ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

กระทู้: ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. *8q* said:

    Re: ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด



    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘หลวงพ่อวัดไร่ขิง’
    วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม


    “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดไร่ขิง
    (วัดมงคลจินดาราม) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

    เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๒ นิ้ว สูง ๔ ศอก ๑๖ นิ้ว
    ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ๕ ชั้น มีผ้าทิพย์ปูทอดลงมา ผินพระพักตร์สู่ทิศเหนือ
    องค์พระงดงาม เป็นการผสมผสานงานพุทธศิลป์ ๓ สมัย
    คือ เชียงแสน อู่ทอง และสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใครสร้างขึ้นเมื่อไหร่

    จากหนังสือประวัติของวัด ระบุว่าเรื่องราวของหลวงพ่อวัดไร่ขิงซึ่งไปเกี่ยวข้องกับ
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมราชานุวัต
    ตั้งแต่ครั้งเป็นวัดศาลาปูนวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา



    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) นั้น พื้นเพของท่านเป็นชาวนครชัยศรี
    เล่ากันเป็นสองนัยว่า ท่านเป็นผู้สร้างวัดไร่ขิง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔
    แล้วอาราธนาพระพุทธรูปจากพระนครศรีอยุธยามาเป็นพระประธาน
    กับอีกความหนึ่งว่า วัดไร่ขิงเดิมมีพระประธานอยู่แล้วแต่องค์เล็ก
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) จึงบอกให้ไปนำพระพุทธรูปจากวัดของท่าน
    ซึ่งผู้คนจากวัดไร่ขิงก็พากันขึ้นไปรับ เชิญลงแพไม้ไผ่ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา
    เข้าแม่น้ำท่าจีนจนถึงวัด ก่อนอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ
    ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันสงกรานต์ในปีนั้นพอดี

    เล่ากันว่า ขณะที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากน้ำสู่ปะรำพิธี
    เกิดความมหัศจรรย์ แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป
    ความร้อนระอุในวันสงกรานต์กลางเดือนห้า บังเกิดมีเมฆดำทะมึน
    ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองก้องในนภากาศ บันดาลให้ฝนโปรยลงมา
    ทุกคนในที่นั้นเกิดความยินดี พากันอธิษฐานจิต
    “ขอหลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
    ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป
    ดุจสายฝนที่เมทนีดลทำให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร”




    จึงถือเป็นวันสำคัญ จัดให้มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปี
    หลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาถึงทุกวันนี้

    เรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิง
    ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับน้ำอยู่ตามสมควร
    ในประวัติพระพุทธรูปหลายสำนวนก็นับท่านรวมอยู่ใน
    พระพุทธรูปห้าองค์พี่น้องที่ลอยน้ำมาจากทางเหนือ
    ประกอบด้วย หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา,
    หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม
    บางแห่งก็เพิ่มหลวงพ่อวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี
    และหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ
    และขึ้นประดิษฐาน ณ ที่ต่างๆ กันด้วย

    หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีเสียงเล่าลือกันจากปากต่อปากของประชาชนทั่วไป
    จากเหนือสู่ใต้ว่าหลวงพ่อมีอิทธิฤทธิ์และอภินิหารต่างๆ มากมายเป็นอเนกประการ
    แต่ละคนที่มีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิง
    มีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ปรากฏแก่ตนเองเกือบทุกคน



    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสไร่ขิง ได้นำอภินิหาร
    และอิทธิฤทธิ์บางส่วนจากผู้ศรัทธาหลวงพ่อ
    มาบันทึกไว้ในหนังสือประวัติวัดและหลวงพ่อวัดไร่ขิง อาทิ

    - หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีอภินิหารปิดทองไม่ติด
    ทั้งที่ในแต่ละปีมีประชาชนมาปิดทองหลวงพ่อเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน

    - หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหาร
    ในการป้องกันสิ่งต่างๆ ตามความรู้สึกของแต่ละคนที่ตั้งใจปรารถนา

    - น้ำมันและน้ำมนต์ของหลวงพ่อ รักษาโรคภัยต่างๆ ได้สมใจปรารถนา

    - หลวงพ่อวัดไร่ขิง ช่วยให้รอดพ้นจากความตาย เพียงแค่ตั้งจิตถึงหลวงพ่อ

    - หลวงพ่อวัดไร่ขิง ปิดตาขโมยได้ ป้องกันไฟไหม้

    - หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นทุกอย่างได้ตามแรงอธิษฐานของคนอยากให้เป็น



