พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

กระทู้: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. lek said:

    Re: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

    เมื่อ "เธอ" ไม่มี!
    เมื่อใดเธอเห็นรูปแล้ว สักว่าเห็น,
    ได้ยินเสียงแล้ว สักว่าฟัง,
    ได้กลิ่นแล้ว ก็สักว่าดม,
    ได้ลิ้มรสแล้ว ก็สักว่าลิ้ม,
    ได้สัมผัสทางผิวกายแล้ว ก็สักว่าสัมผัส,
    ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้งแล้ว

    เมื่อนั้น "เธอ" จักไม่มี

    เมื่อใด "เธอ" ไม่มี,
    เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฎในโลกนี้,
    ไม่ปรากฎในโลกอื่น,
    ไม่ปรากฎในระหว่างโลกทั้งสอง

    นั่นแหละ คือ ที่สุดแห่งทุกข์
     
  2. lek said:

    Re: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

    ไม่ได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์
    เพื่อให้เขานับถือ

    พรหมจรรย์นี้
    เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคนให้นับถือ
    มิใช่ประพฤติเพื่อเรียกคนมาเป็นบริวาร
    มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นลาภสาการะและเสียงสรรเสริญ
    มิใช่เพื่ออานิสงส์จะได้เป็นเจ้าลัทธิ
    หรือเพื่อค้านลัทธิอื่นใดให้ล้มลงไป
    และหามิใช่เพื่อให้มหาชนเข้าใจว่า
    เราได้เป็นผู้วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หามิได้

    ที่แท้ พรหมจรรย์นี้
    เราประพฤติเพื่อสำรวม
    เพื่อละ เพื่อคลายกำหนัด
    เพื่อดับทุกข์...สนิท
     
  3. lek said:

    Re: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

    ลำดับการหลุดพ้น เมื่อเห็นไตรลักษณ์

    รูปเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง
    สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา,
    สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นนั่นไม่ใช่ของเรา
    นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

    เธอทั้งหลายพึงเห็นข้อนั้นด้วยปัญญาโดยชอบ
    ตรงตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ด้วยประการดังนี้
    (ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
    ก็ตรัสอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูป ทุกประการ)

    เมื่อบุคคลเห็นข้อนั้น ด้วยปัญญาโดยชอบ
    ตรงตามที่เป็นจริงอย่างนี้,

    ปุพพันตานุทิฎฐิ(ความเห็นที่ปรารภขันธ์ในเบื้องต้น
    หรือความเห็นที่เป็นไปในส่วนของบอดีต)ทั้งหลาย ย่อมไม่มี

    เมื่อปุพพันตานุทิฎฐิไม่มี,
    อปรันตานุทิฎฐิ(ความเห็นที่ปรารภขันธ์ในเบื้องปลาย
    หรือความเห็นที่เป็นไปในส่วนของอนาคต)ทั้งหลาย ย่อมไม่มี

    เมื่ออปรันตานุทิฎฐิไม่มี,
    ความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าย่อมไม่มี

    เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี,
    จิตย่อมจางคลายกำหนัดในรูป ในเวทนา
    ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ

    ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
    เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น

    เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่
    เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี
    เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง
    เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตน นั่นเทียว

    เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
    กิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว
    กิจอื่นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก
     
  4. lek said:

    Re: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

    สิ่งที่ตรัสรู้...แต่ไม่ทรงนำมาสอน
    มีมากกว่าที่ทรงนำมาสอนมากนัก

    พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกำใบไม้สีสปา
    ที่ร่วงอยู่ตามพื้นดินขึ้นมาหน่อยหนึ่ง
    แล้วตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายเข้าใจว่าอย่างไร
    ใบไม้สีสปาที่เรากำขึ้นหน่อยหนึ่งนี้มาก
    หรือว่าใบไม้สีสปาที่ยังอยู่บนต้นเหล่านั้นมาก?"

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ใบไม้ที่พระผู้มีพระภาค
    ทรงกำขึ้นหน่อยหนึ่งเป็นของน้อย
    ส่วนใบไม้ทียังอยู่บนต้นสีสปาเหล่านั้น ย่อมมีมาก"

    ภิกษุทั้งหลาย! ฉันใดก็ฉันนั้น
    ธรรมะส่วนที่เรารู้ยิ่งด้วยปัญญาอันยิ่ง
    แล้วไม่กล่าวสอนนั้น มีมากกว่าส่วนที่นำมาสอน

    ภิกษุทั้งหลาย! เหตุไรเล่า
    เราจึงไม่กล่าวสอนธรรมะส่วนนั้นๆ?

    ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุว่า ธรรมะส่วนนั้นๆ
    ไม่ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ ที่เป็นเงื่อนต้นพรหมจรรย์,
    ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
    ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ
    ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม
    ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน, ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวสอน

    ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมะอะไรเล่าเป็นธรรมะที่เรากล่าวสอน?
    ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมที่เรากล่าวสอน
    คือข้อที่ว่า ความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ,
    เหตุเป็นที่เกิดของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ,
    ความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ,
    ข้อปฏิบัติเพื่อถึงความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ

    ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุไรเล่า
    ธรรมะส่วนนี้เราจึงนำมากล่าวสอน?

    ภิกษุทั้งหลาย! เพราะว่าธรรมะส่วนนี้
    ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์
    เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
    เป็นไปเพื่อความดับ เป็นไปเพื่อความสงบ
    เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม
    เป็นไปเพื่อนิพพาน, เพราะเหตุนั้นแล เราจึงนำมากล่าวสอน
     
  5. lek said:

    Re: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

    ผู้ไม่ประมาทในความตายแท้จริง

    มรณสติ(ความระลึกถึงความตาย)
    อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
    ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
    หยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่สุด
    พวกเธอเจริญมรณสติอยู่บ้างหรือ?

    พวกที่เจริญมรณสติอย่างนี้ว่า "โอ้หนอ
    เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันคืนหนึ่งฯ ดังนี้ก็ดี,
    เราอาจมีชีวิตอยู่ได้ เพียงชั่วเวลากลางวันฯ ดังนี้ก็ดี,
    เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่กินเสร็จมื้อหนึ่งฯ ดังนี้ก็ดี,
    เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่กินอาหารเสร็จเพียง 4-5 คำ
    เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด
    การปฏิบัติตามคำสั่งสอน ควรทำให้มากแล้วหนอ" ดังนี้ก็ดี,

    ผู้ที่เจริญเหล่านี้ เราเรียกว่า ยังเป็นผู้ประมาทอยู่
    ยังเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะช้าไป

    พวกที่เจริญมรณสติ อย่างนี้ว่า "โอ้หนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้
    เพียงชั่วขณะที่กินอาหารเสร็จเพียงคำเดียว" ดังนี้ก็ดี,
    ว่า "โอ้หนอ เราอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงชั่วขณะที่หายใจเข้า
    แล้วก็หายใจออก หรือชั่วขณะหายใจออกแล้วหายใจเข้า
    เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด,
    การปฏิบัติคำสอนควรทำให้มากแล้วหนอ" ดังนี้ก็ดี

    ผู้ที่เจริญเหล่านี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว,
    เป็นผู้เจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง

    เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
    "เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นอยู่,
    จักเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง" ดังนี้
    เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้อย่างนี้แล
     
  6. lek said:

    Re: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

    ทรงมีความชราทางกายภาพเหมือนคนทั่วไป

    (ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ
    ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
    ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของผู้มีพระภาคอยู่
    พลางกล่าวถ้อยคำนี้ว่า)

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์ ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค
    ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน
    มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด
    ทั้งจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ"

    อานนท์! นั่นต้องเป็นอย่างนั้น คือความชรามี(ซ่อน)อยู่ในความหนุ่ม,
    ความเจ็บไข้มี(ซ่อน)อยู่ในความไม่มีโรค, ความตายมี(ซ่อน)อยู่ในชีวิต
    ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน
    ตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด
    ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้

    พระผู้มีพระภาคครั้งตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้(เป็นคำกาพย์กลอน)อีกว่า

    โธ่เอ๋ย! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย!
    ความแก่อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย!
    กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว
    แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
    ทุกคนก็ยังมีความตาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
    ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน
     
  7. lek said:

    Re: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

    ตั้งหน้าทำ...ก็แล้วกัน

    ภิกษุทั้งหลาย! กิจของคฤหบดีชาวนา
    ที่เขาจะต้องรีบทำมี 3 อย่างเหล่านี้,
    3 อย่างอะไรบ้างเล่า?.....

