ประวัติพระพุทธศาสนาในไต้หวัน

กระทู้: ประวัติพระพุทธศาสนาในไต้หวัน

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. *8q* said:

    ประวัติพระพุทธศาสนาในไต้หวัน

    ประวัติพระพุทธศาสนาในไต้หวัน
    เดิมประชาชนในเกาะไต้หวันนับถือผีสางเทวดา และไหว้บรรพบุรุษ มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ.2204 หลังจาก จอมพลเจิ้ง เฉิงกง ได้ชัยชนะเหนือชาวฮอลันดาที่มาปกครองไต้หวัน ก็ได้อพยพประชาชนจำนวนมากจากมณฑลฮกเกี้ยน มาสู่เกาะไต้หวัน ตั้งเมืองไถหนานเป็นเมืองหลวง

    พระพุทธศาสนาจากแผ่นดินจีนจึงได้มาสู่ไต้หวัน มีการสร้างวัดไว้ 3แห่ง คือ

    1.วัดจู่ซี

    2.วัดมี๋ถอ (อมิตาภาราม)

    3.วัดหลงหูเหยียน

    วัดเก่าแก่ในเมืองไถหนาน อยู่ในนิกายเซ็นหลิงจี้จง (นิกายรินไซเซ็น) สมัยนั้น ถ้าจะบวชต้องไปบวชที่วัดกู่ซันหย่งฉวน มลฑลฮกเกี้ยน

    ช่วงที่ราชวงศ์ชิงปกครองไต้หวัน ได้สร้างและบูรณะวัดเก่าแก่ 4วัด คือวัดไคเหวียน วัดฝ่าฮวา วัดจู่ซี และวัดมี๋ถอ (วัดอมิตาภาราม) และเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาปกครอง ได้นิมนต์นักบวชจากญี่ปุ่นเข้ามา 2นิกาย คือ นิกายรินไซเซ็น และฉาวต้งจง

    ต่อมา เมื่อ จอมพลเจียงไคเช็ค อพยพผู้คนหนีสงครามจากเมืองจีนมาสู่ไต้หวัน คณะทหารและพ่อค้านับล้านคน รวมถึงพระภิกษุหนุ่มจากเมืองจีนได้ติดตามมาด้วย ขณะนั้นพระพุทธศาสนาในไต้หวัน แบ่งเป็น 3คณะ คือ 1.พระพุทธศาสนาแบบจีน 2.พระพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่น (พระแต่งงานได้) และ 3.ไจเจี้ยว (ถือศีลกินเจ แต่ไม่โกนศีรษะ) ใช้ชื่อว่า สมาคมพระพุทธศาสนาหลงฮวา

    พระหนุ่มไฟแรงจากเมืองจีนรูปหนึ่งคือ พระธรรมาจารย์อิ้นซุ่น เห็นว่าพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่นสูญเสียความเป็นนักบวช เป็นเพียงฆราวาสเผยแผ่ธรรมะ จึงนิมนต์ ไป่เซิ่งจ้างเหล่า (พระธรรมาจารย์ไป่เซิ่ง) ประธานพุทธสมาคมจีนแห่งไต้หวัน ขอให้มีการจัดบวช เพื่อเป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอีกครั้ง ส่วนการศึกษาภาคปริยัติธรรมนั้น มีสำนักที่สำคัญหลายแห่งเช่น สำนักฝูเหยียนพุทธวิทยาลัย เป็นสำนักศึกษาปริยัติธรรมชั้นสูง พระธรรมาจารย์อิ้นซุ่น เจ้าสำนัก ท่านเป็นผู้รอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง มีผลงานหนังสือหลายเล่ม อธิบายธรรมะที่ง่ายต่อการศึกษา

    ในสมัยรัฐบาลก๊กหมินตั๋งของจอมพลเจียงไคเช็ค ภริยาของท่านนับถือคริสต์ศาสนา ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ก็มีพระภิกษุหนุ่มอีกรูปหนึ่ง คือ พระธรรมาจารย์ซิงหวิน ได้ประกาศธรรมตั้งแต่เหนือจรดใต้ ท่านริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแนวใหม่ คือ เดิมพระจะเทศน์ในวัด แต่ท่านจัดให้มีวงประสานเสียง และให้คนใช้เครื่องเสียงป่าวประกาศตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้คนมาฟังธรรม

    ต่อมา เมื่อศิษยานุศิษย์มากขึ้น จึงได้ก่อตั้ง วัดฝอกวงซัน เผยแผ่ธรรมะออกไปทั่วโลก ระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ภิกษุณีรูปหนึ่งชื่อว่า พระธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับ พระธรรมาจารย์อิ้นซุ่น ท่านเป็นผู้นำมหาชนช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และมีศานุศิษย์มากมาย ท่านสถาปนา มูลนิธิฉือจี้ สร้างโรงเรียนและโรงพยาบาล

    ต่อมา สำนักที่มีชื่อเสียง มีเพิ่มขึ้นอีก 2แห่ง คือ

    1.วัดฝากู่ซัน ของ พระธรรมาจารย์เซิ่งเหยียน ได้เรียนจบดอกเตอร์ทางพระพุทธศาสนาที่ญี่ปุ่น เมื่อกลับมาไต้หวัน ท่านตั้ง สถาบันวิจัยพระพุทธศาสนาจงฮวา ซึ่งโดดเด่นด้านการศึกษา และงานวิจัยทางพระพุทธศาสนา

