ประวัติการถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย

พิธีทำบุญวันมาฆบูชานี้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีมาในสมัยใด อย่างไรก็ตามในหนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน"
อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า
ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ในพระบรมมหาราชวังก่อน
โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวรวิหารและวัดราชประดิษฐ์จำนวน ๓๐ รูป
ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็น
และสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์
เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน ๑,๒๕๐ เล่ม รอบพระอุโบสถ
มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย
ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่างๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ ๓๐ รูป สวดรับ

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี
แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร
ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด
เพื่อทำบุญกุศลและประกอกิจกรรมทางศาสนา

นอกจากนี้ในปี พ.ศ ๒๕๔๙รั ฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา ให้เป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกด้วย

สรุปได้ความว่า แต่เดิมพิธีวันมาฆบูชา ไม่เคยกระทำมาก่อนในเมืองไทย
เพิ่งจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔
โดยพระองค์ทรงถือแบบอย่างโบราณบัณฑิตที่นิยมว่าวันเพ็ญกลางเดือน๓
เป็นวันประชุมใหญ่ของพระสาวกของพระพุทธเจ้า มีลักษณะน่าอัศจรรย์ ซึ่งได้ถือว่าเอาเหตุนั้นเป็นเครื่องแสดงสักการะบูชา
พิธีมาฆบูชา จึงได้เกิดมีขึ้นในเมืองไทย มีทั้งพิธีสงฆ์ ราชพิธี และพิธีราษฎร์ สืบมาจนถึงทุกวันนี้
พระราชพิธีมีตามวัดพระอารามหลวง เช่นที่ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐ์
และปัจจุบันนี้ก็มีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น

การปฏิบัติพุทธศาสนากิจในวันมาฆบูชา ที่นิยมโดยทั่วไป ก็คือ

-ทำบุญตักบาตร หรือนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์แล้ว กรวดน้ำ แผ่ส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
-บริจาค ให้ทาน แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม
-การปล่อยสัตว์ เช่น โค กระบือ นก ปลา เป็นต้น
-ฟังธรรมะ รักษาศิล ๕ ศิล ๘ เป็นต้น
-บำเพ็ญภาวนา ทำสมาธิ – วิปัสสนากัมมัฎฐาน
-นำดอกไม้ธูปเทียนไปเวียนเทียนที่พุทธสถานต่างๆ เช่น ที่วัดต่างๆ ที่ท้องสนามหลวง หรือที่พุทธ มณฑล เป็นต้น
จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ
พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม
จบแล้วเดิน เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ
แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี


บทสวดมนต์ในการทำพิธีวันมาฆบูชามีดังนี้

๑. บทสวดมนต์ไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย (บทอรหัง สัมมา ฯ)
๒. บทสวดนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (บทนะโมฯ ๓ จบ)
๓. บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทอิติปิโส ฯ)
๔. บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทองค์ใดพระสัมพุทธ ฯ)
๕. บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวากขาโต ฯ)
๖. บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทธรรมมะคือ คุณากร ฯ)
๗. บทสวดสรรเสริญพระสงฆคุณ (บทสุปฏิปันโน ฯ)
๘. บทสวดสรรเสริญพระสงฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯ)
๙. บทสวดพุทธมังคลชยสิทธิคาถา (บทพาหุง ฯ)
๑๐. คำแปลบทสวดพุทธมังคลชยสิทธิคาถา สวดทำนองสรภัญญะ (ปางเมื่อพระองค์ ฯ)
๑๑. บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (อัชชายัง ฯลฯ)
๑๒. คาถาสวดมาฆบูชา


สำหรับบทสวดในข้อที่ ๑๑ และ ๑๒ นั้น ค่อนข้างยาว เวลาทำพิธีจะมีผู้กล่าวนำ
หากสนใจรายละเอียดให้ดูในหนังสือมนต์พิธี (หนังสือคู่มือสำหรับสวดมนต์ของพระ)


ในการเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์ จะกระทำ ๓ รอบ โดยเวียนไปทางขวา เรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฏ

ในรอบที่ ๑ ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ

ในรอบที่ ๒ ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ

ในรอบที่ ๓ ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ



ข้อสังเกต

-วันมาฆบูชา ถือว่า เป็นวันพระธรรม
-วันวิสาขบูชา ถือว่า เป็นวันพระพุทธเจ้า
-วันอาสาฬหบูชา ถือว่า เป็นวันพระสงฆ์

ที่มา ::
http://th.wikipedia.org