กระทู้ธรรม

กระทู้: กระทู้ธรรม

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. lover said:
    กริยาจิต


    กริยาจิต หมายถึง อาการการกระทำทางจิต ดังเช่น การไปจดจ่อ ไปจับจ้อง ไปพัวพัน

    การไปเพ่งหรือโฟกัสนิ่งในเวทนา(เช่น ทุกขเวทนา ทั้งต่อใจและกาย) หรือจิตแช่นิ่ง(อยู่ในจิต เช่น จิตหดหู่, จิตโทสะ)ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น

    กล่าวคือ กริยาจิตที่ไม่ปล่อยวาง หรือกริยาจิตที่ไปยึดเอาไว้นั่นเอง ด้วยการไปยึดเวทนาหรือจิตตสังขารเหล่านั้นไว้เป็นอารมณ์

    คือเป็นที่กำหนดหรือที่ยึดเหนี่ยวของจิตโดยไม่รู้ตัว หรือการวิตก วิจารนั่นเอง, การอุเบกขา เป็นกลางด้วยการไม่แทรกแซงด้วยถ้อยคิดปรุงแต่ง

    และกริยาจิต ที่หมายถึงจิตที่มีสติ คือโฟกัสอยู่ที่สติ ไม่ใช่อยู่ที่เวทนาหรือจิตหดหู่,จิตคิดปรุงแต่งฯ. และพึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า

    หมายถึงการปฏิบัติในชีวิตประจำวันหรือกระทำเป็นประจำสมํ่าเสมอ อันพึงยกเว้นในขณะวิปัสสนาหรือโยนิโสมนสิการ, และอาการจดจ่อ จับจ้อง

    หรือจิตส่งในอย่างนี้ มีมากโดยเฉพาะในผู้ที่ฝึกแต่สมถสมาธิมานานไม่วิปัสสนา เพราะเกิดความเคยชินตามที่ฝึกสั่งสมไว้จนเป็นสังขารโดยไม่รู้ตัว

    ต่อการให้จิตแน่วแน่ต่ออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง(สิ่งใดสิ่งหนึ่ง) จึงมักหลงไปจับหรือยึดทุกข์อยู่เสมอๆและนานๆ ไม่ปล่อยวาง โดยไม่รู้ตัว
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-17-2015 เมื่อ 01:38 PM
     
  2. lover said:
    มาร ๕ ประเภท


    ๑. ขันธมาร มารคือขันธ์ ๕ ร่างกายไม่อำนวยให้ทำความดี เช่น เจ็บป่วย ทุพพลภาพทำให้หมดโอกาสดี ๆ ในชีวิต


    ๒. อภิสังขารมาร มารคือบุญบาป ความชั่วทำให้ขัดขวางมิให้บรรลุคุณธรรม และบางทีบุญก็ขัดขวางเช่นเดียวกัน

    เพราะเป็นเหตุให้เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ ผู้ที่ทำบุญไปเกิดในภพภูมิที่ดีเช่นสวรรค์ ก็หลงมัวเมาไม่รู้สร่าง อย่างนี้แหละที่ท่านว่าบุญก็เป็นมารมิให้บรรลุธรรม


    ๓. กิเลสมาร มารคือ กิเลส โลภ โกรธ หลง เป็นมารเพราะขัดขวางมิให้บุคคลบรรลุผลสำเร็จดีงาม


    ๔. มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายทำลายทุกสิ่งในชีวิต บางทีกำลังก้าวหน้าใน ชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม ก็มาด่วนตายเสียก่อน ความตายจึงตัดโอกาสดี ๆ ในชีวิต


    ๕. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร เทวดาที่เกเรคอยขัดขวางมิให้คนทำดี หมายเอาเทวบุตรฝ่ายอันธพาลทั้งหลายอย่างสูง หมายเอาพญามารชื่อวสวัตตีที่กล่าวข้างต้น
     
