ประเพณีปักธงชัย พิษณุโลก




ช่วงเวลา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (สมัยโบราณเลือกวันใดวันหนึ่งในระหว่างขึ้น ๑-๑๔ ค่ำเดือน ๑๒)

ความสำคัญ
ประเพณีปักธงชัย คือ ประเพณีที่ชาวนครไทยพร้อมใจกันนำธงผ้าขาว ๓ ผืนไปปักบนยอดเขาฉันเพลยอดเขาฮันไฮ หรือยอดเขาย่านชัย และยอดเขาช้างล้วง ที่ทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติ แสดงถึงพลังศรัทธาที่ชาวนครไทยมีต่อ "พ่อขุนบางกลางหาว"

พิธีกรรม
สมัยโบราณ มีพิธีกรรมดังนี้
๑. เมื่อใกล้เทศกาลปักธงชัย เวลากลางคืนจะมีชาวบ้านที่เป็นชายเป็นผู้ตีฆ้องเดินนำหน้าพระภิกษุไปรับบิณฑบาต "ดอกฝ้ายสีขาว" จากนั้นสตรีสูงอายุในหมู่บ้านใกล้ๆ วัดเหนือ วัดกลาง และวัดหัวร้อง จะชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันตากฝ้าย หีบฝ้าย ดีดฝ้าย และเข็นฝ้าย (ปั่นฝ้าย) เมื่อได้เส้นด้ายขาวนวลแล้วจึงช่วยกันทอธงผ้าขาว ๓ ผืน จาก ๓ หมู่บ้าน
๒. ในวันพิธีปักธงชัย ชาวอำเภอนครไทยจะนำอาหารหวานคาว และนิมนต์พระภิกษุขึ้นไปยังเทือกเขาช้างล้วง ถวายภัตตาหารเพล ผู้นำชาวบ้าน จะกล่าวคำถวายธงผ้าขาวต่อพระภิกษุด้วยภาษาบาลี พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ชาวบ้านจะนำธงผ้าขาวมาผูกติดกับด้ามไม้ไผ่ นำไปปักบนร่องหินธรรมชาติ ณ ยอดเขาฉันเพล ยอดเขายั่นไฮ และยอดเขาช้างล้วงตามลำดับ หลังจากเสร็จพิธีปักธงชัยแล้ว ชาวบ้านจะเล่นดนตรีพื้นบ้านและฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานลงมาจากยอดเขา
ปัจจุบัน มีพิธีกรรมดังนี้
๑. เมื่อใกล้เทศกาลปักธงชัย ชาวอำเภอนครไทยในหมู่บ้านใกล้วัดเหนือ วัดกลาง และวัดหัวร้อง จะช่วยซื้อฝ้ายและช่วยกันทอธงผ้าขาวขนาดกว้าง ๙๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ เมตร จำนวน ๓ ผืน จาก ๓ หมู่บ้านและทอเป็นลวดลายบริเวณชายธงอย่างสวยงาม
๒. เวลาเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ จะนำธงไปทำพิธีบวงสรวงที่อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางหาวภาคบ่ายมีการประกวดริ้วขบวนจากทุกหมู่บ้าน กลางคืนจัดงานรื่นเริงฉลอง
๓. รุ่งเช้าของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตั้งริ้วขบวนรถยนต์ เคลื่อนไปตามถนนแล้วเดินผ่านคันนาขึ้นไปประกอบพิธีปักธงชัยเช่นเดียวกับในสมัยโบราณ ตอนกลางคืนจัดงานลอยกระทงและมีการละเล่นต่าง ๆ

สาระ
ประเพณีปักธงชัยเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่า ทำให้ประชาชนรู้สึกผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิด ซึ่งก่อให้เกิดความรัก สามัคคีและช่วยเหลือกัน และเชื่อว่าหากปีใดไม่ปฏิบัติประเพณีนี้ ชาวนครไทยจะเกิดภัยพิบัติจากโรคภัย ภัยธรรมชาติ หรือเกิดไฟไหม้บ้านเรือน


ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.prapayneethai.com/th/trad...ew.asp?id=0266