ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง สกลนคร





ช่วงเวลา เทศกาลวันออกพรรษา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

ความสำคัญ
งานแห่ปราสาทผึ้งในเทศกาลออกพรรษาของชาวอีสาน แม้ว่าจะมีอยู่ทั่วไปในหลายจังหวัด แต่ก็ไม่จัดใหญ่โตและปฏิบัติต่อเนื่องเช่นของเมืองสกลนคร การพัฒนารูปแบบปราสาททรงโบราณเป็นทรงตะลุ่ม ทรงหอผึ้งแบบโบราณยังไม่พัฒนาเป็นรูปทรงปราสาทผึ้งดังกล่าวย่อมเกิดแง่คิดในหลายประเด็น โดยเฉพาะในด้านรูปแบบและเนื้อหา ว่ามีการอนุรักษ์ประยุกต์ดัดแปลงหรือสร้างใหม่อย่างไร ประเด็นดังกล่าวไม่ควรข้ามไป เพื่อความเข้าใจจึงขอนำเรื่องราวของปราสาทผึ้งมารื้อฟื้นให้ทบทวนกันโดยสรุปย่อ ดังนี้
๑ ยุคต้นผึ้ง - หอผึ้ง
ชาวอีสานในบางท้องถิ่นที่เชื่อกันว่า การทำต้นผึ้ง ดอกผึ้ง ทำเพื่อเป็นพุทธบูชาให้กุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้นเมื่อมีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงในหมู่บ้านถึงแก่วายชนม์ลงจึงพากันไปช่วยงานศพ (งานเฮือนดี) เท่าที่จะช่วยงานได้ ดังมีคำกล่าวว่า
"ผู้หญิงห่อข้าวต้ม ตัดตอก บีบข้าวปุ้น ผู้ชายหักหอผึ้ง" คำว่า หักหอผึ้ง ก็คือ การหักตอกทำต้นผึ้งนั่นเอง กล่าวกันว่าในการไปช่วยงานศพ หรืองานบุญแจกข้าวนั้นผู้ชายจะต้องนำพร้าติดตัวมาด้วย ทั้งนี้เพราะใช้ทำงานทุกอย่างนับแต่ ถากไม้ตัดฟืนและจักตอกทำต้นผึ้ง หอผึ้ง
ต้นผึ้ง ทำจากต้นกล้วยขนาดเล็ก ตัดให้ยาวพอสมควร แต่งลำต้น ก้านทำขาหยั่งสามขาให้ยึดต้นกล้วยเข้าไว้เพื่อตั้งได้ จากนั้นจะนำขี้ผึ้งมาเคี่ยวให้หลอมเหลวเพื่อใส่ลงในแม่พิมพ์ แม่พิมพ์ทำจากผลไม้ เช่น ผลสิมลี (สิมพี ส้มพอดี โพธิสะเล) นอกจากนี้ยังอาจให้ผลมะละกอขนาดเล็กคว้านภายในแต่งให้เป็นดอกเป็นแฉกตามต้องการ จากนั้นก็นำมาพิมพ์จุ่มขี้ผึ้งแล้วยกขึ้น นำไปแช่น้ำ ขี้ผึ้งจะหลุดออกจากพิมพ์เป็นดอกดวงตามแบบแม่พิมพ์
ก่อนนำดอกผึ้งไปติดที่ก้านกล้วย ต้นกล้วย ช่างทำต้นผึ้งจะหั่นหัวขมิ้นให้เป็นแว่นกลมใช้ไม้กลัดเสียบแว่นขมิ้นรองดอกผึ้ง เพื่อมิให้ดอกผึ้งอ่อนตัวจนเสียรูปทรง
การทำต้นผึ้ง จะทำให้เสร็จก่อนวันเก็บอัฐิธาตุผู้ตาย ในวันเก็บอัฐิ ญาติพี่น้องจะนำต้นผึ้งไปด้วย หลังจากใช้ก้านกล้วยคีบอัฐิมาทำเป็นรูปคนกลับธาตุ ก็จะนำต้นผึ้งมาวางที่กองอัฐิ พระสงฆ์ชักบังสุกุลกลบธาตุ ก่อนที่จะนำอัฐิไปบรรจุในสานที่อันเหมาะสมต่อไป ต้นผึ้งจึงให้เพื่อพิธีกรรมดังกล่าว
หอผึ้งมีความเกี่ยวพันกับต้นผึ้งอย่างใกล้ชิด และเป็นต้นกำเนิดของการแห่ปราสาทผึ้งในปัจจุบัน