  3. lover said:
    เจตสิก (อ่านว่า เจตะสิก) (บาลี: cetasika; สันสกฤต: caitasika) แปลว่า ธรรมที่ประกอบกับจิต, สิ่งที่เกิดในใจ, ทางใจ

    เจตสิกหมายถึงองค์ประกอบของจิต อาการหรือการแสดงออกของจิต จัดเป็นสมรรถนะหรือคุณสมบัติของจิต

    มีลักษณะที่เกิดดับพร้อมกับจิต เป็นอารมณ์ของจิต มีวัตถุที่อาศัยเดียวกับจิต เป็นกฎเกณฑ์ให้ประกอบเป็นจิต เจตสิกแยกเป็นขันธ์ ได้ 3 ขันธ์

    เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ (คือความแปรปรวนทางนามธาตุ) สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ (เปรียบเช่นภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จดจำการแก้ทุกขัง)

    เจตสิกที่เหลืออีก 50 เป็น สังขารขันธ์ (ได้แก่นามธาตุต่างๆมีสภาวะเป็นข้อมูล ที่เป็นกฎเกณฑ์ให้เป็นไปทั่วของจิต อันเป็นดุจรหัสพันธุ์กรรมของจิต )

    เจตสิก หมายถึง ธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่งประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิตให้มีความเป็นไปต่าง ๆ อาการที่ประกอบกับจิตนั้น มีลักษณะ 4 ประการ คือ

    1. เกิดพร้อมกับจิต

    2. ดับพร้อมกับจิต

    3. มีอารมณ์เดียวกับจิต

    4. อาศัยวัตถุเดียวกับจิต

    จิตและเจตสิกที่อิงอาศัยกันนี้ ถ้าเปรียบจิตเป็นน้ำ เจตสิกเป็นสีแดง ผสมกันเป็นน้ำแดง เมื่อผสมกันแล้วไม่สามารถแยกน้ำออกจากสีแดงได้ฉันใด

    จิตและเจตสิกก็ไม่สามารถแยกออกจากกันเป็นอิสระได้ฉันนั้น สภาวธรรม รวม 4 ประการของเจตสิก มีดังนี้

    1. ลักษณะของเจตสิกคือ มีการอาศัยจิตเกิดขึ้น

    2. กิจการงานของเจตสิกคือ เกิดร่วมกับจิต

    3. ผลงานของเจตสิกคือ เป็นอารมณ์ของจิต

    4. เหตุที่ทำให้เจตสิกเกิดขึ้นได้ คือ การเกิดขึ้นของจิต

    เจตสิกนี้แม้ว่าจะเป็นสิ่งปรุงแต่งจิต ให้จิตมีพฤติกรรมเป็นไปตามลักษณะของเจตสิกก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน

    เพราะเจตสิกเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นความพอใจ ความไม่พอใจ ความรัก ความเกลียด ความสงบ หรือฟุ้งซ่าน

    ล้วนเป็นคุณสมบัติของเจตสิกทั้งสิ้น แต่เจตสิกเกิดขึ้นเอง และแสดงพฤติกรรมเองไม่ได้ ต้องอาศัยจิตเป็นตัวแสดงพฤติกรรมแทน

    จึงกล่าวได้ว่า ธรรมชาติของเจตสิกนั้น เกิดพร้อมกับจิต หรือประกอบกับจิตเป็นนิตย์ หรือธรรมชาติ ที่ประกอบกับจิตเป็นนิตย์ ชื่อว่า เจตสิก

    การที่ต้องแบ่งจิตออกไปมากมายนั้น เพราะเจตสิกที่ประกอบจิต มีประเภทต่าง ๆ กัน จิตสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยการเข้าไปรับรู้โลกเป็นอารมณ์

