งานวันขึ้นปีใหม่


งานวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันเทศกาลที่ประชาชนมีประเพณีทำบุญ และมีงานรื่นเริงต่าง ๆ ได้แก่มหรสพ หรือการละเล่นพื้นเมือง รวมทั้งการเที่ยวเตร่หาความสนุกสนาน เป็นการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ เพื่อความสุข และความมีศิริมงคล งานวันปีใหม่นิยมมีงานสองวันติดต่อกัน คือวันสิ้นปีเก่า และวันขึ้นปีใหม่
ประเทศไทยได้กำหนดเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๓๒ และได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ ๑ มกราคม ตามแบบสากล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔
สมัยเมื่อใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการจัดงานพระราชพิธีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ต่อเนื่องกันเป็นพระราชพิธีตรุษ และพระราชพิธีเถลิงศกสงกรานต์ เริ่มต้นงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ไปสิ้นสุดในวันที่ ๒ เมษายน ในระหว่างนี้มีงานบำเพ็ญพระราชกุศล และงานพระราชพิธีอื่นแทรกหลายอย่าง ปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่งานพระราชพิธีอย่างเก่าจึงเปลี่ยนแปลงไป และยกเลิกไปก็มีมีการแยกงานพระราชพิธีตรุษ และพระราชพิธีเถลิงศก สงกรานต์เป็นสองงานคือ พระราชพิธีขึ้นปีใหม่งานหนึ่ง และพระราชพิธีสงกรานต์อีกงานหนึ่ง
พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ คงจัดให้มีแต่การพระราชกุศลทรงบาตร เรียกว่า พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรวันขึ้นปีใหม่ กำหนดทรงบาตรในตอนเช้าวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาเห็นว่าไม่สดวกทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส เพราะในวันขึ้นปีใหม่ได้มีงานบำเพ็ญกุศล ฉลองวันขึ้นปีใหม่กันทั่วไป ทั้งทางราชการ และประชาชน จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้กำหนดเป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของปีเก่าแทน
สมัยก่อนพระสงฆ์ที่นิมนต์มารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังต้องใช้บาตรมีถลกสพาย พร้อมกับถือย่าม สำหรับผลไม้และของหวาน ปัจจุบันใช้อุ้มบาตรอย่างบิณฑบาตธรรมดา แต่ถือย่ามด้วย งานพระราชพิธีทรงบาตรวันขึ้นปีใหม่ บางปีก็นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ตามวัดต่าง ๆ มีจำนวน ๕๒๕ รูปบ้าง ๕๐๐ รูปบ้าง แบ่งออกเป็นสาย ๆ ละ ๒๕ รูป เว้นแต่สายที่เข้ารับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สายนี้นิมนต์พระสงฆ์ ๕๐ รูป มีสมเด็จพระราชาคณะ หรือพระราชาคณะผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าสายนำเข้ารับ ผู้ที่เตรียมของมาใส่บาตรจึงเตรียมมาให้พอดีกับ จำนวนพระ ๒๕ รูป เมื่อพระสงฆ์รับบิณฑบาตหมดเรียบร้อยแล้ว ทุกสายแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทักทายปราศรัยกับท่านที่มาตั้งบาตร ได้เวลาอันสมควรแล้วจึงเสด็จขึ้น
สำหรับงานของทางราชการ และประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ จะมีตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม จนถึงวันที่ ๑ มกราคม คือในวันสิ้นปีทางราชการ หรือประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ จะจัดให้มีการรื่นเริงและมหรสพจนเที่ยงคืน มีการเชิญบุคคลสำคัญของบ้านเมืองเช่น ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา กล่าวคำปราศรัยทางสื่อมวลชนต่าง ๆ และในตอนสุดท้ายก่อนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ก็จะมีพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่แก่พุทธศาสนิกชน
เมื่อถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. วัดวาอารามต่าง ๆ จะจัดพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้องกลองประโคม โดยทั่วกัน
ตอนเช้า ๑ มกราคม จะมีการทำบุญตักบาตรที่วัดหรือที่ใด ๆ สุดแต่จะพอใจ


ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.heritage.thaigov.net/reli...ny/relcer1.htm