งานวันสารท


วันสารท คือวันทำบุญกลางปีตามประเพณีนิยมของคนไทย มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุพพการี หรือญาติที่ล่วงลับไปแล้วในวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ นับจากวันสงกรานต์ตามจันทรคติ จนถึงวันสาร์ทจะครบหกเดือนพอดี วันสารทในแต่ละท้องถิ่นของไทย จะมีการคลาดเคลื่อนไปบ้าง เช่น ในภาคกลางกำหนดวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันรับตายาย หรือทำบุญกลางเดือนสิบ วันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันทำบุญอีกวันหนึ่ง เรียกว่า วันส่งตายาย ชาวรามัญกำหนด วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนสิบเอ็ด เป็นวันสารทมอญ ชาวลาวกำหนดวันแรม ๑๔ ค่ำเดือนสิบเอ็ด เรียกว่า วันสารทลาว
วันสารทเป็นวันที่ถือคติสืบต่อกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญ จากญาติพี่น้องที่มีชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้วในวันนี้
ขนมในวันสารทที่ใช้ในวันสารทจะขาดเสียมิได้อย่างหนึ่งคือ กระยาสารท เป็นขนมที่ต้องทำด้วยข้าวตอก กวนกับน้ำตาล ใส่ถั่วลิสง และงาลงไปด้วย เป็นของประเพณี นอกจากนี้บางแห่งก็มี ขนมกง ขนมเจาะหู ข้าวต้มลูกโยน ก็มี
เมื่อถึงวันสารทไทย ชาวบ้านจะเตรียมแต่งตัว จัดแจงข้าวปลาอาหาร ขนมสารท พากันไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้านของตน ทายกทายิกาก็ไปถือศีลกินเพลอยู่ที่วัดบ้าง บรรดาหนุ่มสาวก็เอากระยาสารทไปส่งตามหมู่บ้านญาติ เป็นการเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์สุกดิบกันในโอกาสนี้
มีประเพณีของชาวพุทธที่แทรกอยู่ในเรื่องของสารทไทย คือบางแห่งนิยมตักบาตรน้ำผึ้ง บางแห่งมีตักบาตรน้ำตาลทรายด้วย โดยถือคติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาอยู่ที่ป่าลิไลยก์พระองค์เดียว มีช้างป่าลิเลยยกะ กับลิง เป็นผู้คอยถวายอุปัฏฐาก ช้างเป็นผู้คอยถวายน้ำฉันน้ำใช้ ลิงคอยหาผลไม้มาถวาย และเอาน้ำผึ้งรวงมาถวายด้วย ชาวไทยเราจึงถือเป็นประเพณีว่าควรมีการตักบาตรน้ำผึ้งถวายในโอกาสนี้ เพราะยังอยู่ในฤดูจำพรรษาของพระสงฆ์


ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.heritage.thaigov.net/reli...ny/relcer1.htm