หอผึ้งมีลักษณะเป็นทรงตะลุ่ม ทำโครงด้วยไม้ไผ่ จักตอกผูกเสริมด้วยกาบกล้วย ก้านกล้วย โครงหอผึ้งจะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม ๒ ชั้นต่อกัน คล้ายเอวขันหรือเอวพานภายในโครงไม้จะโปร่ง เพื่อให้บรรจุเครื่องอัฐบริขารได้ทั้ง ๒ ชั้น เป็นที่สังเกตว่าหอผึ้งจะมี ๒ รูปแบบ ต่างกันเล็กน้อย คือ บางแห่งทำหอ ๒ ชั้น มีขนาดไล่เรี่ยกันแต่บางแห่งทำชั้นล่างใหญ่ กว้าง ชั้นบนเหนือเอวขันทำทรงขนาดเล็กให้รับกับฐานล่าง ให้ดูพองาม
การประดับหอผึ้ง ยังนิยมประดับดอกผึ้งตามโครงกาบกล้วย ก้านกล้วยแม้จะมีการแทงหยวกเป็นลวดลายบ้างแล้ว ก็ยังไม่เน้นความงดงามของลายหยวกกล้วยเป็นสำคัญ หอผึ้งดังกล่าวจะทำให้เป็นคานหาม เพื่อใช้แห่ไปถวายวัด ส่วนประกอบสำคัญยังเป็นโครงซึ่งทำด้วยตอกไม้ไผ่อยู่ จึงยังเรียกการทำหอผึ้ง แต่เดิมก็ยังคงทำควบคู่ไปกับการทำต้นผึ้ง กล่าวคือ ประเพณีชาวอีสาน ถือว่า เมื่อถึงวันทำบุญ ถวายทานแก่ผู้ตายในงานแจกข้าว เมื่อถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์แล้ว ก็ถวายหอผึ้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์ ดังมีคำถวายถึงปราสาทผึ้งตอนหนึ่งว่า
"…อิมานะ มะยังภัณเต มธุบุปผะ ปะสาทัง"
แม้ว่าการถวายหอผึ้ง จะกระทำอยู่ในงานแจกข้าว แต่ชาวอีสานในหมู่บ้านต่าง ๆ ก็ยังถือว่า ควรจัดงานอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์ ในช่วงวันออกพรรษาดังนั้นจึงนิยมหากิ่งไม้ หนามไผ่ มาสุมบริเวณที่เผาศพ มิให้สัตว์มาขุดคุ้ย พร้อมปักไม้กั้นรั้วคอกไว้ เมื่อออกพรรษา วันมหาปวารณาจึงทำบุญแจกข้าว โดยเลือกเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือ แรม ๑ ค่ำ ในเวลาเย็นจึงทำพิธีแจกข้าว
พอถึงเวลาเย็น ชาวบ้านจึงแห่หอผึ้งไปยังวัดที่กำหนด ตำบลหนึ่งมักกำหนดวัดสำคัญ ๆ เป็นที่หมาย ชาวบ้านจะสร้างตูบผาม ปะรำพิธีไว้รับขบวนแห่ ซึ่งประกอบด้วย
๑. ขบวนฆ้อง กลองนำหน้า
๒. ขบวนกองบัง (บังสุกุล) หรือขบวนอัฐิผู้ตาย
๓. ขบวนหอผึ้ง
๔. ขบวนต้นกัลปพฤกษ์
การถวายหอผึ้ง แก่ภิกษุสงฆ์ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ว่าจะทำหอผึ้งจำนวนกี่หอ บางแห่งลูกหลานผู้ตายก็จะทำเป็นของตนเองคนละ ๑ หอ บางแห่งถือว่าจะต้องช่วยกันทำถวายพระสงฆ์ให้ครบทุกวัดที่นิมนต์มาสวดมนต์เย็น
การฉลองหอผึ้งหลังจากสวดมนต์เย็น มีเทศนาให้เกิดบุญกุศล แล้วมีการฉลองสนุกสนานรื่นเริง วันรุ่งเช้าจึงถวายอาหารพระสงฆ์ แล้วถวายหอผึ้งเป็นเสร็จพิธี
จะเห็นว่า ประเพณีแห่ต้นผึ้งดังกล่าว เป็นเรื่องราวที่มีคติความเชื่อมาจากงานบุญแจกข้าวโดยเฉพาะ แต่ต่อมาประเพณีดังกล่าวได้ถูกจัดขึ้นให้ใหญ่โต ในกลุ่มชาวเมืองสกลนครที่มีคุ้มวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ - ไกล วัดพระธาตุเชิงชุมด้วยเหตุหลายประการ เช่น
๑. พุทธศาสนิกชน เชื่อกันว่า การทำบุญในวันออกพรรษาหรือวันเทโวโรหนะ (วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าโลกทั้งสาม (มนุษย์โลก เทวโลก ยมโลก) จะมองเห็นความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน และโดยพุทธานุภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวบ้านได้เห็นหอผึ้งที่ตนทำถวาย ชาวคุ้มต่าง ๆ จึงได้พากันจัดทำมาถวายเป็นประเพณีทุกปี
๒. วัดพระธาตุเชิงชุมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พระพุทธเจ้ามาประชุมรอยพระพุทธบาทถึง ๔ พระองค์ การนำหอผึ้งมาถวายเป็นพุทธบูชารอยพระพุทธบาทย่อมเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
๓. เป็นการทำบุญกุศลในช่วงเทศกาลออกพรรษา บรรดาญาติพี่น้อง ที่อยู่ห่างไกลได้มาพบกัน หลังจาก หว่านกล้า ปักดำแล้ว ยังได้จัดประเพณีแข่งเรือของคุ้มวัดต่าง ๆ ให้สนุกสนาน ชาวบ้านได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน
๒ ยุคปราสาทผึ้งทรงหอ
ปราสาทผึ้งทรงหอเล็ก ๆ มี ๒ รูปแบบ คือ ทรงหอมียอดประดับหลังคาและปราสาททรงสิม หรือศาลพระภูมิ ที่มีขนาดเตี้ย ป้อมกว่าชนิดแรก แต่ไม่มีหลังคาเรียงขึ้นเป็นยอดปราสาทชนิดหลังนี้พบเห็นในสกลนคร เมื่อไม่นานมานี้
๒.๑ ปราสาททรงหอ มียอดประดับหลังคาแหลมสูง
๒.๒ ปราสาทผึ้งทรงสิมหรือทรงศาลพระภูมิ
๓.ยุคปราสาทผึ้งเรือนยอด
พระมหาวารีย์ กล่าวใน "ประวัติการทำปราสาทผึ้ง" ตอนหนึ่งสรุปความว่าแต่เดิมเมื่อมีชุมชนเกิดขึ้น รอบ ๆ วัดพระธาตุเชิงชุม ประชาชนบางตำบล เช่น ตำบลงิ้วด่อน ได้รับหน้าที่เป็นผู้รักษาปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุเชิงชุม ที่เรียกว่า "ข้าพระธาตุ" ครัวเหล่านี้ไม่ต้องเสียเงินส่วนให้หลวง ต่อมาพระเถระผู้เป็นเจ้าคณะตำบลงิ้วดอนมีลูกศิษย์และประชาชนในตำบลใกล้เคียงเลื่อมใสมากขึ้น จึงได้ชักชวนเจ้าอาวาสและประชาชนที่อยู่ในตำบลใกล้เคียง คือ ตำบลดงชน ตำบลดงมะไฟ ตำบลห้วยยาง ตำบลโดนหอม ตำบลบึงทะวาย ตำบลเต่างอย เข้ามาร่วมเป็นข้าพระธาตุด้วย และแม้ว่าในเวลาต่อมาได้มีการยกเลิกหมู่บ้านข้าพระธาตุให้ทุกคนเสียภาษีแก่ท้องถิ่นแล้วก็ตาม แต่ชาวบ้านรอบนอก ๆ ก็ยังมีประเพณีทำบุญถวายพระธาตุในช่วงข้างขึ้น
เดือน ๑๑ ของทุกปี ในช่วงวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นช่วงนำข้าวเม่าและต้นผึ้งมาถวายองค์พระธาตุเชิงชุม โดยมีความหมายถึงการขอลาองค์พระธาตุไปอยู่ในนาเก็บเกี่ยวข้าว
ลักษณะรูปทรงปราสาทเรือนยอด
รูปแบบปราสาทผึ้งที่ทำด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นเส้น หรืออาจทำด้วยโครงไม้ระแนงมีดอกผึ้งประดับตามกาบกล้วย ซึ่งใช้ศิลปะการแทงหยวกได้เปลี่ยนไปจากเดิมในราว พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยคณะกรรมการจัดงานประกวดปราสาทผึ้งเทศบาลสกลนคร เห็นว่าไม่สามารถพัฒนารูปแบบลวดลายองค์ประกอบให้วิจิตรพิสดารได้จึงได้เปลี่ยนเป็นการทำปราสาทผึ้งโดยทำปราสาทเป็นโครงไม้ เป็นทรงปราสาทจตุรมุขมีเรือนยอดเรียวหรือที่เรียกวา "กุฎาคาร" ตัวอาคารทั้งสี่ด้านต่อเป็นมุขยื่นออกไปมีขนาดเท่ากัน บางแห่งสร้างปราสาท ๓ หลัง ติดกัน นอกจากนี้ยังเน้นความประณีต ในการตกแต่งลวดลายการทำปราสาทผึ้งโดยทำปราสาทเป็นโครงไม้ เป็นทรงปราสาทจตุรมุขมีเรือนยอดเรียว หรือที่เรียกว่า "กุฎาคาร" ตัวอาคารทั้งสี่ด้านต่อเป็นมุขยื่นออกไปมีขนาดเท่ากัน บางแห่งสร้างปราสาท ๓ หลังติดกัน นอกจากนี้ยังเน้นความประณีต ในการตกแต่ง
ลวดลาย
การทำปราสาทผึ้งเรือนยอด
กล่าวโดยย่อขั้นตอนในปราสาทผึ้งเรือนยอด ประกอบด้วย
๑. การทำโครงไม้ โดยการเลือกรูปแบบ ออกแบบ ให้โครงไม้มีสัดส่วนสวยงามทั้งนี้โดยใช้ช่างไม้ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ โครงไม้เหล่านี้มักใช้เพียง ๔-๕ ปีก็จะเปลี่ยนหรือขายให้ผู้อื่น
๒. การออกแบบลวดลายที่ใช้ประดับส่วนต่าง ๆ พร้อมทั้งการใช้สีซึ่งจะต้องคิดไว้อย่างพร้อมมูล
๓. การแกะลวดลาย และการพิมพ์จากดินน้ำมันหรือวัสดุทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ก่อนทำแม่พิมพ์
๔. การหล่อขี้ผึ้ง - การแกะขี้ผึ้งตามแบบที่กำหนดไว้ในขั้นตอนนี้ อาจใช้ทั้งขี้ผึ้งแท้ ขี้ผึ้งผสม หรือสารวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้แล้วแต่ความชำนาญของช่างแต่ละแห่งแต่โดยทั่ว ๆ ไปมักใช้การหล่อขี้ผึ้งอ่อนลงในแม่พิมพ์แล้วลอกออก ตกแต่งให้ขี้ผึ้งมีลวดลายเด่นชัดหรือตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก
๕. การประดับตกแต่งตามด้วยอาคารปราสาทด้วยการใช้ เข็มหมุด หรือเชื่อมให้ยึดติดกัน
ปัจจุบันการทำปราสาทผึ้ง เป็นงานใหญ่ที่มีการเตรียมการจัดไม่น้อยกว่า ๓ เดือน สำหรับคุ้มวัดที่ลงมือทำทุกขั้นตอน แต่ความสับสนวุ่นวายทางเศรษฐกิจทำให้ประกอบเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่คุ้มวัดเป็นศูนย์รวมการทำปราสาทผึ้ง หรืองานบุญต่าง ๆ

พิธีกรรม
พิธีกรรมในประเพณีปราสาทผึ้งของชาวจังหวัดสกลนคร กล่าวได้ว่า ขึ้นอยู่กับ ความเชื่อของการทำปราสาทผึ้งแต่ละชนิด แต่ละยุคสมัย กล่าวคือ ในยุคที่มีการทำหอผึ้งทรงตะลุ่มด้วยโครงไม้ไผ่ กาบกล้วย ก้านกล้วยประดับดอกผึ้งนั้น เมื่อนำไปเพื่อถวายพระสงฆ์ ตลอดจนการทำปราสาทผึ้งทรงหอผี และปราสาทผึ้งทรงจตุรมุข เมื่อนำไปถวายพระสงฆ์ จะกล่าวคำถวายเป็นภาษาบาลีดังนี้
"อิมานิ มะยังภัณเต มธุบุปยะ ปะสาทัง"
หลังจากนั้นจึงทิ้งปราสาทผึ้งไว้ที่วัด ๓ วัน ๗ วัน แล้วจึงนำกลับ บางแห่งก็มอบถวายทิ้งไว้ที่วัด ในปัจจุบันเมื่อมีการทำปราสาทผึ้งจตุรมุขขนาดใหญ่ลงทุนมากเมื่อพระสงฆ์รับถวายปราสาทผึ้งแล้วจะตั้งไว้ให้ประชาชนชมระยะสั้น ๆ ๑ คืน แล้วจะนำกลับคุ้มวัดของตน
อย่างไรก็ดีในสมัยโบราณกล่าวว่า ประเพณีของชาวคุ้มวัดก่อนทำปราสาทผึ้ง ๓ วัน จะนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวดชัยมงคลคาถาที่หมู่บ้านบริเวณที่จะทำปราสาทผึ้ง ๓ คืน เมื่อทำปราสาทผึ้งเสร็จก่อนนำไปถวายวัดจะฉลองคบงันอีก ๑ วัน ๑ คืน จึงนำไปถวายวัด ปัจจุบันพิธีกรรมดังกล่าวไม่เหลือปรากฏให้เห็น แต่หากเริ่มทำปราสาทผึ้งไปทีละขั้นตอนกว่าจะเสร็จใช้เวลานานนับ ๑ เดือนขึ้นไป ซึ่งต่างจากสมัยโบราณที่ชาวคุ้มช่วยกันทำภายในเวลา ๓ วัน ๗ วันก็เสร็จเรียบร้อย

สาระ
ประเพณีปราสาทผึ้ง มีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่ที่ความรู้สึก จิตใจที่ได้ปฏิบัติงานตามจารีตประเพณีเกิดความมั่นคงทางจิตใจเป็นสำคัญ ส่วนเนื้อหาสาระในด้านต้องการให้เกิดบุญกุศล ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกับในการทำปราสาทผึ้งถวายวัด ถือว่าได้บุญสูงสุดเพราะผึ้งเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา ดังปรากฏในพุทธประวัติตอนปาลิไลยลิง นำรวงผึ้งมาถวายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนเทโวโรหนะ ที่พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริยะเปิดโลกให้แลเห็นซึ่งกันและกันทั้ง ๓ โลก ทำให้มนุษย์เห็นความทุกข์สุขของเทวดามนุษย์และใต้บาดาลตลอดจนตอนอทิสทาน ซึ่งท้าวพระยาเสนาอำมาตย์ มเหสี กษัตริย์แข่งขันกันสร้างปราสาทหรือแม้แต่พระมาลัยก็กล่าวดังปราสาทในสวรรค์ชั้นฟ้า
อย่างไรก็ดีในสาระของความต้องการบุญกุศลส่วนตัวดังกล่าวมาแล้วยังมีสาระที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ ซึ่งอาจได้มาจากคติของชาวจีนที่ทำมาหากินในสกลนคร ที่ทำการตักเป็นรูปทรงบ้านเรือนอาคารเผาอุทิศให้ผู้ตาย แต่หากดัดแปลงเป็นการสร้างอาคารเป็นทรงหอผี ประดับด้วยดอกผึ้งถวายพระสงฆ์อุทิศให้ผู้วายชนม์


ขอขอบคุณที่มาคะhttp://www.prapayneethai.com/th/trad...ew.asp?id=0508