    แต่การรับรู้นั้นต้องอาศัยเจตสิกที่เป็นตัวกระทบอารมณ์ครั้งแรก(ผัสสะเจตสิก) เป็นต้น และเจตสิกอื่น ๆ ก็จะร่วมปรุงแต่งจิตให้เป็นไปในอาการต่างๆ

    การปรุงแต่งของเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น ทำให้จิตมีความสามารถในการรู้อารมณ์พิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น รู้เรื่องของกามคุณอารมณ์

    เรื่องของรูปฌาน อรูปฌาน จนถึงรู้นิพพานอารมณ์

    เจตสิกจัดเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของพระอภิธรรมปิฎกซึ่งมี 4 เรื่องคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และจัดเป็นเรื่องสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งด้วย
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดย lover : 01-17-2015 เมื่อ 04:13 PM
     
  4. lover said:
    จิตอภิมหาสติ


    ในอนาคตไม่ไกลจากนี้ โลกของเราจะประสบกับภัยพิบัติ สมาธิที่เราฝึกมาก็สามารถช่วยเราได้ เพราะการฝึกสมาธิ

    คือ การที่เราฝึกจิตให้เกิดสติ สมาธินี้มีส่วนช่วยตั้งแต่เรามีชีวิตไปจนถึงไม่มีชีวิต สมาธิเมื่ออบรมจิตดีแล้วก็จะก่อให้เกิดสติ

    สตินี้จริงๆ แล้วก็คือ ตัวรู้ คนที่มีความเข้าใจจะรู้ว่าสตินั้นมีความยิ่งใหญ่มาก เรียกว่าเป็น มหาสติ

    สติของคนธรรมดากับสติของคนที่ฝึกสมาธิจะไม่เหมือนกัน สติคนธรรมดาตอนขับรถก็ต้องมีสติอยู่กับถนน อยู่กับรถ เรียนหนังสือก็ต้องมีสติกับการเรียน

    แต่สติที่ผ่านการอบรมจิตแล้ว สติจะมีความตั้งมั่นต่อกันทำให้ความคิดอยู่กับปัจจุบันขณะ และความคิดที่อยู่ในจิตเลือกที่จะสลัดความคิดที่ไม่ดีออกไปได้

    คือ สติที่ผ่านการอบรมจิตมาแล้ว โดยธรรมชาติจะสลัดความคิดที่ไม่ดีออกไป สติจะดึงโน้มเข้ามาในความคิดที่ดี อยู่ในกุศลกรรมที่ดี หรือความดีต่างๆ

    ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะอันตรายหรือภัยพิบัติขึ้นมาในโลก สติที่ฝึกแล้วจะน้อมนำเข้าสู่สติที่ดี เช่น คนกำลังจะตายมีความคิดไม่ดี เช่น คิดห่วง คิดหวง คิดโลภ คิดแค้นเคือง

    จิตก็จะไปยึดความคิดสุดท้ายเป็นอารมณ์ จิตก็จะกลับเข้าสู่วัฏสงสารที่จะต้องมาเกิด เพราะจิตไปยึดความคิดสุดท้ายตามอารมณ์ที่อยู่ในอกุศลกรรม

    แต่จิตที่ผ่านการฝึกสมาธิมา ผ่านการอบรมจิตมา จิตในขณะสุดท้ายก็จะเป็นจิตที่มีสติกำกับอารมณ์ต่างๆ ที่จิตเข้าไปควบคุมไม่ได้ ซึ่งสามารถดึงให้ดวงจิตไม่ไปเศร้าหมองได้

    สามารถรับสภาพและภาวะอันเป็นเรื่องร้ายๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่หลงฟุ้งตามสภาพภัยพิบัติที่เห็น จิตที่ไม่ได้รับการฝึกมา เมื่อเห็นภัยพิบัติ เห็นโศกนาฏกรรม

    เห็นคนตายเยอะๆ จิตก็จะฟุ้งซ่าน กลายเป็นคนบ้าได้ง่ายๆ

    คำว่าสติ สั้นๆ แค่นี้ แต่เราต้องฝึกสมาธิอย่างหนัก ดำรงสติอยู่เป็นประจำ จิตจะได้สติเป็นมหาสติ

    แต่สภาพจิตที่เลยมหาสติมากไปกว่านั้นเรียกว่า จิตอภิมหาสติ คือจะมากกว่ามหาสติหลายเท่า สูงกว่ามหาสติ อันนี้เป็นความจริงที่ทุกคนสัมผัสได้ จิตที่มีสติในขั้นจิตอภิมหาสติ

    นอกจากจะมีความตั้งมั่นแล้ว ถ้าคนที่มีสติในรูปแบบนี้ แม้แต่การพูดคุยกับคนอื่นๆ ก็จะสามารถรู้ได้ถึงความคิดของคนที่สนทนาด้วย และเห็นถึงสิ่งที่เขากำลังเป็น คือ

    เห็นเป็นแสงที่มีสีต่างๆ เป็นฉัพพรรณรังสี หรือทีชาวตะวันตกเรียกว่า ออร่า ออร่าของคนคนนั้น เห็นถึงราศีที่เขามีอยู่ สติที่ไม่ตั้งมั่นถึงขนาดนี้จะไม่สามารถมองเห็นได้เลย

    อย่างการขับรถ คนขับก็มีสติอยู่กับการขับรถบนท้องถนน แต่คนขับรถแบบนี้จะมีสติไม่เท่ากับนักขับรถแข่งที่ขับด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

    เพราะในความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากขาดสติไปเพียงเสี้ยววินาทีเดียวก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าคนขับรถธรรมดากับคนขับรถแข่งจะมีสติเหมือนกัน

    แต่ระดับของสติต่างกันมาก

    สติที่เหนือกว่ามหาสติ หรือเรียกว่า จิตอภิมหาสติ จะมีความยิ่งใหญ่มากๆ จะมีความตั้งมั่นอยู่ทุกเสี้ยววินาที สติแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการฝึกสมาธิจนมีสติตามรู้ทุกขณะ

    เมื่อมีสติตามรู้ทุกขณะจิตจะมีความมั่นคงเป็นมหาสติ เมื่อจิตตั้งมั่นจนเลยขั้นมหาสติไปแล้ว จิตนั้นจะมีความมั่นคงอย่างมาก เป็นอภิมหาสติ

    ถ้าผู้มีจิตขั้นอภิมหาสติอยู่ในความว่าง ความนิ่งระดับหนึ่ง คนที่มีสติแบบนี้จะรู้เลยว่า กำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป อย่างถนนว่างๆ

    เราจะรู้สึกในใจว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น จะมีอะไรมาบอกหรือจะรู้เอง คล้ายๆ มีสัมผัสพิเศษ

    อย่างเรากำลังสนทนากับคนคนหนึ่งอยู่ ถ้าเรามีสติขั้นนี้ คนพูดโกหกเราก็รู้ ใครเจ็บป่วยเราก็รู้ ใครกำลังประสบปัญญาในชีวิตเราก็รู้ ใครมีเคราะห์เราก็รู้ ใครมีเหตุให้เป็นไปต่างๆ นานาเราก็รู้

    แต่ที่สุดของการฝึกจิตให้มีสติแล้ว ก็คือ การทำให้ดึงจิตมาอยู่กับปัจจุบันแทนที่เราจะฟุ้งซ่าน สติจะดึงอารมณ์ที่ดีๆ เข้ามา ไม่หลงไปปรุงให้มัวหมอง

    ให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้กลัว จิตที่ฝึกจนมีอภิมหาสติจะเห็นอะไรที่ลึกไปกว่าการดึงอารมณ์ต่างๆ มาเป็นอารมณ์จิตให้จิตมัวหมอง จิตจะเห็นอะไรที่เป็นนามธรรมได้อีกหลายเท่านัก.