    หลวงพ่อวัดไร่ขิง ประดิษฐานเป็นที่เคารพกราบไหว้อยู่ ณ วัดไร่ขิง
    มาเป็นเวลานานเป็นที่รู้จักเรียกขานในนามหลวงพ่อวัดไร่ขิง
    คนในท้องถิ่นต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์
    และมักกราบไหว้บนบานเมื่อมีทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ

    สำหรับคาถาบูชาหลวงพ่อวัดไร่ขิง ตั้งนะโม ๓ จบ
    “กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา มะเหสักขายะ เทวะตายะ
    อะธิปาถิตัง อิทธิปาฏิหาริกัง มังคะละจินตารามพุทธะปะฏิมากะรัง
    ปูชามิหัง ยาวะชีวัญจะ สุกัมมิโก สุขะปัตถิตายะ”


    ชาวบ้านเชื่อศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง
    ว่าสามารถปัดเป่าทุกข์โรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงได้อย่างอัศจรรย์
    ทั้งยังอำนวยโชคลาภให้แก่ผู้ที่เดินทางมาสักการะ

    โดยเฉพาะในงานประจำปี ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕
    มีมหรสพ ๙ วัน ๙ คืน พุทธศาสนิกชนแห่นมัสการสักการะ
    และบนบานศาลกล่าวด้วย “ว่าวจุฬา”
    เชื่อว่าหลวงพ่อชอบเป็นพิเศษ รองลงมา คือ ประทัดและละครรำ
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  2. *8q* said:

    Re: ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    [HR]<!-- / icon and title --><!-- message -->


    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระร่วงโรจนฤทธิ์’
    วัดพระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม


    “พระร่วงโรจนฤทธิ์” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดนครปฐม
    เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีนามพระราชทานว่า
    “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร”
    ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖

    แต่ประชาชนทั่วไปเรียกขานว่า “หลวงพ่อพระร่วง” หรือ “พระร่วงโรจนฤทธิ์”

    เป็นพระพุทธรูปประทับยืนศักดิ์สิทธิ์ ปางห้ามญาติ (ปางประทานอภัย)
    ทำด้วยทองเหลืองหนัก ๑๐๐ หาบ ศิลปะสุโขทัย สูง ๑๒ ศอก ๔ นิ้ว
    ประทับยืนบนฐานโลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย
    ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยม นิ้วพระหัตถ์พระบาทไม่เสมอกัน
    ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย
    แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้นยื่นไปข้างหน้า มีพระอุทรพลุ้ยบ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ



    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
    เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช
    เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๑
    ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก
    แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ เมืองศรีสัชนาลัย (สุโขทัย)
    กอปรด้วยพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย
    แต่ชำรุดมาก เหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท

    จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั้นลงมากรุงเทพฯ
    แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์
    และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อ
    เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖
    ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ โดยมีผู้ออกแบบคือ
    กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร)

    จากนั้นได้อัญเชิญมาสู่จังหวัดนครปฐม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๗
    ทางรถไฟ
    ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ
    ขององค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
    จนถึงปัจจุบัน



    เมื่อครั้งอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์มาประดิษฐานยังองค์พระปฐมเจดีย์
    จำเป็นต้องแยกชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันที่จังหวัดนครปฐม
    เสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๘

    หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต
    ตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่า
    ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ ไว้ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์
    ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙

    จึงได้ทำพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ ๖
    ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ตามพระราชประสงค์


    มีความเชื่อว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ โปรดหรือชอบลูกปืน
    โดยต้องแก้บนด้วยการยิงปืน
    แต่ต่อมาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงใช้จุดประทัดแทน
    และอีกอย่างที่เป็นของโปรด (ตามความเชื่อของชาวบ้าน)
    คือ ไข่ต้ม และไม่ใช่ไข่ต้มธรรมดา
    แต่ต้มสุกแล้วต้องชุบสีแดงที่เปลือกไข่หลังต้มแล้ว ก่อนนำมาแก้บน