    2.วัดจงไถฉาน โดย พระธรรมาจารย์เหวยเจวี๋ย แต่ก่อน ท่านเก็บตัวปฏิบัติธรรมอยู่หลายปี ต่อมามีญาติโยมเดินทางไปท่องป่า พบท่านและฟังเทศน์จากท่าน จึงชื่นชอบ นิมนต์ท่านมาเทศน์แก่สาธุชน จนกระทั่งได้สร้างวัดจงไถฉานขึ้นเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรมในไต้หวัน

    ปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาในไต้หวันเจริญรุ่งเรืองกว่ายุคที่ผ่านมา เพราะมีคณาจารย์และอุบาสกที่เป็นปัญญาชนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ติดตามมากับรัฐบาลคณะชาติ เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ ชาวพุทธจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมี 4วัดใหญ่คอยผลักดันงานเผยแผ่พระพุทธศาสนามหายานให้กว้างไกลไปทั่วโลก คือ


    1.วัดฝอกวงซัน ปฐมเจ้าอาวาสวัดฝอกวงซัน คือ พระธรรมาจารย์ซิงหวิน ได้เคยเดินทางมาวัดพระธรรมกายและเซ็นสัญญาเป็นวัดพี่วัดน้องกับคุณครูไม่ใหญ่ ในวันมาฆบูชาปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันเป็นวัดที่มีความสามารถในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้ผลดีที่สุดในไต้หวัน มีนักบวช 1,200รูป จัดตั้ง สมาคมพุทธประทีป ซึ่งมีศูนย์สาขาถึง 250แห่งทั่วโลก จัดตั้ง มหาวิทยาลัยหนานฮวา มหาวิทยาลัยฝอกวง สถานีโทรทัศน์ช่องเหรินเจียน และ หนังสือพิมพ์เหรินเจียนฝูเป้า

    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  2. *8q* said:

    Re: ประวัติพระพุทธศาสนาในไต้หวัน

    2.องค์กรพุทธฉือจี้ มีความเด่นการสังคมสงคราะห์ มีสมาชิกทำบุญมากที่สุด เป็นประจำทุกเดือน มากถึง 5ล้านคน ปัจจุบันมีศูนย์สาขาทั้งในและต่างประเทศ 117แห่ง ก่อตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล และ สถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย เพื่อเผยแผ่ธรรมะ

    3.วัดฝากู่ซัน มีความโดดเด่นทางด้านการศึกษาวิชาการในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก มีสุดยอดของอาจารย์เก่งๆวิชาเฉพาะทาง มีหอสมุดพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และมีการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยฝากู่ ซึ่งรวบรวมคัมภีร์พระพุทธศาสนาหลากหลายนิกายไว้ และจัดทำพระไตรปิฎกซีดีรอม มีศูนย์สาขาทั่วโลก 24แห่ง

    4.วัดจงไถฉาน มีนักบวช 1,500รูป เน้นการนั่งสมาธิแบบเซ็น วัดได้จัดการเรียนการสอน 2ระบบ หากเป็นนักบวช จะเรียนในวิทยาลัยสงฆ์ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาโท หากเป็นฆราวาสจะเรียนใน โรงเรียนฝู่ไถ ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยม ในอนาคตจะเปิดถึงระดับอุดมศึกษา มีนักเรียน 1,200คน ล้วนเป็นบุตรหลานของผู้มีฐานะ เพราะค่าเรียนเทอมละ 160,000บาท เป็นโรงเรียนกินนอนที่ได้มาตรฐาน สอน 5ภาษา คือ ภาษาจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น สเปน และฝรั่งเศส มีชั่วโมงสมาธิ และให้ทุกคนทานอาหารเจ ขณะนี้มีศูนย์สาขาทั่วโลก 108แห่ง

    ไต้หวันเป็นประเทศที่มีอิสระในการนับถือศาสนา มีช่องโทรทัศน์ของศาสนา 8ช่อง คือ พุทธศาสนา 6ช่อง คริสต์ศาสนา 1ช่อง และลัทธิเต๋าอีก 1ช่อง

    สถานีโทรทัศน์เซิงมิ่งเตี้ยนซื่อไถ (LIFE TV) เป็น 1ใน6 ของสถานีช่องพุทธศาสนา ซึ่งเป็นของ พระธรรมาจารย์ไห่เทา ได้นำรายการ DMC ออกเผยแพร่สู่สายตาชาวไต้หวันและประเทศใกล้เคียง เป็นที่ชื่นชอบของคนจีนในขณะนี้ โดยเฉพาะ Case study และมโหสถบัณฑิต แม้เกาะแห่งนี้ จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา แต่ทุกวัดต่างร่วมแรงร่วมใจกัน ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อยังสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่โลกอย่างแท้จริง

    ข้อมูลอ้างอิง
    1.งานวิจัยพระพุทธศาสนาในไต้หวัน โดย ภิกษุณีหุ้ยเหยียน รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ด้านพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยเสวียนจ้าง (มหาวิทยาลัยพระถังซำจั๋ง)
    2.หนังสือวิจัยร้อยปีพระพุทธศาสนาในไต้หวัน โดย อาจารย์ เจียง ชั่น เถิง อาจารย์คณะประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยไถวันต้าเสวีย (มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน)

    http://board.agalico.com/showthread.php?t=30824
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี