กรรมแบ่งออกเป็น ๑๒ ประเภท

ในตอนนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้รายละเอียดแห่งกรรม จึงขอกล่าวถึงกรรม ๑๒ ซึ่งจัดตามหน้าที่ จัดตามแรงหนักเบา และจัดตามกาลที่ให้ผล
เมื่อทราบคำจำกัดความของกรรมประเภทต่างๆ แล้ว ผู้อ่านบางท่านที่ยังไม่เข้าใจก็อย่าเพิ่งใจร้อน ทำใจเย็นๆ ไว้ก่อน และขอให้อ่านต่อไป จะเข้าใจดีขึ้นอย่างแน่นอน


กรรมจัดตามหน้าที่มี ๔

๑. ชนกกรรม - กรรมที่ก่อให้เกิด หรือส่งให้เกิดในกำเนิดต่างๆ เปรียบเสมือนมารดาของทารก ชนกกรรมนี้เป็นผลของอาจิณณกรรมบ้าง ของอาสันนกรรมบ้าง
๒. อุปถัมภกกรรม - กรรมอุปถัมภ์ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงนางนม มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี
๓. อุปปีฬกกรรม - กรรมบีบคั้น มีหน้าที่บีบคั้นกรรมดีหรือชั่วให้เพลาลง
๔. อุปฆาตกรรม หรือ อุปัจเฉทกกรรม - กรรมตัดรอน มีหน้าที่ตัดรอนกรรมทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล


กรรมจัดตามแรงหนักเบามี ๔

๑. ครุกรรม - กรรมหนัก ฝ่ายดีหมายถึงฌาน วิปัสสนา มรรคผล ฝ่ายชั่วหมายถึงอนันตริยกรรม ๕ คือ ฆ่ามารดา, ฆ่าบิดา, ฆ่าพระอรหันต์,
ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อโลหิต, ทำสงฆ์ผู้สามัคคีกันให้แตกกัน
๒. อาจิณณกรรม หรือ พหุลกรรม - กรรมที่ทำจนเคยชิน หรือทำมาก ทำสม่ำเสมอ กรรมนี้จะให้ผลยั่งยืนมาก
๓. อาสันนกรรม - กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต มีอานุภาพให้บุคคลไปสู่สุคติหรือทุคติได้ ถ้าเขาหน่วงเอากรรมนั้นเป็นอารมณ์เมื่อจวนตาย
๔. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม - กรรมสักแต่ว่าทำ คือทำโดยไม่เจตนา


กรรมจัดตามกาลที่ให้ผลมี ๔

๑. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
๒. อุปัชชเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไปถัดจากชาติปัจจุบัน
๓. อปราปรเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลหลังจากอุปัชชเวทนียกรรม คือให้ผลเรื่อยไป สบโอกาสเมื่อใด ให้ผลเมื่อนั้น
๔. อโหสิกรรม - กรรมที่ไม่ให้ผล เลิกแล้วต่อกัน


____________________________________________________________________________________________________________
.....จากหนังสือ หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด ของ อ.วศิน อินทสระ.....