    ในการบนบานขอพรหรือขอความสำเร็จต่างๆ จากองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์
    ชาวบ้านทั้งชาวไทยชาวจีนในนครปฐมเป็นที่ทราบกันทั่วไป
    ที่ผ่านมาเคยเห็นมีผู้มาแก้บนด้วยไข่ต้มนับร้อยนับพันใบก็มี

    คำกล่าวบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่แปลแล้วมีว่า
    “พระพุทธรูปพระองค์ใด ซึ่งมีอภินิหารไม่น้อย มีพระพุทธลักษณะอันงดงามผุดผ่อง
    พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้ทรงถวายพระนามว่า
    “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร”
    เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ได้ประดิษฐานมาอยู่ ณ วิหารมณฑลด้านทิศเหนือ แห่งองค์พระปฐมเจดีย์
    ควบเวลาถึงกว่า ๙๒ ปี (ปัจจุบัน) ได้แผ่พระบารมีปกเกล้าไปยังพุทธศาสนิกชนทั่วทุกทิศ
    ปานประหนึ่งว่า พระพุทธองค์ ทรงสถิตประทับยืนอยู่ ณ นิโรธาราม
    ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ ทรงโปรดพระประยุรญาติ
    ทั้งสองฝ่ายให้คลายจากมานะทิฐิอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข”


    “ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าวันทาพระร่วงโรจนฤทธิ์พระองค์นี้
    ซึ่งเป็นที่นำบุญมาให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ผู้นมัสการอยู่ แม้พระปฐมเจดีย์ใหญ่ใด
    ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประดิษฐานองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์
    ซึ่งมีปาฏิหาริย์ไม่น้อย งดงามดุจพระจันทร์ในยามราตรี
    ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าวันทาพระปฐมเจดีย์นี้ ซึ่งเป็นที่นำบุญมาให้แก่ผู้ทัศนาอยู่เสมอ
    ข้าพระพุทธเจ้าขอนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระบรมสารีริกธาตุ
    และองค์พระปฐมเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งควรนมัสการอยู่โดยส่วนเดียว
    ด้วยเครื่องสักการะคือดอกไม้ไฟอันตั้งอยู่ ณ ทิศทั้งสี่
    ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ได้แล้วซึ่งบุญอันใด ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น
    ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข เป็นผู้ไม่มีเวร ปราศจากอันตราย
    เจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมเป็นนิตย์เทอญ”


    สำหรับ วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร
    ซึ่งอาณาจักรที่ตั้งสองสิ่งสำคัญอยู่คือ องค์พระปฐมเจดีย์ และพระร่วงโรจนฤทธิ์
    วัดพระปฐมเจดีย์ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
    อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย

    ทั้งนี้ องค์พระปฐมเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
    มีลักษณะโครงสร้างเป็นพระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำปากผายมหึมา
    โครงสร้างชั้นในเป็นไม้ซุงรัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐถือปูน
    ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยพระวิหาร ๔ ทิศ กำแพงแก้ว ๒ ชั้น

    องค์พระปฐมเจดีย์ สูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฏ ๑๒๐.๔๕ เมตร
    ฐานโดยรอบวัดได้ ๒๓๕.๕๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๖.๖๕ เมตร
    จากปากระฆังถึงสี่เหลี่ยมสูง ๑๘.๓๐ เมตร สี่เหลี่ยมด้านละ ๒๘.๑๐ เมตร
    ปล้องไฉน ๒๗ ปล้อง เสาหาร ๑๖ ต้น คตพระระเบียงรอบกำแพงแก้วชั้น ๕๖๒ เมตร
    กำแพงแก้วชั้นในโดยรอบ ๙๑๒ เมตร ซุ้มมีระฆังบนลานองค์พระปฐมเจดีย์ ๒๔ ซุ้ม

    พระปฐมเจดีย์ถือว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
    และจังหวัดนครปฐมได้ใช้ “พระปฐมเจดีย์” เป็นตราประจำจังหวัด


    ส่วน งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
    เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชั่วไปในจังหวัดนครปฐมและทั่วราชอาณาจักร
    ได้ร่วมกันบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และร่วมกันบริจาคทรัพย์
    เพื่อบำรุงรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ให้มั่นคงสืบเป็นประเพณี


    องค์พระปฐมเจดีย์


    วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม

    <!-- / message --><!-- sig -->
    __________________
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  3. *8q* said:

    Re: ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด



    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘หลวงพ่อดำ’
    วัดช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี


    “พระสัมพุทธมหามุนีศรีคุณาศุภนิมิต” หรือ “หลวงพ่อดำ”
    วัดช่องแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
    เป็นพระพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง ซึ่งชาวประมงฝั่งตะวันออก
    เลื่อมใสศรัทธา ทุกครั้งที่ออกทะเลมักจะไปนมัสการและขอพร
    ชาวประมงทุกคนจะกลับมาโดยสวัสดิภาพ
    มีโชคได้สินทรัพย์จากทะเลเป็นกอบเป็นกำ


    พระสัมพุทธมหามุนีศรีคุณาศุภนิมิต หรือหลวงพ่อดำ
    ประดิษฐานในพระวิหารวัดช่องแสมสาร
    เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิสูง ๕ เมตร มีรูปใบหน้าอิ่มเอิบ
    ดวงตาทอดต่ำลงแผ่เมตตาให้กับผู้คนที่เดินทางมากราบไหว้

    ตำนานหลวงพ่อดำ ระบุว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๑
    “หลวงพ่อดำรง คุณาสโภ” ได้เดินทางจาก จ.สุพรรณบุรี
    มาปักกลด ณ บริเวณพระเจดีย์เก่าบนเขาของวัดช่องแสมสาร



    หลวงพ่อดำรง ได้เล่าให้ญาติโยมที่ไปกราบนมัสการให้ฟังว่า
    ท่านจำพรรษาอยู่วัดเขาขึ้น อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
    สาเหตุที่เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ เพราะได้ฝันว่า
    เทพยดาองค์หนึ่งบอกให้ไปสร้างพระพุทธรูปไว้ใกล้ๆ
    พระเจดีย์เก่าองค์หนึ่ง บนเขาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

    “ในภายภาคหน้า พระประธานองค์นี้จะกลายเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์
    และมีประชาชนให้ความเคารพนับถือเดินทางมากราบไหว้กันเป็นจำนวนมาก
    เนื่องจากบริเวณแห่งนี้มีความเหมาะสมที่จะบูรณะให้กลายเป็น
    แหล่งรักษาศีลและความสงบให้กับชาวพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก...”


    หลวงพ่อดำรง ได้ออกเดินทางจากวัดเขาขึ้น
    กว่าจะถึงวัดช่องแสมสารเป็นเวลาหลายวัน
    เพราะท่านเดินทางถึงหมู่บ้านติดทะเลที่ใดก็จะแวะดูเรื่อยไป

    จนถึงบ้านช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี คือ สถานที่ท่านปักกลดอยู่นี้
    เป็นสถานที่มีภูมิทัศน์ตรงกับสภาพที่ท่านนิมิตฝัน ท่านจึงชักชวนญาติโยม
    ช่วยกันบริจาควัสดุในการสร้างพระพุทธปฏิมากร ซึ่งได้รับศรัทธาร่วมมือด้วยดี

    ในสมัยนั้นยังไม่มีทางรถยนต์ จึงจำเป็นต้องใช้แรงงานคนแบกขนวัสดุขึ้นไป
    การสร้างใช้เวลาสร้างประมาณ ๒ ปี จึงแล้วเสร็จและ
    ทารักสีดำ
    ตั้งเป็นสง่าอยู่กลางแจ้ง โดยไม่มีหลังคาคลุมแต่อย่างใด


    ชาวบ้านชาวเรือและผู้พบเห็น จึงเรียกว่าหลวงพ่อดำกันจนติดปาก
    ทั้งๆ ที่ตอนสร้างเสร็จท่านได้ถวายนามว่า “พระสัมพุทธมหามุนีศรีคุณาศุภนิมิต”
    ซึ่งชื่อในตอนท้าย มีความหมายระบุว่า เป็นพระที่เกิดจากความฝันดี



    หลังจากสร้างเสร็จประมาณ ๑ เดือน
    ได้จัดงานฉลองพระและประกอบพิธีเบิกพระเนตร
    ในครั้งนั้นได้มีการผูกหุ่นฟาง ๒ หุ่น
    เพื่อเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อดำ หลังจากเสร็จพิธีก็เผาหุ่นฟาง