    3 อย่าง คือ คฤหบดีชาวนา รีบๆไถ คราด พื้นที่นาให้ดีเสียก่อน,
    ครั้นแล้ว ก็รีบๆปลูกพืช, ครั้นแล้วก็รีบๆไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง,

    ภิกษุทั้งหลาย! กิจของคฤหบดีชาวนา
    ที่เขาจะต้องรีบทำ มี 3 อย่างเหล่านี้แล

    แต่ว่าคฤหบดีชาวนานั้น
    ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพ ที่จะบันดาลว่า
    "ข้าวของเรา จงงอกในวันนี้,
    ตั้งท้องพรุ่งนี้, สุกมะรืนนี้"ดังนี้ได้เลย,

    ที่แท้ ย่อมมีเวลาที่ข้าวนั้น
    เปลี่ยนแปรสภาพไปตามฤดูกาล
    ย่อมจะงอกบ้าง ตั้งท้องบ้าง สุกบ้าง

    ภิกษุทั้งหลาย! ฉันใดก็ฉันนั้น
    กิจของภิกษุที่เธอจะต้องรีบทำ
    มี 3 อย่างเหล่านี้....
    3 อย่างอะไรบ้างเล่า?....
    3 อย่าง คือ การสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง,
    การสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง,
    และการสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง
    ภิกษุทั้งหลาย! กิจของภิกษุ
    ที่เธอจะต้องรีบทำ มี 3 อย่างเหล่านี้แล

    แต่ว่าภิกษุนั้น ก็ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพ
    ที่จะบันดาลว่า "จิตของเรา จงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
    เพราะไม่มีอุปทานในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้"
    ดังนี้ได้เลย, ที่แท้ย่อมมีเวลาที่เหมาะสม....
    เมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติไปแม้ในศีลอันยิ่ง,
    ปฏิบัติไปแม้ในจิตอันยิ่ง, และปฏิบัติไปแม้ในปัญญาอันยิ่ง
    จิตก็จะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีอุปทานได้เอง

     
  8. lek said:

    Re: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

    ทรงสอนเฉพาะแต่เรื่องทุกข์
    กับความดับสนิทของทุกข์

    ทั้งที่เรามีถ้อยคำอย่างนี้
    มีการกล่าวอย่างนี้...
    สมณะและพราหม์บางพวก
    ยังกล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ เปล่าๆปลี้ๆ
    ไม่มีจริงเป็นจริงว่า

    "พระสมณโคดมเป็นคนจูงคน
    ให้เดินผิดทาง ไปสู่ความฉิบหาย
    ย่อมบัญญัติลัทธิความสูญเปล่า
    ความวินาศ ความไม่มีของสัตว์
    คน ตัวตน เราเขาขึ้นสั่งสอน" ดังนี้

    สมณะและพราหมณ์บางพวกเหล่านั้น
    กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ เปล่าๆปลี้ๆ
    ไม่มีจริงเป็นจริง โดยประการที่เราไม่ได้กล่าว
    หรือจะกล่าวอย่างนั้นก็หามิได้

    ในกาลก่อนก็ตาม ในบัดนี้ก็ตาม
    เราบัญญัติขึ้นสอนแต่เรื่องความทุกข์
    และความดับสนิทไม่มีเหลือของความทุกข์ เท่านั้น

    ในการกล่าวแต่เรื่องความทุกข์ และ
    ความดับสนิทของความทุกข์ เช่นนี้
    แม้จะมีใรมาด่าว่า ถากถาง กระทบกระเทียบ
    เสียดสี ตถาคตก็ไม่มีความขุ่นแค้นโกรธเคือง
    เดือดร้อนใจ เพราะเหตุนั้นแต่ประการใด

    ในเรื่องเดียวกันนั้นเอง...
    แม้จะมีใครมาสักการะเคารพสรรเสริญบูชาตถาคต
    ก็ไม่มีความรู้สึกเพลิดเพลิน ชื่นชมหรือเคลิ้มใจไปตาม

    ถ้ามีใครมาสักการะเคารพสรรเสริญบูชา
    ตถาคตย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า....
    ก่อนหน้านี้เรามีความรู้สึกตัวทั่วถึงอย่างไร
    บัดนี้เราก็ต้องทำความรู้สึกตัวทั่วถึงอย่างนั้น, ดังนี้

     
  9. lek said:

    Re: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

    ทรงเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! พระผู้มีพระภาค
    ทรงเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลสัตว์ทั้งปวง
    มิใช่หรือพระเจ้าข้า"

    คามณิ! ถูกแล้ว,
    ตถาคตเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่,

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าอย่างนั้น
    ทำไมพระองค์จึงทรงแสดงธรรมแก่คนบางพวก
    โดยเอื้อเฟื้อ และแก่คนบางพวก
    โดยไม่เอื้อเฟื้อเล่า พระเจ้าข้า? "

    คามณิ ! ถ้าอย่างนั้น
    เราขอย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านจงตอบเราตามที่ควร

    คามณิ ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน
    ในถิ่นแห่งเรานี้ ชาวนาผู้คหบดีคนหนึ่ง
    มีนาอยู่ 3 แปลง...
    แปลงหนึ่งเป็นนาชั้นเลิศ,
    แปลงหนึ่งเป็นนาชั้นกลาง,
    แปลงหนึ่งเป็นนาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง มีรสเค็ม พื้นที่เลว

    คามณิ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร
    ชาวนาผู้คหบดีนั้น เมื่อประสงค์จะหว่านพืช
    เขาจะหว่านในนาแปลงไหนก่อน...
    คือว่าแปลงที่นาชั้นเลิศ, นาปานกลาง,
    หรือว่านาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง มีรสเค็ม พื้นที่เลว เล่า?

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ชาวนาคหบดีผู้ประสงค์จะหว่านพืชคนนั้น
    ย่อมหว่านในนาเลิศก่อน, แล้วจึงหว่านในนาปานกลาง,
    สำหรับนาเลว ซึ่งดินเป็นก้อนแข็ง รสเค็ม พื้นที่เลวนั้น
    เขาก็หว่านบ้าง ไม่หว่านบ้าง เพราะเหตุว่า อย่างมากที่สุด
    ก็หว่านไว้ให้โคกิน พระเจ้าข้า!"

    คามณิ! นาเลิศนั้น เปรียบเหมือนภิกษุภิกษุณีของเรา
    เราย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น
    งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุด
    ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
    พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ แก่ภิกษุภิกษุณีเหล่านั้น

    ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? คามณี! เพราะเหตุว่า
    ภิกษุภิกษุณีทั้งหลายเหล่านั้น มีเราเป็นประทีป
    มีเราเป็นที่ซ่อนเร้น มีเราป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นที่พิงอาศัยอยู่

    คามณี! นาปานกลางนั้น เปรียบเหมือนอุบาสกอุบาสิกาของเรา
    เราย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง
    งดงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
    พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ แก่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายเหล่านั้น

    ข้อนั้นเป็นอย่างไรเล่า? คามณี! เพราะเหตุว่า
    ชนทั้งหลายเหล่านั้นมีเราเป็นประทีป มีเราเป็นที่ซ่อนเร้น
    มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นที่พิงอาศัยอยู่

    คามณี! นาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง รสเค็ม พื้นที่เลวนั้น
    เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ปริพพาชกทั้งหลาย
    ผู้เป็นเดียรถีย์อื่นต่อเรา เราก็ย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น
    งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์
    บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ
    แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น

    ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? เพราะเหตุว่า
    ถึงแม้ว่าเขาจะเข้าใจธรรมที่เราแสดง สักบทเดียว
    นั่นก็ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข
    แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น ตลอดกาลนาน
     
  10. lek said:

    Re: พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

    ดับตัณหา คือ ปลงภาระหนักลงได้

    ภิกษุทั้งหลาย! การปลงภาระหนักลงเสียได้ เป็นอย่างไรเล่า?
    ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับสนิทเพราะความจางคลาย...
    โดยไม่เหลือของตัณหานั้นนั่นเทียว, ความละไปของตัณหานั้น,
    ความสลัดกลับคืนของตัณหานั้น, ความหลุดออกไปของตัณหานั้น,
    และความไม่มีที่อาศัยอีกต่อไปของตัณหานั้นอันใด

    ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เราเรียกว่า การปลงภาระหนักลงเสียได้ ดังนี้

    พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพุทธวจนะนี้ ซึ่งเป็นคำร้อยกรองสืบต่อไป

    "ขันธ์ทั้งห้า...เป็นของหนัก!
    บุคคลแหละ...เป็นผู้แบกของหนักพาไป
    การแบกถือของหนัก...เป็นความทุกข์ในโลก
    การปลงภาระหนักเสียได้...เป็นความสุข
    พระอริยเจ้าปลงภาระหนักลงเสียแล้ว...
    ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก
    ก็เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก(อวิชชา)
    เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา...ดับสนิท...ไม่มีส่วนเหลือ" ดังนี้