ตราดรำลึก ตราด





ช่วงเวลา วันที่ ๒๓ มีนาคม ของทุกปี ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดตราด

ความสำคัญ
เป็นวันที่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนในจังหวัดตราด พร้อมใจกันมาร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ รัชกาลที่ ๕ เพื่อน้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่จังหวัดตราดตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เป็นเวลา ๒ ปี ๖ เดือน ๗ วัน ด้วยพระปรีชาสามารถและทรงเล็งเห็นการณ์ไกล ได้พระราชทานดินแดนเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ และปัจจันตคีรีเขตต์แลกจังหวัดตราดคืนกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรไทย อีกครั้งในวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๔๙)

พิธีกรรม
ในตอนเช้าวันที่ ๒๓ มีนาคม จะมีการตั้งเครื่องเซ่นบวงสรวงดวงพระวิญญาณของรัชกาลที่ ๕ โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีเตรียมการตั้งราชวัตร ฉัตรธง ศาลเพียงตาเจ้าพ่อหลักเมืองตราด ราชวัตรฉัตร ๖ ชั้น ประกอบด้วย ต้นกล้วย ต้นอ้อย มะพร้าวงอก
เครื่องบวงสรวงประกอบด้วย สุรา ไก่ต้ม บุหรี่ ข้าวสุก เป็ดต้ม กุ้งต้มยำ น้ำพริกเกลือ น้ำเปล่า หัวหมู น้ำชา น้ำอัดลมสีเขียว อย่างละ ๑ ชุด ปูดำต้ม ๑ ตัว ปลาช่อนแป๊ะซะ ๑ ที่ กุ้งทะเลตัวใหญ่ต้ม ๒ ตัว ซาแซ (หมู ๓ ชั้น ๑ ชิ้น, ปลาหมึกแห้ง ๑ ตัว, ไข่ไก่ต้ม ๒ ฟอง) เต้าเรี่ยว งาดำ งาขาว อย่างละ ๑ ชุด ข้าวตอกดอกไม้ ถั่วงา (ใช้งาขาว) ระคนกันอยู่ในพานเดียวกัน หมากพลู กุ้งพล่าปลายำ ๑ ชุด ขนมต้มขาวต้มแดง ๑ ชุด ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมถ้วยฟู ขนมเปี๊ยะ ๑ คู่
เครื่องกระยาบวช ประกอบด้วย หัวมันต้ม หัวเผือกต้ม กล้วยบวชชี ฟักทองแกงบวด หัวมันเทศแกงบวด หัวเผือกแกงบวด
บายศรีหลัก ๙ ชั้น ๒ หลัก, บายศรีพรหม ๙ ชั้น ๑ คู่, บายศรีเทพ ๑๖ ชั้น ๑ คู่, บายศรี ๙ ชั้น ๑ คู่, บายศรีปากชาม ๑ คู่, พานพุ่มดอกไม้สด ๑ คู่,
เครื่องบูชาที่เป็นดอกไม้ธูปเทียน ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกรัก ดอกกุหลาบสีชมพู ๑ มัด ดอกบัวสัตตบงกช ๑ มัด เทียนสีขาว ๑ โหล เทียนเกลียว ๑ คู่ ธูปหอม ๒ ห่อ พวงมาลัยดอกมะลิ๒ พวง

สาระ
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อชาวจังหวัดตราด


ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.prapayneethai.com/th/trad...iew.asp?id=016