    หลวงพ่อดำ ได้ตั้งตากแดดอยู่กลางแจ้งเป็นเวลาถึง ๑๐ ปีเศษ
    จนมีชาวประมงจากจังหวัดสมุทรปราการแล่นเรือผ่านมาเห็นหลวงพ่อดำตากแดด
    จึงบนขอพรว่าออกเรือเที่ยวนี้ขอให้ได้ ๒๐๐,๐๐๐ บาท จะมาทำหลังคาให้
    ปรากฏว่าได้ดังคำขอ จึงเอาเงินมาฝากให้นายเจริญ ทิศาบดี ผู้ใหญ่บ้าน
    ช่วยทำหลังคา แต่ไม่มีฝา เมื่อฝนตกก็สาดเปียก

    ต่อมาชาวประมงอีกรายผ่านมา ก็บนหลวงพ่อดำอีก
    ขอให้จับปลาได้เยอะๆ จะมากั้นฝาให้
    ปรากฏว่าได้สมหวังก็เอาเงินมาฝากผู้ใหญ่ให้ช่วยทำต่อไป

    สภาพวิหารหลวงพ่อดำในขณะนั้น จึงเป็นเพียงมีหลังคาและฝาไม้สามด้าน
    มีชาวบ้านและชาวเรือต่างขึ้นไปนมัสการกราบไหว้
    เป็นจำนวนมาก และมักประสบผลสำเร็จ

    หลังจากสิบปีผ่านไป สภาพของวิหารชำรุดทรุดโทรมจนใช้งานไม่ได้
    นายเสน่ห์ พิทักษ์กร สมาชิกสภาจังหวัดชลบุรี
    ได้ร่วมมือกับพระครูวิสารทสุตากร เจ้าอาวาส พร้อมชาวบ้าน
    ร่วมกันสร้างเป็นวิหารจตุรมุข ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง
    และมีภาพปูนปั้นเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งหาชมได้ยากในปัจจุบัน


    วิหารหลวงพ่อดำ


    ครั้นสร้างเสร็จ ได้ทำพิธีเปิดวิหารอย่างเป็นทางการ
    เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๒

    ในแต่ละวันมีประชาชนเดินทางไปนมัสการขอบน
    และแก้บนสิ่งสมปรารถนาโดยมิได้ขาด
    เรื่องราวพุทธานุภาพปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อดำมีมาก
    จากคำบอกเล่าของผู้คนที่มาแก้บนแต่ละวัน
    จะเข้าสักการะแก้บนด้วยไข่ต้มและพวงมาลัยดอกไม้สด

    ตามความเชื่อว่าหลวงพ่อดำคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัย
    และได้โชคลาภสิ่งที่สมปรารถนาไม่ขาดสาย
    จนหลวงพ่อดำที่ทารักสีดำ
    กลายเป็นหลวงพ่อดำสีทองเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งองค์ในปัจจุบัน


    ผู้ที่จะเดินทางไปวัดช่องแสมสารแห่งนี้ หากเดินทางจากกรุงเทพมหานคร
    ให้ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ผ่านไปถนนสุขุมวิทและไปถึง อ.สัตหีบ
    หรือหากมาจากถนนบางนา-ตราด ให้วิ่งไปทางพัทยาและผ่านไปถึง อ.สัตหีบ

    สำหรับถนนทางขึ้นสู่ยอดเขานั้นราดยางอย่างดีตลอดเส้นทาง
    และจะได้พบกับทัศนียภาพอันสวยงาม
    ทั้งทางทะเลและบนภูเขาควบคู่กันไปด้วย

    หากมีเวลาจะได้ชมพระ อาทิตย์ตกทะเลอย่างสวยงามอีกด้วย


    ป้ายชื่อหลวงพ่อดำ เขาเจดีย์
    <!-- / message --><!-- sig -->
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  4. *8q* said:

    Re: ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด



    ไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด

    ‘พระเหลาเทพนิมิต’
    วัดพระเหลาเทพนิมิต อ.พนา จ.อำนาจเจริญ


    “พระเหลาเทพนิมิต” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
    ประทับขัดสมาธิราบ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๘๕ เมตร สูง ๒.๗๐ เมตร
    ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอำนาจเจริญ
    ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระอุโบสถ
    วัดพระเหลาเทพนิมิต ต.พนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ

    ตามประวัติ บรรพบุรุษผู้สร้างบ้านแปลงเมืองบ้านพนา
    ได้พากันอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณดงสูง
    ริมกุดบึงใหญ่ หรือกุดพระเหลาในปัจจุบัน

    “พระครูธิ” พระที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือ
    ได้ชักชวนให้ร่วมกันสร้างวัดบริเวณริมกุดบึงใหญ่
    และให้ชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดศรีโพธิชยารามคามวดี”
    โดยมีพระครูธิ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก



    หลังสร้างวัดเสร็จในปี พ.ศ.๒๒๖๓ พระครูธิได้นำศิษย์และญาติโยม
    เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ
    โดยตัวพระอุโบสถมีขนาดกว้าง ๙.๘๐ เมตร ยาว ๑๕.๕๐ เมตร
    หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานพระอุโบสถและผนังก่อด้วยอิฐ
    โครงหลังคาเป็นไม้เนื้อแข็งลดหลั่น ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องไม้

    พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้อง เพราะของเดิมทรุดโทรมมาก
    หน้าบันไดด้านตะวันออกทำด้วยไม้สลักลวดลายต่างๆ
    ห้องกลางมีลายเถาว์ไม้เต็มห้อง ตรงกลางเป็นรูปราหูกลืนจันทร์
    ระหว่างเถาว์ไม้ยังมีรูปเทพนม และรูปหนุมานสลับเป็นช่อง
    ลวดลายทั้งหมดทำด้วยปูนเพชรแกะสลักอย่างประณีต
    ไม่ได้สลักลงในเนื้อไม้ พร้อมลงรักปิดทองฝังกระจกทั้งหมด

    ภายในตัวพระอุโบสถยังใช้ไม้เนื้อแข็งทรงกลมทำเป็นเสา
    ขนาดวัดรอบ ๗๖ เซนติเมตร จำนวน ๘ ต้น
    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ได้มีการเปลี่ยนเสาไม้เป็นเสาอิฐถือปูนรูป ๔ เหลี่ยม
    และปี พ.ศ.๒๔๗๑ ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุดรอด นนฺตโร)
    เจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์ จังหวัดอุบลราชธานี
    ได้เขียนลายเถาว์ด้วยสีต่างๆ รอบเสา ๔ ต้น ที่อยู่ในห้องพระประธาน
    ส่วนเพดานติดดาวกระจายปิดทองประดับกระจก ๔๔ ดวง
    โดยพื้นเพดานเป็นสีแดงดูอร่ามตา ส่วนพื้นอุโบสถทำเป็นกระเบื้องซีเมนต์



    หลังสร้างพระอุโบสถเสร็จ พระครูธิได้นำคณะลูกศิษย์
    สร้างองค์พระประธานประจำพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
    ขนาดสูง ๒.๗๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๒.๘๕ เมตร
    ก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง แท่นพระประธานก่อด้วยอิฐถือปูน
    มีชายผ้านิสีทะนะเหลื่อมพ้นออกมา
    ตรงกลางผ้ามีรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยท่านพระครูธิเป็นผู้ออกแบบเอง
    และมอบหมายให้ภิกษุแก้วกับภิกษุอิน ลูกศิษย์เป็นช่างทำการก่อสร้าง

    โดยพระครูธิ อธิบายวิธีทำให้ลูกศิษย์ทำเป็นวันละส่วน วันละตอน
    หลังลูกศิษย์ทำงานเสร็จก็ให้มารายงานผลการสร้างให้ทราบทุกวัน
    โดยท่านพระครูธิไม่ได้ลงไปดูแลด้วยเอง

    กระทั่งถึงขั้นตอนขัดเงาลงรักปิดทอง
    ท่านจึงลงไปดูและถามลูกศิษย์ที่เป็นช่างว่า
    “ทำงานได้เต็มฝีมือแล้วหรือ” เหล่าช่างก็ตอบว่าได้ทำเต็มฝีมือแล้ว
    แต่เมื่อพระครูธิ เห็นองค์พระประธานที่เหล่าบรรดาลูกศิษย์พากันทำมา
    จึงเอ่ยว่าทำงานได้งามอยู่หรอก แต่ต้องให้งามกว่านี้
    บรรดาลูกศิษย์ที่เป็นช่างยอมรับว่าหมดฝีมือที่จะทำแล้ว
    คงไม่สามารถทำให้พระประธานงามได้มากกว่านี้

