แห่นก ปัตตานี





ช่วงเวลา จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาส เพื่อความสนุกรื่นเริง หรือจัดเพื่อเป็นการแสดงคารวะ แสดงความจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือโอกาสต้อนรับแขกเมือง หรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว

ความสำคัญ
เป็นประเพณีพื้นเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เป็นประเพณีนิยมไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา ไม่เป็นประเพณีตามนักขัตฤกษ์

พิธีกรรม
นกที่ใช้ในประเพณีแห่นก นิยมทำ ๔ ตัว คือ
๑. นกกาเมาะซูรอหรือนกการะสุระ ชาวพื้นเมืองเรียก "นกทูนพลู" หรือตามสันนิษฐานคือ "นกการเวก" นั่นเอง ถือว่าเป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและชั้นสูง
๒. นกกรุดาหรือนกครุฑ นกนี้เชื่อว่ามีอาถรรพ์ ผู้ทำมักเกิดอาเพศเจ็บไข้ได้ป่วย ปัจจุบันจึงไม่นิยมจัดทำเข้าขบวนแห่
๓. นกบือเฆามาศหรือนกยูงทอง เป็นนกที่มีหงอนสวยงามมาก
๔. นกบุหรงหรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ เมื่อประดิษฐ์นกเสร็จ มีการสวมหัวนก จะจัดเป็นพิธี อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีประกอบด้วย ผ้าเพดานสำหรับขึงหัวนก ๑ ผืน ขนาด ๑ ตารางเมตร ข้าวเหนียวสมางัต ๑ พาน ขนมดอดอย ๑ จาน ข้าสาร (ย้อมสีเหลือง) ๑ จาน แป้ง น้ำหอม กำยาน เทียน ทอง เงิน เงินค่าบูชาครู ๑๒ บาท และใช้ใบอ่อนของมะพร้าว ๒ - ๓ ใบ เครื่องบวงสรวงจะนำไปวางเบื่องงหน้าหัวนก ผู้ประกอบพิธีจุดเทียน เผากำยานแล้วท่องคาถา เป็นอันเสร็จพิธี
การจัดขบวนแห่นก ประกอบด้วยขบวนต่าง ๆ ดังนี้
ขบวนแรก ได้แก่ เครื่องประโคมสำหรับประโคมดนตรี นำหน้าขบวนนก ประกอบด้วย คนเป่าปี่ชวา ๑ คน กลองแจก ๑ คู่ ฆ้องใหญ่ ๑ ใบ ถัดมาเป็นขบวนบุหรงสิรี(บายศรี) ผู้ทูนบายศรีต้องเป็นสตรีที่ได้รับเลือกเฟ้นจากผู้ที่มีเรือนร่างได้สัดส่วน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสีตามประเพณีท้องถิ่น พานบายศรี ใช้พานทองเหลือง ใช้จำนวนคี่
ขบวนที่สอง เป็นผู้ดูแลนก แต่งกายนักรบมือถือกริซนำหน้านก ซึ่งจะเลือกจากผู้ชำนาญการร่ายรำซีละ กริซ รำหอก
ขบวนที่สาม เป็นขบวนนก ๔ ตัว จำนวนคนหามนกแล้วแต่ขนาดและน้ำหนักของนก
ขบวนที่สี่ เป็นขบวนกริซ ขบวนหอก ผู้ร่วมขบวนแต่งกายอย่างนักรบสมัยโบราณ

สาระ
แสดงถึงความสามัคคี ความพร้อมเพรียง และเป็นการอนุรักษ์สืบทอดประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นต่อไป


ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.prapayneethai.com/th/trad...ew.asp?id=0682