล้วนเป็นผู้แกล้วกล้า สามารถย่ำยีเสนาแห่งปรปักษ์ได้โดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา ไม่มีข้าศึกใดข่มได้

๒) ลายพื้นพระบาทปรากฏเป็นรูปจักรจำนวนมาก มีซี่กำพันหนึ่ง มีกง มีดุมบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง
ข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
นำความสุขมาให้แก่มหาชนเป็นอันมาก บรรเทาภัยร้ายที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและความหวาดเสียว จัดการรักษาความปลอดภัยโดยธรรม และบำเพ็ญทานพร้อมด้วยวัตถุอันเป็นบริวาร
กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีบริวารมาก ทั้งพราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์ มหาอำมาตย์ กองทหาร นายประตู ผู้มีอิทธิพล เศรษฐี ราชกุมาร

๓) มีส้นพระบาทยาว ๔) มีนิ้วพระหัตถ์และพระบาทยาว และ ๕) พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม

สามข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
ละปาณาติบาตแล้ว เว้นขาดจากปาณาติบาต เป็นผู้ไม่จับอาวุธ มีความละอายในการเบียดเบียน มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีพระชนมายุยืน ดำรงอยู่นาน ไม่มีใครๆ ที่เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นข้าศึกศัตรูสามารถปลงพระชนม์ชีพได้

๖) ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่มและ ๗) ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าบาทมีลายดุจตาข่าย

สองข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้สงเคราะห์ประชาชน ได้แก่การให้ทาน การกล่าวคำเป็นที่รัก การประพฤติให้เป็นประโยชน์ และความเป็นผู้ไม่ถือตัว

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีบริวารมาก ทั้งพราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์ มหาอำมาตย์ กองทหาร นายประตู ผู้มีอิทธิพล เศรษฐี ราชกุมาร

๘) มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน และ ๙) มีปลายพระโลมชาติ (ขน) ทุกๆเส้นเวียนขวาเส้นช้อนขึ้นข้างบนล้วน

สองข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถธรรม แนะนำประชาชนเป็นอันมากไปในทางดี เป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้บูชาธรรมเป็นปกติ

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะเป็นประธานสูงสุด ดีกว่าหมู่ชนที่บริโภคกามทั้งปวง

๑๐) พระชงฆ์ (แข้ง) เรียวดุจแข้งเนื้อทราย คือเรียวไปโดยลำดับ

ข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
ตั้งใจสอนศิลปะวิชา ข้อที่ควรประพฤติ หลักกรรมวิบาก ด้วยความครุ่นคิดว่าทำอย่างไรชนทั้งพึงรู้เร็ว พึงสำเร็จเร็ว ไม่พึงลำบากนาน

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะได้เฉพาะซึ่งพาหนะที่ยิ่งใหญ่เช่นช้างเผือกคู่บารมี

๑๑) ส่วนพระกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์) และ ๑๒) เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองสามารถลูบจับถึงพระชานุ (เข่า)

สองข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
ตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ ย่อมรู้จักชนที่เสมอกัน รู้จักตนเอง รู้จักบุรุษ รู้จักบุรุษพิเศษ หยั่งทราบว่าผู้นั้นควรสักการะอย่างนี้ บุคคลผู้นี้ควรสักการะอย่างนั้น รวมทั้งเกื้อกูลพวกท่านเป็นพิเศษ

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะได้เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีข้าวเปลือกมาก มีคลังเต็มบริบูรณ์ มีเครื่องอุปกรณ์น่าปลื้มใจมาก

๑๓) มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก

ข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้นำพวกญาติมิตรสหายที่สูญหายพลัดพรากไปนานให้ กลับมาพบกัน เมื่อทำพวกเขาให้พร้อมเพรียงกันแล้วก็ชื่นชมยินดีปรีดาอยู่ วิบากของกรรมทำให้เกิดลักษณะของมหาบุรุษคือมีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีพระโอรสมาก ล้วนกล้าหาญและมีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้