    ขณะเดียวกัน มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “ซาพรหม”
    ซึ่งอยู่ในทีมช่างที่ก่อสร้างองค์พระ
    ได้แสดงตนว่า สามารถทำให้องค์พระงามกว่านี้ได้
    พระครูธิจึงมอบหมายให้พระซาพรหมเป็นผู้แก้ไข
    และพระซาพรหมก็ทำองค์พระพุทธรูปได้สวยงามสมคำพูด
    โดยเฉพาะใบหน้าองค์พระประธานมีลักษณะงดงามสมส่วนทุกประการ

    กล่าวกันว่า ‘พระเหลาเทพนิมิต’ เป็นพระพุทธรูป
    ที่มีพระพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน

    ตามแบบฉบับศิลปะลาว สกุลช่างเวียงจันทร์
    ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะช่างล้านนาและมีฝีมือช่างท้องถิ่นปรากฏอยู่มาก
    เช่น เค้าพระพักตร์ เปลวรัศมีที่ยืดสูงขึ้น สัดส่วนของพระเพลาและพระบาท
    คล้ายคลึงกับองค์พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๕

    จากลักษณะขององค์พระพุทธรูปที่งดงาม
    เวลาเข้าไปกราบนมัสการจะเหมือนท่านยิ้มต้อนรับ
    คนทั่วไปจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า “พระเหลา”
    ที่มีความหมายว่า “งดงามคล้ายเหลาด้วยมือ”

    ต่อมา วัดศรีโพธิชยารามคามวดี ที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระเหลา
    ได้เปลี่ยนชื่อเรียกตามความนิยมในตัวองค์พระเป็นวัดพระเหลา
    หมู่บ้านที่ตั้งได้เปลี่ยนชื่อตามเป็นบ้านพระเหลาด้วย

    จนถึง พ.ศ.๒๔๔๑ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)
    พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี และภาคอีสาน
    ได้เสริมนามต่อท้ายให้กับองค์พระเป็น “พระเหลาเทพนิมิต”
    ซึ่งมีความหมายว่า “พระพุทธรูปที่งามคล้ายเหล่าดุจเทวดานิมิตไว้”

    สำหรับพระเหลาเทพนิมิต นอกจากจะมีความงดงามตามพุทธศิลปะแล้ว
    มีคำเล่าลือกันว่า ทุกคืนวันพระ ๗ ค่ำ, ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ, ๑๕ ค่ำ
    องค์พระพุทธรูปพระเหลาเทพนิมิต จะแสดงพุทธานุภาพให้เกิด
    ลำแสงสีเขียวแกมขาวขจีลอยออกจากพระอุโบสถในเวลาเงียบสงัด

    ทั้งนี้ การเข้ากราบนมัสการพระเหลาเทพนิมิต
    ผู้ต้องการบนบานขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต
    โดยเฉพาะคนที่ไม่มีบุตร มีการกล่าวกันว่า
    เมื่อมาบนบานขอจากพระเหลาเทพนิมิตแล้ว จะประสบความสำเร็จสมดังที่ตั้งใจ
    ส่วนสิ่งของที่ใช้บนบานสานกล่าวก็คือ ดอกไม้ธูปเทียน และปราสาทผึ้ง

    ปัจจุบัน วัดพระเหลาเทพนิมิต มีพระครูอุดมวิหารกิจ เป็นเจ้าอาวาสวัด
    ส่วนวัดพระเหลาเทพนิมิต ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๔๐ กิโลเมตร
    และอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอพนาเพียง ๒ กิโลเมตร มีเส้นทางคมนาคมสะดวก

    สำหรับการจัดงานนมัสการหลวงพ่อพระเหลาเทพนิมิต
    วัดจะจัดงานทุกวันเพ็ญเดือน ๓ หรือในวันมาฆบูชาทุกปี


    วัดพระเหลาเทพนิมิต จ.อำนาจเจริญ
    <!-- / message --><!-- sig -->
    __________________


    อนุโมทนา กับ บุญกุศลที่ท่านทั้งหลายได้ทำ ขอให้เข้าถึงธรรมทุกท่านครับ

    http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=30417
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี