หลักกรรม หรือกฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า “บุคคลทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาย่อมต้องรับผลแห่งกรรมนั้น” แต่เนื่องจากกรรมบางอย่าง
หรือการกระทำบางคราวไม่มีผลปรากฏชัดในทันที ผู้มีปัญญาน้อยจึงมองไม่เห็นผลแห่งกรรมของตน ทำให้สับสน และเข้าใจไขว้เขว
เพราะบางทีกำลังทำชั่วอยู่แท้ ๆ กลับมีผลดีมากมาย เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หลั่งไหลเข้ามาในชีวิต
ตรงกันข้าม บางคราวกำลังทำความดีอยู่อย่าง มโหฬาร แต่กลับได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ มีผลไม่ดีมากมาย เช่น ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ
ถูกนินทาว่าร้าย ถูกสบประมาท และความเจ็บไข้ ได้ป่วยหลั่งไหลเข้ามาในชีวิต ความสลับซับซ้อนดังกล่าว ทำให้ผู้รับผลของกรรมสับสน
เกิดความไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความชั่วจริงๆ หรือ? เป็นความดีจริงๆ หรือ?

ตามความเป็นจริงแล้ว กรรมชั่วที่เขากำลังทำอยู่ยังไม่ทันให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ก่อนถึงวาระให้ผลในขณะที่คนผู้นั้นกำลังทำชั่วอยู่
จึงทำให้เขาได้รับผลดี ถ้าเปรียบทางวัตถุก็จะมองเห็นง่ายขึ้น เช่น คนๆหนึ่งกำลังปลูกต้นไม้อันเป็นพิษอยู่ มีผลไม้หอมหวานอร่อยสุก
มากมายในสวนของเขา เขาได้ลิ้มรสอันอร่อยของผลไม้ซึ่งเขาปลูกไว้ก่อนต่อมาต้นไม้มีพิษออกผลในขณะที่เขากำลังปลูกต้นไม้ที่มีผลอร่อยอยู่
เขาบริโภคผลไม้มีพิษรู้สึกได้รับทุกขเวทนา ข้อนี้ฉันใด กรรมกับผู้กระทำกรรมก็ฉันนั้น กรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว
แต่เพราะกรรมจะให้ผลก็ต่อเมื่อสุกเต็มที่แล้ว (Maturation) และมีความสลับซับซ้อนมาก จึงทำให้งง
ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งก็เพราะสติปัญญาของคนทั่วไปมีอยู่อย่างจำกัด เหมือนแสงสว่างน้อยๆไม่พอที่จะส่องให้เห็นวัตถุอันสลับซับซ้อนอยู่
มากมายในบริเวณอันกว้างใหญ่ และบริเวณนั้นถูกปกคลุมอยู่ด้วยความมืด เมื่อใดดวงปัญญาของเขาแจ่มใสขึ้น เขาย่อมมองเห็นความเป็นจริง
ปัญญาของเขายิ่งแจ่มใสขึ้นเพียงใด เขาย่อมสามารถมองเห็นเรื่องกรรมและความสลับซับซ้อนของชีวิตมากขึ้นเพียงนั้น เหมือนแสงสว่างมีมากขึ้นเพียงใด
ผู้มีจักษุปกติย่อมสามารถมองเห็นวัตถุอันละเอียดมากขึ้นเพียงนั้น

สิ่งใดละเอียดมากเช่นเชื้อจุลินทรีย์ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น นักวิทยาศาสตร์เขาใช้เครื่องมือคือกล้องจุลทรรศน์ซึ่งมีอานุภาพขยายเป็นพันๆ เท่าของวัตถุจริง
จึงทำให้มองเห็นได้ สิ่งใดอยู่ไกลมาก ระยะสายตาธรรมดาไม่อาจทอดไปถึงได้ นักวิทยาศาสตร์เขาใช้กล้องส่องทางไกล
จึงสามารถมองเห็นได้เหมือนวัตถุซึ่งปรากฏอยู่ ณ ที่ใกล้ ข้อนี้ฉันใด ผู้ได้อบรมจิตและปัญญาแล้วก็ฉันนั้น เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิตสามารถเห็นได้ละเอียด
รู้ได้ไกลซึ่งเรื่องกรรมและผลของกรรมชนิดที่สามัญชนมองไม่เห็นหรือมองให้เห็นได้โดยยาก ทั้งนี้เพราะท่านมีเครื่องมือคือปัญญาหรือญาณ
สามัญชนไม่มีปัญญาหรือญาณเช่นนั้น จึงมองไม่เห็นอย่างที่ท่านเห็น เมื่อท่านบอกให้ บางคนก็เชื่อตาม บางคนไม่เชื่อ ใครเชื่อ ก็เป็นประโยชน์แก่เขาเอง
ทั้งด้านการดำเนินชีวิตและจิตใจหาความสุขได้เอง ผู้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมได้กำไรกว่าผู้ไม่เชื่อ คือทำให้เว้นชั่ว ทำดีได้มั่นคงยั่งยืนกว่าผู้ไม่เชื่อ
ทำให้เป็นคนดีในโลกนี้ จากโลกนี้ไปแล้วก็บันเทิงในโลกหน้า เมื่อประสบปัญหาชีวิตอันแสบเผ็ด ก็สามารถทำใจได้ว่ามัน เป็นผลของกรรมชั่ว
เมื่อประสบความรื่นรมย์ในชีวิตก็ไม่ประมาท มองเห็นผลแห่งกรรมดีและหาทางพอกพูนกรรมดีต่อไป