๑๔) พระฉวี (ผิวกาย) ละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย

ข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้เข้าหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วซักถาม (ด้วยความเคารพและน้อมนำไปปฏิบัติ) ว่ากุศลกรรมเป็นอย่างไร อกุศลกรรมเป็นอย่างไร กรรมส่วนที่มีโทษเป็นอย่างไร กรรมส่วนที่ไม่มีโทษเป็นอย่างไร กรรมที่ควรเสพเป็นอย่างไร กรรมที่ไม่ควรเสพเป็นอย่างไร วิบากของกรรมทำให้เกิดลักษณะของมหาบุรุษคือมีพระฉวี (ผิวกาย) สุขุมละเอียด ธุลีละอองไม่อาจติดกายได้

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีปัญญามาก ไม่มีบรรดาชนผู้บริโภคกรรมใดมีปัญญาเสมอหรือประเสริฐกว่าพระองค์

๑๕) มีฉวีวรรณ (สีผิว) ประดุจทองคำ

ข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นใจ แม้ถูกคนหมู่มากว่าเอาก็ไม่ขัดใจ ไม่ปองร้าย ไม่จองเวรล้างผลาญ ไม่แม้ทำความโกรธเคืองและความเสียใจให้ปรากฎ นอกจากนั้นยังมีกรรมที่ให้ผลเป็นผิวประดุจทองอื่นอีก คือเป็นผู้ให้เครื่องปูหลังสัตว์มีเนื้อละเอียดอ่อน และให้ผ้า สำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อ

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน ทั้งได้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม เช่นผ้าโขมพัสตร์เนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด ผ้าไหมเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลเนื้อละเอียด เป็นต้น (หมายถึงถ้าเป็นกษัตริย์จะทรงอยู่ในถิ่นที่มีช่างผู้ฉลาดในทางภูษาอาภรณ์ และทั้งชีวิตจะไม่ขาดจากเครื่องนุ่งห่มชั้นเลิศ มีความประณีตยิ่ง เข้ากันกับผิวอันงามประดุจทองคำของพระองค์ แต่ถ้าทรงผนวชและเลือกที่จะมักน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางครั้งเมื่อมีคนถวายจีวรชั้นดีท่านก็สนองศรัทธา แต่โดยมากท่านจะเป็นอยู่ด้วยจีวรปอนๆ)

๑๖) มีเส้นพระโลมา (ขน) เฉพาะขุมละเส้น และ ๑๗) มีอุณาโลม (ขนหว่างคิ้ว) เวียนขวา

สองข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์มีถ้อยคำเป็นหลักเป็นฐานควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีมหาชนยกย่องและยึดถือเป็นแบบอ ย่าง เป็นบุคคลในอุดมคติ

๑๘) มีพระมังสะ (เนื้อ) อูมเต็มในที่ ๗ แห่ง คือหลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ หลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสา (บ่า) ทั้ง ๒ กับลำพระศอ (คอ)

ข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
ให้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอันประณีต และมีรสอร่อย รวมทั้งให้น้ำที่ควรซด ควรดื่ม

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะได้ของที่ควรเคี้ยวและของที่ควร บริโภคอันประณีต มีรสอร่อย และได้น้ำที่ควรซด ควรดื่ม

๑๙) มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ ล่ำพีดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์
๒๐) พระปฤษฎางค์ (ส่วนหลัง) ราบเต็มเสมอกัน
๒๑) มีลำพระศอ (คอ) กลมงามเสมอตลอด

สามข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจากโยคะ แก่ชนเป็นอันมาก ด้วยความคิดว่าทำอย่างไรชนเหล่านี้พึงเจริญด้วยศรัทธา เจริญด้วยสละออก เจริญด้วยศีล เจริญด้วยการฟังสาระธรรม เจริญด้วยการเป็นผู้รู้แจ้งตื่นจากการหลับไหล เจริญด้วยปัญญา เจริญด้วยโภคทรัพย์ เจริญด้วยบุตรและภรรยา เจริญด้วยทาสและกรรมกร เจริญด้วยญาติ เจริญด้วยมิตร เจริญด้วยพวกพ้อง

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดาจาก ทรัพย์ บุตรภรรยา ญาติมิตร และบริวาร

๒๒) มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี มีปลายในเบื้องบนประชุมอยู่ที่ลำพระศอ สำหรับนำรสอาหารแผ่ซ่านไปสม่ำเสมอทั่วพระกาย

ข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ หรือศาสตรา

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีพระโรคาพาธน้อย สมบูรณ์ด้วยธาตุไฟ (ความเผาผลาญ) อันยังอาหารให้ย่อยดีไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก

๒๓) มีพระหนุ (คาง) ดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์)

ข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบประโยชน์โดยกาลอันควร

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะไม่มีใครๆที่เป็นข้าศึกศัตรูกำจัดได้

๒๔) มีพระทนต์ (ฟัน) ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่) และ ๒๕) พระทนต์ชิดสนิทมิได้ห่าง

สองข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น ไม่ประสงค์ยุแยงตะแคงรั่วให้คนเขาแตกคอกัน ตรงข้ามพยายามพูดสมานสามัคคี ทำให้คนที่เขาแตกร้าวกันกลับมาคืนดีกัน มีความเพลิดเพลินยินดีในการเห็นผู้คนปรองดองกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้ใครต่อใครปรองดองกัน

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีบริษัทส่วนใหญ่จะไม่แตกคอกัน (คือไม่เป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่ตั้งก๊กตั้งป้อมโจมตีกันจนเสียความเป็นปึกแผ่น เสียความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจนกระทั่งพระราชบัลลังก์คลอนแคลนได้)

๒๖) พระทนต์เรียบเสมอกัน และ ๒๗) เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์

สองข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้ละอาชีพทุจริตแล้ว สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยอาชีพสุจริต เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม การโกงด้วยเครื่องตวงวัด การโกงด้วยการรับสินบน การหลอกลวง การทำตลบตะแลง เว้นขาดจากการตัด การฆ่าการจองจำ การตีชิง การปล้นและการกรรโชกขู่เอาทรัพย์ผู้อื่น (ข้อนี้ต้องดูว่าบางชาติอาจยากจนข้นแค้น แต่แม้จนตรอกขนาดไหน มีใครชักชวนอย่างไรก็ห้ามใจไว้ ไม่ประพฤติผิดแม้มีกำลังมากพอที่จะทำได้)

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีบริวารสะอาดปราศจากมลทิน

๒๘) พระชิวหา (ลิ้น) อ่อนและยาว (อาจแผ่ปกหน้าผากได้) และ ๒๙) พระสุรเสียงยิ่งใหญ่ดุจท้าวมหาพรหม ทว่ายามตรัสมีสำเนียงเพราะพริ้งราวกับนกการเวก

สองข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้
ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เสนาะเพราะโสตจับใจ ชวนให้รัก คนส่วนใหญ่พึงใจ

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะมีพระวาจาอันมหาชนพึงเชื่อถือ

๓๐) พระเนตร (ตา) ดำสนิท และ ๓๑) ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

สองข้อนี้คือวิบากจากการเป็นผู้ไม่ถลึงตาดู ไม่ค้อนตาดู ไม่ชำเลืองตาดูใครๆด้วยอำนาจความโกรธ เป็นผู้ตรง มีใจตรงเป็นปรกติ แลดูใครๆตรงๆด้วยดวงตาทอแววรักใคร่เมตตา วิบากของกรรมทำให้เกิดลักษณะของมหาบุรุษคือมีพระเนตร (ตา) สีดำสนิทและงามดุจประกายตาแห่งโค

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะเป็นผู้ที่อันมหาชนเห็นแล้วเคารพรัก

๓๒) มีพระเศียร (ศีรษะ) งามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

ข้อนี้คือวิบากจากการ
เป็นหัวหน้าของมหาชนในธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายกุศล เป็นประธานของมหาชนด้วยกายสุจริต ด้วยวจีสุจริต ด้วยมโนสุจริต ในการบำเพ็ญทาน ในการตั้งใจรักษาศีล ๕ และศีล ๘ ในความเป็นผู้ปฏิบัติดีต่อมารดาและบิดา ในความเป็นผู้ปฏิบัติดีต่อสมณะ ในความปฏิบัติดีต่อพราหมณ์ ในความเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล รวมทั้งเป็นผู้นำในธรรมเป็นมหากุศลอื่น ๆ

กรรมดังกล่าวนอกจากตกแต่งอวัยวะแล้ว ยังส่งผลกับวิถีชีวิตคือเมื่อเป็นพระราชาจะเป็นผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากมหาชนอย่างล้นหลาม