ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณ น่าน




ช่วงเวลา จัดทุกๆ ๓ ปี หรือเรียกว่า สามปี๋สี่ฮวงข้าว

ความสำคัญ
เป็นประเพณีที่มีความสำคัญยิ่งของไทลื้อ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไทลื้อได้เล่าต่อๆกันมาว่าเจ้าหลวงเมืองล้าคือ เจ้าเมืองที่ปกครองเมืองล้าในดินแดนสิบสองปันนา เป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ และเป็นทั้งแม่ทัพนายกองของชาวไทลื้อเมืองล้าทั้งมวล และท่านได้สิ้นชีพิตักษัยในดินแดนสิบสองปันนา ในส่วนบริวารหรือผู้ช่วยของเจ้าหลวงเมืองล้าประกอบด้วย หิ่งช้าง หิ่งม้า ล่ามเมือง หาบมาด แจ่งฝ่าย เชียงล้านโอ๊ก่า ช้างเผือก ปูก่าผมเขียวดำแดง ปางแสน ปางสา ปางเม็ด ม่อนเชียง คือ ปากท่อทั้งห้า บ่อต่วน สวนตาลเมืองหลุก อ่างเรียง และม่านตอง

พิธีกรรม
เมื่อใกล้ถึงประเพณีเข้ากรรมเมือง ตัวแทนชาวไทลื้อทั้งสามหมู่บ้านได้แก่ บ้านหนองบัว บ้านต้นฮ่างและบ้านดอนมูล จะมาประชุมกันเพื่อกำหนดพิธีการและมอบหมายหน้าที่การงานกัน และที่สำคัญอย่างยิ่งจะมีการคัดเลือกบุคคลที่สืบเชื้อสายทางสายโลหิตของเจ้าหลวงเมืองล้า จำนวน ๑ คน มาเป็นตัวแทนชาวไทลื้อทั้งหมด เรียกว่าเจ้าเมือง ส่วนใหญ่มักจะคัดมาจากชาวไทลื้อบ้านดอนมูลซึ่งจะเป็นประธานในพิธีบวงสรวง และคัดเลือกชาวบ้านหนองบัว ที่สืบเชื้อสายมาจากหมอเมืองอีก ๑ คนหมอเมืองจะมีหน้าที่ป้อนอาหารในพิธีบวงสรวง เรียกว่า เจ้ายั๊ก หลังจากนั้นจะเลือกวันประกอบพิธีบวงสรวงโดยเลือกวันที่ดีที่สุดว่า วันเฒ่า การเข้ากรรมเมืองจะมีด้วยกันทั้งหมด ๓ วัน ซึ่งแต่ละวันจะมีกิจกรรมดังนี้
วันแรกประมาณ ๑๖.๐๐ น ชาวไทลื้อทั้ง ๓ หมู่บ้านจะปิดกั้นเขตแดน เข้า-ออก ของหมู่บ้านด้วย ตาแหลว (ใช้ไม้ไผ่สานคล้ายพัด) เมื่อปิดตาแหลวแล้วจะประกาศห้ามคนในหมู่บ้านออกนอกเขตตาแหลว และห้ามติดต่อกับภายนอกหมู่บ้านเป็นเวลา ๓ วัน และห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปในหมู่บ้านเช่นเดียวกัน ใครฝ่าฝืนจะถูกปรับไหมเป็นเงินทองแล้วแต่จะตกลงกันเพราะประเพณีนี้จะเป็นประเพณีที่มีเฉพาะในหมู่ชาวไทลื้อเชื้อสายเมืองล้าเท่านั้นจึงไม่ต้องการให้คนภายนอกล่วงรู้ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อถึงเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น จะแห่ เจ้าเมือง และหมอเมือง ไปยังสถานประกอบพิธีแห่งที่ ๑ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบ้านหนองบัว โดยเจ้าเมือง และหมอเมืองจะพักอยู่ในที่พักที่จัดไว้ให้คนละหลัง ที่พักนี้สร้างขึ้นไว้สำหรับพิธีนี้โดย
เฉพาะ เมื่อเสร็จพิธีแล้วรื้อถอนทิ้งไป ครั้งถึงพิธีครั้งใหม่ก็จะสร้างขึ้นใหม่อีก ในบริเวณสถานที่ประกอบพิธีแห่งที่ ๑ จะมีมหรสพสมโภชทั้งกลางวันและกลางคืน และที่นิยมเล่นกันมากที่สุดคือการขับลื้อ นอกจากนี้จะมีการละเล่นพื้นเมือง เช่น การเล่นมะกอน (โยนหมอนผ้าหรือลูกช่วง) การเล่นมะไข่เต่า การเล่นสะบ้า การขึ้นเสาน้ำมัน ตะกร้อลอดบ่วง เป็นต้น
วันที่สองเป็นวันที่ชาวไทลื้อถือกันว่ามีความสำคัญที่สุดในระหว่างการอยู่กรรมเมืองเพราะจะมีการประกอบพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้าที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืด (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเวลาหลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว) โดยจะมีการแห่เจ้าเมือง หมอเมืองและสิ่งของที่ใช้สำหรับพิธีบวงสรวง ในขบวนแห่เจ้าเมือง หมอเมืองจะมีบ่าวหมอให้การอารักขาอย่างใกล้ชิด ขบวนแห่ดังกล่าวจะมุ่งตรงไปยังสถานที่ประกอบพิธีแห่งที่ ๒ ซึ่งเรียกว่า ปางเมือง (ปัจจุบันคืออนุสาวรีย์เจ้าหลวงเมืองล้า) ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่ประกอบพิธีแห่งที่ ๑ ประมาณ ๑๐๐ เมตร โดยจะจัดขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่เพราะชาวไทลื้อทั้ง ๓ หมู่บ้านจะพร้อมใจกันมาร่วมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์อย่างคับคั่งทุกครั้ง เจ้าเมืองจะแต่งกายสีแดงล้วนก่อนที่ขบวนแห่จะเคลื่อนออกไป เจ้าเมืองกับหมอเมืองจะทำการทักทายกัน ณ บริเวณหน้าที่พักของเจ้าเมืองโดยทั้งคู่จะเหยียบตาบเหล็ก (เหล็กแผ่น) คนละแผ่น หมอเมืองจะทักขึ้นมาก่อนว่าเจ้าเมืองฮ่องหมอเมืองมาสัง (เจ้าเมืองเรียกหมอเมืองมาทำไม) เจ้าเมืองจะตอบว่า สองปี๋ฮาม สามปี๋คอบ ขอบดังมน ผีเมืองถูกจ้าด้ามเมืองถูกกิน หมอเมืองมาเฮือน ให้หมอนั่งตั่งหมองเมืองเซา (สรุปความว่าประเพณีบวงสรวงได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ขอให้หมอเมืองขึ้นไปพักผ่อนบนบ้านก่อน) เมื่อขึ้นบนบ้านแล้วบ่าวหมอ (คนใช้หมอเมือง) จะทำหน้าที่ป้อน หมาก เมี่ยง และของกินอื่นๆแก่เจ้าเมือง เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้วขบวนแห่จะเคลื่อนไปยังสถานที่แห่งที่ ๒ เพื่อทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้าต่อไป สิ่งของที่จะนำมาบวงสรวงนั้นจะประกอบด้วยสัตว์ ๔ เท้า และสัตว์ ๒ เท้า สัตว์ ๔ เท้า ได้แก่ วัว ควาย หมูดำ หมูขาวอย่างละ ๑ตัว ส่วนสัตว์ ๒ เท้า ได้แก่ ไก่
ในระหว่างการเคลื่อนขบวน หมอเมืองจะแวะเซ่นบวงสรวงบริวารเจ้าหลวงเมืองคือ หิ่งช้าง หิ่งม้า ซึ่งจะมีหออยู่สองหอโดยใช้ไก่เป็นๆ ทำการเซ่นสรวง จากนั้นขบวนจะเคลื่อนที่ต่อไปจนถึงสถานที่ประกอบพิธีแห่งที่ ๒ เมื่อถึงบริเวณสถานที่ประกอบพิธีดังกล่าว เจ้าเมืองและหมอเมืองจะสักการะดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองหล้าก่อน จากนั้นจึงเซ่นสรวงบริวารของเจ้าหลวง จะมีหออยู่ทั้งหมด ๓๒ หอ โดยใช้ไก่เป็นๆ หมอเมืองจะถอนขนไก่แล้วเอาข้าวสุกปั้นเป็นก้อนจิ้มลงไปที่ตัวไก่แล้ววางไว้ที่หอ ส่วนไก่นั้นจะโยนขึ้นเหนือศีรษะเพื่อปล่อยออกไป ช่วงนั้นจะมีการแย่งชิงไก่เพื่อนำไปเลี้ยงเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว เสร็จแล้วจึงจะเป็นพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้าอันศักดิ์สิทธิ์ต่อไป ซึ่งจะต้องเซ่นสรวงด้วย สัตว์ ๔ เท้า อันได้แก่ วัวควาย หมูดำ หมูขาว สัตว์ดังกล่าวจะต้องผ่านพิธีลงดาบเสียก่อน แล้วจึงจะชำแหละเอาเนื้อมาเข้าเซ่นวิญญาณ ส่วนเนื้อที่เหลือลูกหลานชาวไทลื้อที่มาร่วมพิธีจะแบ่งปันกันไปประกอบอาหารซึ่งจะประกอบกันบริเวณใต้ถุนบ้าน ห้ามนำขึ้นไปประกอบบนบ้านโดยเด็ดขาด
วันที่สาม จะมีการเซ่นสรวงเทวดาอู ซึ่งหอเทวดาอูจะอยู่นอกบริเวณสถานที่ทั้งสอง ตอนบ่ายจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าเมือง หมอเมืองกลับสู่หมู่บ้านของตนเอง หลังจากนั้นจะเปิดสิ่งปิดกั้นหมู่บ้านออกเรียกว่าการเปิดแหลว หรือ ต้างแหลว จากนี้ไปชาวไทลื้อเชื้อสายเมืองล้าจะไปไหนมาไหนได้ตามปกติ

สาระ
ชาวไทลื้อที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองบัว บ้านต้นฮ่าง ตำบลป่าผา และบ้านดอนมูลตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านนั้น เชื่อว่าอพยพมาจากเมืองล้าแคว้นสิบสองปันนา โดยอพยพมาราว พ.ศ.๒๓๙๔ สมัยพระญาวชิตวงศ์ (เจ้าอนันตวรฤทธิเดช) เจ้าผู้ครองนครน่าน ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยสาเหตุหนีภัยสงคราม
ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า เป็นความเชื่อความศรัทธาของชาวไทลื้อในการไหว้บรรพบุรุษ และเป็นการรวมญาติพี่น้องให้ได้มาพบปะกันทุกๆ ๓ ปี เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของเผ่าชน

ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.prapayneethai.com/th/trad...ew.asp?id=0264